หมอสันต์จะไปบรรยายและเปิดตัวหนังสือที่สยามออริจินส์ ในมิวเซียมสยาม 21 สค. 66

(ภาพวันนี้/ Siam Origin ใน Museum Siam)

ก่อนตอบคำถามวันนี้ ขอแจ้งข่าวและโฆษณาว่าหมอสันต์จะไปพูดเรื่อง “การจัดการความเครียด” ที่ร้านสยามออริจินส์ ในมิวเซียมสยาม และถือโอกาสเปิดตัวหนังสือ “คัมภีร์สุขภาพ” อย่างเป็นทางการเสียด้วย ในวันจันทร์ที่ 21 สค. 66 เวลา 10.30 – 12.00 น. ท่านผู้สนใจทั่วไปสามารถเข้าฟังบรรยายได้ฟรี ไม่มีค่าลงทะเบียน ไม่ต้องจองล่วงหน้า แบบมาก่อนได้ที่นั่งก่อน หากที่นั่งเต็มก็ยืน หลังการบรรยายท่านสามารถกินอาหารกลางวันที่ร้านสยามออริจินส์ซึ่งเป็นร้านอาหารไทยสุขภาพในแนว Pre/Probiotic ได้เลย จะให้ดีไปถึงแล้วควรสั่งอาหารของท่านล่วงหน้าเขาจะได้เตรียมไว้ให้ได้พอดีเมื่อบรรยายจบ

สยามมิวเซียม อยู่ตรงทางออกที่ 1 ของสถานีรถใต้ดิน (MRT) สนามไชย กลางเกาะเกาะรัตนโกสินทร์ หากมาโดยรถยนต์ ในมิวเซียมสยามมีที่จอดรถให้ กรณีที่จอดเต็มก็ไปจอดที่ยอดพิมานริเวอร์วอล์คได้

แฟนบล็อกที่สนใจและจัดเวลาได้ก็พบกันนี่นั่นนะครับ

………………………………………………………………..

กราบเรียนขอคำแนะนำคุณหมอสันต์ดังนี้ค่ะ
แมวที่เลี้ยงมาตั้งแต่อายุ 2 เดือน ตรวจพบอาการโรคหัวใจตั้งแต่กำเนิดเมื่ออายุได้ 9เดือน ได้รับยารักษาตามอาการมาตลอด ขณะนี้ แมวอายุ 1 ขวบ 9 เดือน เริ่มมีภาวะน้ำท่วมปอดถี่ขึ้นประมาณ 2 เดือนครั้งค่ะ คำถามคือ เราจะมีวิธีจัดการกับความรู้สึกของตัวเองอย่างไร เพราะความสงสาร ไม่สามารถทนดูวาระสุดท้ายของแมวที่เลี้ยงเหมือนลูกได้ค่ะ
ด้วยความเคารพ

…………………………………………………..

ตอบครับ

ตอนแรกนึกว่าหมอสันต์เดี๋ยวนี้ถึงขนาดเปิดรับรักษาโรคหัวใจล้มเหลวให้แมวได้ด้วย แต่พออ่านละเอียดจึงรู้ว่าเป็นเรื่องความทุกข์จากความยึดถือเกี่ยวพันในใจของเจ้าของที่มีต่อแมว เห็นเป็นจดหมายที่แปลกแหวกแนว ผมจึงหยิบมาตอบ

ประเด็นที่ 1. ความยึดถือเกี่ยวพันกับชีวิตอื่น ก็คือการที่ใจของเราขยายอัตตาของเราออกไป โอบรับอีกชีวิตหนึ่งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา เหมือนแม่ที่โอบรับเอาลูกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตนเอง เหมือนสามีภรรยาที่แต่งงานอยู่กินกันมานานๆจะโอบเราเอาอีกฝ่ายหนึ่งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตนเอง เมื่อคู่สมรสเสียชีวิตไป ผู้ป่วยมักจะพูดกับผมว่า “เหมือนชีวิตตัวเองขาดหายไปครึ่งหนึ่ง” แท้จริงแล้วส่วนที่ขาดหายไปนั้นคือ “ตัวตน” หรือ “สำนึกว่าเป็นบุคคล” หรือ identity ของเรานั่นเอง ดังนั้นความทุกข์จากการเห็นแมวที่รักและผูกพันกำลังจะตายลงไปต่อหน้า ก็คือความทุกข์จากความยึดถือเกี่ยวพันกับตัวตนของเรานั่นเอง ความยึดถือเกี่ยวพันชนิดนี้มีในใจของมนุษย์เราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนที่เลี้ยงหมาเลี้ยงแมวหรือไม่ก็ตาม อาจมีดีกรีที่แรงบ้างค่อยบ้างแตกต่างกันไปในแต่ละคน

ตัวตนนี้ในความเป็นจริงมันเป็นชุดของความคิดที่ใจเราสมมุติขึ้นหรือทึกทักเอาว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้แค่นั้นเอง หมายความว่าตัวความยึดถือเกี่ยวพันมันเป็นแค่ความคิด ซึ่งมีธรรมชาติเกิดขึ้นแล้วก็ดับหายไป ไม่ว่าเราจะรู้สึกว่าเรายึดถือเกี่ยวพันมากแค่ไหน แต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมันก็จะดับหายไปแน่นอน จะช้าหรือเร็วก็จะดับหายไป แม้ใจเราจะแย้งว่าไม่หรอก เพราะเราผูกพันมากเราจะพยายามเลี้ยงความผูกพันนี้ไว้ แต่ชื่อว่าเป็นความคิดแล้ว เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว มันจะต้องแปรเปลี่ยน และท้ายที่สุดก็จะดับหายไปไม่มีเป็นอย่างอื่นไปได้ และการดับหายไปของความคิดยึดถือเกี่ยวพันนี่แหละ ที่เป็นนิยามของคำว่า “สงบเย็นเป็นสุข” แล้วเราก็ไม่ต้องทำอะไรมากเลย แค่รับรู้ว่าความคิดยึดถือเกี่ยวพันมาเกิดขึ้นมาแล้ว ให้เฝ้าดูมันอย่างผู้สังเกต “อิน” กับมันได้ระดับหนึ่ง พองาม ไม่ต้องอินมากเกินไปเพราะมันเป็นแค่ความคิด นานไปมันก็จะค่อยๆดับหายไปเอง

ประเด็นที่ 2. ชีวิตเรานี้มีธรรมชาติไหลไปในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรสถิตย์สถาพร (impermanence) หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเรานี้ไม่มีอะไรที่เราควบคุมได้เลย เราทำได้แค่ไหลตามความเปลี่ยนแปลงไป แต่ “ตัวตน” ของเราพร่ำบอกว่าส่วนที่เราสมมุติขึ้นมาว่าเป็น “ตัวตน” ของเรานี้เป็นสิ่งที่สถิตย์สถาพร หากเราเผลอเชื่อเช่นนั้น ความทุกข์ก็จะเริ่มที่ตรงนั้นแหละ เริ่มตรงที่เมื่อเราปฏิเสธหรือไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงของสิ่งรอบตัวซึ่งหมายความรวมไปถึงร่างกายของเราเองด้วย ดังนั้นการแก้ทุกข์ก็คือการยอมรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัว ยอมรับว่ามันเกิดขึ้นแล้ว หน้าที่ของเราคือตัดสินใจเลือกว่าจะสนองตอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร ไม่ใช่ไปปฏิเสธมัน

ประเด็นที่ 3. การเฝ้าเป็นสักขีพยานการตายของชีวิตอื่นที่เรารักเป็นประสบการณ์ที่ดีของชีวิต ประสบการณ์นั้นจะนำบางด้านของชีวิตซึ่งเราไม่เคยรับรู้ขึ้นมาไฮไลท์หรือรับรู้ได้ เช่น (1) พลังงานที่เชื่อมโยงทุกชีวิตเข้าด้วยกันที่เรียกง่ายๆว่า “เมตตาธรรม” หรือที่ฝรั่งเรียกว่า “Grace” (2) ความโอนอ่อนผ่อนปรนให้กับความเยือกเย็นไม่เร่งร้อนหรือเร่งรัดอะไร (3) ความรู้สึกปล่อยวางอัตตา เช่นความอยาก “ให้” จะมีมากกว่าความอยาก “เอา” เป็นต้น ดังนั้น การที่คุณได้อยู่กับแมวของคุณก่อนเขาหรือเธอตาย เป็นโอกาสดีที่จะได้นำด้านดีๆของชีวิตทั้งสามประการนี้ขึ้นมาสู่การรับรู้และไฮไลท์ให้มันชัดขึ้น อันจะเป็นต้นทุนให้คุณดำเนินชีวิตแบบยอมรับและไหลไปกับกระแสของชีวิตได้อย่างราบรื่นต่อไป

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี