เป็นลองโควิด หรือเป็นโรค "สึ่งตึงเฉียบพลัน"
(ภาพวันนี้ / รัตนพฤกษ์ หรือ คูนสีชมพู)
เรียนคุณหมอสันต์
ผมอายุ 70 ปี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่ได้กินยาอะไรทั้งสิ้น แต่ป่วยเป็นโควิดเพราะติดจากหลานที่ไปต่างประเทศมาเมื่อเดือนเมษา ป่วยอยู่นานเกือบเดือน มีอาการเปลี้ย หมดแรง เหนื่อยง่าย พอครบเดือนอาการก็ดีขึ้นแล้วก็สบายดีมาจนถึงเดือนนี้ (สค.) ผมมีอาการหลงลืม เอ๋อ ใครพูดอะไรคิดตามเขาไม่ทัน ไปตรวจกับหมอ … เขาให้ทำ MRI เพราะกลัวจะเอาหัวไปกระแทกอะไรแล้วมีเลือดคั่งอยู่ในสมอง แต่ทำแล้วก็ไม่มี ผมถามหมอว่าเป็นลองโควิดได้ไหม หมอบอกว่าถ้าเป็นลองโควิดอาการจะเป็นแบบลากยาวมา ไม่ใช่หายไปหลายเดือนแล้วมาเริ่มเป็น หมอสรุปว่าผมเป็นสมองเสื่อมตามวัย และให้ยา Aricept มากินร่วมกับวิตามินอีกสามสี่อย่าง ผมงงว่าทำไมผมเป็นสมองเสื่อมเฉียบพลัน มีโรคแบบนี้ด้วยหรือ
ขอบคุณคุณหมอ
………………………………………………………………………….
ตอบครับ
1.. ถามว่า “โรคสมองเสื่อมเฉียบพลัน” มีไหม ตอบว่าผมไม่เคยได้ยินนะครับ ผมเคยได้ยินแต่โรค “โง่เฉียบพลัน” หรือโรค “สึ่งตึงเฉียบพลัน” ซึ่งพบในผู้ชายที่ถูกเมียจับเท็จได้คาหนังคาเขา หิ..หิ
2.. ถามว่าป่วยเป็นโควิดหายสบายดีไปหลายเดือนแล้วจะกลับมามีอาการลองโควิด (long COVID) ได้ไหม ผมตอบตามงานวิจัย INSPIRE ว่า ได้ครับ
งานวิจัย INSPIRE นี้ทำโดยศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐฯ (CDC) ซึ่งติดตามดูผู้ป่วย 1741 คนไปนานเกินหนึ่งปี สองในสามของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด ที่เหลือไม่ได้เป็น โดยติดตามดูอาการของ long COVID เก้าอาการต่อไปนี้คือ (1) เปลี้ยล้า (2) คัดจมูก (3) ปวดศีรษะ (4) เจ็บคอ (5) หอบเหนื่อยหายใจไม่อิ่ม (6) เจ็บแน่นหน้าอก (7) ท้องร่วง (8) หลงลืม (9) ตั้งสติไม่ได้
ผลวิจัยพบว่า หลังจากโรคระยะเฉียบพลันสงบไปแล้ว ในผู้ป่วย 16% อาการลองโควิดจะยังคงอยู่แบบลากยาวไปได้นานถึง 1 ปี
แต่ในบางกรณี อาการลองโควิดมาเริ่มเกิดเอาตอนหลังจากโรคระยะเฉียบพลันสงบไปแล้วหลายเดือน
และในบางกรณีอาการลองโควิดเป็นแล้ว แล้วหายไปแล้ว แล้วอีกหลายเดือนต่อมาก็กลับมาเป็นใหม่ได้อีก แล้วหายไปอีก สลับกันอยู่อย่างนี้
กล่าวโดยสรุปคือโรคลองโควิดมีธรรมชาติขึ้นๆ ลงๆ ผลุบๆ โผล่ๆ
และประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือคนที่ไม่เคยตรวจพบเชื้อโควิดเลย ในช่วงเวลาเดียวกันและในพื้นที่เดียวกันกับที่มีโรคโควิดระบาด ก็มีอาการแบบลองโควิดได้
3.. ข้อนี้ผมแถมให้สำหรับท่านผู้อ่านทั่วไปที่สูงอายุแล้วและไม่ได้ติดเชื้อโควิด กรณีที่มีอาการโง่เฉียบพลัน (เอ๊ย..ไม่ใช่ ขอโทษ) กรณีที่มีอาการสมองเสื่อมเฉียบพลัน ให้คิดถึงสามสาเหตุต่อไปนี้ คือ
3.1 เกิดจากยาที่กิน เช่น (1) ยาลดไขมัน (statin) ทำให้หลงลืมชั่วคราวได้ พอหยุดยาก็หาย (2) ยาต้านซึมเศร้า (3) ยาคลายกังวง (4) ยากันชัก (5) ยาลดการหลั่งกรด (PPI) เช่น omeprazole (6) ยาแก้ปวดระดับแรงๆเช่น pregabalin, gabapentin, (7) ยาแก้แพ้รุ่นเก่าเช่นคลอร์เฟนิรามีน (8) ยารักษาปัสสาวะเล็ดเช่น oxybutynin (9) ยาลดความดันบางตัวเช่นยากั้นเบต้า เป็นต้น
3.2 มีเลือดค่อยๆซึมออกในสมอง (chronic subdural hematoma) จากการกระแทกเล็กๆน้อยๆที่ศีรษะซึ่งอาจเกิดเหตุการณ์เมื่อหลายเดือนก่อนหน้านั้น
3.3 มีเนื้องอกในสมอง
ดังนั้น เมื่อมีอาการสมองเสื่อมเฉียบพลัน สิ่งที่พึงทำคือเอายาทั้งหมดที่กินออกมากางดูว่าตัวไหนทำให้สมองเสื่อมได้บ้างแล้วให้หยุดยานั้นเสียทันที ถ้าไม่ได้กินยาดังกล่าว ควรไปพบแพทย์ทางด้านประสาทวิทยาเพื่อสืบค้นและวินิจฉัยแยกภาวะเลือดซึมออกในสมอง (chronic subdural hematoma) ซึ่งเป็นกรณีที่รักษาได้ง่ายๆด้วยการผ่าตัดเจาะเอาเลือดออกและให้ผลดีทันที
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
- Montoy JCC, Ford J et al. Prevalence of Symptoms ≤12 Months After Acute Illness, by COVID-19 Testing Status Among Adults — United States, December 2020–March 2023. MMWR. Morbidity and Mortality Weekly Report, 2023; 72 (32): 859 DOI: 10.15585/mmwr.mm7232a2