หมอสันต์ตอบคำถามเรื่องเปิดประเทศใน 120 วัน
ผู้สื่อข่าว
ทำไมระยะหลังนี้ไม่ยอมตอบคำถามเรื่องโควิด 19
นพ.สันต์
ก็มันไม่มีข้อมูลอะไรที่จะนำมาเป็นพื้นฐานของคำแนะนำ ผมก็ตามอยู่ไม่ใช่ไม่ตาม แต่ข้อมูลที่เป็นงานวิจัยตีพิมพ์เรื่องโควิด19 นี้มันมีน้อยมาก ยกตัวอย่างเช่นแม้กระทั่งผลวิจัยวัคซีนระยะสามของวัคซีนบางตัวที่เอาออกมาใช้กันระเบิดระเบ้อแล้วแต่ข้อมูลจริงยังไม่ได้ตีพิมพ์เลย ยิ่งข้อมูลที่ว่าวัคซีนอะไรดีกว่าอะไร ต้องฉีดสองเข็มหรือสามเข็ม ยิ่งไม่มีข้อมูลใหญ่เพราะยังไม่มีการวิจัยเปรียบเทียบเลยจะรู้ได้อย่างไร ข้อมูลที่พูดกันตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นการให้ข่าวของคนทำวัคซีนขายบ้าง ผู้บริหารประเทศต่างๆบ้าง คนขายข่าวบ้าง และหมอที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องบ้าง ข่าวไม่ใช่ข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่จะเอามาออกคำแนะนำอะไรได้
ผู้สื่อข่าว
ปัญหาใหญ่ที่สุดของไทยเราในภาพรวมคืออะไร
นพ.สันต์
คือการที่ไทยเราใช้ยุทธศาสตร์กดโรค (suppression) ไม่สำเร็จ
ผู้สื่อข่าว
ไม่ใช่การขาดวัคซีนหรือ
นพ.สันต์
การขาดวัคซีนเป็นปัญหาก็จริงแต่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่สุดของไทย เพราะวัคซีนเป็นเพียงการวิ่งตามการกลายพันธ์ (mutation) ของเชื้อโรค ยังไม่รู้ว่าจะต้องวิ่งตามกันไปอีกกี่ปี แต่การใช้ยุทธศาสตร์กดโรคให้สำเร็จเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะอย่าลืมว่าเมืองไทยเรานี้โรคเพิ่งระบาดไปแค่ 0.3% ของประชากรแค่นั้นเอง มีเลขศูนย์นำหน้าจุดทศนิยมด้วยนะ เพราะเรามีกัน 67 ล้าน ติดเชื้อแล้วสองแสนสาม ถ้าเรามาดูพฤติกรรมการระบาดในปีกว่าที่ผ่านมาของโรคนี้หากเราปล่อยจริงก็ต้องดูประเทศที่เขาปล่อยในช่วงแรก อย่างเช่นที่อเมริกามันระบาดไปใน 10% ของประชากร คือมีคน 328 ล้านติดเชื้อ 33 ล้าน ที่อังกฤษ 7.8% คือมีคน 55.9 ล้านติดเชื้อ 4.7 ล้าน ของเรานี้เพิ่งติดเชื้อแค่ 0.3% เองนะ เราก็ร้องกันบ้านแตกว่าจำนวนเตียงไอซียู.และทีมแพทย์พยาบาลจะรับกันไม่ไหวแล้ว ถ้าเราปล่อยให้ติดไปสัก 10% ลองนึกภาพดูว่ามันจะเป็นอย่างไร ดังนั้นการกดโรคเป็นยุทธศาสตร์เดียวที่เราพึงทำตอนนี้ ไม่มีวิธีอื่น หากเรากดโรคไม่สำเร็จก็..จบข่าว
ผู้สื่อข่าว
ทำไมเราจึงกดโรคไม่สำเร็จ
นพ.สันต์
ผมไม่ทราบ มันเป็นการประชุมแห่งเหตุ ได้แต่เดาเอาว่าอาจเป็นเพราะวินัยของผู้คนไม่พอ ความเฉียบขาดของกลไกของรัฐไม่พอ เพราะยุทธศาสตร์กดโรคก็เหมือนยุทธการปราบผู้ก่อการร้ายภายในประเทศของทหาร ถ้าไม่เฉียบขาด มันก็ไม่สำเร็จ จริงๆแล้วมันคงมีหลายสาเหตุหลายปัจจัยที่เกินปัญญาที่ผมจะรู้ได้ แต่ที่ว่าไม่สำเร็จนี้หากเทียบกับประเทศอื่นก็ต้องถือว่าเราทำได้เจ๋งมากแล้ว เพียงแต่ว่ามันไม่เจ๋งพอที่จะให้โรคหมดเกลี้ยงได้ เพราะในเชิงระบาดวิทยา เมื่อเรากดโรคอุบัติใหม่ไว้จนพ้นระยะฟักตัวของโรค อย่างเช่นตอนที่เราทำล็อคดาวน์ครั้งแรกสองสามสัปดาห์ โรคนั้นก็น่าจะหายสาบสูญไปเกลี้ยง ที่เหลือก็จะเป็นแค่การกักกันโรคจากภายนอกไม่ให้เข้ามา
ผู้สื่อข่าว
ถ้ากดไม่สำเร็จก็เปลี่ยนยุทธศาสตร์เปิดประเทศเหมือนอย่างที่รัฐบาลจะทำใน 120 วันก็น่าจะดีใช่ไหม
นพ.สันต์
ผมเป็นหมอ ขอโทษที่ผมเออออห่อหมกกับคุณไม่ได้ เพราะตามหลักวิชา การถอยยุทธศาสตร์การกดโรคไปเป็นการยับยั้งโรค (mitigation) จะทำก็ต่อเมื่อการระบาดได้ข้ามพ้นจากระยะกระจายเป็นหย่อมๆแบบตามที่มาและที่ไปได้ (clusters of cases) ไปเป็นการระบาดในชุมชนแบบไม่รู้ว่าโรคมาจากไหนและจะไปทางไหน(community spreading) แต่นี่เรายังไม่เลวร้ายถึงขั้นนั้น ของเรายังอยู่ในระยะ clusters of cases และการระบาดของโรคก็เพิ่งกระจายไปแค่ 0.3% ของประชากรแค่น้้นเอง การกดโรคจึงเป็นทางไปทางเดียว ทางอื่นไม่มี
ผู้สื่อข่าว
ถ้ารัฐบาลเปิดประเทศจริง อะไรคือปัญหาเฉพาะหน้า
ถ้าถอยไปใช้ยุทธศาสตร์ยับยั้งโรค ปัญหาเฉพาะหน้าคือขีดความสามารถที่จะรับมือของระบบการแพทย์ มันไม่ง่ายแค่นับเตียงว่าเตียงภาครัฐมี 122,470 เตียง ภาคเอกชนมี 34,602 เตียง ในจำนวนนี้ 10% ทำเป็นไอซียู.ได้ มันไม่ง่ายแค่นั้น เพราะเมืองไทยนี้จำนวนแพทย์พยาบาลในภาพรวมอาจจะมีไม่น้อย แต่ที่จะอยู่หน้างานและอยู่ในสาขาที่รู้และชำนาญพอที่จะแก้ปัญหาให้คนไข้โควิด19ได้จริงๆมีน้อย มันก็คงเหมือนกองทัพของหลายๆประเทศละมัง กองทัพใหญ่โตมีนายพลเพียบ แต่พอออกรบจริงๆแล้วแพ้ ลางบอกมันก็มีออกมาให้เห็นแล้ว แค่การระบาดไปได้ 0.3% ของประชากร ก็มีเสียงโอดครวญจากคนทำงานหน้างานแล้วว่ากำลังจะไปต่อไม่ไหวแล้ว
ผู้สื่อข่าว
สรุปว่าหมอสันต์ไม่สนับสนุนให้เปิดประเทศเลย
นพ.สันต์
คุณพูดเองนะ
ผู้สื่อข่าว
แล้วคนไทยทั่วไปควรทำอย่างไร
นพ.สันต์
ก็ต้องทำสองอย่าง คือร่วมมือกับรัฐบาลในการกดโรค และดูแลตัวเองไม่ให้ติดโรค อันได้แก่ ใส่หน้ากาก อยู่ห่าง ล้างมือ เมื่อใดมีวัคซีนมาถึงคิวฉีดก็ไปฉีด ขณะเดียวกันทุกวันก็ต้องขยันฟูมฟักภูมิคุ้มกันของตนเองด้วยการออกกำลังกายทุกวัน กินอาหารที่มีพืชเป็นหลักที่หลากหลายในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ จัดการความเครียดให้จิตใจผ่อนคลายปลอดความเครียด ถ้ากินอาหารไม่ได้ก็ต้องเสริมวิตามินและเกลือแร่ที่มีผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกัน เช่นวิตามินดี. วิตามินซี. และแร่ธาตุเช่นสังกะสี เป็นต้น
นพ. สันต์ ใจยอดศิลป์