สามเทคนิคที่จะหลุดจากความคับข้องในชีวิต
คุณหมอสันต์ที่นับถือ
การพยายามเอาชนะความซึมเศร้า การย้ำคิดย้ำทำซ้ำซาก ช่างเป็นเรื่องที่ทำให้ดิฉันเหนื่อยและอ่อนล้า คนบางคนก็ต้้งใจบีทและทิ่มตำเราจริงๆ จนดิฉันรู้สึกว่าการมีชีวิตอยู่นี้ช่างยากเย็นเหลือเกิน ไม่รู้จะมีชีวิตอยู่อย่างนี้ต่อไปอีกทำไม ความคิดนี้ชักจะมาบ่อยขึ้น ควรจะแก้ไขความคิดนี้อย่างไรดี
…………………………………………………………………
ตอบครับ
ถามว่า การเอาชนะความย้ำคิดซ้ำซาก ช่างเป็นเรื่องที่เหนื่อย อ่อนล้า จนรู้สึกว่าการมีชีวิตอยู่นี้ยากเย็นเหลือเกิน ไม่รู้จะอยู่อย่างนี้ไปทำไม ควรจะแก้ไขอย่างไรดี ตอบว่า เหตุของทุกข์ของคุณเป็นแค่ความคิดของคุณเองนะ คนจะแก้ไขเรื่องนี้ได้มีคุณคนเดียว คนอื่นแก้ให้ไม่ได้ วิธีแก้ก็มีวิธีเดียว คือวางความคิดเหล่านั้นลงไปเสีย
เพื่อขยายความคำว่า “วางความคิด” ผมแนะนำให้คุณใช้เทคนิคสามอย่างต่อไปนี้
เทคนิคที่หนึ่ง คือให้คุณใช้ความคิดเชิงตรรกะชี้ให้ตัวเองเห็นบ่อยๆ ว่าคุณที่แท้จริงนี้คือใคร หรือคืออะไร ชีวิตประกอบด้วยอย่างน้อยก็สามส่วนคือ (1) ร่างกาย (2) ความคิด (3)ความรู้ตัว ประเด็นสำคัญคือคุณไม่ใช่ร่างกาย จริงอยู่คุณอาจอ้างได้ว่าคุณเป็นเจ้าของร่างกายนี้ แต่นั่นก็เป็นเพียงเรื่องชั่วคราว ถ้าคุณลองทบทวนเหตุการณ์ชีวิตที่ผ่านมา คุณจะประจักษ์เองว่าร่างกายนี้เปลี่ยนแปลงตลอดมาโดยที่คุณสั่งการหรือคุมอะไรได้น้อยมากตั้งแต่เด็กเล็กมาเป็นหนุ่มสาว จนเป็นผู้สูงวัย ส่วนความเป็นคุณนั้นคุณยังคงเป็นคุณคนเดิมไม่มีเปลี่ยนแปลง
ประเด็นสำคัญอีกอันหนึ่งคือคุณไม่ใช่ความคิด แม้สำนึกว่าเป็นบุคคลหรืออีโก้ซึ่งคุณมักเผลอคิดว่าเป็นตัวคุณนั้น มันก็เป็นเพียงความคิดซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วก็ดับหายไป แต่การเกิดขึ้นมาซ้ำซากทำให้คุณถูกหลอนให้เข้าใจว่ามันเป็นสิ่งถาวรและคุณคือมัน ทำให้คุณเจ็บช้ำน้ำใจว่าคุณถูกทิ่มตำ แท้จริงผู้ถูกทิ่มตำคือตัวตนที่ความคิดของคุณอุปโลกน์ขึ้นมาว่าเป็นคุณ คุณที่แท้จริงซึ่งคือความรู้ตัวอันหมายถึงความตื่นและความสามารถรับรู้ได้ขณะที่คุณตื่นอยู่ที่เดี๋ยวนี้นั้นไม่ได้เป็นเดือดเป็นร้อนหรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอะไรกับตัวอีโก้นี้เลย
คุณอาจจะงงว่าแล้วคุณจะแยกความคิดออกจากความเป็นคุณได้อย่างไรเพราะมองไปทางไหนก็เห็นแต่ความคิด ตอบว่าให้คุณเริ่มที่ความสนใจ (attention) ของคุณ ด้วยการใช้ความสนใจแอบชำเลืองมองดูความคิด หัดแอบมอง หัดชำเลืองมอง ว่าเมื่อตะกี้มีความคิดอะไรอยู่ในหัว หัดทำอย่างนี้ถึงจุดหนึ่งก็จะค่อยๆเห็นเองว่าเอ๊ะ เรากับความคิดนี่เป็นคนละอันกันนะ ความคิดอยู่ตรงนั้น เราอยู่ตรงนี้ แล้วเรามองเห็นความคิดได้ เมื่อมาถึงจุดนี้แล้วก็จะเห็นจุดอ่อนของความคิดว่า พอถูกเราแอบมองหรือชำเลืองมองดูมันจะค่อยๆฝ่อหายไป พอคุณจับจุดอ่อนของมันได้การปลดแอกจากอิทธิพลของความคิดก็กลายเป็นเรื่องง่าย
เทคนิคที่สอง ให้คุณเปลี่ยนวิธีทำงานของคุณเสียใหม่ ทำงานผมไม่ได้หมายถึงแค่การทำอาชีพเพื่อให้มีเงินเดือน แต่ผมหมายถึงการทำกิจทุกอย่างในชีวิตประจำวัน ไม่เว้นแม้กระทั่งล้างหน้าแปรงฟัน สาระสำคัญของการทำงานก็คือ เดิมคุณทำงานด้วยมุ่งไปที่ผลลัพธ์ของงาน (outcome) ยกตัวอย่างเช่นคุณทำงานบริษัทคุณก็มุ่งไปที่ให้มีผลงานไปเสนอเจ้านายเอาความดีความชอบ นี่เป็นตัวอย่างของการมุงที่ผลลัพธ์ ผลลัพธ์นี้ชงขึ้นมาด้วยอีโก้ของเราเอง มีจุดประสงค์เพียงเพื่อเชิดชูอีโก้หรืออัตตาของเรานี้ให้ปลอดภัย การทำงานโดยมุ่งถึงผลลัพธ์จะทำให้เราตกเป็นทาสของความคิดที่ชงขึ้นมาโดยอีโก้อย่างถอนตัวไม่ขึ้น
ให้คุณเปลี่ยนไปทำงานแบบมุ่งที่การกระทำ (process) เฉพาะขั้นตอนที่อยู่ตรงหน้าคุณเดี๋ยวนี้ ส่วนผลลัพธ์นั้นให้คุณตั้งใจไว้เลยว่าเอาแค่ศูนย์ บอกอีโก้ของคุณไว้เลยว่ามันจะไม่ได้ดิบได้ดีอะไรจากการทำงานชิ้นนี้หรอก คุณไม่สนใจด้วยว่าถ้างานออกมาไม่ดีเจ้าตัวอีโก้ของคุณจะถูกประนามหยามเหยียดหรือทิ่มตำอย่างไร เพราะคนถูกประนามคืออีโก้ไม่ใช่คุณ ดังนั้นการทำงานแบบมุ่งที่กระบวนการทำเฉพาะขั้นตอนเดี๋ยวนี้เป็นวิธีการทอนอำนาจของอีโก้นั่นเอง เมื่อใดก็ตามที่คุณรู้สึกว่าชีวิตจมอยู่ในสถานการณ์ที่ยุ่งยากเละตุ้มเป๊ะ นั่นหมายความว่าคุณกำลังถูกครอบด้วยความคิดหรือเรื่องราวที่ชงขึ้นมาโดยอีโก้ซะอยู่หมัด ให้คุณหันมาโฟกัสที่การทำงานแบบจดจ่อที่ขั้นตอนเดี๋ยวนี้โดยไม่สนใจผลลัพธ์ แล้วคุณก็จะออกมาจากอิทธิพลของความคิดที่ชงขึ้นมาโดยอีโก้ได้ทุกครั้งไป
เทคนิคที่สาม ผมแนะนำให้คุณทำความเข้าใจและฝึกปฎิบัติคอนเซ็พท์ “เมตตาธรรม” ต่อคนรอบข้างเสียใหม่ คำว่าเมตตาธรรมของผมไม่ได้หมายถึงนั่งหลับตาและพูดว่า สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขเถิด อย่าเบียดเบียนกันเลย ไม่ใช่อย่างนั้น เพื่อให้คุณเข้าใจคอนเซ็พเมตตาธรรมที่ผมพูดถึง ผมอธิบายอย่างนี้นะ
ทำไมเมื่อคิดถึงคุณแม่คุณจึงรู้สึกอบอุ่นและรู้สึกว่าคุณแม่รักและเมตตาคุณ เพราะคุณแม่ของคุณเปิดรับเอาคุณเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของท่านใช่ไหม การเปิดรับชีวิตอื่นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของคุณ นั่นคือเมตตาธรรม คราวนี้ผมจะให้คุณจินตนาการว่าถ้าคุณแต่งงานและมีลูกหนึ่งคน เป็นไปได้ไหมว่าคุณจะเปิดรับเอาลูกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคุณ มันเป็นไปได้แน่นอนใช่ไหม คราวนี้ให้คุณลองจินตนาการต่อ ถ้าคุณมีลูก 3 คนละ หรือ 10 คนละ มันเป็นไปได้ไหมที่คุณจะเปิดรับเอาลูกทั้งสิบคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคุณ มันก็ยังเป็นไปได้ใช่ไหม เพราะเมื่อเราปลดกรอบความคับแคบของความเป็นตัวตนของเราออกไปได้ จิตใจของเราก็จะกว้างใหญ่ไพศาลเปิดรับชีวิตอื่นว่าเป็นหนึ่งเดียวกับเราได้ไม่อั้น ผมเคยคุยกับผู้ดูแลสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าท่านหนึ่ง เธอบอกผมว่าเธอมีลูกสองร้อยกว่าคน ผมเข้าใจว่าเธอหมายความว่าอย่างไร คราวนี้ผมให้คุณจินตนาการใหม่ สมมุติว่าชีวิตอื่นทุกชีวิตในโลกนี้เป็นลูกของคุณ แค่ลองจินตนาการดู ถ้าคุณนึกภาพออก นั่นแหละ..เมตตาธรรม
เมตตาธรรมก็คือการที่คุณเปิดรับเอาชีวิตอื่นทุกชีวิตเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตคุณ หากคุณทำได้ อีโก้ของคุณจะเลิกเสี้ยมความคิดลบต่างๆขึ้นในหัวคุณทันที เพราะเมื่อไม่มีเส้นแบ่งว่านี่คือชีวิตคุณ นั่นคือชีวิตอื่น อีโก้หรือความคิดซึ่งเป็นนิยามของเส้นแบ่งนี้ก็จะหายตัวไปเอง ความคิดลบที่เคยถูกชงขึ้นมาเพื่อปกป้องอีโก้หรือตัวตนของคุณก็จะหมดไปเอง
อ่านคำตอบของผมจบแล้วคุณอาจจะคิดว่าคุณถามเรื่องไปไหนมา ผมตอบสามวาสองศอก ไม่เป็นไรครับ ให้คุณใจเย็นๆ อ่านหลายๆครั้ง แล้วลองปฏิบัติดู ถึงจุดหนึ่ง มันมีโอกาสที่คุณจะเก็ทสิ่งที่ผมตอบด้วยประสบการณ์ของคุณเอง
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์