10 สิงหาคม 2567

อย่าลืมสิ เจ้าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดอยู่นะ

(ภาพวันนี้ / กระดุมทองบนเชิงลาดหน้าบ้าน)

เรียนคุณหมอสันต์ที่นับถือ

      เมื่อปีที่แแล้วผมเป็นโควิดและไข้หวัดใหญ่ ติดกันจึงไม่ได้ออกกำลังกายประมาณ 3 เดือน(ปกติจะวิ่งสัปดาห์ละ3-4วัน วันละ 5กม.) พอหายกลับมาวิ่งใหม่ พบอาการวิ่งแล้วจุกที่คอ เหมือนคอแห้งมากแต่พักสักครู่ก็หาย ไปหาหมอ ได้รับการตรวจ Tpoponin i ได้ค่า 106.7 หมอบอกว่าผมเป็นเส้นเลือดหัวใจตีบ ให้ฉีดสีสวนหัวใจทำบอลลูน ถ้าทำไม่ได้อาจต้องทำบายพาส  ผมตกใจมาก แต่ยังไม่กล้าทำ ขอทานยาดูอาการไปก่อน (หมอให้เซ็นต์ปฏิเสธการฉีดสีสวนหัวใจด้วย) ผมจึงไปหาข้อมูลใน internet พบคลิปเรื่อง รักษาโรคด้วยตัวเองเมื่อเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ของคุณหมอเข้า เลยลองเอามาปฎิบัติดู ควบคู่กับการทานยาโรคหัวใจไปด้วย รวมเวลาประมาณ 1 ปี น้ำหนักลดลงจาก 74 เหลือ 60 (ผมสูง169 )ไขมันLDLจาก 133 เหลือ 48 /HDL จาก 37 เป็น 50 /ไตรกี จาก 164 เป็น 56 รู้สึกอาการจุกเวลาวิ่งดีขึ้นมาก แต่ก็ยังมีอาการเมื่อชีพจรเต้นเกินกว่า 120 ครั้ง/นาที แต่อาการน้อยลงกว่าเดิมมาก อยู่มาวันนึงผมลืมทานยาแต่กลับรู้สึกดีไม่มีอาการจุกเลย แต่พอกลับมาทานยาต่อก็รู้สึกมีอาการเหมือนเดิม  ผมจึงลองแกล้งลืมทานยาอีก (ประมาณสัปดาห์ละครั้ง)ก็รู้สึกว่าร่างกายปลอดโปล่งมาก ผมอยากถามว่าเป็นไปได้มั้ยครับว่าผมหายดีแล้วหรืออาจไม่ได้เป็นอะไรเลยตั้งแต่แรก หรือยังไม่หายและต้องทานยาต่อไป  ปัจจุบันทานยา Tovastatin 40 mg. Miracid 20 mg. Aspirin 81 mg. Sandoz 10mg. รบกวนด้วยครับ

…………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าอาการวิ่งออกกำลังกายหนักๆแล้วจุกแน่นคอหอย พอเพลาการวิ่งลงอาการก็หายไป เป็นอาการของโรคอะไร ตอบว่าเป็นอาการของโรคหัวใจขาดเลือดแบบไม่ด่วน (stable angina) ข้อมูลแต่นี้ก็เพียงพอแล้วที่จะลงมือรักษาตัวเองด้วยการปรับอาหาร ออกกำลังกาย จัดการความเครียดด้วยตนเองไปเลย ไม่ต้องรอตรวจยืนยันการวินิจฉัยด้วยการตรวจสวนหัวใจก่อน ซึ่งคุณก็ได้ทำมาได้ดีมากแล้ว

2.. ถามว่าอาการหัวใจขาดเลือดแบบไม่ด่วนจะเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อโควิดไหม ตอบว่ามีทั้งแบบที่เกี่ยวข้องกับโควิดและแบบที่ไม่เกี่ยวข้องกับโควิดเลย กลไกการเกิดโรคป่วยหลังโควิด (post covid 19 conditions – PCC) รวมถึงที่แสดงอาการแบบหัวใจขาดเลือดเจ็บแน่นหน้าอกนั้น วงการแพทย์ก็ยังไม่ทราบว่ากลไกแท้จริงเป็นอย่างไร รู้แต่ว่าอาการแบบหัวใจขาดเลือดถูกลิสต์ว่าเป็นอาการยอดนิยมที่พบบ่อยอาการหนึ่งหลังเป็นโควิด

3.. ถามว่าแอบหยุดยาเองแล้วดีขึ้น จะเลิกกินยาเสียดีไหม ตอบว่ารายชื่อยาที่คุณให้มานั้นไม่มียาตัวไหนรักษาโรคเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือดแบบไม่ด่วนได้แม้แต่ตัวเดียว ถ้าคุณไม่อยากกินจะเลิกกินเสียทั้งหมดก็ได้ แต่เฉพาะตัว Aspirin หากคิดจะเลิกคุณควรเลิกแบบค่อยๆเลิก ใช้เวลานานอย่างน้อยหนึ่งเดือน เพราะหากเลิกทีเดียวพรวดพราดเลือดจะจับกลุ่มเร็วกว่าปกติและก่อปัญหาได้ ย้ำอีกทีว่ายาทั้งหมดไม่ได้กินเพื่อให้คุณหายจากโรคเพราะยาทำให้คุณหายจากโรคไม่ได้ ไม่งั้นเขาจะเรียกมันว่าโรคเรื้อรังรึ การเปลี่ยนวิถีชีวิตเท่านั้นที่ทำให้คุณหายจากโรคได้

4.. ถามว่าเป็นไปได้ไหมที่ความจริงแล้วคุณไม่ได้ป่วยเป็นโรคอะไรเลย ตอบว่าเป็นไปได้น้อยมากครับ เพราะอาการที่สัมพันธ์กับการออกกำลังกายบ่งชี้ว่าต้องมีปัญหาอะไรสักอย่างกับกลไกการทำงานของอวัยวะร่างกายขณะออกกำลังกาย ไม่ใช่ภาวะปกติ อย่างน้อยก็อาจะเป็นผลพวงจากโควิด19 หรือร่างกายไม่ฟิต หรืออย่างมากก็อาจเป็นโรคหัวใจขาดเลือดจริงๆ

5.. ถามว่าเป็นไปได้ไหมที่คุณเป็นโรคหัวใจขาดเลือดแบบไม่ด่วน แล้วคุณทำตัวดีและมันหายไปแล้ว ตอบว่าการตอบคำถามนี้จะพาให้คุณตั้งอยู่ในความประมาทและกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมที่ไม่ดูแลสุขภาพ ดังนั้นผมขอตอบแบบอ้อมๆโดยยกตัวอย่างตัวผมเองซึ่งป่วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมีอาการเจ็บหน้าอกแทบทุกครั้งที่ออกแรงหรือเครียดร่วมกับวินิจฉัยยืนยันโรคได้ชัดแล้ว แต่พอเปลี่ยนวิถีชีวิตจนอาการหายไปกลับมาวิ่งจ๊อกกิ้งหรือเดินเร็วได้ นับช่วงปลอดอาการมาได้ตอนนี้ก็ราว 15 ปีแล้ว ผมยังไม่เคยวินิจฉัยตัวเองเลยว่าผมหายแล้ว มีแต่จะคอยเตือนตัวเองอยู่ทุกครั้งที่เผลอปล่อยตัวให้ไหลเลื่อนกลับไปหานิสัยเดิมว่า

            “..อย่าลืมตัวสิ เจ้าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดอยู่นะ”

            เพราะในการจัดการโรคเรื้อรังทุกโรคไม่ว่าจะเป็นหัวใจ ความดัน เบาหวาน เป็นต้น แก่นของเรื่องคือการเปลี่ยนนิสัยให้สำเร็จอย่างยั่งยืน ไม่ใช่สำเร็จแบบม้าตีนต้น เพราะผมเคยเห็นผู้ป่วยที่ประสบความสำเร็จแบบม้าตีนต้นหลายรายที่ได้ปลื้มกับความสำเร็จของตัวเองสุดท้ายก็ไหลรูดไปอยู่ที่เดิม ดังนั้นในการเปลี่ยนนิสัยเพื่อรักษาโรคเรื้อรังนี้ เราไม่นับม้าตีนต้น เรานับเฉพาะผู้เปลี่ยนนิสัยได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมันต้องอาศัยสติคอยดึงตัวเองให้ออกห่างความเย้ายวนที่จะลากเรากลับไปหานิสัยเก่าอยู่ร่ำไป

            กล่าวโดยสรุป คุณจะเลิกกินยาแล้วโฟกัสที่การเปลี่ยนวิถีชีวิตก็ทำได้ครับ แล้วใช้การออกกำลังกายให้หนักพอควรเป็นตัวประเมินความรุนแรงของหัวใจขาดเลือด หากสบายดีก็ทำแค่นี้ต่อไป หากมีอาการรุนแรงจนคุณภาพชีวิตเสียหายรับไม่ได้ก็ค่อยไปสืบค้นเพิ่มเติมในทิศทางที่จะทำการรักษาแบบรุกล้ำเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตต่อไป

 นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์