เจ็บหน้าอกกะทันหันไม่ยอมหาย เป็นโรคร้ายที่ถึงขั้นตายได้ทันที มีกี่โรค อะไรบ้าง
กราบเรียนคุณหมอพุทธรูปยุคทวาราวดี ที่ถ้ำบนเขาถมอรัตน์ เมืองโบราณศรีเทพ
คุณพ่ออายุ 60 ปี เจ็บหน้าอกฉุกเฉินเหงื่อแตกอยู่นานเป็นหลายชั่วโมงก็ไม่หาย จึงไปรพ.
... หมอตรวจคลื่นหัวใจพบว่าปกติ ตรวจเอ็นไซม์หัวใจก็พบว่าปกติ
จึงให้กลับบ้านและแนะนำว่ารอมาเจาะเลือดดูเอ็นไซม์หัวใจซ้ำ
เมื่อกลับมาบ้านแล้วยังมีอาการเจ็บหน้าอกไม่หยุด มันจะเป็นโรคอะไรได้บ้างครับ
ควรจะรอดูไปก่อนตามหมอบอกไหม
นอกจากเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแล้วมันจะเป็นโรคอะไรที่รุนแรงแบบคาดไม่ถึงได้บ้างหรือเปล่าครับ
ตอนที่ยังเจ็บหน้าอกอยู่นี้ควรทำอย่างไรครับ
.................................................
ตอบครับ
ก่อนตอบคำถามผมขอย้ำไว้ตรงนี้ก่อนว่าใครก็ตามเมื่อเจ็บแน่นหน้าอกแบบกะทันหัน การนั่งพักสังเกตอาการสามารถทำได้โดยปลอดภัยแต่ไม่ควรใช้เวลาพักแล้วสังเกตอาการนานเกิน 20 นาที ถ้าพัก 20 นาทีแล้วยังไม่หายควรรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะการเจ็บหน้าอกต่อเนื่องเกิน 20
นาทีไม่ใช่เรื่องของหลอดเลือดตีบแบบไม่ด่วน
(stable angina) แต่เป็นเรื่องหลอดเลือดอุดตันและของกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
(acute MI) หรือเรื่องร้ายๆอย่างอื่น
1. ถามว่าเจ็บแน่นหน้าอกหน้าอกกะทันหันรุนแรง จะเป็นโรคร้ายๆถึงขั้นตายได้ทันที มีกี่โรคอะไรบ้าง ตอบว่าถ้าจะเอาถึงตายได้ทันทีก็มี 5 โรค คือ
(1.1) กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute MI)
(1.2) หลอดเลือดใหญ่ปริหรือฉีก (acute aortic dissection)
(1.3) ลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดในปอด (pulmonary embolism)
(1.4) ลมอัดคั่งในช่องอก (tension pneumothorax)
(1.5) ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (acute pancreatitis)
ทั้งห้าโรคนี้ แต่ละโรคมีอัตราตายพอๆกัน คือประมาณใกล้ๆ 80%
ในกรณีของคุณพ่อนี้ หมอเขาวินิจฉัยแยกกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute MI) ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดออกไปได้แบบเขามั่นใจพอสมควรแล้วด้วยการตรวจคลื่นหัวใจแล้วพบว่าปกติและตรวจเอ็นไซม์หัวใจแล้วพบว่าปกติ จึงให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้ แต่เขายังไม่ได้วินิจฉัยแยกอีกสี่โรคที่เหลือนะครับ
2. ถามว่าเมื่อกลับมาบ้านแล้วยังมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงไม่หยุด ควรจะรอดูไปก่อนหรือควรทำอย่างไรต่อไป ตอบว่ารอไปก่อนไม่ได้ครับเพราะอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงยังอยู่ แสดงว่าเหตุมันยังอยู่ ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในสี่โรคร้ายที่เหลือ จึงต้องรีบสืบค้นวินิจฉัยแยกแยะต่อไปอีกทันที ดังนี้ผมแนะนำให้ทำเป็นขั้นตอนดังนี้
ขั้นที่ 1. รีบกลับไปหาคุณหมอท่านเดิมที่รพ.เดิม บอกท่านว่ากลับไปบ้านแล้วอาการเจ็บหน้าอกยังอยู่ไม่หายไปไหน ยังเจ็บมากอย่างมีนัยยะ และถือโอกาสหารือท่านว่าจะมีวิธีแยกแยะให้แน่ใจได้ไหมว่าคุณพ่อไม่ได้เป็นโรคหลอดเลือดใหญ่ปริฉีก (acute aortic dissection) หารือเพียงแค่นี้ก่อน เอาแค่โรคเดียวก่อน เพราะถ้าท่านจับได้ถึงความกังวลของคุณท่านก็จะสั่งตรวจวินิจฉัยแยกโรคด้วยการให้เข้าอุโมงคอมพิวเตอร์เพื่อทำ CTA หรือ MRA เอง แล้วผลการตรวจมันจะช่วยให้วินิจฉัยสาเหตุฉุกเฉินที่แท้จริงได้หมดทุกโรค ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดใหญ่ปริฉีก หรือลิ่มเลือดอุดปอด หรือลมคั่งในช่องอก หรือตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน วินิจฉัยจากภาพ CTA หรือ MRA ได้หมด
ขั้นที่ 2. ถ้าคุณหมอบังเอิญท่านจับความกังวลของคุณไม่ได้ คือพูดไปแล้วท่านก็ยังยืนยันว่าไม่มีอะไรหรอก อย่าคิดมาก ให้กลับบ้านไปก่อนแล้วรอมาตรวจเอ็นไซม์ซ้ำวันรุ่งขึ้น ผมแนะนำว่าคราวนี้คุณต้องแอบย่องเงียบๆไปโรงพยาบาลอื่นที่เขายอมตรวจ CTA หรือ MRA ให้โดยยอมเสียเงินค่าตรวจให้เขา ค่าตรวจก็ราวสองหมื่นบาท ผลการตรวจ CTA หรือ MRA จะวินิจฉัยได้อย่างเด็ดขาดว่าเป็นโรคใดโรคหนึ่งในสี่โรคที่เหลือหรือไม่ ถ้าเป็นก็ต้องเอาผลตรวจนั้นไปขอรับการรักษาฉุกเฉินที่รพ.ซึ่งคุณเบิกได้ ถ้าไม่เป็นก็จะได้สบายใจว่าได้ตรวจวินิจฉัยแยกโรคที่ร้ายถึงขั้นตายได้ทันทีไปหมดแล้ว
3. ในกรณีที่แน่ใจแล้ว (ด้วยการตรวจยืนยันครบถ้วนรวมทั้ง CTA หรือ MRA แล้ว) ว่าไม่ได้เป็นโรคฉุกเฉินรุนแรงทั้งห้าโรคนั้น หากยังเจ็บหน้าอกอยู่ มันก็จะเป็นเรื่องของโรคอื่นๆซึ่งไม่รุนแรง ซึ่งก็ยังมีสาเหตุได้สาระพัด เพราะร่างกายของคนเรานี้มีอาการขึ้นตรงไหนก็เอานิ้วชี้จิ้มลงไปได้เลยว่าระบบอวัยวะใดที่ทำงานอยู่ในละแวกนั้นต่างก็ล้วนเป็นสาเหตุได้หมด ยกตัวอย่างเช่นกรณีเจ็บแน่นหน้าอกนี้ ความเป็นไปได้ที่เหลือซึ่งไม่รุนแรงถึงตายทันที แต่ก็ต้องรอให้หมอวินิจฉัยและรักษาไปแบบไม่ฉุกเฉิน เช่น
(3.1) เหตุจากระบบการหายใจ เช่น เยื่อหุ้มปอดอักเสบ เป็นต้น
(3.2) เหตุจากระบบทางเดินอาหาร เช่น กรดไหลย้อน (GERD) ท่อน้ำดีบีบตัว (biliary colic) เป็นต้น
(3.3) เหตุจากระบบประสาท เช่นโรคพานิก (panic disorder) โรคงูสวัดที่ระดับทรวงอก เป็นต้น
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์