นพ.สันต์ ให้สัมภาษณ์วารสาร SUPALAI@HOME

     ในยุคที่ผู้คนต่างตื่นตัวหันมาใส่ใจการดูและสุขภาพ เมื่อเอ่ยชื่อ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ก็คงไม่ต้องแนะนำกันมาก เพราะชื่อเสียงของท่านโด่งดังมานาน ประวัติอย่างสั้นที่คุณหมอสันต์บอกเล่าในบล็อกของท่าน กล่าวถึงตัวเองอย่างถ่อมตัวมีใจความว่านพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ อดีตเป็นศัลยแพทย์หัวใจที่ต่อมาหันมาสนใจเวชศาสตร์ครอบครัว เคยทำงานบริหารเป็นผู้อำนวยการรพ.พญาไท 2 อยู่ 6 ปี ตอนนี้เกษียณแล้ว และไปตั้ง Wellness We care Center ที่อ.มวกเหล็ก เปิดแค้มป์สุขภาพ สอนให้คนมีสุขภาพดีด้วยตนเอง และสอนคนที่ป่วยแล้วให้พลิกผันโรคด้วยตัวเอง ด้วยโภชนาการที่มีพืชเป็นอาหารหลัก การออกกำลังกาย การจัดการความเครียดอย่างเป็นระบบ และการเข้ากลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน ทำงานจิตอาสา คือช่วยมูลนิธิสอนช่วยชีวิต มูลนิธิช่วยผ่าตัดหัวใจเด็ก และเป็นที่ปรึกษาให้กับรพ.มวกเหล็กด้วย มีงานอดิเรกทำสวนปลูกผักปลูกดอกไม้ เคยทำ "ไร่หมอส้นต์เกษตรอินทรีย์" แล้วเลิกไป และไปเริ่มทำฟาร์มใหม่อีกครั้งที่มวกเหล็ก ชื่อ Nature We Care Farm... คนที่อ่านประวัติคุณหมอมาถึงตรงนี้ก็มักจะอมยิ้ม

......................................................

     "..ผมเป็นคนที่ขอแค่วันนี้อยู่สบายๆ อย่าว่าแต่อนาคตไกลๆเลย แค่ชั่วโมงหน้าผมก็ไม่คิด อยู่ไปทีละช็อต ทีละโมเมนต์ อดีตไม่มี อนาคตไม่มี เป็นคนแก่ที่ไม่มีวาระ ไม่มีอะเจนดา

     ผมพร้อมเปิดรับอะไรก็ตามที่จะเข้ามา การที่เราจะเป็นคนเปิดรับได้ง่าย เราต้องไม่มีความคิด ต้องวางความคิดให้หมด สมัยก่อนผมจะมีความกังวลถึงอนาคต งานในความรับผิดชอบ ความเป็นความตายของคนไข้ สมองผมไม่เคยว่าง เวลาที่มีความคิดน้อยที่สุดคือเวลากำลังผ่าตัด ถามว่าสมัยนี้กับสมัยก่อนต่างกันยังไง สมัยก่อนความคิดเยอะ เครียด อยู่แต่ในความคิดอยู่แต่ในความกังวล ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของคนอื่นไม่ใช่เรื่องของตัวเรา สมัยนี้ไม่มีความคิดไม่มีความกังวลอะไร"

     หลายคนที่เป็นแฟนคลับของคุณหมอ คงพอทราบว่าจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้หมอผ่าตัดหัวใจมือหนึ่งที่เป็นผู้บริหารโรงพยาบาลตัดสินใจเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองมาสู่บทบาทผู้ทำงานเพื่อสังคมในด้านการเผยแพร่วิธีการรักษาสุขภาพโดยไม่ต้องพึ่งหมอนั้น คือการที่คุณหมอพบว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจ

     "พอตัวเองป่วย เจ็บหน้าอกเวลาออกแรง ก็รู้แล้วว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือด เพราะตัวเองเป็นหมอโรคหัวใจ การเป็นหัวใจขาดเลือดมันตายได้ง่ายๆ เราอยู่กับคนไข้ เรารู้จุดนี้ มันก็เหมือนกับดึงเรามาจากสิ่งที่เรากำลังมุ่งหน้าไปไหนก็ไม่รู้ จึงถอยกลับมาตั้งหลักกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ความเป็นไปได้ที่เราอาจจะตายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เราก็มาจัดแจงทรัพย์สมบัติเรียบร้อยหมด แล้วก็ถามตัวเองว่า 

     ตายได้ยัง...

     ยัง ยังไม่ได้ 

     ทำไม 

     มันเป็นอะไรที่บอกไม่ถูก อายุน้อยเกินไป ชีวิตกำลังทำอะไรอีกตั้งเยอะแยะ แต่ความที่เป็นหมอก็รู้ว่าคนไข้แบบนี้จะตายเมื่อไหร่ก็ได้ เราก็เป็นคนไข้ มันจำเป็นที่เราจะต้องทำยังไงก็ได้ให้เรามีความพร้อมที่จะตาย ไม่อย่างนั้นชีวิตจากนี้ไปเราก็จะอยู่ไปอย่างทุรนทุรายเหมือนคนไข้ที่เราเห็น

     ตราบใดที่ยังทำใจไม่ได้ว่าตายเมื่อไหร่ก็ได้ ชีวิตที่เหลือจะไม่มีความสุขเลยเพราะกลัวตาย ก็เลยต้องมาทำการบ้านกับเรื่องที่ทำยังไงไม่ให้กลัวตาย หลังจากลองมาหลายแบบ ท้ายที่สุดก็ลงตัว คือ หัดวางความคิด พอหัดวางความคิดได้แล้วชีวิตก็สบายดี แต่ไม่ใช่ว่าเป็นแบบนี้แล้วไม่ทำงานอะไรนะ งานก็ทำ ยังฝึกอบรม ยังสอนคน ยังทำอะไรอยู่ ทำโดยโฟกัสที่ตัวงานแต่ไม่สนใจว่าผลจะเป็นยังไง เพราะเราไม่ได้ไปได้ดิบได้ดีกับผลเหล่านั้นแล้ว เพราะเราทำใจได้ว่าเราจะตายเมื่อไหร่ก็ได้แล้ว เราไม่สนอะไรแล้ว"

     คุณหมอสันต์บอกเราว่าท่านพร้อมตายทุกเมื่อ แต่โปรเจกต์ที่ทำตอนนี้ก็ไม่เล็ก ดูเหมือนตั้งใจอยู่ยาว

     "การทำงาน ผมปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ คนทำงานกับเราก็ให้เขาค่อยๆเข้ามาเรียนรู้ตามธรรมชาติ สมัยก่อนผมทำงานดูแลธุรกิจเป็นผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชน เราซีเรียสว่าถ้าคนคนนี้ขาดแล้วเราจะทำยังไง แต่พอเรื่องจริงเกิดขึ้น คนสำคัญขาดไปโดยกะทันหัน สามวันแค่นั้นแหละ ทุกอย่างมันก็ลงตัว ตอนหลังผมเลยเลิกคิดว่าตัวเองต้องแบกโลกไว้ ผมกลายเป็นคนที่เรียกว่าไว้ใจจักรวาล ปล่อยให้จักรวาลเป็นคนบริหารจัดการทุกสิ่งทุกอย่างไป ในเมื่อใครก็ตามสร้างโลกนี้ขึ้นมา เขาก็ต้องเป็นคนดูแลโลกนี้ ไม่ใช่หน้าที่ของผมที่จะแบกโลกไว้"

     คุณหมอเล่าว่าอุปนิสัยส่วนตัวของท่านเป็นคนรักความสงบ ชอบอยู่เงียบๆไม่ยุ่งกับคนมาก แต่ในชีวิตการทำงานต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนมาก

     "ถ้าถามเรื่องแรงบันดาลใจว่าทั้งๆที่ไม่ชอบยุ่งกับใคร ทำไมถึงมาทำงานนี้ อันที่หนึ่ง คือการที่ตัวเองป่วยแล้วหันมาดูแลตัวเองแล้วตัวเองดีขึ้น ก็อยากจะสอนคนอื่นให้รู้จักดูแลตัวเอง อันที่สอง การประกอบอาชีพผ่าตัดหัวใจมานาน มันเป็นงานที่เหนื่อยยากมาก แต่การที่ผ่าตัดหัวใจไปแล้วโรคของเขาไม่ได้หาย ถ้าเขาไม่ตาย อีกประมาณสิบปีเขาก็กลับมาอีก กลับมาแต่ละทีก็ต้องมาทำงานหนักมากเลย มันเป็นอะไรที่ไม่คุ้มเลย หมอก็เหนื่อย คนไข้ก็เหนื่อย

     อย่างไรก็ตาม การมีชีวิตที่ดี การมีสุขภาพที่ดี เงื่อนไขหลักอยู่ที่ตัวบุคคล มันเหมือนกับพระสอนให้คุณบรรลุอรหันต์บรรลุธรรม พระไม่ได้ทำให้คุณบรรลุธรรม ตัวคุณต่างหากที่ต้องปฏิบัติเองให้บรรลุธรรม การที่จะให้คนมีสุขภาพดี ผมแค่เป็นคนสอน เป็นคนกระตุ้น แต่ว่าผมไปทำแทนเขาได้ซะเมื่อไหร่ ตัวเขาต้องทำเอง"

     นอกจากนี้ คุณหมอสันต์ยังให้มุมมองเกี่ยวกับปัญหาผู้สูงอายุที่เป็นภาระของลูกหลานและสังคมไว้อย่างน่าคิด

     "การมองเห็นภาพสังคมผู้สูงอายุในอนาคตไม่ต้องใช้ญาณวิเศษอะไร เป็นการคาดการณ์ทางสถิติอยู่แล้วว่าต่อไปผู้สูงอายุจะมากขึ้น จะมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น แต่คุณภาพชีวิตจะแย่ลง ชีวิตที่ยืนยาวขึ้นนั้น ในงานวิจัยครั้งหลังสุดที่แคนาดาทำ 50% ของสิบปีสุดท้ายของชีวิตคน จะเป็นชีวิตที่ไม่มีคุณภาพ เราดูจากข้อมูลเหล่านี้เราก็รู้แล้ว คนแก่จะเยอะ คุณภาพชีวิตจะแย่ ทุกคนก็มองเห็นตรงนี้ ไม่ใช่ผมมองเห็นคนเดียว นักสถิตินักวิทยาศาสตร์ทุกคนก็มองเห็นหมดแหละ หลายคนก็พยายามจะใช้วิธีของเขาแก้ คือยืดอายุเกษียณออกไปบ้าง พยายามให้คนแก่ทำอะไรมากขึ้นบ้าง ไม่ใช่หกสิบปีปุ๊บก็นั่งรอกินบำนาญ แล้วต่อไปไปใครจะมาเลี้ยง

     สำหรับการแก้ปัญหา ประเด็นที่หนึ่ง ทิศทางของการบริหารจัดการด้านสุขภาพจะต้องเปลี่ยนไป เส้นทางปัจจุบันนี้เรามุ่งไปที่ hospital treatment การใช้การแพทย์แผนใหม่ การผ่าตัด ใช้ยา ใส่วัสดุเทียม ใช้เทคโนโลยี  ไม่สนใจตัวเอง เป็นอะไรก็ไปโรงพยาบาล ทิศทางนี้สังคมจะจ่ายไม่ไหว มันเจ๊งแน่นอน อันที่หนึ่ง มันใช้เงินเยอะ ถึงจุดหนึ่งสังคมก็ไม่มีเงินจ่าย นักวิชาการทางด้านสถิติ ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านสาธารณสุข ทุกคนมองเห็นหมด อันที่สอง มันเป็นทางที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งๆที่เราทำอย่างนี้ไม่ใช่ว่าสุขภาพของผู้คนจะดีขึ้น เอาง่ายๆการเป็นโรคเรื้อรัง ไม่ใช่ว่าเราทำอย่างนี้แล้วจุดจบที่เลวร้ายของโรคจะลดลงก็เปล่า อายุคนจะยืนยาวขึ้นเพราะการทำอย่างนี้ก็เปล่า เพราะฉะนั้นทางนี้เป็นทางที่ผิด จะต้องถอยกลับมาหาอีกทางหนึ่ง ซึ่งเรารู้ว่าให้คนหันมาดูแลสุขภาพตัวเองผ่านการกินการใช้ชีวิตการจัดการความเครียดแล้วสุขภาพจะดีขึ้น ดังนั้นทิศทางการดูแลสุขภาพต้องเปลี่ยนไป"

     เมื่อพูดถึงความแก่ ความเจ็บแล้ว ก็ต้องคุยเรื่องความตาย ซึ่งเป็นหนึ่งในสัจจธรรมของทุกชีวิต เราอยากรู้มุมมองของคุณหมอสันต์ว่าในอนาคตคนเรามีความเป็นไปได้ไหมที่จะมีสิทธิ์ตัดสินใจเองว่าจะมีชีวิตอยู่ยาวนานแค่ไหน

     "ในอนาคตถ้าคุณมองไปให้ไกล ชีวิตของคนจะถูกบงการด้วยหุ่นยนต์ (artificial intelligence - AI) เหมือนอย่างคนรุ่นนี้ อีกสามชั่วโมงเขาจะกินอะไร เขาก็จะเช็คกับอากู๋ (Google) ใช่ไหม ว่าจะไปกินข้าวที่ไหนดี อากู๋คือหุ่นยนต์ สิ่งเหล่านี้จะกำหนดชีวิตของผู้คน ถ้าถามว่าคนจะฆ่าตัวตายได้ไหม มีวิธีตายแบบทางการแพทย์ไหม มันขึ้นอยู่กับหุ่นยนต์จะเป็นตัวกำหนด หุ่นยนต์ก็มาจากความคิดของผู้คนส่วนใหญ่ ซึ่งผมเดาไม่ถูกเลยว่าการกำหนดความตายในอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ผมมั่นใจว่าตัวปัญญาประดิษฐ์นี่แหละจะเป็นตัวกำหนด อากู๋คือปัญญาญาณ (intuition) ของผู้คนในอนาคต เกิดจากความคิดอ่านของคนในโลกนี้ แล้วมันก็จะมาบงการให้คนใช้ชีวิตไปในแนวนี้

     ยกตัวอย่างการไปหาหมอ การไปโรงพยาบาล ต่อไปจะถูกทดแทนโดยหุ่นยนต์ หมอจะเป็นอาชีพที่ไม่จำเป็น หุ่นยนต์เป็นตัวบอกตั้งแต่ต้น เพราะว่ามันรวบรวมความคิดความอ่านหลักวิชาไว้หมด มันสามารถที่จะไล่เรียงได้อย่างรวดเร็วว่าอาการที่คุณมีจะเป็นโรคอะไรได้บ้าง ทางเลือกในการรักษาที่ดีที่สุดคืออะไร ผมมั่นใจได้เลย 20-30 ปีข้างหน้าอาชีพแพทย์จะลดความสำคัญ ถามถึงอนาคตไกลๆผมตอบไม่ได้ ขึ้นอยู่กับหุ่นยนต์จะบงการ ตอบได้แต่ว่าชีวิตคนจะไม่เหมือนทุกวันนี้"

     คุณหมอพูดถึงอนาคตที่ฟังแล้วบอกไม่ถูกว่ามันจะดีขึ้นหรือน่ากลัว แต่สำหรับคนที่ไม่กลัวตายอย่างคุณหมอสันต์ เราก็อยากรู้ว่าถ้าถามถึงสิ่งที่กลัวโดยอัตโนมัติไม่ต้องใช้สติ ไม่ต้องใช้ความฉลาด สิ่งที่คุณหมอสันต์กลัวที่สุดคืออะไร

     "ตอนนี้ผมพ้นสิ่งเหล่านั้นมาแล้ว ความกลัวมันเป็นความคิด เป็นความเชื่อ ความกลัวคือความเชื่อว่าสิ่งร้ายๆจะเกิดขึ้นกับเรา ผมเรียนรู้ชีวิตมาถึงขั้นที่ผมวางความคิดได้ ไม่หมด 100% แต่ก็ 99% สิ่งที่เรียกว่าความกลัวก็ดี ความเชื่อก็ดี ความชั่วความดีก็ดี ผมไม่มี ผมพ้นจากสิ่งเหล่านั้นไปแล้ว ผมตอบได้ว่าไม่กลัวอะไรเลย

     ความกลัวเป็นต้นเหตุของความเจ็บป่วย คุณต้องหัดวางความคิดให้เป็น แล้วความกลัวจะหมดไป ธุรกิจอุตสาหกรรมการแพทย์อยู่ได้เพราะความกลัว เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการประกันชีวิต ถ้าคนไม่กลัว เขาเจ๊งกันหมด

     การจะมีชีวิตที่เป็นสุข คือการเป็นอยู่อย่างสงบร่มเย็นในชีวิตประจำวันเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ต้องไปวัดไปวา ไปบวช เท่านั้น วัดก็มีสิ่งแวดล้อมที่เครียดได้เหมือนกัน ตัวผมเองไม่ใช่คนเข้าวัดถือศีลกินเจ คือกลัวว่าถ้าเป็นพระก็ต้องมีศีลเป็นร้อยสองร้อยข้อ กลัวจะเครียด"

     พูดถึงการบวชหรือถือศีลปฏิบัติธรรม วิถีชีวิตประจำวันของคุณหมอในเรื่องการกินอยู่และการออกกำลังกายนั้นก็เคร่งครัดพอๆกับนักบวช ไม่ว่าจะเป็นการกินเพื่อสุขภาพ งดน้ำตาลและเกลือ ซึ่งเป็นความบันเทิงปากที่ใครๆก็ขาดไม่ได้

     "อาหารเป็นสิ่งเสพย์ติด การเลิกสิ่งเสพย์ติดมันยาก คุณต้องมีอะไรที่ทำให้คุณเบิกบานได้มากกว่านั้นคุณถึงจะเลิกมันได้ การเลิกยาเสพย์ติดกับอาหารมีกลไกเหมือนกัน ในทางการแพทย์มีข้อมูลชัดเจน ทำถึงขนาดเอาเอ็มอาร์ไอ.มาดูการเปลี่ยนแปลงของสมองในคนติดโคเคนกับคนติดน้ำตาล เวลาอยากกินน้ำตาลกับอยากเสพย์โคเคนมีการเปลี่ยนแปลงในสมองเหมือนกัน แต่เราก็ยังไม่สามารถทำให้คนเลิกเสพย์ติดอาหารได้ สำหรับตัวผมเองนั้นเลิกได้เพราะผมวางความคิดให้ได้ก่อน มาถึงจุดนี้อาหารที่ไม่มีเครื่องปรุงมันมีรสชาติที่แท้ของมัน พอเราเลิกติดแล้วก็รู้ว่ารสชาติเดิมมีแค่นั้น แต่รสชาติแท้จริงของอาหารมีรสชาติใหม่ๆแปลกๆเสมอ"

     คุณหมอย้ำว่าการมีสุขภาพดี ชีวิตดี ทำได้ง่ายๆด้วยตัวเองที่บ้าน โดยให้คำแนะนำว่าบ้านที่จะทำให้คนเรามีชีวิตที่ดี มีสุขภาพดี ควรประกอบด้วยอะไรบ้าง

     "เรื่องที่อยู่อาศัยมีสองส่วนนะครับ ส่วนที่มีความสำคัญน้อย กับส่วนที่มีความสำคัญเยอะ ส่วนที่เป็นพื้นที่ส่วนตัว ห้องนอนแค่ใช้ซอกหลืบเล็กๆก็พอ ห้องนอนไม่จำเป็นต้องใหญ่ ห้องนอนที่ดีในทางการแพทย์หนึ่งคือต้องเงียบ สองต้องสะอาด สามต้องมืด สี่ต้องเย็น ส่วนที่สองคือพื้นที่ร่วม ที่จำเป็นที่สุดคือมีอากาศสำหรับใช้หายใจ หากคุณเปิดบ้านออกมาสูดอากาศแล้วหายใจได้ไม่เต็มปอดคุณอายุสั้นแน่นอน แสงแดดก็มีความจำเป็นสำหรับทุกชีวิตบนโลกนี้ สามคือมีน้ำสะอาดที่จะดื่มจะใช้ สี่คือสถานที่ออกกำลังกาย ควรเป็นพื้นที่ร่วมที่หากมีต้นไม้ด้วยก็ยิ่งดี อันสุดท้ายสำหร้บที่พักอาศัยที่ดีคือจะต้องเข้าถึงอาหารที่จะทำให้สุขภาพดีได้ง่ายๆ"

     สิ่งที่คุณหมอพูดเกี่ยวกับการมีชีวิตที่ดีของคนเรานั้นขึ้นอยู่กับการจัดการตัวเองเกือบ 100% แต่ถ้าพิจารณาชีวิตคนเราจริงๆ ทุกข์ส่วนใหญ่เกิดจากการอยู่ร่วมกับคนอื่น

     "ความสำคัญอยู่ที่เวลาเราอยู่กับคนอื่นแล้วเป็นทุกข์ เพราะเรามองชีวิตว่านี่เป็นเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่นเป็นคนอื่น แต่ชีวิตจริงๆ ถ้าคุณถอยลึกลงไป ชีวิตมีสองระดับ ระดับแรกทุกอย่างตั้งชื่อเรียกได้ บอกรูปร่างได้ สิ่งเหล่านี้เราตั้งขึ้น ชื่อทั้งหลายเราก็ตั้งขึ้น รูปร่างเราก็ตั้งขึ้น สูง ต่ำ ดำ ขาว แต่ถ้าเราถอยลงไปอีกระดับหนึ่งทุกอย่างจะเป็นคลื่น คลื่นของการสั่นสะเทือน แสง เสียง สัมผัส เป็นคลื่นหมด ตั้งชื่อเรียกไม่ได้ ในระดับของคลื่น คุณกับผมประกอบขึ้นมาจากสิ่งเดียวกัน เวลาผมมองคุณลึกๆ ผมเห็นสิ่งเดียวกันไม่ว่าในตัวคุณหรือในตัวผม

     ชีวิตเป็นอย่างนี้ รากของทุกชีวิตเป็นสิ่งเดียวกัน ด้วยความเข้าใจอันนี้คุณจะไม่มีปัญหาหรอกเวลาอยู่กับใคร มันเป็นสิ่งเดียวกันไม่ใช่นั่นคุณนี่ผม แต่ที่มีปัญหาเพราะเรายังไม่เข้าใจสิ่งนี้ เราไปตีกรอบภายใต้ผิวหนังนี้ว่าเป็นเรา ภายในเขตหมุดโฉนดนี้ว่าเป็นที่ดินของเรา เรามีปัญหาเพราะสิ่งที่เราสมมุติขึ้นในใจเรา การอยู่ด้วยกันมีปัญหาเพราะสิ่งที่ใจเราสมมุติขึ้น เราไม่ต้องไปยุ่งกับใครหรอก แก้ตรงนี้ ตรงสิ่งที่ใจเราสมมุติขึ้น อย่าว่าแต่อยู่กับคนเลย การอยู่กับสัตว์ก็จะไม่มีปัญหา ถ้าคุณข้ามข้อสมมุติได้"

     จากวิทยาทานที่คุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์ กรุณามอบให้ในครั้งนี้ สิ่งที่ตัวเราและเชื่อว่าผู้อ่านน่าจะสรุปได้ตรงกันคือ ทุกความสำเร็จในการจัดการให้มีชีวิตที่ดี ล้วนขึ้นอยู่กับใจ คือความคิด ดังที่คุณหมอสันต์เรียกว่า "การวางความคิด" จึงเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับทุกคนที่คำตอบนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวเราทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจน ก็สามารถทำได้เท่าเทียมกัน หากวางความคิดได้ ใช้ชีวิตถูกทาง จิตใจมีความสุข ร่างกายก็มีความสุขและแข็งแรง มีชีวิตอยู่ได้อย่างสุขสบายไม่ต้องเป็นภาระใคร ยิ้มได้หัวเราะได้ไปอีกนาน ดังสุภาษิตที่ว่า "จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว" นั่นเอง

     Sant Chaiyodsilp MD (FCTS, FRCST, FRCFMT) is the Senior Consultant and Specialist at Check Up Center, Phyathai 2 Hospital and Chief Wellness Coach at Mega. The heart surgeon turned family physician promotes the idea that heart disease can be reversed with a plant-based whole food diet. The body's ability to heal is greater than one might believe.
     As the wellness coach, he guides people to reverse their heart disease with the help of a plant-based diet, exercise, stress management within the scope of the evidence-based medicine. His own life journey became the inspiration in his career. Dr. Sant who was suffering from ischemic heart disease eschewed the surgeon's scapel and looked for alternative ways to heal himself.
     He decided to change his career from being a heart surgeon to become a family physician, focusing on encouraging his patients to reverse their diseases by changing their lifestyle, in the way he had done.
     Through knowledge, skill and the right attitude, he believes that one can reverse or prevent heart iseases caused due to a poor lifestyle.

.............................................

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

หนังสือคัมภีร์สุขภาพดี (Healthy Life Bible) จะพิมพ์ครั้งที่ 3 แน่นอนแล้ว เชิญสั่งซื้อได้

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67