รองช้ำ (เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ Plantar fasciitis)

เรียน คุณหมอสันต์ ที่เคารพ
4 ปีแล้วที่เป็นลูกศิษย์คุณหมอ ทำตามที่ไปเข้าค่าย [{(แทบ)}] ทุกอย่าง ท้าวความก่อนเพราะคุณหมอลูกศิษย์เยอะอาจจะจำไม่ได้ ดิฉัน ... ค่ะ ออกกำลังกายด้วยการเดินเร็วๆ ผสมวิ่งเยาะๆ ทุกวัน ย้ำว่าทุกวัน มาตลอด โดยประมาณ 1 ชม./วัน ตี 4 ครึ่ง ถึง ตี 5 ครึ่ง นาฬิกาออกกำลังกายบอกว่า burn 300-450 cal เสมอๆ แต่ต้นปีนี้รู้สึกว่ารองเท้ามันคงจะสึก เดิน-จ็อกแล้วมันกระแทก (Asic) แต่ด้วยความขี้เหนียวไม่ยอมเปลี่ยน และรู้สึกตัวว่ากลายเป็นคนเสพติดออกกำลังกาย ถ้าวันไหนตื่นมาแล้วจำเป็นว่าต้องงดออกไปวิ่งจะหงุดหงิดมาก รุ่งขึ้นมี double เข้าไป ไม่อย่างนั้นจะรู้สึกผิดมาก ดิฉัน ปีนี้ 56 ปี นน. 53-54 สูง 160 ไปตรวจสุขภาพประจำปีกับคุณหมอ... ที่ ... คุณหมอบอกว่าตัวชี้วัดทุกอย่างดี
จนเมื่อเดือนประมาณมีนาคมเจ็บฝ่าเท้ามากๆ ร้อนผ่าวเจ็บไปทั้งฝ่าเท้าทั้งวัน หาหมอกระดูกแล้ว กินยาอยู่ 10 วันไม่ดีขึ้น กลางเดือนมีนาฉีดยาที่ฝ่าเท้าทั้ง 2 ข้างข้างละ 2 เข้ม (2 จุด) ค่อยๆ ดีขึ้นจากเดิมสักครึ่งหนึ่ง แล้วก็แย่ลงอีก กลางเดือนเมษายน ไปหาหมออีก ฉีดยาอีก อย่างเดิมแต่เปลี่ยนย้ายตำแหน่ง ไม่ดีขึ้นเลยจนถึงวันนี้ คิดว่าพรุ่งนี้ (15 พค) คงต้องไปหาคุณหมอกระดูกอีก อาการมันคือร้อนผ่าวทั้งฝ่าเท้า ตรง Arch มีจุดเจ็บเหมือนเส้นมันยึด ฝ่าเท้ามันร้อนผ่าเอ้วชา เหมือนเราไปยืนเดินบนพื้นซีเมนต์ร้อนๆ นานๆ อาการผ่าวร้อนอย่างนี้ทั้งวันไม่ว่าจะยืนเดินนั่งนอน พอกลางคืนนอน เช้าตื่นมาจะดีขึ้นมาก พอเวลาผ่านไปชั่วโมง 2 ชั่วโมงก็เป็นอีก
- จะทำอย่างไรดีกับอาการข้างบนดีค่ะ ไม่อยากกินยาเยอะ ซึ่งก็บอกคุณหมอกระดูกไปแล้วด้วยว่าดิฉันไม่ชอบกินยา
- แล้วขา-ฝ่าเท้า มาเป็นแบบนี้ ตอนนี้คุณหมอเขาให้งดเดินก่อน แล้วดิฉันจะไปออกกำลังกายอะไรได้  Rotator cuff ที่ไปผ่าตัดมา ยังฟื้นตัวไม่หมด ยังเจ็บอยู่ ยังยกแขนได้ไม่สูง
- ยาฉีด ฉีดมากๆ คงไม่ดีแน่ แล้วดิฉันจะทำอย่างไรดี
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

.....................................................

ตอบครับ

ก่อนตอบคำถาม ขอเล่าสรุปให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นฟังไปด้วยก่อนว่าเอ็นฝ่าเท้าอักเสบคือภาวะที่มีการเสื่อมสภาพหรือการระคายเคืองของเอ็นฝ่าเท้าตรงที่เกาะกับกระดูกส้นเท้า (calcaneal tuberosity) เชื่อกันว่าเกิดจากการที่เอ็นฝ่าเท้าถูกยืดหรือกระชากมากเกินไปทำให้เกิดการฉีกขาดขนาดเล็กๆ (microtear) ของเอ็น ถ้าการบาดเจ็บลักษณะนี้เกิดซ้ำๆซากๆก็จะสะสมและเรื้อรัง เวลาลงน้ำหนักมีอาการเจ็บแปล๊บที่ฝ่าเท้าใกล้ไปทางส้นค่อนเข้ามาข้างใน บางคนเอานิ้วมือกดตรงนี้ดูก็หรือดึงหัวแม่โป้งเท้าให้กระดกขึ้นก็ร้องจ๊ากแล้ว จะเจ็บมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงน้ำหนักสี่ห้าก้าวแรก ในกรณีที่มีการตัดชิ้นเอ็นออกมาตรวจจะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงแบบการเสื่อมสภาพเรื้อรังและมีบางบริเวณขาดเลือดไปเลี้ยงทำให้การหายยิ่งช้า แต่ไม่มีการอักเสบอย่างชื่อเรียก

สาเหตุที่แท้จริงนั้นวงการแพทย์ไม่ทราบ แต่โรคนี้เกิดมากในนักวิ่งจึงเชื่อว่ามันน่าจะเกี่ยวกับการวิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีไม่เข้มงวดในการใช้อุปกรณ์ป้องกัน เช่น เลือกรองเท้าหรือแผ่นรองพื้นไม่เหมาะกับลักษณะเท้า, ขี้เหนียวไม่ซื้อรองเท้าที่ฝ่าเท้ารับน้ำหนักได้ดี, ขี้เหนียวไม่เปลี่ยนรองเท้าเมื่อพื้นรองเท้าหมด เป็นต้น นอกจากนี้สาเหตุภายในก็อาจมีส่วน เช่น ฝ่าเท้าแบน หรือฝ่าเท้าเว้ามากเกินไป ขายาวไม่เท่ากัน และเท้าและขาผิดรูปในลักษณะต่างๆ การที่หัวแม่เท้าตก (reduced dorsiflex) ก็มีหลักฐานว่าเป็นอีกเหตุหนึ่งของโรคนี้ แม้แต่ความแก่ (สูงวัย) ก็เป็นอีกเหตุหนึ่งเช่นกันเพราะแผ่นไขมันที่รองเป็นเบาะรับกระดูกส้นเท้าบางลงตามวัย

เอาละคราวนี้มาตอบคำถาม

     1. ถามว่าจะทำอย่างไรดีกับอาการเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ ตอบว่าสิ่งแรกคือทำใจก่อน ว่าโรคนี้เป็นแล้วอาการจะอยู่นานหลายเดือน แต่ท้ายที่สุดก็มักจะหายไปเอง สถิติพบว่าเมื่อเป็นแล้ว 80% จะหายไปเองในเวลา12 เดือน แต่ยิ่งมีกิจกรรมใช้เท้าแบบหนักๆซ้ำๆซากๆยิ่งหายช้า และมี 5% ที่ต้องจบลงด้วยการผ่าตัดกรีดหย่อนเอ็นฝ่าเท้าอาการจึงจะหาย

     เมื่อได้ทำใจแล้วก็ให้รักษาเป็นขั้นๆจากน้อยไปหามาก เริ่มด้วยการประคบเย็น หาแผ่นยาขยายหลอดเลือด (nitroglycerin patches) มาแปะ พักการใช้งานฝ่าเท้าไว้ก่อน หากเสพย์ติดการออกกำลังกายก็เปลี่ยนกิจกรรมเช่นไปปั่นจักรยานหรือเดินเร็วแทน หรือเปลี่ยนไปทำครอสเทรนนิ่ง หรือไปเล่นกล้ามด้วยท่าที่ทำได้ หรือว่ายน้ำ ฯลฯ คืออะไรก็ได้ที่ไม่ต้องกระโดดโลดเต้น

     แล้วก็ไปหากายอุปกรณ์ เช่นรองเท้าเฝือก (splinting shoe) ปลอกหุ้มส้น (heel orthoses) แผ่นรองพื้นเท้า (insole) ถุงเท้ารองช้ำ (plantar fasciitis socks) ซึ่งมีทั้งแบบลุคธรรมดาๆไปจนถึงแบบมีสายดึงหัวแม่โป้งให้เงยหน้าตลอดเวลาด้วย (ใส่แล้วเรียกร้องความสนใจได้ดีมาก หิ หิ) การใช้กายอุปกรณ์ช่วยจะทำให้กลับไปมีชีวิตที่แอคทีฟได้เร็วขึ้น

     ถ้ายังไม่ดีขึ้นก็ไปหาหมอ ซึ่งหมอก็จะให้ยามากิน แน่นอนว่ายายอดนิยมก็คือยาแก้ปวดแก้อักเสบที่ไม่ใช่สะเตียรอยด์ (NSAIDs) ถ้ากินแล้วยังไม่สะใจก็ฉีด สิ่งที่หมอฉีดมีหลายอย่างนะ อย่างแรกที่ยอดนิยมก็คือสะเตียรอยด์ ซึ่งมีข้อเสียที่ทำให้เอ็นบางจ๋อยลง จ๋อยลง และยิ่งฉีกขาดง่ายขึ้น อย่างที่สองที่นิยมฉีดกันก็คือโบทอกซ์ อย่างที่สามก็คือฉีดเลือดของตัวเอง (autologous blood injection) หรือเกล็ดเลือดของตัวเอง (platelet-rich plasma (PRP) injection) เข้าไปตรงนั้น นัยว่าจะได้ไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ จะได้มีการหายตามมาซะที ซึ่งก็ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ในการกระตุ้นให้เกิดการอักเสบนี้ หากฉีดอะไรแล้วก็ยังไม่อักเสบสะใจก็ให้ไปโน่นเลย ช็อคเวฟ (ESWT) จะอักเสบสะใจดีมาก ทำแล้วบวมแดงอลึ่งฉึ่ง ส่วนการจะหายจากเจ็บเอ็นฝ่าเท้าหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องค่อยไปลุ้นเอาหลังการอักเสบยุบแล้ว

     ทั้งหมดนั่นก็ใช้เวลาไปอย่างน้อยสักหนึ่งปี หากยังไม่หายอีก คราวนี้ก็ให้หมอกระดูกเขาผ่าตัดหย่อนเอ็นฝ่าเท้าเสียให้รู้แล้วรู้รอด

    2. ขอพูดที่คุณไม่ได้ถามหน่อย พูดเผื่อท่านผู้อ่านท่านอื่นที่เป็นนักวิ่งด้วย คือในการจะเป็นนักวิ่งคุณต้องเรียนรู้และพิถีพิถันเรื่องรองเท้า เลือกรองเท้าที่รับแรงกระแทกได้ดีๆ วิธีเลือกที่ง่ายที่สุดคือซื้อรองเท้าที่แพงๆ ถ้าฝ่าเท้าคุณแบนก็ต้องวางอินโซล (insole) ที่เหมาะกับฝ่าเท้าด้วย เมื่อรองเท้าคุณเก่าก็ต้องรีบเปลี่ยนอย่าขี้เหนียว การจะดูว่าเก่าหรือไม่เก่าดูจากการดูดซับแรงกระแทก ซึ่งเวลาวิ่งคุณจะสังเกตรับรู้ได้ จะให้ดีต้องมีรองเท้าดีๆไว้หลายๆคู่เอาไว้ผลัดเปลี่ยนกันออกวิ่งในแต่ละวัน ไม่ใช่ใช้คู่เดียวทุกวี่ทุกวันตลอดชีพ

     กิจกรรมก็ต้องมีความพิถีพิถัน เวลายืนก็อย่ายืนนิ่งๆนานๆ ก่อนและหลังวิ่งก็ต้องยืดฝ่าเท้าและน่องด้วย หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายบนพื้นที่เรียบแข็ง แม้แต่จะเดินเท้าเปล่าในบ้านพื้นหินอ่อนก็ถือว่าแข็งเกินไปแล้ว ยิ่งการออกกำลังกายแบบกระโดดโลดเต้นมากก็ยิ่งเจ็บเอ็นฝ่าเท้ามาก การขยันวิ่งทุกวันก็เป็นการโหลดฝ่าเท้ามากเกินไป ควรพักเป็นบางวันเพื่อไปออกกำลังกายแบบอื่นสลับบ้าง เช่นเดินเร็ว จักรยาน หรือครอสเทรนนิ่ง

     ขอแถมอีกเรื่องหนึ่ง ผู้ป่วยโรคนี้บางคนเอ็กซเรย์พบเงี่ยงกระดูก (spur) ที่กระดูกส้นเท้า ก็ปักใจเชื่อว่าเป็นเพราะเงี่ยงกระดูกจึงไปชวนหมอให้ผ่าตัดเหลากระดูกส้นเท้าซึ่งหมอบางคนก็เหลาให้นะ แต่การทำอย่างนั้นงานวิจัยพบว่าเงี่ยงกระดูกไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคนี้ และเหลาเอาเงี่ยงกระดูกออกก็ไม่ได้ทำให้โรคนี้หายมากไปกว่าการอยู่เปล่าๆ

     ที่คุณเล่าว่าออกจากแค้มป์มาสี่ปีแล้วขยันทำตัวดีตลอดทำทุกอย่างที่เรียนรู้มาจากแค้มป์จนตัวชี้วัดสุขภาพทุกตัวดีหมดนั้นก็ดีแล้วและขอบคุณที่เขียนมาเล่า จะได้เป็นตัวอย่างที่ดีให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นเห็นว่าคนที่เขาตั้งใจดูแลตัวเองและลงมือทำแล้วประสบความสำเร็จนั้นมีอยู่มาก จะได้เลิกเอาแต่เกี่ยงงอน งอแง งีดง้าด แล้วไม่ลงมือทำอะไรสักที

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

จดหมายจากผู้อ่าน1
Pornlapat Brown
ดิฉันเป็นเหมือนกันไปหาหมอฝรั่งตรวจๆถามๆให้เอกสารมาชุดหนึ่งบอกให้ไปอ่านแล้วทำตามนั้น ไม่มียาอะไรเลย
ให้ใช้ปลายเท้าหนีบเก็บสิ่งของ ดิฉันใช้ลูกแก้วใช้เท้าที่เจ็ปนั้งหนีบเก็บใส่กระป๋อง หายค่ะต้องใช้เวลาแล้วไม่กลับมาเป็นอีกเลยพอรู้สึกตึงๆเท้าก็เริ้มใส่ใจที่จะระวังก่อนเจ็ป
ดิฉันปั่นจักรยานรู้ตัวบางครั้งวางเท้าผิดก็ต้องคอยเช็คตัวเอง ใส่ถุงเท้าหนาเกินไป บางเกินไป อะไรแบบนั้น

จดหมายจากผู้อ่าน2
Naowarat Khamapan
ขอแบ่งปันประสบการณ์ของตัวเอง เผื่อจะมีประโยชน์กับผู้ถามบ้าง เพราะเป็นแล้วทรมาณมากๆๆๆๆๆ
โรคนี้นักวิ่งเป็นเยอะ ดิฉันก็เคยเป็น ตอนเป็นก็หาหมออากู๋ 😂รวบรวมข้อมูลและแก้ด้วยตัวเอง สำหรับ case ของตัวเองคิดว่าสาเหตุน่าจะมาจากหลายอย่างประกอบกัน ดิฉันใช้หลายวิธีผสมๆกัน
1 ยืดน่อง>>เส้นเอ็นตึงมาจากน่องที่วิ่งระยะยาว หลังวิ่งเสร็จแล้วยืดไม่พอ ใช้วิธียืดน่องเยอะๆ ลงทุนซื้อไม้ยืดน่อง 2 แบบ ยืดบ่อยๆ ทั้งน่องบนและน่องล่างใกล้เอ็นร้อยหวาย
2 หาแผ่นรองฝ่าเท้าที่นูนพอดีรับกับอุ้งเท้า>>ดิฉันเป็นคนฝ่าเท้าโค้งมาก ถ้าใส่รองเท้าที่แผ่นรองเท้าไม่ support ฝ่าเท้าที่โค้งทำให้เวลาลงน้ำหนัก ภาระจะโหลดไปที่เอ็นเยอะ และถ้าเป็นการวิ่งระยะยาว เอ็นฝ่าเท้าก็จะยืดๆหดๆแบบนี้เป็นหลายพันครั้ง อาจเกิดการฉีกขาดและบรรดาเอ็นทั้งหลายมีเส้นเลือดไปเลี้ยงน้อยเลยเยียวยาตัวเองช้า ก็ต้องหารองเท้าที่มีแผ่นรองเท้านูนๆที่ support ฝ่าเท้าได้
3 นวดฝ่าเท้าและออกกำลังกายเท้า>>ระหว่างนั่งทำงานก็เอาลูกกอล์ฟวางบนพื้นแล้วใช้ฝ่าเท้าคลึงลูกกอล์ฟ สลับกับออกกำลังกายเท้าเหมือนท่านข้างบนโดยใช้นิ้วเท้าทั้ง 5 งุ้มหยิบลูกกอล์ฟ
4 แช่น้ำร้อน>>กลับถึงบ้านก็แช่น้ำร้อนจัดๆ ย้ำว่าจัดๆผสมสมุนไพร
5 นวดประคบฝ่าเท้า>>หาหมอนวดรู้ใจ
ทำบ่อยๆผสมๆกันไป ตอนนี้หายขายวิ่ง half marathorn เฉลี่ยเดือนละครั้งก็ไม่มีอาการ (เคาะไม้ๆๆ😂)

...................................................
บรรณานุกรม
1. Khan KM, Cook JL, Kannus P, Maffulli N, Bonar SF. Time to abandon the "tendinitis" myth. BMJ. 2002 Mar 16. 324(7338):626-7.
2. Chen H, Ho HM, Ying M, Fu SN. Association between plantar fascia vascularity and morphology and foot dysfunction in individuals with chronic plantar fasciitis. J Orthop Sports Phys Ther. 2013 Oct. 43(10):727-34.
3, Riddle DL, Pulisic M, Pidcoe P, Johnson RE. Risk factors for Plantar fasciitis: a matched case-control study. J Bone Joint Surg Am. 2003 May. 85-A(5):872-7.
4. Werner RA, Gell N, Hartigan A, Wiggerman N, Keyserling WM. Risk factors for plantar fasciitis among assembly plant workers. PM R. 2010 Feb. 2(2):110-6; quiz 1 p following 167. [Medline].
5. Reid DC. Running: injury patterns and prevention. Sports Injury Assessment and Rehabilitation. New York, NY: Churchill Livingstone; 1992. 1131-58.
6. Pohl MB, Hamill J, Davis IS. Biomechanical and anatomic factors associated with a history of plantar fasciitis in female runners. Clin J Sport Med. 2009 Sep. 19(5):372-6. [Medline].
7. Bolivar YA, Munuera PV, Padillo JP. Relationship between tightness of the posterior muscles of the lower limb and plantar fasciitis. Foot Ankle Int. 2013 Jan. 34(1):42-8.
8. Acevedo JI, Beskin JL. Complications of plantar fascia rupture associated with corticosteroid injection. Foot Ankle Int. 1998 Feb. 19(2):91-7.
9. McPoil TG, Martin RL, Cornwall MW, Wukich DK, Irrgang JJ, Godges JJ. Heel pain--plantar fasciitis: clinical practice guildelines linked to the international classification of function, disability, and health from the orthopaedic section of the American Physical Therapy Association. J Orthop Sports Phys Ther. 2008 Apr. 38(4):A1-A18.
10. Aqil A, Siddiqui MR, Solan M, Redfern DJ, Gulati V, Cobb JP. Extracorporeal shock wave therapy is effective in treating chronic plantar fasciitis: a meta-analysis of RCTs. Clin Orthop Relat Res. 2013 Nov. 471(11):3645-52.
11. Babcock MS, Foster L, Pasquina P, Jabbari B. Treatment of pain attributed to plantar fasciitis with botulinum toxin a: a short-term, randomized, placebo-controlled, double-blind study. Am J Phys Med Rehabil. 2005 Sep. 84(9):649-54.
12. Martin RP. Autologous blood injection for plantar fasciitis: a retrospective study. Paper presented at: Annual meeting of the American Medical Society for Sports Medicine; April 16-20, 2005; Austin, Texas. Clin J Sport Med. 2005 Sept. 15:387-8.
13. Kumar V, Millar T, Murphy PN, Clough T. The treatment of intractable plantar fasciitis with platelet-rich plasma injection. Foot (Edinb). 2013 Jun-Sep. 23(2-3):74-7.
14. Mahindra P, Yamin M, Selhi HS, Singla S, Soni A. Chronic Plantar Fasciitis: Effect of Platelet-Rich Plasma, Corticosteroid, and Placebo. Orthopedics. 2016 Mar-Apr. 39 (2):e285-9.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

หนังสือคัมภีร์สุขภาพดี (Healthy Life Bible) จะพิมพ์ครั้งที่ 3 แน่นอนแล้ว เชิญสั่งซื้อได้

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67