จดหมายจากนักวิจัยเรื่องผู้สูงอายุ



 เรียน อาจารย์สันต์ที่เคารพ
 
หนูรุ้สึกดีใจมากๆค่ะที่อาจารย์ให้ความกรุณาแก่หนูเรื่องวิจัยเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งหนูมองว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้แล้วในอนาคตอีกไม่เกิน 10 ปีที่ประเด็นนี้จะมาแรงแซงปัญหาต่างๆ ถ้าไม่เตรียมให้ดีและไม่เหมาะกับบริบทต่างของสังคมไทย ระบบสุขภาพที่จะรองรับ  และต้องขอโทษที่มาแนะนำตัวช้าไป 1 วันที่อาจารย์ตอบรับ  หนูขอแนะนำตัวก่อนค่ะ หนู ชื่อ ชื่อเล่น .... ที่อยู่ปัจจุบัน จังหวัด......  ทำงาน ที่ ...... ได้นำเสนอร่างคำถามวิจัยเกี่ยวกับเรื่องcare giver ใน class  อาจารย์เลยบอกว่าอยากให้ลองพูดคุยกับอาจารย์ดูว่า เพราะประสบการณ์ของอาจารย์มีมากและลึกซึ้ง ในวันนี้หนุขอส่งไฟล์ร่าง  2 ของวิจัย ให้อาจารย์ดูก่อนค่ะ  อันนี้เป็นร่าง จริงๆที่มองดูมันใหญ่และกว้าง แต่ปัญหามันซ่อนในนี้ค่ะ ซ่อนจนหนุงงเอง   จะได้มาปรับเพื่อให้ชัดเจนมากขึ้นค่ะ สิ่งที่หนูอยากรุ้คือว่า  การที่ผู้ดุแลผู้สูงอายุที่จะดูแลผู้สูงอายุให้อยู่ได้กับสังคมจนวาระสุดท้าย น่าจะมีลักษณะการดูแลเป็นหน้าตาอย่างไร  มีรุปแบบอย่างไร ชุมชนต้องเตรียมอะไรและเตรียมแล้วเหมาะหรือไม่  มองถึงระยะยาว และมองศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุไทยด้วยค่ะ  ลักษณะนี้เป็นคำถามวิจัยที่สร้าง new knowledge ได้หรือไม่ค่ะ  อยากให้อาจารย์ได้ให้ข้อเสนอแนะ เยอะๆเลยค่ะ และขอเรียนปรึกษากับอาจารย์ไปตลอดเลยนะคะ

ขอบคุณค่ะ


หมายเหตุ หนูเป็นfan page ใน facebook อาจารย์มาได้สัก 2 เดือนแล้วค่ะ แอบอ่านเม้นท์อาจารย์นะคะ ล่าสุด เรื่อง sensitivity  spec PPV NPV 

..................................................

ตอบครับ

ขอโทษที่ตอบเมลช้า ไม่ว่ากันนะ คือการตอบช้ากับไม่ตอบ กลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวผมไปเสียแล้ว ผมได้อ่านโครงร่างงานวิจัย “การดูแลผู้สูงอายุของครอบครัวต้นแบบในชนบทไทย” ของคุณแล้ว คุณอยากได้คำวิจารณ์ของผม ต่อไปนี้เป็นคำวิจารณ์นะ ห้ามโกรธกัน

     ประเด็นที่ 1. คุณจะได้อะไรจากงานวิจัยนี้ (ไม่นับใบปริญญาเอกนะ) สิ่งที่จะได้จากงานวิจัยของคุณ คือจะได้รู้ว่าครอบครัวต้นแบบที่ระดับชาวบ้านตัดสินว่าเป็นครอบครัวที่ดูแลผู้สูงอายุได้ดี เขามีวิธีดูแลผู้สูงอายุตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบันอย่างไร ถามว่าข้อมูลที่ได้มาจะวิลิศมาหราเลิศสะแมนแตนกว่าผลวิจัยเรื่องนี้ที่มีกันอยู่ทุกวันนี้แล้วไหม ก่อนตอบคำถามนี้ ขอรำลึกย้อนหลังหน่อยนะว่าไม่นานมานี้สำนักวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้พิมพ์งานวิจัยชื่อ “การสังเคราะห์ระบบการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวสำหรับประเทศไทย” ได้ให้ข้อมูลในส่วนที่คุณจะทำไว้แล้วมากพอควร และถ้าจะดูงานวิจัยระดับชุมชนที่คล้ายกัน ผมรู้สึกจะทำโดยว.พยาบาลอุดรธานี ชื่อ “ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล ครอบครัว สิ่งแวดล้อม และสังคม กับความมั่นคงในชีวิตของผู้สูงอายุจังหวัดอุดรธานี” ซึ่งให้ข้อมูลระดับครอบครัวที่โอเค.ทีเดียว อีกอันหนึ่งผมจำไม่ได้ว่าใครทำ แต่เป็นการศึกษาที่เทศบาลหนองตอง จำได้แต่ชื่อหนองตองเพราะชื่อมันแปลกดี แต่จำชื่องานวิจัยไม่ได้ ประเด็นของผมก็คือข้อมูลที่จะได้จากงานวิจัยของคุณ จะไม่ทำให้แผ่นดินนี้สูงขึ้นดอก ประโยชน์มันจะมีน้อยมาก เพราะมันจะคล้ายๆกับข้อมูลที่วงการเรามีอยู่แล้ว ทำไมคุณไม่ทำวิจัยในเรื่องที่วงการของเราจำเป็นต้องรู้ ถ้าไม่รู้เราจะพัฒนาการดูแลผู้สูงอายุต่อไปไม่ได้ละ มาฟังทัศนะของผมในเรื่องนี้บ้างนะ

     ประเด็นที่ 2. อะไรคือสิ่งที่ขาดหายไปในการรับมือกับปัญหาผู้สูงอายุในบ้านเรา จากมุมมองของผม ผมสรุปได้เป็นสองมุม คือ     

1.      มุมมองเชิงระบบ สิ่งที่ขาดหายไปคือ

1.1  ความด้อยในเรื่องการให้บริการสุขภาพขั้นมูลฐาน (Primary care) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็น

1.1.1        การไม่ได้ค้นหาปัจจัยเสี่ยงโรคเรื้อรัง เพื่อนำมาตั้งต้นจัดการปัจจัยเสี่ยงเสียแต่ต้นมือ
1.1.2        การไม่มีวิธีจัดการโรคเรื้อรังอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการนอกโรงพยาล
1.1.3        การไม่มีวิธีกระตุ้น (motivate) ให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของผู้สูงอายุ และของคนวัยทำงาน เพราะถ้าคนวัยทำงานถ้าเขาอมปัจจัยเสี่ยงของโรคเรื้อรังไว้วันนี้ ต่อไปเขาก็จะกลายเป็นผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง
1.1.4        การขาดระบบเกื้อหนุนให้ผู้คนได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี อันเป็นวิธีสากลที่ดีในการค้นพบปัจจัยเสี่ยงโรคเรื้อรังแต่ต้นมือ ระบบปัจจุบันเกื้อหนุนให้เข้าถึงการรักษา แต่ไม่เกื้อหนุนให้เข้าถึงการป้องกัน

1.2  ความด้อยในเรื่องระบบฟื้นฟูสุขภาพ ผมหมายถึงระบบฟื้นฟูนอกโรงพยาบาล จะเป็นที่ชุมชนหรือที่บ้านก็ตาม คนไข้ที่จำเป็นต้องฟื้นฟูสุขภาพวันนี้ ถ้าไม่ได้ admit ไว้นอนในโรงพยาบาลก็จะไม่ได้ทำ

1.3  ความด้อยในเรื่องระบบดูแลผู้ป่วยที่พ้นระยะ acute care ไปแล้ว คือโรงพยาบาลทั่วโลกออกแบบมาสำหรับการดูแลในระยะ acute care แต่ทุกวันนี้โรงพยาบาลบ้านเราทั้งของรัฐและเอกชน คนที่นอนป่วยอยู่ส่วนใหญ่เป็นคนที่ต้องการ chronic care แบบว่าฝากนอนเพราะไม่มีที่ไป มีอยู่วันหนึ่งผมไปเยี่ยมคนไข้หนักที่ศิริราช เห็นป้ายเตียงแต่ละเตียงล้วนเป็นผู้ป่วยอายุเหยียบร้อย อ่านชื่อจับความได้ว่าเป็นศาสตราจารย์นั้นบ้าง ศาสตราจารย์นี้บ้าง ที่โรงพยาบาลที่ผมทำงานอยู่ก็มีสภาพไม่ต่างกัน เกินครึ่งของคนไข้ไอซียูเป็นผู้ป่วยสูงอายุเรื้อรัง ถ้าเราไม่เลิกจับเอาผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลเฉพาะแบบผู้ป่วยเรื้อรังไปฝากไว้ในไอซียู.ของโรงพยาบาล  ไม่มีทางที่เราจะสร้างสรรค์ระบบดูแลผู้สูงอายุที่ดีขึ้นมาได้ เราจะต้องพัฒนารูปแบบการดูแลที่เป็น chronic care จริงๆขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นลักษณะ assisted living หรือ nursing home care หรือเป็นบ้านกึ่งวิถี (half way house) แม้กระทั่งเป็น home care

1.4  ประเด็นผู้ดูแลหรือ cargiver ที่คุณสนใจเป็นพิเศษนั้น ไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะหน้า แต่จะเป็นปัญหาเมื่อเราสร้างระบบดูแลผู้สูงอายุนอกโรงพยาบาลขึ้นมาแล้ว สาระหลักของปัญหาก็คือการผลิตผู้ดูแลของบ้านเราทุกวันนี้เป็นโมเดลผลิต “พนักงานผู้ช่วยเหลือคนไข้” หรือ “ชุดเหลือง” ในโรงพยาบาล ซึ่งผลิตบนสะเป๊กที่ว่าสวนฉี่ต้องทำอย่างนี้นะ หยอดข้าวหยอดน้ำต้องทำอย่างนี้นะ แต่สะเป๊กนี้ไม่ใช่สะเป๊กของคนที่จะมาเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุที่เราอยากได้ ผู้ดูแลผู้สูงอายุที่เราอยากได้มีสะเป๊กสองข้อเท่านั้น  คือ (1) เธอต้องมีความรู้ ทักษะ และเจตคติ ในการดูแลสุขภาพตัวเอง และดูแลสุขภาพตัวเองได้ดีแล้วก่อน เธอจึงจะมาดูแลผู้สูงอายุได้ และ (2) เธอต้องมีความสุขกับการดูแลผู้สูงอายุ

2.      มุมมองเชิงศักยภาพของผู้สูงอายุแต่ละคน ถ้าเรามองจากประเทศที่มีคนแก่มากทั่วโลก ท้ายที่สุดแล้วคนที่จะดูแลคนแก่ได้ดีที่สุดก็คือตัวคนแก่เองนั่นแหละ ประเด็นก็คือเรายังไม่ได้เร่งสร้างศักยภาพให้คนแก่ดูแลตัวเองได้เท่าที่ควร ยังมีช่องว่างที่จะทำได้อีกมาก เช่น

2.1  การสร้างความรู้และทักษะสุขภาพให้ผู้สูงอายุที่บ้านโดยตรง จะด้วยทีมเคลื่อนที่เร็วหรืออาสาสมัครที่เข้าถึงรากหญ้าก็แล้วแต่

2.2  มาตรการชักจูงให้บริษัทใช้งบรับผิดชอบสังคม (CSR) ไปกับการเรียนรู้ของผู้สูงวัย

2.3  มาตรการชักจูงให้ปัจเจกบุคคลออกไปอาสาพัฒนาการเรียนรู้ให้ผู้สูงวัย

2.4  การทำงานวิจัยเพื่อหาวิธีจัดสร้างระบบครอบครัวศึกษาแบบพหุวัย (transgeneration family-based education system) หมายถึงระบบกิจกรรมร่วมกันระหว่างพ่อแม่ลูกปู่ย่าตายายในลักษณะที่ทำให้ทุกคนได้เรียนรู้จากกันและกัน ซึ่งมันอาจจะเคยมีในอดีตอันไกลโพ้นแต่หายสาบสูญไปแล้ว

2.5  งานวิจัยที่มุ่งให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีพของผู้สูงวัย

2.6  งานวิจัยที่มุ่งให้ชุมชนสร้างระบบเรียนรู้ตลอดชีพแก่ผู้สูงวัย

2.7  มหาวิทยาลัยวัยทอง คำนี้ผมคิดขึ้นเองนะ คือพอผมเป็นคนแก่เองผมจึงรู้ว่าคนแก่เนี่ยแหละ ต้องกลับไปเข้าโรงเรียนใหม่ ทุกวันนี้ถ้าคนแก่คนไหนใจถึงก็จะไปนั่งเรียนกับเด็ก แต่วิชาและวิธีที่เรียนมันไม่ค่อยตรงกับสะเป๊กที่จะมีประโยชน์กับคนแก่มากนัก ทำไม่ไม่ทำมหาวิทยาลัยวัยทองขึ้นมาละ รูปแบบมันอาจพิสดารพันลึกอย่างไรก็ได้ แต่สาระก็คือให้คนแก่ได้เรียน เรียน เรียน education,  education,  education

2.8  การเตรียมความพร้อมก่อนการเกษียณ อันนี้รากมันก็มาจากคอนเซ็พท์มหาวิทยาลัยวัยทองนั่นแหละ คือผมไปสอนชั้นเรียนของคนเกษียณบ่อย แล้วก็พบว่านักเรียนที่เป็นคนฉลาดล้ำลึกทำคุณประโยชน์แก่ประเทศก็มาก แต่ส่วนใหญ่ไม่เดียงสาว่าการจะเป็นคนแก่นี้ตัวเองจะไปเจออะไร จะต้องเตรียมตัวอย่างไร
      
     ทั้งหมดที่ว่ามานี้คือสิ่งที่ขาดหายไป และเราต้องการผลการวิจัยมา back up อย่างแรงให้มันเกิดขึ้น ผมเสนอให้คุณเปลี่ยนการวิจัยของคุณมาทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งข้างต้นนี้ดีกว่าไหม แล้ว ขอโทษ... มันคันปาก ขอ ป.ม. อีกหน่อยนะ คุณก็รู้ว่างานวิจัยแบบพรรณานั้นจริงอยู่มันทำง่าย แต่มันมีคนทำแยะแล้ว และใช้ประโยชน์ได้น้อย ทำไมคุณไม่ทำงานวิจัยแบบทดลองเปรียบเทียบละครับ (experimental research) มันอาจจะใช้เงินมาก แต่ผมเชื่อว่าจะมีแหล่งเงินให้ถ้าคุณจะทำจริง มันอาจจะเหนื่อย แต่ผลที่ได้กับสังคมมันคุ้มนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี