30 ตุลาคม 2564

วิทยาศาสตร์ตาย ณ วันที่อัตตาเกิด

เพียงแค่งานวิจัยฟ้าทลายโจรรักษาโควิดเปรียบเทียบกับยาฟาวิพิราเวียร์กำลังเริ่มเดินหน้าไปกับผู้ป่วยไม่กี่สิบคนเท่านั้น กองเชียร์บล็อกหมอสันต์ก็เริ่มตั้งความคาดหวังที่จะเห็นชัยชนะของฟ้าทลายโจรกันเซ็งแซ่แล้ว นั่นไม่ใช่วิทยาศาสตร์นะครับ และการวิจัยที่มีผลลัพธ์สุดท้ายใส่กระเป๋ารอไว้แล้วก็ไม่ใช่การวิจัย นั่นมันเป็นอัตตา ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ และมีฝรั่งพูดไว้ว่า

“วิทยาศาสตร์ตาย ณ วันที่อัตตาเริ่มเกิด”

“Science ends when ego begins”

เพราะอัตตานั้นบิดเบือนวิทยาศาสตร์ได้ทั้งแบบเนียนๆและแบบดื้อๆ ถ้าไม่รู้จักอ่านเอา “ระหว่างบรรทัด” ก็เป็นอันเสร็จเขา ผมจะเล่าตัวอย่างให้ท่านฟังนะว่าอัตตามันทำร้ายวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร และมันมีผลเสียต่อผู้คนที่หลงเชื่ออย่างไร

 ตัวอย่างที่ 1. คือกำเนิดของยาต้านซึมเศร้าในกลุ่ม SSRI ซึ่งออกฤทธิ์เพิ่มสารซีโรโทนินในสมอง การที่งานวิจัยระบุว่ายานี้ใช้ต้านภาวะซึมเศร้าได้ผล เป็นเหตุให้เกิด “ทฤษฎี” ในทางการแพทย์ขึ้นว่าโรคซึมเศร้ามีปฐมเหตุจากระดับสารซีโรโทนินในสมองลดลง ซึ่งทฤษฎีนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจนทุกวันนี้ แม้จะมีหลักฐานใหม่ๆมาหักล้างแต่ความเชื่อนั้นก็ยังไม่เสื่อมคลาย ขณะที่สถิติที่เก็บตามหลังพบว่าในคนส่วนใหญ่ยานี้กลับไม่ค่อยได้ผล ถึงได้ผลก็ไม่นาน แล้วก็กลับไปเป็นเหมือนเดิมก่อนกินยา จนกระทั่งกลุ่มนักวิจัยที่ฮาร์วาร์ดได้ตีพิมพ์ผลวิจัยเปิดโปงว่ายาต้านซึมเศร้าตัวเอกขณะนั้น (ค.ศ. 2009) ซึ่งชื่อ fluoxetin (Prosac) แท้จริงแล้วได้ผลไม่แตกต่างจากยาหลอก คนไข้กินยาแล้วดีขึ้นเป็นเพราะผลจากการถูกหลอก (placebo effect) แค่นั้นแหละก็เกิดรายการด่าแหลกกันขึ้นระหว่างบริษัทยาผู้กำลังหามหมู นักวิจัยผู้เอาคานเข้ามาสอด และจิตแพทย์ผู้ซึ่งจะทำงานง่ายขึ้นถ้ามียาต้านซึมเศร้าเป็นเครื่องมือช่วย การโต้แย้งนี้ราดน้ำมันโดยสื่อมวลชน ประชาชนสนใจเรื่องนี้มากจนเกิดเป็นพลังกดดันให้ศาลต้องสั่งให้องค์การอาหารและยาหรือ FDA  เปิดเผยผลวิจัยทั้งหมดทั้งที่ตีพิมพ์และไม่ตีพิมพ์ให้กับทีมวิจัยของฮาร์วาร์ดเพื่อทำการวิเคราะห์เพิ่มเติมให้เห็นดำเห็นแดงว่าความจริงเป็นอย่างไร
     เขียนมาถึงตรงนี้ผมต้องเล่าแบ๊คกราวด์ทางกฎหมายประกอบเล็กน้อย คือกฎหมายอเมริกันบังคับว่าผู้ผลิตยาที่จะขอนำยาออกใช้ ต้องส่งข้อมูลวิจัยทุกรายการ ทั้งที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ และที่ไม่ได้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ ที่เกี่ยวกับยาตัวนั้น ให้ FDA ดูเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาเสมอ ข้อมูลที่ตีพิมพ์แล้วนั้นไม่มีปัญหา เพราะใครๆก็อ่านเอาได้จากวารสารการแพทย์ แต่ข้อมูลที่ไม่ได้ตีพิมพ์นั่นแหละ ที่ทีมวิจัยอยากได้มาดูภาพใหญ่ว่าจริงๆแล้วมันเป็นอย่างไร และศาลสั่งให้ FDA ปล่อยข้อมูลนี้ให้กับทีมวิจัย ทีมวิจัยจึงได้ทราบจากข้อมูลที่ FDA จำใจเปิดเผยให้ว่าบริษัทยาได้ส่งผลวิจัยที่ไม่ได้ตีพิมพ์ให้กับ FDA จำนวนมากมายหลายรายการ และทุกรายการล้วนสรุปผลได้ว่ายาต้านซึมเศร้าไม่ได้ผล คือได้ผลไม่แตกต่างจากยาหลอก ภาษาวิจัยเรียกว่าเป็น negative randomized clinical trial หรือ negative RCT แต่บริษัทยาใช้วิธี “ซุกกิ้ง” คือจับข้อมูลพวกนี้ยัดลิ้นชักโดยไม่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ คงตีพิมพ์เฉพาะงานวิจัยที่มีผลสรุปว่าได้ผล (positive RCT)  และเมื่อเอาข้อมูลทั้งหมดมายำรวมกันแล้ววิเคราะห์ใหม่แบบเมตาอานาลัยซีสก็ยืนยันได้ว่ายาต้านซึมเศร้าได้ผลไม่แตกต่างจากยาหลอกในผู้ป่วยที่กินยาส่วนใหญ่ มีเฉพาะผู้ป่วยจำนวนน้อยที่มีอาการซึมเศร้าระดับมากๆเท่านั้นที่ยาต้านซึมเศร้าให้ผลดีกว่ายาหลอกเพียงเล็กน้อย

เมื่อทีมวิจัยของฮาร์วาร์ดตีพิมพ์ผลนี้ออกมา พวกสื่อมวลชนก็ตามจี้ถึงบริษัทยา ว่าเฮ้..ยูทำแบบนี้มันไม่ถูกต้องด้วยจริยธรรมหรือเปล่า ทำไมยูไม่ตีพิมพ์ผลวิจัยส่วนที่บอกว่ายาไม่ได้ผลละ พวกบริษัทยาก็พากันปิดปากเงียบ แต่ก็มีบางคนที่ให้สัมภาษณ์ว่า
     “…สิ่งที่บริษัททำไปนั้นชอบด้วยศีลธรรมและกฎหมายทุกประการ การที่บริษัทไม่ตีพิมพ์ผลวิจัยที่เป็น negative RCT นั้นเพราะว่างานวิจัยเหล่านั้นมีข้อบกพร่องในกระบวนการวิจัย..”     (แหม..เล่าถึงตรงนี้ผมอดคันปากไม่ได้ ขอแจมนิดหนึ่งในฐานะที่เป็นคนทำวิจัยเองอยู่ คือระเบียบวิธีวิจัยหรือ research methodology นี้เป็นอะไรที่นักวิจัยถือว่าสำคัญสูงสุด เพราะหากออกแบบไม่ดีงานที่ทำมาแทบตายก็จะไร้ค่า แล้วบริษัทยาที่ลงทุนทำวิจัยทีหนึ่งเป็นร้อยๆล้านบาทเนี่ย เขาจะปล่อยให้นักวิจัยระดับซังกะบ๊วยมาออกแบบ methodology สั่วๆจนตีพิมพ์ไม่ได้ ทำให้เงินที่ลงไปเป็นร้อยๆล้านต้องสูญเปล่าหรือไม่… แหะ แหะ ท่านตรองดูเอาเอง)     

ทางด้าน FDA นั้นก็ไม่พ้น ถูกนักข่าวตามเอาไมโครโฟนยัดปากเหมือนกัน แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นข้าราชการ พนันร้อยเอาหนึ่งว่าสื่อมวลชนกินพวกเขาไม่ลงหรอก ตัวแทนของ FDA ได้ให้สัมภาษณ์สื่อว่า     “…ตามกฎหมาย การจะอนุมัติให้นำยาใดออกใช้ ต้องมีงานวิจัยว่าได้ผล (positive RCT) อย่างน้อยสองงานขึ้นไป ก็อนุมัติได้ ทาง FDA อนุมัติใช้ไปตามตัวบทนี้ ส่วนประเด็นที่ว่าข้อมูลที่ส่งมามี negative RCT จำนวนมากนั้น FDA ไม่ได้ใช้ประกอบการพิจารณา เพราะตัวบทกฎหมายไม่ได้บังคับให้ใช้ข้อมูล negative RCT มาประกอบการพิจารณา”     เห็นไหมครับ ว่าพวกข้าราชการมืออาชีพเขามีวิธีชิ่งที่สวยงามเพียงใด

กล่าวโดยสรุปความโลภอันเกิดจากอัตตาของผู้ทำยาขายได้บิดเบือนวิทยาศาสตร์ทำให้หมอและคนไข้ให้น้ำหนักแก่ยาต้านซึมเศร้า (อย่างน้อยก็ยา Prosac ในขณะนั้น) ว่าได้ผลมากเกินความเป็นจริง แม้ต่อมาเรื่องจะแดงขึ้นว่าทั้งหมดนั้นเป็นการจงใจให้ข้อมูลส่วนเดียวเพื่อขายของ แต่ความเชื่อนั้นติดตลาดเสียแล้ว ใครก็เปลี่ยนความเชื่อนั้นยากเสียแล้ว

ตัวอย่างที่ 2. ก็คือเรื่องราวของยารักษาโรคโควิดที่กำลังมาแรงสดๆร้อนๆนี่เอง คือยา Molnupiravir ที่บริษัทผู้ผลิตแถลงข่าวในลักษณะ “การวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างการวิจัย หรือ interim analysis” (ไม่ใช่ผลวิจัยที่ตีพิมพ์แล้ว) ว่ายาโมลนูพิราเวียร์นี้มันดีเลิศประเสริฐศรีเหลือเกิน ไม่ต้องมีวัคซีนโควิดก็ได้ เพราะการใช้ยานี้ในระยะก่อนเข้ารพ.มีอัตราตายเพียง 7.3% ขณะที่กลุ่มใช้ยาหลอกตาย 14.1% ฟังดูหรูมากใช่ไหมครับถ้าท่านไม่รู้วิธีอ่านไต๋พวกชอบทำงานวิจัยหลอกคนเอาจากความนัยในระหว่างบรรทัด

ผมจะลองอ่านระหว่างบรรทัดให้ท่านฟังนะ

1.. อะไรนะ ตายต่างกันตั้งเท่าตัวตั้งแต่ระยะอยู่นอกโรงพยาบาล มันจะเป็นไปได้อย่างไร ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริง งานวิจัยนี้ต้องถูกสั่งให้ยุติกลางคันก่อนหน้านี้แล้วเนื่องจากมีความแตกต่างกันถึงตายมากกว่ากันชัดเจนจะต้องเลิกวิจัยเพื่อปกป้องกลุ่มที่กินยาหลอก คณะกรรมการจริยธรรมคงไม่ซื่อบื้อปล่อยให้งานวิจัยทำต่อไปจนจบหรอก มันต้องมีอะไรซ่อนอยู่มากกว่าข้อมูลแค่นี้

2.. ด้วยความสงสัย จึงมีผู้ตามไปดูการวิจัยที่ลงทะเบียนไว้ที่ ClinicalTrial.gov (ผมขอเล่าแทรกตรงนี้นิดหนึ่งว่าคือในโลกใบนี้ใครจะทำวิจัยอะไรระดับจะให้มีผลต่อมนุษย์ในวงกว้างต้องส่งโครงร่างและระเบียบวิธีการวิจัยไปลงทะเบียนไว้ที่ ClinicalTrial.gov เสียตั้งแต่ก่อนเริ่มการวิจัย) จึงได้พบว่างานวิจัยนี้ลงทะเบียนรับผู้ป่วยไว้ 1450 คน แต่ในการแถลงข่าวครั้งนี้มีแถลงว่ามีผู้ป่วยรวมทั้งหมดเพียง 775 คน อ้าว.. แล้วที่เหลือหายไปไหน

3.. เมื่ออ่านใน ClinicalTrial.gov ให้ละเอียด ก็พบว่ามันไปโผล่ที่อีกงานวิจัยหนึ่ง โดยคณะวิจัยคณะเดียวกัน สนับสนุนโดยบริษัทยาบริษัทเดียวกัน ชื่อ “งานวิจัยประเมินความปลอดภัยของยาโมลนูพิราเวียร์เทียบกับยาหลอกกรณีผู้ป่วยรับไว้ในโรงพยาบาล” เมื่อตามอ่านรายละเอียดก็พบว่างานวิจัยอันที่สองนี้ลงทะเบียนผู้ป่วยไว้ 1300 คน แต่พอทำวิจัยไปได้แค่สามร้อยกว่าคนงานวิจัยนี้ก็ถูกยกเลิกกลางคันโดยให้เหตุผลประกอบการยกเลิกว่าเป็น “เหตุผลทางธุรกิจ (Business reasons)” โดยที่ในการแถลงข่าวเรื่องยาโมลนูพิราเวียร์ที่ว่าดีจนดังระเบิดนี้ บริษัทไม่ได้พูดถึงงานวิจัยที่สองที่ถูกยกเลิกนี้ซักคำ และแน่นอนว่ามีแต่อำนาจศาลเท่านั้นที่จะสั่งให้ FDA เปิดเผยข้อมูลส่วนนี้ได้

กล่าวโดยสรุป โมลนูพิราเวียร์นี้ ยังไม่ได้สรุปผลวิจัยสุดท้ายแสดงไว้ใน preprint ด้วยซ้ำ อย่าว่าแต่จะได้ตีพิมพ์ผลวิจัยในวารสารการแพทย์แล้วเลย แต่การออกข่าวในรูปของการวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างการวิจัยได้ทำอย่างมีชั้นเชิงจนยาดังระเบิดต้องจองซื้อกันเซ็งแซ่ แต่เมื่อดูข้อมูลในระหว่างบรรทัดแล้ว ของจริงจะเป็นอย่างไรต่อไป ฮี่ ฮี่..มันก็บ่แน่ดอกนาย

ผมได้ข่าวว่ารัฐบาลไทยกำลังจะสนับสนุนการวิจัยยาโมลนูพิราเวียร์ในคนไทย โดยอาศัยเครื่องมือหลักของกรมการแพทย์คือเขียนยานี้ลงไปใน practice guideline หรือคำแนะนำมาตรฐานการรักษา (แปลไทยเป็นไทยว่าให้หมอในสังกัดทำตามนี้ แล้วจะไม่มีเรื่อง) ซึ่งผมเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ประเทศเราจะทำวิจัยยานี้ซ้ำ เพราะจะได้เห็นดำเห็นแดงกัน และถ้ารัฐบาลใจกว้างพอ เปิดให้งานวิจัยนี้มีสักห้าแขน (research arms) สิครับ เอาให้หายข้องใจกันไปเลย คือ (1) โมลนูพิราเวียร์ (2) ฟาวิพิราเวียร์ (3) ฟ้าทลายโจร (4) ไอเวอร์เมคติน (5) ยาหลอก เพราะรัฐบาลมีคนไข้ในมือทั่วประเทศทุกจังหวัดจำนวนมากเกินพออยู่แล้ว (เพราะธรรมชาติของโรคนี้พอภาคกลางซาก็ไปโผล่ที่ภาคใต้ เป็นต้น) มี practice guideline เป็นเครื่องมือศักดิ์สิทธิ์ไม่มีหมอคนไหนกล้าหือ เป็นหลักประกันว่าจะทำวิจัยได้สำเร็จแน่ๆ ลองสนับสนุนวิทยาศาสตร์แบบปลอดอัตตาหรือผลประโยชน์แอบแฝงสักครั้งสิครับ แล้วหมอสันต์จะเชียร์รัฐบาลนี้ให้สุดลิ่ม

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1.       Kirsch I, Sapirstein G. Listening to Prozac but hearing placebo: A meta-analysis of antidepressant medication. Prevention and Treatment. Prevention and Treatment 1 (2): Article 0002a. doi:10.1037/1522-3736.1.1.12a. Archived from the original on 1998-08-15.2.

2. Kirsch I, Deacon BJ, Huedo-Medina TB, Scoboria A, Moore TJ, Johnson BT. “Initial severity and antidepressant benefits: A meta-analysis of data submitted to the Food and Drug Administration”. PLoS Medicine 5 (2):e45. doi:10.1371/journal.pmed.0050045. PMC2253608. PMID18303940.3.

3. Kirsch, Irving (2010). The Emperor’s New Drugs: Exploding the Antidepressant Myth. Basic Books. ISBN978-0-465-02016-4.

4. CliniclaTrial.gov. Efficacy and safety of Molupiravir (MK-4482) in hospitalized adult participants with COVID-19 (MK-4482-001). Accessed on October 30, 2021 at https://clinicaltrials.gov/ct2/show/NCT04575584

[อ่านต่อ...]

29 ตุลาคม 2564

หมอสันต์ขอปิดรับบริจาคเงินช่วยทำวิจัยฟ้าทลายโจรเพราะได้เงินเกินมาเยอะแยะแล้ว

เมื่อสัปดาห์ก่อนผมประกาศขอให้แฟนๆบล็อกช่วยบริจาคเงินสนับสนุนการวิจัยฟ้าทลายโจร โดยตั้งงบประมาณรวมไว้ที่ 1,872,000 บาท ตอนนี้ผ่านไปแล้วหนึ่งสัปดาห์ปรากฎว่าแฟนๆได้ช่วยบริจาคกันมานับรวมถึงวันที่ 28 ตค. 64 เป็นเงิน 2,768,319 บาท ซึ่งเกินเป้าที่ตั้งไว้ไปเยอะแยะมากมายแล้ว จึงขอประกาศงดรับเงินบริจาคตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

หมอสันต์สารภาพว่าอันที่จริงหากขยันดูบัญชีย้อนหลังเงินมันครบตั้งแต่สามสี่วันแรกที่ประกาศไปแล้ว แต่ตัวหมอสันต์เองมัวไปรับจ๊อบเฝ้ารถบัคโฮขุดลอกคูคลองในหมู่บ้านเสียเพลินไม่ได้ดู หิ..หิ จึงมีเงินเกินมาเป็นล้าน ขออำไพ ทั้งหมดเป็นความผิดพลาดของหมอสันต์เอง จะคืนเงินให้ท่านไปก็ใช่ที่เพราะของอย่างนี้มันเป็นไปตามภาษิตที่ว่า “อ้อยเข้าปากช้าง” ไปเสียแล้ว ผมจึงจะขออุ๊บอิ๊บอั๊บเก็บไว้เป็นกองทุนการวิจัยวางทิ้งไว้ในบัญชีโรงพยาบาลมวกเหล็กไปก่อน เผื่อว่าเมื่องานวิจัยเรื่องฟ้าทลายโจรนี้จบลงแล้วจะได้ทำวิจัยเรื่องอื่นในแนวทางที่จะช่วยให้ประชาชนทั่วไปดูแลสุขภาพตนเองด้วยตนเองได้ดียิ่งๆขึ้นไป

ในโอกาสนี้หมอสันต์ขอขอบพระคุณแฟนๆบล็อกทุกๆท่านเป็นอย่างยิ่ง หรือเป็นอย่างแรง ที่ได้ช่วยกันคนละไม้คนละมือจนได้เงินมาทำวิจัยครบในเวลารวดเร็ว จากนี้ไปก็เป็นหน้าที่ของหมอสันต์และคณะผู้วิจัยจะลงมือลุยถั่วทำวิจัยที่หน้างานจนได้ผู้ป่วยทุกกลุ่มครบ มีปัญหาอุปสรรคอะไรก็จะค่อยๆแก้ไขกันไปทีละช็อต ทีละช็อต เมื่องานวิจัยจบแล้วได้ผลเป็นอย่างไรก็จะส่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์และจะสรุปผลวิจัยหามาเล่าให้ท่านฟัง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

28 ตุลาคม 2564

กำลังเป็นทุกข์กับการดูแลคุณแม่

เรียนคุณหมอสันต์

หนูกำลังมีความทุกข์อยู่กับการดูแลคุณแม่อายุ 84 ปี หนูเครียดมาก คุณพ่อเสียไปแล้วสองปี คุณแม่อยู่บ้านคนเดียวแต่ก็อยู่ในบริเวณเดียวกันกับบ้านของหนู หนูไปดูแลคุณแม่ทุกวัน คุณแม่ซึมเศร้า สมองเสื่อมจำอะไรไม่ได้ เอาแต่คิดถึงพ่อและบ่นอยากตาย พาไปหาจิตแพทย์ได้ยามาก็ไม่ทาน หนูก็ต้องมาเหนื่อยกับการบังคับให้คุณแม่ทานยา ตื่นนอนก็ไม่เป็นเวลา บางวันกว่าจะตื่นก็สิบโมงสิบเอ็ดโมง เสื้อผ้าไม่เคยเปลี่ยน ต้องแอบเอาของที่ซักแล้วไปยัดไว้ให้แทนผ้าที่ชอบใช้ซ้ำ บางครั้งก็แอบเห็นมีคราบอุจจาระเปื้อนเสื้อผ้า ยังอาบน้ำเข้าห้องน้ำเองได้ ชอบออกไปนอกบ้านไปคุยกับชาวบ้าน ให้สวมหน้ากากก็ไม่ยอมสวม จนหนูต้องกักตัวไว้ ท่านก็ยิ่งซึมเศร้าหนัก ให้ทำกิจกรรมฝึกสมองก็ไม่ทำ ให้ออกกำลังกายก็ไม่ออก การทานอาหารก็ลดลงไปมาก หนูดูแลคุณแม่อยู่กับคุณแม่ทุกวันจนตัวหนูเองก็พลอยดูดซับความซึมเศร้าไปด้วยและเครียดมากๆ อยากออกไปต่างจังหวัดบ้างแต่ชวนคุณแม่ก็ไม่ยอมไป จะเอาแต่นั่งคิดถึงคุณพ่อและร้องไห้บ่นอยากตายเท่านั้น

หนูควรจะทำอย่างไรดีคะคุณหมอ

…………………………………………………………………………….

ตอบครับ

หลักคิดในการดูแลผู้สูงอายุของผมมาจากประสบการณ์ชีวิตตัวเอง บวกการได้เห็นคนไข้ของผมซึ่งที่เป็นคนสูงอายุ บวกกับการได้เห็นคนป่วยระยะสุดท้ายของชีวิตมาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นหลักคิดของผมอาจจะไม่เหมือนหลักทั่ว ๆไปที่เขาพูดกันบ่อยๆว่าการดูแลผู้สูงอายุต้องมีสถานที่ที่ดียังงั้นยังงี้ ต้องมีเงิน ต้องโฟคัสเรื่องสุขภาพ ต้องสะอาด ต้องมีแผนกิจกรรม สิ่งเหล่านั้นจริงๆแล้วผมไม่ได้สนใจ แต่ผมสนใจไม่กี่ประเด็น คือ

ประเด็นที่ 1. คุณภาพชีวิตและสุขภาพของผู้ดูแล (care giver)

โปรดสังเกตว่าเราคุยเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ แต่ผมเอาคุณภาพชีวิตของผู้ดูแลขึ้นมาคุยก่อน เพราะมันสำคัญที่สุด เพราะหากผู้ดูแลไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็อย่าไปหวังว่าผู้สูงอายุที่เป็นผู้รับใบบุญจากเธอจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ความรับผิดชอบลำดับที่หนึ่งของผู้ดูแลจึงเป็นการดูแลตนเองให้มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่แข็งแรงดีก่อน เพื่อที่ตนจะได้มีพลังไปดูแลคนสูงอายุหรือคนป่วยเรื้อรังที่เป็นผู้ต้องพึ่งพาตัวเราได้ คุณควรจะมีการทำตารางประจำวันสำหรับตนเอง ซึ่งอย่างน้อยต้องรวมถึงเวลาพักส่วนตัวโดยไม่ได้อยู่กับคุณแม่ด้วย เพื่อจะได้ไปผ่อนคลายหรือออกกำลังกายและฝึกจิตของตัวเอง ในการดูแลก็ควรรู้จักใช้ยุทธวิธีที่พอเหมาะพอดี ไม่ถอยห่างจนผู้สูงวัยถดถอย ไม่ดูแลหรือเอาใจผู้สูงวัยมากไปจนกลายเป็นการเข้าไปครอบงำให้คุณภาพชีวิตผู้สูงวัยเสียไป โดยต้องเข้าใจธรรมชาติของผู้สูงวัยว่าย่อมจะต้องมีความเสื่อมของร่างกายและสมองเป็นธรรมดา เป็นต้นว่า เคยน่ารักกลายเป็นไม่น่ารัก อารมณ์ขึ้นๆลงๆ หงุดหงิด โกรธง่าย เอาแต่ใจตัวเองแบบไร้เหตุผล เรียกร้องความสนใจด้วยวิธีแหย่ให้โกรธ ทำให้แค้น หรือชวนทะเลาะ หรือที่แย่กว่านั้นคือติดผู้ดูแลเป็นตังเมและชอบกดดันผู้ดูแลให้อยู่รับใช้ตนเองไม่ให้ไปไหนห่าง ทั้งหมดนี้เป็นพฤติกรรมที่ผู้ดูแลต้องเรียนรู้ที่จะรับรู้แบบเฉยๆ หรือฝึกวิชาหูทวนลมให้บรรลุ ไม่ใส่ใจอะไรว่าเป็นเรื่องซีเรียส ปลงหรือปล่อยวางในเรื่องที่แก้ไขไม่ได้ ให้อภัย แผ่เมตตา ใช้สามัญสำนึกและอารมณ์ขันในการทำงานดูแล ไม่ตะโกนหรือตะคอกโต้ตอบ แต่พูดให้ช้าๆชัดๆ พูดตรงหน้าให้ท่านมองเห็นเราเวลาพูด ตั้งใจพูด ขยันพูด หรือถ้าไม่ไหวจริงๆก็เดินหนีไปชั่วคราว

ประเด็นที่ 2. คุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย

ชีวิตที่มีคุณภาพสำหรับผู้สูงวัยคือชีวิตที่

1. มีที่พักนอนที่สะดวกสบายตามอัตภาพ ยิ่งได้มีโอกาสใช้วัยชราบั้นปลายในที่อยู่ของตัวเอง (age in place) อย่างคุณแม่ของคุณนี้ยิ่งเจ๋ง

2. มีอาหารที่มีคุณค่าตามวัยรับประทาน คืออาหารพืชเป็นหลักที่หลากหลาย หิวเมื่อไหร่ก็มีอาหารให้ทาน ไม่หิวไม่อยากทานก็ไม่มีใครมาบังคับให้ทานอาหาร

3. มีอิสระเสรีในการกำหนดกิจกรรมและวัตรปฏิบัติของตัวเองว่าวันไหนอยากทำอะไรก็ได้ทำ

4. ไม่มีใครมาบีบบังคับหรือคาดหวังกับตัวผู้สูงอายุเอง ไม่มีลูกสาวมากะเกณฑ์ว่าคุณแม่จะต้องทำตัวอย่างนั้น จะต้องทำตัวอย่างนี้ ห้ามทำอย่างนั้น ห้ามทำอย่างนี้

5. การสามารถอยู่ได้ตามลำพังด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งคนอื่น คือทำได้เองทั้งกิจจำเป็น (ADL) ห้าอย่าง ได้แก่ เดิน กิน ขับถ่าย อาบน้ำ แต่งตัว และกิจสำคัญ (IADL) เจ็ดอย่าง ได้แก่ อยู่คนเดียวได้โดยไม่เหงา, ไปไหนมาไหนเองได้, เตรียมอาหารกินเองได้, ไปจ่ายตลาดเองได้, ดูแลห้องหับของตัวเองได้, จัดการยาของตัวเองได้, จัดการเงินของตัวเองได้

6. การสามารถวางความคิดเป็น พาตัวเองออกจากสถานะการณ์อันเศร้าหมองในชีวิตซึ่งแท้จริงแล้วล้วนเป็นความคิด ออกมาใช้ชีวิตอย่างผู้สังเกตอย่างสงบเย็นและสร้างสรรค์ไปทีละลมหายใจได้ ไม่ทุกข์ไม่ร้อนกับอดีตหรืออนาคต อะไรผ่านเข้ามาก็ยอมรับได้หมดแบบชิลๆสบายๆ

คุณลองไล่เลียงดูซิ ว่าทั้งหกประการนี้ การดูแลข้อไหนของคุณไปทำให้คุณภาพชีวิตของท่านเสียไปหรือเปล่า การที่คุณขยันแวะไป visit ท่านทุกวันเอาอาหารไปให้ เก็บเสื้อผ้ามาซักให้นั้นเป็นสิ่งที่ประเสริฐ แต่การที่คุณไปบังคับท่านให้กินข้าว กินยา เปลี่ยนเสื้อผ้า ทำกิจกรรม ขณะเดียวกันก็ห้ามออกนอกบ้านไปไหนเพราะคุณเองกลัวโน่นกลัวนี่ คุณกำลังทำลายคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยอยู่นะ

ผมแนะให้คุณใจเย็นๆทบทวนสถานะการณ์ใหม่ และเปลี่ยนวิธีดูแลท่านเสียใหม่ คุณแค่ดูแลที่พักให้ จัดอาหารให้ จะทานจะไม่ทานก็สุดแล้วแต่ท่าน ที่เหลือปล่อยให้ท่านเป็นอิสระของท่าน ท่านจะทรงชุดเดิมทุกวันก็เรื่องของท่าน อย่าไปบังคับท่านให้ทำอะไร หรือห้ามไม่ให้ทำอะไร ปูนนี้แล้วท่านอยากทำอะไรให้ท่านทำ แม้หากท่านอยากสูบกัญชาขึ้นมาหากท่านมีปัญญาไปหามาสูบเองก็ให้ท่านสูบ ท่านอยากไปไหนหากท่านมีปัญญาไปของท่านเองก็ให้ท่านไป ปูนนี้แล้วอะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด คุณอย่าเอาความกลัวซึ่งเป็นเพียงความคิดในหัวของคุณไปจำกัดคุณภาพชีวิตของท่าน เพราะแท้จริงแล้วคุณต้องการให้ท่านมีคุณภาพชีวิตที่ดีในบั้นปลายไม่ใช่หรือ

และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ตัวคุณนั่นแหละควรจะฝึกทักษะการวางความคิด ฝึกถอยออกจากสถานะการณ์ในชีวิต มาอยู่กับความรู้ตัวทีละขณะๆ หายใจเข้าลึกๆ ยิ้ม หายใจออก ผ่อนคลาย พอคุณทำเป็นแล้วก็หาจังหวะชวนคุณแม่ทำบ้าง นี่จะเป็นประโยชน์กับคุณแม่อย่างเอนกอนันต์ และตัวคุณเองก็ควรจะฝึกหัด “ซ้อมตาย” ให้ชำนาญ สิ่งที่เหมือนการตายมากก็คือการที่เราหลับไปนี่ไง พอเราหลับจิตสำนึกหรือ consciousness ของเราจะดับวูบลงทันทีทันใด การตายก็เป็นแบบนั้น วิธีซ้อมตายก็คือตอนเข้านอนทุกคืนให้คุณบอกตัวเองว่าฉันจะตายละนะ อีกไม่กี่นาทีฉันก็จะตายแล้ว พรุ่งนี้ไม่มีแล้ว แล้วก็นอนเฝ้าดูเหตุการณ์ ณ ขณะนั้นไปอย่างจดจ่อเพื่อเป็นสักขีพยานต่อความตายของคุณเอง ถ้าความคิดแล่นไปไหนก็ลากมันกลับมาเฝ้าดูเหตุการณ์ ณ ขณะนั้น ดูไปเพื่อให้เห็นว่าโมเมนต์ที่คุณหลับไปนั้นมันจะเป็นอย่างไร เพื่อให้คุ้นเคยกับการที่จิตสำนึกของเราต้องดับวูบไป มันจะทำให้ไม่กลัวตาย เมื่อไม่กลัวตายเสียอย่าง ความกลัวอย่างอื่นที่คุณมีอยู่เต็มหัวก็จะหมดไป พอคุณทำได้แล้วก็ไปชวนคุณแม่ซ้อมตายบ้าง ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น ถ้าคุณทำได้ตามที่ผมบอกมาทั้งหมดนี้ คุณก็เป็นสุดยอดลูกสาวได้แล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

27 ตุลาคม 2564

กินวิตามินดี.2 หรือ ดี.3 ดี

เรียน คุณหมอที่เคารพ
           ดิฉัน อายุ 48 ค่ะ หมดประจำเดือนแล้ว ตอนนี้กำลังหันมากิน plant base ค่ะ ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ยังติดรสชาติของเนื้อสัตว์บ้างค่ะ ดิฉัน เริ่มสนใจ หาวิตามินมาทาน เริ่มจาก B12 ค่ะ ปัจจุบันสนใจวิตามินเพิ่มค่ะ จึงใคร่ขอคำแนะนำจากคุณหมอดังนี้ค่ะ
           – วิตามิน D เราต้องเลือก D2 หรือ D3 ค่ะ , ทานอย่างไรค่ะคุณหมอ
          – ต้องเสริมวิตามินตัวไหนเพิ่มอีกไหมค่ะ

กราบขอบพระคุณ มา ณ ที่นี้ค่ะ

………………………………………………………………..

ตอบครับ

1.. ถามว่าตั้งใจจะเปลี่ยนอาหารจากเดิมมากินอาหารแบบ plant based คือกินแต่พืช แต่ก็ติดรสชาติของเนื้อสัตว์จะทำอย่างไรดี ตอบว่า USDA ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐที่ทำหน้าที่แนะนำประชาชนเรื่องอาหารการกินเขาก็มีปัญหาเดียวกัน จึงในคำแนะนำล่าสุด (2020-2025) USDA ได้แนะนำคอนเซ็พท์การเปลี่ยนอาหารแบบได้ผลไว้ 5 ประการดังนี้

ประการที่ 1. Nutrition density คือเลือกกินของที่มีคุณค่าต่อหน่วยแคลอรี่สูง หมายความว่าในหนึ่งแคลอรี่ที่ได้มา ขอให้เป็นของที่นำมาซึ่งของดีๆที่ร่างกายเราอยากได้แยะๆ ของดีๆที่ร่างกายเราอยากได้ไม่ใช่โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรทนะ งานวิจัยพบว่าคุณค่าทางอาหารที่คนขาดมากที่สุดคือ “กาก” รองลงมาคือวิตามินและแร่ธาตุ โดยเฉพาะแร่ธาตุเล็กแร่ธาตุน้อย ซึ่งทั้งหมดนี้มีในพืช ส่วนโปรตีนและแคลอรี่นั้นไม่มีใครขาดเพราะกินกันมากเกินขนาดจนเวิ่นเว้ออยู่แล้ว ยกเว้นคนเป็นโรคที่ทำให้กินอะไรไม่ได้

ประการที่ 2. Variety คือกินอาหารให้มีความหลากหลาย กินพืชก็กินหลายๆชนิด ไม่ใช่กินอยู่แต่ผักสองสามอย่างวันแล้ววันเล่า ความหลากหลายนี้ต้องหลายหลายทั้งในประเด็นสี รสชาติ และฤดูกาล

ประการที่ 3. Preference คือเริ่มด้วยของที่ชอบที่ชอบ อย่างเช่นชอบกินผัดสิ้นคิดโปะไข่ดาวก็เริ่มที่ผัดสิ้นคิดโปะไข่ดาวนี่แหละ แล้วค่อยมาคิดว่าทำอย่างไรให้มันมีพืชมากขึ้น มีไขมันน้อยลง เป็นต้น

ประการที่ 4. Culture คืออิงอาหารเชิงวัฒนธรรมที่เราคุ้นเคยมาตั้งแต่เกิด เพราะคนเรานี้ลึกลงไปในหัวนั้นมีความอยากกินของที่เคยกินมาแต่สมัยเด็กตลอดเวลา ไม่ว่าจะย้ายถิ่นที่อยู่ย้ายประเทศก็จะกินของที่เคยกินอยู่ไม่เลิก เช่นคนไทยก็ต้องกินอาหารไทยเช่นแกงเขียวหวาน ต้มยำกุ้ง ก็เริ่มมันที่ตรงอาหารไทยนี่แหละ แล้วทำให้มันมีพืชมากขึ้น มีไขมันน้อยลง

ประการที่ 5. Portion คือใส่อาหารมาในถ้วยหรือชามใบเล็กๆกระจุ๊กกระจิ๊กเหมือนของเซ่นเจ้า เพื่อจะได้ไม่กินมาก เพราะโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทุกวันนี้เกิดจากการที่คนเรากินอาหารมากเกินไป

ทั้งห้าประการนั้นคือยุทธวิธีใหม่ที่ USDA เสนอให้ผู้คนใช้ในการเปลี่ยนอาหาร ซึ่งผมเห็นว่าเข้าท่าดี คุณจะลองเอาไปใช้ดูบ้างก็ได้

2.. ถามว่าเมื่ออายุมากขึ้นต้องเสริมวิตามินตัวไหนเพิ่มบ้าง ตอบว่าวิตามินบี.12 เป็นตัวที่หนึ่งที่ผู้คนมักจะขาด ไม่ว่าจะเป็นคนชนิดกินพืชหรือกินสัตว์พออายุมากขึ้นแล้วระดับวิตามินบี.12 จะลดลง งานวิจัยคนสูงอายุอเมริกันซึ่งส่วนใหญ่กินเนื้อสัตว์พบว่าหนึ่งในสามมีระดับวิตามินบี.12 ต่ำว่าที่ควรมี ดังนั้นหากคุณชอบกินวิตามิน ผมแนะนำให้เสริมวิตามินบี.12 เป็นตัวแรก

อีกตัวหนึ่งที่คนทั่วโลกขาดรวมทั้งคนไทยด้วยก็คือวิตามินดี. ดังนั้นผมแนะนำให้เปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตไปอยู่กลางแจ้งออกแดดให้มากขึ้น ถัาทำไม่ได้หรือไม่อยากทำก็ค่อยเสริมวิตามินดี.

ส่วนวิตามินตัวอื่นนั้นยังไม่มีหลักฐานว่าคนที่ยังอ้าปากกินอาหารได้เองจะขาด คุณจะกินหรือไม่กินก็ได้ เอาแบบที่ชอบ

3.. ถามว่าถ้าจะกินวิตามินดี. จะกินดี.2 หรือ ดี.3 ดี ตอบว่าตัวไหนก็ได้ เพราะงานวิจัยพบว่าท้ายที่สุดมันก็จะไปเปลี่ยนเป็นตัวออกฤทธิ์หลักได้เท่าๆกัน สองตัวนี้ความแตกต่างมันอยู่ที่แหล่งที่มา คือวิตามินดี 2 (ergocalciferol) ในธรรมชาติร่างกายได้มาจากอาหารพืชจำพวกยีสต์ ส่วนวิตามินดี 3 (cholecalciferol) ร่างกายได้จากสองทางคือ ทางที่ 1 จากแสงแดดซึ่งเป็นแหล่งที่มาที่ใหญ่ที่สุด ทางที่ 2. ได้จากอาหาร ทั้งนี้มีอาหารไม่กี่ชนิดที่มีวิตามินดี เช่น น้ำมันตับปลาค็อด ปลาซาลมอน เห็ดตากแดด เป็นต้น

ทั้งวิตามินดี 2 และวิตามินดี 3 ต่างก็ถูกร่างกายเปลี่ยนไปอีกสองขั้นตอน คือ

ขั้นตอนที่ 1 เปลี่ยนไปเป็น ไฮดร๊อกซีวิตามินดี. หรือ 25(OH)D ที่ตับ ขั้นตอนที่ 2 คือเปลี่ยนไฮดร๊อกซี่วิตามินดี ไปเป็นไดไฮดร๊อกซี่วิตามินดี (หรือ 1,25-dihydroxyvitamin D หรือบางทีก็เรียกว่า 25(OH)2D หรือแคลซิทริโอล (calcitriol) โดยเปลี่ยนที่ไต ตัวไดไฮดร๊อกซี่วิตามินดีนี้เป็นสารออกฤทธิ์ตัวจริง

ความเชื่อที่ว่าวิตามินดี 2 มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนเป็นไฮดร๊อกซีวิตามินดีต่ำกว่าวิตามินดี 3 นั้นเป็นความเข้าใจผิด งานวิจัยเปรียบเทียบพิสูจน์ได้แล้วว่าทั้งวิตามินดี 2 และดี 3 เมื่อให้ในขนาดเท่ากัน จะเปลี่ยนไปเป็นไฮดร๊อกซี่วิตามินดีได้เท่ากัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Holick MF, Biancuzzo RM, Chen TC, et al. Vitamin D2 is as effective as vitamin D3 in maintaining circulating concentrations of 25-hydroxyvitamin D. J Clin Endocrinol Metab. Mar 2008;93(3):677-81

[อ่านต่อ...]

20 ตุลาคม 2564

นพ.สันต์ขอแฟนๆบริจาคเงินช่วยงานวิจัยฟ้าทะลายโจรรักษาโรคโควิด-19

บรรยากาศโควิดช่วงนี้ดูเหมือนจะซาลงไป แต่ในวงการแพทย์รู้ว่าระลอกใหม่กำลังก่อตัว เพราะมันเป็นธรรมชาติของโรคที่จะเป็นอย่างนี้ คนในวงการแพทย์ไม่มีใครนิ่งนอนใจหรือสบายใจกลับบ้านนอนหรอก ผมเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มุมมองของผมคือการขจัดโรคในระลอกใหม่นี้จะต้องแตกต่างจากเดิมคือต้องพุ่งเป้าไปที่การรีบฆ่าไวรัสทันทีที่ติดเชื้อหรือสงสัยว่าจะติดเชื้อเพื่อสกัดไม่ให้คนไปท่วมโรงพยาบาล ซึ่งอาวุธที่มีอยู่ในเมืองไทยตอนนี้ก็มีอยู่แค่สามตัว คือฟ้าทะลายโจร ไอเวอร์เมคติน และฟาวิพิราเวียร์ ทั้งสามตัวนี้ไม่รู้ตัวไหนดีกว่าตัวไหน ไอเวอร์เมคตินนั้นทางศิริราชกำลังทำวิจัยอยู่ ฟ้าทะลายโจรและฟาวิพิราเวียร์ยังไม่มีหลักฐานวิจัยสนับสนุนที่ชัดเจน ผมทั้งเชียร์ทั้งลุ้นให้มีการวิจัยยาสองตัวนี้แต่มันก็ไม่เกิด จึงชักชวนสมัครพรรคพวกที่เป็นแพทย์ เภสัช นักเทคนิคการแพทย์ พยาบาล และแพทย์แผนไทย ก่อเป็นทีมเพื่อทำวิจัยนี้เสียเอง เพื่อพิสูจน์ว่าฟ้าทะลายโจรกับฟาวิพิราเวียร์ ตัวไหนที่ได้ผล ถ้าได้ผลทั้งคู่ ตัวไหนดีกว่า ได้แกนนำทั้งหมด 14 คน แน่นอนว่าต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ช่วยงานอีกหลายสิบคนอยู่เบื้องหลัง มีผอ.รพ.มวกเหล็กเป็นหัวหน้า ผมเองก็ร่วมเป็นหนึ่งในคณะผู้วิจัยด้วย โดยจะทำวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ซึ่งเป็นหลักฐานทางการแพทย์ระดับสูงสุดที่จะทำได้ โดยตั้งชื่องานวิจัยนี้ไว้ว่า

“งานวิจัยเปรียบเทียบผลของฟ้าทะลายโจรและฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาโรคโควิด19”

ตอนนี้การทำงานได้มาถึงขั้นตอนที่เข็นโครงการวิจัยผ่านการอนุมัติของ “คณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน” ซึ่งเป็นด่านสำคัญที่สุดจนได้รับอนุมัติมาเรียบร้อยแล้ว และได้เริ่มลงมือทำวิจัยกับผู้ป่วยตัวเป็นๆไปแล้วในวันนี้ หมอสันต์เต็มร้อยกับงานนี้ กะว่าจะเอาให้เสร็จก่อนสิ้นปี คือหวังว่าจะเสร็จก่อนที่คลื่นลูกใหญ่ของโควิดคลื่นต่อไปจะมา

งานวิจัยนี้จะใช้อาสาสมัครที่เป็นผู้ป่วยโรคโควิดแน่นอนแล้วจำนวน 234 คน แบ่งเป็นสามกลุ่ม กลุ่มละ 78 คน คือ กลุ่มที่ 1. รักษาด้วยผงฟ้าทะลายโจรส่วนเหนือดิน กลุ่มที่ 2. รักษาด้วยผงฟ้าทะลายโจรเฉพาะส่วนใบ กลุ่มที่ 3. รักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ โดยใช้ตัววัดผลสามตัวคือ (1) อัตราการเกิดปอดอักเสบในภาพเอ็กซเรย์ (2) อัตราการเคลียร์ไวรัสออกจากตัวได้หมด (viral clearance) (3) อัตราการเปลี่ยนความรุนแรง(เขียวเหลืองแดง) ของโรค การวิจัยจะใช้เวลา 3 -6 เดือนขึ้นกับจำนวนผู้ป่วยที่อาสาสมัครเข้าร่วมการวิจัยว่าจะได้มาครบในเวลาเท่าใด

ผมรับหน้าเสื่อเป็นผู้หาเงินทุนมาสนับสนุนการวิจัยครั้งนี้ให้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง มีบริษัทยาเสนอตัวเป็นสปอนเซอร์เจ้าเดียวเหมาหมดแต่ผมปฏิเสธไปเพราะไม่อยากให้คนกังวลว่าสปอนเซอร์มีผลประโยชน์แอบแฝงในการวิจัยครั้งนี้ การจะไปตั้งต้นของบประมาณกับราชการก็ต้องใช้เวลาอีกเป็นปีและเขาอาจจะไม่ให้ จึงขอใช้วิธีรับบริจาคเงินจากคนทั่วไปแทน งานวิจัยนี้ตั้งวงเงินงบประมาณไว้ 8,000 บาทต่อหนึ่งคนของผู้ป่วยในกลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่จะเป็นค่าน้ำยา reagent ในการตรวจนับไวรัส (viral loading) ซึ่งต้องมีต้นทุนสูงถึง 7,650 บาทต่อคน ที่เหลืออีกเล็กน้อยก็เป็นค่าใช้จ่ายจิปาถะ งานวิจัยนี้ใช้ผู้ป่วย 234 คน งบประมาณรวมก็คือ 1,872,000 บาท

ที่เขียนบล็อกวันนี้ก็เพื่อขอการสนับสนุนจากแฟนๆบล็อกหมอสันต์ให้ช่วยกันลงขันบริจาคเงินช่วยการวิจัยนี้ คนละเล็กคนละน้อย เป็นร้อยเป็นพันได้ทั้งนั้น โดยโอนเงินบริจาคของท่านเข้าบัญชี ธนาคารกรุงไทย สาขามวกเหล็ก เลขบัญชี 6788706913 ชื่อบัญชี “บัญชีเงินบริจาคของโรงพยาบาลมวกเหล็ก” แล้วกรุณาแชร์สลิปมาที่ LineID ของผมชื่อ drsant ด้วยเพื่อผมจะได้ใช้จัดทำบัญชีผู้บริจาค ถ้ามีเวลาก็ช่วยเขียนเพิ่มในท้ายใบสลิปว่า “research” ก็จะยิ่งเป็นพระคุณ แต่ไม่มีเวลาเขียนก็ไม่เป็นไรเพราะยังไงผมก็จะติดตามนำมาใช้ในงานวิจัยนี้ทุกบาทแน่นอน หรือจะสะแกน QR Code ข้างล่างนี้ก็ได้ เรียกว่าเป็นแบบ e-donation ซึ่งเอาเป็นหลักฐานไปลดหย่อนภาษีได้สองเท่าด้วย ส่วนท่านที่บริจาคผ่านเลขบัญชีก็ขอใบลดภาษีได้โดยเขาเฟซบุ้คโรงพยาบาลมวกเหล็กแล้วส่งข้อความให้ชื่อและที่อยู่เขาไป หรือโทรศัพท์หาคุณกนกกาญจน์ 0860181350

และเพื่อเป็นการประเดิมหมอสันต์ใด้ “จ่อม” กระปุกในวันที่แจ้งข่าวนี้ 1 แสนบาทเอาเคล็ดไปเรียบร้อยแล้ว

บล็อกวันนี้เขียนขึ้นเพื่อขอความเมตตาจากแฟนๆบล็อกหมอสันต์ต่อคนไทยด้วยกันที่จะป่วยเป็นโรคโควิดในอนาคต โดยช่วยกันสนับสนุนงานวิจัยฟ้าทะลายโจรนี้ให้ทำได้สำเร็จ ความเมตตาของท่านถ้ามาในรูปของเงินก็จะสะดวกดีนะครับ หิ..หิ ในรูปแบบอื่นไม่ต้องก็ได้ อย่างเช่นฟ้าทะลายโจรนี่ก็มีพร้อมหมดแล้ว

จบข่าวการเปิดรับเงินบริจาคสนับสนุนการวิจัยฟ้าทะลายโจรเพียงเท่านี้

ข้างล่างนี้เป็นรายละเอียดการวิจัย งานวิจัยนี้เมื่อประกอบเข้ากับอีกงานวิจัยหนึ่งซึ่งจ่อคิวกำลังจะทำตามหลังกันมา (เปรียบเทียบฟ้าทลายโจรกับยาหลอกในการรักษาโควิด) ก็จะทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับฟ้าทลายโจรที่สมบูรณ์แบบครบถ้วนพอที่จะผลักดันให้ใช้ฟ้าทลายโจรเป็นมาตรฐานการรักษาโรคโควิดในระดับประเทศได้ และจะมีผลต่อเกษตรกรไทยผู้ปลูกฟ้าทลายโจรอย่างมหาศาล (โปรโตคอลนี้แค่แนบมาให้ท่านผู้สนใจดูเท่านั้น แต่เปลี่ยนแปลงรายละเอียดไม่ได้แล้วเพราะกก.จริยธรรมได้อนุมัติไปแล้ว)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

…………………………………………………

เอกสารหมายเลข 2.
1. ชื่อโครงการวิจัย (Research title)
งานวิจัยเปรียบเทียบผลของฟ้าทะลายโจรและฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาโรคโควิด19 ระยะเริ่มติดเชื้อ
Prospective randomized trial to compare using Andrographalispanticulata powder and extract,and Favipiravir in treatment of early COVID-19

2. ชื่อคณะผู้วิจัย (Investigators)
…..

3. ความสำคัญและที่มาของปัญหา (Research background)
เมื่อมีการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ได้มีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์และสมุนไพรฟ้าทะลายโจรรักษาโรคนี้อย่างกว้างขวาง โดยที่ยังไม่มีหลักฐานวิจัยระดับสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ยืนยันว่ายาทั้งสองมีประสิทธิผลในการรักษาโรคนี้เลย ผลวิจัยทบทวนวรรณกรรม (meta-analysis) ที่ทำกับงานวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ 9 รายการ [1] พบว่ายาฟาวิพิราเวียร์นอกจากการทำให้บรรเทาอาการในวันที่ 7 ของการรักษาได้ดีกว่ายาอื่นที่ใช้เป็นกลุ่มควบคุมแล้ว ยานี้ทำให้ไวรัสหมดจากตัว (viral clearance) ได้ไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม การใช้ออกซิเจนไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม อัตราย้ายเข้าไอซียู.และอัตราตายก็ไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม ในส่วนของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรนั้นยังไม่เคยมีงานวิจัยระดับRCT ที่ใช้ยานี้รักษาโรคโควิด-19 ตีพิมพ์ไว้เลย
ทั้งนี้การใช้ผงบดสมุนไพรฟ้าทะลายโจรรักษาโรคในปัจจุบันนิยมใช้ใน 2 รูปแบบ คือ (1) ผงบดจากส่วนเหนือดิน (arial part) ของฟ้าทลายโจร (2) ผงบดจากส่วนของใบของฟ้าทลายโจรเท่านั้นโดยที่ยังไม่ทราบว่าการใช้ทั้งสองวิธีนี้มีประสิทธิผลในการรักษาโรคแตกต่างกันหรือไม่

4. วัตถุประสงค์ของการวิจัย (Objectives)
เพื่อตอบคำถามว่า
1. ยาฟาวิพิราเวียร์ในขนาด 3600 มก.ในวันแรกและ 1600 มก.ในวันที่ 2-5 มีประสิทธิผลในการรักษาโรคโควิด-19 ระยะเริ่มติดเชื้อแตกต่างจากฟ้าทลายโจรในขนาด 180 มก.ต่อวันนาน 5 วันหรือไม่
2. ผงบดจากส่วนเหนือดินของฟ้าทะลายโจรมีประสิทธิผลในการรักษาโรคโรคโควิด-19 ระยะเริ่มติดเชื้อแตกต่างผงบดจากส่วนของใบในขนาดแอนโดรกราฟโฟไลด์ ที่เท่ากัน (180 มก.ต่อวัน 5 วัน) หรือไม่

5. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการวิจัย (Expected Benefits)
คำตอบที่ได้จากงานวิจัยนี้จะเป็นหลักฐานนำไปสู่การปรับปรุงแผนการรักษาโรคโควิด-19ระยะแรกเริ่มติดเชื้อ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์และฟ้าทะลายโจรให้ได้ประสิทธิผลสูงสุด

6. ทบทวนวรรณกรรมงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (Literature Review)
ในส่วนของฟาวิพิราเวียร์ยานี้เป็นยาต้านไวรัสที่ออกฤทธิ์ยังยั้งการแบ่งตัวของไวรัสผ่านการระงับเอ็นไซม์ RNA polymerase ผลิตขึ้นที่ญี่ปุ่นเพื่อใช้รักษาไข้หวัดใหญ่ในปีค.ศ. 2014 ต่อมาเมื่อมีการระบาดของโรคโควิด-19 ยานี้ถูกนำมาใช้รักษาโรคนี้โดยมีผลวิจัยที่บ้างบ่งชี้ว่ามีประสิทธิผลบ้างบ่งชี้ว่าไม่มีประสิทธิผล ได้มีงานวิจัยรวบรวมผลการวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (meta-analysis of RCT)[1] เพื่อประเมินผลของการใช้ฟาวิพิราเวียร์รักษาโรคโควิด19 เทียบกับกลุ่มควบคุมรวมทั้งสิ้น 9 งานวิจัยโดยใช้ตัวชี้วัดสำคัญ 5 ตัวได้ผลดังนี้
-การมีอาการดีขึ้นเมื่ออยู่รพ.ครบ 7 วันพบว่าพบว่าฟาวิพิราเวียร์ ได้ผลดีกว่ากลุ่มควบคุม (p=0.001)
-การขจัดเชื้อหมดจากตัว (viral clearance) ใน 14 วันพบว่าฟาวิพิราเวียร์ ได้ผลไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม (p=0.094)
-การต้องใช้ออกซิเจนมากหรือน้อยพบว่าฟาวิพิราเวียร์ ได้ผลไม่แตกต่างจากยากลุ่มควบคุม (p=0.664)
-อัตราการต้องเข้ารักษาในไอซียู พบว่าฟาวิพิราเวียร์ ได้ผลไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม (P=0.759)
-อัตราตายรวมในผู้ป่วยพบว่าพบว่าฟาวิพิราเวียร์ ได้ผลไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม (P=0.664)
-Adverse drug reaction ของยา favipiravir
ข้อมูลการวิจัยในคน Erdem et al. [8] พบว่าผลข้างเคียงของยาฟาวิพิราเวียร์เกิดขึ้น 13% ขณะใช้ยานี้รักษาโรคโควิดส่วนใหญ่เกิดเอ็นไซม์ของตับและ total bilirubin สูงผิดปกติส่วนใหญ่เป็นแล้วหายเองโดยไม่ต้องทำการรักษาใดๆ
งานวิจัยโดยKawasuji et al ซึ่งสนับสนุนโดยรัฐบาลญี่ปุ่นพบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างระดับของการเกิดพิษต่อตับกับขนาดของฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้ (dose-liver toxicity relation)
Pilkington et al. รายงานว่าผู้ป่วยที่กินฟาวิพิราเวียร์ไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงที่พบมากจนน่ากังวลคือการเกิดกรดยูริกสูงส่วนความกังวลว่ายานี้ทำให้เกิด teratogenicity นั้นไม่มีหลักฐานรองรับมากพอ
Yaylaci et al. ศึกษาย้อนหลังผู้ป่วยที่ได้รับฟาวิพิราเวียร์รักษาโควิดเพื่อดูผลของยาต่อระบบเม็ดเลือดพบว่ายานี้กดการทำงานของ erythroid series โดยไม่มีความผิดปกติใน series อื่น
Takoi et al ได้รายงานผู้ป่วยที่ได้ฟาวิพิราเวียร์สองรายที่มีไข้สูงหลังได้ยาทั้งๆที่อาการทางคลินิกทุกอย่างสงบแล้ว
ในภาพรวมฟาวิพิราเวียร์เป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัยยังไม่มีรายงานว่าทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง

ในส่วนของการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโรคโควิด เมื่อแรกเริ่มมีโควิด19ระบาดเมื่อปลายปีค.ศ. 2019 ที่ประเทศไต้หวันได้มีผู้ทำการวิจัยในห้องทดลองซึ่งพิสูจน์ได้ว่าแอนโดรกราฟโฟไลด์ซึ่งเป็นโมเลกุลออกฤทธิ์ในฟ้าทะลายโจรสามารถยังยั้งเชื้อไวรัสซาร์สโควี2 ซึ่งเป็นต้นเหตุของโควิดในจานเพาะเลี้ยงได้โดยผ่านกลไกการระงับเอ็นไซม์โปรตีเอสของไวรัส [2] ต่อมาคณะผู้วิจัยที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยในห้องทดลองซึ่งยืนยันว่าฟ้าทะลายโจรที่มีแอนโดรกราฟโฟไลด์อยู่ด้วยสามารถยับยั้งการขยายตัวของไวรัสในเซลเยื่อบุปอดมนุษย์ได้ [3]
ผลดีของการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด-19ในคน เริ่มปรากฎในลักษณะของข้อมูลเชิงระบาดวิทยาเมื่อมีการระบาดของโรคโควิด-19 ในเรือนจำและมีการใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษา [4] มีผู้ต้องขังติดเชื้อสะสมรวม 37,656 คนหายป่วยสะสม 35,472 คน (94.2%) ตายสะสม 47 คน (0.1%) ซึ่งเมื่อเปรียบกับข้อมูลระดับประเทศขณะนั้นซึ่งมีจำนวนผู้ป่วย 345,027 คน ตายสะสม 2,791 คน (0.8%) แล้วก็พบว่าในเรือนจำมีอัตราตายต่ำกว่าถึง 8 เท่า โดยที่ขนาดของฟ้าทะลายโจรที่ใช้ในเรือนจำไม่แน่นอน ขนาดสูงสุดใช้ประมาณ 144 มก.ต่อวันนาน 5 วัน แต่มีผู้ป่วยจำนวนมากได้ขนาดต่ำกว่านั้น
ได้มีการทำวิจัยในรูปแบบย้อนหลังกลับไปดูกลุ่มคน (retrospective cohort study) ในโรงพยาบาล 9 แห่งที่รับคนไข้ คลัสเตอร์ใหญ่ตลาดกุ้งมหาชัย [5] โดยย้อนไปดูคนไข้โควิด19 ที่ได้รับยาฟ้าทะลายโจรที่มีเนื้อยาแอนโดรกราฟโฟไลด์ 180 มก.ต่อวันนาน 5 วันจำนวน 309 คนแล้วเอาผลไปเทียบกับผู้ป่วยโควิด19 อีก 526 คนที่ไม่ได้รับฟ้าทะลายโจรพบว่ากลุ่มที่ได้รับฟ้าทะลายโจรเป็นปอดอักเสบน้อยกว่า (14.64% vs 0.97, p<0.001%)
และมีอีกงานวิจัยหนึ่ง [6] ทำกับคนไข้ในด่านกักกันโรคในรูปแบบการวิจัยสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ใช้ผู้ป่วย 57 คนสุ่มตัวอย่างแบ่งออกเป็นสองกลุ่มกลุ่มหนึ่ง 29 คนให้กินฟ้าทะลายโจรซึ่งมีเนื้อยาแอนโดรกราฟโฟไลด์ 180 มก.ต่อวันกินนาน 5 วันอีกกลุ่มหนึ่ง 28 คนให้กินยาหลอกพบว่ากลุ่มกินฟ้าทะลายโจรเป็นปอดอักเสบน้อยกว่า (10.7% vs 0%) แต่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (p=0.1) งานวิจัยนี้อยู่ในระหว่างรอการตีพิมพ์
ในระดับสากล มีงานวิจัยหนึ่งที่ลงทะเบียนไว้กับ ClinicalTrial.gov มีแผนจะใช้แอนโดรกราฟโฟไลด์ขนาดประมาณ 90-120 มก.ต่อวันรักษาโรคโควิด19 เปรียบเทียบกับยาหลอก ขณะนี้ยังไม่ทราบผลการวิจัย[7]
Adverse drug reaction ของฟ้าทลายโจร
Suwankesawong et al. ได้รายงานการแพ้ยาซึ่งสัมพันธ์กับการใช้ฟ้าทลายโจรที่รับทราบจากการตอบแบบสอบถามจำนวน 248 รายพบว่ามีการแพ้ที่รุนแรงถึงขั้นต้องรักษาในรพ. 16 รายเป็น anaphylactic shock 5 ราย, anaphylactic reaction 4 ราย, angioedema 4 ราย
ข้อมูลในห้องทดลองบ่งชี้ว่าฟ้าทลายโจรระงับcytochrome P450 แต่งานวิจัยโดยWongnawa et al เพื่อทดสอบการเกิด interaction ระหว่างฟ้าทลายโจรกับ midazolam ซึ่งเป็นยาที่ไวที่สุดต่อการแย่งใช้กลไก CYP3A4 โดยทำวิจัยเปรียบเทียบในคนทั้งในแง่ pharmacokinetics และ pharmacodynamics พบว่าฟ้าทลายโจรไม่ได้มีผลต่อ pharmacokinetic parameter ของ midazolam แต่อย่างใด ดังนั้นความกังวลเรื่องยาตีกันระหว่างฟ้าทลายโจรกับยาอื่นที่ออกฤทธิ์ผ่าน cytochrome P450 ทั้งหมดจึงเป็นเพียงความกังวลจากข้อมูลในห้องทดลอง แล้วคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นกับยาอื่นๆมากมายในคนโดยที่หลักฐานเชิงประจักษ์กลับพบว่าไม่มีผลจริงในคนแต่อย่างใด
ความกังวลว่าฟ้าทลายโจรเป็นพิษต่อตับเป็นความกังวลที่ถูกสร้างขึ้นโดยยังไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ในคนรองรับ นับถึงวันนี้ยังไม่เคยมีการวิจัยในคนที่ให้ผลบ่งชี้ว่าฟ้าทลายโจรเป็นพิษต่อตับ ในทางตรงกันข้าม งานวิจัยในสัตว์พบว่าฟ้าทลายโจรลดพิษต่อตับซึ่งเกิดขึ้นจากยาอื่นที่มีพิษต่อตับ เช่นพาราเซตตามอล
งานวิจัยย้อนหลังดูการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาผู้ป่วยโควิด 309 รายและงานวิจัยแบบ RCT เปรียบเทียบการใช้ฟ้าทลายโจรรักษาโควิดเทียบกับยาหลอกในผู้ป่วย 58 ราย ไม่พบว่ามีผลข้างเคียงรุนแรงและมีผลข้างเคียงไม่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มใช้ฟ้าทลายโจรและกลุ่มควบคุม
Leelarasamee et al. ได้ทำวิจัยแบบ RCT ในผู้ป่วย 862 คนเพื่อเปรียบเทียบการใช้ผงบดฟ้าทลายโจรกับยาหลอกในการรักษาการติดเชื้อทางเดินลมหายใจส่วนบนโดยให้กินยานาน 4 วันพบว่ามีผลไม่พึงประสงค์ของฟ้าทลายโจรเกิดขึ้น 4.3% โดยทั้งหมดเป็นภาวะแทรกซ้อนระดับไม่รุนแรงและไม่แตกต่างจากกลุ่มกินยาหลอก
ในภาพรวมฟ้าทลายโจรเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยในแง่ของการใช้เป็นยาหากระวังการเกิดการแพ้แบบรุนแรงไว้ล่วงหน้า
7.นิยามศัพท์ (Definition of Terms)
ฟ้าทะลายโจร (Andrographis paniculata) พืชสมุนไพรชนิดล้มลุก ใบสีเขียวปลายเรียวแหลม มีรสขม มีต้นกำเนิดจากอินเดียและจีน แพร่หลายในเอเชีย ใช้เป็นยาป้องกันและรักษาหวัดและไข้หวัดใหญ่ มีประสิทธิผลในการทำลายเชื้อไวรัสซาร์สโควี 2 ในห้องทดลอง แต่ประสิทธิผลการรักษาโควิด-19 ในคนยังสรุปไม่ได้แน่ชัด
แอนโดรกราฟโฟไลด์ (Andrographolide)โมเลกุลในฟ้าทะลายโจรซึ่งเป็นสารละลายในแอลกอฮอล์ เชื่อกันว่าเป็นสารออกฤทธิ์หลักในฟ้าทะลายโจร และทั่วโลกใช้เป็นตัวบ่งชี้ขนาด (dose) ของผงบดหรือสารสกัดหยาบของฟ้าทะลายโจรด้วย
ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)ยาต้านไวรัสที่พัฒนาโดยบริษัทเอกชนญี่ปุ่น ใช้เป็นยารักษาไข้หวัดใหญ่ มีกลไกการออกฤทธิ์โดยบล็อคเอ็นไซม์ RNA polymerase ซึ่งไวรัสอาศัยใช้แบ่งตัว ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการวิจัยเพื่อใช้รักษาโรคโควิด-19 โดยที่ประสิทธิผลของยายังสรุปแน่ชัดไม่ได้
ปอดบวม (pneumonitis) คือภาวะการอักเสบในปอดที่เป็นผลตามหลังการติดเชื้อซาร์สโควี2 ถือเป็นตัวชี้วัดจุดจบที่เลวร้ายของโรคตัวหนึ่ง

ไวรัสหมดจากตัว (viral clearance)คือภาวะที่ร่างกายของผู้ติดเชื้อไวรัสสามารถทำให้ไวรัสหมดไปจากตัวได้ ซึ่งทราบได้จากการตรวจ RT-PCR ที่จากเดิมเคยได้ผลบวกเปลี่ยนเป็นผลลบภาย 14 วันนับจากวันวินิจฉัยโรค

อัตราการรับไว้รักษาในโรงพยาบาล (hospital admission rate) หมายถึงร้อยละของผู้ถูกรับไว้รักษาในโรงพยาบาล

อัตราการเข้ารักษาในไอซียู (ICU admission rate) หมายถึงร้อยละของผู้ถูกรับไว้รักษาในไอซียู.

ระยะเวลานอนในโรงพยาบาล (hospital length of stay) หมายถึงจำนวนวันที่ผู้ป่วยต้องอยู่รักษาในโรงพยาบาล

อัตราตายใน 90 วัน (90 days mortality rate) หมายถึงร้อยละของผู้ตายภายใน 90 วันนับจากวันที่เริ่มวินิจฉัยว่าเป็นโรคโควิด-19

  1. ระเบียบวิธีการวิจัย (Research Methodology)
    รูปแบบการวิจัย
    งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (randomized controlled trial ) ขั้นตอนการวิจัยมีดังนี้
    เกณฑ์คัดเข้าผู้ป่วยอาสาสมัคร (inclusion criteria)
    คัดเลือกผู้เข้าร่วมตามเกณฑ์การคัดเลือกอาสาสมัครดังนี้
    อายุ 18 ปี ถึง < 60 ปี
    ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคโควิด-19 ด้วยการตรวจ RT-PCR test ได้ผลบวก
    ได้รับไว้รักษาในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (hospitel) , ศูนย์แยกตัวในชุมชน (community isolation) , รพสนาม ,และ FAI , CAI ในจังหวัดสระบุรี โดยคณะผู้วิจัยสามารถกำกับตรวจสอบดูแลได้อย่างทั่วถึงทุกวัน ภายในเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงนับตั้งแต่วินิจฉัยโรคได้
    เป็นผู้ป่วยสีเขียว (มีอาการน้อยมากหรือไม่มีอาการ ไม่มีปอดอักเสบที่วินิจฉัยจากภาพเอ็กซเรย์)
    เกณฑ์คัดออกผู้ป่วยอาสาสมัคร (exclusion criteria)
    ภาพเอกซเรย์ปอดแรกรับมีอาการแสดงของปอดอักเสบ
    อยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
    เป็นโรคเรื้อรังต่อไปนี้ คือ (1 )โรคอ้วน (2) โรคเบาหวาน (3 ) โรคหัวใจและหลอดเลือด (4 ) โรคไตเรื้อรัง (5 ) โรคปอดเรื้อรัง ( 6 ) โรคตับแข็ง (7) โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
    ทานยาที่มีข้อห้ามอยู่ เช่น วาร์ฟาริน
    แผนการตรวจแรกรับ
    ซักประวัติเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และโรคเรื้อรัง
    ตรวจร่างกาย (1) น้ำหนัก (2) ส่วนสูง (3) อุณหภูมิ (4) ชีพจร (5) ความดันเลือด (6) Oxygen Saturation
    เจาะเลือด (1) CBC (2) BUN (3) Cr (4) SGOT (5) SGPT (6) Bilirubin (7) CRP (8) HbA1c
    RT-PCR day 0
    เอกซเรย์ปอด day 0
    แผนการตรวจติดตาม
    RT-PCR ครั้งแรก ในวันที่ 5, และครั้งที่สองในวันที่ 10 ของการวิจัย
    เอกซเรย์ปอด ในวันที่ 1 (แรกรับ) และวันที่ 5 ของการวิจัยและเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของอาการทางปอด
    เจาะเลือด (1) CBC (2) BUN (3) Cr (4) SGOT (5) SGPT (6) Bilirubin (7) CRP (8) HbA1c วันที่ 10 หรือวันจำหน่ายกลับ
    Specification ของผงบดจากส่วนเหนือดินของฟ้าทะลายโจร
    Dry arial part Andrographis paniculata
    Andrographolides content 3.1% w/w
    บรรจุ 400 มก.ของผงบด ต่อหนึ่ง แคปซูล (11.35 mg.andro/cap)
    เป็นยาสมุนไพรไทยที่ผลิตโดยรพ.หนองโดน ขึ้นทะเบียนยากับองค์การอาหารและยา
    Specification ของผงบดจากเฉพาะส่วนของใบของฟ้าทะลายโจร
    Dry leaves only part of Andrographis paniculata
    Andrographolides content 6.06% w/w
    บรรจุ 400 มก. ผงบดต่อหนึ่ง แคปซูล (24.24 mg.andro/cap)
    เป็นยาสมุนไพรไทยที่ผลิตโดยรพ.เสาไห้ ขึ้นทะเบียนยากับองค์การอาหารและยา
    มาตรฐานยาฟาวิพิราเวียร์
    ใช้ตัวยาฟาวิพิราเวียร์ 200 มก. ของโรงพยาบาลมวกเหล็ก บรรจุในรูปยาเม็ด
    การจัดเตรียมยาและจ่ายยา
    ยาที่ใช้สำหรับทุกกลุ่ม จัดเตรียมให้โดยเภสัชกรซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจ่ายยาให้ผู้ป่วย บรรจุซองต่อมื้อต่อคนในขนาดบรรจุเดียวกันทุกคนโดยกำกับรหัสประจำตัวที่ซอง
    การเตรียมยา จ่ายยา และบันทึกผล เป็นแบบ double blind คือ
    ผู้เตรียมยาเป็นผู้เตรียมยาลงซองต่อมื้อต่อคนโดยใช้รหัสยา ส่งมอบให้ผู้สุ่มตัวอย่าง แต่ไม่แจ้งว่ารหัสใดหมายถึงยาตัวใด
    ผู้สุ่มตัวอย่างจ่ายยาตามรหัสแยกตามกลุ่ม โดยไม่ทราบว่ากลุ่มไหนได้ยาอะไร
    ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนเองได้ยาอะไร
    ผู้ประเมินผลลัพธ์ ทั้งแพทย์ผู้ประเมินสีของความรุนแรง และรังสีแพทย์ผู้อ่านฟิล์มเอกซเรย์ ไม่ทราบว่าผู้ป่วยรายไหนได้ยาอะไร
    การประเมินผลสรุปความแตกต่างของผลการรักษาในแต่ละกลุ่มตอนท้ายการวิจัยจะประเมินตามรหัสโดยผู้ประเมินไม่ทราบว่ารหัสไหนคือยาตัวใด เมื่อสรุปผลประเมินแล้ว ผู้เตรียมยาจึงจะเปิดเผยต่อทีมผู้วิจัยว่ารหัสใดคือยาตัวใด
    การแบ่งกลุ่มผู้ป่วย
    กลุ่มที่ 1. ผงบดจากส่วนเหนือดินของฟ้าทะลายโจร (400 มก.ของผงบด ต่อหนึ่ง แคปซูล (11.35 mg.andro/cap) ผู้ป่วย 1 คน รับประทานครั้งละ 4 แคปซูล วันละ 4 ครั้งหลังอาหารและก่อนนอน ติดต่อกัน 5 วัน (180 mg/day x 5 days )
    ผู้ป่วย จำนวน 78 คน ต้องใช้ยาทั้งหมด 6,240 แคปซูล
    กลุ่มที่ 2. ผงบดจากเฉพาะส่วนใบของฟ้าทะลายโจร (400 มก. ผงบดต่อหนึ่ง แคปซูล (24 mg.andro/cap)
    ผู้ป่วย 1 คน รับประทานครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 4 ครั้งหลังอาหาร ติดต่อกัน 5 วัน (180 mg/day x 5 days)
    ผู้ป่วย จำนวน 78 คน ต้องใช้ยาทั้งหมด 3,120 แคปซูล
    กลุ่มที่ 3. ฟาวิพิราเวียร์ 3600 มก.ในวันแรก และ 1600 มก.ต่อวันในวันที่ 2-5 (รวม 10,000 มก./course/คน)
    ฟาวิพิราเวียร์ 200 มก ต่อ เม็ด
    ผู้ป่วย 1 คน รับประทานครั้งละ 9 เม็ด วันละ 2 ครั้งหลังอาหาร ในวันแรก
    และวันที่ 2-5 รับประทานครั้งละ 4 เม็ด วันละ 2 ครั้งหลังอาหาร
    ผู้ป่วย จำนวน 78 คน ต้องใช้ยาทั้งหมด 3,900 เม็ด
    การคำนวณขนาดของกลุ่มตัวอย่าง (Sample size calculation)
    การศึกษาครั้งนี้ เนื่องจากประชากรไม่สามารถกำหนดได้ จึงคำนวณขนาดกลุ่มตัวอย่างด้วยการวิเคราะห์ Power analysis โดยกำหนดค่า effect size = 0.3, alpha = 0.05, PowerOf Test = 0.90, DF = 9 ประมาณค่าขนาดตัวอย่างแบบทดสอบสมมุติฐานสองทางคำนวณด้วยโปรแกรม G*Power version 3.1.9.7 ได้ขนาดกลุ่มตัวอย่างขั้นต่ำ 221 คนเพื่อลดความเสี่ยงต่อการถอนตัวออกจากการวิจัย (คาดว่าจะมีสัดส่วนอยู่ที่ ร้อยละ 5) จึงใช้ขนาดตัวอย่างรวมในการศึกษาครั้งนี้ 234 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มตามเงื่อนไขการทดลอง 3 เงื่อนไขได้จำนวนกลุ่มละ 78 คน
    การสุ่มตัวอย่างผู้ป่วย(Randomization)
    การศึกษาครั้งนี้กลุ่มตัวอย่างได้ถูกแบ่งเข้าสู่เงื่อนไขการทดลอง 3เงื่อนไข จำนวนกลุ่มละ 78 คนด้วยการสุ่มแบบจัดบล็อก (Block randomization) เพื่อป้องกันไม่ให้สามารถทำนายลำดับที่เกิดจากการสุ่ม และอคติที่เกิดจากการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง (selection bias) ได้
    การกำหนดผลลัพธ์ (outcome) ของการวิจัย
    ผลลัพธ์หลัก (primary outcome) คือ
    1. การเกิดปอดอักเสบขึ้นใหม่ (new pulmonary infiltration) วินิจฉัยจากการอ่านฟิลม์เอ็กซ์เรย์ปอด แบบ double blind โดยรังสีแพทย์
    2. การลดปริมาณไวรัส (viral load)ในวันที่ 0, 5, 10 ของการวิจัย
    การเปลี่ยนสีบ่งชี้ความรุนแรงของโรคจากสีหนึ่งไปเป็นอีกสีหนึ่ง
    สีเขียว = มีอาการน้อย อุณหภูมิไม่เกิน 37.6 องศาซี. ชีพจรไม่เกิน 90ครั้ง/นาที อัตราการหายใจไม่เกิน 25ครั้ง/นาที) O2sat 96% ขึ้นไป)โดยไม่ใช้ออกซิเจน
    สีเหลือง = (1) มีอาการมาก หรือ (2) ชีพจรเกิน 90ครั้ง/นาที (3)หอบเหนื่อยหายใจเร็วเกิน 25ครั้ง/นาทีหรือ (4) Oxygen sat 93-95% โดยไม่ใช้ออกซิเจน (5)ภาพเอ็กซ์เรย์มี new infiltration
    สีแดง = มีภาวะหายใจล้มเหลว
    ผลลัพธ์รอง (secondary outcomes)คือ
    1. ตัวชี้วัดการอักเสบ (CRP) เมื่อวันที่ 1 และ 10
    2. การต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล (hospital admission) ใน30 วันนับจากวันได้รับการวินิจฉัย
    3. การต้องเข้ารักษาในไอซียู. (ICU admission) ใน 30 วันนับจากวันได้รับการวินิจฉัย
    4. การเสียชีวิตใน 30 วัน (30 day mortality)นับจากวันได้รับการวินิจฉัย
    5. ภาวะแทรกซ้อนของการรักษา (การทำงานของตับ, การทำงานของไต, ความดันเลือด, การเปลี่ยนแปลงอาการทางร่างกายจากยา)
    การวิเคราะห์ทางสถิติ (Statistic Analysis)
    การวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปทางสถิติ SPSS (Statistical Package for the Social Sciences)ในการประมวลผลข้อมูล แบ่งการนำเสนอออกเป็น 2 ส่วน คือ
    การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นเพื่อให้ทราบลักษณะของกลุ่มตัวอย่าง: การวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลทางสถิตินั้นหากตัวแปรที่นำมาวิเคราะห์เป็นตัวแปรแบบนามมาตราจะนำเสนอข้อมูลด้วยตารางการแจกแจงความถี่และการกระจายร้อยละ ส่วนในกรณีที่ตัวแปรเป็นตัวแปรระดับช่วงจะนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมด้วยโดยใช้ค่าเฉลี่ย (Mean,x̅) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
    การวิเคราะห์การแปรผัน 2 ทาง (Bivariate Analysis):โดยใช้การวิเคราะห์แบบตารางไขว้ (Cross-tabulation) และการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย เพื่อแสดงลักษณะทั่วไปและแสดงความสัมพันธ์ของตัวแปรที่ศึกษาและตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรตามและตัวแปรอิสระว่ามีนัยสำคัญทางสถิติหรือไม่ด้วยค่าไคสแคว์ ( c2) และการเปรียบเทียบคุณลักษณะ (characteristic) ของผู้ป่วย โดยใช้สถิติทดสอบค่าสถิติที (Independent t -test)กำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ <0.05
    การรักษามาตรฐานสำหรับทุกกลุ่ม
    ทุกรายจะได้รับการรักษาตามคำสั่งการการรักษามาตรฐาน และได้รับยาบรรเทาอาการทุกอาการที่เกิดขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน
    ข้อพิจารณาด้านจริยธรรม
    มาตรการความปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย (safety precaution)
    มีการประเมินผลลัพธ์หลักของแต่ละกลุ่มวันต่อวัน ในระหว่างการวิจัยแต่ยังไม่สิ้นสุดระยะเวลาวิจัย หากมีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มีอุบัติการณ์ เกิดผลลัพธ์หลักมากกว่ากลุ่มอื่นอย่างมีนัยสำคัญ การวิจัยนี้จะถูกยกเลิกกลางคัน เพื่อปกป้องไม่ให้ผู้ป่วยในกลุ่มนั้นได้รับความเสียหายหากทำวิจัยต่อไป
    ระบุความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และการป้องกันแก้ไข
    ความเสี่ยงต่อจิตใจ ( Psychological harm ) สำหรับผู้ป่วย อาจได้รับความกระทบการะเทือนทางจิตใจ ความเป็นส่นตัวในการเปิดเผยข้อมูล ประวัติและผลการรักษา
    การป้องกันแก้ไข การเก็บรวบรวม ข้อมูลจะดำเนินการโดย บุคลากรทางการแพทย์ ที่ถูกมอบหมายเพื่อเก็บข้อมูลไม่นำข้อมูลที่ผู้ป่วยไม่อนุญาตนำมาเปิดเผย ไม่มีการเปิดเผยใบหน้าและชื่อข้อมูลของผู้เข้าร่วมวิจัยผู้วิจัยจะบันทึกข้อมูลไว้ในคอมพิวเตอร์ส่วนตัว มีรหัสการเข้าถึงข้อมูลผู้วิจัยเพื่อป้องกันบุคคลอื่นเข้าถึง
    ความเสี่ยงต่อร่างกาย ( Physical harm ) ผู้ป่วยอาจได้รับความเจ็บปวดจากการตรวจพิเศษ เก็บตัวอย่างทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นการตรวจตามมาตรฐานการวินิจฉัยโรค อาการไม่พึงประสงค์จากกการใช้ยา
    การป้องกันแก้ไข การตรวจประเมินดูแลคัดแยก ผู้ที่เป็นสีเขียว ที่เข้าร่วมโครงการให้ละเอียด และหากเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ หรืออาการรุนแรงระหว่างการใช้ยาหรือค่าผลตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการพบค่าการทำงานผิดปกติที่คาดว่าเป็นผลจากการใช้ยา ให้หยุดการใช้ยาทันที่ แจ้งผู้ศึกษาทันทีและแพทย์หรือผู้ให้บริการในสถานพยาบาลที่ได้รับการดูแลรักษาที่เกี่ยวข้อง โดยโครงการศึกษาจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการรักษาที่เกี่ยวข้อง
    สำหรับผู้ปฏิบัติงาน
    ความเสี่ยงต่อร่างกาย ( Physical harm ) อาจได้รับความเสี่ยงจากการสัมผัสผู้ป่วยโควิด 19 อย่างใกล้ชิด จากการตรวจสวอบ การเจาะเลือดผู้ป่วย หรือการติดตามอาการ
    การป้องกันแก้ไข ผู้ปฏิบัติทุกคนสวมชุด PPE ที่เหมาะสม มีพื้นที่กั้นโซนฉากกั้นกรณีที่ต้องตรวจเลือดหรือเก็บสิ่งส่งตรวจ การเก็บข้อมูลใช้รูปแบบออนไลน์ และการติดตามโดยโทรศัพท์มือถือ ลดความเสี่ยงในการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย
    ความเสี่ยงต่อจิตใจ ( Psychological harm) อาจได้รับความกระทบกระเทือนด้านจิตใจ ความไม่สบายใจ ความกดดันในการถามคำถามการติดตามอาการ
    การป้องกันแก้ไข หากผู้ปฏิบัติงานไม่สะดวกในการปฏิบัติ สามารถปฏิเสธหรือร้องขอให้ผู้ที่ชำนาญกว่า ปฏิบัติแทนได้ ทั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
  2. ระยะเวลาการวิจัย (Duration)
    1 ตุลาคม 2564 – 31 มีนาคม 2565 ( 6 เดือน )
  3. ผลการวิจัย (Results)
  4. สรุป (Discussions and conclusions)
  5. บรรณานุกรม (References)
    1. Hassanipour, S., Arab-Zozani, M., Amani, B. et al. The efficacy and safety of Favipiravir in treatment of COVID-19: a systematic review and meta-analysis of clinical trials. Sci Rep 11, 11022 (2021). https://doi.org/10.1038/s41598-021-90551-6
    2. Shi TZ, Huang YL, Chen CC, Pi WC, Hsu YL, Lo LC, Chen WY, Fu SL, Lin CH. Andrographolide and its fluorescent derivative inhibit the main proteases of 2019-nCoV and SARS-CoV through covalent linkage. BiochemBiophys Res Commun. 2020;533(3):67–473.
    3. Khanit Sa-ngiamsuntorn, AmpaSuksatu et al. Anti-SARS-CoV-2 Activity of Andrographis paniculata Extract and Its Major Component Andrographolide in Human Lung Epithelial Cells and Cytotoxicity Evaluation in Major Organ Cell Representatives. Nat. Prod. 2021, 84, 4, 1261–1270. https://doi.org/10.1021/acs.jnatprod.0c01324
    4. กรุงเทพธุรกิจ 14 กค. 64. กรมราชทัณฑ์เผยผู้ต้องขังหายป่วยโควิด-19 แล้ว 94.2%. Accessed on August 6, 2021 athttps://www.bangkokbiznews.com/news/detail/948538
    5. Benjaponpithak A, Visithanon K. et al. Short Communication on Use of Andrographis Herb (FA THALAI CHON) for the Treatment of COVID-19 Patients. Journal of Thai Traditional and Alternative Medicine 2021:19(Andrographis Herb (FA THALAI CHON) for the Treatment of COVID-19 P1);229-233
    6. Efficacy and safety of Andrographis paniculata extract in patients with mild COVID-19: A randomized controlled trial. KulthanitWanaratna, PornvimolLeethong, NitaphaInchai, WararathChueawiang, PantitraSriraksa, AnutidaTabmee, SayompornSirinavinmed. Rxiv 2021.07.08.21259912; doi: https://doi.org/10.1101/2021.07.08.21259912
    7. Swedish Herbal Institute. Effect of Kan-Jang® Supplementation in Patients Diagnosed With COVID-19: A Randomized, Quadruple-blind, Placebo-controlled Trial. Accessed on August 6, 2021 at https://clinicaltrials.gov/ct2/show/NCT04847518
    8. Erdem, H. etal. Treatment of SARS-cov-2 pneumonia with Favipiravir: Early results from the Ege University cohort, Turkey. Turk.J.Med.Sci. (2020).
    9. Kawasuji H, Tsuji Y. et al. Association between high serum favipiravir concentrations and drug-induced liver injury. medRxiv 2021.05.03.21256437; doi: https://doi.org/10.1101/2021.05.03.21256437
    10. Pilkington, V., Pepperrell, T. & Hill, A. A review of the safety of Favipiravir—A potential treatment in the COVID-19 pandemic?. J. Virus Erad. 6, 45–51. https://doi.org/10.1016/S2055-6640(20)30016-9 (2020).
    11. Yaylaci S, Dheir H. et al. The effects of favipiravir on hematological parameters of covıd-19 patients. Rev Assoc Med Bras (1992). 2020 Sep 21;66Suppl 2(Suppl 2):65-70. doi: 10.1590/1806-9282.66.S2.65.
    12. Takoi H, Togashi Y. et al. Favipiravir-induced fever in coronavirus disease 2019: A report of two cases. Int J Infect Dis. 2020 Dec;101:188-190. doi: 10.1016/j.ijid.2020.09.1450
    13. Suwankesawong, W., Saokaew, S., Permsuwan, U. et al. Characterization of hypersensitivity reactions reported. among Andrographis paniculata users in Thailand using Health Product Vigilance Center (HPVC) database. BMC Complement Altern Med 14, 515 (2014). https://doi.org/10.1186/1472-6882-14-515
    14. Wongnawa M, Soontaro P et al. The effects of Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees on the pharmacokinetics and pharmacodynamics of midazolam in healthy volunteers. Songklanakarin J. Sci. Technol. 34 (5), 533-539,
    15. Leelarasamee A, Suankratay C, Hunnangkul S, Udompunturak S, Krittayaphong R, Poonsrisawat J, Wongsakorn N, et al. The Efficacy and Safety of Andrographis paniculata Extract for the Treatment of Acute Nonspecific Upper Respiratory Tract Infections: A Randomized Double Blind Placebo Controlled Trial. J Med Assoc Thai 2021;104:1204-13.
    16. Handa SS, Sharma A. Hepatoprotective activity of andrographolide against galactosamine & paracetamol intoxication in rats. Indian J Med Res. 1990 Aug;92:284-92. PMID: 2228075.
    17. Subramaniyan, Vetriselvan & Uthirapathy, Subasini & Rajamanickam, G.V.. (2011). Hepatoprotective activity of Andrographis paniculata in ethanol induced hepatotoxicity in albino Wistar rats. Pharmacie Globale. 2.
    ( …………………………………………………..)
    หัวหน้าคณะผู้วิจัย

[อ่านต่อ...]

19 ตุลาคม 2564

ชั้นเรียน ABC Water Color Workshop 2021

วันนี้ขอหยุดตอบคำถามเพื่อคั่นโฆษณาสักหนึ่งวันนะครับ

ก่อนอื่นขอท้าวความ มาจะกล่าวบทไป ว่าหมอสันต์นี้เมื่อกลายเป็นคนแก่หรือผู้สูงวัยแล้วก็อยากจะมีบทบาทเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้คนทั้งที่สูงวัยแล้วและยังไม่สูงวัย แม้ตัวเองจะทำอะไรได้ไม่มากเพราะวัยที่มากแล้วและทรัพย์มีจำกัด แต่ก็พยายามดึงคนที่เขามีทรัพย์มีปัญญามาช่วยทำ เมื่อไปอยู่มวกเหล็กวาลเลย์ผมก็พยายามจะดึงให้คนที่เขามีเงินให้เข้ามาลงทุนสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงวัยเพื่อให้เกิดชุมชนผู้สูงวัยที่มีคุณภาพชีวิตขึ้น ซึ่งก็น่ายินดีที่มีหลายท่านเริ่มให้ความสนใจที่จะเข้ามาทำจริงจัง ผมพยายามดึงผู้ชำนาญการในเรื่องต่างๆให้เข้ามาแชร์ มาสอน มาทำกิจกรรมฝึกฝนผู้สูงวัยที่นั่นด้วยโดยผมเอื้อเฟื้อสถานที่ให้ โดยมีแผนในใจว่ากิจกรรมอะไรที่จะดึงให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ก็จะทำหมด ไม่ว่าจะเป็นศิลปกรรม วาดภาพ ถ่ายภาพ หัตถกรรม เล่นดนตรี ใช้ดนตรีบำบัด เต้นรำ ออกกำลังกาย ฯลฯ อะไรที่มีคนมาสอนมาเรียนก็สนับสนุนให้เกิดหมด

เรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าคนเราสมัยเมื่อหนุ่มสาวก็มัวแต่ทำงานหรือทำธุรกิจจึงละเลยไปคือ..สุนทรียะ ผมหมายถึง aesthetic หรือการมีโอกาสได้รู้สึก (feel) ถึงความเบิกบานใจกับอะไรที่สวยๆงามๆในภาวะที่ปลอดความคิด คือเบิกบานใจกับอะไรที่ไม่เกี่ยวกับอีโก้หรือตัวตนของเรา ศิลปะแขนงต่างๆเป็นเครื่องชักนำเราให้ได้สัมผัสรับรู้ถึงสุนทรียะ ผมจึงพยายามดึงให้เกิดการเรียนการสอนศิลปะแขนงต่างๆเพื่อการนี้ แล้วก็โชคดีเมื่อไม่นานมานี้ผมได้รู้จักศิลปินสายจิตรกรรมระดับมืออาชีพมีลูกศิษย์ลูกหามากท่านหนึ่งชื่อ อาจารย์ สมโภชน์ สิงห์ทอง (http://www.facebook.com/SompoteSingthong) เพราะได้มีโอกาสเชิญท่านมาสอนวาดภาพสีน้ำให้ตัวเอง ผมเห็นว่าท่านเป็นครูศิลปะที่รักงานสอน เข้าถึงสุนทรียะ และมีความผ่อนคลายขณะทำงานศิลป์ จึงชวนท่านว่าให้มาสอนวาดภาพที่มวกเหล็กวาลเลย์บ่อยๆสิ เพราะผู้คนที่รักที่จะเรียนรู้ศิลปะจะได้มาสัมผัสอากาศเย็นๆ ธรรมชาติดีๆ ได้เดินออกกำลังกายเล่นเช้าๆเย็นๆ และเหนือสิ่งอื่นใด จะได้เป็นการชักนำให้ได้มารู้จักอาหารในแนว plant based ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสุขภาพของตนเองด้วย ซึ่งอาจารย์ก็รับปากรับคำผมเป็นอันดี

แล้ววันนี้ผมก็ได้รับจดหมายจากเลขาของอาจารย์ว่าอาจารย์จะมาเปิดสอนชั้นเรียน ABC Water Color Workshop 2021 สำหรับผู้เริ่มต้นหัดวาดภาพ ที่เวลเนสวีแคร์และฝากรายละเอียดมาให้ผมช่วย ปชส.ให้ด้วย ซึ่งผมก็รีบรับปากด้วยความยินดี แฟนบล็อกท่านใดที่สนใจจะผละจากความเครียดเพื่อหันมาหาสุนทรียะก็อย่าพลาดโอกาสนี้นะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

……………………………………..

ชั้นเรียนวาดภาพสีน้ำสำหรับผู้เริ่มต้น

ABC Water Color Workshop 2021

กับศิลปิน “สมโภชน์ สิงห์ทอง”

  • อยากวาดภาพสีน้ำแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร
  • ไม่เคยเรียนมาเลย หรือเรียนจากออนไลน์แล้วไม่เข้าใจ ทำไม่ได้ ฝีมือไม่ก้าวหน้า
  • ต้องการหากิจกรรมบันเทิงเริงใจ มองหาความอภิรมย์นการใช้ชีวิต
  • เสริมสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง

เชิญมาร่วมกิจกรรมเรียนรู้สีน้ำขั้นพื้นฐานกับศิลปินอารมณ์ดี สมโภชน์ สิงห์ทอง ผู้ทำงานด้านศิลปะและมีประสบการณ์สอนสีน้ำมากว่า 40 ปี ด้วยการสอนที่เป็นขั้นเป็นตอนเข้าใจง่าย สามารถปฏิบัติได้จริง และเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาฝีมือต่อยอดได้

Well Begun Is Half Done

รอบนี้จัดมาให้เลือก 2 โปรแกรม

1..ท่านที่อยู่กรุงเทพ ไม่สะดวกเดินทาง ABC Watercolor 20 Hrs @Bkk

Date: Oct 30-31, 2021 และ Nov 6-7, 2021

Time: 13.00-18.00

Venue: River City, Bkk.

Ticket : B 4,900 ราคานี้รวมสีและอุปกรณ์วาดเขียน กาแฟ เครื่องดื่ม เบเกอรี่

ชั้นเรียนมีเนื้อหาต่อเนื่อง 20 ชั่วโมง แบ่งเป็น 4 sessions

2..ท่านที่อยากไปพักผ่อนหย่อนใจ+วาดรูป ABC Water Color 15 Hrs @ Muak Lek

Date: Dec 4-5, 2021

Time: 9.00-18.00

Time Table:
Day1 (Dec4)

9.00 พร้อมกันที่ชั้นเรียนใน WWC

9.30-12.30 Painting workshop

12.30 Lunch

13.30-18.00 Painting workshop

18.00 Dinner

Day2 (Dec5)

6.00-8.00 Morning walk / Breakfast

8.00-12.00 Painting workshop

12.00 Lunch

13.00-16.00 Painting workshop

18.00 Dinner

ชั้นเรียนมีเนื้อหาต่อเนื่อง 15 ชั่วโมง แบ่งเป็น 4 sessions

Venue: Wellness We Care Center มวกเหล็ก สระบุรี (ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพ 2 ชม.)

Ticket : B 5,200 ราคานี้รวมสีและอุปกรณ์วาดเขียน ที่พัก 2 วัน 1 คืน อาหาร 4 มื้อ กาแฟอาหารว่าง 4 มื้อ

Registration / Info

LineID: angel_tip

Tel: 0816203446

Inbox: m.me/sompoteSingthong

รับจำนวนจำกัด 15 ท่าน

[อ่านต่อ...]

17 ตุลาคม 2564

ความตาย..หรืออาหารเย็น สุดแล้วแต่ว่าอย่างไหนจะมาถึงก่อนกัน

เรียน คุณหมอสันต์
คุณแม่อายุ 89 มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันสูง  ไตระยะ 4  และตอนนี้มีโรคกระดูกสะโพกยุบ  ทำให้ต้องนั่งวีลแชร์ตลอด ไม่สามารถเดินได้เอง  ประเด็นคือ คุณแม่รู้สึกอยากตาย  ร้องไห้ และพูดว่า ไม่นึกเลยว่าแก่มาจะต้องมีสภาพแบบนี้ (ขาไม่ดี)  ทั้งๆ ที่โรคเบาหวาน ความดัน แกคุมตัวเองได้ดีมาตลอด 30 ปีที่เป็นจนถึงปัจจุบัน ปัญหาคือหนูจะช่วยแม่ไม่ให้คิดว่าอยากตายได้อย่างไร  อยากให้แม่เข้าใจว่าร่างกายก็เป็นเช่นนี้แล..เหมือนว่าพูดง่าย แต่ทำใจยาก
ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

……………………………………………………………………………..

ตอบครับ

ผู้สูงวัยไม่ว่าจะป่วยหรือไม่ป่วย ถึงจุดหนึ่งแล้วส่วนใหญ่จะมีชีวิตแบบนี้เหมือนกันหมด คือผ่านวันเวลาไปด้วยความรู้สึกยากเย็น วกวนอยู่แต่ในความคิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความย้ำคิดที่สับสนไร้จุดหมาย มีชีวิตอยู่แบบว่า..รอการมาของความตาย หรือไม่ก็อาหารเย็น สุดแล้วแต่ว่าอย่างไหนจะมาถึงก่อนกัน (หิ หิ ขออำไพที่บรรยายโอเวอร์ไปหน่อยเพื่อให้เห็นภาพ)

มาตอบคำถามของคุณดีกว่า

1.. ถามว่าหนูจะให้แม่เข้าใจว่าร่างกายก็เป็นเช่นนี้แหละได้อย่างไร ตอบว่าท่านเข้าใจของท่านดีอยู่แล้ว คุณไม่ต้องไปพยายามอะไร ปัญหาของท่านไม่ใช่ความไม่เข้าใจ แต่ปัญหาของท่านคือการเผลอไปอยู่ในความย้ำคิดที่เนื้อหาสาระของมันทำให้ท่านเป็นทุกข์

2.. ถามว่าหนูจะช่วยแม่ไม่ให้คิดว่าอยากตายได้อย่างไร ตอบว่าคุณช่วยคนอื่นไม่ให้คิดไม่ได้หรอก เพราะความคิดเป็นของอัตโนมัติซึ่งถูกชงหรือถูกนำเสนอขึ้นมาจากประสบการณ์ในอดีตของใครของมัน คือแม้เจ้าตัวก็ไม่ได้ตั้งใจคิด แต่มันมาเองในหัว หัวใครหัวมัน แล้วคนอื่นจะมาช่วยเบรคความคิดให้ได้อย่างไร

สิ่งที่คุณจะช่วยได้คือ

2.1 การดำรงชีวิตของคุณเองแบบอยู่เหนือความคิดให้ได้ก่อน คือฝึกทักษะที่จะสังเกตให้เห็นความคิดของตัวเอง ฝึกทักษะที่จะวางความคิดที่ตนวินิจฉัยแล้วว่าไร้สาระ หรือพาเข้ารกเข้าพง คำว่าความคิดที่พาเข้ารกเข้าพงนี้ผมหมายถึงความคิดที่ชวนให้ปกป้องอัตตาหรือ identity ของตนเองซึ่งมันไม่ใช่ของที่มีอยู่จริง

2.2 เมื่อคุณใช้ชีวิตอย่างนั้นได้แล้ว คุณจึงจะช่วยคุณแม่ของคุณได้โดยการเริ่มสอนให้คุณแม่หัดมอง (recall) ให้เห็นความคิดของตัวเอง โดยใช้จังหวะที่เหมาะสม เช่น พอคุณแม่เริ่มพิลาปรำพันถึงโชคชะตาหรือความอยากตาย คุณก็หาจังหวะตัดตอนว่า

“ความอยากตายเป็นความคิดนะคะ คุณแม่ลองตั้งใจมองดูมันหน่อยสิ เรากับความคิดเป็นคนละสิ่งคนละอันกันนะ เราสามารถชำเลืองดูความคิดของเราได้ และเมื่อถูกเรามอง ความคิดมันก็จะฝ่อหายไป”

2.3 จากนั้นก็อาศัยจังหวะชักลากดึงให้คุณแม่หลุดออกจากการอยู่ในความคิดหรืออยู่ในสถานการณ์ชีวิต มาใช้ชีวิตเสียที เพราะคนเรามีจำนวนไม่น้อยที่แก่จวนเจียนจะตายอยู่แล้วก็ยังไม่ได้ใช้ชีวิตของตัวเองจริงๆเลย ได้แต่ถูกสถานการณ์ชีวิตพัดพาไปจนชนวันสุดท้าย การใช้ชีวิตผมหมายถึงการดำรงอยู่อย่างตื่นตัว สงบเย็น และสร้างสรรค์ ไม่ว่าสถานการในชีวิตเป็นอย่างไร การใช้ชีวิตก็ยังทำได้สบายๆ การใช้ชีวิตเราไม่ได้ต้องการต้นทุนอะไรมาก นี่ผมพูดจากประสบการณ์ของตัวเองซึ่งชีวิตบางช่วงก็เจียนตายแทบไม่เหลืออะไรแล้ว ผมพบว่าต้นทุนในการใช้ชีวิตที่เราต้องการคือขอแค่มีลมหายใจเท่านั้น เมื่อใดที่มีลมหายใจอยู่ เมื่อนั้นก็ใช้ชีวิตอย่างสงบเย็นและสร้างสรรค์ได้

แล้วการใช้ชีวิตนี้เราใช้กันที่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ หมายถึงทีละลมหายใจ หายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้นิดหนึ่ง ยิ้ม หายใจออกเบาๆยาวๆ ผ่อนคลายร่างกายจากหัวถึงเท้า และรับรู้พลังชีวิตที่อาบรดแทรกซึมอยู่ทั่วร่างกาย สบายๆ สงบเย็น ผ่อนคลาย และมีพลังที่จะสร้างสรรค์อะไรได้ตลอดเวลา แค่นี้แหละ การใช้ชีวิต คำว่าสร้างสรรค์หมายถึงการทำอะไรดีๆให้โลกหรือให้ชีวิตอื่น ไม่ใช่การทำอะไรเพื่อขยายความยึดมั่นหรือเพื่อปกป้องอัตตาหรือ identity ของตนซึ่งไม่ใช่ของที่มีอยู่จริง นั่นไม่ใช่สร้างสรรค์

3. คุณถามมาสองข้อผมตอบให้หมดแล้วนะ คราวนี้ผมคุยเพิ่มเติมเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ประโยชน์ไปด้วย

อายุ 89 สะโพกหัก ไม่จำเป็นต้องเป็นคนติดเตียงรอวันตายนะ ยังสามารถฟื้นฟูร่างกายให้กลับมามีชีวิตที่มีคุณภาพสมวัยได้ อย่างน้อยก็เดินได้พึ่งตนเองได้ ที่เราคิดว่าผู้สูงอายุติดเตียงไปแล้ว นั่นไม่จริงหรอก ผมยังไม่เคยเห็นผู้สูงอายุที่ติดเตียงจริงๆชนิดที่ฟื้นฟูไม่ได้สักคนเดียว

เขียนมาถึงตอนนี้ขอเล่าความหลังประสาคนแก่หน่อยนะ ตอนนั้นเป็นประมาณปีพ.ศ. 2554 เกิดน้ำท่วมใหญ่ อยุธยาจมน้ำอยู่หลายเดือน คุณบิณฑ์ (พระเอกหนังนักกู้ภัย) ได้เอาเรือมารับผม ตั้งใจจะไปดูแลพวกควาญช้างที่ติดเกาะอยู่พร้อมกับช้างจำนวนมาก แล้วตั้งใจจะไปต่อให้ถึงวัดอะไรก็ไม่รู้ซึ่งมีผู้แจ้งข่าวว่ามีคนแก่ติดอยู่บนศาลาวัดราว 20 คนมาเป็นเวลาเดือนกว่าแล้ว

เสร็จภาระกิจกับพวกควาญช้างกำลังจะไปต่อ ก็มีชาวบ้านมาขอให้ไปดูยายซึ่งเป็นอัมพาตขยับตัวไม่ได้มาเดือนกว่าแล้ว ต้องหามกันหนีน้ำไปทางโน้นทีทางนี้ที เมื่อไปถึงคุณยายอัมพาตนอนแบ็บอยู่บนบ้านพื้นปริ่มเหนือผิวน้ำราวหนึ่งคืบ ตัวบ้านมีขนาดประมาณห้องส้วม ผมทักทายคุณยายซึ่งคะเนอายุคงจะประมาณแปดสิบกว่าๆ คุยกันไปตรวจร่างกายไป แล้วก็สรุปว่าคุณยายไม่ได้เป็นอัมพาตเพียงแต่นอนติดเตียงมานาน จึงบอกพระเอกหนังว่า

“บิณฑ์ คุณหิ้วปีกข้างโน้น ผมหิ้วปีกข้างนี้ ผมจะทำกายภาพบำบัดให้คุณยายเดินได้”

เราสองคนฝึกคุณยายให้หัดเดินใช้เวลาราวหนึ่งชั่วโมงเธอก็ยิ้มเผล่นั่งเองและโกงโก๊ะโกงโก้เคลื่อนย้ายตัวเองได้ จึงลาคุณยายเพื่อเดินทางกันต่อไป ที่เล่าเรื่องนี้ให้ฟังก็เพื่อให้คนแก่ที่ติดเตียงทั้งหลายได้เข้าใจว่าแก่ติดเตียงจริงๆนั้นไม่มีหรอก ทุกกรณีฟื้นฟูได้ทั้งนั้นแหละ ได้มากได้น้อยอีกเรื่องหนึ่ง ไหนๆเล่าแล้วก็เล่านอกเรื่องต่ออีกหน่อยนะ พอเดินทางต่อก็ปรากฎว่ามืดแล้ว อยุธยายามน้ำท่วมใหญ่กลางคืนคุณจะเห็นแต่เงาเจดีย์โผล่พ้นน้ำ แต่ยอดเจดีย์เตี้ยหรือศาลาการเปรียญที่อยู่ใต้น้ำไม่เห็นหรอก แม้ว่าจะมีไฟฉายส่องสว่างอย่างดีแค่ไหนก็ตาม แล้วก็

“โครม”

หน้าอกเรือเสยเอาอะไรสักอย่างใต้น้ำเข้าอย่างจัง บรรดาลูกเรือกระเจิงกันไปกองอยู่ท้องเรือ ลูกน้องหันหน้ามามองคุณบิณฑ์เป็นเชิงว่ายกเลิกภาระกิจกลับบ้านกันดีกว่าไหมเพราะมืดมองอะไรไม่เห็นและเป้าหมายก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนรู้แต่ว่าห่างจากที่นี่ประมาณ 10 กม. พระเอกหนังหันมาถามผมว่า

“คุณหมอว่าไงดีครับ”

ผมนึกในใจว่าอ้าว ถึงบทผู้ร้ายแล้วรีบมอบให้ผมเล่นเชียวนะ หิ หิ ผมก็จึงตอบไปอย่างซินเซียร์เสียงดังฟังชัดว่า

“ผมว่ากลับเหอะ ผมมานี่ยังไม่ทันได้สั่งเสียลูกเมียเลย”

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

14 ตุลาคม 2564

เปลี่ยนอาหารเพื่อรักษาโรคจิต คอนเซ็พท์ใหม่ของวงการแพทย์.. Microbiome

เรียนคุณหมอสันต์

หนูเป็นโรคพานิก (อายุ28 ปี) มักมีอาการแน่นหน้าอกขึ้นมาถึงคอแบบหายใจจะไม่ออก ไปตรวจคลื่นหัวใจ เอ็คโค วิ่งสายพาน เจาะเลือดดูเอ็นไซม์หัวใจ สรุปว่าหัวใจปกติ รักษาอยู่กับคุณหมอ … (จิตแพทย์) มาได้แปดเดือนแล้ว คุณหมอบอกว่าอายุยังน้อยอย่าหวังพึ่งยาไปตลอดชีวิต ให้ปรับวิธีใช้ชีวิต หันไปออกกำลังกาย ฝึกสมาธิ ซึ่งหนูก็พยายามทำอยู่ แต่ไม่ดีขึ้น หนูไม่คิดว่าหนูจะมีชีวิตอยู่กับโรคอย่างนี้ได้ ญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งเป็นพยาบาลอยู่อเมริกาได้แนะนำให้เปลี่ยนอาหารเป็น plant based และให้เขียนมาหาคุณหมอสันต์ หนูสงสัยว่าอาหารจะไปเกี่ยวอะไรกับการเป็น panic disorder และไม่เห็นว่าการเปลี่ยนอาหารจะช่วยได้ตรงไหน แต่ก็รับปากว่าจะเขียนมาหาคุณหมอสันต์ จึงรบกวนคุณหมอตอบด้วยนะคะว่าถ้าหนูเปลี่ยนอาหารมันจะหายไหม

………………………………………………………………………

ตอบครับ

ถามว่าการเปลี่ยนอาหารมากินพืชเป็นหลักจะช่วยรักษาโรคจิตประสาทได้หรือ ตอบว่าได้อยู่นะครับ หิ..หิ นี่ไม่ใช่คำตอบของจิตแพทย์นะ แต่เป็นคำตอบของหมอสันต์ซึ่งเป็นหมอจับฉ่าย คำตอบนี้ตอบจากแนวโน้มใหม่ที่มีการก่อตัวของสาขาใหม่ที่เรียกว่า “จิตโภชนศาสตร์” ไม่ใช่จิตโภชนานะ คำนี้ผมแปลมาจากคำว่า Nutritional Psychiatry หมายถึงการใช้อาหารรักษาปัญหาทางจิตประสาท การก่อตัวของสาขาใหม่นี้มันมาจากสองทาง

ทางหนึ่ง คือผลวิจัยติดตามผู้ป่วยหลายรายการแสดงความสัมพันธ์ว่าอาหารที่มีพืชมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารเมดิเตเรเนียนจะสัมพันธ์กับการเป็นโรคซึมเศร้าน้อยและโรคกังวลน้อยลง ซึ่งผมเอางานวิจัยเหล่านั้นบางส่วนมาแหมะไว้ให้ที่ท้ายบทความนี้สำหรับท่านที่สนใจ

อีกทางหนึ่ง คือการมาอย่างรวดเร็วของหลักฐานความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนจุลชีวิตในทางเดินอาหาร (gut microbiome) กับการทำงานของระบบประสาทและสมองของคนเรา ซึ่งผมเอาผลวิจัยบางชิ้นมาแหมะไว้ข้างล่างนี้เพื่อให้ท่านที่สนใจได้ตามไปอ่านเช่นกัน

เนื่องจากการตอบคำถามนี้เป็นครั้งแรกที่ผมพูดถึง gut microbiome ผมจึงขอขยายความเพื่อให้ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่ได้เข้าใจคอนเซ็พท์นี้ให้ถ่องแท้ก่อนนะ เพราะสมัยก่อนวิชาแพทย์จะเน้นว่าจุลชีวิตอันได้แก่แบคทีเรีย ไวรัส และรา คือเชื้อโรคที่ต้องคอยระวังไม่ให้มันบุกรุกเข้ามาในร่างกายเรา แต่สมัยนี้คอนเซ็พท์นั้นเปลี่ยนเป็นว่าในร่างกายเรานี้มันมี “ชุมชนจุลชีวิตในทางเดินอาหาร” นี่เป็นคำที่ผมแปลจาก gut microbiome คือผมจะให้หมายถึงระบบนิเวศน์วิทยา(ecosystem) ในลำไส้ นึกภาพเวลาเราไปดำน้ำดูปะการังที่หมู่เกาะสุรินทร์ เราจะเห็นสารพัดสัตว์น้ำและพืชน้ำอยู่ด้วยกันทั้งกุ้งหอยปูปลาหลากสีหลากรูปร่าง ม้าน้ำ ปะการัง สาหร่ายแบบต่างๆ ทั้งหมดนี้อยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืนพึ่งพาอาศัยกันอย่างลงตัว ในทางเดินอาหารเราก็มีจุลชีวิตทั้งหลายทั้งแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ยีสต์ จำนวนมากอยู่อาศัยเป็นชุมชนในลำไส้ในลักษณะเดียวกันเดียวกับที่เราเห็นสัตว์และพืชเมื่อไปดูปะการังที่อยู่ก้นทะเลนี่แหละ มันมีกันเป็นจำนวนมาก ว่ากันว่ามากถึง 38 ทริลเลี่ยนชีวิต ผมไม่รู้เหมือนกันว่านับกันยังไง รู้แต่ว่าส่วนใหญ่มันจะอยู่ในร่างกายเราแบบอยู่ดีๆ ช่วยเจ้าบ้านทำโน่นทำนี่ถ้อยทีถ้อยอาศัย จนมีแพทย์บางคนเรียกร่างกายเรานี้ว่าเป็น Holobiome หรือชุมชนสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่ว่าจะมีแต่เซลร่างกายของเรานะ แต่จุลชีวิตอื่นก็อาศัยอยู่ในนี้อีกเพียบโดยไม่รู้ว่าเจ้าของร่างกายนี้ที่แท้จริงคือใคร รู้แต่ว่าถ้าบรรดาผู้อาศัยทะเลาะกันเมื่อไหร่ชุมชนก็พังทันที

เพื่อให้ท่านเห็นความลึกซึ้งของคอนเซ็พท์ microbiome ว่ามันเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสรรสร้างไว้อย่างลงตัวแล้วและถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกอย่างไร ผมจะเล่าให้ฟังถึงผลวิจัยที่เรารู้แน่แล้วว่ามันเป็นอย่างนี้แล้วจริงๆ เช่น

(1) ในระหว่างตั้งครรภ์ แบคทีเรียจากทางเดินอาหารของแม่จำนวนหนึ่ง จะอพยพมาตามกระแสเลือด ผ่านรกแม่ เข้ามาอยู่ในลำไส้ทารกก่อนคลอด

(2) เมื่ออายุครรภ์ได้ราวเก้าเดือน แบคทีเรียในลำไส้แม่จะสื่อสารให้เม็ดเลือดขาวของร่างกายแม่มารับเอาตัวแบคทีเรียไปปล่อยที่น้ำนม เพื่อให้ทารกดูดเอาไปตั้งหลักแหล่งในลำไส้ของทารก นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมในน้ำนมแม่จึงมีแบคทีเรียหลายชนิดรวมทั้งแล็คโตบาซิลลัสอยู่ด้วย

(3) ในน้ำนมแม่มีโมเลกุลอาหารชนิดหนึ่งชื่อโอลิโกแซคคาไรด์ซึ่งร่างกายมนุษย์ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย แต่ธรรมชาติใส่ไว้เพื่อให้แบคทีเรียใช้เป็นอาหารได้ การมีไว้ในนมแม่ก็เพื่อเตรียมไว้เป็นอาหารแก่แบคทีเรียที่จะตั้งรกรากอยู่ในลำไส้ของทารก

(4) พอเข้าสามเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ แบคทีเรียในช่องคลอดของแม่จะค่อยๆเปลี่ยนไปคล้ายแบคทีเรียในสำไส้ เพื่อให้ทารกที่คลอดผ่านมาได้กินเข้าไป ตรงนี้สมัยผมเป็นนักเรียนแพทย์ไปหัดทำคลอด ผมก็สงสัยอยู่ครามครันว่าทำไมสารคัดหลั่งในช่องคลอดของแม่มีกลิ่นคล้ายอึทั้งๆที่ในการทำคลอดผมก็ป้องกันไม่ให้อึเข้ามาแปดเปื้อนอย่างเข้มงวดสุดๆ ตอนนี้เพิ่งถึงบางอ้อว่าเป็นธรรมชาติของเปลี่ยนชนิดของแบคทีเรียนี่เอง

(5) แบคทีเรียในสำไส้ สามารถสื่อสารกับเซลสมอง เซลผิวหนัง เซลเส้นผม และมีส่วนร่วมกำกับการทำงานของเซลและเนื้อเยื่อเหล่านั้นด้วย รวมทั้งการร่วมกำกับอารมณ์ทั้งเชิงบวกเชิงลบด้วย ทำให้ชนิดของแบคทีเรียในลำไส้มีผลต่อความจำ อารมณ์ ภูมิคุ้มกันโรค ฮอร์โมน ความผุดผ่องของผิวหนัง และความมันของเส้นผม กลไกที่จุลชีวิตในลำไส้มีอิทธิพลต่อการทำงานของเซลร่างกายนั้นทำผ่านการที่มันผลิตโมเลกุลชนิด short chain fatty acid ซึ่งจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดไปมีผลต่างๆต่อเซลร่างกายได้

(6) มีงานวิจัยเพิ่มจำนวนแล็คโตบาซิลลัสในลำไส้แล้วพบว่าช่วยเร่งการหายของแผลที่ผิวหนังได้หนึ่งเท่าตัว

(7) งานวิจัยเกี่ยวกับจุลชีวิตในทางเดินอาหารได้ก้าวหน้าไปจากสมัยก่อนมากจนหากแพทย์รุ่นเก๋าระดับรุ่นผมไม่ตามข่าวก็จะตกยุคไปเลย เพราะสมัยที่คนรุ่นผมเรียนแพทย์ การจะศึกษาชนิดและนับจำนวนจุลชีวิตต้องเอามันมาเพาะเลี้ยงในจาน petri dish ซึ่งเป็นจานเพาะเลี้ยงเชื้อที่มีวุ้นเป็นอาหารของมันก่อน เพาะแล้วก็ขึ้นบ้างไม่ขึ้นบ้าง แล้วจึงตักเอาที่เพาะขึ้นออกมาดูมานับ แต่สมัยนี้ไม่ต้องแล้ว อาศัยข้อมูล genome mapping การศึกษาชนิดและจำนวนแบคทีเรียแค่ใช้วิธีดูรหัสพันธุกรรม (DNA) ในสารคัดหลั่ง เยื่อบุ และในอุจจาระ ดูแค่นี้ก็รู้หมดแล้วว่ามีจุลชีวิตอยู่กี่ชนิดทั้ง แบคทีเรีย รา ไวรัส ชนิดไหนมีจำนวนเท่าไร

(8) ปัจจุบันนี้ ฐานข้อมูล ZOE มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับรหัสพันธุกรรมของไมโครไบโอมใหญ่มากพอจนหากตรวจทราบชนิดของแบคทีเรียในลำไส้แล้วสามารถทำนายได้ว่าคนคนนั้นจะมีดัชนีวัดสุขภาพตัวอื่น (เช่น ความดัน น้ำหนัก น้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด ) ว่าเป็นอย่างไร และทุกวันนี้ก็เริ่มมีคนทำชุดตรวจไมโครไบโอโตมออกมาขายแล้วว่าใครมีจุลชีวิตชนิดไหนมากชนิดไหนน้อย ไปภายหน้าการวินิจฉัยโรคอาจทำแค่ตรวจอึแล้ววินิจฉัยโรคทั้งทางกายทางจิตได้เยอะแยะก็ได้

ที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อจะวกเข้าประเด็นสำคัญว่าไมโครไบโอมในทางเดินอาหารของเรานี้ จะเปลี่ยนแปลงไปทางดีหรือทางร้ายได้ ตามอาหารที่เรากิน ไมโครไบโอมกินอาหารที่มีกากมากที่หลากหลาย กากหมายถึงอาหารพืชเท่านั้น เพราะอาหารเนื้อสัตว์ไม่มีกาก ดังนั้นเท่าที่ความรู้ของวงการแพทย์มีอยู่ขณะนี้ อาหารที่จะสร้างสรรค์ไมโครไบโอมดีที่สุดคืออาหารพืชที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ ถั่ว นัท เมล็ดพืช ธัญญพืช ถ้าเป็นไขมันก็ควรเป็นไขมันไม่อิ่มตัวจากพืชเช่นน้ำมันมะกอกซึ่งถูกโฉลกกับไมโครไบโอมยิ่งนัก ย้ำว่าต้องกินพืชทั้งมากทั้งหลากหลาย อย่ากินพืชอยู่ไม่กี่อย่างซ้ำซาก งานวิจัยความหลากหลายการกินพืชในแต่ละเดือนของคนอเมริกันพบว่า 10% กินพืช 0-5 ชนิด ส่วนใหญ่ 70% กินพืชไม่เกิน 20 ชนิด มีเพียง 15% เท่านั้นที่กินพืชเกิน 30 ชนิดขึ้นไป ดังนั้นจะให้ดีเดือนสองเดือนก็ไปตลาดซื้อพืชทุกอย่างมาอย่างละนิดอย่างละหน่อยให้ได้ 30 ชนิดขึ้นไปมาตัดยอดปั่นกินเพื่อสร้างความหลากหลายเสียบ้าง รับประกันว่าดีต่อร่างกายและจิตประสาทแน่

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Adana RAH, van der Beek E, Buitelaare JK et al. Nutritional psychiatry: Towards improving mental health by what you eat. European Neuropsychopharmacology 2019: 29 (12) : 1321-1332
  2. J.S. Lai, S. Hiles, A. Bisquera, A.J. Hure, M. McEvoy, J. Attia. A systematic review and meta-analysis of dietary patterns and depression in community-dwelling adults. Am. J. Clin. Nutr., 99 (2014), pp. 181-197

3. T. Psaltopoulou, T.N. Sergentanis, D.B. Panagiotakos, I.N. Sergentanis, R. Kosti, N. Scarmeas. Mediterranean diet, stroke, cognitive impairment, and depression: a meta-analysisAnn. Neurol., 74 (2013), pp. 580-59

4. T.G. Dinan, C. Stanton, C. Long-Smith, P. Kennedy, J.F. Cryan, C.S.M. Cowan, M.C. Cenit, J.W. van der Kamp, Y. Sanz. Feeding melancholic microbes: MyNewGut recommendations on diet and mood. Clin. Nutr. 2019 ;38(5):1995-2001. doi: 10.1016/j.clnu.2018.11.010.

5. U. Fresan, M. Bes-Rastrollo, G. Segovia-Siapco, A. Sanchez-Villegas, F. Lahortiga, P.A. de la Rosa, M.A. Martinez-Gonzalez. Does the mind diet decrease depression risk? A comparison with mediterranean diet in the SUN cohort. Eur. J. Nutr., 58 (2019), pp. 1271-1282

6. D. Moreno-Agostino, F.F. Caballero, N. Martin-Maria, S. Tyrovolas, P. Lopez-Garcia, F. Rodriguez-Artalejo, J.M. Haro, J.L. Ayuso-Mateos, M. Miret. Mediterranean diet and wellbeing: evidence from a nationwide survey. Psychol. Health, 34 (2019), pp. 321-335

7. Carabotti M, Scirocco A, Maselli MA, Severi C. The gut-brain axis: interactions between enteric microbiota, central and enteric nervous systems. Ann Gastroenterol. 2015;28(2):203-209.

[อ่านต่อ...]

12 ตุลาคม 2564

เมตตาธรรม definition

เรียนคุณหมอสันต์

ช่วยนิยามคำว่าเมตตาธรรมหน่อยได้ไหมคับ เพราะพออ่านของหมอสันต์ไปอ่านไปก็เริ่มจะงงว่าเมตตาธรรมของหมอสันต์หมายความถึงอะไร แล้วผมจะรู้ได้อย่างไรว่าผมมีเมตตาธรรมหรือเปล่า เพราะเวลาผมลงโทษลูกน้องที่ทำผิดคนก็ว่าผมว่าไม่มีเมตตาธรรม

………………………………………………..

ตอบครับ

1.. ถามว่าเมตตาธรรมนิยามว่าอย่างไร ตอบว่าคำว่าเมตตาธรรมนี้ภาษาอังกฤษคนส่วนใหญ่ใช้คำว่า compassion แต่ผมขอใช้คำว่า Grace แทน มันเป็นพลังงานนะ พูดถึงพลังงาน เรารับรู้พลังงานได้ในหลายรูปแบบ เช่น แสงแดด สายลม แรงโน้มถ่วง และ..เมตตาธรรม

แสงแดดคือพลังงานที่ดวงอาทิตย์คอยให้ความอบอุ่นแก่เรา

สายลมคือพลังานที่กำลังเป่าลดความร้อนให้เราสบาย

แรงโน้มถ่วงคือพลังงานที่โลกนี้ใช้กอดเราไว้ไม่ให้เราปลิวหายไปไหน

เมตตาธรรมคือพลังงานที่ธรรมชาติคอยช่วยให้ชีวิตเราแผ่ขยายเติบโตออกไปได้ไม่สิ้นสุด หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง เมตตาธรรมคือพลังงานที่ช่วย “ถอดปลั๊ก” ให้เราหลุดจากข้อจำกัดที่เราติดหนึบอยู่ขณะนี้ เพื่อให้เราหลุดไปสู่อิสระเสรี

2.. ถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่ามีพลังเมตตาธรรมอยู่ข้างใน ตอบว่าเวลาคุณนั่งอยู่ในบ้าน คุณไม่รู้หรอกว่าเสียงตู้เย็นมันครางหึ่งอยู่ แต่ตอนเปิดประตูเข้าบ้านมาใหม่ๆคุณจะรู้ได้ เวลาคุณกำลังนั่งดูจอคอมพิวเตอร์ คุณไม่รู้หรอกว่าคุณกำลังหายใจอยู่ แต่ว่าในความเป็นจริงคุณกำลังหายใจและออกซิเจนกำลังวิ่งไปหล่อเลี้ยงทุกเซลของคุณอยู่ เมตตาธรรมเป็นพลังงานพื้นฐานของชีวิตที่ “เปิดเครื่อง” อยู่ตลอดเวลา และเชื่อมโยงชีวิตทุกชีวิตและสรรพสิ่งทุกสรรพสิ่งเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันตลอดเวลา ถ้าเราเพิกเฉย หมายความว่าเราไปวุ่นอยู่ในความคิด เราก็ไม่รับรู้ว่ามีพลังงานที่ผมเรียกว่าเมตตาธรรมเป็นแบ็คกราวด์ของชีวิตอยู่ แต่ถ้าเราวางความคิดไปก่อน วางคอนเซ็ทพ์ที่ผูกหรือก่อเป็นตัวตนหรือ identity ของเราลงไปก่อน เลิกมองหาอะไรที่ข้างนอกเสีย นิ่งและรับรู้จากข้างใน เราก็จะรับรู้ความสงบเย็นและเบิกบานของพลังเมตตาธรรมได้

3.. ถามว่าถ้าเมตตาธรรมมีอยู่ข้างใน แล้วจะเข้าถึงเมตตาธรรมนี้ได้อย่างไร ตอบว่า ก็..ออกจากความคิด มาอยู่กับปัจจุบัน หมายความว่าไม่คิด แต่รู้ตัวอยู่

มีนิทานเซ็นพูดถึงหลวงพ่อตอบคำถามเด็กวัด

เด็กวัด ” หลวงพ่อฮะ ถ้าผมบรรลุธรรมแล้ว ผมต้องทำอะไรบ้าง”

หลวงพ่อ “เอ็งก็กวาดลาน ผ่าฟืน หุงข้าว”

เด็กวัด “อ้าว.. งั้นผมจะมาอยู่วัดทำไมละ ทั้งหมดนี้ผมทำที่บ้านก็ได้”

หลวงพ่อ “ไม่ได้ เพราะมันเป็นลานบ้านของเอ็ง ฟืนของเอ็ง ข้าวของเอ็ง”

ตรงนี้ไงที่เป็นข้อแตกต่างระหว่างการทำอะไรด้วยความยึดติดกับการทำอะไรอย่างอิสรเสรี คอนเซ็พท์เรื่องตัวตนหรืออีโก้ชักนำให้เราติดกับดักความยึดติด แต่เมตตาธรรมปลดปล่อยให้เราเป็นอิสระเสรีจากความยึดติดนั้น

คนที่เรียกตัวเองว่าเป็นคนดีหน่อย จะทำอะไรก็ต่อเมื่อมันเป็นหน้าที่ แต่คนที่มีความรักหรือรู้สึกอยากให้แก่ชีวิตอื่นอย่างแท้จริงจะเพลิดเพลินกับการทำอะไรก็ตามในทุกโมเมนต์ของชีวิตเพื่อให้ชีวิตอื่นจะได้ประโยชน์ นั่นแหละ เมตตาธรรม

เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณหลุดจากคำถามว่า

“แล้วผมจะได้อะไรหงะ”

เมื่อนั้นคุณก็เข้าถึงเมตตาธรรมแล้ว

อีกอย่างหนึ่งเมตตาธรรมมันตรงกันข้ามกับความใหญ่หรือความสำคัญ ยิ่งจิ๊บจ๊อย ยิ่งกระจอก ยิ่งเล็ก ยิ่งเป็นเมตตาธรรม

อีกอย่างหนึ่งจากมุมมองของเมตตาธรรม คุณจะไม่เห็นการแบ่งแยกเป็นเราเป็นเขา แต่คุณจะเห็นทุกอย่างเป็นหนึ่งเดียวกันหมด

ผมไม่รู้ว่าผมได้ตอบคำถามคุณหรือเปล่านะ แต่นี่เป็นการให้คำนิยามเมตตาธรรมที่ผมพยายามให้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุดเท่าที่ความสามารถในการใช้ภาษาของผมจะอำนวย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

08 ตุลาคม 2564

โรคกังวลเกินเหตุหลังฉีดวัคซีนแอสตร้า

เรียนคุณหมอสันต์

ตามที่หนูเขียนมาปรึกษาคุณหมอเรื่องความกังวลหลังการฉีดวัคซีนเข็มสามว่าเป็นแอสตร้า แล้วคุณหมอตอบหนูสั้นๆว่ารับประกันว่าวัคซีนไม่ทำให้หนูตาย แต่หนูอาจตายได้ด้วยความคิดกังวลของหนูเอง ให้ฝึกวางความคิด หนูก็อ่านบล็อกเก่าๆของคุณหมอแล้วทดลองทำ แต่มันหยุดคิดไม่ได้ คุณหมอเคยบอกว่าอุบัติการลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดสมองเกิดน้อยในระดับหนึ่งในแสน แต่หนูก็อดคิดไม่ได้ว่าถ้าหนูเป็นหนึ่งในแสนนั้นละ หนูจะทำอย่างไร หนูอาจเป็นอัมพาต อาจพิการ หนูทำอย่างไรก็ไม่วายเอามาคิดในส่วนของหนึ่งในแสนนี้ ว่าเราอาจจะโชคร้าย ไม่รู้จะทำอย่างไงเหมือนกันเพราะเวลาอยู่ว่างๆ ก็จะคิดถึงเรื่องนี้ตลอดเวลา กังวลจนนอนไม่หลับ อาการปวดหัวก็กำเริบไม่หายมาสามสัปดาห์แล้ว ตอนนี้กลายเป็นโรคเครียดไปแล้วค่ะ นอนไม่ค่อยหลับ ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไง ปรึกษาคุณหมอว่าหนูจะทำอย่างไรดี ต้องไปตรวจอะไรเพื่อยืนยันว่าไม่มีโอกาสเป็นลิ่มเลือดอุดตันในสมองแน่นอนได้ไหม

ขอบพระคุณที่ตอบเมลหนูค่ะ

……………………………………

ตอบครับ

อามิตตาภะ พุทธะ ท่านผู้อ่านแฟนประจำเห็นจดหมายของเด็กวัยรุ่นแล้วอย่าเพิ่งหมดความอดทนนะครับ ปกติน้อยมากที่ผมจะตอบจดหมายวัยรุ่น แต่บางฉบับก็มีอารมณ์หยิบขึ้นมาตอบอย่างฉบับนี้เป็นต้น วาระหลักคือความกังวลในใจของเด็กวัยรุ่นซึ่งมัน “วกวน” อยู่นั่นแหละไม่ไปไหน เนื้อหาสาระที่ทำให้กังวลเราที่เป็นคนเฒ่าคนเถิบผ่านโลกมามากฟังแล้วก็จะแอบกลั้นหัวเราะว่าช่างเป็นเรื่องไร้สาระสิ้นดี เช่นบางคนเป็นนักศึกษาแพทย์ก็กังวลเป็นตุเป็นตะว่าจบแล้วตัวเองจะเป็นหมอโหล่ยโท่ยที่คนไข้ไม่นับถือ กังวลจนไม่เป็นอันอ่านหนังสือ บางคนไปเที่ยวผู้หญิงมาหนึ่งครั้งก็กังวลว่าจะติดเชื้อ HIV มิใยที่ผลการตรวจจะได้ผลลบซ้ำแล้วซ้ำอีกก็ไม่เลิกกังวลและเวลาผ่านไปหลายเดือนแล้วก็ยังไม่เลิกกังวล นี่ตอนนี้มาแบบใหม่กันอีกละคือไปฉีดวัคซีนโควิดมาโดยที่ปักใจเชื่อมาก่อนจากการที่ถูกโชเชียลมีเดียกรอกหูว่าต้องได้วัคซีนเทพเท่านั้นจึงจะไร้ปัญหา พอถูกฉีดวัคซีนไม่เทพเข้าก็ตามมาด้วยความกังวลร้อยแปดจนพ่อแม่ต้องพาไปหาจิตแพทย์ เป็นต้น คือความกังวลของวัยรุ่นนี้สาระมันไม่ได้อยู่ที่เรื่องที่คิดกังวลเสียแล้ว แต่สาระมันอยู่ที่เด็กสมัยนี้ตกเป็นทาสของความย้ำคิดของตัวเองอย่างสิโรราบถอนตัวไม่ขึ้น ทำไมลูกหลานของเราถึงตกอยู่ในกองทุกข์แบบนี้ได้ทั้งๆที่เราซึ่งเป็นพ่อแม่ก็ให้ทุกอย่างที่ให้ได้จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นยุคที่มนุษย์เรา “ถวาย” เครื่องอำนวยความสะดวกปลอดภัยแก่ลูกๆในระดับสูงสุดกว่ายุคไหนๆแล้ว แต่ทำไมลูกที่ได้กลับเป็นมนุษย์พันธุ์ขี้กังวลหรือขี้กลัวเกินเหตุจนดำเนินชีวิตปกติแทบจะไม่ได้ เออ..ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน

ผมก็รำพึงรำพันไปงั้นแหละ มาตอบคำถามของคุณหนูท่านนี้ดีกว่า ตามเกณฑ์วินิจฉัยทางการแพทย์ (DSM-V) โรคที่คุณเป็นอยู่นี้ชื่อ GAD (ย่อมาจาก gerneralized anxiety disorder) คือภาวะที่มีความกังวลซ้ำซาก เกินเหตุ ไม่สมจริง และบั่นทอนร่างกายจิตใจ ซึ่งก่ออาการไปทุกระบบเช่น ระบบประสาทอัตโนมัติ (ใจสั่น เหงื่อแตก ความดันขึ้น) ระบบกล้ามเนื้อกระดูก (เปลี้ยล้า ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัว) ระบบทางเดินอาหาร (คลื่นไส้ ท้องร่วง) ระบบหายใจ (หายใจไม่อิ่ม หอบหืด) จิตประสาท (กลัวเกินเหตุ ตั้งสติไม่ได้ หงุดหงิดโมโหง่าย นอนไม่หลับ ซึมเศร้า) เป็นต้น ไม่สามารถคุมความกังวลของตัวเองจนมีความผิดปกติทางพฤติกรรม (เถรตรง เจ้าระเบียบ ทำอะไรก็ไม่ค่อยสำเร็จ มีปัญหาสลึงเดียวก็ร้องกระต๊ากสิบบาทร้อยบาท) ในทางการแพทย์ การรักษาโรคนี้ที่ทำกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็คือการใช้ยา เช่นยาคลายกังวล ยาต้านซึมเศร้า ยาแก้บ้า (antipsychotic drug) ร่วมกับการปลอบด้วยคำพูด (psychotherapy) การทำพฤติกรรมบำบัดแบบให้คิดใหม่ทำใหม่ (cognitive behavioral therapy – CBT) แพทย์บางท่านก็ใช้วิธีรักษาแบบอื่นควบ เช่น การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น

ส่วนวิธีรักษาของหมอสันต์นั้นไม่ใช้วิธีมาตรฐานที่กล่าวมาข้างต้นซักกะอย่าง หมอสันต์เน้นอย่างเดียวคือให้คนป่วยต้องรักษาตัวเอง ซึ่งต้องลงไปให้ถึงรากของปัญหา การจะไปวิ่งหาที่วิธีตรวจแปลกๆในโรงพยาบาลเพื่อค้ำประกันว่าจะไม่ป่วยจะไม่ตายนั้นไร้สาระและไม่ใช่เหตุของปัญหา เหตุของปัญหาคือความคิด ผมจะชี้แนะคุณนะ คุณต้องอ่านอย่างอดทนนะ เพราะมันอาจจะเข้าใจยากอยู่ คือต้องทำความเข้าใจกับสมองของเราก่อน ความกังวลก็คือ “ความคิด” นั่นแหละ โดยธรรมชาติเมื่อได้รับสิ่งเร้า (stimulus) สมองจะเอาข้อมูลนี้ไปผสมกับความจำในอดีตแล้วก่อร่างความคิดหรือความรู้สึกใหม่ (though formation) ขึ้นมา สิ่งเร้าที่ว่านี้บางทีก็เป็นข้อมูลที่ผ่านเข้ามาทางอวัยวะรับรู้เช่นตา หู จมูก ลิ้น ผิวหนัง บางทีก็เป็นความคิดที่ป๊อบขึ้นมาในสมองเองดื้อๆแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย เมื่อก่อเป็นความคิดใหม่ขึ้นมาแล้ว สมองก็จะบันทึกไว้ในความจำ แล้วความคิดนั้นก็ฝ่อไป ถูกแทนที่ด้วยความคิดที่ใหม่กว่าอีกๆๆ โดยที่ความจำที่บันทึกไว้นั้น จะกลายมาเป็นวัตถุดิบสำหรับก่อความคิดครั้งใหม่ๆในอนาคต เป็นเช่นนี้วนเวียนอยู่ไม่รู้จบ คนที่กังวลจึงมักคิดกังวลซ้ำๆซากๆ กลไกการก่อความคิดนี้เกิดขึ้นแทบจะเป็นอัตโนมัติ ความคิดเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไปมีผลต่อพฤติกรรม นั่นก็คือความคิดนั้นจะเป็นนายเรา เหมือนกับวงจรการเกิดพฤติกรรมซ้ำซากในสัตว์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของสัตว์ตัวนั้น

แต่อันที่จริงสมองมนุษย์ยังมีความสามารถอีกแบบหนึ่งคือสามารถเฝ้ามองการเกิดขึ้นและการฝ่อไปของความคิดที่ก่อตัวขึ้นมาได้ หรือพูดอีกอย่างได้ว่าสมองมีความสามารถที่จะเลือกได้ว่าจะสนองตอบต่อสิ่งเร้าแต่ละครั้งแบบไหน ไม่จำเป็นต้องสนองตอบออกไปแบบอัตโนมัติเสมอไป จิตแพทย์ชาวยิวชื่อวิคเตอร์ แฟรงเคิล ได้อธิบายกลไกนี้ว่าเมื่อมีสิ่งเร้าเข้าสู่การรับรู้ของสมอง ก่อนที่จะมีปฏิกิริยาสนองตอบออกไป จะมีช่องว่างอยู่นิดหนึ่ง ซึ่งผู้ที่ฝึกทักษะความรู้ตัว (awareness) มาดีพอ จะสามารถแทรกเข้าไปในช่องว่างนี้เพื่อเลือกได้ว่าจะสนองตอบต่อสิ่งเร้านั้นแบบใด เช่นเมื่อตัวเขาเองถูกนาซีทรมาน แทนที่เขาจะสนองตอบด้วยการโกรธแค้น กลัว หรือโศกเศร้า แต่ด้วยการมีทักษะความรู้ตัวที่ดี เขาสามารถเลือกสนองตอบอีกแบบหนึ่ง คือเขาสมมุติว่านี่เป็นเหตุการณ์ที่เขาใช้ประกอบการสอนนักเรียนแพทย์ว่านาซีทรมานเชลยอย่างไร สมมุติให้ตัวเขาออกไปยืนเป็นผู้ยืนบรรยายเหตุการณ์นี้อยู่ที่หน้าห้องสอน ขณะที่ร่างกายของเขากำลังถูกพวกนาซีทรมานอยู่นั้น คือเขาเปลี่ยนสิ่งเร้าเดิมที่เคยทำให้เขาโกรธ กลัวหรือเศร้า ไปเป็นความรู้สึกดีๆที่ได้เผยแพร่ความรู้แทน

การที่เราจะพลิกบทบาทจากการเป็นทาสของความคิดที่ก่อตัวขึ้นในหัวของเราได้นั้น กุญแจสำคัญคือต้องมีทักษะที่จะรู้ตัว (aware) ซึ่งหมายถึงการชำเลืองดู ว่า ณ ขณะนั้นมีสิ่งเร้าใดมากระตุ้นสมอง และสมองก่อความคิดอะไรขึ้นมา เมื่อเราพลิกกลับขึ้นมาเป็นผู้ดูการเกิดความคิดได้สำเร็จ สถานการณ์ก็จะเปลี่ยนมาเป็นเราคือผู้รู้ทันความคิดนั้น ไม่ใช่เป็นทาสของความคิดนั้นโดยไม่ทันรู้ตัวอีกต่อไป การจะรู้ตัว หรือ aware นี้เป็นทักษะ (skill) เหมือนการว่ายน้ำ ต้องลงมือฝึกทำบ่อยๆ ทักษะจึงจะเกิด มันไม่ใช่เป็นความรู้ (knowledge) ที่อ่านเข้าใจแล้วก็สำเร็จกิจแล้ว ลำพังคุณอ่านคู่มือการว่ายน้ำแล้วยังว่ายน้ำไม่เป็นตราบใดที่ไม่เคยลงน้ำฉันใด การพัฒนาทักษะที่จะรู้ตัวและวางความคิดได้ก็ฉันนั้น ผมคงแนะนำคุณได้คร่าวๆแค่นี้ ส่วนการจะฝึกทักษะ หากจะฝึกทำเองให้ทำตามที่ผมเคยเขียนสอนหมอเด็กๆคนหนึ่งในบล็อกนี้ (https://drsant.com/2020/10/blog-post_11-2.html) หากคุณทำเองแล้วไม่สำเร็จ ให้หาเวลามาเข้า Spiritual Retreat

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

07 ตุลาคม 2564

"ตายคางาน" ก็เป็นไอเดียที่ไม่เลวนะ ถ้า..

เรียนคุณหมอสันต์

ผมเกษียณปีนี้ (65) อยู่เอกชน ภรรยาอยากไปซื้อบ้านอยู่ต่างจังหวัด เธออยากทำงานอดิเรกทำสวน ว่างก็ไปวิปัสนา แต่ผมรู้สึกว่าชีวิตอย่างนั้นมันน่าเบื่อ ผมชอบทำงานต่อไปอีก ชอบการได้พบปะผู้คนแก้ปัญหางานในแต่ละวัน แต่เธอว่าผมจะทำจนตายคางานหรือไง ผมถามคุณหมอสันต์หน่อยว่าการตายคางานมันก็ดีไม่ใช่หรือครับ และถ้าคุณหมอเป็นผมจะแก้ปัญหาอย่างไร จะปล่อยให้เธอไปอยู่ต่างจังหวัดคนเดียวก็เป็นห่วง จะตามไปอยู่ด้วยก็ไม่ชอบ

………………………………………………………….

ตอบครับ

1.. ถามว่าถ้าจะทำงานจนตายคางานมันก็ดีไม่ใช่หรือ ตอบว่าถ้าคุณไม่รู้จักการเอ็นจอยไลฟ์ด้วยวิธีอื่น การตายคางานก็เป็นวิธีตายที่ไม่เลวครับ

งานวิจัยทางการแพทย์ทุกงานให้ผลตรงกันว่าผู้สูงวัยที่มีงานทำมีเป้าหมายชีวิตที่แน่นอนและเป็นรูปธรรมในแต่ละวันจะมีสุขภาพดีกว่าผู้สูงวัยที่ไม่มีอะไรทำและใช้ชีวิตไปวันๆอย่างไม่มีเป้าหมายอะไรแน่นอน แม้งานวิจัยเชิงสำรวจของสมาคมผู้สูงอายุไทยเพื่อจะดูว่าผู้สูงอายุไทยต้องการอะไรมากที่สุด คำตอบที่ได้ก็คือต้องการมีงานทำ ดังนั้น การที่คุณคิดจะทำงานจนตายคางานผมไม่มีอะไรคัดค้านครับ เอาแบบที่คุณชอบ

2.. ถามว่าจะแก้ปัญหาที่วิธีใช้ชีวิตหลังเกษียณไม่เหมือนกับของภรรยาอย่างไรดี ตอบว่าแก่แล้วทางใครทางมันดีที่สุดครับ เพราะเวลาตายต่างก็ต้องตายคนเดียวอีกคนไม่ได้ตายด้วย ที่คุณคิดเป็นห่วงภรรยาอยากตามไปปกป้องคุ้มครองเธอนั้น โดยสถิติคุณต้องตายก่อนเธอนะครับ แล้วคุณจะเป็นผีมาปกป้องคุ้มครองเธอต่อไปหรือไง ถ้าคุณห่วงเธอขนาดนั้นจริง และหากชาติหน้ามีจริง ผมว่าคุณไม่แคล้วต้องมาเกิดเป็นหมาแมวแถวๆข้างบ้านภรรยาซะละกระมังครับ

ผมเห็นทึ่หมู่บ้านมวกเหล็กวาลเลย์ที่ผมอยู่นี่มีผู้หญิงสว.ตัวคนเดียวมาปลูกบ้านหรือซื้อบ้านอยู่เองโดดๆตั้งหลายคน บางคนก็เจ็ดสิบกว่าแล้ว ก็ไม่เห็นใครเขาจะมีปัญหาร้องกระต๊าก กระต๊าก ว่าชีวิตไม่ปลอดภัยแต่อย่างใด ไม่ใช่ว่าเธอเหล่านั้นจะไม่มี ผ. นะครับ บางคนก็มีลูกมีสามีแต่บั้นปลายก็ตัดสินใจยกมรดกให้ลูกและทิ้งสามีไว้กรุงเทพแล้วตัวเองมาใช้ชีวิตในแนวทางที่ตัวเองชอบ ดังนั้นคุณอย่าไปห่วงเรื่องการต้องตามไปคุ้มครองภรรยาเลย ว่าแต่ตัวคุณถ้าภรรยาไม่อยู่ด้วยคุณจะเอาตัวรอดได้หรือเปล่าละครับ ถ้าคุณเขียนจดหมายมาโวยวายครั้งนี้เพราะลึกๆแล้วคุณขาดการสนับสนุนจากภรรยาไม่ได้ นั่นเป็นปัญหาของคุณแล้ว ไม่ใช่ของภรรยา คุณต้องแก้ปัญหาเอาเอง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

06 ตุลาคม 2564

นมวัวและแป้งสาลีกับโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง

เรียน คุณหมอสันต์ ที่เคารพ       

ดิฉันเป็นคนไทย อาศัยอยู่ที่รัฐเทนเนสซี, อเมริกา ดิฉันติดตามฟังคุณหมอพูดในยูทูป ได้รับความรู้และนำไปประยุกต์ใช้กับตัวเองได้ผลดีมาก ขอบพระคุณหมอที่ให้ความรู้และแนวคิดต่างๆซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการรักษาสุขภาพค่ะ        ดิฉันมีประสบการณ์ที่ทำให้เชื่อว่า autoimmune disease เช่น Hashimoto’s diseaseและArthritisสามารถ ป้องกันและรักษาให้กลับคืนสู่ภาวะปกติได้หากรู้สิ่งกระตุ้นและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นนั้นและมีอาการยังไม่รุนแรงเกินไป       ดิฉันคิดว่าปัจจัยที่ทำให้เกิด autoimmune disease คือ1. Genetic predisposition 2. สิ่งกระตุ้นที่มี molecular mimicry with human antigen induces cross reaction 3. Immune response 4. Stress increases pro inflammatory cytokines 5. Some nutrients exacerbate inflammation ดิฉันเเพ้glutenและdairy TPO Ab >1,300, TSH 1.99, FreeT4 1.38 ผลตรวจนี้ทำหลังจากงดกิน gluten และ dairy 6 เดือน แพทย์โรคต่อมไร้ท่อจะให้ฮอร์โมนไทรอยด์เมื่อมีอาการและ/หรือเมื่อค่าTSH >10 ไม่มีอาการจึงไม่ได้กินยาแพทย์ให้ติดตามค่าTSH  สำหรับarthritisจะมีอาการบวมแดงตามข้อมือเมื่อดื่มนมและกินผลิตภัณฑ์นม จะหายเองเมื่อเลิกกิน หลังจากไม่กินอาหารที่แพ้ไม่มีอาการจึงไม่ได้กินยา    หากความเชื่อของดิฉันเป็นจริง ดิฉันมีโครงการที่จะหากลุ่มบุคคลที่มีความเชื่อและมีเป้าหมายเดียวกันคือดูแลและช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพเนื่องจากแพ้glutenและมีปัญหา autoimmune disease โดยให้บริการ อาหารที่เหมาะสม ส่งเสริมและสนับสนุนการออกกำลังกาย และฝึกผ่อนคลายความเครียดเพื่อช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดิฉันแนบ Proposal: Gluten Free Independent Senior Living Community ขอความกรุณาคูณหมอช่วยดูโดยเฉพาะ Background ว่าถูกต้องหรือไม่จะได้แก้ไขให้ถูกต้องก่อนที่จะเสนอโครงการนี้ค่ะ  ไม่ทราบว่าคุณหมอสนิทกับ Dr. Scott Stoll และพอจะทราบว่าเขาสนใจautoimmune disease ไหมคะ? เท่าที่ทราบเขาอยู่รัฐเทนเนสซี หากเขาคิดจะเปิด Autoimmune Rehabilitation และมองหาที่ดิน หากสนใจบริเวณที่ดิฉันพักซึ่งไม่ไกลจาก Great Smoky Mountains National Park ให้เขาอีเมล์ติดต่อดิฉันได้ (ช่วงที่นอนรพ.เพราะอุบัติเหตุดิฉันถูกเจาะคอทำให้เสียงแปลกไปหากไม่คุ้นเคยกันจะฟังลำบากมากโดยเฉพาะทางโทรศัพท์) ดิฉันมีที่ดินทั้งหมด  91.2 เอเคอร์ ดิฉันจะแบ่งขายให้ ดิฉันจะเก็บไว้บางส่วนเพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกวิปัสสนากรรมฐาน

คำถาม: (1) กินยาปฏิชีวนะปริมาณมากและกินบ่อยมีผลต่อmicrobiome–>genetic mutations?–>affect immune function?–>health problem? (2) gluten (gliadin) and dairy (casein) molecular mimicry with tissue transglutaminase–>cross reactivity–>autoimmune Ab to various tissues/organs that have tissue transglutaminase–>Inflammation of the tissues/organs–>autoimmune disease? (3) อายุมากขึ้น ปัจจุบันอายุ 62ปีค่ะ  ทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานลดลง และแพ้ง่ายขึ้น?

ขอบพระคุณคุณหมอล่วงหน้าที่จะช่วยอธิบายข้อสงสัยค่ะด้วยความเคารพ

………………………………………………………………………….

ตอบครับ

1.. ถามว่าหมอสันต์รู้จัก Dr.Scott Stoll ไหม ตอบว่ารู้จักครับและเป็นเพื่อนกัน สอนทางยูทูปร่วมกันเป็นบางครั้ง แต่เราคบหากันเพราะต่างก็เป็นแพทย์ที่สนใจการใช้อาหารพืชเป็นหลักมารักษาโรคเหมือนกันจึงคุยกันบ่อย แต่จะให้ถามไถ่เสนอขายที่ดินคงจะผิดสะเป๊คของการคบหากันของนักวิชาชีพกระมังครับ ผมขอไม่ยุ่งเกี่ยวดีกว่า

2. ถามว่าจะทำนิคมคนสูงวัยในรูปแบบ senior living community สำหรับคนที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันทำลายตนเองให้มาอยู่ด้วยกันเรียนรู้แก้ปัญหาสุขภาพไปด้วยกันจะดีไหม ตอบว่าดีแน่ครับถ้ามีลูกค้า เพราะธุรกิจแนวที่คุณว่ามาเป็นธุรกิจในแนวสร้างสรรค์ มันย่อมดีกว่าเอาที่ดินไปทำบ่อนกาสิโนหรือโรงฆ่าสัตว์แน่นอน แต่ธุรกิจทุกชนิดต้องผ่านด่านแรกก่อน นั่นคือคุณต้องมีลูกค้าก่อน เผอิญเรื่องการหาลูกค้านี้หมอสันต์ไม่ถนัดเลยจริงๆจึงช่วยอะไรคุณไม่ได้ แผนธุรกิจที่ส่งมาให้นั้นขอโนคอมเมนต์นะครับ เพราะหากผมซี้ซั้วสนับสนุนแล้วคุณทุ่มสุดตัวทำไปแล้วเจ๊ง ผมก็จะเป็นบาป หิ..หิ

3. ถามว่ากินยาปฏิชีวนะปริมาณมากและกินบ่อยมีผลต่อแบคทีเรียในลำไส้ (microbiome) แล้วทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในรหัสพันธุกรรม แล้วมีผลกระทบต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งมีผลต่อสุขภาพ จริงไหม ตอบว่าจริงครับ ทั้งหมดนั้นมีหลักฐานวิทยาศาสตร์บ่งชี้ไว้แล้วอย่างชัดเจนแน่นอน

3. ถามว่าโปรตีนในแป้งสาลี (gluten) และในนมวัว (casein) ลักษณะโมเลกุลของมันคล้าย transglutaminase ในเนื้อเยื่อปกติของคน ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันสร้างแอนตี้บอดี้มาทำลายมันและพลอยทำลายเนื้อเยื่อตัวเองไปด้วย ทำให้เกิดการอักเสบในเนื้อเยื่อเหล่านั้นกลายเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง จริงไหม ตอบว่าทั้งหมดนี้เป็นสมมุติฐานซึ่งวงการแพทย์พยายามจะเชื่อมโยงขึ้นมาจากการพบความจริงในทางคลินิกว่ากลูเต็นก็ดี นมวัวก็ดี มีความสัมพันธ์กับโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองมากกว่าอาหารอื่น กลไกการเกิดโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองจากอาหารนั้นเป็นที่ยอมรับกันดีแล้วในวงการแพทย์ในกรณีกลูเต็น ว่าในคนที่มีพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อมเอื้อให้เกิดเรื่อง จะมีโปรตีนชื่อไกลอาดิน (Gliadin) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลูเต็น ไปกระตุ้นเม็ดเลือดขาวชนิด T-cell แล้วทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไปทำลายเนื้อเยื่อลำไส้ของตัวเองกลายเป็นการอักเสบเรื้อรังจนลำไส้ดูดซึมวิตามินและธาตุอาหารไม่ได้และล้มป่วยด้วยโรคซึ่งเรียกว่า ciliac disease ซึ่งเป็นโรคที่เกิดได้กับบางคนเท่านั้น ไม่ใช่กับทุกคน ดังนั้นท่านผู้อ่านทั่วไปอย่าไปตาเหลือกไม่กล้ากินแป้งสาลี

ส่วนกลไกการเกิดโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองเมื่อดื่มนมวัวนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ ถ้าจริงมีรายละเอียดอย่างไร เรื่องนี้วงการแพทย์กระแสหลักยังตกลงกันไม่ได้ เพียงแค่ยอมรับสถิติตามความเป็นจริงว่าการดื่มนมวัวตั้งแต่อายุน้อยทำให้เด็กโตขึ้นแล้วจะเพิ่มโอกาสการเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 1 ซึ่งเป็นโรคในกลุ่มภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อตนเองเช่นกัน ส่วนข้อที่ว่าโมเลกุลของนมวัวและเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีโมเลกุลที่หน้าตาเหมือน tissue transglutaminase ของคนจึงเป็นตัวแหย่ให้ร่างกายคนสร้างภูมิคุ้มกันมาทำลายเนื้อเยื่อตัวเองนั้น ในชั้นนี้ยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ยังไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ยอมรับกันทั่วไปในวงการแพทย์ ยังต้องถกเถียงกันระดับปากฉีกถึงในหูไปอีกนาน เพราะมันเป็นเรื่องที่จะกระเทือนถึงหม้อข้าวของคนจำนวนมากที่ทำมาหากินอยู่กับนมและเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมไปถึงแพทย์หลายคนที่ชอบกินสะเต๊กด้วย ฮิ ฮิ

4. ถามว่าอายุมากขึ้น ทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานลดลงจริงไหม ตอบว่าจริงครับ เพราะเซลในระบบภูมิคุ้มกันลดจำนวนลงและขี้เกียจมากกว่าเดิม ส่วนการมีอายุมากขึ้นจะเป็นสาเหตุให้แพ้ง่ายขึ้นไหม อันนี้ตอบว่าอายุมากขึ้นแล้วระบบภูมิคุ้มกันชอบตีรวนมากขึ้นอาจจะตรงความจริงกว่า จะตีรวนแบบไหนนั้นขึ้นกับปัจจัยประกอบในแต่ละคนครับ

5. ข้อนี้ผมแถมให้สำหรับท่านผู้อ่านทั่วไปที่ป่วยเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเช่นข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรค SLE โรคเบาหวานประเภทที่ 1 โรคผิวหนังชนิด psoriasis เป็นต้น นอกเหนือจากการรักษาปกติที่แพทย์แผนปัจจุบันให้แล้ว ผมแนะนำให้ทดลองเปลี่ยนอาหารไปกินอาหารแบบวีแกนคือไม่มีเนื้อสัตว์เลยควบคู่ไปด้วยสัก 3-6 เดือน หากอาการของท่านดีขึ้นจนหยุดยาได้หมดก็แสดงว่าการปรับอาหารนี้ถูกโฉลกกับโรคของท่านแน่นอน มีงานวิจัยเรื่องนี้รายงานไว้ในวารสารการแพทย์บ้างพอควร ตัวผมเองก็เคยแนะนำคนป่วยหลายท่านให้ทดลองทำเช่นนี้แล้วพบว่าได้ผลดีเกินความคาดหมาย ถ้าเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งท่านแอบทดลองดูก็ไม่เสียอะไรนี่ครับ 3-6 เดือนไม่เวอร์คก็กลับมากินแบบเดิมใหม่ก็ได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

04 ตุลาคม 2564

หมอสันต์พูดเรื่องการนอนไม่หลับอีกครั้ง

ผมมีปัญหานอนไม่หลับ นอนพลิกไปพลิกมาหลายชั่วโมง ตื่นขึ้นมาก็ไม่สดชื่น ตั้งใจทำงานแต่เอาดีไม่ได้ บางครั้งคิดงานทำงานมามากผมจะพยายามหลับทันทีเพราะเขาว่าสมองมันจะจัดหิ้งหับนำความจำเข้าไปเก็น แต่ผมก็ไม่วายลืม ทำงานไม่ทันใจนาย โดนดุบ่อย ยิ่งเครียด มันเป็นเพราะสมรรถภาพของผมเสื่อมด้วยหรือเปล่าครับทำให้ผมนอนไม่หลับ ทุกวันนี้ผมต้องอาศัยไวอากรา

ตอบครับ

ผมตอบเรื่องการนอนไม่หลับไปแล้วบ่อยมากหลายแง่ หลายประเด็น แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ คุณเขียนมาก็เป็นโอกาสที่จะเอามาทบทวนประเด็นสำคัญกันอีกครั้ง

ประเด็นที่ 1. การนอนไม่หลับสัมพันธ์กับการมีลูกอัณฑะเล็กและเซ็กซ์เสื่อม

ไม่ใช่คุณเซ็กซ์เสื่อมแล้วนอนไม่หลับดอก แต่คุณนอนไม่หลับแล้วทำให้เซ็กซ์คุณเสื่อม เพราะงานวิจัยพบว่าผู้ชายที่นอนหลับไม่เกินห้าชั่วโมงต่อคืนมีลูกอัณฑะเล็กกว่าผู้ชายที่นอนหลับ 7-8 ชม.ต่อคืน และมีระดับฮอร์โมนเพศชายต่ำเทียบเท่าคนที่แก่กว่าตน 10 ปี ดังนั้นให้แก้ที่การนอนหลับก่อน แล้วเซ็กซ์จะดีขึ้นเอง

ประเด็นที่ 2. การนอนหลับจำเป็นทั้งก่อนและหลังการมีประสบการณ์เรียนรู้เพื่อจดจำ

ในแง่ของการใช้สมองในการเรียนรู้จดจำ เรารู้มานานแล้วว่าคนเราต้องมีเวลานอนหลับเพื่อให้สมองเอาประสบการณ์ที่เรียนรู้ไปในวันนั้นเข้าเก็บเป็นความจำระยะยาว แต่หลักฐานใหม่พบด้วยว่าการนอนหลับให้พอก่อนวันเวลาที่จะมีประสบการณ์สำคัญก็เป็นปัจจัยจำเป็นในการเตรียมสมองให้ดูดซับความจำได้ดีขึ้น งานวิจัยด้วย MRI เปรียบเทียบกลุ่มที่ให้นอนเต็มกับให้นอนน้อยพบว่าหลังตื่นนอนแล้วให้เข้าชั้นเรียนเพื่อจดจำความรู้ต่างๆแล้วทำการสอบ พบว่าพวกนอนเต็มทำคะแนนได้มากกว่าพวกที่นอนน้อยถึง 40% เมื่อดูที่ฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ซึ่งเปรียบเหมือน in box ถ้าสมองเป็นอีเมล ก็จะพบว่าในกลุ่มที่นอนมาเต็มมีกิจกรรมสมองเกิดขึ้นแยะมากขณะที่กลุ่มอดนอนมีกิจกรรมสมองน้อยกว่า ดังนั้นการอดนอนก็คือการปิด in box ของสมองนั่นเอง อะไรเข้ามาก็ไม่เก็ท เด้งทิ้งหมด ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มที่หลับมาเต็มยังพบว่ามีคลื่นสมองขนาดใหญ๋เกิดขึ้นขณะหลับลึกซึ่งเป็นที่เกิดของคลื่นกิจกรรมไฟฟ้าที่เรียกว่า sleep spindle ตรงนี้เสมือนเป็นการเซฟข้อมูลลงไฟล์เปลี่ยนความจำระยะสั้นเป็นเรื่องราวสำหรับการจดจำระยะยาวขณะหลับ

ประเด็นที่ 3. การนอนไม่หลับทำให้เป็นสมองเสื่อมแน่นอน

ใครๆก็รู้ว่าคนเราแก่แล้วจะหลงลืมง่ายขึ้นและเรียนรู้ช้าลง ทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พบทั้งในคนแก่ คนเป็นอัลไซเมอร์ และคนนอนไม่หลับ ดังนั้นการนอนหลับถือว่าเป็นชิ้นส่วนสำคัญของโรคอัลไซเมอร์ที่เราเข้าไปแก้ไขแทรกแซงได้ ขณะที่ชิ้นส่วนอื่นเช่นเนื้อสมองเหี่ยวลงเราเข้าไปแก้ไขอะไรไม่ได้

ประเด็นที่ 4. การนอนไม่หลับสัมพันธ์กับโรคหัวใจหลอดเลือด

ถ้าเรามองตรงที่การปรับเลื่อนนาฬิกาตามความสั้นยาวของวัน (day light time) ในฤดูใบไม้ผลิซึ่งกลางคืนสั้นลงพบว่าอัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเพิ่มขึ้น 24% ขณะที่ในฤดูใบไม้ร่วงซึ่งกลางคืนยาวขึ้นการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันลดลง 21% ความผันแปรนี้เกิดกับอัตราอุบัติเหตุ และอัตราฆ่าตัวตายด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะการนอนหลับมีกลไกซับซ้อนที่จะลดการอักเสบเรื้อรังลง

ประเด็นที่ 5. การนอนหลับมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันมาก

โดยเฉพาะต่อเซลนักฆ่าหรือ NK cell ซึ่งเป็นเหมือนตำรวจลับของระบบภูมิคุ้มกันที่สามารถแยกแยะได้ว่าเซลหรือชิ้นส่วนไหนเป็นสิ่งแปลกปลอมที่อันตรายแล้วกำจัดได้เองเลยโดยไม่ต้องรอใครสั่ง มันเป็นตัวสำคัญในการทำลายเซลมะเร็ง งานวิจัยพบว่ากลุ่มที่ให้อดนอนคืนเดียวแค่ 4 ชั่วโมงแล้วตรวจกิจกรรมของ NK cell พบว่าลดลงไปถึง 70% คือกลายเป็นภูมิคุ้มกันบกพร่องไปเลย ซึ่งสอดคล้องกับสถิติความสัมพันธ์ระหว่างการอดนอนกับมะเร็งหลายชนิดเช่นมะเร็งลำไส้ ต่อมลูกหมาก และเต้านม ความสัมพันธ์นี้มีชัดเจนแน่นอนจนองค์การอนาม้ยโลก (WHO) ประกาศว่าการทำงานเป็นกะซึ่งต้องอดนอนบ่อยเป็นสารก่อมะเร็ง (carcinogen) ตัวหนึ่ง

ประเด็นที่ 6. การนอนไม่หลับเปลี่ยนพันธุกรรมให้เลวลงได้

งานวิจัยเอาคนกลุ่มหนึ่งมาให้นอนแค่วันละ 6 ชั่วโมงนานหนึ่งสัปดาห์แล้วตรวจความเปลี่ยนแปลงในยีน (DNA) พบว่า 711 ยีนมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น กล่าวคือยีนกลุ่มหนี่งที่ทำหน้าที่ช่วยงานระบบภูมิคุ้มกันจะหยุดการทำงาน (down regulated) ขณะที่ยีนกลุ่มที่เสริมการอักเสบเรื้อรังและการเติบโตของเนื้องอกจะถูกกระตุ้นให้ทำงานมากขึ้น (up regulated) ทำให้เป็นโรคเช่นโรคหัวใจหลอดเลือดเพิ่มขึ้นผ่านกลไกกระตุ้นยีนก่อการอักเสบเรื้อรัง และโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นผ่านการระงับยีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันและกระตุ้นยีนกระตุ้นการเติบโตของเนื้องอก

ประเด็นที่ 7. การจะนอนหลับดีต้องทำอย่างไร

  1. หลีกเลี่ยงสารกระตุ้นสมอง เช่นแอลกอฮอล์ กาแฟ และยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาททุกชนิด รวมทั้งยาลดความดันบางตัว
  2. เข้านอนให้เป็นเวลา ตื่นเป็นเวลา ทุกวัน
  3. ลดอุณหภูมิร่างกายลงด้วยการอาบน้ำเย็นก่อนเข้านอน
  4. ปรับอุณหภูมิห้องนอนให้เย็น งานวิจัยพบว่าคนส่วนใหญ่จะหลับดีที่สุดที่อุณหภูมิห้อง 18 องศาซี.
  5. ใช้ห้องนอนเป็นที่นอนอย่างเดียว อย่าใช้ทำอย่างอื่น เหมือนอย่างเราไม่ใช่โต๊ะกินข้าวเป็นที่รอให้เราเกิดความหิว เราก็จะไม่ใช้เตียงนอนเป็นที่รอให้เกิดความง่วง หากนอนไม่หลับหลายนาทีให้ลุกออกไปห้องอื่น ทำอย่างอื่น ง่วงแล้วค่อยเข้ามานอนต่อ
  6. อย่าตลุยทำอะไรให้จบแม้จะดึกๆแล้วโดยหวังมานอนชดเชย เพราะงานวิจัยพบว่าการหลับย้อนหลังไม่อาจชดเชยการนอนหลับปกติที่เสียไปได้ การนอนหลับไม่เหมือนฝากเงินธนาคาร มีเหลือฝากไว้ ไม่มีมาเบิก ไม่ใช่อย่างนั้น ยิ่งทำอย่างนั้นสุขภาพยิ่งเสื่อมเร็ว มนุษย์เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่จงใจทำให้ตัวเองไม่ได้นอนทั้งๆที่ถึงเวลาและง่วงแล้ว เออ แล้วทำไมต้องทำอย่างนั้นด้วยละครับ
  7. ออกกำลังกายให้ถึงระดับหนักพอควรจะช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น
  8. ออกแดดจะช่วยให้การปล่อยฮอร์โมนควบคุมการนอนหลับได้ดีขึ้น
  9. อย่ากินอะไรใน 3 ชม.ก่อนนอน ร่างกายจะไม่หลับสนิทหากอวัยวะบางระบบยังทำงานอยู่

ราตรีสวัสดิ์ และขอให้ท่านผู้อ่านนอนหลับดีนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

03 ตุลาคม 2564

แค้มป์พลิกผันโรคด้วยตนเอง (RDBY-19)

ในโอกาสปลดล็อคดาวน์ ผมขอแจ้งเปิดแค้มป์พลิกผันโรคด้วยตนเอง (Reverse Disease By Yourself – RDBY) ครั้งใหม่ (RDBY-19 (วันที่ 5-9 พย. 64) ดังนี้

     1. ประเด็นสำคัญของการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

1.1 ขยายเวลาเป็น 5 วัน 4 คืน
1.2 ลดจำนวนครั้งการมาเข้าแค้มป์เหลือครั้งเดียว แล้วติดตามอย่างต่อเนื่องผ่าน WWC Platform บนอินเตอร์เน็ท
1.3 แยกลงทะเบียนระหว่างผู้ป่วยกับผู้ดูแล โดยผู้ดูแลจะได้ที่พัก กิน นอน เรียน ทำกิจกรรมเช่นเดียวกับผู้ป่วย แต่จะไม่ได้เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและประเมินปัญหาสุขภาพ และจะไม่มีคำสรุปสุขภาพของแพทย์ในเฮลท์แดชบอร์ด

     2. ความเป็นมาของ RDBY

มันเริ่มจากตัวผมเองเคยป่วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ความที่อยากหนีจากแนวทางการรักษาแบบโรงพยาบาล (กินยา สวนหัวใจ บอลลูน ผ่าตัดบายพาส) จึงทบทวนงานวิจัยเพื่อหาทางออกอื่นและได้พบว่าการจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรคโดยตัวผู้ป่วยเอง ทั้งในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด การเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง ทำให้โรคดีขึ้นกว่าการรักษาในโรงพยาบาลเสียอีก จึงลงมือทำกับตัวเอง เมื่อเห็นว่าได้ผลดีจนสามารถพลิกผันโรคให้หายจากเจ็บหน้าอกและเลิกกินยาความดันยาไขมันได้หมด จึงตัดสินใจเลิกอาชีพหมอผ่าตัดหัวใจเปลี่ยนอาชีพมาเป็นหมอส่งเสริมสุขภาพ แต่เมื่อได้นั่งตรวจและสอนคนไข้ทีละคนอยู่ที่โรงพยาบาลก็พบว่ามันใช้เวลามากและช่วยคนไข้ได้เป็นจำนวนน้อย และวิธีนั่งตรวจมันยังแก้ปัญหาสำคัญที่คนไข้ต้องการไม่ได้ นั่นคือการขาดทักษะปฏิบัติการ ผมจึงเปลี่ยนแนวทางมาให้ความรู้กับคนป่วยคราวละหลายๆคน ทั้งในรูปแบบเขียนบล็อกตอบคำถาม และในรูปแบบแค้มป์กินนอนเพื่อเรียนรู้ทักษะในการป้องกันและพลิกผันโรคด้วยตัวเอง (RDBY) ซึ่งก็ทำมาได้เกือบสี่ปี ทำไปสิบกว่ารุ่นแล้ว

     3. แค้มป์ RDBY เหมาะสำหรับใครบ้าง

แค้มป์ RDBY จัดขึ้นสำหรับผู้ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทุกโรค โดยเน้นที่ (1) โรคหัวใจขาดเลือด (2) โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต) (3) โรคเบาหวาน (4) โรคความดันสูง (5) โรคไขมันในเลือดสูง (6) โรคอ้วน รวมทั้งโรคที่เป็นผลสืบเนื่องจากโรคเรื้อรังเหล่านี้เช่นโรคไตเรื้อรังเป็นต้น

แต่ในกรณีที่เป็นโรคมะเร็ง แนะนำให้ไปเข้ารีทรีตฟื้นฟูผู้ป่วยมะเร็ง (CR) จะได้ประโยชน์มากกว่า

         4. ภาพรวมของแค้มป์ RDBY

4.1 หลักสูตรนี้เป็นการใช้วิธีการแพทย์แผนปัจจุบัน (modern medicine) ในรูปแบบการแพทย์แบบอิงหลักฐาน (evidence based medicine) โดยมองปัญหาของผู้ป่วยแบบองค์รวม (holistic care)

4.2 หลักสูตรนี้จัดสำหรับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เน้นที่โรคหัวใจ อัมพาต เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน

4.3 ในกรณีที่ผู้สมัครเข้าร่วมโปรแกรมนี้มีแพทย์เฉพาะทางเจ้าประจำอยู่แล้ว ป่วยไม่ต้องเลิกจากแพทย์เฉพาะทางที่ดูแลกันมาแต่เดิม เพราะแพทย์ประจำตัวของท่านที่เวลเนสวีแคร์จัดทำหน้าที่เป็นแพทย์ประจำครอบครัว (family physician) ของท่านและเป็นพี่เลี้ยงให้ท่านดูแลตัวเองเป็น ส่วนการปรึกษาและใช้บริการของแพทย์เฉพาะทางเฉพาะโรคที่ทำมาแต่เดิมนั้นก็ยังทำต่อไปเหมือนเดิม

4.4 ผู้สมัครเข้าร่วมโปรแกรมนี้ไม่จำเป็นต้องยกเลิกยาหรือการรักษาที่ตนเองได้มาแต่เดิมในขณะที่เริ่มหันมารักษาด้วยวิธีดูแลตนเอง เพราะการรักษาโรคตามโปรแกรมนี้ใช้หลักวิชาการแพทย์แผนปัจจุบันเช่นเดียวกันกับการรักษาในโรงพยาบาล เพียงแต่มุ่งโฟกัสที่การเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ป่วยในเรื่องการกินการออกกำลังกายและการใช้ชีวิตจนถึงระดับที่ผู้ป่วยดูแลตัวเองได้ด้วยตนเอง จึงสามารถทำคู่ขนานไปกับการรักษาในโรงพยาบาลได้ เมื่อผู้ป่วยดูแลตนเองได้ดีขึ้นแล้ว ตัวชี้วัดสุขภาพต่างๆจะค่อยๆบ่งชี้ว่าความจำเป็นที่จะต้องพึ่งการรักษาด้วยยาในโรงพยาบาลจะค่อยๆลดลงไปเองโดยอัตโนมัติจนสามารถเลิกยาได้ในที่สุด

4.4 ผู้ป่วยจะต้องมาเข้าแค้มป์ หนึ่งครั้ง นาน 5 วัน 4 คืน

4.5 ในวันแรก ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจร่างกายโดยแพทย์ของเวลเนสวีแคร์ จัดทำฐานข้อมูลสุขภาพ วางแผนสุขภาพ และเก็บรวมรวมผลการตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษต่างๆไว้บนเฮลท์แดชบอร์ด (Health Dashboard) ซึ่งทั้งทีมแพทย์, ผู้ช่วยแพทย์ของเวลเนสวีแคร์ และตัวผู้ป่วยเองสามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้ตลอดเวลา

4.6 ในระหว่างที่อยู่ในแค้มป์ ผู้ป่วยจะได้เรียนความรู้สำคัญเกี่ยวกับโรคของตน ได้ฝึกทักษะที่จำเป็นในการจัดการโรคของตน การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด การสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองอย่างต่อเนื่อง การโภชนาการ ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องทำอาหารแบบกินพืชเป็นหลักในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ โดยไม่ใช้น้ำมัน (low fat PBWF) ด้วยตนเองทุกมื้อ อย่างไรก็ตาม ทางเวลเนสวีแคร์จะจัดทำอาหารสำรองไว้หนึ่งรายการในแต่ละมื้อ สำหรับผู้ที่ไม่สามารถทำอาหารด้วยตนเองได้เลย

4.7 เมื่อสิ้นสุดแค้มป์ 5 วันแล้ว ผู้ป่วยจะกลับไปอยู่บ้านโดยนำสิ่งที่เรียนรู้จากแค้มป์ไปปฏิบัติที่บ้าน โดยสื่อสารกับทีมแพทย์และพยาบาลของเวลเนสวีแคร์ผ่านเฮลท์ WWC Platform ทางอินเตอร์เน็ท ผู้ป่วยสามารถติดต่อสอบถามเรื่องต่างๆรวมทั้งการปรับลดขนาดเมื่อตัวชี้วัดเปลี่ยนไปด้วย โดยคาดหมายว่าภายในหนึ่งปีผู้ป่วยจะสามารถดูแลตัวเองต่อไปได้ด้วยตัวเอง

สมาชิกสามารถใช้ WWC Platform นี้เป็นที่เก็บข้อมูลผลแล็บใหม่ๆ รวมทั้งภาพและวิดิโอ.ทางการแพทย์ ของตนได้ต่อเนื่อง สมาชิกสามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง แก้ไข ข้อมูลสุขภาพของตนได้ทุกรายการ ยกเว้น Doctor’s Summary ซึ่งต้องเขียนสรุปให้โดยแพทย์เท่านั้น

อนึ่ง อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง สมาชิกมีหน้าที่ปรับปรุงข้อมูลดัชนีสุขภาพสำคัญเจ็ดตัวของตนคือ (1) น้ำหนัก (2) ความดัน (3) น้ำตาล (4) ไขมัน (5) จำนวนผักผลไม้ที่กินต่อวัน (6) เวลาที่ใช้ในการออกกำลังกายต่อสัปดาห์ และ (7) การสูบบุหรี่ เพื่อให้แพทย์ประจำตัวหรือทีมงานผู้ช่วยแพทย์ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงสุขภาพและวางแผนสุขภาพให้และบันทึกไว้บนแดชบอร์ด

สมาชิกสามารถขอรับคำปรึกษาปัญหาจากแพทย์ประจำตัวของหรือทีมงานผู้ช่วยแพทย์โดยเขียนคำถามผ่านมาทาง WWC Platform คำถามของสมาชิกจะได้รับการสนองตอบโดยผู้ช่วยแพทย์ที่เฝ้า แดชบอร์ดอยู่ ซึ่งจะปรึกษาแพทย์ประจำตัวของสมาชิกในกรณีที่เป็นปัญหาที่ต้องแนะนำโดยแพทย์ การตอบคำถามนี้จะมีประสิทธิภาพสูงสุดเพราะขณะตอบแพทย์หรือทีมงานมีข้อมูลสุขภาพของสมาชิกอยู่ตรงหน้าอยู่แล้ว

สมาชิกสามารถสั่งพิมพ์ใบสรุปข้อมูลสุขภาพ (Patient Summary) แบบหน้าเดียวซึ่งเขียนโดยแพทย์ประจำตัวของตน ไปใช้เพื่อเวลาไปรับการตรวจรักษาในสถานพยาบาลต่างๆได้ทุกเมื่อ

4.8 ในกรณีที่เป็นผู้ทุพลภาพหรือช่วยเหลือตนเองไม่ได้ซึ่งตามปกติต้องมีผู้ดูแลประจำตัวอยู่แล้ว ต้องนำผู้ดูแลมาด้วย โดยผู้ดูแลต้องลงทะเบียนเป็นผู้ดูแล ทั้งนี้นอกจากอาหารและที่พักแล้ว ผู้ดูแลยังสามารถเข้าร่วมเรียนรู้และฝึกทักษะต่างๆเพื่อประโยชน์ในการติดตามดูแลผู้ป่วย แต่ผู้ดูแลจะไม่ได้พบแพทย์เพื่อตรวจประเมินปัญหาสุขภาพของตนเอง และจะไม่มีบทสรุปสุขภาพของแพทย์ในแดชบอร์ด ในกรณีที่ประสงค์จะได้รับการตรวจสุขภาพและประเมินปัญหาโดยแพทย์ด้วย ผู้ดูแลจะต้องลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยอีกคนหนึ่งแยกจากตัวผู้ป่วยที่ตนดูแล เพื่อให้ได้คิวเวลาที่จะเข้าพบแพทย์ซึ่งจำกัดสิทธิ์ไว้เฉพาะผู้ป่วยเท่านั้น

     5. หลักสูตร (Course Syllabus) 

     5.1 วัตถุประสงค์

     5.1.1 วัตถุประสงค์ในด้านความรู้
คาดหวังให้ผู้ป่วยรู้สิ่งต่อไปนี้
a. รู้เรื่องโรคของตัวเอง ทั้งพยาธิกำเนิด พยาธิวิทยา อาการวิทยา
b. รู้จักตัวชี้วัดที่ใช้เฝ้าระวังการดำเนินของโรค
c. รู้ทางเลือกวิธีรักษาทุกวิธี และรู้ประโยชน์และความเสี่ยงของแต่ละทางเลือกอย่างละเอียด
d. รู้จักยาทุกตัวที่ตนเองได้รับ ทั้งชื่อ ขนาด วิธีกิน กลุ่มยา ฤทธิ์ยา และผลข้างเคียง
e . รู้ว่าตนเองสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อให้ตนเองหายจากโรค
– ในแง่ของโภชนาการ รู้ประโยชน์ของอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ (low fat, plant based, whole food) รู้โทษของเนื้อแดงและเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการปรับแต่งหรือถนอม
– ในแง่ของการออกกำลังกาย รู้ประโยชน์และวิธีออกกำลังกายทั้งสามแบบ คือแบบแอโรบิก (aerobic exercise) แบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (strength training) และแบบเสริมการทรงตัว (balance exercise)
– ในแง่ของการจัดการความเครียด รู้ประโยชน์และวิธีจัดการความเครียดด้วยเทคนิคต่างๆซึ่งรวมศูนย์อยู่ที่การฝึกวางความคิด
– ในแง่ของแรงบันดาลใจ รู้จักพลังงานของร่างกาย (internal body) และการใช้พลังงานของร่างกายเป็นแหล่งบ่มเพาะแรงบันดาลใจให้ต่อเนื่อง
– ในแง่ของการร่วมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน รู้ประโยชน์และพลังของกลุ่มและรู้วิธีทำกิจกรรมในกลุ่ม
f. รู้วิธีใช้ Health Dashboard ในการป้องกันและพลิกผันโรคด้วยตนเอง

     5.1.2. วัตถุประสงค์ในด้านทักษะ
คาดหวังให้ผู้ป่วยสามารถทำสิ่งต่อไปนี้ด้วยตนเอง
a.       บริหารจัดการโรคของตนเองได้โดยใช้ตัวชี้วัดพื้นฐาน 7 ตัว (1) น้ำหนัก (2) ความดันเลือด (3) ไขมันในเลือด (4) น้ำตาลในเลือด (5) ปริมาณผักผลไม้ที่กินต่อวัน (6) เวลาออกกำลังกายต่อสัปดาห์ (7) การสูบบุหรี่
b.       เลือกอาหารสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูปในตลาดที่เป็นอาหารพืชแบบไม่สกัดไม่ขัดสีได้
c.       ทำอาหารทานเองที่บ้านได้ เช่น ผัดทอดอาหารโดยใช้น้ำหรือใช้ลมร้อนแทนน้ำมันได้ อบถั่วและนัทไว้เป็นอาหารว่างเองได้ ทำเครื่องดื่มจากผักผลไม้โดยไม่ทิ้งกากด้วยตนเองได้
f.        ประเมินสมรรถนะร่างกายของตนเองด้วยการสังเกตอัตราการหายใจ การนับชีพจรจากเครื่องช่วยนับ และการทำ One milk walk test ให้ตัวเองได้
g.       ออกกำลังกายแบบแอโรบิกได้ด้วยตนเองได้
h.       ออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยใช้ท่ากายบริหาร ดัมเบล สายยืด และกระบอง ได้ด้วยตนเอง
i.         ออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัวได้ด้วยตนเอง
j.         สามารถกำกับดูแลท่าร่าง (posture) ในชีวิตประจำวันของตนเองได้
k.       ผ่อนคลายความเครียดเฉียบพลันด้วยเทคนิค relax breathing ได้
l.         จัดการความเครียดในชีวิตประจำวันด้วยการฝึกวางความคิดผ่านเทคนิคต่างๆเช่น นั่งสมาธิ ไทชิ โยคะ ได้
m.     สามารถร่วมกิจกรรมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน ทั้งในเชิงเป็นผู้เปิดแชร์ความรู้สึกและเป็นผู้ให้การพยุงได้
n. สามารถใช้ Health Dashboard ในการดูแลตนเองต่อเนื่องได้ด้วยตนเอง

5.1.3    วัตถุประสงค์ในด้านเจตคติ
คาดหวังให้ผู้ป่วยเกิดเจตคติต่อไปนี้
a.       มีความมั่นใจว่าตนเองมีอำนาจ (empowered) ที่จะดลบันดาลให้โรคของตัวเองหายได้
b.       มีความมุ่งมั่นในพันธะสัญญา (commitment) ที่จะเป็นผู้ดูแลตนเองไม่ให้เป็นภาระแก่คนอื่น
c.       มีความอยาก (motivated) ที่จะมีชีวิตอย่างมีคุณภาพ มีความสุข

     6. ตารางกิจกรรมขณะอยู่ในแค้มป์ 

วันที่ 1 (ของ 5 วัน)

8.00-15.00 Registration & Meet with doctors
ลงทะเบียนเข้าแค้มป์ เช็คอินเข้าห้องพัก วัดดัชนีมวลกาย วัดความดันเลือด ตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ จัดทำเวชระเบียนส่วนบุคคล พบกับแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและจัดทำสรุปปัญหาสุขภาพเก็บไว้ในเวชระเบียน และขณะผลัดกันเข้าพบแพทย์ตามตารางเวลาที่จัดไว้ ทุกท่านต้องมาพบแพทย์ตรงตามเวลานัด เพราะท่านจะไปใช้เวลาของคนอื่นมิได้ และขณะผลัดกันเข้าพบแพทย์ตามตารางเวลาที่จัดไว้
16.30-17.00 น. Sprouting กิจกรรมเพาะเมล็ดงอกไว้ทำสลัด
17.00 – 19.00 น. Kitchen tour สาธิตสอนแสดงวิธีทำอาหารแบบ PBWF และเริ่มทำอาหารด้วยตนเองทานเอง

19.00 – 20.00 น. ชั่วโมงสันทนาการภายในกลุ่ม

วันที่ 2. (ของ 5 วัน)

6.30 – 8.00 น.
Morning health activities กิจกรรมสุขภาพยามเช้า (in-bed strength training exercise, meditation, sun salutation, Tai Chi.)

8.00 – 9.30
อาหารเช้าและเวลาส่วนตัว

9.30 – 12.00
Getting to know each other and learn from each other ทำความรู้จักกันและเรียนรู้จากโรคของกันและกัน
Tea break included

12.00 -14.00
อาหารกลางวันและเวลาส่วนตัว

14.00 – 15.00
Briefing. Plant-based, whole food บรรยายเรื่องโภชนาการที่มีพืชเป็นหลัก ไม่สกัด ไม่ขัดสี

15.00-17.00
Food shopping activities เรียนรู้จากกิจกรรมจ่ายตลาดฉลาดซื้อ
ชา และทำเวอร์คชอพจ่ายตลาดฉลาดซื้อ
Tea break included

17.00 – 19.00 น.
อาหารเย็นแบบ PBWF

วันที่ 3. (ของ 5 วัน)

6.30 – 8.00 น.
Morning health activities กิจกรรมสุขภาพยามเช้า (in-bed strength training exercise, meditation, sun salutation, Tai Chi.)

8.00 – 9.30
อาหารเช้าและเวลาส่วนตัว

9.30 – 10.30
Self management for heart disease จัดการโรคหัวใจขาดเลือดด้วยตนเอง

10.30 -10.45
Tea break พักดื่มน้ำชา

10.45-11.30
– Workshop: Blood pressure measurement ฝึกปฏิบัติ วิธีวัด บันทึก และวิเคราะห์ความดันเลือด
– Self management for hypertension จัดการโรคความดันเลือดสูงด้วยตนเอง

11.30 – 12.00
Dyslipidemia and Obesity การพลิกผันโรคไขมันในเลือดสูงและโรคอ้วน

12.00 -14.00
ทำอาหารกลางวันทานเองและเวลาส่วนตัว

14.00 – 15.00
Workshop: Self evaluation in exercise การประเมินตนเองในการออกกำลังกาย

15.00-16.00
Workshop: Muscle endurance and Balance exercise การฝึกกล้ามเนื้อและการกำลังกายแบบเสริมการทรงตัว

16.00 – 16.30
Tea break พักรับประทานน้ำชา

16.30-17.30
Moderate intensity exercise เรียนการออกกำลังกายแอโรบิกระดับหนักปานกลาง

17.30 – 19.00 น.
อาหารเย็นแบบ PBWF

19.00 – 20.00 น. ชั่วโมงสันทนาการภายในกลุ่ม

วันที่ 4. (ของ 5 วัน)

6.30 – 8.00 น.
Morning health activities กิจกรรมสุขภาพยามเช้า (in-bed strength training exercise, meditation, sun salutation, Tai Chi.)

8.00 – 9.30
อาหารเช้าและเวลาส่วนตัว

9.30 – 10.30
Self management for diabetese จัดการโรคเบาหวานด้วยตนเอง

10.30 -10.45
Tea break พักดื่มน้ำชา

10.45 -11.30
Self management for CKD จัดการโรคไตเรื้อรังด้วยตนเอง

11.30 -12.00
Self motivation การสร้างแรงบันดาลใจให้ตนเองอย่างต่อเนื่อง

12.00 -14.00
ทำอาหารกลางวันทานเองและเวลาส่วนตัว

14.00 – 15.00
ฺBriefing: Prevention of dementia การป้องกันสมองเสื่อม
Briefing: Neurocognitive assessment การตรวจประเมินสมองเสื่อม

15.00-16.00
Workshop: Neurocognitive game กิจกรรมเกมฝึกสมอง
Tea break included

16.00-17.00
Relaxing yoga กิจกรรมยืดเหยียดและผ่อนคลายด้วยโยคะ

17.00 – 19.00 น.
อาหารเย็นแบบ PBWF

19.00 – 20.00 น. ชั่วโมงสันทนาการภายในกลุ่ม

วันที่ 5. (ของ 5 วัน)

6.30 – 8.00 น.
Morning health activities กิจกรรมสุขภาพยามเช้า (in-bed strength training exercise, meditation, sun salutation, Tai Chi.)

8.00 – 9.30
อาหารเช้าและเวลาส่วนตัว

9.30 – 10.45
Workshop: Simple seven health risks management การจัดการโรคด้วยดัชนีง่ายๆเจ็ดตัว

10.45 -11.00
Tea break พักดื่มน้ำชา

11.00-12.00
Workshop: Health Dashboard การใช้แดชบอร์ดบนอินเตอรเน็ทเพื่อการติดตามต่อเนื่อง

12.00 -14.00
อาหารกลางวันและเวลาส่วนตัว

14.00 – 16.00

เวลาสำรองสำหรับผู้ที่ต้องการปรึกษาปัญหาส่วนตัว

     7. การเตรียมรับภาวะฉุกเฉินขณะเข้าแค้มป์

ผู้ป่วยที่มาเข้าโปรแกรมนี้ส่วนหนึ่งเป็นผู้ป่วยหนัก บ้างทำผ่าตัดบายพาสมาแล้ว บ้างทำบอลลูนมาแล้วคนละครั้งสองครั้ง บ้างมีหัวใจล้มเหลวแค่เดินสองสามก้าวก็หอบหรือเจ็บหน้าอกแล้ว บ้างเพิ่งเป็นอัมพาตมา ความเสี่ยงที่จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันหรือหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันหรืออัมพาตเฉียบพลันมีอยู่ตลอดเวลาแม้กระทั่งขณะนั่งหรือนอนอยู่เฉยๆ ความเสี่ยงนี้ผู้ป่วยทุกคนต้องยอมรับว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ตามโรคของตัวเอง แต่ตัวหมอสันต์เองซึ่งเป็นหมอผ่าตัดหัวใจมาก่อนก็ไม่ประมาทในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย ได้เตรียมการด้านความปลอดภัยขณะเข้าแค้มป์ทุกครั้งรวมไปถึงการมีอุปกรณ์เครื่องมือเพื่อรับมือกับภาวะฉุกเฉินได้เทียบเท่ากับห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลทั่วไป รวมทั้งขีดความสามารถที่จะเปิดหลอดเลือดให้น้ำเกลือหรือยาทางหลอดเลือดดำได้ทันที ขีดความสามารถที่จะใส่ท่อช่วยหายใจและช่วยการหายใจในภาวะฉุกเฉิน นอกจากนั้นยังมีขีดความสามารถที่จะช็อกไฟฟ้าหัวใจในกรณีฉุกเฉิน การประสานงานกับระบบรถฉุกเฉินและโรงพยาบาลใกล้เคียง และการมีพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติอยู่ประจำในแค้มป์ 24 ชั่วโมง มีแพทย์ที่ตามให้เข้ามาดูแลผู้ป่วยได้ทันทีตลอดการฝึกอบรม

ทั้งนี้อย่าได้เข้าใจผิดว่าการจะปรับวิถีชีวิตเพื่อพลิกผันโรคให้ตัวเองนั้นเป็นเรื่องอันตราย ความเป็นจริงไม่ใช่เลย การปรับการใช้ชีวิตทั้งอาหารและการออกกำลังกายเพื่อดูแลตัวเองให้ได้นั้นเป็นกลไกรักษาโรคตามธรรมชาติ มีอันตรายน้อยกว่าการรักษาด้วยยา บอลลูน หรือผ่าตัดในโรงพยาบาลอย่างเทียบกันไม่ได้ แต่ทางแค้มป์เตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยในแค้มป์ให้มากเพื่อให้ผู้ป่วยหนักซึ่งเป็นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากการเข้าแค้มป์ มาเข้าแค้มป์ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ปลอดภัยเท่าอยู่ในบ้านตัวเองเท่านั้น

     8. การลงทะเบียนเข้าแค้มป์ RDBY

วิธีลงทะเบียนเข้าเรียน

1. โทรศัพท์ลงทะเบียนกับเวลเนสวีแคร์ที่หมายเลข  0636394003
2. ลงทะเบียนทางไลน์ @wellnesswecare
3. ลงทะเบียนทางอีเมล host@wellnesswecare.com
ในทุกกรณีเมื่อได้ที่นั่งแล้ว จะต้องโอนเงินค่าลงทะเบียนเข้าบัญชี ธนาคารกสิกรไทย สาขาสมุทรปราการ ชื่อบัญชี  บริษัท เมก้า วี แคร์ จำกัด เลขที่บัญชี 007-368-5478 ภายใน 24 ชั่วโมงหลังได้สำรองที่เรียนแล้ว หากพ้น 24 ชั่วโมงไปแล้วถือว่าสละสิทธิ์ ที่นั่งที่สำรองไว้ให้ท่านจะถูกจัดสรรไปให้ผู้อื่นโดยอัตโนม้ติ

     9. การตรวจสอบตารางแค้มป์

สามารถตรวจสอบตารางแค้มป์ล่วงหน้าได้ทาง event ในเว็บหมอสันต์นี้ (drsant.com) หรือที่เว็บไซท์ https://www.wellnesswecare.com/th/static/program-calendar

     10. ราคาค่าลงทะเบียน

ค่าลงทะเบียนสำหรับตลอดคอร์ส (เข้าแค้มป์ 5 วัน 4 คืน ติดตามทางเฮลท์แดชบอร์ด อย่างน้อยหนึ่งปี แล้วต่อเนื่องไม่กำหนดวันจบ) คนละ 25,000 บาท ค่าลงทะเบียนนี้รวมถึงใช้จ่ายในการเข้าแค้มป์กินนอน 5 วัน 4 คืน การติดตามทางเฮลท์ แดชบอร์ด นานหนึ่งปี ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าวิทยากร ค่าอุปกรณ์การฝึกทักษะ ค่าตรวจร่างกาย เจาะเลือด ค่าใช้จ่ายในการติดตามโดยแพทย์และพยาบาลทางเฮลท์แดชบอร์ดหลังจากออกจากแค้มป์กลับไปอยู่บ้านแล้ว
แต่ราคานี้ไม่ครอบคลุมถึงค่าเดินทางไปและกลับระหว่างบ้านของท่านกับเวลเนสวีแคร์ (ผู้ป่วยไปเองกลับเอง) ไม่ครอบคลุมค่ายาและค่ารักษาพยาบาลส่วนบุคคลของท่าน

กรณีเป็นผู้ติดตาม ผู้ดูแลหรือ caregiver จะต้องลงทะเบียนเป็นผู้ติดตามซึ่งมีค่าลงทะเบียนคนละ 15,000 บาท ราคานี้รวมค่ากิน ค่าอยู่ ค่าที่พักห้องเดียวกับผู้ป่วยของคน ค่าเข้าร่วมเรียนและร่วมทำกิจกรรมทุกอย่างในแค้มป์ แต่ไม่ได้เข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจร่างกายและไม่ได้ร้บการประเมินปัญหาสุขภาพของตนโดยแพทย์ และไม่มีรายงานสรุปปัญหาสุขภาพโดยแพทย์ในเฮลท์แดชบอร์ด

     11. ระยะก่อนเข้าแค้มป์ (Pre-camping preparation) 

ผู้ป่วยทุกท่านที่ได้รับเข้าโปรแกรมแล้ว จะต้องจัดส่งข้อมูลโรคของตนมาให้แพทย์วิเคราะห์ล่วงหน้าก่อนวันมาแค้มป์ โดยส่งข้อมูลมาทางคุณสายชล (โอ๋) พยาบาลประจำแค้มป์ ที่อีเมล totenmophph@gmail.com โดยอย่างน้อยต้องส่งข้อมูลพื้นฐานซึ่งจำเป็นต้องใช้ต่อไปนี้มา คือ

(1) ชื่อ นามสกุล
(2) วันเดือนปีเกิด
(3) เพศ
(4) เบอร์โทรศัพท์มือถือ
(5) อีเมลแอดเดรส
(6) เลขบัตรประจำตัวประชาชน
(7) ส่วนสูง
(8) น้ำหนัก
(9) ความดันเลือด
(10) น้ำตาลในเลือด (FBS) หรือน้ำตาลสะสม (HbA1C)
(11) ไขมันเลว (LDL)
(12) ตัวชี้วัดการทำงานของไต (eGFR หรือ Cr)
(13) เอ็นไซม์แสดงการทำงานของตับ (SGPT)
(14) การวินิจฉัย (ชื่อ) โรคทุกโรคที่รักษาอยู่ในปัจจบัน
(15) อาการป่วยทุกอาการที่มีในปัจจุบัน
(16) ยาทุกตัวที่กินอยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งขนาด และวิธีกิน
(17) ผลการตรวจจำเพาะต่างๆ ถ้ามี เช่น ผลการตรวจเลือดอื่นๆ ภาพเอ็กซเรย์ปอด ผลตรวจสมรรถนะหัวใจ (EST) คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ผลการตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยคอมพิวเตอร์ (CTA) ผลการตรวจสวนหัวใจ (CAG) ผลการตรวจผลการตรวจ CT สมอง โดยกรณีเป็นภาพหากส่งเป็นไฟล์ดิจิตอลได้ก็จะเป็นพระคุณ แต่หากส่งไม่ได้จะเอาโทรศัพท์ถ่ายแล้วส่งไฟล์รูปมาก็ได้ กรณีเป็นใบรายงานผลให้เอาโทรศัพท์ถ่ายใบรายงานแล้วส่งไฟล์มาก็ได้
(18) คำบอกเล่าลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน เน้นที่
– การบรรยายลักษณะอาหารที่กินแต่ละมื้อทุกมื้อ
– การออกกำลังกายที่ทำในแต่ละวัน
– วิธีจัดการความเครียดที่ใช้อยู่ประจำ
– ความกังวล (concern) ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ หากมีอยู่ในใจก็ให้แจ้งมาให้หมอสันต์ทราบด้วย

     12. สถานที่เรียน

คือ เวลเนสวีแคร์เซ็นตเตอร์ (มวกเหล็ก-เขาใหญ่) ตามแผนที่ข้างล่างนี้

(รายละเอียดอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความจำเป็นและความต้องการของผู้เรียนแต่ละแค้มป์)

13. วันเวลาสำหรับแค้มป์ RDBY-19

วันที่ 5-9 พย. 64

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]