07 สิงหาคม 2567

เป็นข้าราชการถ้าใช้สิทธิ UCEP ในรพ.เอกชนแล้วย้ายเข้ารพ.ของรัฐต่อไม่ได้จะทำอย่างไร


  (ภาพวันนี้ / แวะกินข้าวเย็นที่ร้านข้างตลาดต้นแค มวกเหล็ก)

เรียน คุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์

ผมชื่อ … เป็นแฟนบล็อกของคุณหมอมาอย่างยาวนาน

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาผมได้ใช้ความรู้ในบล็อกของคุณหมอช่วยญาติสนิท ให้มีความรู้ในเรื่องการใช้สิทธิ์ UCEP อย่างปัจจุบันทันด่วน เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนที่ใกล้ที่สุด ที่ ER จนท. หน้างานทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ และจะให้เข้าระบบปกติ คนที่นำส่งจึงถามไปตรงๆ ว่า ใช้ UCEP ได้ไม่ใช้หรือ เจ้าหน้าที่คัดกรองจึงตอบว่า “ได้”

อายุคนไข้ 59 ปี เป็นคนสูบบุหรี่ แต่กินอาหารตามปกติ ไม่วีแกน ไม่มัง มีโรคความดันสูง โรคเบาหวานชนิดที่ 2

และโรคไต (ไม่ทราบระยะ) อาการคือ เจ็บแน่นหน้าอกแบบด่วนเกิน 20 นาที หายใจไม่ออก และเริ่มเกร็งไปทั้งตัว 

ไปถึง รพ. แรกรับ ออกซิเจนในเลือดเหลือ 83% และการบีบตัวของหัวใจแย่ จึงเกิดเหตุที่ต้องใช้ UCEP และแพทย์ต้องเปิดหลอดเลือดโดยใช้ยาโดยด่วน อาการดีขึ้น ตอนนี้ รพ. เอกชนได้ประสาน รพ. ต้นสิทธิ์บัตรทอง ภายใน 72 ชม. ผู้ป่วยไปนอนที่ รพ. ต้นสิทธิ์เรียบร้อยครับ แต่แพทย์ทำท่าจะสวนหัวใจ ผมว่าเขาอาจต้องฟอกไตไปตลอดชีวิต

คำถามครับคุณหมอ

ผมใช้สิทธิ์ข้าราชการ ซึ่งไม่มีโรงพยาบาลต้นสิทธิ์ หากเกิดกรณีที่ต้องใช้ UCEP ที่ รพ. เอกชนที่ใกล้ที่สุด และผมไม่มีเส้นสาย ทุก รพ. รัฐ อ้างว่าเตียงเต็ม ถามว่า ในทางปฏิบัติจะทำอย่างไรครับ

ปล. ผมขอขอบพระคุณคุณหมอสันต์เป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้ ผมได้ส่งคลิปวิธีลดความดัน, การดูแลตนเองเมื่อเป็นเบาหวานชนิดที่ 2, การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคไต ของคุณหมอไปให้ญาติผู้ดูแลผู้ป่วย หวังว่าเขาจะได้ประโยชน์ครับ

………………………………………………………

ตอบครับ

ก่อนตอบคำถาม ผมขอสรุปเรื่องก่อนนะว่าญาติของคุณซึ่งเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ได้เข้ารพ.เอกชนเป็นการฉุกเฉิน ใช้สิทธิ UCEP ได้รับการรักษาการเปิดหลอดเลือดฉุกเฉินในสามวันแรก และได้ย้ายไปรพ.ต้นสังกัดบัตรทองเพื่อการรักษาต่อเนื่องเรียบร้อยแล้ว

ส่วนคำถามของคุณนี้เป็นกรณีสมมุติว่าถ้าคุณซึ่งเป็นข้าราชการ เกิดกรณีฉุกเฉินต้องเข้ารพ.เอกชนใกล้บ้านและใช้สิทธิ์ UCEP ครบสามวันแล้วต้องย้ายไปอยู่รพ.ต้นสังกัด แต่คุณเป็นข้าราชการซึ่งไม่มีโรงพยาบาลต้นสังกัด ต้องอาศัยการส่งต่อเข้ารพ.ของรัฐแห่งใดแห่งหนึ่ง หากทุกโรงพยาบาลที่จะส่งต่อไปปฏิเสธการรับโดยให้เหตุผลว่าเตียงเต็มหมด จะทำอย่างไร เพราะจะอยู่รพ.เอกชนต่อก็ต้องจ่ายเงินเองซึ่งจ่ายไม่ไหว จะย้ายเข้ารพ.ของรัฐก็ไม่มีที่ไหนรับ

คำถามของคุณเจาะเข้าตรงช่องโหว่ของระบบสวัสดิการข้าราชการพอดี กล่าวคือมีหลักการดีมากว่าเข้ารพ.ของรัฐที่ไหนได้หมด แต่ในทางปฏิบัติคือบางจังหวะ (เช่นช่วงโควิดระบาด) เข้าที่ไหนไม่ได้เลยเพราะเต็มหมดจะทำอย่างไร สู้คนมีสิทธิ์สามสิบบาทหรือประกันสังคมไม่ได้ เพราะชั่วดีถี่ห่างยังไงเขาก็เข้าโรงพยาบาลต้นสังกัดของเขาได้

ต่อปัญหานี้ผมตอบว่า ทางเลือกที่คุณมีอยู่ตอนนี้คือ

วิธีที่ 1. อาศัยเส้น ซึ่งเป็นวิธียอดนิยมที่เวอร์คสุด แต่คุณบอกว่าคุณเป็นคนไม่มีเส้น ก็ต้องอาศัยวิธีถัดๆไป

วิธีที่ 2. อาศัยหมอที่รักษาคุณอยู่ในรพ.เอกชน แล้วขอให้หมอช่วยติดต่อเพื่อนเขาที่อยู่ในรพ.ของรัฐที่ไหนสักแห่ง วิธีนี้เป็นวิธียอดนิยมที่ผู้ป่วยที่หมดเงินกับรพ.เอกชนใช้มากที่สุด ซึ่งก็เวอร์คดีพอควร เพราะหมอย่อมต้องมีเพื่อนมีพวกหมอด้วยกันกระจายอยู่ทั้งภาครัฐและเอกชน และหากเป็นหมอผ่าตัดเขาก็จะมี “ซี้” ส่วนตัวไว้เผื่อเหนี่ยวเสมอ เผื่อผู้ป่วยที่ตนผ่าตัดเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหวจะได้หาทางย้ายเข้ารพ.ของรัฐได้

วิธีที่ 3. อาศัยเสียงร้อง ขณะที่หมอเอกชนติดต่อย้ายไปไหนก็เตียงเต็มให้คุณจดไว้ว่ารพ.อะไร ขอย้ายเข้าเวลาเท่าไหร่ ที่เขาตอบปฏิเสธ รวบรวมให้ได้อย่างน้อย 5-10 รพ. พอวันรุ่งขึ้นคุณก็เขียนเป็นหนังสือร้องขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรพ.โดยตรง ถ้าเป็นกทม.ก็ร้องไปที่ผอ.สำนักงานแพทย์กทม. ถ้าเป็นตจว.ก็ร้องไปที่นายแพทย์ สสจ. (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด) ว่าคุณกำลังเดือดร้อนเงินหมดขอให้ท่านช่วยหาเตียงให้คุณโดยให้รายชื่อรพ.ที่เขาปฏิเสธแล้วทั้งหมด ในคำร้องนั้นระบุด้วยว่าถ้าท่านไม่ช่วยคุณก็เหลือทางไปทางเดียวคือไปร้องเรียนกับสื่อมวลชน ผมเชื่อว่าท่านหาเตียงให้คุณได้แน่นอน เมื่อเขาเลือกรพ.ให้ได้แล้วคุณก็อย่าไปเกี่ยวว่าต้องได้รพ.นั้นรพ.นี้ เขาให้ไปรพ.ไหนคุณก็ไปก่อน ถ้าหมอที่นั่นเขารักษาคุณไม่ได้เขามีระบบที่สามารถส่งต่อๆกันไปภายในระบบรพ.ของรัฐด้วยกันเอง

นพ.สันต์ใจยอดศิลป์

………….