ยังติดอยู่ที่ "ความรู้"
ผม นพ. ... ได้อ่านคำแนะนำที่อาจารย์ให้กับน้องนศพ.เมื่อ 26 ต.ค.แล้ว
มีความสงสัยว่า 'ความคิดไม่ใช่เรา' ที่อาจารย์เขียนนั้นอาจารย์เรียนรู้จากพระไตรปิฎก หรือว่าตำราฝรั่งเขียนไว้ครับ (เพราะผมไม่มีความสามารถอ่านอังกฤษเกี่ยวกับ abstract ได้)
ที่อาจารย์สอนน้องนั้นขอคารวะอาจารย์ที่ปล่อยเต็มที่ ไม่มีกั๊กเลย แถมใช้วิธีอธิบายที่ปรับให้ดูเหมือนง่าย ผมคิดว่าอาจารย์อ่านพระไตรปิฎกใช่หรือไม่ครับ
ด้วยความเคารพ
.............................................................
ตอบครับ
คุณหมอยังติดอยู่ที่ "ความรู้" รวมไปถึงคอนเซ็พท์ปลีกย่อยขององค์ความรู้ เช่น หมวดหมู่ แหล่งที่มา ฯลฯ
ขอพูดกับคุณหมอโดยถือว่าคุณหมอเป็นคนที่ mature แล้วนะ ความรู้ (knowledge) เป็นสิ่งที่ความคิดอ่าน (intellect) รู้จักและอธิบายมันได้ผ่านภาษา (knowable) แต่ความรู้ไม่ใช่ตัวที่จะพาให้เราหลุดพ้นจากกรงความคิดของเราได้นะ ในทางตรงกันข้าม มันจะทำให้เราติดแหง็กอยู่ตรงนี้ไม่หลุดพ้นไปไหน ไกลพ้นไปจากสิ่งที่เรารู้ ความคิดอ่านจะบอกเราได้เพียงแค่ว่ายังมีสิ่งที่เราไม่รู้ (unknown) ซึ่งเป็นการฉายภาพที่ไม่ถูกต้อง เพราะมันยังมีส่วนใหญ่ที่ความคิดอ่านไม่อาจไปรู้ได้ (unknowable) ไม่อาจไปรู้ได้นะ ไม่ใช่ไม่รู้ ฟังให้ดี หมายความว่ายังมีสิ่งที่เราอาศัยอายตนะไปรู้ไม่ได้ เราจะเข้าถึงส่วนนี้ได้ก็ด้วยอาศัยปัญญาญาณ (intuition) เท่านั้น
ผมขออธิบายต่อยอดจากที่คุยกับน้องนศพ.อีกหน่อยว่า ชีวิตประกอบด้วยความรู้ตัว ซึ่งมีสมองคอยคิดอ่าน และมีร่างกายคอยช่วยทำการงาน
ความรู้ตัวอันเปรียบเสมือนนายใหญ่ของชีวิตนี้มีปัญญาญาน (intuition) เป็นเครื่องมือทำงาน
สมองมีความคิดอ่าน (intellect) เป็นเครื่องมือทำงาน
ร่างกายมีสัญชาติญาน (instinct) เป็นเครื่องมือในการทำงาน
ถ้าเครื่องมือทั้งสามอันนี้ทำงานสอดคล้องกันเป็นอันดีชีวิตก็ไปได้ดี ปัญหามักจากเกิดจากความคิดอ่านซึ่งมีศักดิ์เป็นลูกน้องมักจะแหลมขึ้นมาทำหน้าที่เป็นนายเสียเอง ทั้งที่ความคิดนั้นอย่างดีก็ทำได้แค่ชักนำชีวิตเราให้หมักเม่าอยู่กับของเก่าๆบูดๆเน่าๆเดิมๆ เพราะมันไม่รู้จักของใหม่ มันจึงทำได้แค่คอยเอาแต่ลูกไม้เก่าๆในอดีตมาสนองตอบซ้ำซากต่อสิ่งเร้าใหม่ๆในปัจจุบัน แต่ก็ก๋าและซ่าไม่ยอมให้ปัญญาญาณมาออกหน้านำมัน
การจะเข้าถึงปัญญาญาณ เราต้องแกะเปลือกความคิดอ่านที่เกะกะเหล่านี้ทิ้งไปก่อน ได้แก่
1. ความหลอนของอายตนะของเราเอง เพราะการเรียนรู้จดจำและการถูกบีบให้เชื่อเพื่อให้อยู่เป็นสมาชิกของฝูงหรือของสังคมได้ทำให้เราต้องพรางอายตนะของเราไม่ให้รับรู้ความจริงที่ความเชื่อและสังคมไม่อยากให้เรารับรู้ เราจึงเห็น ได้ยิน แต่สิ่งที่ความเชื่อและสังคมของเรายอมให้เห็น ให้ได้ยิน
เมื่อวันก่อนผมนำกลุ่มสมาชิก RDBY13 ฝึกมีพิธีกรรมส่วนตัววันละหนึ่งชั่วโมงตอนเช้า คือให้ใช้เวลานั้นฝึกวางความคิด จบแล้วได้ถามสมาชิกท่านหนึ่งว่าสามารถวางความคิดมาอยู่กับสิ่งรอบตัวที่เดี๋ยวนี้ได้ไหม เธอตอบว่าทำได้เพราะที่เวลเนสวีแคร์นี้มีบรรยากาศ มีเสียงนก มีลมเย็นๆ มีต้นไม้ ทำให้รับรู้สัมผัสหญ้าได้ รับรู้แสงแดด รับรู้ลมเย็นที่ผิวหนังได้ จึงวางความคิดได้ แต่อยู่ที่บ้านบรรยากาศไม่ได้เป็นอย่างนี้ จึงวางความคิดไม่ได้ ผมได้ย้ำให้ทั้งชั้นเรียนเห็นว่าจริงหรือเปล่าว่าที่บ้านแตกต่างจากที่นี่ เพราะอากาศก็ดี ลมก็ดี น้ำก็ดี ดินก็ดี ซึ่งเป็นสิ่งสนับสนุนให้ชีวิตเราดำรงอยู่ได้ชนิดวินาทีต่อวินาทีนี้ จริงหรือเปล่าว่าที่บ้านคุณไม่มีสิ่งเหล่านี้ หรือเป็นเพราะว่าที่นั่น ผมหมายถึงที่บ้าน คุณไม่เคยถอยออกมาจากความคิดเลยแม้แต่วินาทีเดียว คุณถูกหลอกลวงด้วยอายาตนะของคุณเอง คุณก็เลยไม่เห็นสิ่งเหล่านี้
2. ความจำ หรือกลไกสนองตอบอัตโนมัติแบบย้ำคิดย้ำทำซ้ำซาก (conditioning หรือ compulsiveness) ซึ่งเป็นความจำหมุนวนกลับขึ้นมาเป็นความคิดซ้ำซากๆ ความจำมักจะมีเงื่อนไขผูกติดด้วยเสมอ เงื่อนไขมักเกิดจากความเชื่อ ความเชื่อทำให้เกิดความสำคัญมั่นหมาย (identification) แค่การที่เราสำคัญมั่นหมายว่าเราเป็นใครก็ทำให้เราหมดโอกาสรับรู้ความจริงทุกอย่างไปแบบทันที แค่ผมเป็นคริสต์นิกายแคทอลิก คุณเป็นคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ แค่นี้เราสองคนก็หมดโอกาสรับรู้อะไรที่อยู่นอกกรงความเชื่อของแต่ละฝ่ายเสียแล้ว โปรดสังเกตว่าผมไม่ได้พูดว่า "ผมยึดถือความเชื่อที่เรียกรวมๆว่าแคทอลิก" นะ แต่ผมพูดว่า "ผมเป็นแคทอลิก" คือผมไปสำคัญมั่นหมาย (identify) ว่าผม "เป็น" นั่นเป็นนี่ คุณเป็นชายฉันเป็นหญิง นี่ก็อีกกรงหนึ่ง คุณเป็นหมอ ผมเป็นคนไข้ นี่ก็อีกกรงหนึ่ง ท่านเป็นพ่อแม่ผมเป็นลูก นี่ก็อีกกรงหนึ่ง การสำคัญมั่นหมายว่าเราเป็นใคร เป็นอะไร เป็นการปิดการสื่อสารเชื่อมต่อกับสิ่งภายนอกขอบเขตที่เราสมมุติขึ้นว่าเป็นเรา แต่ว่าชีวิตทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรอื่นเลยนะนอกจากการสื่อสารเชื่อมต่อนะ การมีชีวิตอยู่ก็คือการที่เราเชื่อมต่อพลังชีวิตของเรากับดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ผืนน้ำ แผ่นดิน ต้นไม้ คน สัตว์ นี่คือชีวิต ถ้าหยุดตรงนี้ ชีวิตนี้ก็จะหยุดกึกลงทันที แต่ด้วยระบบความเชื่อที่คุณยึดกุมไว้มั่นในใจ คุณสื่อสารเชื่อมต่อผ่านลูกกรงของความเชื่อของคุณ คุณจะแกะเปลือกชั้นนี้ออกได้ คุณต้องเลิกเชื่อทั้งหมดในทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณไม่เคยมีประสบการณ์จริงกับมันไปเสียก่อน ทั้งหมดนั้นแหละ รวมทั้งศาสนาที่คุณนับถือด้วย ค่อยเริ่มต้นสำรวจค้นหาผ่านประสบการณ์จริงโดยไม่มีลูกกรงของความเชื่อขวางกั้น เมื่อคุณเลิกเชื่อ ชีวิตก็จะเต็มไปด้วยความ "ไม่รู้" เต็มไปด้วยความมหัศจรรย์ ชีวิตที่น่าเบื่อหน่ายในลูกกรงของความเชื่อก็จะกลายเป็นการผจญภัยที่น่าตื่นเต้น อยู่แบบไม่รู้อะไรนั่นแหละดีแล้ว การสื่อสารเชื่อมต่อจริงๆจึงจะเริ่มเกิดขึ้น
3. ความรู้ ผมหมายความรวมถึงทุกอย่างที่เราเรียนรู้มาตั้งแต่เริ่มเข้าโรงเรียน อยู่ในสังคม อยู่ในที่ทำงาน ทั้งวิธีใช้ตรรกะ เหตุผล คอนเซ็พท์ต่างๆเช่นถูกหรือผิด ดีหรือชั่ว ยุติธรรมหรืออยุติธรรม วิทยาศาสตร์หรืองมงาย ศาสนาโน้น ศาสนานี้ ทั้งหมดนี้คือเปลือกที่เรียกว่าความรู้ ซึ่งผูกโยงขึ้นมาจากคอนเซ็พท์หลายๆคอนเซ็พท์ย่อยๆลงไป แต่ละคอนเซ็พท์ก็ผูกโยงต่อมาจากความคิดหลายๆความคิดย่อยๆลงไปอีก ท้ายที่สุดของมันก็คือความคิดที่ล้วนมีกำพืดมาจากความสำคัญมั่นหมายในความเป็นบุคคลของเราอีกนั่นแหละ นั่นหมายความว่าเมื่อเราจะหันกลับจากข้างนอกกลับเข้าไปข้างในอย่างจริงจัง ถึงจุดหนึ่งเราต้องทิ้งหนังสือหรือตำราที่เราอ่านมาเสียทั้งหมด
4. อารมณ์ ในภาษาไทยนะ ไม่ใช่ในภาษาบาลี คือผมหมายถึง emotion หรือที่ภาษาบ้านๆเรียกว่าดรามา (drama) ซึ่งธาตุแท้ของมันคือความคิดปรุงแต่งชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ความรู้สึกหรือ feeling จริงๆดอก เป็นแค่ฟีลลิ่งปลอม ยกตัวอย่างเช่นเพื่อนป่วยเป็นมะเร็งแล้วเราไปนั่งร้องไห้ที่ข้างเตียง หรือบ้านเราถูกไฟไหมเสียงไม้แตกดังเพี้ยะ เพี้ยะ อยู่ แต่เรานั่งร้องไห้อยู่ที่หน้าบ้าน ทำไมผมเรียกว่าฟีลลิ่งปลอม ก็เพราะฟีลลิ่งจริงมันคือการคลุกหรือสัมผัสรับรู้เกี่ยวข้องด้วยอย่างลึกซึ้ง ฟีลลิ่งจริงเป็นการลงมือทำ แต่ฟีลลิ่งปลอมคือการนั่งร้องไห้เพื่อให้เกิดเปลือกหุ้มคุ้มกันไม่ให้เราต้องสัมผัสกับฟีลลิ่งจริงซึ่งสำนึกว่าเป็นบุคคลของเราบอกเราว่ามันน่ากลัวเกินไปที่จะไปเปิดสัมผัสรับรู้มันจริงๆ
เมื่อทิ้งเปลือกเกะกะทั้งสี่ซึ่งล้วนเป็นความคิดไปเสียได้ เมื่อหมดความคิด ก็จะได้อยู่กับความรู้ตัวอันเป็นความตื่นที่ปลอดความคิด ตรงนี้แหละ ตรงความตื่นที่ปลอดความคิดนี้แหละ ที่ปัญญาญาณจะโผลขึ้นมาชี้นำชีวิตเราไปสู่ความหลุดพ้นจากกรงของความคิดได้
มีนิทานเซ็นเล่าว่ายอดขโมยคนหนึ่งสอนลูกชายว่าการจะขโมยได้เก่งต้องรู้จักอาศัยปัญญาญาณ อย่าไปอาศัยแต่ความคิดอ่าน ลูกชายก็รบเร้าให้พ่อสอนว่าปัญญาญาณสำหรับขโมยมันเป็นอย่างไร วันหนึ่งพ่อจึงตกลงสอนลูก โดยพาลูกไปขึ้นบ้านเศรษฐีเพื่อลักทรัพย์ด้วยกัน สวมชุดมืดๆ ปีนเข้าหน้าต่าง ค้นไปตามห้องต่างๆ จนไปถึงห้องหนึ่งซึ่งมีกำปั่นอยู่ ผู้พ่อเปิดดูเห็นกำปั่นใหญ่นั้นมีของมีค่าวางอยู่ที่ก้นกำปั่นจึงบอกลูกชายให้ลงไปอยู่ในกำปั่นนั้น พอลูกเผลอพ่อก็รีบปิดกำปั่นแล้วล็อคกลอนข้างนอกปิดกำปั่นนั้นไว้ แล้วก็ตะโกนเอะอะขึ้นด้วยเสียงอันดัง แล้วผู้เป็นพ่อก็หนีไป ทิ้งให้ลูกชายดิ้นขลุกขลักอยู่ในกำปั่นหมดปัญญาจะหนีออกไปไหนได้ คนในบ้านเศรษฐีได้ยินเสียงเอะอะในห้องเก็บสมบัติก็จุดตะเกียงมาส่องดู เมื่อไม่เห็นอะไรผิดสังเกตก็จะพากันกลับไป กำลังจะถูกทิ้งลืมอยู่ในกำปั่นลูกชายขโมยได้ส่งเสียงร้องเป็นแมวขึ้นดังเมี้ยว เมี้ยว พวกคนใช้จึงพากันกลับมาพูดกันว่าต้องเปิดกำปั่นนี้ดู แมวอยู่ในนี้ พอฝากำปั่นถูกเปิดออก ลูกชายขโมยก็ลุกพรวดขึ้นผลักคนใช้ แย่งเทียนในมือมาเป่าแล้วโยนทิ้งไปทำให้ห้องนั้นมืดสนิท แล้วตัวเองก็กระโดดหน้าต่างหนี พวกคนใช้ก็กรูวิ่งตามมาติดๆ วิ่งหนีมาถึงบ่อน้ำเห็นก้อนหินจึงคว้าก้อนหินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งโยนลงไปในบ่อน้ำ ส่วนตัวเองเข้าไปซุ่มอยู่ในพงไม้ใกล้ๆ พวกคนใช้มาถึงบ่อน้ำก็พากันเอะอะว่าเจ้าขโมยกระโดดลงไปในบ่อนี้ และมะรุมมะตุ้มส่องไฟลงไป ลูกชายขโมยจึงแอบหลบหนีเงียบๆกลับมาถึงบ้านได้ พอเห็นหน้าพ่อลูกชายก็อ้าปากจะโวยวาย พ่อก็ยกมือห้ามแล้วพูดว่า
"เอ็งสามารถเอาตัวรอดจากสถานะการณ์ที่อาศัยความคิดอ่านไม่ได้ เอ็งสำเร็จวิชาอาศัยปัญญาญาณแล้ว"
กล่าวโดยสรุป คุณหมอมาถึงจุดที่ควรจะเลิกสนใจความรู้ได้แล้ว เพราะไม่ว่าจะเป็นความจำ ความคิด ความรู้ และดรามาในชีวิต มันล้วนเป็นความคิดที่อยู่ข้างนอก จงวางมันไปเสียให้หมด ไปอยู่ในความรู้ตัวที่ไม่มีความคิด ปัญญาญาณจึงจะโผล่มาชี้นำให้เห็นทุกอย่างตามที่มันเป็น ตรงนั้นแหละที่เราควรจะไป และตรงนั้นมันอยู่ข้างใน
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์