28 กุมภาพันธ์ 2565

ผลวิเคราะห์ครึ่งทางการวิจัยฟ้าทะลายโจร (Interim Analysis)

(ภาพวันนี้: พวงประดิษฐ์ ขี้นมั่วบนต้นไม้อื่น)

การวิเคราะห์ระหว่างครึ่งทางการวิจัย (Interim analysis)

เป็นธรรมเนียมของการวิจัยว่าในระหว่างที่ทำวิจัย จะต้องมีการวิเคราะห์ผลระหว่างการวิจัย (interim analysis) เพื่อดูว่ามีความแตกต่างในผลลัพท์สำคัญระหว่างแต่ละกลุ่มอาสาสมัครหรือไม่ ในกรณีที่มีความแตกต่างกันมากจนหากการทำวิจัยต่อจะทำให้อาสาสมัครบางกลุ่มเสียหายหรือมีความเสี่ยงอย่างสำคัญ ก็ต้องนำข้อมูลแจ้งให้กก.จริยธรรมพิจารณาว่าจะให้วิจัยต่อหรือจะต้องงดการวิจัยกลางคันเพื่อความปลอดภัยของอาสาสมัคร

ท่านผู้อ่านคงจำได้ว่าเมื่อหลายเดือนก่อน ท่านได้บริจาคเงินเป็นเงินรวม 2.8 ล้านบาทเพื่อให้คณะผู้วิจัยที่มีผมร่วมอยู่ด้วย ทำการวิจ้ยเปรียบเทียบผลของการใช้ผงบดฟ้าทลายโจรรักษาโรคโควิด19 วันนี้การวิจัยได้ดำเนินมาถึงครึ่งทาง และคณะผู้วิจัยได้ทำการวิเคราะห์ระหว่างการวิจัยออกมาแล้ว ผลการวิเคราะห์ผมเห็นว่ามีประโยชน์จึงเอามาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง

ทวนความจำเรื่องวิธีการวิจัย (methodology) ให้ฟังอีกครั้ง

เมื่อเริ่มทำงานวิจัยนี้ เชื้อโควิดที่ระบาดทั่วประเทศไทยเป็นสายพันธุ์เดลต้าซึ่งมีอัตราตายสูง และยาฟาวิพิราเวียร์ได้ถูกยอมรับให้เป็นยามาตรฐานของชาติในการรักษาโรคโควิดในขณะนั้น เมื่อคณะผู้วิจัยชุดนี้ขอทำการวิจัยกลุ่มกินฟ้าทะลายโจรเปรียบเทียบกับกลุ่มกินยาฟาวิพิราเวียร์และกลุ่มกินยาหลอก คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยจึงไม่อนุมัติให้มีกลุ่มใช้ยาหลอกด้วยเหตุผลเชิงจริยธรรม ให้แต่ใช้ฟ้าทลายโจรเปรียบเทียบกับฟาวิพิราเวียร์เท่านั้น การวิจัยนี้จึงสุ่มตัวอย่างแบ่งอาสาสมัครอายุ 18-60 ปีจำนวน 234 คน ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคโควิด-19 ด้วยการตรวจ RT-PCR test ได้ผลบวกและเป็นผู้ป่วยสีเขียวที่ได้รับไว้รักษาในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจออกเป็นสามกลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1. กินผงบดจากส่วนเหนือดินของฟ้าทะลายโจร (400 มก.ของผงบด ต่อหนึ่ง แคปซูล (11.35 mg. ของ andrographolide/cap) ผู้ป่วย 1 คน รับประทานครั้งละ 4 แคปซูล วันละ 4 ครั้งหลังอาหารและก่อนนอน ติดต่อกัน 5 วัน (180 mg ของ andrographolide /day x 5 days )


กลุ่มที่ 2. กินผงบดจากเฉพาะส่วนใบของฟ้าทะลายโจร (400 มก. ผงบดต่อหนึ่ง แคปซูล (24 mg ของ andrographolide/cap) ผู้ป่วย 1 คน รับประทานครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 4 ครั้งหลังอาหาร ติดต่อกัน 5 วัน (180 mg ของแอนโดรกราฟโฟไลด์ / day x 5 days)


กลุ่มที่ 3. กินยาฟาวิพิราเวียร์ 3600 มก.ในวันแรก และ 1600 มก.ต่อวันในวันที่ 2-5 (รวม 10,000 มก./course/คน)
ฟาวิพิราเวียร์ 200 มก ต่อ เม็ด ผู้ป่วย 1 คน รับประทานครั้งละ 9 เม็ด วันละ 2 ครั้งหลังอาหาร ในวันแรก และวันที่ 2-5 รับประทานครั้งละ 4 เม็ด วันละ 2 ครั้งหลังอาหาร

มาถึงวันนี้คณะผู้วิจัยได้ทำการวิจัยกับผู้ป่วยที่เป็นอาสาสมัครไปแล้ว 184 คน มีข้อมูลการกำจัดเชื้อไวรัส (viral load) เรียบร้อยแล้ว 94 คน คณะผู้วิจัยจึงได้นำข้อมูลการขจัดเชื้อไวรัสโควิด19 มาวิเคราะห์ซึ่งได้ผลดังนี้

ผลการวิเคราะห์ค่าเฉลี่ยการขจัดเชื้อไวรัส (viral load)

วันที่ทำการตรวจกลุ่มที่ 1 ผงบดจากส่วนเหนือดินของฟ้าทะลายโจรกลุ่มที่ 2 ผงบดจากเฉพาะส่วนใบของฟ้าทะลายโจรกลุ่มที่ 3 ฟาวิพิราเวียร์

วันที่ 190,382.7 180,537.5172,819.1  
วันที่ 55,403.0 5,445.03,075.4 p=0.434 
วันที่ 1021.58 17.244.9 p=0.344 


จะเห็นว่าจากข้อมูลดิบ กลุ่มที่ 2 ซึ่งกินผงบดเฉพาะส่วนใบของฟ้าทลายโจรสามารถขจัดไวรัสออกจากตัวได้มากกว่ากลุ่มอื่น แต่เมื่อวิเคราะห์เชิงสถิติแล้วพบว่าไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับผลข้างเคียงของยาทั้งสามกลุ่มก็ไม่มีผลข้างเคียงที่สำคัญและผลข้างเคียงของแต่ละกลุ่มไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ งานวิจัยนี้ยังจะดำเนินต่อไปจนกว่าจะได้อาสาสมัครครบ 234 คน แล้วจึงจะสรุปผลสุดท้ายส่งไปตีพิมพ์ ซึ่งถึงตอนนั้นผลวิจัยตอนสิ้นสุดการวิจัยจะเป็นอย่างไรผมจะติดตามมาเล่าให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง

สรุปผลการวิเคราะห์ครึ่งทางการวิจัย (Interim Analysis)

ผมจึงขอสรุปผลการวิเคราะห์ครึ่งทางการวิจัยครั้งนี้ว่า ผงบดฟ้าทะลายโจรทั้งจากส่วนเหนือดินและจากส่วนเฉพาะใบเมื่อใช้รักษาโรคโควิดที่มีอาการน้อย พบว่าสัมพันธ์กับการขจัดไวรัสได้ดีมากและไม่แตกต่างจากยาฟาวิพิราเวียร์ซึ่งเป็นยามาตรฐานของชาติที่ใช้รักษาโรคโควิดอยู่ในขณะที่ทำวิจัย ขณะเดียวกันก็ไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ และภาวะแทรกซ้อนของแต่ละกลุ่มก็ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญด้วย

คำแนะนำเพื่อเอาผลวิเคราะห์ไปใช้ประโยชน์

เมื่อท่านได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคโควิด19 โดยมีอาการน้อย (สีเขียว) คือไม่มีปอดอักเสบหรือปอดบวม ท่านสามารถเลือกรักษาตัวเองได้โดยปลอดภัยด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งในสองวิธีนี้ คือ

(1) กินผงบดฟ้าทะลายโจร ทั้งผงบดจากส่วนเหนือดิน หรือผงบดจากใบ หรือ

(2) กินยาฟาวิพิราเวียร์

ทั้งสองวิธีนี้สัมพันธ์กับการขจัดไวรัสโควิดออกจากตัวได้ดีมาก และทั้งสองวิธีให้ผลดีทั้งคู่อย่างไม่แตกต่างกัน ตัวหมอสันต์แนะนำให้เลือกใช้ฟ้าทะลายโจร เพราะราคาถูกกว่า หาง่ายกว่า และไม่จำเป็นต้องรอให้แพทย์สั่ง

ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการใช้ฟ้าทลายโจรด้วยตนเอง

ประเด็นการแพ้ยา หลักฐานเรื่องการแพ้ฟ้าทลายโจรในรูปแบบของงานวิจัยผู้ป่วยจริงแบบตามดูกลุ่มคน (prospective cohort study) ยังไม่มี มีแต่รายงานการแพ้ยาในรูปของการออกแบบสอบถามซึ่งยังไม่ได้มีการตรวจสอบความเชื่อได้ (validity) ของแบบสอบถาม งานวิจัยดังกล่าวใช้แบบสอบถามจำนวน 248 ราย พบว่ามีการแพ้ต้องเข้ารพ. 16 ราย ในจำนวนนี้แพ้แบบช็อก 5 ราย, แพ้แต่ไม่ช็อก 4 ราย, แพ้แบบผื่นลมพิษ 4 ราย


ประเด็นยาตีกัน (drug interaction) หลักฐานระดับข้อมูลในห้องทดลองบ่งชี้ว่าฟ้าทลายโจรระงับยีน cytochrome P (CYP) 450 แต่งานวิจัยเพื่อทดสอบการเกิดยาตีกันระหว่างฟ้าทลายโจรกับ midazolam ซึ่งเป็นยาที่ไวที่สุดต่อการแย่งใช้กลไก CYP โดยทำวิจัยเปรียบเทียบในคนทั้งในแง่ pharmacokinetics และ pharmacodynamics กลับพบว่าฟ้าทลายโจรไม่ได้ตีกับ midazolam แต่อย่างใด ดังนั้นความกังวลเรื่องยาตีกันระหว่างฟ้าทลายโจรกับยาอื่นที่ออกฤทธิ์ผ่าน cytochrome P450 ทั้งหมดที่ถูกกระจายข่าวทั่วไปในอินเตอร์เน็ททุกวันนี้จึงเป็นเพียงความกังวลจากข้อมูลพื้นฐานระดับกว้างในห้องทดลองว่ามียาอะไรบ้างที่ออกฤทธิ์ผ่านกลไกนี้ แล้วคาดการณ์เอาว่าจะเกิดยาตีกันขึ้นเมื่อใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาเหล่านั้น โดยที่หลักฐานเชิงประจักษ์ว่าเกิดปัญหาขึ้นในคนจริงๆที่ใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาเหล่านั้นยังไม่มีแต่อย่างใด

ประเด็นการเป็นพิษต่อตับ ความกังวลและการกระจายข่าวว่าฟ้าทลายโจรเป็นพิษต่อตับเป็นความกังวลที่ถูกสร้างขึ้นโดยไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ในคนรองรับเลย นับถึงวันนี้ยังไม่เคยมีการวิจัยในคนที่ให้ผลบ่งชี้ว่าฟ้าทลายโจรเป็นพิษต่อตับตีพิมพ์ไว้เลย ในทางตรงกันข้าม งานวิจัยในสัตว์พบว่าฟ้าทลายโจรลดพิษต่อตับซึ่งเกิดขึ้นจากยาอื่นที่มีพิษต่อตับ เช่นพาราเซตตามอล
งานวิจัยย้อนหลังดูการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาผู้ป่วยโควิด 309 รายและงานวิจัยแบบ RCT เปรียบเทียบการใช้ฟ้าทลายโจรรักษาโควิดเทียบกับยาหลอกในผู้ป่วย 58 ราย ไม่พบว่ามีผลข้างเคียงรุนแรงและมีผลข้างเคียงไม่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มใช้ฟ้าทลายโจรและกลุ่มควบคุม งานวิจัยหนึ่งซึ่งทำแบบ RCT ในผู้ป่วย 862 คนเพื่อเปรียบเทียบการใช้ผงบดฟ้าทลายโจรกับยาหลอกในการรักษาการติดเชื้อทางเดินลมหายใจส่วนบนโดยให้กินยานาน 4 วันพบว่ามีผลไม่พึงประสงค์ของฟ้าทลายโจรเกิดขึ้น 4.3% โดยทั้งหมดเป็นภาวะแทรกซ้อนระดับไม่รุนแรงและไม่แตกต่างจากกลุ่มกินยาหลอก

กล่าวโดยสรุป ในภาพรวมฟ้าทลายโจรเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัย หากได้ระวังการเกิดอาการแพ้ไว้ล่วงหน้า

คำขอบคุณ

ขอขอบคุณประชาชนคนไทยทุกท่านที่ช่วยกันบริจาคเงิน 2.8 ล้านบาททำให้งานวิจัยนี้เกิดขึ้นได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Shi TZ, Huang YL, Chen CC, Pi WC, Hsu YL, Lo LC, Chen WY, Fu SL, Lin CH. Andrographolide and its fluorescent derivative inhibit the main proteases of 2019-nCoV and SARS-CoV through covalent linkage. BiochemBiophys Res Commun. 2020;533(3):67–473.
2. Khanit Sa-ngiamsuntorn, AmpaSuksatu et al. Anti-SARS-CoV-2 Activity of Andrographis paniculata Extract and Its Major Component Andrographolide in Human Lung Epithelial Cells and Cytotoxicity Evaluation in Major Organ Cell Representatives. Nat. Prod. 2021, 84, 4, 1261–1270. https://doi.org/10.1021/acs.jnatprod.0c01324
3. Benjaponpithak A, Visithanon K. et al. Short Communication on Use of Andrographis Herb (FA THALAI CHON) for the Treatment of COVID-19 Patients. Journal of Thai Traditional and Alternative Medicine 2021:19(Andrographis Herb (FA THALAI CHON) for the Treatment of COVID-19 P1);229-233
4. Efficacy and safety of Andrographis paniculata extract in patients with mild COVID-19: A randomized controlled trial. KulthanitWanaratna, PornvimolLeethong, NitaphaInchai, WararathChueawiang, PantitraSriraksa, AnutidaTabmee, SayompornSirinavin. medRxiv 2021.07.08.21259912; doi: https://doi.org/10.1101/2021.07.08.21259912
5. Suwankesawong, W., Saokaew, S., Permsuwan, U. et al. Characterization of hypersensitivity reactions reported. among Andrographis paniculata users in Thailand using Health Product Vigilance Center (HPVC) database. BMC Complement Altern Med 14, 515 (2014). https://doi.org/10.1186/1472-6882-14-515
6. Wongnawa M, Soontaro P et al. The effects of Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees on the pharmacokinetics and pharmacodynamics of midazolam in healthy volunteers. Songklanakarin J. Sci. Technol. 34 (5), 533-539,
7. Leelarasamee A, Suankratay C, Hunnangkul S, Udompunturak S, Krittayaphong R, Poonsrisawat J, Wongsakorn N, et al. The Efficacy and Safety of Andrographis paniculata Extract for the Treatment of Acute Nonspecific Upper Respiratory Tract Infections: A Randomized Double Blind Placebo Controlled Trial. J Med Assoc Thai 2021;104:1204-13.
8. Handa SS, Sharma A. Hepatoprotective activity of andrographolide against galactosamine & paracetamol intoxication in rats. Indian J Med Res. 1990 Aug;92:284-92. PMID: 2228075.
9. Subramaniyan, Vetriselvan & Uthirapathy, Subasini & Rajamanickam, G.V.. (2011). Hepatoprotective activity of Andrographis paniculata in ethanol induced hepatotoxicity in albino Wistar rats. Pharmacie Globale. 2.

…………………….

[อ่านต่อ...]

27 กุมภาพันธ์ 2565

BA2 ไม่ได้รุนแรงกว่า BA1 แต่โรคโควิดในเมืองไทยยังไม่ยอมเป็นโรคประจำถิ่น

(ภาพวันนี้: กาแฟอาราบิก้า ที่บ้านมวกเหล็ก)

โอไมครอนพันธ์ุ BA2 ไม่ได้รุนแรงมากกว่า BA1 ผิดจากที่วงการแพทย์คาดการณ์ไว้

งานวิจัยขนาดใหญ่ซึ่งสปอนเซอร์โดยสภาวิจัยทางการแพทย์อัฟริกาใต้ (ASMRC) ซึ่งทำการวิจัยข้อมูลแห่งชาติที่มีผู้ติดเชื้อโควิด 680,555 คน เพื่อมุ่งเจาะดูความแตกต่างของอัตราการต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล (hospitalization rate) และอัตราตาย (mortality rate) ของผู้ติดเชื้อโอไมครอนรุ่นใหม่ชนิด BA2 เปรียบเทียบกับรุ่นเก่า BA1 พบว่าเชื้อ BA2 แพร่ได้เร็วกว่า BA1 จริง แต่ความรุนแรงในคนจริงๆไม่แตกต่างกัน ทั้งอัตราการเข้าโรงพยาบาลและอัตราตาย ไม่ต่างกันเลย

ข้อมูลนี้ตรงกับรายงานในเว็บไซท์ของสถาบันจีโนมิกแห่งชาติเด็นมาร์ค (STATENS SERUM INSTITUT) ซึ่งเป็นสถาบันจีโนมิกชั้นหนึ่งแห่งหนึ่งของโลก และประเทศเด็นมาร์คตอนนี้ก็เป็นประเทศแช้มป์ที่ติดเชื้อ BA2 เร็วกว่าเพื่อนคือตอนนี้ 100% เป็น BA2 ขณะที่อเมริกายังเป็นกันแค่ประมาณ 5% ข้อมูลของสถาบันจีโนมิกแห่งชาติเด็นมาร์คซึ่งศึกษาเปรียบเทียบผู้ป่วยโควิด BA1และ BA2 จำนวน 932 คน พบว่าทั้ง BA1 และ BA2 มีอัตราเข้าโรงพยาบาลเท่ากัน อัตราตายเท่ากัน ขณะที่ BA2 แพร่เชื้อได้เร็วกว่า

และขณะนี้ข้อมูลจากทุกประเทศทั่วโลกที่มีการติดเชื้อ BA2 รวมทั้งสหรัฐอเมริกาซึ่ง BA2 กำลังอยู่ในขาขึ้น พบว่าอัตราตายรวมของทุกประเทศกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นข้อมูล ณ ขณะนี้ทำให้อุ่นใจได้อย่างหนึ่งว่าแม้ BA2 จะมากขึ้น แต่ก็ไม่รุนแรงไปกว่า BA1 

หลายประเทศลดเกียร์ลง

ระลอกการระบาดของโควิดในระดับโลกยังคงไม่จบ และคงจะไม่กลายเป็นโรคประจำถิ่นไปได้ง่ายๆ แต่ว่าหลายประเทศพากัน “ลดเกียร์” เลิกการควบคุม คือปฏิบัติต่อโควิดเสมือนเป็นโรคประจำถิ่นไปเรียบร้อยแล้ว ผมเดาเหตุผลว่าประเทศเหล่านั้นเขาตัดสินใจไปทางนั้นเพราะ

1.. มีข้อมูลของทางอังกฤษชัดเจนแล้วว่าโอไมครอนติดต่อง่ายมากจนการขยันตรวจคัดกรอง ไม่ได้ลดจำนวนผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลลง จึงเลิกคัดกรองมันเสียเลย

2.. มีข้อมูลจากหลายประเทศว่าการบังคับกักกันตัวเอง (self isolation) 5 วันบ้าง 10 วันบ้าง ไม่ได้ลดจำนวนผู้ป่วยโดยรวมที่ต้องเข้ารพ. ก็เลยเลิกบังคับให้กักกันตัวเองไปเสียด้วย

3.. มีข้อมูลแน่ชัดว่าการติดเชื้อธรรมชาติ ให้ภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในรูปของปริมาณแอนติบอดี้ในเลือดดีกว่า ให้ภูมิคุ้มกันข้ามสายพันธุ์ได้มากกว่า และให้ภูมิคุ้มกันยาวนานกว่าการฉีดวัคซีน จึงมีแนวคิดว่าขณะที่อัตราการเข้ารพ.ต่ำและอัตราตายต่ำมากอย่างนี้ จะมัวมาเฝ้ารอฉีดวัคซีนเข็ม 4, 5, 6, 7, 8 ไปทำไมกัน ปล่อยให้ติดเชื้อธรรมชาติให้ถ้วนทั่วหน้ากันทุกคนไปซะ ในอนาคตการควบคุมโรคจะง่ายและถูกเงินกว่ากันมาก พูดง่ายๆว่าเป็นแนวคิดฉวยโอกาสที่สายพันธ์ไม่รุนแรงกำลังระบาดเอาเชื้อโรคสายพันธ์เบามาเป็นตัวสร้างภูมิคุ้มกันแทนวัคซีนซะเลย

ในประเทศไทยโควิดก็ยังไม่ยอมประจำถิ่น

การระบาดของโอไมครอนในเมืองไทยซึ่งเข้าสู่ขาขึ้นอย่างจริงจังตั้งแต่วันที่ 4 มค. 65 โดยเพิ่มจำนวนหนึ่งเท่าตัว (doubling time) จาก 2-3000 ต่อวันขึ้นมาอยู่ระดับ 8,000 ต่อวันภายในเวลาแค่ 4 วัน แล้วทำท่าจะลงในช่วง 18 มค. 65 ขณะที่ข้อมูลจากทางห้องแล็บก็ยืนยันว่าขณะนั้นโอไมครอนเข้าแทนที่เดลต้าแล้วเกือบ 100% ในกทม. ทำให้ตายใจว่าโรคขึ้นเร็วลงเร็ว และเป็นจุดที่รัฐบาลบอกให้สธ.ไปหาทางทำให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งคนส่วนใหญ่รวมทั้งผมก็เห็นดีเห็นงามด้วยช่วยลุ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปมันกลับไม่ได้ลงจริงตามคาด แต่มันก็ไม่ขึ้นพรวดพราด คงเป็นเพราะระบบควบคุมโรคของเราค่อนข้างดี แต่ยังไม่ดีพอที่จะขจัดโรคได้ เพราะมันทรงๆอยู่ในระดับวันละ 8,000 ราย นานจนสิ้นเดือนมค. พอเริ่มเดือนกพ.ก็เพิ่มพรวดพราดในระดับเพิ่มเท่าตัวในเวลาแค่ 14 วัน ซึ่งก็ถือว่าเป็นขาขึ้นที่เร็วปานกลางทีเดียว แม้ถึงวันนี้ซึ่งเข้ามาวันที่ 27 กพ.แล้วก็ยังขึ้นในระดับนี้อยู่ ระลอกของการระบาดที่ไม่สม่ำเสมออย่างนี้ประกอบกับความไม่แม่นยำของข้อมูลผู้ติดเชื้อในประชากรจริงทำให้คาดเดาได้ยาก ว่าขาขึ้นระดับเพิ่มเท่าตัวทุก 14 วันนี้อย่างจะคงอยู่ไปนานเท่าใด

เตียงโรงพยาบาลคือยุทธปัจจัยหลัก

หันมามองเตียงโรงพยาบาลซึ่งเป็นตัวกำหนดวิธีจัดการโรคที่แท้จริงบ้าง เมื่อเริ่มต้นปีนี้ซึ่งโรคทรงอยู่ระดับ 3,011 รายต่อวัน เราใช้เตียงโรงพยาบาล 15,704 เตียง ใช้เตียงสนาม 15,438 เตียง ที่เหลือให้อยู่บ้าน

พอมาช่วง 31 มค. ซึ่งโรคกระโดดขึ้นมาแล้วทรงอยู่ที่วันละ 8,008 ราย เราใช้เตียงโรงพยาบาล 41,566 เตียง ใช้เตียงสนาม 32,716 เตียง

พอมาวันนี้ (27 กพ.) ซึ่งโรคกำลังวิ่งขึ้นเป็นวันละ 24,719 ราย เราใช้เตียงโรงพยาบาล 85,075 เตียง ใช้เตียงสนาม 59,537 เตียง ซึ่งเป็นการใช้เตียงในบรรยากาศที่ต้องโทรศัพท์หาเตียงกันวุ่นวายอีกแล้ว ทั้งหมดนี้แม้อัตราตายยังคงต่ำระดับ 0.16% แต่หากมันยังเพิ่มในระดับนี้ เตียงรพ.นะสิ จะไม่พอเอา เพราะคนที่ต้องเข้าโรงพยาบาลส่วนใหญ่มีโรคร่วม หากไม่มีเตียงรพ.รองรับ อัตราตายที่ต่ำๆอยู่ก็จะไม่ต่ำแล้ว เพราะโรคร่วมเป็นเหตุ

การจะทำให้เป็นโรคประจำถิ่นต้องมีสองเงื่อนไข

คำว่า “โรคประจำถิ่น (endemic)” หมายความว่าโรคที่เราคาดเดาพฤติการณ์มันได้ และจัดการมันได้ แต่ตอนนี้เรายังคาดเดาพฤติการณ์มันไม่ได้ แถมหากเตียงเราหมดเราก็จะจัดการมันไม่ได้อีกต่างหาก ดังนั้น ณ วันนี้โควิดจึงยังไม่ใช่โรคประจำถิ่นแน่นอน มันยังเป็นโรคระบาดที่เรายังเอาไม่อยู่ ในขณะที่เงินของเราก็หมดหน้าตักแล้ว ตกงานกันมาก็หลายปีแล้ว วัคซีนก็หวังพึ่งในแง่จะใช้สร้างภูมิคุ้มกันฝูงชน (herd immunity)เพื่อควบคุมโรคยังไม่ได้เพราะมันป้องกันการติดเชื้อรุ่นใหม่ได้น้อย ได้แต่อาศัยใช้ลดการเข้ารพ.และลดการตายลงได้บ้างเท่านั้น ถ้าเราควบคุมโรคไม่อยู่ แล้วเราจะทำพรือดี

ทางสองแพร่งที่ถูกบังคับให้เลือก

ผมเขียนบทความนี้เพื่อเสนอให้คิดยุทธศาสตร์ล่วงหน้า หากเตียงโรงพยาบาลของเราหมด สถานะการณ์ตอนนี้ไม่เหมือนตอนที่โรคโควิดเกิดขึ้นใหม่ ตอนนั้นโรคมีอัตราตายสูง ความเชื่อมั่นในวัคซีนมีมาก และโรคมีขีดความสามารถแพร่กระจาย (infectability) ต่ำ แต่วันนี้โรคมีอัตราตายต่ำ บางรายงานต่ำใกล้ศูนย์ทีเดียว(ในกลุ่มคนที่ไม่มีโรคร่วมมาก) ขณะที่โรคมีความสามารถในการแพร่กระจายสูงชนิดที่การตรวจคัดกรอง สอบสวน กักกันโรค แทบไม่มีความหมายเลยจนหลายประเทศเลิกใช้ไป วัคซีนก็ป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ดังหวัง ประกอบกับเงินที่กู้เขามาก็หมด คนก็พากันตกงาน เศรษฐกิจของชาติก็ตกสะเก็ด ยุทธศาสตร์เดิมที่มุ่งกดโรค (suppression) หรือยุทธการปิดเมือง(lock down) ที่เราเคยใช้ได้ผลเรื่อยมา หรือแม้กระทั่งยุทธการหน่วงโรค (mitigation)ให้ยืดเยื้อเรื้อรังและระดมฉีดวัคซีนเข็มสี่ห้าหกเจ็ดแปดกันไปไม่รู้จบสิ้น ก็อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดเสียแล้ว

ผมเสนอให้รัฐบาลใช้ยุทธศาสตร์ปล่อยโรค (unmitigated) ปล่อยให้ประชาชนดูแลตัวเองในแง่ของป้องกันตนเอง โดยที่รัฐยกเลิกมาตรการควบคุมทั้งหมดเสีย ปล่อยทุกอย่างแบบโล่งโจ้ง ล่อนจ้อน อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ด้วยอัตราการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุม(2 เข็ม)ไปเกือบ 70% แล้ว ด้วยขีดความสามารถในการแพร่เชื้อของโอไมครอนที่คาดความเร็วได้จากทั้งที่อังกฤษและอัฟริกาใต้ (และเด็นมาร์กในกรณี BA2) และด้วยอัตราตายที่ต่ำทั้ง BA1และBA2 ผมว่าเราจะเดือดร้อนกันเบ็ดเสร็จโหลงโจ้งก็ไม่น่าจะเกิน 2 เดือนทุกคนก็จะได้ติดเชื้อโอไมครอนไม่ BA1ก็BA2 กันถ้วนหน้า หลังจากนั้นโรคน่าจะกลับลงมาอยู่ในระดับที่เราจัดการมันได้แบบโรคประจำถิ่นที่แท้จริง แทนที่จะเลี้ยงโรคให้เป็นโรคระบาดไปอีกซึ่งไม่รู้จะนานกี่ปี

ควรมิควรสุดแล้วแต่ลุงตู่จะกรุณา

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Nicole Wolter, Waasila Jassat, DATCOV-Gen author group, Anne von Gottberg, Cheryl Cohen. Clinical severity of Omicron sub-lineage BA.2 compared to BA.1 in South Africa. medRxiv 2022.02.17.22271030; doi: https://doi.org/10.1101/2022.02.17.22271030

[อ่านต่อ...]

23 กุมภาพันธ์ 2565

หมอสันต์พูดถึงวิธีฝึกการใช้ชีวิต

(ภาพวันนี้: มอร์นิ่งวอล์คในมวกเหล็กวาลเลย์)

(หมอสันต์พูดกับสมาชิกแค้มป์ SR-20)

ความยากมีเป็นธรรมดาในช่วงแรก

เมื่อวานนี้ท่านหนึ่งเปรยถึงความยากลำบากของการฝึกใช้เเครื่องมือวางความคิดหลายชิ้นพร้อมกัน ไหนจะต้องพะวงถึงลมหายใจ แล้วต้องยิ้ม ต้องผ่อนคลายร่างกายอีก แล้วต้องรับรู้พลังชีวิตอีก โฮ้ย..เครียด

คือการฝึกวางความคิดเป็นการฝึกทักษะ มันอาศัยการทำซ้ำจนชำนาญ การใช้เครื่องมือทุกอย่างมันยากเฉพาะเมื่อเราเริ่มฝึก สมัยผมเด็กอายุประมาณ 8 ขวบ อยู่บ้านนอกที่จังหวัดพะเยา สมัยนั้นรถยนต์ยังไม่มี ทุกคนไปไหนมาไหนใช้จักรยาน ทุกคนขี่จักรยานเป็นตั้งแต่เด็ก แล้วอยู่ๆก็มีคนแก่ชาวจีนลี้ภัยมาจากแผ่นดินใหญ่มาอยู่กับญาติของเขาที่ตำบลของผม เขาอายุราว 50 ปี แต่ขี่จักรยานไม่เป็น เขาก็ต้องหัดจักรยาน โดยเขาใช้สนามหญ้าหน้าโรงเรียนเป็นที่หัดทุกเย็น คุณเชื่อไหม เวลาที่เจ็กแปะท่านนี้หัดจักรยาน จะมีผู้ชมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ประมาณยี่สิบสามสิบคนไปยืนมุงดูเพราะเป็นของแปลกในชีวิต ไม่เคยเห็นที่คนอายุห้าสิบแล้วขี่จักรยานไม่เป็น เป็นความบันเทิงในการชมด้วย เพราะเวลาเขายกเท้าทั้งสองขึ้นปั่นตัวเขาจะสั่นเทิ้มแข็งทื่อเกร็งไปหมด ยิ่งมีเด็กมายืนดูเขายิ่งกลัวจักรยานไปชนเด็ก ความกลัวนั้นทำให้มือเขาเกร็งแข็งพาเอาจักรยานพุ่งตรงรี่เข้าไปหากลุ่มเด็กจะชนเอาจริงๆ เด็กๆอย่างพวกเราก็แตกฮือวิ่งหลบกันเป็นที่สนุกสนาน

การเบลนด์ทุกเครื่องมือให้เป็นหนึ่งเดียว

เมื่อก่อนตรุษจีนที่ผ่านมานี้ผมขับรถไปเที่ยวทางใต้ ขากลับแวะที่ไร่กาแฟที่ชุมพรชื่อ “ก้องกาแฟ” ก้องเป็นชื่อเจ้าของ คุณก้องเขาก็ชวนพวกเรานั่งดื่มกาแฟ เขาเอากาแฟแบบนั้นผสม (blend) กับแบบนี้แล้วต้มแล้วให้ทดลองดื่มแล้วชี้แนะว่ารสของมันออกแนวนี้ซึ่งเราดื่มแล้วก็เห็นจริงตาม คือกาแฟหลากชนิดเอามาผสมหรือเอามาเบลนด์กันรสชาติมันกลับกลมกล่อมดีขึ้น เช้านี้เราจะฝึกเบลนด์เครื่องมือทั้งสี่ชิ้นที่เราเรียนไปเมื่อวานให้มันเข้ากันเป็นเนื้อเดียว

เริ่มต้นเราจะเบลนด์การตามดูลมหายใจกับการรับรู้พลังชีวิตก่อน เพราะจริงๆแล้วสองอย่างนี้มันเป็นของอย่างเดียวกัน หมายถึงลมหายใจเข้าไปแล้วมันก็ออกมาเป็นพลังชีวิตนั่นแหละ เมื่อตะกี้ครูโยคะให้เปล่งเสียงโอมตอนจบ คราวนี้เรามาเริ่มที่การเปล่งเสียงโอมนี่ก็แล้วกัน เสียงโอมนี้แยกออกแล้วมันเป็นการเบลนด์กันของสามเสียงย่อย

คือเสียง อา… อ้าปากนะเปล่งแล้วให้คุณรับรู้การสั่นสะเทือนของร่างกายท่อนล่างตั้งแต่สะดือลงไป เอาลอง อา..า….า

เสียงที่สองก็คือเสียงอู ทำปากจู๋แบบนี้ ทำเสียงต่ำๆ ขณะเปล่งเสียงนี้ให้รับรู้การสั่นสะเทือนของร่างกายท่อนกลางคือประมาณหน้าอก เอ้าลองทำ อู….

เสียงที่สามคือเสียงอึม..ม ปิดปากนะ อย่างนี้ ขณะเปล่งเสียงให้รับรู้การสั่นสะเทือนของร่างกายตั้งแต่คอขึ้นไปถึงศรีษะ

คราวนี้เอาทั้งสามเสียงมารวมกันเป็นเสียงโอม..ม แล้วรับรู้การสั่นสะเทือนของร่างกายทั้งร่างกาย

เอ้าลองทำพร้อมกัน โอม..ม…..ม

ทำเสียงเบาๆ เน้นสนใจรับรู้ความสั่นสะเทือนบนร่างกาย

คราวนี้ทำเสียงแค่ครึ่งลมหายใจออกแล้วหยุดเสียง ครึ่งหลังแค่หายใจออกเฉยๆ แต่ยังติดตามรับรู้การสั่นสะเทือนของร่างกายอยู่

คราวนี้รอบสุดท้าย ไม่ต้องเปล่งเสียงโอมเลย แค่หายใจธรรมดา แล้วตั้งใจรับรู้การสั่นสะเทือนของร่างกายที่เกิดจากการหายใจ

คราวนี้ไม่รับรู้แค่การสั่นสะเทือนอย่างเดียว แต่รับรู้ทุกอย่างตั้งแต่การสั่นสะเทือน ซู่ๆซ่าๆ เหน็บๆชาๆอุ่นๆร้อนๆ ที่เกิดจากการหายใจ รับรู้หมด

นี่ก็เท่ากับว่าเราได้เบลนด์การหายใจกับการรับรู้พลังชีวิตเข้าด้วยกันแล้ว

ทีนี้จะรับรู้พลังชีวิตให้ได้ชัดขึ้นมันต้องผ่อนคลายร่างกายให้มากขึ้น เราก็เบลนด์การผ่อนคลายร่างกายและการยิ้มเข้าไปด้วย ทั้งหมดนี้ คือ (1) ความสนใจของเรา (2) ลมหายใจ (3) พลังชีวิต (4) การผ่อนคลายร่างกายและยิ้ม เบลนด์กันอยู่ในหนึ่งลมหายใจ ทุกลมหายใจ

ฝึกการใช้ชีวิต

เมื่อวานนี้ท่านหนึ่งบอกว่ากลับจากแค้มป์SR ครั้งที่แล้ว กลับไปแล้วก็ไปจมอยู่กับสถานะการณ์ในชีวิตจนลืมใช้ชีวิต การจะไม่พลัดตกเข้าไปในหล่มของสถานะการณ์ในชีวิต (life situation) เราต้องรู้จักการใช้ชีวิตก่อน เช้าวันนี้เรามาฝึกหัดการใช้ชีวิตหรือ living นี้กันหน่อย ฝึกกันเดี๋ยวนี้เลย เพราะการใช้ชีวิตเราทำได้เฉพาะเมื่อเดี๋ยวนี้หรือที่ลมหายใจนี้เท่านั้น เป็นไปไม่ได้ที่เราจะใช้ชีวิตในเวลาอื่นที่ไม่ใช่เดี๋ยวนี้ เพราะนั่นม้นจะเป็นแค่ความคิดถึงอดีตหรืออนาคต ไม่ใช่การใช้ชีวิตจริง

ในการจะใช้ชีวิตที่เดี๋ยวนี้ให้ตั้งธงก่อนนะว่า

…เราจะไม่คาดหวังหรือไม่คิดอยากได้อะไรจากใครทั้งนั้น และ

…เราจะไม่เอาเรื่องในอดีตหรือในอนาคตมายุ่งด้วย เพราะนั่นเป็นเพียงความคิด

…เราจะไม่คิดถึงความสำเร็จหรือผลลัพท์ของงานชิ้นใดๆ หากจะทำงานก็จะสนใจแค่ขั้นตอนที่ต้องทำเมื่อเดี๋ยวนี้เท่านั้น เพราะขณะที่ขั้นตอนตรงหน้าเป็นของจริง แต่ผลลัพท์ที่ยังไม่เกิดขึ้นล้วนเป็นความคิด

เราจะแค่อยู่ที่นี่ ยอมรับทุกอย่างที่ปรากฎต่อหน้าเราที่นี่ คำสำคัญคือการยอมรับ (acceptance) ซุึ่งแสดงออกง่ายๆด้วยการ “ขอบคุณ” คำว่าขอบคุณนี้มันไม่มีคำภาษาไทยที่ตรงกว่านี้ ผมชอบคำอังกฤษว่า appreciate มันจะตรงกว่า เช่น

อ้า..า ดีจังมีลมเย็นๆมาปะใบหน้า

ลองมองดูใบหญ้าระบัดที่พื้นสนามหญ้านี่สิ มองดูแสงแดดที่ส่องบนใบหญ้า ผ่านใบหญ้าให้เห็นเส้นใบสีเขียวอ่อน ทิ้งเงาทอดลงบนพื้น ช่างสวยงามเสียจริง

มองดูดอกไม้สีแดงข้างหลังผมนี่สิ มันช่างเร้าใจให้เกิดความเบิกบานสดใสเสียเหลือเกิน

ทั้งหมดนี้คือ appreciation หรือการยอมรับสิ่งที่ปรากฎอยู่ต่อหน้าเราที่เดี๋ยวนี้ ไม่เฉพาะสิ่งที่เราชอบนะ สิ่งที่เราไม่ชอบเราก็ appreciate ก็ยอมรับด้วย อย่างเช่นนั่งนานแล้วเจ็บก้น เราก็ยอมรับว่าเออ มันเจ็บ ยอมรับมันตามที่มันเป็น ไม่คิดบวกคิดลบทั้งนั้น ปล่อยให้มันผ่านเข้ามา ให้มันผ่านออกไป

นี่แหละคือการใช้ชีวิต อยู่ที่ลมหายใจนี้ อย่างยอมรับทุกอย่างที่เข้ามาหาตอนนี้ อย่าง appreciate ทุกอย่าง อย่างสงบเย็น ยอมรับให้มันผ่านเข้ามา ให้มันผ่านออกไป ทีละลมหายใจ ทีละลมหายใจ มันเป็นความสงบเย็นอันเดียวกันกับที่เมื่อตอนเราอยู่ในความคิดเราดิ้นรนแสวงหาอยากพบ แค่เราวางความคิดลงเราก็พบแล้ว มันอยู่ในเราในโมเมนต์เดี๋ยวนี้นี่เองไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหนไกล

แค่รู้จักวิธีใช้ชีวิต เราก็มีชีวิตที่สงบเย็นได้แล้ว ไม่ว่าสถานะการณ์ในชีวิตเราจะเป็นอย่างไร

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

19 กุมภาพันธ์ 2565

อ่านงานวิจัยเองแล้วจะกินยาต้านซึมเศร้ารักษาโควิดเลยจะได้ไหม


(ภาพวันนี้: แซงแซวหางปลา บนยอดสัก ที่หลังบ้าน)

เรียนสอบถามครับ      

จากผลการศึกษาเรื่องนี้

https://jamanetwork.com/journals/jamanetworkopen/fullarticle/2786136

จะสามารถกินยากลุ่มSSRIs นี้ โดยเฉพาะ Fluoxetine ที่มีราคาถูกและผลข้างเคียงต่ำ  เพิ่อหวังว่าจะลดความรุนแรงของโรคโควิด-19 หากเกิดติดเชื้อ ได้หรือไม่ครับ   

ขอบคุณมากครับ

………………………………………………………………………………….

ตอบครับ

ก่อนตอบคำถามผมสรุปงานวิจัยที่ท่านส่งมาให้ฟังเพื่อให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นได้ประโยชน์ด้วยก่อน งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยแบบย้อนหลังดูกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเทียบกับอีกกลุ่มหนึ่งที่อายุและสถานะทั่วไปคล้ายกัน (match case control study) วิธีทำคือเปิดประวัติผู้ป่วยโควิดที่กินยาต้านซึมเศร้าในกลุ่ม SSRI มาก่อน 3401 คน พบว่าตายไปเพราะเป็นโควิด 14.6% (497 คน) แล้วไปเปิดดูประวัติผู้ป่วยโรคโควิดที่ไม่ได้ยา SSRI ที่มีอายุใกล้กันจำนวน 6802 คน พบว่าตายไป 16.6% (1130 คน) เท่ากับว่ากลุ่มกินยาต้านซึมเศร้ามีความเสี่ยงตายสัมพัทธ์น้อยลง (RRR) 8% หรือมีความเสี่ยงตายสัมบูรณ์ (ARR) ลดลง 2.0% จึงสรุปผลว่ายาต้านซึมเศร้าสัมพันธ์กับการตายจากโควิดน้อยลง

เอาละคราวนี้มาตอบคำถาม

ถามว่าอ่านงานวิจัยนี้แล้วกินยาต้านซึมเศร้ารักษาโรคโควิดเลยได้ไหม ตอบว่ายังไม่ได้ครับ เพราะ (1) ผลวิจัยที่สรุปได้บอกแค่ความสัมพันธ์ระหว่างของสองอย่างที่พบร่วมกัน (ยาต้านซึมเศร้ากับการป่วยเป็นโควิดน้อยลง)โดยที่ยังไม่ได้แยกแยะปัจจัยกวนตัวอื่น จึงยังสรุปไม่ได้ว่ายาต้านซึมเศร้าใช้รักษาโรคโควิดได้หรือไม่ (2) งานวิจัยนี้เป็นหลักฐานระดับต่ำ ข้อสรุปจึงยังเอาไปใช้ทันทีไม่ได้ ใช้ประโยชน์ได้แค่เป็นข้อมูลพื้นฐานที่จะทำวิจัยระดับสูงขึ้น คือการสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ต่อไป

ประเด็นสำคัญคือ ที่ผมหยิบจดหมายนี้มาตอบไม่ใช่เพื่อจะบอกว่ากินยาต้านซึมเศร้ารักษาโควิดได้หรือไม่ได้ แต่ตอบเพื่อเป็นการฉวยโอกาสให้ท่านผู้อ่านได้เรียนรู้วิธีประเมินระดับชั้นความเชื่อถือได้ของข้อมูลวิจัย เนื่องจากแฟนบล็อกหมอสันต์มีมากขึ้นทุกวันที่สงสัยอะไรแล้วไปค้นวารสารการแพทย์อ่านเองในเน็ทซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่จะดีมากกว่าหากอ่านแล้วรู้วิธีจัดระดับชั้นความน่าเชื่อถือของงานวิจัยเหล่านั้นได้ด้วยตัวเองด้วย วันนี้จึงถือโอกาสคุยเรื่องนี้ซะเลย ใครที่ไม่ชอบเรื่องหนักๆให้ผ่านบล็อกนี้ไปได้เลย วันนี้ผมจะแนะนำให้ท่านประเมินหลักฐานวิจัยใน 3 มุมมอง คือ

มุมมองที่ 1. ระดับชั้นของหลักฐาน งานวิจัยทางคลินิกระดับสูงสุดคือการวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ซึ่งถือว่าเชื่อถือได้ ชั้นต่ำถัดลงไปคืองานวิจัยตามดูกลุ่มคนสองกลุ่มแบบตามไปข้างหน้าแล้วเอาข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบกัน (prospective cohort study) ชั้นต่ำลงไปอีกคืองานวิจัยแบบย้อนหลังดูกลุ่มคนโดยเปรียบเทียบกับอีกกลุ่มที่คล้ายกัน (match case control study) ชั้นต่ำกว่านั้นอีกคือการรายงานกลุ่มผู้ป่วยที่เกิดขึ้นแล้วโดยไม่เปรียบเทียบกับใคร (case series) ต่ำลงไปยิ่งกว่านั้นอีกคือการวิจัยในห้องทดลองหรือในสัตว์ซึ่งไม่ได้ทำในคนจริงๆ งานวิจัยที่คุณไปอ่านมานี้เป็นระดับ match case control study ซึ่งเป็นหลักฐานระดับค่อนไปทางต่ำ ยังเอามาใช้งานจริงเลยทันทีไม่ได้ครับ

มุมมองที่ 2. การออกแบบงานวิจัยเพื่อขจัดปัจจัยกวน (confound factors) งานวิจัยดูกลุ่มคนสองกลุ่มโดยไม่ได้สุ่มตัวอ่ย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบจะมีปัจจัยกวนที่ทำให้แปลผลงานวิจัยผิดได้เสมอ ผมยกตัวอย่างเช่นสมัยหนึ่งมีงานวิจัยแบบย้อนหลังดูกลุ่มคนญี่ปุ่นในฮาวายสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งดื่มกาแฟ อีกกลุ่มหนึ่งไม่ดื่มกาแฟ พบว่ากลุ่มที่ดื่มกาแฟเป็นโรคหัวใจขาดเลือดตายมากกว่ากลุ่มไม่ดื่มกาแฟ จึงสรุปว่ากาแฟเป็นสาเหตุของโรคหัวใจขาดเลือด ผู้คนก็แตกตื่นกลัวกาแฟกัน แต่ความเป็นจริงคืองานวิจัยนี้ออกแบบไม่ดีจึงได้ข้อสรุปมาแบบผิดๆ เพราะมีปัจจัยกวนซึ่งงานวิจัยนี้ไม่ได้ขจัดไปก่อน ปัจจัยกวนนั้นคือการสูบบุหรี่ เมื่อทำวิจัยซ้ำโดยขจัดปัจจัยกวน คือแยกเอาคนสูบบุหรี่ไปวิเคราะห์เทียบกับคนสูบบุหรี่ คนไม่สูบไปวิเคราะห์เทียบกับคนไม่สูบ จึงได้ข้อสรุปใหม่ว่าการดื่มกาแฟไม่สัมพันธ์อะไรกับโรคหัวใจขาดเลือด เพราะสาเหตุของโรคที่แท้จริงคือการสูบบุหรี่ เมื่อคนดื่มกาแฟชอบสูบบุหรี่ ก็เลยทำให้บุหรี่เป็นปัจจัยกวนที่สำคัญของการวิจัยการดื่มกาแฟ

งานวิจัยที่คุณไปอ่านมานี้ไม่ได้ตั้งใจขจัดปัจจัยกวนที่เป็นสาเหตุการตายระหว่างป่วยด้วยโควิดเลยซักอย่างทั้งๆเรารู้อยู่แล้วว่ามีปัจจัยกวนร้อยแปดอย่างที่ทำให้คนตายมากขึ้นขณะติดโควิด เช่นอ้วน เป็นเบาหวาน เป็นหัวใจขาดเลือด ความดันสูง เป็นต้น การขจัดปัจจัยกวนในการศึกษาแบบย้อนหลัง (retrospective) อย่างงานวิจัยนี้มันทำไม่ได้ดอกเพราะเรื่องจบไปหมดแล้วผู้วิจัยจะย้อนไปไม่เอานั่นไม่เอานี่ในงานวิจัยมันทำได้ยาก นั่นเป็นเหตุผลที่งานวิจัยแบบย้อนหลังมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าแบบไปข้างหน้า (prospective) ผลวิจัยที่ได้จากการเปรียบเทียบโดยไม่ขจัดปัจจัยกวนจึงเชื่อถือไม่ได้ เว้นเสียแต่จะเป็นการวิจัยแบบ RCT ซึ่งการสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มจะช่วยขจัดปัจจัยกวนในแต่ละกลุ่มให้เท่ากันได้โดยอัตโนมัติ

มุมมองที่ 3. ผลประโยชน์ทับซ้อน คืองานวิจัยที่คนจงใจทำวิจัยเพื่อขายของถือว่าเป็นงานวิจัยที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน จึงเป็นธรรมเนียมหรือกฎกติกามารยาทของวงการแพทย์ว่าให้ผู้วิจัยประกาศว่าตนเองมีผลประโยชน์ทับซ้อนอะไรบ้างบนงานที่ตัวเองทำวิจัย โดยให้เขียนประกาศไว้ท้ายงานวิจัย ซึ่งหากคุณตามลงไปอ่านก็จะพบว่าผู้วิจัยชิ้นที่คุณส่งมาให้ผมนี้รับเงินมาจากบริษัทผลิตยาชื่อ Aria Pharmaceuticals ซึ่งคุณก็จะถึงบางอ้อทันทีว่าบริษัทเขาลงทุนทำวิจัยเรื่องนี้ทำไม

เรื่องการสร้างหลักฐานวิจัยและการออกคำแนะนำทางการแพทย์เพื่อเอื้อประโยชน์ทางการค้านี้มันมีความซับซ้อนมาก เล่นกันหนัก เล่นกันแรง เล่นกันโจ๋งครึ่ม เล่นกันด้านๆ ผมขอไม่พูดในประเด็นนี้พวกนี้มากเกินไปดีกว่า เพราะผมแก่แล้วต้องรักษาสุขภาพตัวเอง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Oskotsky T, Marić I, Tang A, et al. Mortality Risk Among Patients With COVID-19 Prescribed Selective Serotonin Reuptake Inhibitor Antidepressants. JAMA Netw Open. 2021;4(11):e2133090. doi:10.1001/jamanetworkopen.2021.33090
[อ่านต่อ...]

17 กุมภาพันธ์ 2565

แม่มียีน ApoE4 ตัวเองเลยปอดแหกกลัวเป็นอัลไซเมอร์ไปด้วย

(ภาพวันนี้: แก้วเจ้าจอม)

กราบเรียนคุณหมอสันต์

คุณแม่อายุ 72 มีอาการขี้หลงขี้ลืมเล็กน้อย ตรวจความจำได้คะแนนไม่ดี หมอให้ตรวจยีนพบเป็น ApoE4 หมอบอกว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ให้ทำใจ คุณแม่กลับมามีอาการใจเสียซึมเศร้ามาหลายเดือน หนูเองก็ใจเสียเพราะกลัวตัวเองเป็นสมองเสื่อมตามคุณแม่ อยากถามคุณหมอว่าอาการขี้หลงขี้ลืมนี้คือโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ใช่หรือไม่ คนเราเมื่ออายุมากต้องสมองเสื่อมทุกคนใช่ไหม เมื่อวินิจฉัยว่าเป็นอัลไซเมอร์แล้วก็คือช่วยไม่ได้แล้วใช่ไหม เพราะหมอบอกว่ายาที่ใช้มันไม่ได้ผลหรอก คนมีพันธุกรรมอัลไซเมอร์เป็นอัลไซเมอร์กี่เปอร์เซ็นต์คะ และการที่คุณแม่ตรวจพบ ApoE4 ร่วมกับมีอาการขี้ลืมเป็นอัลไซเมอร์แน่นอนแล้วใช่ไหม

ขอบพระคุณมากค่ะ

………………………………………………………………..

ตอบครับ

1.. ถามว่าอาการขี้หลงขี้ลืมคือโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ใช่หรือไม่ ขอแยกตอบเป็นสามประเด็นนะ

ประเด็นที่1. สมองเสื่อม (dementia) กับอัลไซเมอร์ไม่ได้เป็นคำเดียวกัน คำว่าสมองเสื่อมเป็นกลุ่มโรค ขณะที่โรคอัลไซเมอร์เป็นชื่อโรคหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มนี้ แต่ความที่เป็นโรคใหญ่ที่สุดของกลุ่ม คือประมาณ 60-70% ของสมองเสื่อมเกิดจากโรคอัลไซเมอร์ คนจึงใช้คำว่าสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์เสมือนเป็นคำเดียวกัน

ประเด็นที่ 2. อาการขี้หลงขี้ลืมเล็กน้อยยังไม่ถูกนับเป็นโรคสมองเสื่อม มันถูกนับเป็นอีกโรคหนึ่งเรียกว่า MCI ย่อมาจาก mild cognitive imparement แปลว่าขี้หลงขี้ลืมเล็กน้อยนั่นแหละ มันเป็นโรคนำร่อง ส่วนสมองเสื่อมของแท้นับเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจสำคัญในชีวิตประจำวันอย่างใดอย่างหนึ่งในเจ็ดอย่างได้ คือ (1) ไปไหนมาไหนเองไม่ได้ (2) ดูแลเงินทองของตัวเองไม่ได้ (3) จัดการหยูกยาของตัวเองไม่ได้ (4) ทำความสะอาดห้องหับที่หลับที่นอนตัวเองไม่ได้ (5) ซื้อของจ่ายตลาดเองไม่ได้ (6) หาอาหารกินเองไม่ได้ (7) อยู่คนเดียวไม่ได้

ประเด็นที่ 3. อาการขี้หลงขี้ลืมเล็กน้อยเป็นไฟแดงหรือเส้นแดงแรกที่บอกว่าภาวะสมองเสื่อมได้ดำเนินมาถึงจุดที่ต้องกระต๊ากทำอะไรสักอย่างได้แล้ว มิฉะนั้นท้ายที่สุดก็จะจบลงด้วยสมองเสื่อมระดับคลาสสิก ทั้งนี้ต้องเข้าใจนะว่าโรคอัลไซเมอร์และสมองเสื่อมจากโรคอื่นๆเกือบทั้งหมดมันก็เหมือนโรคหัวใจขาดเลือด คือมันเริ่มเกิดขึ้นและดำเนินเรื่อยมาตั้งแต่อายุน้อยๆระดับยี่สิบปีแต่ยังไม่มีอาการอะไร อาการขี้หลงขี้ลืมเล็กน้อยเป็นไฟแดงแยกแรกที่เตือนว่าวิธีใช้ชีวิตของท่านได้ลากเอาโรคนี้ดำเนินมาถึงจุดที่เริ่มมีนัยสำคัญแล้ว

 2.. ถามว่าความชราทำให้สมองเสื่อมทุกคนใช่ไหม ตอบว่าไม่ใช่ครับ ชราก็ชรา สมองเสื่อมก็สมองเสื่อม ไม่เกี่ยวกัน สมองเสื่อมมากกว่า 95% เกิดจากปัจจัยแวดล้อมในการใช้ชีวิตที่ทำให้สมองบาดเจ็บบอบช้ำ ขาดเลือด อักเสบ หรือกลายเป็นขี้เท่อที่เรียกว่าอะไมลอยด์ โดยไม่เกี่ยวกับความชรา แต่คนยิ่งชราหากใช้ชีวิตแบบไม่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีก็จะยิ่งสะสมเหตุปัจจัยทำให้สมองเสื่อมไว้ได้มาก

3.. ถามว่าสมองเสื่อมเป็นโรคที่ช่วยอะไรไม่ได้แล้วใช่ไหม เพราะยาก็ไม่มี ตอบว่าไม่ใช่ครับ หลักฐานวิทยาศาสตร์ตอนนี้ชัดแล้วที่จะตอบคำถามนี้ได้ งานวิจัยชิ้นหนึ่งทำโดย Chicago Health and Aging Project และ Rush Memory and Aging Projects ได้ใช้ตัวชี้วัดวิธีใช้ชีวิตออกมาเป็นคะแนนในประเด็นการกินอาหารดีต่อสมอง (MIND diet ซึ่งผมเคยเขียนถึงบ่อย) การออกกำลังกาย การเลิกบุหรี่ การนอนหลับ การผ่อนคลายความเครียด และการทำกิจกรรมกระตุ้นสมอง งานวิจัยพบว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามปัจจัยด้านวิถีชีวิตเหล่านี้ ผู้ที่ปฏิบัติตามปัจจัยด้านเหล่านี้ได้ถึงสองหรือสามอย่าง มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ ลดลง 37% ขณะที่ผู้ที่ปฏิบัติตามได้สี่หรือห้าอย่าง ปัจจัยเหล่านี้ลดความเสี่ยงลงได้ถึง 60% ซึ่งเหลือเชื่อ เป็นครั้งแรกที่ผลวิจัยสรุปว่าผู้ที่ใช้ชีวิตแบบเอื้อต่อการมีสุขภาพดี ลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมลงได้ถึง 60% ย้ำ สมองเสื่อมป้องกันได้ 60% โดยการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดีในห้าประเด็นหลัก คือ (1) อาหาร (2) การออกกำลังกาย (3) การนอนหลับ (4) การจัดการความเครียด (5) การฝึกกระตุ้นสมอง

4.. ถามว่าคนมีพันธุกรรมอัลไซเมอร์เป็นอัลไซเมอร์กี่เปอร์เซ็นต์ ตอบว่าการทำงานของยีนมันซับซ้อนเกินกว่าจะตอบคำถามนี้ของคุณง่ายๆตรงๆเป็นตัวเลขได้ งานวิจัย GWAS หรือ Genome-Wide Analysis ซึ่งวิจัยว่ายีนใดที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์แค่ไหน พบว่าโรคนี้มีเพียง 3% เท่านั้นที่ถูกขับเคลื่อนโดยยีนที่ควบคุมแบบเต็มร้อย หมายความว่า ถ้าคุณมียีนชนิดนั้น ไม่ว่าคุณจะทำอะไร คุณก็จะเป็นโรคนี้ ที่เหลืออีก 97% เป็นปัจจัยวิธีใช้ชีวิตและสิ่งแวดล้อม

แม้ใน 3% ที่ว่ายีนคุมได้หมดจริงๆแล้วก็ไม่หมด มียีนอยู่สามตัวที่ว่าเป็นตัวกลั่นที่สุดใครมีมักเป็นโรคแหงๆ คือยีน Presenilin-1, ยีน APP และยีน Presenilin-2 แต่งานวิจัยกับยีน APP พบว่าคนมียีนนี้ที่ดูแลอาหารและการใช้ชีวิตตัวเองดีก็สามารถยืดเวลาเป็นสมองเสื่อมออกไปได้นานกว่าคนมียีนแต่ไม่สนใจปรับวิธีใช้ชีวิต

อีกงานวิจัยหนึ่งบ่งชี้ว่าผู้ที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรมต่อภาวะสมองเสื่อมมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคนี้ถึง 60% อย่างไรก็ตาม หากมียีนเสี่ยงด้วยแล้วมีวิถีชีวิตที่ไม่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีด้วย ความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมจะเพิ่มขึ้น 360% คือหากมียีนไม่ดียิ่งทำตัวไม่ดียิ่งเป็นโรคมาก ในขณะที่อีกงานวิจัยหนึ่งให้ข้อมูลว่าหากเปรียบเทียบจากตัวชี้วัดปัจจัยเสี่ยงในการใช้ชีวิต ผู้มีความเสี่ยงทางพันธุกรรมที่มีตัวชี้วัดปัจจัยเสี่ยงในการใช้ชีวิตดี จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมแค่ราวหนึ่งในสามของประชากรทั่วไป หมายความว่าแม้ยีนจะไม่ดี แต่หากใช้ชีวิตดีโอกาสเป็นโรคยังน้อยกว่าคนทั่วไปโดยเฉลี่ยเสียอีก ทั้งหมดนี้ให้เห็นถึงความสำคัญของวิธีใช้ชีวิต

5.. ถามว่าแม่ไปตรวจพบยีน ApoE4 แปลว่าเป็นอัลไซเมอร์แน่นอนใช่ไหม ตอบว่าไม่ใช่ครับ ผมขอโอกาสนี้พูดถึงยีน ApoE หน่อยนะ มันเป็นกลุ่มของยีน ซึ่งมีหน้าตาได้หลายแบบเช่นแบบ ApoE2, ApoE3, ApoE4 และอื่นๆอีก หน้าที่ของพวกยีน ApoE คือควบคุมการผลิตโปรตีนเพื่อไปใช้ในการขนส่งไขมันบ้าง ในการเผาผลาญไขมันบ้าง และในปฏิกริยาการอักเสบบ้าง คนมียีนแบบ ApoE2 ก็โชคดีเพราะมันเป็นยีนที่ขยันทำหน้าที่ ทำให้คนมียีน ApoE2 เป็นสมองเสื่อมยาก แต่ใครมีชนิด ApoE4 ก็ถือว่าโชคไม่ดีเพราะมันเป็นยีนที่ทำหน้าที่ได้ห่วยแตก สมมุติว่าในหน้าที่ที่จะต้องขนส่งไขมัน ธรรมดามันก็ขนส่งไขมันแทบจะไม่ทันอยู่แล้ว แต่หากมีเหตุอื่นที่เพิ่มภาระการขนส่งไขมันขึ้นมา เช่นสมมุติว่าขยันกินอาหารไขมันสูงเข้าไป ไขมันเลยท่วมเลยคราวนี้ นี่เป็นตัวอย่างว่าปัจจัยการใช้ชีวิตมันเกี่ยวกับการทำงานของยีนอย่างไร ในโรคอัลไซเมอร์นี้ วิธีใช้ชีวิตเป็นอย่างไรและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไรส่งผลต่อการทำหน้าที่ของยีนด้วย

งานวิจัยพบว่าผู้ที่มียีน ApoE4 หนึ่งยีนจากข้างพ่อหรือข้างแม่เพียงข้างเดียว (หนึ่งอัลลีล) มีความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์เพิ่มมากกว่าคนทั่วไปสี่เท่า ในขณะที่คนที่มียีนมาจากทั้งสองข้างหรือสองอัลลีลมีความเสี่ยงถึง 12 เท่า หมายความว่าผู้ที่มียีนทั้งสองข้างจะต้องเป็นโรคนี้แน่นอนอย่างนั้นหรือ ตอบว่าไม่ใช่เลย งานวิจัยติดตามดูพบว่า 50% ของคนมียีนนี้ทั้งสองข้างไม่มีใครเป็นโรคอัลไซเมอร์เลยสักคน ส่วนอีก 50% ที่เหลือซึ่งเป็นโรคอัลไซเมอร์ส่วนใหญ่ก็เกิดจากวิธีใช้ชีวิตของเขาเอง

6. ถามว่าอะไรที่เป็นปัจจัยผลักดันให้เป็นสมองเสื่อม ตอบว่าหลักฐานตอนนี้ผมสรุปได้ว่ามี 4 ปัจจัยใหญ่ คือ (1) การอักเสบ (2)การเกิดออกซิเดชั่น (3) ความผิดปกติในการควบคุมกลูโค้ส (4) ความผิดปกติในการควบคุมไขมัน ซึ่งทั้งสี่ปัจจัยนี้สามารถดูแลแก้ไขได้ผ่านการใช้ชีวิตแบบเอื้อต่อการมีสุขภาพดี ที่ผมแบ่งสี่อย่างนี้เป็นการแบ่งตามผลวิจัย คุณอาจจะเอาไปใช้ประโยชน์ยาก ผมเองก็ไม่มีเวลาอธิบายมาก ให้คุณเอาคำตอบของคำถามที่ 3. ไปใช้ประโยขน์แบบตรงๆเลยจะง่ายกว่า

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

                                               

                                               

[อ่านต่อ...]

16 กุมภาพันธ์ 2565

แค้มป์สุขภาพดีด้วยตนเอง (GHBY67) 5-6 มีค. 65

(ภาพวันนี้: สุพรรณิการ์ป่าที่มวกเหล็กวาลเลย์)

แค้มป์นี้เหมาะสำหรับใคร

คนทั่วไปที่ไม่ป่วย หรือป่วยไม่มาก (ยังทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันได้) ที่ต้องการเพิ่มพูนความรู้และทักษะที่จะดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดีด้วยตัวเอง

ความเป็นมาของ GHBY 

     คอร์สหรือแค้มป์สุขภาพดีด้วยตนเอง เกิดขึ้นเมื่อหลายปีมาแล้ว จากการที่ตัวผมเองป่วยแล้วหันมาดูแลตัวเองในเรื่องการกิน การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด จนแก้ปัญหาให้ตัวเองได้ เลิกกินยาความดัน ยาไขมัน ยาหัวใจได้ ผมจึงได้ตัดสินใจเลิกอาชีพหมอผ่าตัดหัวใจ เปลี่ยนมาทำอาชีพหมอส่งเสริมสุขภาพ สอนผู้ป่วยให้รู้วิธีดูแลสุขภาพของตัวเองได้ด้วยตัวเอง ทำสถานที่ เปิดแค้มป์สุขภาพสอนคนที่ยังไม่ป่วยให้ดูแลตัวเองเป็นว่าทำอย่างไรจึงจะไม่ป่วย ตั้งชื่อแค้มป์ว่า GHBY (Good Health By Yourself) แปลว่า “แค้มป์สุขภาพดีด้วยตัวเอง” ซึ่งทำไปแล้ว 62 ครั้ง โดยจับประเด็นความรู้ที่สำคัญออกมาคลี่ให้เห็นโดยใช้หลักฐานวิทยาศาสตร์ประกอบ และแก้ไขปัญหาการขาดทักษะ (skill) ที่จะลงมือปฏิบัติ เช่นจะเปลี่ยนอาหารไปเป็นอาหารแบบกินพืชเป็นหลัก (PBN) แต่ก็ยังทำไม่เป็น จะออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ แต่ก็ไม่รู้วิธี ในแง่ของการจัดการความเครียด ผมก็จับเอาผลวิจัยว่าอะไรลดความเครียดได้เอามาฝึกมาสอนหมด ไม่ว่าจะเป็นโยคะ สมาธิ ไทชิ เป็นต้น ในรูปของการให้ฝึกลงมือทำ ในระยะหลัง ทั้งหมดนี้ผู้เข้าแค้มป์เก็ทดีมาก ครั้งหลังๆผมได้เพิ่มเติมวิธีสร้างความบันดาลใจ (Motivation) เข้าไปด้วยโดยเอาแง่มุมเชิงจิตวิญญาณ (spirituality) ซึ่งสกัดมาจากประสบการณ์ของตัวผมเองมาสอนด้วย และได้เริ่มวางพื้นฐานให้สามารถดูแลตัวเองได้ต่อเนื่องโดยใช้ตัวชี้วัดเจ็ดตัวบนแอ็พมือถือ

     มาถึงวันนี้ผมเห็นว่าบางประเด็นสำคัญในเนื้อหาสาระของ GHBY ได้เปลี่ยนไปตามสมัย อย่างน้อยในสามประเด็นใหญ่ๆคือ

     (1) ความจำเป็นที่คนทั่วไปจะต้องดูแลระบบภูมิคุ้มกันของตัวเองให้ดีและพาตัวเองให้พ้นจากการตกเป็นกลุ่มเสี่ยงจากโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ต่างๆไม่เฉพาะโควิด19

(2) ผมมีเพื่อนร่วมงานใหม่คือนพ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล (เน็ท) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว เข้ามาร่วมทำแค้มป์ จึงได้ถือโอกาสร่วมกันเพิ่มเติมเนื้อหาสาระของแค้มป์ให้ครอบคลุมทุกด้านของวิชา Lifestyle Medicine ซึ่งมีอยู่ 6 ด้าน คือ อาหารแบบกินพืชเป็นหลักในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ (PBWF), การเคลื่อนไหวออกกำลังกาย, การจัดการความเครียด, การมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันทางสังคม, การนอนหลับที่มีคุณภาพ, การหลีกเลี่ยงสิ่งภายนอกที่เป็นพิษต่อสุขภาพ

   (3) ตัวผมเองมีประสบการณ์ตรงทางด้านจิตวิญญาณมากขึ้นกว่าเดิม และมองเห็นโอกาสที่จะนำมันมาใช้สร้างความบันดาลใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ดีขึ้น

     (4) แอ็พ We Care App ที่ผมออกแบบและเดิมชวนสวทช.มาช่วยทำนั้นมันเจริญไม่ทันใจ ตอนนี้ได้ผลิตเป็นแอ็พโดยบริษัทเอกชนเต็มตัวและพร้อมใช้ได้แล้ว จะเป็นเครื่องมือให้สมาชิกแค้มป์ใช้ดูแลตัวเองได้อย่างต่อเนื่องไปตลอดได้ง่ายขึ้น

    ผมจึงเห็นว่านี่น่าจะเป็นหลักสูตร GHBY-67 ในรอบใหม่ (5-6 มีค. 65) นี้

  ……………………………………………………….

หลักสูตรคอร์สสุขภาพดีด้วยตัวเอง Good Health By Yourself (GHBY67)

Motto
 “เรียน” สิ่งที่ยังไม่เคยรู้ (knowledge)
“ทำ” สิ่งที่ยังไม่เคยทำ (skill)
“ชอบ” สิ่งที่ไม่เคยชอบ (attitude)

คอนเซ็พท์ของแค้มป์ (Conceptual Design)

     ให้คนกลุ่มเล็กๆประมาณไม่เกิน 15-20 คน ได้มาพักผ่อนปลายสัปดาห์ (2 วัน 1 คืน) ร่วมกับ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์และนพ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล ที่เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ ที่มวกเหล็ก ซึ่งอยู่ในธรรมชาติที่เงียบสงบ แล้วเรียนรู้สาระสำคัญเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพตนเอง และฝึกทักษะต่างๆที่จำเป็นต้องใช้ในการดูแลสุขภาพตนเองไปด้วยกัน ในบรรยากาศการพูดคุยและฝึกทำอะไรไปด้วยกันแบบกันเองและไม่เป็นทางการ

วัตถุประสงค์  (Objectives)

1. วัตถุประสงค์ด้านความรู้ (knowledge)

มุ่งให้ผู้เข้าคอร์สมีความรู้ในเรื่องต่อไปนี้

1.1 งานวิจัยใหม่ล่าสุดเกี่ยวกับภาพรวมของการมีสุขภาพดี
1.2 โภชนาการในแนวกินพืชเป็นหลักในรูปแบบใกล้ธรรมชาติและหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันปรุง (low fat, plant based, whole food)
1.3 หลักโภชนาการที่ดี (ประเด็นรูปแบบการกิน ประเด็นความหลากหลาย ประเด็นคุณค่าต่อหน่วยพลังงาน)
1.4 คำแนะนำทางโภชนาการขององค์กรและรัฐบาลประเทศต่างๆที่นำมาใช้ประโยชน์ได้
1.5 อาหารพืชที่มีคุณสมบัติพิเศษในการลดความดันเลือด และต่อต้านมะเร็ง
1.6 ผลของการปรุงอาหารแบบต่างๆต่อการทำลายคุณค่าของอาหาร
1.8 การออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง (aerobic exercise) สามประเด็น (1) หนักพอควร คือหอบเหนื่อยร้องเพลงไม่ได้ (2) ต่อเนื่อง คือ 30 นาทีขึ้นไป (3) สม่ำเสมอ คือ สัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 5 วัน
1.9 การออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อ (strength training) ในประเด็น (1) กลุ่มกล้ามเนื้อหลัก (2) การยืดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ (3) ท่าร่าง (4) การหายใจ (5) การเคลื่อนไหวช้าๆ (6) การทำเพิ่ม (overload) ทีละนิด (7) หลักพักและฟื้น
1.10 การออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัว (balance exercise) รวมถึง 5 องค์ประกอบของการทรงตัว (สติ สายตา หูชั้นใน กล้ามเนื้อ ข้อ)
1.11 ความเครียด กลไกการเกิด ผลต่อร่างกาย
1.13 วิธีจัดการความเครียดด้วยการใช้เครื่องมือวางความคิด 7 ชนิด (1) การดึงความสนใจ (2) ลมหายใจ (3) การคลายกล้ามเนื้อ (4) การรับรู้ร่างกาย (5) การขยันปลุกตัวเองให้ตื่น (6) การสังเกตความคิด (7) การจดจ่อสมาธิ
1.14  สุขศาสตร์ของการนอนหลับ (Sleep hygiene)

1.15 ผลของสัมพันธภาพที่ดีต่อกันทางสังคมต่อสุขภาพ

1.16 สิ่งภายนอกที่เป็นพิษต่อสุขภาพ
1.17 ปัจจัยเสี่ยงสุขภาพอย่างง่าย 7 ตัว (1) น้ำหนัก (2) ความดัน (3) น้ำตาล (4) ไขมัน (5) ปริมาณผักผลไม้ที่กินต่อวัน (6) เวลาที่ใช้ออกการออกกำลังกายต่อสัปดาห์ (7) บุหรี่
1.18 การดูแลระบบภูมิคุ้มกันโรคด้วยตัวเอง
1.19 ประโยชน์และวิธีใช้แอ็พ WWC Platform บนมือถือเพื่อติดตามบริหารจัดการสุขภาพตนเอง

2 วัตถุประสงค์ด้านทักษะ

มุ่งให้ผู้เข้าแค้มป์ มีทักษะ สามารถทำสิ่งต่อไปนี้ได้ด้วยตนเอง
2.1 จัดหาและเลือกอาหารแนว plant based, whole food nutrition (PBN) มาเพื่อการบริโภคของตัวเองและครอบครัวได้
2.2 อ่านฉลากอาหาร แปลความหมาย และใช้ประโยชน์จากฉลากอาหารได้
2.3 ลงมือทำอาหารแนว PBN ได้ด้วยตนเอง
2.4 ออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง (aerobic exercise) ได้ด้วยตนเอง
2.5 ประเมินและติดตามดูสมรรถนะร่างกายตนเองด้วยวิธี six minute walk test ได้
2.6 ออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (strength training) ได้ด้วยตนเอง ทั้งแบบมือเปล่า ใช้ดัมเบล ใช้สายยืด และใช้กระบอง
2.7 ออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัว (balance exercise) ได้ด้วยตนเอง
2.8 ใช้เครื่องมือ 7 อย่างวางความคิดด้วยตัวเองผ่านกิจกรรม ทำสมาธิ ไทชิ โยคะ ได้
2.9 ปฏิบัติสุขศาสตร์ของการนอนหลับได้ด้วยตนเอง
2.10 ใช้ปัจจัยเสี่ยงสุขภาพอย่างง่าย 7 ตัวของ AHA ติดตามดูแลสุขภาพของตนเองได้
2.11 ใช้ประโยชน์จาก Wecare App เพื่อดูแลสุขภาพตัวเองด้วยตัวเองได้

3 วัตถุประสงค์ด้านเจตคติ

     มีเป้าหมายให้ผู้เข้าแค้มป์มีเจตคติที่
3.1 รักการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (health promotion attitude)
3.2 ชอบการใช้ชีวิตแบบกระตือรือล้นและเคลื่อนไหวมาก (active lifestyle attitude)
3.2 ชอบดูแลตัวเองและทำอะไรด้วยตนเอง (do it yourself attitude)

แผนกิจกรรม

สถานที่: เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ (Wellness We care Center) มวกเหล็ก-เขาใหญ่

วันเวลาสำหรับแค้มป์ GHBY64

เสาร์ 5 มีค. 65 – อาทิตย์ 6 มีค. 65

ตารางกิจกรรม

วันแรก 

08.30 – 09.00   เช็คอินที่บ้าน Grove House เข้าห้องพัก ทำกิจธุระส่วนตัว + Coffee Break 

09.00 – 10.00   ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต ฝึกใช้ Wecare App ที่ Grove house หรือที่ Hall 

                        Lecture 1 Overview of good health and Simple 7 

                        ภาพรวมของการมีสุขภาพดี และ การใช้ ดัชนีชี้วัดง่ายๆ 7 อย่าง 

10.00 – 11.00   Getting to know each other ทำความรู้จักกัน 

11.00 – 12.00   Lecture 2.1 : Plant-based nutrition & Nutrition guidelines Part 1 

                        โภชนาการแบบพืชเป็นหลัก คำแนะนำโภชนาการมาตรฐานทั่วโลก 

12.00 – 14.00   Workshop : Plant-based nutrition skill 

                        Lunch 

                        ชั้นเรียนชมการสาธิตสอนแสดงวิธีทำอาหารด้วยตนเองในแนวทางพืชเป็นหลัก 

                        รับประทานอาหารเที่ยง 

14.00 – 14.30   Lecture 2.2 : Plant-based nutrition & Nutrition guidelines Part 2 

14.30 – 15.15   Workshop : Food shopping 

                        กิจกรรมจ่ายตลาดฉลาดซื้อ 

15.15 – 15.30   Coffee/Tea break พักดื่มน้ำชา/อาหารว่าง 

15.30 – 16.45   Workshop : Muscle strength training and stretching 

                        ฝึกปฏิบัติการออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรง 

                        และความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ 

16.45 – 17.30   Workshop : Balance and flexibility exercise 

                        ฝึกปฏิบัติการออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัว 

17.30 – 18.00   Workshop : Six-minute walk test 

                        ฝึกประเมินสมรรถนะร่างกายตนเองด้วยวิธีเดินหกนาที 

18.00               Dinner รับประทานอาหารเย็น 

วันที่สอง 

07.00 – 09.00   Workshop : Morning routine and stress management 

                        กิจวัตรยามเช้า (โยคะ + การทำสมาธิ + ไทชิ + การจัดการความเครียด) 

09.00 – 10.30   Breakfast รับประทานอาหารเช้า 

10.30 – 12.00   Lecture 3 : Sleep Hygiene/Prevention of NCDs 

                        การนอนหลับ และ แนวทางการป้องกันและพลิกผันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 

12.00 – 13.30   รับประทานอาหารเที่ยง 

13.30 – 14.00   Self-motivation and love more (learning by sharing) 

                        การสร้างพลังเพื่อเปลี่ยนวิถีชีวิตด้วยตนเอง 

(เรียนรู้ผ่านการแบ่งปันเรื่องราวของกันและกัน) 

14.00 – 15.30   Questions and Answers  

                        ตอบคำถาม และให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพรายบุคคล  

โดยผู้ร่วมกิจกรรมสามารถร่วมรับฟัง แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ได้ 

15.30               ปิดแคมป์ 

ค่าลงทะเบียน

     ราคาปกติของคอร์ส GHBY คือท่านละ 9,000 บาท รวมอาหารทุกมื้อ ที่พัก อุปกรณ์การเรียน แต่ไม่รวมค่าเดินทางมายังเวลเนสวีแคร์ (ผู้เรียนต้องเดินทางมาเอง)

     ในกรณีที่แชร์ห้องพักก้นได้ (ห้อง double bed) ห้องละ 2 คน จะได้ส่วนลดค่าห้องคนละ 1,000 บาท

     การเข้าพักก่อนกำหนดเปิดแค้มป์ (ล่วงหน้าไม่เกิน 1 วัน) ต้องชำระค่าห้องเองสำหรับวันที่พักล่วงหน้าในราคาคนละ 1,000 บาท)

วิธีลงทะเบียนเข้าเรียน

   1. โทรศัพท์ลงทะเบียนกับเวลเนสวีแคร์ที่คุณน้ำ หมายเลข 0636394003 หรือไลน์ @wellnesswecare หรืออีเมล host@wellnesswecare.com หรือหรือคลิก https://lin.ee/6JvCBsf
   

การเตรียมตัวไปเข้าคอร์ส

     แนะนำให้เตรียมเครื่องแต่งกายที่เคลื่อนไหวทำกิจกรรมและออกกำลังกายสะดวก ควรมีรองเท้าผ้าใบที่เดินบนพื้นหินขรุขระได้ และควรมีหมวกกันแดด และครีมกันแดด

การเดินทางไปเข้าแค้มป์

     เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ตั้งอยู่ในมวกเหล็กวาลเลย์ เลขที่ 204/39 ม.5 ต.มิตรภาพ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว หรือขึ้นรถตู้กทม.-มวกเหล็ก หรือรถไฟ (ลงสถานีมวกเหล็ก) ในกรณีเดินทางด้วยรถตู้หรือรถไฟ ต้องหารถรับจ้างจากตลาดมวกเหล็กเข้ามาส่งเอาเอง เวลเนสวีแคร์ซึ่งตั้งอยู่ในมวกเหล็กวาลเลย์อยู่ห่างจากตลาดมวกเหล็กราว 4 กม. อาจให้รถตู้จากกทม.แวะเข้ามาส่งก็ได้โดยต้องเพิ่มเงินให้เขาประมาณ 150 บาท กรณีเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ให้ใช้ Google Map โดยพิมพ์คำว่า “Wellness We Care Center” หรือ “เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

   

[อ่านต่อ...]

ไซรัส แคมแบตต้า จากผู้ป่วยมาเป็นผู้สอนการรักษาเบาหวานด้วยตัวเอง

(ภาพวันนี้: ลูกสาละ)

(วันก่อนที่ผมไปบรรยายในการประชุม Asian Plant Based Nutrition Health Care Conference มีผู้ร่วมบรรยายหนุ่มๆที่น่าสนใจท่านหนึ่งชื่อ ไซรัส (Dr. Cyrus Khambatta) มาบรรยายเรื่องเบาหวาน คุณหมอเน็ท (นพ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล) ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานของผมที่เวลเนสวีแคร์ได้จัดทำคำบรรยายอักษรไทยใส่วิดิโอการสอนของไซรัสเพื่อเผยแพร่ความรู้นี้ในเมืองไทยโดยอาศัยลิขสิทธิ์ที่เวลเนสวีแคร์มี ผมเห็นว่ามีสาระดีมากจึงได้สรุปบทบรรยายไทยของคุณหมอเน็ทแบบย่อความมาให้ท่านอ่าน ท่านที่สนใจรายละเอียดเมื่อเวลเนสวีแคร์นำวิดิโอออกเผยแพร่ก็ค่อยตามไปชมของจริงภายหลังได้ และขอบคุณคุณหมอเน็ทด้วยนะครับ)

ผมชื่อไซรัส แคมแบตตา ป่วยเป็นสามโรคมาตั้งแต่เรียนมหาลัย คือ (1) ไทรอยด์อักเสบแบบฮาชิโมโต (2) โรคผิวหนังชนิดทำให้หัวล้าน (3) โรคเบาหวานประเภทที่ 1 ซึ่งต้องใช้ยาฉีดอินสุลินต่อเนื่อง หมอบอกว่าผมต้องกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ ผมก็กินแต่ชีส เนย ไข่ เบคอน เนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไก่ ปลา หมอให้จำกัดผลไม้ มันฝรั่ง และผักที่มีแป้งอื่นๆ รวมทั้งถั่วต่างๆและธัญพืชไม่ขัดสี ผมก็ทำตาม เพราะผมกลัว แต่ยิ่งทำตามหมอ น้ำตาลของผมยิ่งคุมไม่อยู่แถมยังเดาไม่ได้อีกต่างหาก คือวิ่งได้ตั้งแต่ 50 – 450 โน่นเชียว การออกกำลังกายก็ลำบากเพราะผมเป็นนักกีฬาที่เล่นกีฬาทุกอย่าง ต่อมาก็เริ่มปวดข้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชีวิตแย่ลงนานเป็นปี จนผมตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง ผมทดลองทำตามคำแนะนำของ ดร.ดักลาส เกรแฮม ซึ่งเขียนหนังสือชื่อ The 80/10/10 Diet คือกินอาหารพืชชนิดไขมันต่ำเป็นหลัก ผมลองดูก่อน 30 วัน คือกินไขมันลดลงไปมาก และได้คาร์บเพิ่มขึ้นมากจากผลไม่และผัก ผมคาดว่าระดับน้ำตาลในเลือดของผมคงจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทะลุฟ้าแน่ เพราะใครๆก็สอนผมมาก่อนหน้านี้ว่ายิ่งกินคาร์โบไฮเดรตมากเท่าไร ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น แล้วผมก็คงต้องเพิ่มโด้สอินสุลิน แต่ปรากฏว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม กล่าวคือ การฉีดอินซูลินของผมลดลง 43% ในช่วงสามสัปดาห์แรก จากประมาณ 42 หน่วยต่อวัน ลดลง [00:06:30] มา 30 หน่วยต่อวัน จากนั้นก็เหลือ 26 หน่วยต่อวัน และในที่สุดก็คงที่ ที่ประมาณ 20 ถึง 25 หน่วยต่อวัน ผมสังเกตเห็นว่าผมกำลังกินคาร์โบไฮเดรตมากขึ้นโดยใช้อินซูลินน้อยลง และนี่เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อสำหรับผม สิ่งที่ผมค้นพบด้วย ก็คือการกินไขมันกับอินซูลินจะไปทางเดียวกันคือยิ่งกินไขมันลดลง การใช้อินซูลินของผมก็ลดลงด้วย หมอที่รักษาผมอยู่ก็อธิบายไม่ได้ว่ามันเป็นไปได้ไง ทำให้ผมอยากรู้ จึงลงลงเรียนระดับปริญญาเอกที่ UC Berkeley ซึ่งผมศึกษาชีวเคมีทางโภชนาการ และผมศึกษาที่นั่นเพื่อทำความเข้าใจว่าอะไรเป็นสาเหตุของการดื้อต่ออินซูลิน อะไรทำให้ความต้องการอินซูลินเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ขณะที่ผมอยู่ที่ UC Berkeley ผมได้ศึกษางานวิจัยมากกว่า 3000 ฉบับ ตัวผมเองได้ทำวิจัยไว้หลายชิ้น ได้ทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์หลายร้อยครั้ง ทุกวันนี้ ผมลดการใช้อินซูลินลงมากกว่า 40% ผมกินคาร์โบไฮเดรตมากกว่า 700 กรัมต่อวัน ฉีดอินซูลินรวมประมาณ 25 ยูนิตต่อวัน น้ำตาลสะสม A1C ของผมอยู่ระหว่าง 5.4 ถึง 5.7% อย่างสม่ำเสมอ วิธีนี้มันได้ผลสำหรับตัวเอง ผมจึงได้สอนเพื่อนผู้ป่วยมากกว่า 10,000 คนว่าพวกเขาก็ทำได้ด้วยตัวของพวกเขาเองเช่นกัน ผมกับเพื่อนซึ่งเป็นเบาหวานประเภท1 เช่นกันชื่อ Robby Barbaro ได้ร่วมกันเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งชื่อ Mastering Diabetes มันกลายเป็นหนังสือขายดีของ New York Times เมื่อต้นปี 2020

แต่ก่อนแต่เดิมมาวิธีคิดง่ายๆ ก็คือเมแทบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรตเป็นความสัมพันธ์แบบตัวแปรเดียว หมายความว่าไม่ว่าคุณจะกินคาร์โบไฮเดรตชนิดใดล้วนจะถูกเผาผลาญไปเป็นน้ำตาลในเลือดของคุณ ซึ่งจะเพิ่มโด้สอินสุลินที่ต้องฉีดหรือที่ตับอ่อนต้องผลิตด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นคำอธิบายที่ตื้นเกินไปและไม่จริง ของจริงมันซับซ้อนเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัยทั้งในเซลนอกเซลและเกี่ยวข้องกับโมเลกุลหลายร้อยชนิด

ก่อนอื่น ถามตัวเองด้วยคำถามง่ายๆ ว่าการดื้อต่ออินซูลินคืออะไร และอะไรเป็นสาเหตุ หากคุณใช้อินเทอร์เน็ตและพิมพ์คำว่าภาวะดื้อต่ออินซูลินใน Google ใครต่อใครก็จะบอกคุณว่าการดื้อต่ออินซูลินนั้นเกิดจากน้ำตาลที่มาจากคาร์โบไฮเดรต ดังนั้นการดื้อต่ออินสุลินเกิดจากพิษของคาร์โบไฮเดรต ซึ่งความเชื่อแบบนี้ทำให้คนเป็นเบาหวานกันมากขึ้น แต่หากทบทวนวรรณกรรมทางวิทยาศาสตร์ให้ดีคุณจะพบว่าหลักฐานบ่งชี้สาเหตุไปที่ไขมัน ซึ่งผิดแผกจากความเชื่อเดิม

การดื้อต่ออินซูลินโดยพื้นฐานแล้วเป็นความผิดปกติของเนื้อเยื่อสองส่วน ซึ่งก็คือกล้ามเนื้อและตับของคุณ มันเป็นภาวะที่สำคัญมากในโลกปัจจุบัน เพราะมันนำไปสู่ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ยังมีอีก คือ โรคอ้วน โรคไขมันพอกตับ มะเร็ง กลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ และโรคอัลไซเมอร์ ทั้งหมดนี้ล้วนได้รับอิทธิพลในทางลบจากการเกิดการดื้อต่ออินซูลิน

วิธีคิดง่ายๆ อีกวิธีหนึ่งก็คือ การดื้อต่ออินซูลินเกิดจากการเก็บไขมันส่วนเกินไว้ในกล้ามเนื้อและตับซึ่งไม่ได้ออกแบบมาเพื่อเก็บไขมันในปริมาณมาก มาดูกลไกทีละขั้นตอนกันเพราะมันอาจซับซ้อน แต่ผมต้องการให้แน่ใจว่าเราทุกคนเข้าใจตรงกัน ขั้นตอนแรกคือ ไขมันที่กินจะเข้าสู่กระแสเลือดของคุณได้ก่อนกลูโคส ดังนั้น สมมติว่าคุณกินชีสเบอร์เกอร์ ชีสเบอร์เกอร์เป็นส่วนผสมของเนื้อสัตว์และชีสซึ่งเป็นอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและอุดมไปด้วย คาร์โบไฮเดรตแบบขัดขาวที่คุณได้รับจากขนมปัง ตอนนี้ เมื่อคุณกินอาหารแบบนั้น คุณจะได้รับทั้งไขมัน คาร์โบไฮเดรต และโปรตีนร่วมกัน คุณกินอาหารเหล่านั้นและโมเลกุลไขมันจะเป็นโมเลกุลแรกๆ ที่เข้าสู่กระแสเลือดของคุณ เนื่องจากถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วที่ระดับลำไส้เล็กของคุณเข้าสู่โครงสร้างไมโครวิลไลโครงสร้าง ไมโครวิลไล เหล่านั้นดูดซับกรดไขมันและถ่ายโอนไปยังระบบน้ำเหลืองของคุณแล้วระบายตรงเข้าสู่กระแสเลือดของคุณ ส่งผลให้ปริมาณไขมันในเลือดของคุณเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดกลไกการป้อนกลับ คือการมีไขมันในลำไส้เล็กจะส่งสัญญาณให้กระเพาะอาหารบีบส่งอาหารช้าลง ทำให้คุณเริ่มอิ่ม และทำให้คาร์โบไฮเดรตหรือกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือดของคุณได้ช้าลง นั่นเป็นเหตุผลว่าเมื่อตรวจเลือดดูตอนนั้นก็จะพบว่าไขมันในเลือดเพิ่มขึ้นก่อนระดับน้ำตาลในเลือด

จากนั้นอินสุลินซึ่งเป็นกลไกของร่างกายจะยัดเยียดเอาไขมันเข้าไปเก็บในเซลกล้ามเนื้อและตับจนเพียบ พออินสุลินมาเคาะประตูเซลอีก “ก๊อก ก๊อก มีกลูโคสในเลือดเยอะนะครับ คุณต้องการรับกลูโคสเก็บไว้ไหม” แต่พวกเซลกลับตอบว่า “เฮ้ ผมมีพลังงานเก็บไว้มากเกินไปแล้ว ผมไม่ต้องมากขนาดนั้น” คือมันจงใจดื้อด้านต่ออินสุลิน กลูโคสจึงค้างเติ่งอยู่ในเลือดไม่มีที่ไป พอคุณไปและกินผลไม้หรือมันฝรั่งหรืออะไรก็ได้ที่อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรตเอาตอนนี้ค่าน้ำตาลในเลือดของคุณก็จะเพิ่มขึ้นทันที ตับอ่อนเห็นเหตุการณ์ก็ปลอบว่า “เดี๋ยวๆ ใจเย็น ผมจะผลิตอินสุลินให้มากขึ้น” จึงทำให้อินสุลินในเลือดสูงขึ้น พอตัวเองทำงานมากขึ้นก็โอเวอร์โหลดเกิดอนุมูลอิสระขึ้นในเซลมากเกินไปจนเซลตัวเองเสียหายสุดเยียวยาต้องระเบิดตัวเองทิ้ง (apoptosis) ทำให้ตับอ่อนยิ่งมีเซลทำงานน้อยลงไปอีก

ความจริงร่างกายมีเนื้อเยื่อไขมันซึ่งออกแบบไว้เก็บไขมัน แต่ถ้ากินไขมันเข้าไปมากเกินไป เหตุการที่เนื้อเยื่อไขมันดื้อต่ออินสุลินก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน เมื่อเซลล์เนื้อเยื่อไขมันมีขนาดใหญ่โตขึ้น บวม จนแตก ไขมันเหลืองที่เคยเก็บเป็นที่เป็นทางในเซลไขมันก็ไหลไปตามกระแสเลือดทำให้ปัญหาไขมันท่วมกระแสเลือดหนักขึ้นอีก ตัวเซลไขมันเองเมื่อแตกก็จะปล่อยสารชื่อไซโตไคน์เป็นสัญญาณขอความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติของการเกิดการอักเสบ หลังจากนั้นการอักเสบจริงๆของเนื้อเยื่อไขมันก็ตามมาเป็นขั้นๆเหมือนกับที่ตับอ่อน

แล้วเหตุใดการรับประทานอาหารแบบพืชเป็นหลักไขมันต่ำจึงมีประสิทธิภาพมากในการป้องกันและพลิกผันการดื้อต่ออินซูลิน ผมได้คิดทำ The Mastering Diabetes Program ซึ่งเป็นโปรแกรมออนไลน์ [00:37:30 น.] ที่สอนวิธีกินอาหารพืชให้หลากหลาย มีสีสัน อร่อย กินได้อิสระ ไม่ต้องจำกัดปริมาณ ซึ่งผมจะสรุปให้ฟังดังนี้

หมวดที่กินได้ไม่อั้น คือ (1) ผลไม้ทุกรูปทรง ทุกขนาด (2) ผักประเภทแป้ง (3) ผัก ที่ไม่มีแป้ง (4) ถั่วเลนทิล และถั่วลันเตา หรือที่เรียกว่าพืชตระกูลถั่ว (5) ผักใบเขียว (6) ธัญพืชไม่ขัดสี และ (7) สมุนไพรและเครื่องเทศ

หมวดที่กินได้พอประมาณ คือพืชไขมันสูง เช่น ถั่ว เมล็ดพืช อะโวคาโด มะพร้าว มะกอก พาสต้ากับขนมปังซึ่งเป็นธัญญพืชขัดสีผมก็จัดไว้ในหมวดนี้ด้วย และเลือกอาหารที่ผ่านกระบวนการน้อยๆ หรือยังไม่ได้แปรรูป

หมวดที่ห้ามกินคือ อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงเป็นหลัก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ เนื้อแดง เนื้อขาว ปลาและหอย น้ำมันทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันคาโนลา หรือน้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสายกลาง น้ำมันใดๆ ก็ตามที่คุณนึกออกมักจะเป็นไขมันอิ่มตัว น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ขนมอบ และขนมปังจากแป้งขาว ก็อยู่ในหมวดนี้เพราะเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการขัดสีมากที่สุด

ขั้นตอนในการเปลี่ยนอาหาร สูตรของผมคือ BLDD

B ก็คือ breakfast หมายความว่าเริ่มด้วยการเปลี่ยนเฉพาะอาหารเช้าก่อน มื้ออื่นตามสบาย จะใช้เวลาเปลี่ยนนานเป็นสัปดาห์เป็นเดือนก็ตามสบาย หลังจากนั้นก็ไป L คือ lunch เมื่อเปลี่ยนได้แล้วก็ไป D คือ dinner ส่วน D ตัวสุดท้ายคือ dessert ขนมหวาน คือเปลี่ยนอาหารทั้งสามมื้อให้ได้ก่อนแล้วค่อยมาเด็ดขาดกับการเลิกของหวาน ทั้งหมดนี้ใช้เวลาหนึ่งเดือนถึงหกเดือน ย้ำอีกครั้ง นี่ไม่ใช่การแข่งขัน ผมแนะนำให้ทำอย่างช้าๆ เพราะการเปลี่ยนแปลงการเผาผลาญของกลูโคสนั้นลึกซึ้งมากและเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่ใหญ่มากจนอาจนำไปสู่การลดยาปรับความไวของอินซูลินหรือการเลิกฉีดอินซูลินได้ภายในระยะเวลาสั้น ๆ

นอกจากนั้น เมื่อคุณเปลี่ยนอาหารได้ครบสี่ขั้นตอนแล้ว คราวนี้ผมแนะนำให้งดอาหารเป็นช่วงๆ (IF) โดยพยายามให้ได้ช่วงปลอดอาหารนานถึง 16 ชั่วโมง มีช่วงกินแค่แปดชั่วโมง นี่เป็นเครื่องมือที่สองในการทำให้ความไวต่ออินซูลินดีขึ้น

การขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวออกกำลังกายเป็นตัวแปรอิสระอีกตัวหนึ่งที่เพิ่มความไวต่ออินสุลินได้มาก หากใช้ร่วมกับเครื่องมืออีกสองชิ้น คือการเปลี่ยนมากินพืชเป็นหลัก กับการอดอาหารเป็นช่วงๆ ทั้งสามเครื่องมือนี้จะมีพลังมีประสิทธิภาพอย่างมาก และนี่คือวิธีที่คุณสร้างระบบแบบยั่งยืนในระยะยาว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

15 กุมภาพันธ์ 2565

ไม่ชอบกินอาหารเช้า จะลดน้ำหนักได้ไหม

(ภาพวันนี้: เสลาดอกขาว)

เรียนคุณหมอสันต์

ผมกำลังลดน้ำหนักอยู่ ปกติผมไม่ทานอาหารเช้า หมอที่ดูแลอยู่ประจำแนะนำว่าผมต้องกลับมาทานอาหารเช้า เพราะอาหารเช้าชวยเพิ่มการเผาผลาญทั้งวัน ผมเองมองไม่เห็นความจำเป็นของอาหารเช้า และเห็นว่าจะลดน้ำหนักก็ต้องลดมื้ออาหาร ไม่ใช่เพิ่มมื้ออาหาร แต่นี่หมอท่านแนะนำให้เพิ่มเป็นมื้อเล็กๆวันละสิบมื้อยิ่งดีเพราะลดอินสุลินได้ 27% และลดฮอร์โมนเครียดได้ 20% จริงหรือครับ หมอยังถามถึงลูกผมด้วย และว่าถ้าลูกไม่ได้ทานอาหารเช้าสมองจะไม่ทำงานและจะความจำไม่ดี

ตอบครับ

1.. ถามว่าการต้องกินอาหารเช้าเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นธรรมชาติของมนุษย์มาแต่โบราณใช่ไหม ตอบว่าไม่ใช่หรอกครับ ฝรั่งคนหนึ่งไปนอนอยู่กับชนเผ่า Hadza ที่ประเทศแทนซาเนีย ซึ่งว่ากันว่าเป็นเผ่าล่าสัตว์ดั้งเดิมเพียงหนึ่งของสองเผ่าที่เหลืออยู่ในอัฟริกาตะวันออก ฝรั่งคนนี้เล่าว่าเขาอยู่ในเผ่านี้หลายสัปดาห์จึงพบว่าไม่มีศัพท์คำว่าอาหารเช้า แม้ว่าพวกเขาจะเข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลาตามตะวันก็ตาม แต่พอตื่นเช้าผู้ชายก็ผลุนผลันออกจากบ้านเข้าป่าไปล่าสัตว์ ในระหว่างทางก็อาจเก็บไม้ผลหรือเบอรี่ป่ากินบ้าง ส่วนผู้หญิงมักทำอะไรอยู่รอบๆบ้านจนพ้นสิบโมงเช้าไปแล้วถ้าหิวก็ค่อยทำอะไรง่ายๆกินเช่นข้าวต้มทำจากลูกเบาบับ หรือไม่ก็กินน้ำผึ้งป่าที่เก็บไว้นิดๆหน่อยๆ แสดงว่าการกินอาหารเช้าเป็นธรรมเนียมที่มาเกิดภายหลังเมื่อมนุษย์มีความสะดวกแล้ว ผมนึกภาพถ้าผมไม่มีตู้เย็นหรือไม่มีหม้อหุงข้าว ก็คงเป็นการยากที่ผมจะได้กินอาหารเช้าทุกวันเพราะตื่่นแล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปเก็บผักแล้วมาต้มมาแกงทำอาหาร โห..ต้องกี่ชั่วโมงจึงจะได้กิน

2.. ถามว่าจริงหรือไม่ที่การไม่กินมื้อเช้าจะลดการเผาผลาญไปทั้งวันและทำให้อ้วน ตอบว่าไม่จริงหรอกครับ มันเป็นผลจากความลำเอียงในใจของคนที่มีแนวโน้มจะเชื่อตามกันมา แม้กระทั่งคำแนะนำโภชนาการของหลายประเทศก็แนะนำตามเขาไปด้วย ความเป็นจริงคือเมื่อราวปี 2019 มีงานวิจัยแบบเมตาอานาไลซีสตีพิมพ์ใน BMJ เพื่อเจาะลึกดูเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยดูรวมข้อมูลจากห้าสิบกว่างานวิจัย คัดที่โหล่ยโท่ยทิ้งไปเหลือ 11 งานวิจัยที่เชื่อถือได้ ผลการวิจัยพบว่าไม่มีหลักฐานสนับสนุนเลยว่าการงดอาหารเช้าแล้วจะทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น หรือจะทำให้การเผาผลาญอาหารจะลดลง ในทางกลับกันการงดอาหารเช้ากลับสัมพันธ์กับการลดน้ำหนักได้ดีขึ้นเสียอีก เห็นไหมครับว่าการอ้างผลวิจัยเล็กวิจัยน้อยแบบอ้างตามๆกันมาโดยไม่ไปเจาะลึกดูจริงจังนั้นมันสื่อความหมายได้ผิดคนละทิศเลยนะ

3..ถามว่ามีคำแนะนำที่อ้างงานวิจัยให้กินมื้อเล็กๆหลายๆมื้อเป็นสิบๆมื้อได้ยิ่งดีแล้วจะทำให้อินสุลินในเลือดลดลง 27% และฮอร์โมนเครียดลดลง 20% จริงไหม ตอบว่าคุณคงหมายถึงงานวิจัยเรื่องนี้ที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์เมื่อราว 30 ปีมาแล้ว ประเด็นสำคัญคืองานวิจัยชิ้นนั้นใช้คนทั้งหมดแค่ 7 คนเองนะครับ คำตอบที่ได้จากงานวิจัยในคนเจ็ดคนคงเอามาทำเป็นคำแนะนำให้คนทั้งโลกทำตามยังไม่ได้หรอกครับ น่าเสียดายที่ไม่มีใครทำวิจัยนี้ซ้ำในขนาดที่ใหญ่ขึ้น ดังนั้นจนเดี๋ยวนี้เราก็จึงยังไม่รู้ว่ากินวันละสามมื้อกับกินวันละสิบมื้ออย่างไหนลดน้ำหนักได้ดีกว่ากัน มีคนพยายามจะใช้มั้งศาสตร์คาดเดาสนับสนุนไอเดียกินมื้อน้อยๆแต่หลายมื้อในแง่มุมต่างเช่นการชูประเด็นกลไกปกติของร่างกายที่เมื่อมีอาหารตกถึงท้องอุณหภูมิของร่างกายจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (diet induced thermogenesis) ผมเองเห็นว่าในแง่ของการลดน้ำหนักประโยชน์ที่ได้จากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเพราะอาหารนี้มันจิ๊บจ๊อยมากเมื่อเทียบกับที่จะได้จากการอดอาหารมื้อใหญ่ไปหนึ่งมื้อ ยิ่งไปกว่านั้นหากผมบอก ม. ของผมว่าผมจะกินวันละ 10 มื้อเพื่อลดน้ำหนัก เธอคงอัปเปหิผมออกจากบ้านแน่นอน

ในทางกลับกัน หากจะลดน้ำหนักหลักฐานวิทยาศาสตร์เชียร์ให้งดอาหาร ไม่เช้าก็เย็น เพราะงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารนิวอิงแลนด์พบแน่ชัดแล้วว่าการยืดเวลาที่ไม่ได้กินอาหารติดต่อกันให้ได้ถึง 12-14 ชั่วโมงที่เรียกว่า intermittent fasting (IF) นั้นสัมพันธ์กับการลดการดื้อต่ออินสุลินและทำให้ลดน้ำหนักได้ดีในคนจำนวนหนึ่ง อันนี้แน่นอน ทั้งหมดนี้สอดคล้องกันดิบดีเป็นปี่เป็นขลุ่ยกับหลักฐานวิจัยว่าการอดอาหารระยะสั้นจะช่วยให้จุลินทรีย์ในลำไส้เล็กเพิ่มจำนวนและช่วยเก็บกินคาร์โบไฮเดรตที่เยื่อเมือกบุลำไส้ทำให้ลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น

4.. ถามว่าถ้าเด็กไม่ได้กินอาหารเช้าจะโง่ดักดานเรียนไม่ได้จริงไหม ตอบว่าเรื่องนี้ก็เป็นความเชื่อตามๆกันมาอีกเรื่องหนึ่ง คุณถามมาผมก็ตอบไปตามหลักฐาน คือได้มีการทำวิจัยทดสอบและมีการวิจัยแบบเมตาอานาไลซีสหลายครั้งแต่ละครั้งข้อสรุปเปะปะไม่ชัดไปทางใดสักข้าง การทบทวนงานวิจัยครั้งใหญ่ที่สุดตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Advanced Nutrition สรุปผลว่าไม่มีหลักฐานว่าการที่เด็กไม่ได้กินอาหารเช้าอย่างเป็นกิจจะลักษณะจะมีผลต่อความจำหรือการเรียนของเด็กแต่อย่างใด

5.. ข้อนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมแถมให้ คือร่างกายของมนุษย์เรานี้ไม่ได้ผลิตมาแบบหุ่นยนต์จากโรงงานที่มีเครื่องในตับไตไส้พุงทำงานเหมือนกันหมด ของใครเสียไปซื้ออะไหล่มาเปลี่ยนได้ทันที ไม่ใช่อย่างนั้น บริษัทผลิตอาหารและยาขายเขาอยากให้เราเชื่อว่าเราทุกคนมีร่างกายเหมือนกัน กินอาหารของเขาหรือกินยาของเขาแล้วจะได้ดีเหมือนกันหมด แต่ของจริงคือร่างกายของเราไม่เหมือนกัน แม้คู่แฝดไข่ใบเดียวกันก็มีร่างกายไม่เหมือนกัน ยิ่งชนิดและจำนวนจุลินทรีย์ในลำไส้ซึ่งมีผลมากต่ออาหารยิ่งไม่เหมือนกันใหญ่ ถ้าเราทดลองเอาอาหารชนิดเดียวกันให้คนปกติ(ไม่เป็นเบาหวาน)กินแล้วติดตามวัดดูระดับน้ำตาลในเลือดจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงของน้ำตาลอาจแตกต่างกันได้ถึงสิบเท่า ดังนั้นในเรื่องการกินอาหารเพื่อลดน้ำหนักนี้ผมแนะนำให้คุณทำการทดลองกับตัวเอง ลองแบบงดอาหารเช้าดู แล้วก็ลองแบบกินอาหารเช้าดู แบบไหนดีกว่ากันสำหรับคุณก็เลือกทำแบบนั้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

  1. Sievert K, Hussain S M, Page M J, Wang Y, Hughes H J, Malek M et al. Effect of breakfast on weight and energy intake: systematic review and meta-analysis of randomised controlled trials BMJ 2019; 364 :l42 doi:10.1136/bmj.l42
  2. Jenkins DJ, Wolever TM, Vuksan V, Brighenti F, Cunnane SC, Rao AV, Jenkins AL, Buckley G, Patten R, Singer W, et al. Nibbling versus gorging: metabolic advantages of increased meal frequency. N Engl J Med. 1989 Oct 5;321(14):929-34. doi: 10.1056/NEJM198910053211403. PMID: 2674713.
  3. Gabel K, Hoddy KK, Haggerty N, Song J, Kroeger CM, Trepanowski JF, Panda S, Varady KA. Effects of 8-hour time restricted feeding on body weight and metabolic disease risk factors in obese adults: A pilot study. Nutr Healthy Aging. 2018 Jun 15;4(4):345-353. doi: 10.3233/NHA-170036. PMID: 29951594; PMCID: PMC6004924.
  4. Kaczmarek JL, Thompson SV, Holscher HD. Complex interactions of circadian rhythms, eating behaviors, and the gastrointestinal microbiota and their potential impact on health. Nutr Rev. 2017 Sep 1;75(9):673-682. doi: 10.1093/nutrit/nux036. PMID: 28938796; PMCID: PMC5914376.
  5. Adolphus K, Lawton CL, Champ CL, Dye L. The Effects of Breakfast and Breakfast Composition on Cognition in Children and Adolescents: A Systematic Review. Adv Nutr. 2016 May 16;7(3):590S-612S. doi: 10.3945/an.115.010256. PMID: 27184287; PMCID: PMC4863264.

[อ่านต่อ...]

14 กุมภาพันธ์ 2565

เบื่อรบกับลูกตอนรับประทานอาหาร

คุณหมอสันต์คะ

หนูติดตามคุณหมอมาตั้งแต่เป็นสาว ตอนนี้เป็นแม่ของลูกชายอายุ 5 ขวบ แล้วหนูมีปัญหาต้องรบกับลูกเวลาเขาทานอาหาร หนูทั้งบังคับ ติดสินบน หลอกล่อ ต่อรอง และแม้กระทั่งอ้อนวอนเพื่อให้เขายอมทานสิ่งที่มีคุณค่าทางโภชนาการ แต่ว่าเขาไม่เอา จะเอาแต่คุ้กกี้ โดนัท ไอศครีม ช็อกโกแล็ต แล้วเขาผอมมาก ขอคำแนะนำคุณหมอสันต์ด้วยค่ะ

……………………………………………………………………….

ตอบครับ

อ่านจดหมายของคุณแล้วทำให้นึกถึงครั้งหนึ่งผมไปเที่ยวที่ชุมชุนวัดพระพุทธบาทห้วยต้มซึ่งเป็นชุมชนมังสวิรัติที่อ.ลี้ จ.ลำพูน และได้เข้าไปเยี่ยมหน่วยย่อยของชุมชนนี้เรียกว่าหมู่บ้านน้ำบ่อน้อย ซึ่งชาวบ้านกะเหรี่ยงที่นั่นปักหลักยึดวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ไม่ยอมเอาไฟฟ้าและน้ำประปาเข้าหมู่บ้าน ผมได้พบกับคุณแม่ยังสาวท่านหนึ่งอยู่กับลูกสาววัยกำลังไปอนุบาล เธอฟ้องผมว่าลูกสาวไม่ยอมทานข้าว ทานแต่ขนม ทำอย่างไรก็ไม่ยอม นี่แสดงว่าแม้แต่ชุมชนที่มีกฎเกณฑ์บังคับไม่ให้เอาเนื้อสัตว์เข้ามาในหมู่บ้าน ก็ยังไม่วายที่ลงท้ายแล้วเด็กก็ยังได้ทานแต่ของไม่ดี

การวิจัยเรื่องการป้อนอาหารเด็กพบว่ายิ่งพ่อแม่กดดันและหลอกล่อให้เด็กทานอาหารบางชนิดมากเท่าไร พวกเขาก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะต่อต้านและไม่ชอบอาหารชนิดนั้นมากขึ้นเท่านั้น และที่สำคัญ การชมเชยหรือการให้กำลังใจมากเกินไปก็เป็นการกดดันให้ทานในอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน ในอีกด้านหนึ่งงานวิจัยพบว่ายิ่งพ่อแม่กีดกันห้ามไม่ให้ลูกทานอาหารอื่นมากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้นที่ลูกๆอยากทานนั้นและอาจถึงขั้นแอบทานอาหารเหล่านั้นเอง

อย่าลืมว่าเป้าหมายการป้อนข้าวลูกก็คือจะวางรากฐานในการป้อนหรือการให้อาหารอย่างไร ให้ลูกเป็นผู้บริโภคที่ชาญฉลาดด้วยตัวเขาเอง เราต้องการให้เขามีความสุขเพลิดเพลินกับการได้ทานอาหารดีๆเช่น ถั่ว ผัก ผลไม้ ด้วยตัวเขาเอง ไม่ใช่แค่ตอนอยู่ต่อหน้าเรา

เรื่องนี้นักโภชนาการคนดังคนหนึ่งชื่อ Ellyn Satter ได้ทำวิจัยแล้วคิดค้นวิธีป้อนอาหารเด็กคล้ายๆโครงการคนละครึ่ง เธอเรียกวิธีของเธอว่า “การแบ่งความรับผิดชอบ” คือด้านพ่อแม่มีหน้าที่จัดหาของดีๆมาให้ลูกได้ทาน ส่วนลูกมีหน้าที่ทานอย่างมีอิสระเสรี คือจะทานอะไรไม่ทานอะไร จะทานมากทานน้อย สุดแล้วแต่ท่าน หมายความว่าพ่อแม่ต้องมีความสุขกับการได้ทานของดีๆอย่างถั่ว นัท ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสีก่อนนะ ถ้าพ่อแม่ก็ชอบทานของไม่ดี แต่จะบังคับให้ลูกทานแต่ของดีๆ อย่างนี้ไม่เวอร์คเพราะถ้าพ่อแม่ยังไม่เอ็นจอยของดีแล้วลูกเขาจะไปเชื่อว่ามันเป็นของดีได้อย่างไร

คอนเซ็พท์ของเอลลีนคือขณะที่พ่อแม่กำลังมีของดีๆทาน กำลังเอ็นจอยที่ได้ทาน จึงเอาของดีๆนั้นมาแบ่งปันให้ลูกได้ทานด้วยกัน ได้เอ็นจอยด้วยกัน ถ้าลูกไม่ทานก็ไม่เป็นไร เพราะพ่อแม่ได้ทำหน้าที่ของตนแล้ว คราวนี้ก็แค่สูดหายใจเข้าลึกๆ ถอยออกมา ปล่อยให้เด็กทำส่วนที่เหลือ ไม่มีการยั่วยุ เจรจา บังคับ ติดสินบน หรือแม้แต่ยกย่อง แค่เพลิดเพลินกับการเป็นเพื่อนลูกขณะเขาทานอาหาร ไม่ต้องกลัวว่าเด็กจะขาดอาหาร หรือจะเลือกทานของไม่ดี เพราะพ่อแม่เป็นผู้จัดหาแต่ของดีๆมาวางบนโต๊ะ ของไม่ดีไม่เอาเข้าบ้าน เด็กมีทางเลือกแค่จะทานของดีหรือไม่ทาน ทานมากหรือทานน้อย ในขณะที่พ่อแม่ก็กำลังทานกันอย่างเอร็ดอร่อยอยู่ตรงหน้า และเชิญชวนให้ลูกมาร่วมทานด้วยกัน เป็นบรรยากาศที่พ่อแม่ลูกมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันแชร์ของดีของชอบให้กันและกัน ไม่มีการต่อสู้หรือบังคับ การจะทำอย่างนี้ได้สำเร็จมันต้องมีการวางแผนจัดหาอาหารเข้าบ้านให้ดี และต้องคงเส้นคงวา ต้องมีความอดทนระดับเยี่ยมยอด แล้วจะได้ผล คือเด็กจะทานเลือกทานอาหารเองเป็น และเอ็นจอยการทานอาหารดีๆ แม้ไปไกลหูไกลตาเราแล้วความสามารถในการเลือกนี้ก็จะยังอยู่

ส่วนความกังวลที่ว่าลูกผอมมากนั้น มันไม่ใช่เรื่องของการไม่รู้จักเลือกทาน แต่มันเป็นเรื่องของอาหารที่มีให้ทานมันเป็นอาหารด้อยคุณค่า หากมีแต่ของดีให้ทาน อย่าว่าแต่คนเลย หมาแมวมันก็ยังเลือกทานของมันเองได้ สมัยเด็กๆผมเป็นเด็กวัด หน้าเข้าพรรษาหมาแมวก็อ้วน หน้าออกพรรษาหมาแมวก็ผอม ไม่ใช่เพราะมันไม่มีความรู้จะเลือกกิน แต่เพราะมันไม่มีของดีให้กิน ดังนั้นหากคุณมีแต่ของดีไว้บนโต๊ะอาหาร ของไม่ดีไม่มีเลย เดี๋ยวน้ำหนักของลูกคุณก็จะกลับมาปกติ

นี่ผมแนะนำไปตามหลักวิชานะ ตัวผมเอง สมัยที่ลูกผมเล็กๆผมก็ไม่ได้ทำอย่างนี้ดอกเพราะสมัยนั้นผมไม่ได้มีความรู้โภชนาการมากเท่าสมัยนี้ อีกอย่างหนึ่งตอนหนุ่มๆผมมัวแต่ทำงานไม่มีเวลามาใส่ใจครอบครัวในรายละเอียด เมื่อกลับถึงบ้านผมก็อยากเห็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของลูกเพื่อคลายความเหน็ดเหนื่อยให้ตัวเองโดยไม่คำนึงถึงว่าอาหารจะมีผลเสียต่อลูกอย่างไรในระยะยาวหรอก คุณลูกท่านชอบอะไรผมก็หามาถวายให้ คือเป็นรูปแบบการเลี้ยงดูแบบติดสินบนแลกกับรอยยิ้ม สมัยนั้นผมยังทำงานอยู่เมืองนอก ดังนั้นลูกของผมตอนนั้นจึงเป็นขาประจำเหนียวแน่นของเคนตั๊กกี้ แมคโดนัลด์ จอร์จี้พาย ดันกินส์ ไอศครีม และแน่นอน..โค้ก

แต่ถ้าย้อนเวลาไปได้ หากผมต้องเลี้ยงเด็กเล็กๆใหม่อีกครั้ง ผมจะเลี้ยงแบบที่ผมบอกคุณวันนี้นะ และผมเชื่อว่าเมื่อลูกโตขึ้นเขาจะขอบคุณผมมากกว่าตอนนี้ที่ไม่ต้องมาลำบากยั้งใจตัวเองในการไม่ทานอาหารขยะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

                               

[อ่านต่อ...]

13 กุมภาพันธ์ 2565

เกษียณแล้วจะให้ทำ 11 อย่าง แต่ทำไม่ได้สักอย่าง

คุณหมอสันต์คะ

มีเพื่อนส่ง 11 ไอเดียการทำธุรกิจสำหรับวัยเก๋ามาให้ มี (1) เป็นนักเขียน (2) เป็นที่ปรึกษาบริษัท (3) ปล่อยเช่าอสังหา (4) ทำอาหาร/ขนม (5) เพราะต้นไม้ขาย (6) ลงทุนหุ้น (7) ทำงานประดิษฐ์/งานฝีมือ (8) ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ (9) ขายของออนไลน์ (10) ขายภาพถ่ายออนไลน์ (11) ล่าม/ไกด์ ตัวฉันอ่านแล้วทั้ง 11 อย่างทำไม่ได้สักอย่าง ทุุกวันนี้เกษียณมาสิบปีแล้วได้แต่อ่านข่าว ฟังข่าว ติดต่อเพื่อนผ่านไลน์และเฟซบุ้ค และอยู่อย่างเรียงง่าย ใช้จ่ายอย่างประหยัดจากบำนาญที่มีอยู่

หมอสันต์มีวิธีเกษียณที่ดีกว่านี้ไหม

………………………………………………………………………………….

ตอบครับ

สิ่งสำคัญในวัยเกษียณคือความสุข จะหาเงินได้หรือไม่ได้ไม่สำคัญ สำคัญที่มีความสุขหรือไม่ เพราะเงินแม้ได้มา ก็ไม่ใช่ตัวกำหนดว่าจะมีหรือจะไม่มีความสุข เพราะความสุขไม่ใช่สิ่งที่จะเอาเงินไปซื้อหามาได้ และไม่ใช่สิ่งที่จะตามหาหรือพบได้ที่ข้างนอก แต่มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นที่ข้างใน ประสบการณ์จากชีวิตที่ผ่านมาสอนผมว่าความสุขเกิดขึ้นได้จากสองกรณีต่อไปนี้ คือ

(1) การได้พยายามจดจ่อหรือง่วนทำอะไรสักอย่างอย่างเต็มความสามารถ อย่างสุดฝีมือ อย่างสุดพรสวรรค์ที่ตัวเรามี

(2) การได้ให้อะไรแก่ชีวิตอื่นโดยไม่หวังอะไรตอบแทนทั้งสิ้น แม้คำขอบคุณก็ไม่หวัง

คุณพี่ลองใช้เวลาวัยเกษียณด้วยการทำสองอย่างนี้ในแต่ละวันดูสิครับ แล้วค่อยสรุปว่าที่ผมพูดนี้มันเข้าท่าหรือไม่

ผมตั้งใจจะจบจดหมายนี้แล้วเพราะคำตอบของผมได้ครอบคลุมสาระสำคัญที่คุณพี่ถามหมดครบถ้วนแล้ว แต่รู้สึกว่าคำตอบฉบับนี้มันจะสั้นเกินไป จึงขอละเลียดขยายความคำว่าการทำอย่างเต็มความสามารถ สุดฝีมือ สุดพรสวรรค์ที่มีสักหน่อย ในห้าประเด็น

ประเด็นที่ 1. เร็ว แต่ไม่ลน (quick but not hurry) สูงวัยไม่จำเป็นต้องงุ่มง่าม ทุกอย่างที่ทำต้องรวดเร็วกระฉับกระเฉงว่องไวซึ่งหมายถึงสติที่มั่นคงและการประสานงานกันอย่างดีระหว่างสมองกับกล้ามเนื้อในเวลาขณะนี้ แต่ไม่ใช่รีบร้อนลนลานซึ่งหมายถึงความคิดฟุ้งสร้านจมอยู่ในอดีตหรืออนาคตและมักตามมาด้วยอุบัติเหตุลื่นตกหกล้มหรือถูกรถชน

ประเด็นที่ 2. ละเมียด (meticulous details) สูงวัยแต่ไม่จำเป็นต้องทำอะไรลวกๆ งานทุกอย่างมีแง่มุมความละเอียดละออ สอดประสาน ละเมียดละไม ผสานแต่ละกิจกรรมให้ลงตัวเชื่อมต่อกันได้พอดีและดำเนินไปอย่างเป็นจังหวะจะโคน แล้วงานโดยรวมเสร็จพอดีในกรอบเวลาที่คาดหมายไว้ ทำครั้งแรกยังไม่ละเมียด ทำซ้ำอีก ไม่ใช่ว่าผมจะให้บ้าความสมบูรณ์หรือเป็น perfectionist ดอกนะ แต่ให้มีความสุขกับการมุ่งสู่ความสมบูรณ์ Perfection is an impossibility but striving for perfection is a possibility to reach happiness. ยกตัวอย่างเช่นสมมุติว่าคุณพี่วาดรูปออกมาหนึ่งรูป รูปนั้นจะสวยจะไม่สวยคนจะชมหรือจะติไม่สำคัญ แต่สำคัญที่คุณพี่ดูรูปแล้วถามตัวเองว่าตอนที่วาดรูปนี้ได้จดจ่อตั้งใจทำจนสุดฝีมือสุดพรสวรรค์ที่เรามีแล้วหรือยัง ด้วยศักยภาพที่เรามีเราทำให้มันดีกว่านี้อีกได้ไหม ถ้ายังมีคำถามนี้ให้คุณพี่นั่งลงวาดรูปนั้นใหม่โดยตั้งใจพยายามยิ่งกว่าเดิมใส่ใจในรายละเอียดยิ่งกว่าเดิม เสร็จแล้วก็นั่งมองรูปอีก ถามคำถามเดิมอีก วาดใหม่อีก จะต้องวาดซ้ำกี่ครั้งไม่สำคัญ รูปที่ได้มาใครจะชมจะติไม่สำคัญ แต่สำคัญที่มันจะมีจุดหนึ่ง ที่เราชัวร์ว่าเราได้ทำจนสุดฝีมือที่เรามี สุดพรสวรรค์ที่เรามีแล้ว ความสุขมันเกิดขึ้นตอนกำลังพยายามทำให้สุดฝีมือเรานี่แหละ และการได้พยายามจนสุดฝีมือนี้แหละคือความสำเร็จของการทำงานชิ้นนั้น ไม่ใช่ผลงานที่ออกมาว่าดีไม่ดีมีคนชมหรือมีคนติ พูดอีกอย่างว่าความสุขมันอยู่ที่ process ไม่ใช่ที่ outcome

ประเด็นที่ 3. ขยับ (move, move, move) การเล่นไลน์เล่นเฟซไม่มีอะไรเสียหายสำหรับผู้สูงอายุ แต่ถ้ามากไปมันก็ไม่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี เพราะการอยู่นิ่งๆนานๆเส้นเอ็นจะพาลหดตัวและกล้ามเนื้อจะลีบเล็กลงแล้วตามมาด้วยการสูญเสียท่าร่างบุคลิกและการเคลื่อนไหวแล้วจบด้วยการลื่นตกหกล้มง่ายกระดูกหักง่าย จะทำอะไรก็เลือกทำเถิดถ้าท่านเห็นว่าดีเห็นว่าชอบ แต่ขอให้แทรกการเคลื่อนไหวร่างกายให้มากๆเข้าไว้ในทุกการกระทำ ตั้งแต่ตื่นก้าวลงจากเตียงจนกลับขึ้นเตียงนอน

ประเด็นที่ 4. ยิ้ม (smile, smile, smile) การยิ้มเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นการวางความคิดลบไปโดยอัตโนมัติเพราะความคิดลบมาพร้อมกับการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ การยิ้มเป็นการอ้าแขนรับวันนี้ (acceptance) หัดมองชีวิตให้เห็นภาพใหญ่ เมื่อวานนี้คนทั่วโลกราวหนึ่งแสนหกหมื่นคนไม่มีโอกาสได้ตื่นขึ้นมามีวันนี้ แต่เรามีโอกาสได้ตื่นขึ้นมามีวันนี้ แค่นี้ก็เป็นเหตุผลมากพอที่เราจะยิ้มรับวันนี้ได้แล้ว

ประเด็นที่ 5. เรียนรู้ แม้สูงวัยแล้วแต่ต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ เรียนรู้ราวกับว่าเราจะอยู่ไปจนชั่วนิรันดร์ แต่ขณะเดียวกันก็ใช้ชีวิตราวกับว่าพรุ่งนี้จะไม่มีแล้ว ฟังดูเป็นวาทะกรรมมากเลยใช่ไหมครับ หิ หิ ผมเปล่าเล่นลิ้น ผมแค่ต้องการ ไฮไลท์เรื่อง exploring กับ living ว่ามันต้องใช้ปรัชญาที่ต่างกัน มันจะใช้ตรรกะของเหตุและผลแบบดุ่ยๆธรรมดาๆไม่ได้

การเรียนรู้ของผู้สูงวัยหมายถึงการเปิดโลกทัศน์สำรวจค้นหา (explore) สิ่งใหม่ๆในแต่ละวัน ไม่ใช่การรีไซเคิลแต่ความจำหรือคอนเซ็พท์เก่าๆบูดๆในหัว ในเรื่องการเรียนรู้นี้ผมบอกใบ้ไว้อย่างหนึ่งนะว่าให้คุณพี่ทดลองสำรวจขุดค้นดูหน่อยเป็นไรว่าพ้นไปจากที่อายตนะทั้งห้ารับรู้ได้แล้วนี้ มันมีการเรียนรู้ในรูปแบบอื่นเกิดขึ้นได้อีกไหม เป็นไปได้ไหมว่ามันยังมีอะไรที่เราไม่อาจรับรู้ได้ด้วยอายตนะทั้งห้า ผมหมายถึงว่าคุณพี่ก็ต้องทดลองฝึกทำ meditation ลองถอยออกจากการรับรู้ผ่านอายตนะทั้งห้าเสียก่อน แล้วเข้าไปอยู่กับความรู้ตัวในภาวะว่างจากความคิด ตื่นอยู่ในความว่าง แล้วคอยดูซิว่าจะมีอะไรใหม่ๆโผล่มาให้เรียนรู้บ้าง ลองดู ลองดูน่า ไม่มีอะไรเสียหายนี่ครับ ปูนนี้แล้วชีวิตที่ผ่านมาทุกสิ่งที่เข้ามาทางอายตนะทั้งห้าคุณพี่ก็เจนจบหมดแล้วไม่มีข้อสงสัยอะไรอีกแล้วไม่ใช่หรือ ชีวิตที่เหลืออยู่ในแต่ละวันลองเรียนรู้สิ่งใหม่ๆในแบบที่ผมว่าดูบ้าง ไม่แน่นะ ที่ผมพูดจั่วหัวไว้ว่า “เรียนรู้ราวกับว่าเราจะอยู่ไปชั่วนิรันดร์” มันอาจจะมีความหมายมากกว่าที่ภาษาไปถึง

สรุปส่งท้ายว่าสูงวัยแล้วจะทำอะไรก็ได้ แต่ให้ทำแบบ เร็ว..ละเมียด..ขยับ..ยิ้ม..และเรียนรู้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

จดหมายจากท่านผู้อ่าน (13 กพ.65)

ที่สุดอีกแล้วครัฟท่าน ไอเดีย12..ทำแปลงเขียวแบบในรูป แบบวิธีธรรมชาติ ต่อสู้กับดินน้ำแดดแมลงราเพลี้ยเน่าแกรน..สุดมันเลย ไอเดีย13.. ปลูกกุหลาบ สัก 2-3 ต้นเพราะมันปราบเซียนดี มันต้องพอดีทุกอย่างจึงรอด สอนเราดีๆ แต่ที่สุดคือ.. เร็ว..ละเมียด..ขยับ..ยิ้ม..และเรียนรู้ ของคุณหมอ ครอบคลุมหมดจดทั้งสุขภาพร่างและจิต ธรรมะล้วนๆตัวเป็นๆก็อยู่ในนั้น ซึ้งและขอบคุณจริงๆ

………………………………………………….

[อ่านต่อ...]

12 กุมภาพันธ์ 2565

วัคซีนเข็มสาม เถียงกันในครอบครัวเกือบทุกวันว่าจะฉีด หรือไม่ฉีด

เรื่อง ณ วันนี้ วัคซีนเข็มสามก็ยังคงไม่น่าไปฉีดใช่ไม๊คะ
สวัสดีค่ะ คุณหมอสันต์
จากที่คุณหมอเคยตอบเรื่องการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มสามนั้น ตอนนี้ได้รับแรงกดดันจากคนรอบข้างหลายๆคนให้ไปฉีดเข็มสาม ฟังข่าวจากหลายแหล่ง หลายหมอก็แนะนำให้ฉีด เราก็เถียงด้วยข้อมูลที่คุณหมอสันต์เคยแนะนำ แต่มาถึงวันนี้ คนรอบๆตัวเราก็บอกว่าข้อมูลเราเก่าเกินไปแล้ว เลยอยากขอเรียนถามคุณหมอว่า ณ วันนี้ถ้าถามคุณหมอว่าเราควรฉีดกระตุ้นเข็มสามหรือไม่ คุณหมอยังคงแนะนำเช่นเดิมรึเปล่าคะ หรือมีอะไรแนะนำเพิ่มเติมสำหรับการตัดสินใจว่าวัคซีนกระตุ้นเข็มสามจำเป็นรึเปล่าคะ รบกวนคุณหมอช่วยชี้แนะด้วยนะคะ เพราะเถียงกันในครอบครัวเกือบทุกวันว่าจะฉีด หรือไม่ฉีด เป็นห่วงคุณแม่ซึ่งอายุ 82 ด้วยค่ะ ตัดสินใจยังไงดีคะ
ขอบพระคุณคุณหมอสันต์ค่ะ

……………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าแผนวัคซีนโควิดโดยทั่วไป อย่างไรถึงจะเรียกว่าวัคซีนไม่พอหรือไม่ update ตอบว่า ณ ขณะนี้หากถือตามศูนย์ควบคุมโรคอเมริกา หากหลังวัคซีนเข็มสองแล้วภายใน 5 เดือนยังไม่ได้วัคซีนเข็มสาม ถือว่าวัคซีนไม่พอ หรือไม่ update ครับ

2.. ถามว่าเขามีหลักฐานอะไรที่เชียร์ให้ฉีดเข็มสาม ตอบว่าเขาใช้วิธีตรวจวัดปริมาณภูมิคุ้มกันต่อโควิดในเลือด (immunoglobulin) ครับ ไม่ได้ใช้อัตราการติดเชื้อจริงเพราะข้อมูลอัตราการติดเชื้อเปรียบเทียบคนฉีดเข็มสามกับไม่ฉีดยังไม่มีครับ

3.. ถามว่าเมื่อยังไม่มีข้อมูลว่าวัคซีนเข็มสามจะลดการติดเชื้อจริงหรือไม่ มีแต่ว่าเพิ่มจำนวนโมเลกุลภูมิคุ้มกันได้ แล้วการฉีดวัคซีนเข็มสามจะคุ้มความเสี่ยงไหม ตอบว่าก็ในเมื่อไม่มีข้อมูลการติดเชื้อจริงมาเปรียบเทียบในรูปของการวิจัย RCT ก็จึงยังไม่มีใครจะตอบข้อนี้ได้สิครับ ดังนั้น ผู้รับวัคซีนต้องตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับเอาจากดุลพินิจของตัวเองครับ

4.. ถามว่าการฉีดเข็มสามจะนำไปสู่เข็มสี่ ห้า หก หรือไม่ ตอบว่ามันนำไปสู่เข็มสี่ ห้า หก แน่นอนครับด้วยคอนเซ็พท์ของการต้องคอย update วัคซีนให้ภูมิคุ้มกันคงอยู่ในระดับสูงตามที่ผมนิยามไว้ในข้อ 1. เพราะแผนวัคซีนของโควิดมีแนวโน้มจะทำแบบแผนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ อย่างสมัยนี้ไข้หวัดใหญ่ต้องฉีดกันปีละครั้งทุกปีทุกคนที่อายุเกินหกเดือน ผมเดาเอาว่าวัคซีนโควิดจะออกมาอีหรอบเดียวกัน เพราะทุกฝ่าย (ผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้สั่งจ่าย ผู้ใช้) ต่างเฮโลกันไปทางนั้น ผมเดาเอาว่ามันจะเป็นเช่นนี้ไป จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อมีหลักฐานที่หนักแน่นโผล่ออกมาว่ามันไม่คุ้มเพราะผลเสียมากกว่าผลดี ซึ่งจะมีวันนั้นหรือไม่ ยังไม่มีใครทราบครับ

5. ถามว่าหมอสันต์มีจุดยืนอย่างไรในการฉีดวัคซีนโควิด ตอบว่า

(1) เรื่องวัคซีนเข็ม 3, 4, 5, 6 ในผู้ใหญ่ ข้อมูลยังไม่พอที่จะแนะนำอะไร ดังนั้นตัวใครตัวมันครับ เอาแบบที่ท่านชอบ

(2) เรื่องวัคซีนโควิดในเด็ก แม้ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐจะแนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิดในเด็กโดยอ้างว่าความเสี่ยงของการไม่ฉีดเท่าหรือมากกว่าโรคหัดซึ่งเป็นโรคที่เราจับเด็กฉีดวัคซีนหมด แต่ผมเองมีคำแนะนำที่ไม่เหมือน CDC คือผมแนะนำว่าเด็กไม่ควรฉีดวัคซีนโควิดในพ.ศ.นี้ เพราะความเสี่ยงที่เด็กจะเป็นอะไรไปเพราะโรคโควิดนั้นมีน้อยมาก (นี่ผมยังไม่เกี่ยงว่าวิธีประเมินอัตราตายของเด็กจากโควิดของทางอเมริกานั้นใช้วิธีแบบเหมาโหลซึ่งต่างจากวิธีของอังกฤษซึ่งใช้วิธีวิเคราะห์เหตุเป็นรายคนนะ) ขณะที่ความเสี่ยงของวัคซีนโควิดต่อเด็กในระยะยาวยังไม่มีใครทราบเลย คือวิธีการผลิตวัคซีนทั้ง DNA และ RNA เนี่ยมันพิศดารมากนะครับ อ่านกระบวนการผลิตแล้วมันอะเมซซิ่งยิ่งกว่าอ่านนิยายวิทยาศาสตร์เสียอีก หากไม่มีโควิดมา ผมว่าต้องรออีกไม่รู้กี่สิบปีกว่าวัคซีน DNA และ RNA จะได้ออกมาใช้ แต่เพราะโควิดเราจึงเอามันออกมาใช้แบบพรวดพราด ดังนั้นมันต่างจากวัคซีนหัดซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่าความเสี่ยงของวัคซีนหัดต่ำมาก แต่วัคซีนโควิดนี่ต้องรออีก 20 ปีจึงจะทราบ ชั่งน้ำหนักแล้ว ประโยชน์มีน้อยแน่นอน ผลเสียอาจมากหรือน้อยยังไม่รู้ ส่วนประเด็นที่ว่าฉีดเด็กเพื่อป้องกันผู้ใหญ่นั้น หิ หิ นับถึงวันนี้ยังไม่มีหลักฐานแม้แต่ชิ้นเดียวนะครับที่จะยืนยันว่าการฉีดวัคซีนให้เด็กจะป้องกันผู้ใหญ่ที่บ้านไม่ให้ป่วยได้ ดังนั้นกล่าวโดยสรุป ผมจึงแนะนำว่าเด็กยังไม่ควรฉีดวัคซีนโควิดครับ นี่เป็นคำแนะนำส่วนตัวนะครับ ซึ่งอาจไม่เหมือนกับแผนวัคซีนของชาติ หรือแผนวัคซีนของ CDC สหรัฐ แต่ผมยอมพูดแม้จะแตกต่างจากแผนวัคซีนของชาติเพราะในฐานะแพทย์ผมมีหน้าที่ต้องให้ข้อมูลและแนะนำอะไรบนข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่นับถึงวันนี้ที่ตัวผมเองชั่งตวงวัดได้ หากท่านผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลมากกว่าที่ผมมีแล้วช่วยบอกผมมาเอาบุญ หากผมประเมินแล้วว่าเป็นข้อมูลที่เชื่อได้จริงในเชิงวิทยาศาสตร์ ผมก็เปลี่ยนคำแนะนำของผมตามข้อมูลใหม่ได้ครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

10 กุมภาพันธ์ 2565

แค้มป์พลิกผันโรคด้วยตนเอง (RDBY-20)

เงียบหายไปตั้งแต่ก่อนปีใหม่ตามนโบบายโควิดของลุงตู่ ตอนนี้โควิดดูอ่อนแรงและใกล้ทำสัญญาสงบศึกกันเต็มทีแล้ว ผมหมายถึงว่ายอมรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้วเลิกควบคุมเสียอย่างสิ้นเชิง จังหวะนี้ผมขอแจ้งกลับมาเปิดแค้มป์พลิกผันโรคด้วยตนเอง (Reverse Disease By Yourself – RDBY) ครั้งใหม่ (RDBY-20 (วันที่ 10-14 มีค. 65) ซึ่งจะเป็นแค้มป์สุดท้ายที่จะจัดในรูปแบบเดิม ต่อจากแค้มป์นี้จะไม่มี RDBY camp อีกแล้ว แต่จะทดลองไปทำในรูปแบบใหม่ซึ่งเริ่มด้วยการให้คำแนะนำในการพลิกผันโรคเฉพาะคนผ่านคลินิกออนไลน์ก่อน (ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้เปิด) เมื่อมีผู้ป่วยที่พลิกผันโรคด้วยตนเองไม่ได้เพราะขาดทักษะเฉพาะเรื่องจึงจะนัดมาเข้าแค้มป์พัฒนาทักษะเฉพาะด้าน ที่อาจจะเจาะลึกลงไปแค้มป์ละโรค เช่น เบาหวาน หัวใจ ความดัน เป็นต้น แค้มป์ RDBY20 นี้ผมจึงกะจะเก็บตกผู้ที่ตั้งใจจะมาเข้าแต่เดิมแต่สมัครไม่ได้เสียให้หมดในคราวนี้

     1. โครงสร้างของ RDBY-20

1.1 ใช้เวลามากินมานอนที่เวลเนสวีแคร์ 5 วัน 4 คืน
1.2 มาเข้าแค้มป์เหลือครั้งเดียว แล้วติดตามอย่างต่อเนื่องผ่าน We Care app บนอินเตอร์เน็ท
1.3 แยกลงทะเบียนระหว่างผู้ป่วยกับผู้ดูแล โดยผู้ดูแลจะได้ที่พัก กิน นอน เรียน ทำกิจกรรมเช่นเดียวกับผู้ป่วย แต่จะไม่ได้เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและประเมินปัญหาสุขภาพรายคน และจะไม่มีคำสรุปสุขภาพของแพทย์ใน We Care app dashboard

     2. ความเป็นมาของ RDBY

มันเริ่มจากตัวผมเองเคยป่วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ความที่อยากหนีจากแนวทางการรักษาแบบโรงพยาบาล (กินยา สวนหัวใจ บอลลูน ผ่าตัดบายพาส) จึงทบทวนงานวิจัยเพื่อหาทางออกอื่นและได้พบว่าการจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรคโดยตัวผู้ป่วยเอง ทั้งในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด การเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง ทำให้โรคดีขึ้นกว่าการรักษาในโรงพยาบาลเสียอีก จึงลงมือทำกับตัวเอง เมื่อเห็นว่าได้ผลดีจนสามารถพลิกผันโรคให้หายจากเจ็บหน้าอกและเลิกกินยาความดันยาไขมันได้หมด จึงตัดสินใจเลิกอาชีพหมอผ่าตัดหัวใจเปลี่ยนอาชีพมาเป็นหมอส่งเสริมสุขภาพ แต่เมื่อได้นั่งตรวจและสอนคนไข้ทีละคนอยู่ที่โรงพยาบาลก็พบว่ามันใช้เวลามากและช่วยคนไข้ได้เป็นจำนวนน้อย และวิธีนั่งตรวจมันยังแก้ปัญหาสำคัญที่คนไข้ต้องการไม่ได้ นั่นคือการขาดทักษะปฏิบัติการ ผมจึงเปลี่ยนแนวทางมาให้ความรู้กับคนป่วยคราวละหลายๆคน ทั้งในรูปแบบเขียนบล็อกตอบคำถาม และในรูปแบบแค้มป์กินนอนเพื่อเรียนรู้ทักษะในการป้องกันและพลิกผันโรคด้วยตัวเอง (RDBY) ซึ่งก็ทำมาได้เกือบสี่ปี ทำไปสิบกว่ารุ่นแล้ว

     3. แค้มป์ RDBY เหมาะสำหรับใครบ้าง

แค้มป์ RDBY จัดขึ้นสำหรับผู้ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทุกโรค โดยเน้นที่ (1) โรคหลอดเลือด ทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต) และโรคสืบเนื่องจากโรคหลอดเลือดเช่นโรคไตเรื้อรัง เป็นต้น (2) โรคเบาหวาน (4) โรคความดันสูง (4) โรคไขมันในเลือดสูง (5) โรคอ้วน (6) ผู้ต้องการป้องกันและดูแลตัวเองจากโรคสมองเสื่อม

แต่ในกรณีที่เป็นโรคมะเร็ง จะได้ประโยชน์จากแค้มป์นี้น้อย ผมไม่แนะนำให้มาแค้มป์นี้ ตัวผมเองยังไม่มีแค้มป์แนะนำสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง เพราะผมเองเคยทำรีทรีตฟื้นฟูผู้ป่วยมะเร็ง (CR) ไปแล้วสี่ครั้ง โดยตั้งธงความสำเร็จไว้ตรงที่ให้ผู้ป่วยยอมรับโรคมะเร็งได้และให้สามารถใช้ชีวิตอยู่กับโรคนี้ได้อย่างมีคุณภาพ แต่ประเมินผลแล้วทั้งสี่ครั้งพบว่าผมไม่ประสบความสำเร็จตามธงที่ตั้งๆไว้เลย จึงตัดสินใจหยุดทำ CR ไว้ดื้อๆแบบไม่มีกำหนด

         4. ภาพรวมของแค้มป์ RDBY

4.1 หลักสูตรนี้เป็นการใช้วิธีการแพทย์แผนปัจจุบัน (modern medicine) ในรูปแบบการแพทย์แบบอิงหลักฐาน (evidence based medicine) มีแพทย์เป็นผู้กำกับดูแล (medically directed) โดยใช้วิธีมองปัญหาของผู้ป่วยแบบองค์รวม (holistic care)

4.2 หลักสูตรนี้จัดสำหรับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เน้นที่โรคหลอดเลือดทั้งหลอดเลือดหัวใจและสมอง เบาหวาน ความดันสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน และภาวะสมองเสื่อม

4.3 ในกรณีที่ผู้สมัครเข้าร่วมโปรแกรมนี้มีแพทย์เฉพาะทางเจ้าประจำอยู่แล้ว ป่วยไม่ต้องเลิกการรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่ดูแลกันมาแต่เดิม เพราะแพทย์ประจำตัวของท่านที่เวลเนสวีแคร์จะทำหน้าที่เป็นแพทย์ประจำครอบครัว (family physician) ของท่านและเป็นพี่เลี้ยงให้ท่านดูแลตัวเองให้เป็น ส่วนการปรึกษาและใช้บริการของแพทย์เฉพาะทางเฉพาะโรคที่ทำมาแต่เดิมนั้นก็ยังทำต่อไปเหมือนเดิม

4.4 ผู้สมัครเข้าร่วมโปรแกรมนี้ไม่จำเป็นต้องยกเลิกยาหรือการรักษาที่ตนเองได้มาแต่เดิมในขณะที่เริ่มหันมาใช้วิธีดูแลตนเอง เพราะการรักษาโรคตามโปรแกรมนี้ใช้หลักวิชาการแพทย์แผนปัจจุบันเช่นเดียวกันกับการรักษาในโรงพยาบาล เพียงแต่มุ่งโฟกัสที่การเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ป่วยในเรื่องการกินการออกกำลังกายและการใช้ชีวิตจนถึงระดับที่ผู้ป่วยดูแลตัวเองได้ด้วยตนเอง จึงสามารถทำคู่ขนานไปกับการรักษาในโรงพยาบาลได้ เมื่อผู้ป่วยดูแลตนเองได้ดีขึ้นแล้ว ตัวชี้วัดสุขภาพต่างๆจะค่อยๆบ่งชี้ว่าความจำเป็นที่จะต้องพึ่งการรักษาด้วยยาในโรงพยาบาลจะค่อยๆลดลงไปเองโดยอัตโนมัติจนสามารถเลิกยาได้เองในที่สุด

4.4 ผู้ป่วยจะต้องมาเข้าแค้มป์ หนึ่งครั้ง นาน 5 วัน 4 คืน

4.5 ในวันแรก ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจร่างกายโดยแพทย์ของเวลเนสวีแคร์ จัดทำฐานข้อมูลสุขภาพ วางแผนสุขภาพ และเก็บรวมรวมผลการตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษต่างๆไว้บนเฮลท์แดชบอร์ด (Health Dashboard) ซึ่งทั้งทีมแพทย์, ผู้ช่วยแพทย์ของเวลเนสวีแคร์ และตัวผู้ป่วยเองสามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้ตลอดเวลาผ่านโทรศัพท์มือถือ

4.6 ในระหว่างที่อยู่ในแค้มป์ ผู้ป่วยจะได้เรียนความรู้สำคัญเกี่ยวกับโรคของตน ได้ฝึกทักษะที่จำเป็นในการจัดการโรคของตน การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด การสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองอย่างต่อเนื่อง การโภชนาการ ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องฝึกทำอาหารแบบกินพืชเป็นหลักในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ โดยไม่ใช้น้ำมัน (low fat PBWF) ด้วยตนเองด้วย แต่ทางเวลเนสวีแคร์ได้ทำอาหารสำรองไว้สำหรับผู้ที่ไม่สามารถทำอาหารด้วยตนเองได้

4.7 เมื่อสิ้นสุดแค้มป์ 5 วันแล้ว ผู้ป่วยจะกลับไปอยู่บ้านโดยนำสิ่งที่เรียนรู้จากแค้มป์ไปดูแลตัวเองต่อที่บ้าน โดยสื่อสารกับทีมแพทย์และพยาบาลของเวลเนสวีแคร์ผ่านเฮลท์ We Care app. ทางอินเตอร์เน็ท ผู้ป่วยสามารถติดต่อสอบถามเรื่องต่างๆรวมทั้งการปรับลดขนาดยาเมื่อตัวชี้วัดเปลี่ยนไปด้วย โดยคาดหมายว่าภายในหนึ่งปีผู้ป่วยจะสามารถดูแลตัวเองต่อไปได้ด้วยตัวเอง

สมาชิกสามารถใช้ We Care app นี้เป็นที่เก็บข้อมูลผลแล็บ รวมทั้งภาพและวิดิโอ.ทางการแพทย์ ของตนเองได้ต่อเนื่อง และสมาชิกสามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง แก้ไข ข้อมูลสุขาพของตนได้ทุกรายการ ยกเว้น Doctor’s Summary ซึ่งต้องเขียนสรุปไว้โดยแพทย์เท่านั้นเพื่อใช้เป็นเอกสารให้ข้อมูลแก่แพทย์กรณีต้องเข้าโรงพยาบาล

อนึ่ง อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง สมาชิกมีหน้าที่ปรับปรุง (update) ข้อมูลดัชนีสุขภาพสำคัญเจ็ดตัวของตนคือ (1) น้ำหนัก (2) ความดัน (3) น้ำตาล (4) ไขมัน (5) จำนวนผักผลไม้ที่กินต่อวัน (6) เวลาที่ใช้ในการออกกำลังกายต่อสัปดาห์ และ (7) การสูบบุหรี่ เพื่อให้แพทย์ประจำตัวหรือทีมงานผู้ช่วยแพทย์ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงสุขภาพและวางแผนสุขภาพให้และบันทึกไว้บนแดชบอร์ดทุกปี

สมาชิกสามารถขอรับคำปรึกษาปัญหาจากแพทย์ประจำตัวของหรือทีมงานผู้ช่วยแพทย์โดยเขียนคำถามผ่านมาทาง We Care app คำถามของสมาชิกจะได้รับการสนองตอบโดยผู้ช่วยแพทย์ที่เฝ้าแดชบอร์ดอยู่ ซึ่งจะปรึกษาแพทย์ประจำตัวของสมาชิกในกรณีที่เป็นปัญหาที่ต้องแนะนำโดยแพทย์ การตอบคำถามด้วยวิธีนี้จะมีประสิทธิภาพสูงสุดเพราะขณะตอบแพทย์หรือทีมงานมีข้อมูลสุขภาพของสมาชิกรายนั้นอยู่ตรงหน้าอยู่แล้ว

สมาชิกสามารถสั่งพิมพ์ใบสรุปข้อมูลสุขภาพ (Doctor’s Summary) แบบหน้าเดียวซึ่งเขียนโดยแพทย์ประจำตัวของตน ไปใช้เพื่อเวลาไปรับการตรวจรักษาในสถานพยาบาลต่างๆได้ทุกเมื่อ

4.8 ในกรณีที่เป็นผู้ทุพลภาพหรือช่วยเหลือตนเองไม่ได้ซึ่งตามปกติต้องมีผู้ดูแลประจำตัวอยู่แล้ว ต้องนำผู้ดูแลมาด้วย โดยผู้ดูแลต้องลงทะเบียนเป็นผู้ดูแล ทั้งนี้นอกจากอาหารและที่พักแล้ว ผู้ดูแลยังสามารถเข้าร่วมเรียนรู้และฝึกทักษะต่างๆเพื่อประโยชน์ในการติดตามดูแลผู้ป่วย แต่ผู้ดูแลจะไม่ได้พบแพทย์เพื่อตรวจประเมินปัญหาสุขภาพของตนเอง และจะไม่มีบทสรุปสุขภาพของแพทย์ในแดชบอร์ด ในกรณีที่ประสงค์จะได้รับการตรวจสุขภาพและประเมินปัญหาโดยแพทย์ด้วย ผู้ดูแลจะต้องลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยอีกคนหนึ่งแยกจากตัวผู้ป่วยที่ตนดูแล เพื่อให้ได้คิวเวลาที่จะเข้าพบแพทย์ซึ่งจำกัดสิทธิ์ไว้เฉพาะผู้ป่วยเท่านั้น

     5. หลักสูตร (Course Syllabus) 

     5.1 วัตถุประสงค์

     5.1.1 วัตถุประสงค์ในด้านความรู้
คาดหวังให้ผู้ป่วยรู้สิ่งต่อไปนี้
a. รู้เรื่องโรคของตัวเอง ทั้งพยาธิกำเนิด พยาธิวิทยา อาการวิทยา
b. รู้จักตัวชี้วัดที่ใช้เฝ้าระวังการดำเนินของโรค
c. รู้ทางเลือกวิธีรักษาทุกวิธี และรู้ประโยชน์และความเสี่ยงของแต่ละทางเลือกอย่างละเอียด
d. รู้จักยาทุกตัวที่ตนเองได้รับ ทั้งชื่อ ขนาด วิธีกิน กลุ่มยา ฤทธิ์ยา และผลข้างเคียง
e . รู้ว่าตนเองสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อให้ตนเองหายจากโรค
– ในแง่ของโภชนาการ รู้ประโยชน์ของอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ (low fat, plant based, whole food) รู้โทษของเนื้อแดงและเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการปรับแต่งหรือถนอม
– ในแง่ของการออกกำลังกาย รู้ประโยชน์และวิธีออกกำลังกายทั้งสามแบบ คือแบบแอโรบิก (aerobic exercise) แบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (strength training) และแบบเสริมการทรงตัว (balance exercise)
– ในแง่ของการจัดการความเครียด รู้ประโยชน์และวิธีจัดการความเครียดด้วยเทคนิคต่างๆซึ่งรวมศูนย์อยู่ที่การฝึกวางความคิด
– ในแง่ของแรงบันดาลใจ รู้จักพลังงานของร่างกาย (internal body) และการใช้พลังงานของร่างกายเป็นแหล่งบ่มเพาะแรงบันดาลใจให้ต่อเนื่อง
– ในแง่ของการร่วมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน รู้ประโยชน์และพลังของกลุ่มและรู้วิธีทำกิจกรรมในกลุ่ม
f. รู้วิธีใช้ Health Dashboard ในการป้องกันและพลิกผันโรคด้วยตนเอง

     5.1.2. วัตถุประสงค์ในด้านทักษะ
คาดหวังให้ผู้ป่วยสามารถทำสิ่งต่อไปนี้ด้วยตนเอง
a.       บริหารจัดการโรคของตนเองได้โดยใช้ตัวชี้วัดพื้นฐาน 7 ตัว (1) น้ำหนัก (2) ความดันเลือด (3) ไขมันในเลือด (4) น้ำตาลในเลือด (5) ปริมาณผักผลไม้ที่กินต่อวัน (6) เวลาออกกำลังกายต่อสัปดาห์ (7) การสูบบุหรี่
b.       เลือกอาหารสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูปในตลาดที่เป็นอาหารพืชแบบไม่สกัดไม่ขัดสีได้
c.       ทำอาหารทานเองที่บ้านได้ เช่น ผัดทอดอาหารโดยใช้น้ำหรือใช้ลมร้อนแทนน้ำมันได้ อบถั่วและนัทไว้เป็นอาหารว่างเองได้ ทำเครื่องดื่มจากผักผลไม้โดยไม่ทิ้งกากด้วยตนเองได้
f.        ประเมินสมรรถนะร่างกายของตนเองด้วยการสังเกตอัตราการหายใจ การนับชีพจรจากเครื่องช่วยนับ และการทำ One milk walk test ให้ตัวเองได้
g.       ออกกำลังกายแบบแอโรบิกได้ด้วยตนเองได้
h.       ออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยใช้ท่ากายบริหาร ดัมเบล สายยืด และกระบอง ได้ด้วยตนเอง
i.         ออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัวได้ด้วยตนเอง
j.         สามารถกำกับดูแลท่าร่าง (posture) ในชีวิตประจำวันของตนเองได้
k.       ผ่อนคลายความเครียดเฉียบพลันด้วยเทคนิค relax breathing ได้
l.         จัดการความเครียดในชีวิตประจำวันด้วยการฝึกวางความคิดผ่านเทคนิคต่างๆเช่น นั่งสมาธิ ไทชิ โยคะ ได้
m.     สามารถร่วมกิจกรรมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน ทั้งในเชิงเป็นผู้เปิดแชร์ความรู้สึกและเป็นผู้ให้การพยุงได้
n. สามารถใช้ Health Dashboard ในการดูแลตนเองต่อเนื่องได้ด้วยตนเอง

5.1.3    วัตถุประสงค์ในด้านเจตคติ
คาดหวังให้ผู้ป่วยเกิดเจตคติต่อไปนี้
a.       มีความมั่นใจว่าตนเองมีอำนาจ (empowered) ที่จะดลบันดาลให้โรคของตัวเองหายได้
b.       มีความมุ่งมั่นในพันธะสัญญา (commitment) ที่จะเป็นผู้ดูแลตนเองไม่ให้เป็นภาระแก่คนอื่น
c.       มีความอยาก (motivated) ที่จะมีชีวิตอย่างมีคุณภาพ มีความสุข

     6. ตารางกิจกรรมขณะอยู่ในแค้มป์ 

วันที่ 1 (ของ 5 วัน)

8.00-15.00 Registration & Meet with doctors
ลงทะเบียนเข้าแค้มป์ เช็คอินเข้าห้องพัก วัดดัชนีมวลกาย วัดความดันเลือด ตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ จัดทำเวชระเบียนส่วนบุคคล พบกับแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและจัดทำสรุปปัญหาสุขภาพเก็บไว้ในเวชระเบียน และขณะผลัดกันเข้าพบแพทย์ตามตารางเวลาที่จัดไว้ ทุกท่านต้องมาพบแพทย์ตรงตามเวลานัด เพราะท่านจะไปใช้เวลาของคนอื่นมิได้ และขณะผลัดกันเข้าพบแพทย์ตามตารางเวลาที่จัดไว้
16.30-19.00 น. Kitchen tour สาธิตสอนแสดงวิธีทำอาหารแบบ PBWF และฝึกทำอาหารด้วยตนเอง

19.00 – 20.00 น. ชั่วโมงสันทนาการภายในกลุ่ม

วันที่ 2. (ของ 5 วัน)

6.30 – 8.00 น.
Morning health activities กิจกรรมสุขภาพยามเช้า (in-bed strength training exercise, meditation, sun salutation, Tai Chi.)

8.00 – 9.30
อาหารเช้าและเวลาส่วนตัว

9.30 – 12.00
Getting to know each other and learn from each other ทำความรู้จักกันและเรียนรู้จากโรคของกันและกัน
Tea break included

12.00 -14.00
อาหารกลางวันและเวลาส่วนตัว

14.00 – 15.00
Briefing. Plant-based, whole food บรรยายเรื่องโภชนาการที่มีพืชเป็นหลัก ไม่สกัด ไม่ขัดสี

15.00-17.00
Food shopping activities เรียนรู้จากกิจกรรมจ่ายตลาดฉลาดซื้อ
ชา และทำเวอร์คชอพจ่ายตลาดฉลาดซื้อ
Tea break included

17.00 – 19.00 น.
อาหารเย็นแบบ PBWF

วันที่ 3. (ของ 5 วัน)

6.30 – 8.00 น.
Morning health activities กิจกรรมสุขภาพยามเช้า (in-bed strength training exercise, meditation, sun salutation, Tai Chi.)

8.00 – 9.30
อาหารเช้าและเวลาส่วนตัว

9.30 – 10.30
Self management for heart disease จัดการโรคหัวใจขาดเลือดด้วยตนเอง

10.30 -10.45
Tea break พักดื่มน้ำชา

10.45-11.30
– Workshop: Blood pressure measurement ฝึกปฏิบัติ วิธีวัด บันทึก และวิเคราะห์ความดันเลือด
– Self management for hypertension จัดการโรคความดันเลือดสูงด้วยตนเอง

11.30 – 12.00
Dyslipidemia and Obesity การพลิกผันโรคไขมันในเลือดสูงและโรคอ้วน

12.00 -14.00
ทำอาหารกลางวันทานเองและเวลาส่วนตัว

14.00 – 15.00
Workshop: Self evaluation in exercise การประเมินตนเองในการออกกำลังกาย

15.00-16.00
Workshop: Muscle endurance and Balance exercise การฝึกกล้ามเนื้อและการกำลังกายแบบเสริมการทรงตัว

16.00 – 16.30
Tea break พักรับประทานน้ำชา

16.30-17.30
Moderate intensity exercise เรียนการออกกำลังกายแอโรบิกระดับหนักปานกลาง

17.30 – 19.00 น.
อาหารเย็นแบบ PBWF

19.00 – 20.00 น. ชั่วโมงสันทนาการภายในกลุ่ม

วันที่ 4. (ของ 5 วัน)

6.30 – 8.00 น.
Morning health activities กิจกรรมสุขภาพยามเช้า (in-bed strength training exercise, meditation, sun salutation, Tai Chi.)

8.00 – 9.30
อาหารเช้าและเวลาส่วนตัว

9.30 – 10.30
Self management for diabetese จัดการโรคเบาหวานด้วยตนเอง

10.30 -10.45
Tea break พักดื่มน้ำชา

10.45 -11.30
Self management for CKD จัดการโรคไตเรื้อรังด้วยตนเอง

11.30 -12.00
Self motivation การสร้างแรงบันดาลใจให้ตนเองอย่างต่อเนื่อง

12.00 -14.00
ทำอาหารกลางวันทานเองและเวลาส่วนตัว

14.00 – 15.00
ฺBriefing: Prevention of dementia การป้องกันสมองเสื่อม
Briefing: Neurocognitive assessment การตรวจประเมินสมองเสื่อม

15.00-16.00
Workshop: Neurocognitive game กิจกรรมเกมฝึกสมอง
Tea break included

16.00-17.00
Relaxing yoga กิจกรรมยืดเหยียดและผ่อนคลายด้วยโยคะ

17.00 – 19.00 น.
อาหารเย็นแบบ PBWF

19.00 – 20.00 น. ชั่วโมงสันทนาการภายในกลุ่ม

วันที่ 5. (ของ 5 วัน)

6.30 – 8.00 น.
Morning health activities กิจกรรมสุขภาพยามเช้า (in-bed strength training exercise, meditation, sun salutation, Tai Chi.)

8.00 – 9.30
อาหารเช้าและเวลาส่วนตัว

9.30 – 10.45
Workshop: Simple seven health risks management การจัดการโรคด้วยดัชนีง่ายๆเจ็ดตัว

10.45 -11.00
Tea break พักดื่มน้ำชา

11.00-12.00
Workshop: Health Dashboard การใช้แดชบอร์ดบนอินเตอรเน็ทเพื่อการติดตามต่อเนื่อง

12.00 -14.00
อาหารกลางวันและเวลาส่วนตัว

14.00 – 16.00

เวลาสำรองสำหรับผู้ที่ต้องการปรึกษาปัญหาส่วนตัว

     7. การเตรียมรับภาวะฉุกเฉินขณะเข้าแค้มป์

ผู้ป่วยที่มาเข้าโปรแกรมนี้ส่วนหนึ่งเป็นผู้ป่วยหนัก บ้างทำผ่าตัดบายพาสมาแล้ว บ้างทำบอลลูนมาแล้วคนละครั้งสองครั้ง บ้างมีหัวใจล้มเหลวแค่เดินสองสามก้าวก็หอบหรือเจ็บหน้าอกแล้ว บ้างรอเปลี่ยนหัวใจอยู่ บ้างเพิ่งเป็นอัมพาตมา ความเสี่ยงที่จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันหรือหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันหรืออัมพาตเฉียบพลันมีอยู่ตลอดเวลาแม้กระทั่งขณะนั่งหรือนอนอยู่เฉยๆ ความเสี่ยงนี้ผู้ป่วยทุกคนต้องยอมรับว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ตามโรคของตัวเอง แต่ตัวหมอสันต์เองซึ่งเป็นหมอผ่าตัดหัวใจมาก่อนก็ไม่ประมาทในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย ได้เตรียมการด้านความปลอดภัยขณะเข้าแค้มป์ทุกครั้งรวมไปถึงการมีพยาบาลฉุกเฉินพร้อมอยู่ในศูนย์ตลอดเวลา มีอุปกรณ์เครื่องมือเพื่อรับมือกับภาวะฉุกเฉินได้ รวมทั้งขีดความสามารถที่จะเปิดหลอดเลือดให้น้ำเกลือหรือยาทางหลอดเลือดดำได้ทันที ขีดความสามารถที่จะใส่ท่อช่วยหายใจและช่วยการหายใจในภาวะฉุกเฉิน นอกจากนั้นยังมีขีดความสามารถที่จะช็อกไฟฟ้าหัวใจในกรณีฉุกเฉิน การประสานงานกับระบบรถฉุกเฉินและโรงพยาบาลใกล้เคียง และการมีพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติอยู่ประจำในแค้มป์ 24 ชั่วโมง มีแพทย์ที่ตามให้เข้ามาดูแลผู้ป่วยได้ทันทีตลอดการฝึกอบรม

ทั้งนี้อย่าได้เข้าใจผิดว่าการจะปรับวิถีชีวิตเพื่อพลิกผันโรคให้ตัวเองนั้นเป็นเรื่องอันตราย ความเป็นจริงไม่ใช่เลย การปรับการใช้ชีวิตทั้งอาหารและการออกกำลังกายเพื่อดูแลตัวเองให้ได้นั้นเป็นกลไกรักษาโรคตามธรรมชาติ มีอันตรายน้อยกว่าการรักษาด้วยยา บอลลูน หรือผ่าตัดในโรงพยาบาลอย่างเทียบกันไม่ได้ แต่ทางแค้มป์เตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยในแค้มป์ให้มากเข้าไว้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยหนักซึ่งเป็นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากการเข้าแค้มป์ มาเข้าแค้มป์ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ปลอดภัยเท่าอยู่ในบ้านตัวเองเท่านั้น

     8. การลงทะเบียนเข้าแค้มป์ RDBY

วิธีลงทะเบียนเข้าเรียน

1. โทรศัพท์ลงทะเบียนกับเวลเนสวีแคร์ที่หมายเลข  063 6394003 หรือ 02 038 5115
2. ลงทะเบียนทางไลน์ @wellnesswecare
3. ลงทะเบียนทางอีเมล host@wellnesswecare.com
ในทุกกรณีเมื่อได้ที่นั่งแล้ว จะต้องโอนเงินค่าลงทะเบียนเข้าบัญชี ธนาคารกสิกรไทย สาขาสมุทรปราการ ชื่อบัญชี  บริษัท เมก้า วี แคร์ จำกัด เลขที่บัญชี 007-368-5478 ภายใน 24 ชั่วโมงหลังได้สำรองที่เรียนแล้ว หากพ้น 24 ชั่วโมงไปแล้วถือว่าสละสิทธิ์ ที่นั่งที่สำรองไว้ให้ท่านจะถูกจัดสรรไปให้ผู้อื่นโดยอัตโนม้ติ

     9. การตรวจสอบตารางแค้มป์

สามารถตรวจสอบตารางแค้มป์ล่วงหน้าได้โดยวิธีสอบถามทางโทรศัพท์ที่หมายเลข  0636394003 หรือทางไลน์ @wellnesswecare หรือทางอีเมล host@wellnesswecare.com

   10. ราคาค่าลงทะเบียน

ค่าลงทะเบียนสำหรับตลอดคอร์ส (เข้าแค้มป์ 5 วัน 4 คืน ติดตามทางเฮลท์แดชบอร์ด อย่างน้อยหนึ่งปี) คนละ 25,000 บาท ค่าลงทะเบียนนี้รวมถึงใช้จ่ายในการเข้าแค้มป์ ค่าอาหารวันละ 3 มื้อ ค่าที่พัก 5 วัน 4 คืน การติดตามทางเฮลท์ แดชบอร์ด นานหนึ่งปี ค่าวิทยากร ค่าอุปกรณ์การฝึกทักษะ ค่าตรวจร่างกายโดยแพทย์ ค่าเจาะเลือดฉุกเฉินกรณีที่แพทย์สั่งให้เจาะ ค่าใช้จ่ายในการติดตามโดยแพทย์และพยาบาลทางเฮลท์แดชบอร์ดหลังจากออกจากแค้มป์กลับไปอยู่บ้านแล้ว
แต่ราคานี้ไม่ครอบคลุมถึงค่าเดินทางไปและกลับระหว่างบ้านของท่านกับเวลเนสวีแคร์ (ผู้ป่วยไปเองกลับเอง) ไม่ครอบคลุมค่ายาและค่ารักษาพยาบาลส่วนบุคคลของแต่ละท่าน

กรณีเป็นผู้ติดตาม ผู้ดูแลหรือ caregiver จะต้องลงทะเบียนเป็นผู้ติดตามซึ่งมีค่าลงทะเบียนคนละ 15,000 บาท ราคานี้รวมค่ากิน ค่าอยู่ ค่าที่พักห้องเดียวกับผู้ป่วยของตน ค่าเข้าร่วมเรียนและร่วมทำกิจกรรมทุกอย่างในแค้มป์ แต่ไม่ได้เข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจร่างกายและไม่ได้ร้บการประเมินปัญหาสุขภาพของตนโดยแพทย์ และไม่มีรายงานสรุปปัญหาสุขภาพโดยแพทย์ในเฮลท์แดชบอร์ด

     11. ระยะก่อนเข้าแค้มป์ (Pre-camping preparation) 

ผู้ป่วยทุกท่านที่ได้รับเข้าโปรแกรมแล้ว จะต้องจัดส่งข้อมูลโรคของตนมาให้แพทย์วิเคราะห์ล่วงหน้าก่อนวันมาแค้มป์ โดยส่งข้อมูลมาทางคุณสายชล (โอ๋) พยาบาลประจำแค้มป์ ที่อีเมล totenmophph@gmail.com โดยอย่างน้อยต้องส่งข้อมูลพื้นฐานซึ่งจำเป็นต้องใช้ต่อไปนี้มา คือ

(1) ชื่อ นามสกุล
(2) วันเดือนปีเกิด
(3) เพศ
(4) เบอร์โทรศัพท์มือถือ
(5) อีเมลแอดเดรส
(6) เลขบัตรประจำตัวประชาชน
(7) ส่วนสูง
(8) น้ำหนัก
(9) ความดันเลือด
(10) น้ำตาลในเลือด (FBS) หรือน้ำตาลสะสม (HbA1C)
(11) ไขมันเลว (LDL)
(12) ตัวชี้วัดการทำงานของไต (eGFR หรือ Cr)
(13) เอ็นไซม์แสดงการทำงานของตับ (SGPT)
(14) การวินิจฉัย (ชื่อ) โรคทุกโรคที่รักษาอยู่ในปัจจบัน
(15) อาการป่วยทุกอาการที่มีในปัจจุบัน
(16) ยาทุกตัวที่กินอยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งขนาด และวิธีกิน
(17) ผลการตรวจจำเพาะต่างๆ ถ้ามี เช่น ผลการตรวจเลือดอื่นๆ ภาพเอ็กซเรย์ปอด ผลตรวจสมรรถนะหัวใจ (EST) คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ผลการตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยคอมพิวเตอร์ (CTA) ผลการตรวจสวนหัวใจ (CAG) ผลการตรวจผลการตรวจ CT สมอง โดยกรณีเป็นภาพหากส่งเป็นไฟล์ดิจิตอลได้ก็จะเป็นพระคุณ แต่หากส่งไม่ได้จะเอาโทรศัพท์ถ่ายแล้วส่งไฟล์รูปมาก็ได้ กรณีเป็นใบรายงานผลให้เอาโทรศัพท์ถ่ายใบรายงานแล้วส่งไฟล์มาก็ได้
(18) คำบอกเล่าลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน เน้นที่
– การบรรยายลักษณะอาหารที่กินแต่ละมื้อทุกมื้อ
– การออกกำลังกายที่ทำในแต่ละวัน
– วิธีจัดการความเครียดที่ใช้อยู่ประจำ
– ความกังวล (concern) ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ หากมีอยู่ในใจก็ให้แจ้งมาให้หมอสันต์ทราบด้วย

     12. สถานที่เรียน

คือ เวลเนสวีแคร์เซ็นตเตอร์ (มวกเหล็ก-เขาใหญ่) ตามแผนที่ข้างล่างนี้

(รายละเอียดอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความจำเป็นและความต้องการของผู้เรียนแต่ละแค้มป์)

13. วันเวลาสำหรับแค้มป์ RDBY-20

วันที่ 10-14 มีค. 65

14. จำนวนที่รับเข้าแค้มป์ RDBY-20

รับจำนวนจำกัด 15 คน

(นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)

[อ่านต่อ...]