สามสิบบาทรักษาทุกที่.. ประเด็น ตุ๊กๆ โตโยต้า เบ้นซ์


(ภาพวันนี้ / ดอกตะล่อม)

คุณหมอสันต์ครับ

เรื่องสามสิบบาทรักษาทุกที่ ผมขอเรียนถามคุณหมอว่าที่รพ.ใหญ่แห่งหนึ่งร้องเรียนว่าสปสช.ลดการจ่ายเงินต่อหน่วยจากแปดพันเหลือห้าพันนั้นมันหน่วยอะไร ทำไมสปสช.ไปลดเงินเขาอย่างนั้น แล้วการลดเงินตรงนี้มันเกี่ยวอะไรกับนโยบายสามสิบบาทรักษาทุกที่ไหม แล้วที่หมอท่านหนึ่งบอกว่าใช้สามสิบบาทคือนั่งรถตุ๊ก ถ้าอยากนั่งโตโยต้าหรือเบ้นซ์ต้องจ่ายเพิ่ม มันจริงไหม แล้วมันจริงไหมที่หมอท่านหนึ่งบอกว่ายาบัญชียาหลักมันเป็นยาที่ประสิทธิภาพไม่ดีเท่ายานอกบัญชียาหลัก

..............................................................

 

ตอบครับ

 

1. ถามว่าเงินที่โรงพยาบาลร้องเรียนว่าสปสช.ลดการจ่ายเงินต่อหน่วยจากแปดพันกว่าเหลือห้าพันนั้น มันหน่วยอะไร ตอบว่ามันเป็นหน่วยนับความแรงของกลุ่มโรคที่รักษาหรือดีอาร์จี. (DRG – Diagnosis Related Group) รากเหง้าของหน่วยนี้ก็คือชื่อโรคที่รักษานั่นเอง โดยหมอทั่วโลกตกลงเรียกชื่อโรคให้เหมือนกันตามทะเบียนโรค (ICD International Classification of Diseases) ซึ่งก็มีโรคหนักโรคเบา ครั้นจะจ่ายเงินค่ารักษาตามชื่อโรคตรงๆในการนอนรพ.แต่ละครั้งโรคมันแยะเกิน จึงรวบจ่ายเป็นกลุ่มโรคที่สัมพันธ์กัน ก็คือ DRG นั่นเอง แล้วเอาค่านี้มาใส่น้ำหนักต้นทุนการรักษาให้แต่ละโรค มีวิธีคิดซับซ้อน บวกลบคูณหารออกมาเป็นเงินที่รพ.จะได้ต่อหนึ่งหน่วยน้ำหนัก ประเด็นสำคัญก็คือสมัยก่อนสปสช.จ่ายตามที่คำนวณได้โดยตั้งต้นที่หน่วยละ 10000 บาท แต่ต่อมาแม้จะเพิ่มเงินงบประมาณทุกปีแต่ก็ยังไม่พอจ่ายเพราะค่ารักษาที่โรงพยาบาลเรียกเก็บนั้นมันมากขึ้นๆจนงบไล่ไม่ทัน สปสช.จึงเปลี่ยนวิธีจ่ายใหม่เป็นได้งบมาเท่าไหร่จ่ายให้เท่านั้น คือเอางบที่ได้มาทั้งหมดตั้ง เอาหน่วยนับที่รพ.เรียกเก็บมาทั้งหมดหาร ตกหน่วยละเท่าไหร่ก็จ่ายให้เท่านั้น ซึ่งสำหรับโรงพยาบาล ค่าที่ได้ต่อหน่วยมันสาละวันเตี้ยลงจนเงินไม่พอใช้ เขาจึงออกมาโวย

2.. ถามหมอสันต์ว่าแล้วทำไมสปสช.ไปลดเงินค่ารักษาของรพ.ลงอย่างนั้นละ ตอบว่าก็เขาบ่อจี๊แล้วอะสิครับ หากไม่ลดเงินที่จะต้องจ่ายให้รพ.แล้วจะให้ทำอย่างไรละครับ ถ้าหมอสันต์เป็นสปสช. หมอสันต์ตอนนี้ก็ต้องทำแบบเดียวกัน หิ..หิ

ลึกลงไปกว่านั้นคือสปสช.ได้ทำผิดตลอดมาในแง่ที่ไปโปรโมทค่าใช้จ่ายในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง ใช้เงินจำนวนมากไปในเรื่องที่ไม่มีผลต่ออัตราตายของประชาชนเลย เช่นการลงทุนสร้างศูนย์หัวใจเพิ่มขึ้นมาเป็นสิบๆแห่งเพื่อทำบอลลูนและผ่าตัดหัวใจขณะที่หลักฐานวิทยาศาสตร์บ่งชี้ไปในทางว่า 80% ของการรักษารุกล้ำเหล่านั้นไม่ได้เปลี่ยนการดำเนินของโรคและไม่ได้ลดอัตราตายเลย ส่วนที่เปลี่ยนการดำเนินของโรคได้เช่นการเปลี่ยนวิถีชีวิต สปสช.ลงทุนน้อยมาก ตอนนี้สปสช.ต้องชดใช้กรรมจากนโยบายเก่าที่ตัวองทำไว้ กล่าวคือสปสช.ไปเชื่อความศักดิ์นสิทธิ์ของ evidence-based medicine หรือการแพทย์แบบอิงหลักฐานที่อาจารย์จากโรงเรียนแพทย์พร่ำถึง โดยไม่เข้าใจว่ากลไกอุตสาหกรรมการแพทย์ที่แท้จริงนั้นมันเป็น reimbursement based medicine คือการแพทย์แบบอิงการเบิกจ่าย อะไรที่ให้เบิกได้ ก็จะเบ่งบานระเบิดระเบ้อ ส่วนหลักฐานนั้นช่วยกันสร้างขึ้นมาได้ถ้าต่างฝ่ายต่างอยากได้เงิน  

พอหมดปัญญารับมือค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเฮโลไปผิดทาง สปสช.ก็โยนทั้งหมดให้รพ.ไปแก้เอาเอง คือมีเงินให้แค่เนี้ยะ คุณไปลดการรักษาแพงๆเอาเอง ผมไม่เกี่ยว เท่ากับว่าการกำหนดทิศทางการแพทย์ของชาติตกอยู่ในมือของรพ.ซึ่งมีศักยภาพที่จะแก้ปัญหาเชิงนโยบายได้น้อยมาก แทนที่จะอยู่ที่สปสช.ซึ่งมีทั้งกฎหมายและเงินที่เอื้อให้ทำอะไรได้

2. ถามว่าเงินที่รพ.ได้ต่อหน่วยที่ลดลงไปเรื่อยๆนี้ เกี่ยวอะไรกับนโยบายสามสิบบาทรักษาทุกที่ไหม ตอบว่าไม่เกี่ยวหรอกครับ เพราะนโยบายรักษาทุกที่เป็นการแก้ปัญหาให้ประชาชนย้ายถิ่นที่ต้องเดือดร้อนย้อนไปใช้สิทธิ์หน่วยบริการปฐมภูมิที่บ้านเกิดจึงจะได้สิทธิ์ และค่าจ้างทำปฐมภูมิก็คนละส่วนกับค่าจ้างรักษาทุติยภูมิหรือตติยภูมิ นโยบายใหม่นี้ให้ใช้บัตรประชาชนไปใช้บริการหน่วยปฐมภูมิใกล้ที่อยู่ณ ขณะนั้นได้ทุกแห่ง และยังได้ขยายหน่วยบริการปฐมภูมิไปครอบคลุม ร้านยาคุณภาพ คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น คลินิกเทคนิกการแพทย์ชุมชนอบอุ่น และคลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น คือทุกแห่งที่มีตราประมาณว่าอะไรอบอุ่นก็เข้าใช้บริการได้หมด ทำให้ลูกค้าเข้าถึงบริการปฐมภูมิได้ง่ายขึ้น

จะเกี่ยวอยู่บ้างแบบอ้อมๆก็ตรงที่ไม่ได้อธิบายให้ชัดว่า “นี่คือการใช้บริการปฐมภูมินะจ๊ะ” ต่อเมื่อเขาเห็นควรส่งต่อเข้ารพ.ทุติยภูมิเขาจึงจะส่งต่อให้ การไม่อธิบายอย่างนี้ทำให้คนเป็นโรคยากๆที่อยากได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดยากๆเร็วๆก็เฮโลไปใช้บริการโรงพยาบาลดังๆ ซึ่งตามธรรมชาติก็มักจะถูกยันไว้ที่หน่วยบริการปฐมภูมิของรพ.แห่งนั้น แต่ก็ยังมีช่องให้เกิดปัญหาได้สองอย่าง คือ (1) เมื่อมากันแยะก็อาจเกิดหน่วยบริการปฐมภูมแตกได้ (2) เนื่องจากความอยู่ใกล้ ทำให้แพทย์ที่หน่วยปฐมภูมิของรพ.ใหญ่ส่งต่อเข้ารับการรักษาแบบซับซ้อนได้เร็วทันใจ จึงต้องรับรักษาโรคซับซ้อนเป็นปริมาณมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าก็ยิ่งทำให้รพ.ขาดทุนมากขึ้น เพราะการจ่ายเงินค่ารักษาโรคซับซ้อนตอนนี้จ่ายกันแบบยิ่งขยันทำ ยิ่งขาดทุน

3. ถามว่าที่คุณหมอบางท่านแนะนำว่าการใช้บัตรสามสิบบาทคือรถตุ๊กๆ ถ้าจะนั่งโตโยต้าหรือเบ้นซ์ก็ความจะจ่ายเงินเพิ่ม หรือ co-pay มันคืออะไร ตอบว่าการร่วมจ่ายหรือ co-pay มันมีสองแบบ

แบบที่1. คือร่วมจ่ายแบบต่อหัวต่อปี คือเมื่อตอนเราจะเริ่มระบบสามสิบบาทรักษาทุกโรคคณะหมอที่ทำงานตั้งใจจะให้ผู้ถือบัตรร่วมจ่ายเป็นรายปีเช่นปีละ 1000 บาท (ตอนนั้น) ซึ่งมันสืบเนื่องมาจากโครงการบัตรประกันสุขภาพที่ออกมาทดลองใช้ก่อนหน้านั้นโดยเก็บค่าร่วมจ่ายปีละ 500 บาทหรือไงเนี่ย แต่นักการเมืองปากไวออกข่าวไปก่อนวันเลือกตั้งแล้วโดยไม่ได้พูดถึงส่วนร่วมจ่าย ก็เลยต้องตกกระไดพลอยโจนเลยตามเลย ผมเองเคยกระทุ้งรัฐบาลทุกยุคให้เก็บ co-pay ต่อหัวต่อปีนี้ แต่ไม่มีรัฐบายไหนกล้าทำ

แบบที่ 2. คือการให้ผู้เข้ารับบริการร่วมจ่ายส่วนที่ไม่ใช่สาระหลักของการรักษา เช่นซื้อยานอกบัญชียาหลักเอง จ่ายค่าห้องพิเศษเอง เป็นต้น ทุกวันนี้ผู้ใช้บัตรต้องร่วมจ่ายในส่วนนี้อยู่แล้ว

ดังนั้นคอนเซ็พท์ ตุ๊กๆ เบ้นซ์ โตโยต้า หมอสันต์เห็นว่าไม่ใช่ประเด็น (not relevant) ในเรื่องสามสิบบาทรักษาทุกโรค

  4.. ถามว่าบัญชียาหลักแห่งชาติมันเป็นของถูก ของไม่ดี ต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อเอาของดี จริงไหม ก่อนตอบผมขอแยกเรื่องยาปลอม ยาเถื่อน ออกไปก่อนนะเพราะคนชอบเอาสองอย่างนี้มาปนให้เข้าใจเขวว่ายาในบัญชียาหลักเป็นยาปลอมเป็นยาเถื่อน

วิทยาศาสตร์มีอยู่ว่าสารเคมีที่มีโครงสร้างเคมีเหมือนกันจะออกฤทธิในร่างกายเหมือนกันไม่ว่าจะผลิตโดยใคร ยาที่การใช้งานจริงมีหลักฐานว่าเปลี่ยนแปลงตัวชี้วัด (เช่นอัตราตาย) ไปทางบวกได้จะได้รับคัดเลือกเข้าไว้ในบัญชียาหลัก แม้ว่าบัญชียาหลักของไทยนี้...ขอโทษ มันบวม มันหยวน และมันหลวม หมายความว่ามียาไร้สาระอยู่ในนั้นแยะมาก เทียบกับบัญชียาหลักของ WHO ของเราบวมกว่าแยะ แต่ทั้งๆที่หลวมขนาดนี้ บริษัทยาก็พยายามทุกทางที่จะให้มันบวมให้มันหลวมยิ่งกว่านี้อีก

ผมตอบคุณจากหลักฐานวิจัยที่เชื่อถือได้ว่า ยาที่มีอยู่ในบัญชียาหลัก ณ วันนี้ เพียงพอแล้วต่อการรักษาโรคเพื่อให้ได้ผลในสาระสำคัญของโรคนั้นๆ (เช่นโรคมะเร็งก็ได้อัตรารอดชีวิตที่ยาวขึ้น เป็นต้น) ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเสาะหาการรักษายานอกบัญชีมาใช้ นอกจากจะใช้เพื่อคลายความกังวลของตัวเอง เช่นอยากมีอัตรารอดชีวิตที่ยาวกว่ายาเก่า ก็อยากไปลองใช้ยาใหม่ที่ข้อสรุปของอัตรารอดชีวิตในระยะยาวยังไม่ชัดเจน เป็นต้น ซึ่งการไปใช้ยาในลักษณะนี้ ผู้ใช้ก็ควรเป็นผู้จ่ายเงินเอง

ข้อพิจารณาที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ โรคเรื้อรังซึ่งเป็นโรคที่เป็นสาเหตุการตาย 70-80% ของผู้คนตอนนี้ ยาช่วยลดอัตราตายได้น้อยมาก จนถึงไม่ได้เลย ดังนั้นการร่ำร้องหายาดียาแพงสำหรับโรคเรื้อรังเป็นการใช้พลังงานอันมีอยู่จำกัดไปผิดที่ การแก้ปัญหาโรคเรื้อรังต้องไปเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต อันได้แก่การกินการเคลื่อนไหว การจัดการความเครียด เป็นต้น จึงจะเป็นการเกาถูกที่คัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี