ประสบการณ์จากชีวิตจริง สโตร้ค (stroke) หายได้นะ
วันนี้ผมจะเล่าเรื่องของผู้ป่วยท่านหนึ่งซึ่งเจ้าตัวอนุญาตให้เปิดเผยเรื่องราวของตัวเองได้ด้วยมองเห็นว่าท่านผู้อ่านบล็อกนี้อาจจะได้ประโยชน์จากการรับรู้เรื่องราวของเขา
พบกันครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2557 ซึ่งก็ห้าปีมาแล้ว ตอนนั้น คุณทวีศักดิ์ อิงคชัยรัชต์ เป็นคนหนุ่มอายุ 41 ปี เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในธุรกิจรีไซเคิ้ลโลหะต่างๆ มีทักษะการวินิจฉัยสั่งการที่เฉียบคมทำให้สามารถทำงานหลายๆอย่างพร้อมกันทีเดียวได้ เมื่อสร้างฐานะได้ดีถึงระดับที่ตัวเองพอใจแล้วก็ตัดสินใจขายกิจการทั้งหมดเพื่อพาคุณพ่อคุณแม่ไปใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพที่โคราชโดยซื้อบ้านไว้ที่นั่น แต่เมื่อเริ่มชีวิตใหม่แบบเกษียณตั้งแต่หนุ่มอย่างที่ฝันไว้กลับพบว่าการอยู่ว่างๆก็เป็นความเครียดอีกแบบหนึ่ง แล้วอยู่ๆก็ป่วยเป็นอัมพาตเฉียบพลัน มีอาการพูดไม่ได้ หรือบางครั้งตั้งใจจะพูดอย่างหนึ่งคำพูดที่ออกมากลับเป็นอะไรก็ไม่รู้ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองตั้งใจจะพูด (โรคแบบนี้ภาษาแพทย์เรียกว่า Wernicke stroke แปลว่าลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดที่เลี้ยงบริเวณเนื้อสมองที่ควบคุมการพูด) ได้เข้ารับการรักษาฉุกเฉินที่รพ.นครราชสีมา แพทย์ตรวจ MRI สมองก็พบว่ามีหลอดเลือดสมองเส้นใหญ่ที่ชื่อ middle cerebral artery ตีบ โดยที่ลิ่มเลือดที่อุดตันได้ละลายหายไปเองแล้ว เมื่อพ้นจากการรักษาโดยแพทย์อายุรกรรมประสาทแล้วคุณทวีศักดิ์ก็มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้มาพบกับผม
ผมประเมินจากอาการเจ็บแน่นหน้าอกซึ่งมีลักษณะสัมพันธ์กับความเครียดแต่ไม่สัมพันธ์กับการออกแรง ร่วมกับผลการตรวจสมรรถนะของหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST) ว่าได้ผลปกติ ร่วมกับการตรวจแคลเซียมที่หลอดเลือดหัวใจ (CAC) ได้คะแนนศูนย์ จึงวินิจฉัยว่าคุณทวีศักดิ์ไม่ได้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่มีอาการเจ็บหน้าอกจากความกลัว (panic disorder) และได้วางแผนการรักษาร่วมกับคุณทวีศักดิ์ ซึ่งมีสาระหลักๆว่าให้
(1) เปลี่ยนวิธีกินใหม่ หันมากินอาหารที่มีพืชเป็นหลักในรูปแบบไขมันต่ำ ลดอาหารเนื้อสัตว์ลง
(2) เปลี่ยนวิธีออกกำลังกายให้ทำในชีวิตประจำวันอย่างสม่ำเสมอ เป้าหมายให้ได้มีโอกาสออกกำลังกายให้หนักพอควรจนเหนื่อยหอบครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้งขึ้นไป
(3) ให้ฝึกวางความคิดด้วยวิธีนั่งสมาธิ
(4) ให้กลับไปทำงานใหม่ โดยลดเวลาทำงานให้น้อยกว่าเดิม มีเวลาใช้ชีวิตให้มากขึ้น
คุณทวีศักดิ์เล่าว่า
"ผมทำทุกอย่างตามที่หมอบอก ผมกินผักผลไม้มาก อย่างน้อยให้ได้เท่าแอปเปิลวันละ 5 ลูก ผมงดกินเนื้อสัตว์สัปดาห์ละ 4 วัน โดยเน้นไม่กินเนื้อหมูเนื้อวัว
ผมออกกำลังกายจนมันเป็นชีวิตปกติของผม ส่วนใหญ่ด้วยการวิ่งจ๊อกกิ้ง ในรถผมมีรองเท้าวิ่งอยู่สามสี่คู่และชุดออกกำลังกายอยู่หลังรถตลอดเวลา ขับรถผ่านไปทางไหนเมื่อมีที่เหมาะๆผมจะจอดรถลงไปวิ่ง ตามริมถนนที่คนอื่นเขาวิ่งกันอยู่ผมก็จะจอดลงไปวิ่งด้วย วันหนึ่งผมจะวิ่งให้ได้อย่างน้อย 5 กม.ทุกวัน ส่วนใหญ่วิ่งตอนเช้า เย็นถ้ามีเวลาก็เข้ายิม
ผมกลับไปทำงานใหม่ตามที่หมอแนะนำ แต่ทำแบบไม่เครียด ทำเล็กลง ไม่ได้ทำโครงการใหญ่ๆอย่างที่เคยทำกับโรงไฟฟ้าบางปะกงแล้ว ทำแค่ผ่านไปพบเห็นโรงงานร้างที่ไหนที่ติดแบงค์อยู่ผมก็ไปเจรจาซื้อมา รื้อแยกชิ้นส่วนเอาเหล็กเอาวัสดุต่างไปขาย ทำแบบไม่เครียด
ผมลดการดื่มแอลกอฮอล์ลงไปมาก ผมยังพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงบ้างเดือนละครั้ง เขาดื่มกันผมก็ดื่มเบียร์แต่น้อยแค่สองสามแก้ว แต่จะไม่ให้ดื่มเลย 100% คงไม่ได้นะครับ"
คุณทวีศักดิ์เปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตของตัวเองได้ดีเสียจนแพทย์อายุรกรรมประสาทที่ดูแลอยู่ขอให้คุณทวีศักดิ์เป็นแม่แบบไปสอนคนไข้อัมพาตคนอื่นเพื่อให้พวกเขาเห็นว่าอัมพาตเป็นโรคที่หากดูแลตัวเองดีแล้วชีวิตก็จะมีคุณภาพดีได้ แต่คุณทวีศักดิ์เล่าว่า
"คุณหมอครับ ผมไปสอนแล้วไม่มีใครเชื่อผมเลย คนที่เป็นสโตร้คส่วนใหญ่เขามีอายุมากเกินห้าหกสิบกันหมดแล้ว และส่วนใหญ่เขาหมดอาลัยตายอยากในชีวิตแล้ว ไม่เอาอะไรกันแล้ว"
เวลาผ่านไปครบห้าปี แพทย์อายุรกรรมประสาทที่ดูแลอยู่ได้สั่งให้ทำ MRI เพื่อประเมินหลอดเลือดเดิมที่ตีบอยู่ คุณทวีศักดิ์โทรศัพท์มาบอกผลให้ผมฟังว่า
"หมอรายงานผล MRI ว่ารอยตีบที่หลอดเลือดสมองที่เป็นแต่เดิมนั้นมันหายไปแล้วครับ มันเป็นไปตามที่คุณหมอสันต์บอกจริงๆว่าโรคหลอดเลือดนี้มันหายได้ ผมฟังผลการตรวจนี้แล้วผมปิติจนน้ำตาไหลเลย อดไม่ได้จึงต้องรีบโทรศัพท์มาบอกคุณหมอ"
ตามสถิติทั่วไปของวงการแพทย์ คนที่เป็นสโตร้คครั้งที่หนึ่งแล้ว จะมีโอกาส 25% ที่จะเป็นครั้งที่สอง คนที่เป็นสโตร้คครั้งที่สองแล้ว จะมีโอกาส 50% ที่จะเป็นครั้งที่สาม คนที่เป็นสโตร้คครั้งที่สามแล้ว จะมีโอกาส 75% ที่จะเป็นครั้งที่สี่ ทั้งนี้เป็นเพราะโรคมันดำเนินไปข้างหน้า รอยตีบที่หลอดเลือดสมองนั้นจะเดินหน้าตีบมากขึ้น และโอกาสที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดก็มากขึ้น แต่ถ้ารอยตีบที่หลอดเลือดนั้นหายไปอย่างกรณีของคุณทวีศักดิ์นี้ โอกาสที่จะเป็นสโตร้คมากกว่าคนปกติก็จะหายไปด้วย
กรณีของคุณทวีศักดิ์นี้เป็นรายงานผู้ป่วย (case report) ว่าการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตอย่างสิ้นเชิงทำให้โรคหลอดเลือดที่สมองหายได้ ซึ่งก็สอดคล้องกับงานวิจัยทางด้านหัวใจที่มีคนทำวิจัยไว้ก่อนหน้านี้และสรุปผลได้ชัดเจนแล้วว่าการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตอย่างสิ้นเชิงทำให้โรคหลอดเลือดหัวใจถอยกลับ (reverse) ได้ นี่เป็นข้อมูลที่ช่วยยืนยันให้ผู้ที่ป่วยเป็นอัมพาตอัมพฤกษ์ขยันเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตของตัวเองอย่างจริงจัง เพื่อจะได้หายจนกล้บมาเป็นคนปกติเหมือนคนอื่นที่ไม่เคยเป็นสโตร้ค
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Ornish D, et. al. Intensive lifestyle changes for reversal of coronary heart disease. JAMA 1998; 280(23): 2001-2007 1998
2. Esselstyn CB Jr. Updating a 12-year experience with arrest and reversal therapy for coronary heart disease (an overdue requiem for palliative cardiology). Am J Cardiol 1999;84:339 –341.
พบกันครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2557 ซึ่งก็ห้าปีมาแล้ว ตอนนั้น คุณทวีศักดิ์ อิงคชัยรัชต์ เป็นคนหนุ่มอายุ 41 ปี เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในธุรกิจรีไซเคิ้ลโลหะต่างๆ มีทักษะการวินิจฉัยสั่งการที่เฉียบคมทำให้สามารถทำงานหลายๆอย่างพร้อมกันทีเดียวได้ เมื่อสร้างฐานะได้ดีถึงระดับที่ตัวเองพอใจแล้วก็ตัดสินใจขายกิจการทั้งหมดเพื่อพาคุณพ่อคุณแม่ไปใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพที่โคราชโดยซื้อบ้านไว้ที่นั่น แต่เมื่อเริ่มชีวิตใหม่แบบเกษียณตั้งแต่หนุ่มอย่างที่ฝันไว้กลับพบว่าการอยู่ว่างๆก็เป็นความเครียดอีกแบบหนึ่ง แล้วอยู่ๆก็ป่วยเป็นอัมพาตเฉียบพลัน มีอาการพูดไม่ได้ หรือบางครั้งตั้งใจจะพูดอย่างหนึ่งคำพูดที่ออกมากลับเป็นอะไรก็ไม่รู้ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองตั้งใจจะพูด (โรคแบบนี้ภาษาแพทย์เรียกว่า Wernicke stroke แปลว่าลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดที่เลี้ยงบริเวณเนื้อสมองที่ควบคุมการพูด) ได้เข้ารับการรักษาฉุกเฉินที่รพ.นครราชสีมา แพทย์ตรวจ MRI สมองก็พบว่ามีหลอดเลือดสมองเส้นใหญ่ที่ชื่อ middle cerebral artery ตีบ โดยที่ลิ่มเลือดที่อุดตันได้ละลายหายไปเองแล้ว เมื่อพ้นจากการรักษาโดยแพทย์อายุรกรรมประสาทแล้วคุณทวีศักดิ์ก็มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้มาพบกับผม
ผมประเมินจากอาการเจ็บแน่นหน้าอกซึ่งมีลักษณะสัมพันธ์กับความเครียดแต่ไม่สัมพันธ์กับการออกแรง ร่วมกับผลการตรวจสมรรถนะของหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST) ว่าได้ผลปกติ ร่วมกับการตรวจแคลเซียมที่หลอดเลือดหัวใจ (CAC) ได้คะแนนศูนย์ จึงวินิจฉัยว่าคุณทวีศักดิ์ไม่ได้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่มีอาการเจ็บหน้าอกจากความกลัว (panic disorder) และได้วางแผนการรักษาร่วมกับคุณทวีศักดิ์ ซึ่งมีสาระหลักๆว่าให้
(1) เปลี่ยนวิธีกินใหม่ หันมากินอาหารที่มีพืชเป็นหลักในรูปแบบไขมันต่ำ ลดอาหารเนื้อสัตว์ลง
(2) เปลี่ยนวิธีออกกำลังกายให้ทำในชีวิตประจำวันอย่างสม่ำเสมอ เป้าหมายให้ได้มีโอกาสออกกำลังกายให้หนักพอควรจนเหนื่อยหอบครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้งขึ้นไป
(3) ให้ฝึกวางความคิดด้วยวิธีนั่งสมาธิ
(4) ให้กลับไปทำงานใหม่ โดยลดเวลาทำงานให้น้อยกว่าเดิม มีเวลาใช้ชีวิตให้มากขึ้น
คุณทวีศักดิ์เล่าว่า
"ผมทำทุกอย่างตามที่หมอบอก ผมกินผักผลไม้มาก อย่างน้อยให้ได้เท่าแอปเปิลวันละ 5 ลูก ผมงดกินเนื้อสัตว์สัปดาห์ละ 4 วัน โดยเน้นไม่กินเนื้อหมูเนื้อวัว
ผมออกกำลังกายจนมันเป็นชีวิตปกติของผม ส่วนใหญ่ด้วยการวิ่งจ๊อกกิ้ง ในรถผมมีรองเท้าวิ่งอยู่สามสี่คู่และชุดออกกำลังกายอยู่หลังรถตลอดเวลา ขับรถผ่านไปทางไหนเมื่อมีที่เหมาะๆผมจะจอดรถลงไปวิ่ง ตามริมถนนที่คนอื่นเขาวิ่งกันอยู่ผมก็จะจอดลงไปวิ่งด้วย วันหนึ่งผมจะวิ่งให้ได้อย่างน้อย 5 กม.ทุกวัน ส่วนใหญ่วิ่งตอนเช้า เย็นถ้ามีเวลาก็เข้ายิม
ผมกลับไปทำงานใหม่ตามที่หมอแนะนำ แต่ทำแบบไม่เครียด ทำเล็กลง ไม่ได้ทำโครงการใหญ่ๆอย่างที่เคยทำกับโรงไฟฟ้าบางปะกงแล้ว ทำแค่ผ่านไปพบเห็นโรงงานร้างที่ไหนที่ติดแบงค์อยู่ผมก็ไปเจรจาซื้อมา รื้อแยกชิ้นส่วนเอาเหล็กเอาวัสดุต่างไปขาย ทำแบบไม่เครียด
ผมลดการดื่มแอลกอฮอล์ลงไปมาก ผมยังพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงบ้างเดือนละครั้ง เขาดื่มกันผมก็ดื่มเบียร์แต่น้อยแค่สองสามแก้ว แต่จะไม่ให้ดื่มเลย 100% คงไม่ได้นะครับ"
คุณทวีศักดิ์เปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตของตัวเองได้ดีเสียจนแพทย์อายุรกรรมประสาทที่ดูแลอยู่ขอให้คุณทวีศักดิ์เป็นแม่แบบไปสอนคนไข้อัมพาตคนอื่นเพื่อให้พวกเขาเห็นว่าอัมพาตเป็นโรคที่หากดูแลตัวเองดีแล้วชีวิตก็จะมีคุณภาพดีได้ แต่คุณทวีศักดิ์เล่าว่า
"คุณหมอครับ ผมไปสอนแล้วไม่มีใครเชื่อผมเลย คนที่เป็นสโตร้คส่วนใหญ่เขามีอายุมากเกินห้าหกสิบกันหมดแล้ว และส่วนใหญ่เขาหมดอาลัยตายอยากในชีวิตแล้ว ไม่เอาอะไรกันแล้ว"
เวลาผ่านไปครบห้าปี แพทย์อายุรกรรมประสาทที่ดูแลอยู่ได้สั่งให้ทำ MRI เพื่อประเมินหลอดเลือดเดิมที่ตีบอยู่ คุณทวีศักดิ์โทรศัพท์มาบอกผลให้ผมฟังว่า
"หมอรายงานผล MRI ว่ารอยตีบที่หลอดเลือดสมองที่เป็นแต่เดิมนั้นมันหายไปแล้วครับ มันเป็นไปตามที่คุณหมอสันต์บอกจริงๆว่าโรคหลอดเลือดนี้มันหายได้ ผมฟังผลการตรวจนี้แล้วผมปิติจนน้ำตาไหลเลย อดไม่ได้จึงต้องรีบโทรศัพท์มาบอกคุณหมอ"
ตามสถิติทั่วไปของวงการแพทย์ คนที่เป็นสโตร้คครั้งที่หนึ่งแล้ว จะมีโอกาส 25% ที่จะเป็นครั้งที่สอง คนที่เป็นสโตร้คครั้งที่สองแล้ว จะมีโอกาส 50% ที่จะเป็นครั้งที่สาม คนที่เป็นสโตร้คครั้งที่สามแล้ว จะมีโอกาส 75% ที่จะเป็นครั้งที่สี่ ทั้งนี้เป็นเพราะโรคมันดำเนินไปข้างหน้า รอยตีบที่หลอดเลือดสมองนั้นจะเดินหน้าตีบมากขึ้น และโอกาสที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดก็มากขึ้น แต่ถ้ารอยตีบที่หลอดเลือดนั้นหายไปอย่างกรณีของคุณทวีศักดิ์นี้ โอกาสที่จะเป็นสโตร้คมากกว่าคนปกติก็จะหายไปด้วย
กรณีของคุณทวีศักดิ์นี้เป็นรายงานผู้ป่วย (case report) ว่าการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตอย่างสิ้นเชิงทำให้โรคหลอดเลือดที่สมองหายได้ ซึ่งก็สอดคล้องกับงานวิจัยทางด้านหัวใจที่มีคนทำวิจัยไว้ก่อนหน้านี้และสรุปผลได้ชัดเจนแล้วว่าการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตอย่างสิ้นเชิงทำให้โรคหลอดเลือดหัวใจถอยกลับ (reverse) ได้ นี่เป็นข้อมูลที่ช่วยยืนยันให้ผู้ที่ป่วยเป็นอัมพาตอัมพฤกษ์ขยันเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตของตัวเองอย่างจริงจัง เพื่อจะได้หายจนกล้บมาเป็นคนปกติเหมือนคนอื่นที่ไม่เคยเป็นสโตร้ค
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Ornish D, et. al. Intensive lifestyle changes for reversal of coronary heart disease. JAMA 1998; 280(23): 2001-2007 1998
2. Esselstyn CB Jr. Updating a 12-year experience with arrest and reversal therapy for coronary heart disease (an overdue requiem for palliative cardiology). Am J Cardiol 1999;84:339 –341.