ติ่งเนื้อในกระเพาะอาหาร Gastric Polyp
ดิฉันอายุ 43 ปี สูง 162 น้ำหนัก 81 กก. 8 ปีที่ผ่านมา จะมีอาการท้องอืด แน่นท้อง เรอลมตลอดเวลา เวลาหิว และหลังกินอาหารจะอาการหนัก ท้องบวมใหญ่เหมือนคนท้อง พักหลังนี้มีอาการจุกแน่นลิ้นปี่ร่วมด้วย จึงไปหาหมอส่องกล้องกระเพาะอาหาร ตรวจพบ few small sessile polyps ตอนนี้รอฟังผลตรวจชิ้นเนื้ออยู่ค่ะ (มีผลตรวจแนบมาให้ดูด้วยค่ะ) polyps แบบนี้จะมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งมากน้อยแค่ไหนคะ กังวลมากค่ะ หาข้อมูลใน google ไม่มีใครพูดถึง gastric polyps แบบนี้เลยค่ะ จึงอยากรบกวนขอความรู้จากคุณหมอค่ะ
ขอบพระคุณคุณหมอจากใจนะคะ
ด้วยความนับถือ
...........................................
ตอบครับᅠᅠ
คำว่า sessile แปลว่ามีรูปร่างคล้ายต้นไม้โยกเยกลู่ลม ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับชนิดของติ่งเนื้อ(โพลิป)ซึ่งจำแนกตามรูปร่างของเซลที่ประกอบเป็นติ่งเนื้อนั้น ติ่งเนื้อกระเพาะอาหารมีหลายชนิด แต่ละชนิดจำแนกไม่ได้ด้วยตาเปล่า ผมจะขอบรรยายให้รู้จักติ่งเนื้อชนิดสำคัญๆ ดังนี้
1. ติ่งเนื้อชนิดเกิดที่ส่วนบนกระเพาะ (fundic gastric polyp - FGP) ซึ่ง70-90% ของติ่งเนื้อกระเพาะอาหารเป็นชนิดนี้ ติ่งเนืื้อชนิดนี้ไม่เกี่ยวกับการเป็นมะเร็ง แต่จะเกิดติ่งเนื้อแบบนี้ได้ขึ้นมากเมื่อใช้ยาลดการหลั่งกรด (PPI) มากๆนานๆ
ติ่งเนื้อแบบนี้บางอันเซลของมันแบ่งตัวมาก จึงเรียกจำเพาะว่า ติ่งเนื้อแบบเซลแบ่งตัวมาก (hyperplastic polyp)
2. ติ่งเนื้อชนิดเซลแบ่งตััวแบบผิดปกติ (Gastric intestinal metaplasia - GIM) มีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากกว่าคนทั่วไปสิบเท่า อาจเกิดจากการถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยสิ่งแวดล้อมซ้ำซากนานๆเช่นการติดเชื่อ H. Pylori, การสูบบุหรี่ การกินเค็ม เป็นต้น ติ่งเนื้อชนิดนี้ยังแบ่งออกเป็นสองระดับคือ
2.1 ชนิดเซลแบ่งตัวแบบผิดปกติน้อย (Low grade dysplasia -LGD) ถ้าเป็นคนเอเซียซึ่งชอบเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากกว่าฝรั่งน่าจะตามส่องกล้องดูทุกหนึ่งปีจะลดการตายจากมะเร็งกระเพาะอาหารลงได้ แต่ถ้าส่องไปสองปีแล้วไม่พบอะไรผิดปกติก็นิยมเลิกตามดูได้ ส่วนหลักฐานที่สนับสนุนให้เลิกหรือให้ส่องต่อนั้นยังไม่มี
2.2 ชนิดเซลแบ่งตัวแบบผิดปกติมาก (High grade dysplasia - HGD) ชนิดนี้เอาปูนหมายหัวไว้ได้เลยว่า 25% จะกลายเป็นมะเร็งชนิด adenocarcinoma ภายในหนึ่งปี ดังนั้นถ้าตรวจพบนิยมกันว่าทำผ่าตัดเอากระเพราะอาหารท่อนนั้นออกทิ้งซะเลย
3. ติ่งเนื้อซึ่งเป็นเนื้องอกชนิดธรรมดา (adenomatous polyps) อันนี้เป็นเนื้องอกเลย แต่มีรูปร่างเป็นติ่งเนื้อ เป็นเนื้องอกชนิดธรรมดา ไม่ใช่มะเร็ง แต่ในอนาคตก็กลายเป็นมะเร็งได้
4. ติ่งเนื้อที่พบในโรคโลหิตจางอย่างร้าย สถิติพบว่าคนเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบแบบเหี่ยว (atrophic gastritis) ซึ่งนำไปสู่ภาวะโลหิตจางอย่างร้าย (pernicious anemia) จากการที่กระเพาะดูดซึมวิตามินบี.12 อันเป็นวัตถุดิบจำเป็นในการสร้างเม็ดเลือดไม่ได้ มักจะมีอุบัติการณ์มะเร็งกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า จึงเป็นคำแนะนำสากลว่าหากวินิจฉัยว่าคนไข้เป็นโรคโลหิตจางอย่างร้าย อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตจะต้องส่องตรวจกระเพาะอาหารเพื่อคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหาร และเมื่อพบติ่งเนื้อก็ต้องตัดออกมาตรวจ
5. เนื้องอกคาร์ซินอยด์ชนิดที่1 (type1 gastric carcinoid) นอกจากนี้ยังมีเนื้องอกกระเพาะอาหารอีกชนิดหนึ่งที่คล้ายโพลิปแต่ไม่ใช่โพลิปเรียกว่าเนื้องอกคาร์ซินอยด์ชนิดที่1 (type1 gastric carcinoid) ซึ่งพบบ่อยมากเวลาส่องกล้อง แต่การตามดูเนื้องอกชนิดนี้ไปสิบปีพบว่าอัตราตายของผู้ป่วยไม่ได้แตกต่างจากคนทั่วไป แพทย์จึงยังไม่แน่ใจว่าควรจะทำอย่างไรดีกับเนื้องอกชนิดนี้ ระหว่างวิธีตามดูไปแบบอย่าไปยุ่ง หรือวิธีผ่าตัดเอาออกเสีย
ทั้งห้าข้อข้างต้นนั้นคืือความรู้เรื่องติ่งเนื้อในกระเพาะอาหารที่วงการแพทย์มีนับถึงวันนี้ ส่วนการตัดสินใจว่าเมื่อพบติ่งเนื้อชนิดไหนควรจะทำอย่างไรนั้น สมาคมโรคทางเดินอาหารอเมริกัน (ASGE) ได้ออกคำแนะนำให้แพทย์ใช้ทำเวชปฏิบัติ ดังนี้
1. ถ้าส่องกล้องแล้วพบติ่งเนื้อโดดๆ ให้ตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจเลยถ้าทำได้
2. ถ้าเป็นติ่งเนื้อชนิดเกิดที่ส่วนบนกระเพาะ (FGP) ขนาด 1 ซม.ขึ้นไป ตัดออกเลย
3. ถ้าเป็นติ่งเนื้อชนิดเซลแบ่งตัวมาก ( hyperplastic polyp) ขนาด 0.5 ซม.ขึ้นไป ตัดออกเลย
4. ถ้าเป็นเนื้องอกธรรมดาชนิด adenomatous polyps ไม่ว่าขนาดเท่าไหร่ ตัดออกเลย แล้วตามส่องกล้องดูซ้ำใน 1 ปี
5. ถ้ามีติ่งเนื้อเยอะแยะเต็มไปหมด ให้ตัดอันที่ใหญ่ที่สุดออกมาตรวจ
6. ถ้าเป็นติ่งเนื้อชนิดเซลแบ่งตัวมาก (hyperplastic polyps) หรือเป็นเนื้องอกชนิดธรรมดา (adenomatous polyps) โดยมีเป็นจำนวนมาก ให้ตัดชิ้นเนื้อเยื่อบุกระเพาะใกล้กันออกมาตรวจดูเชื้อบักเตรี H pylori และเพื่อวินิจฉัยการอักเสบแบบกระเพาะเหี่ยว (metaplastic atrophic gastritis) ด้วย
7. เป็นเนื้องอกคาร์ซินอยด์ชนิดที่1 ขนาดไม่เกินหนึ่งซม.ที่ไม่มีอะไรบ่งบอกว่าเลือดจะออกมากขณะตัด ให้ตัดออกมาทางกล้องส่องเลย
ผมสรุปคำแนะนำของ ASGE ง่ายๆว่าเจอติ่งเนื้อในกระเพาะอาหารให้แพทย์ตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจทุกกรณี แบบรูดมหาราช..จบข่าว
โดยที่คุณไม่ต้องถามหาหลักฐานประกอบการตัดสินใจของแพทย์ว่าทำไมกรณีนี้หมอจึงต้องตัด ทำไมต้องนัดมาส่องกล้องติดตามดูบ่อย ที่ผมไม่ให้ถามหาหลักฐาน เพราะมันไม่มีหลักฐาน หิ หิ หมอเขาถือว่าพระเจ้าส่งเขามาให้ตัดเขาก็จะตัดลูกเดียว ส่วนคุณซึ่งเป็นคนไข้จะยอมให้หมอตัดหรือไม่ยอมนั้น..เป็นเรื่องของคุณ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
1. ASGE Standards of Practice Committee, Evans JA, Chandrasekhara V, et al. The role of endoscopy in the management of premalignant and malignant conditions of the stomach. Gastrointest Endosc. 2015;82:1-8.
2. Genta, R.M., Schuler, C.M., Robiou, C.I. et al. No association between gastric fundic gland polyps and gastrointestinal neoplasia in a study of over 100,000 patients. Clin Gastroenterol Hepatol. 2009; 7: 849–854
3. Zelter, A., Fernandez, J.L., Bilder, C. et al. Fundic gland polyps and association with proton pump inhibitor intake: a prospective study in 1,780 endoscopies. Dig Dis Sci. 2011; 56: 1743–1748
4. Whiting, J.L., Sigurdsson, A., Rowlands, D.C. et al. The long term results of endoscopic surveillance of premalignant gastric lesions. Gut. 2002; 50: 378–381
5. Karlson, B.M., Ekbom, A., Wacholder, S. et al. Cancer of the upper gastrointestinal tract among patients with pernicious anemia: a case-cohort study. Scand J Gastroenterol. 2000; 35: 847–851
6. Scherubl, H., Cadiot, G., Jensen, R.T. et al. Neuroendocrine tumors of the stomach (gastric carcinoids) are on the rise: small tumors, small problems?. Endoscopy. 2010; 42: 664–671