หมอสันต์พูดกับสมาชิก SR เปรียบการจดจ่อสมาธิเหมือนการฟั่นแล้วคลายเกลียวเชือก

ภาพวันนี้ / มะเดื่อฝรั่ง (Fig)

วันนี้เราจะเรียนวิธีใช้เครื่องมือวางความคิดตัวที่หก คือการจดจ่อสมาธิ หรือ concentration

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับ “การจดจ่อ” ในระดับคอนเซ็พท์ก่อน

แม้ความคิดจะมีธรรมชาติเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ แต่ในชีวิตจริงความคิดเกิดดับๆติดๆกันถี่ๆจนกลายเป็นความต่อเนื่องเหมือนสายธารน้ำไหล แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไปตัดกระแสน้ำให้ขาดเป็นสองท่อนที่ตรงไหน

การวางความคิดที่ดี จึงไม่ควรเข้าไปตอแยหรือพยายามหยุดยั้งความคิด แต่ควรเลือกวิธีหา “เป้า” ของการจดจ่อที่มีธรรมชาติเป็นความต่อเนื่องเช่นเดียวกับความคิด มาไหลพัวพันคู่ไปกับความคิด

ลมหายใจก็เป็นตัวอย่างของ “เป้า” ที่มีธรรมชาติเป็นความต่อเนื่อง หรือมันตราซึ่งเป็นเสียงที่เราเปล่งในใจเช่นโอม..ม หาก เราคอยเปล่งเสียงนั้นในใจซ้ำๆอย่างได้จังหวะมันก็จะกลายเป็นเป้าที่มีความต่อเนื่อง

เมื่อเราเลือก “เป้า” มาไหลพัวพันไปกับความคิด อุปมาในใจเรายามนี้มันก็เหมือนเชือกเส้นใหญ่ที่ฟั่นขึ้นมาจากเชือกเส้นเล็กสองเส้น สมมุติว่าสีแดงกับสีเขียว สมมุติว่าสีแดงแทนความคิด สีเขียวแทน “เป้า” สมมุติว่าเราใช้มันตราคือการเปล่งเสียงโอมในใจเป็น “เป้า” เมื่อเราเริ่มนั่งสมาธิ ในใจเราก็จะมีทั้งความคิดและเสียงโอมที่เราเปล่งขึ้นในใจพัวพันนัวเนียกันไปเหมือนเชือกเส้นใหญ่ที่มีทั้งเชือกเส้นเล็กสีแดงและสีเขียวพันเป็นเกลียวคู่กันไป

ณ จุดเริ่มต้นนี้ เราใช้ความเป็นผู้ทำ หรือ doer จดจ่อที่ “เป้า” ของเราซึ่งก็คือเสียงโอมที่เราเปล่งขึ้นในใจโดยไม่สนใจความคิดที่มันพัวพันนัวเนียอยู่ ความต่อเนื่องของเสียงโอมก็จะชัดเจนขึ้นๆ เพราะเราสนใจมัน หากความคิดที่พัวพันนัวเนียมากับเสียงโอมมันทำท่าจะชัดกว่าเสียงโอม เราก็เปล่งเสียงโอมในใจให้ดังขึ้นๆ ถี่ขึ้นๆ เราให้ความสนใจเสียงนี้ทุกครั้งที่เราเปล่งออกไป จดจ่อให้ลึกละเอียดลงไป ลึกละเอียดลงไป ย้ำอีกทีนะว่า ณ ขณะนี้เราเป็น “ผู้ทำ” เป็น “ผู้จดจ่อ” เป็น “doer” เพื่อช่วยให้ “เป้า” คือเสียงโอมค่อยๆเบียดความคิดให้ค่อยๆขาดหาย กระท่อนกระแท่นไป จนเหลือประปรายนานๆครั้งและมีขนาดเล็กลงๆจนไม่มีพลังก่อกวน อุปมาเหมือนการคลายเกลียวเชือกฟั่น ค่อยๆทิ้งเส้นแดงไป เหลือแต่เส้นเขียว การทำอย่างนี้แหละคือการจดจ่อสมาธิหรือ concentration “เป้า” ของการจดจ่อจะเป็นอะไรก็ได้ เช่น ลมหายใจก็ได้ ภาพจอดำตรงหน้าเมื่อเราหลับตาลงแล้วนี้ก็ได้ การทำงานอดิเรกก็ใช้เป็นเป้าของการจดจ่อได้ เพียงแต่ว่าในชั้นแรกนี้ จะให้ดีอย่าเพิ่งรีบไปยุ่งกับความคิดตรงๆ

การจดจ่อจะก่อให้เกิดแรงเหวี่ยงหรือโมเมนตัมที่หากเราจดจ่อถี่พอและนานพอ ถึงจุดหนึ่งเมื่อเลิกจดจ่อแล้วในใจของเราก็ยังเหลืออยู่แต่ “เป้า” ยังไม่มีความคิดแทรกเข้ามา อยู่แบบนี้ไปได้อีกนาน จนแรงเหวี่ยงหรือโมเมนตัมนั้นหมดแรงลง

อุปมาเหมือนการปั่นจักรยาน หากเราออกแรงปั่นให้ล้อหมุนเร็วๆและนานๆ พอเราหยุดปั่นมันล้อมันจะยังหมุนของมันเองได้ต่อไปอีกพักใหญ่เพราะอาศัยแรงโมเมนตัม จนหมดแรงโมเมนตัมจักรยานจึงจะหยุด

เมื่อเราจดจ่อๆๆๆ ซ้ำๆๆ นานๆ มันจะค่อยๆเกิดโมเมนตัมขึ้น ครั้นเราเลิกจดจ่อ โมเมนตั้นนั้นจะส่งให้ในใจว่างจากความคิดไปพักใหญ่ ณ จุดนี้เราไม่ต้องจดจ่อแล้ว ไม่ต้องเป็น doer แล้ว เราเป็นแค่ผู้สังเกตที่คอยรับรู้ประสบการณ์ว่าต่อไปอะไรจะเกิดขึ้นเท่านั้น คือเราเปลี่ยนจาก doer มาเป็น experiencer ช่วงที่เราเปลี่ยนเป็น experiencer นี้แม้ไม่ได้จดจ่อแต่ก็มีสมาธิดีมาก สิ่งรบกวนจากภายนอกจะตามเข้ามารบกวนไม่ถึง เหมือนคนที่กำลังง่วนกับงานอดิเรกอยู่ได้ที่ ใครมาเรียกก็ไม่ได้ยิน เหมือนว่าวที่เริ่มติดลม ไม่ต้องคอยสาวสายว่าวมากก็ลอยอยู่บนท้องฟ้าได้ ดังนั้นในการฝึกจดจ่อสมาธิที่เราจะทำให้วันนี้ จะต้องยอมรับก่อนว่าเราต้องลงแรงมากหน่อยในช่วงแรก และต้องให้เวลาแต่ละครั้งในการตั้งใจจดจ่อนานพอที่จะเกิดแรงส่งให้ถึงจุดที่เลิกจดจ่อได้

เมื่อมาถึงจุดที่เลิกจดจ่อได้ ณ จุดนี้แม้จะไม่มีความคิดแทรกแล้ว แต่ “เป้า” ที่พาเรามานั้นยังอยู่ ให้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อร่างกายลงให้สุดๆ ให้สังเกต “เป้า” อย่างแยบยล ไม่มีการจดจ่อใดๆเลย 0% ไม่มีการใช้ความพยายามใดๆเลย คือ effortlessness นี่เป็นคำสำคัญนะ effortlessness หากแรงส่งจากการจดจ่อที่เราทำมามากพอ เราจะดำรงความตื่นและรู้ตัวอยู่ได้ โดยที่ “เป้า” ที่พาความสนใจเรามานั้นจะค่อยๆหายไปเอง หากเป็นการใช้โอมเป็นมันตราเราก็จะพบว่าความจำเป็นที่จะต้องเปล่งเสียงโอมในใจนั้นเบาลงๆ และห่างไปๆ จนไม่ต้องเปล่งเสียงอะไรเลย

เมื่อมาถึงตรงนี้ ให้สังเกตนิดหนึ่งว่าตรงนี้มันเป็นความตื่น รู้ตัว มีความพร้อมที่จะรับรู้อะไรได้อย่างเฉียบไวทันทีจนความรู้อะไรใหม่ๆหรือพลังสร้างสรรค์ดีๆอาจจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นที่ปลอดความคิดซึ่ง “อีโก้” เจ้าประจำคอยชงขึ้นมา ที่ตรงนี้เราเห็นชัดว่าอีโก้ไม่ใช่เรา เราเป็นผู้เห็นอีโก้ แต่ไม่มีผลประโยชน์อะไรเกี่ยวข้องกับอีโก้ นี่เป็นคำสำคัญอีกคำหนึ่งนะ คือเราเปลี่ยนตัวตนจากตัวตนเดิมมาเป็นไม่ใช่ตัวตนเดิม (change of identity) ที่ตรงนี้จึงเป็นที่มีความสงบเย็น ไม่ตื่นตูม มีความพร้อมที่จะ “นิ่ง” ดูทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาสู่ชีวิตไปทีละโมเมนต์ ก่อนที่จะสนองตอบออกไปด้วยสติ ทีละช็อต ทีละช็อต

ที่ตรงนี้แหละที่เป็นส่วนลึกที่สุดของชีวิตเรา หากเราใช้ที่ตรงนี้เป็นฐานที่มั่นในการดำรงชีวิตประจำวัน ก็จะเป็นการใช้ชีวิตของเราแบบทั้งสงบเย็น ทั้งสร้างสรรค์ โดยไม่เกี่ยวกับว่าสถานะการณ์ในชีวิตในแต่ละวันจะเป็นอย่างไร

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี