เรื่องไร้สาระ (27) มิยาวากิเขาใหญ่ปาร์ค (Miyawaki Khao Yai Park)
(ภาพวันนี้: หมอสันต์วันสำรวจผืนดินแห้งผากไร่มันสัมปะหลัง)
วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 (วันกรรมกร) กรรมกรสองคน คือผมกับหมอพอ ได้มาที่นี่ ที่ไร่มันสัมปะหลัง บ้านท่าช้าง ซอย 11 หมู่ 16 ต. หมูสี อ.ปากช่อง พันธกิจครั้งนี้คือเพื่อปลูกสร้างป่าไม้ขึ้นแทนที่ไร่มันสำปะหลัง 10 ไร่นี้ ด้วยวิธีแบบมิยาวากิ เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นหลังได้ใช้เป็นที่ออกกำลังกายเดินวิ่งปั่นจักรยานในป่าและได้มาทำความรู้จักคุณค่าของป่า รู้จักมิยาวากิ เผื่อว่าพวกเขาจะเกิดความบันดาลใจที่จะช่วยกันปลูกป่าให้มากยิ่งๆขึ้นไป ผมตั้งชื่อโปรเจ็คนี้ว่า “Miyawaki Khoa Yai Park”
ของถูกเขาเรียกว่าดินแดง ไม่ใช่ดินลูกรัง
เมื่อเดินทางมาถึงปากซอยเข้าไปในไร่ เราก็พบว่าถนนเป็นคลองเพราะฝนถล่ม ขอเจาะลึกเล่าเรื่องถนนก่อนนะเพื่อให้เห็นความต่อเนื่อง วันแรกหมอพอขับรถกะย่องกะแย่งเข้าไปโดยไม่ลำบากอะไรนักเพราะรถของเราแม้ตอนที่ซื้อมามันจะราคาถูกแต่มันก็สูงใช้ได้อยู่ พอเข้าไปถึงในไร่แล้วผมก็โทรศัพท์ซื้อดินลูกรังมาถมทางเข้าไร่ บุญรักษา (ชื่อคน) ซึ่งเป็นผู้ประสานงานพื้นที่รายงานว่าคนขายเขาจะเอารถละ 2300 บาท ขณะที่อีกเจ้าหนึ่งเขาจะเอารถละ 4300 บาท ผมบอกให้ซื้อของถูก ซึ่งเขาก็มาจัดการถมซอยให้เรียบร้อย พอตกเย็นเราจะขับรถออกปรากฎว่าถนนได้กลายเป็นคลองน้ำแดงไปเรียบร้อยเพราะฝนตกทั้งวันและดินที่เราซื้อมามันไม่ได้เป็นลูกรังจริง แต่เป็นดินแบบที่ชาวบ้านเขาเรียกว่าดินแดง โห คราวนี้จะกลับบ้านมวกเหล็กไงละนี่ ผมสังเกตเห็นตรงรอยรถแทรกเตอร์ดินจะแข็งหน่อย จึงบอกให้หมอพอขับแบบเหยียบเฉพาะรอยล้อรถแทรกเตอร์นะ แต่ถึงกระนั้นรถของเราก็แกว่งก้นไปมาดุ๊กดิ๊ก ดุ๊กดิ๊ก เหมือนคนสลิดดก น่าหวาดเสียว ในที่สุดก็หลุดซอยออกมาได้แบบฟลุ้คๆ พอหลุดออกมาได้ผมโทรศัพท์บอกบุญรักษาให้ซื้อหินคลุกมาถมถนนแต่เช้า ตกสายวันรุ่งขึ้นผมมาถึงเห็นซอยราดหินคลุกแล้วเรียบร้อย แต่หมอพอยังลังเลไม่กล้าขับลุยเข้าไป ผมจึงลงจากรถไปเอาเท้าเหยียบดู พบว่าบนผิวเป็นหินก็จริง แต่ข้างล่างมันยวบๆยังกะหินลาวาภูเขาไฟที่ยังไม่เย็นตัวดี แสดงว่าหินนี้แม้จะเป็นของหนัก แต่ก็ลอยอยู่บนขี้โคลนได้ ผมบอกหมอพอว่า
“ต้องบดอัด ไม่งั้นวิ่งไม่ได้” หมอพอว่า
“จะเอารถบดที่ไหนละ” ผมตอบว่า
“ก็รถเราเนี่ยไง”
ว่าแล้วก็ให้หมอพอค่อยๆขับเข้ามาพอทำท่าจะติดก็ให้สัญญาณถอยออก ส่วนผมนั้นถือจอบทำหน้าที่โกยหินคลุกที่ถูกยางรถเบียดออกไปนอกขอบถนนเพื่อถมกลับเข้ามาอยู่ในรอยล้อรถใหม่แล้วให้สัญญาณขับเข้ามาเพื่อบดอัดซ้ำอีก เดินหน้าถอยหลัง ทำอย่างนี้คืบหน้าไปทีละนิดๆ ทำเสียจนเวลาเอาจอบโกยหินคลุกแต่ละทีผมรู้สึกว่าปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหน้าท้องอย่าบอกใครเชียว ในที่สุดเราก็เข้าไปถึงไร่ได้
ทำแผนที่คอนทัวร์ วางแผน แล้วปลูก
เรามาพร้อมกล้องส่องระดับแบบมืออาชีพ ความจริงกล้องแบบนี้สมัยนี้ราคาไม่กี่พัน สุ่มตัวอย่างวัดระดับทั่วไร่แล้วก็มาทำแผนที่คอนทัวร์หรือแผนที่เส้นระดับ แล้วก็ออกแบบแนวไม้ป่าที่จะปลูกเพื่อให้แนวปลูกตั้งขวางรับและกักเก็บน้ำฝนที่หลากมาให้ได้มากที่สุด เนื่องจากเราวางแผนจะทำเป็นป่าแบบปาร์คให้เด็กๆมาออกกำลังกาย จึงปลูกต้นไม้วนเป็นขดแบบก้นหอย ในเนื้อที่สิบไร่สามารถทำทางปั่นจักรยานหรือวิ่งพร้อมกับดูต้นไม้สองข้างทางไปด้วย ไปกลับเป็นระยะทางได้ยาวถึง 6 กม. วาดเป็นแผนผังออกมา แล้วก็ให้รถไถไถไปตามนั้น คนขับรถไถนาดูแบบแล้วส่ายหัวด๊อกแด๊กไม่เก็ท หมอสันต์จึงจำใจต้องกระโดดขึ้นไปนั่งประกบบนรถไถ เอ้า เลี้ยวไปทางนี้ เอ้าวางผานตื้นๆ ค่อยๆตีวงไปทางขวาช้าๆอย่าหักมุม ตะโกนพูดบอกทางพลางก็ต้องคอยชักมีดจากเอวขึ้นฟันกิ่งไม้ที่ฟาดระเข้ามาเป็นระยะๆไปพลาง
ขั้นต่อไปก็คือการลงมือปลูก เรายังมีของเล่นอีกหลายชิ้น ส่วนใหญ่ยืมเขามา เริ่มด้วยการใช้เครื่องเจาะหลุม เห็นเครื่องตัวเล็กๆงี้เสียงดังแก้วหูแทบแตก การเจาะนั้นไม่ยาก แต่การลากเครื่องเจาะที่มีดินขี้เปรอะเกาะล้อเป็นตังเมเนี่ยสิมันกินแรงชมัด ทำไปสักพักก็ต้องหยุดยืนหอบ ไม่ใช่เหนื่อยเจาะนะ แต่เหนื่อยลากเครื่อง เมื่อเห็นท่าจะไปไม่ไหวก็มาลองของเล่นชิ้นที่สอง เป็นเสียมด้ามคู่ที่เพื่อนเขาซื้อมาจากเมืองนอก ดูดีเชียว สะเป๊คว่าขุดฉับแล้วแบะด้ามออกยกขึ้นดินจะติดขึ้นมาได้หลุมพร้อมปลูกเลย แต่การปฏิบัติจริงพบว่าเวลาขุดมันไม่ฉับ เพราะเสียมมันเบาจึงเจาะดินได้ไม่ลึก แถมเวลาแบะด้ามแล้วยก ดินกลับร่วงลงไปในหลุมใหม่เพราะมันมีรูระหว่างคมของเสียมทั้งสองข้าง สรุปว่าไม่เวอร์คอีก ในที่สุดก็มาลงเอยที่เครื่องมือดั้งเดิมทึ่หมอสันต์ถนัดที่สุด คือ จอบ จ๊อบ..บ จอบ ขุดแล้วก็มาปลูกต้นกล้า ปักหลัก ผูกกล้าเข้ากับหลัก เป็นอันเสร็จหนึ่งต้น จากจำนวนทั้งหมดที่เราวางแผนไว้ 3,000 ต้น หิ หิ ใจเย็นๆ พากเพียรทำไป เพราะท่านสอนว่า
“ความพยายามอยู่ที่ไหน ความพยายามย่อมอยู่ที่นั่น”
นอกจากงานปลูกแล้วเรื่องการกินการอยู่ก็ต้องพยายามด้วย ทั้งไร่ไม่มีม้านั่งสักตัวเดียว เวลาจะกินข้าวต้องยืนกิน เรื่องร่มเงาที่พักไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่มีต้นไม้สักต้นเดียว ก็มันเป็นไร่มันสัมปะหลังใครเขาจะปลูกต้นไม้ใหญ่กันละ พอเปรยเรื่องนี้ในวงอาหารเย็นให้เพื่อนๆฟังหลังจากนั้นก็เลยได้เก้าอี้บริจาคที่ต้องนั่งด้วยความระมัดระวังไม่ให้ผ้ารองก้นขาดมาสองตัว..ค่อยยังชั่ว
หมอพอบอกว่าวันนี้ดื่มน้ำไปสี่ลิตรแต่ไม่เข้าห้องน้ำเลย ที่ไม่เข้าเป็นเพราะเสียเหงื่อมากหรือเป็นเพราะไม่มีห้องน้ำให้เข้าผมก็ไม่แน่ใจ ประเด็นหลังคือการไม่มีห้องน้ำนี้เป็นปัญหาที่แท้จริงของเรา จำเป็นต้องวางแผนทำห้องสุขา แรกเริ่มก็กะว่าจะเอาถังน้ำเปล่าๆที่รั่วแล้วมาตั้งแล้วเจาะเป็นประตูเข้าไปทำกิจข้างใน แต่บรรยากาศที่ฝนตกทุกวันอย่างนี้การจะขนเอาหิน ปูน ทราย มากองแล้วเทฐานรากเพื่อตั้งห้องสุขานั้นคงทำไม่ได้จนกว่าฝนจะหยุด แต่มันจะหยุดเมื่อไหร่ละเพราะนี่เพิ่งต้นหน้าฝน และย่านเขาใหญ่นี้ ตามบันทึกของ วาริงตัน สมิท ซึ่งเดินทางผ่านแถบนี้สมัย ร. 5 เล่าว่าเมื่อเดินทางมาถึงตำบลขนงพระ (อ.ปากช่อง) ต้องจอดเกวียนรอข้ามคลองน้ำเพราะฝนตกหนักเจ็ดวันเจ็ดคืนไม่หยุดเลย ถ้าจะให้เรารอกันนานขนานนั้นต่อมลูกหมากของเราคงจะระเบิดเสียก่อน หิ หิ สรุปว่าตั้งห้องสุขาบนพื้นดินแฉะยังไม่ได้ ก็หาทางย้ายไปตั้งแบบชั่วคราวในโรงเก็บของโกโรโกโสโน่นก็แล้วกัน
Dump Station เลี้ยงป่าไม้
ขณะคิดเรื่องทำส้วม ก็เกิดความคิดว่าน่าจะประยุกต์ระบบบำบัดน้ำเสียของส้วมธรรมดาๆไปเป็นระบบจ่ายน้ำที่บำบัดได้แล้วไปเลี้ยงต้นไม้ป่านะ ฟังดูเป็นความคิดที่ดี แต่ปริมาณอึที่ได้มันมีจำนวนน้อยนิดเกินไป ห้องสุขาจะได้ใช้งานก็เฉพาะเมื่อผมมาปลูกมาดูแลป่าเท่านั้น จะมีวิธีไหนที่จะได้ปุ๋ยมาอย่างเป็นกอบเป็นกำและต่อเนื่องบ้างหนอ ฉับพลันก็คิดถึง dump station ซึ่งเป็นจุดรับของเสียจากรถบ้าน (recreational vehicle – RV) ที่เคยเห็นสมัยทำงานอยู่เมืองนอก บางครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นบ่ายวันอาทิตย์ผมขับผ่านไปมักเห็นรถ RV จ่อคิวปล่อยของเสียเป็นแถว ฮะ ฮ้า ได้การละ ทำไมไม่ทำ dump station ขึ้นมาเสียเลยละ เขาใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงป่าเขาธรรมชาติ ไปภายหน้าคนเบื่อการท่องเที่ยวด้วยการขับรถเก๋งนอนโรงแรมก็คงจะมีบ้างแหละที่หันมาเที่ยวด้วยรถ RV แก้เบื่อ เขาใหญ่ก็จะมีรถ RV แวะเวียนมามากขึ้นๆ ถ้าผมเปิด dump station นี้ให้ใช้ฟรี ผมก็จะได้ปุ๋ยมาฟรีๆ ฮี่..ฮี่ เป็นโมเดลธุรกิจที่เริ่ดสะแมนแตนไหมละ คิดแล้วก็ทำเลย จึงไปซื้อถังแซทขนาดใหญ่มาฝังไว้ใต้ดินตรงจุดที่จะทำเป็น dump station ใช้กล้องส่องระดับวางท่อนำน้ำที่บำบัดเสร็จแล้วฝังใต้ดินเข้าไปยังป่าปลูก พอไปถึงป่าปลูกก็เอาไปเข้าบ่อพักสำเร็จรูปเล็กๆ แล้วจ่ายตามแรงโน้มถ่วงผ่านท่อพรุนใต้ดินที่หุ้มด้วยผ้าใบจีโอเท็กซ์ (geotextile) ซึ่งมีคุณสมบัติให้น้ำวิ่งผ่านออกได้แต่ป้องกันดินไม่ให้เข้ามาอุดรูพรุนของท่อ จะจ่ายไปไกลแค่ไหนก็ได้ตราบใดที่มีทรัพยากรต้นกำเนิดคือ “อึ” มากเพียงพอ เพราะอย่าลืมว่าป่าแห่งนี้มีความยาวถึง 3 กม. บัดนี้สองกรรมกรได้ช่วยกันทำระบบโครงสร้างพื้นฐานเสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อใดที่เริ่มเปิดรับอึบริจาคได้ก็จะ ฮี้ ฮ้อว์..เป็นธุรกิจ
ป่ามิยาวากิแบบคลาสสิก
การปลูกป่ามิยาวากิแบบคลาสสิกนั้นมีองค์ประกอบ 4 อย่าง คือ
(1) เริ่มที่ทำงานกับดินก่อน ขุดปรับโครงสร้างของดินให้ลึกจากผิวดินเดิมเป็นเมตรแล้วใส่แกลบดิบลงไปคลุกเพื่อเปลี่ยนดินที่เหนียวหนึบเวลาแฉะและแข็งโป๊กเวลาแห้งให้กลายเป็นดินที่รากพืชแทงทะลุได้ (penetrable) ให้ดินหลวมจนรากพืชวิ่งสานกันไปมาหากันได้ มิยาวากิเป็นเจ้าความคิดเรื่องสังคมวิทยาของพืช (plant sociology) คือต้องให้รากพืชกอดกันไว้ แล้วมันจะรักกันและอยู่ด้วยกันได้เอง จากนั้นก็ใส่ก็เศษพืช (biomass) ลงไปช่วยเก็บความชื้น แล้วใส่ขี้วัวลงไปเพิ่มอินทรีย์วัตถุ (organic substance) เพื่อตั้งต้นเป็นอาหารของจุลินทรีย์ในดิน ทั้งนี้หวังให้จุุลินทรีย์เหล่านี้สร้างอาหารให้พืชดูดไปกินและอยู่ร่วมกับพืชไปในอนาคต
(2) เลือกกล้าไม้ที่เป็นพืชที่เคยขึ้นอยู่ในท้องถิ่นนี้นับร้อยปีมาแล้ว ไม่เอาพืชที่นำมาจากต่างถิ่น ถิ่นเขาใหญ่นี้เป็นเขตป่าดิบเขา จึงเลือกต้นไม้ได้ง่ายและหลากหลายมาก ทั้งไม้สูง (canopy) ไม้กลาง (tree) ไม่ต่ำ (sub-tree) ไม้พุ่ม (shrub)
(3) ปลูกต้นไม้ให้แน่น คือหนึ่งตารางเมตรปลูกสี่ห้าต้น เรียกว่าแน่นเป็นบ้า เป้าหมายคือให้แสงแดดทุกเม็ดถูกใช้หมดโดยไม่เหลือส่องถึงพื้นอย่างสูญเปล่าเลย
(4) ปลูกแล้วต้องคลุมดินหรือห่มดิน (mulching) ด้วยฟางหรือหญ้าแห้งหรือเศษพืชอะไรก็ได้ เป็นการตั้งต้นเพื่อให้อุณหภูมิและความชื้นในดินเหมาะแก่เหล่าชีวิตในดิน ไปภายหน้าเมื่อวัสดุคลุมดินนี้ย่อยสลายไป ใบไม้ของพืชที่ปลูกไปก็จะร่วงหล่นลงมาทำหน้าที่แทน
เหตุผลที่ทำทั้งสี่อย่างนี้ก็เพราะมิยาวากิเห็นว่านี่เป็นวิธีเดียวกันกับที่ธรรมชาติปลูกสร้างป่าไม้ในโลกนี้ขึ้นมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ พอมันตั้งต้นของมันได้แล้ว มันก็จะเกิดดุลภาพที่จะอยู่ได้อย่างถาวรไปอีกหลายร้อยปีโดยไม่ต้องไปแทรกแซงอะไรอีกเลย
เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นหลังได้รู้จักแนวคิดที่แท้จริงของมิยาวากิ ผมจึงเอาที่ดินมุมหนึ่งทำการปลูกป่าด้วยวิธีคลาสสิกของมิยาวากิทุกประการโดยระดมพลสามพ่อแม่ลูกมาปลูกด้วยกัน 200 ต้นจนเสร็จในวันเดียว เรียกส่วนนี้ว่า Classic Miyawaki Plantation เผื่อคนรุ่นหลังมาเห็นแล้วจะเกิดความประทับใจในความคิดของมิยาวากิจนนำไปสู่ความคิดอยากปลูกป่าด้วยตัวเองบ้าง
ความท้าทายไม่ได้อยู่ที่การปลูก
ผมใช้เวลาราวเกือบเดือนก็ปลูกป่า 3,000 ต้นเสร็จตามแผน ในงานปลูกป่าใครๆก็รู้ว่าการปลูกนั้นเป็นส่วนที่ง่ายที่สุด แต่การดูแลให้ต้นกล้าอยู่ได้รอดผ่านหน้าแล้งสามปีแรกต่างหากที่เป็นความท้าทายอย่างแท้จริง สามพ่อแม่ลูกจะมีน้ำยาแค่ไหน ก็ต้องติดตามดูตอนต่อไป
ป่าสร้างเยาวชน เยาวชนสร้างป่า
ป่าเพิ่งปลูกเสร็จดินยังไม่ทันหมาดดี เมื่อแดดร่มลมตกเจ้าไข่มุกก็พาเพื่อนๆในหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ๆนี้มาปั่นจักรยานเล่นกันสนุกสนานแล้ว เอาไว้รอให้กล้าไม้ติดดีๆก่อนแล้วผมจะเปิด Miyawaki Khoa Yai Park ให้เด็กๆทั่วไปและผู้ใหญ่ได้มาเดินเล่นหรือวิ่งจ๊อกกิ้งหรือปั่นจักรยานในป่าปลูกนี้ได้..ฟรี ไปภายหน้าผมตั้งใจว่าสักปีละครั้งสองครั้งหากผมไม่แก่หง่อมหมดแรงไปเสียก่อน ผมจะจัดทำแค้มป์ทักษะชีวิต (Life Skill Camp) สำหรับเด็กๆขึ้นที่นี่ โดยจัดเป็นแบบ day camp เช้ามาเย็นกลับ เพื่อสอนให้เด็กๆได้เรียนรู้การใช้ชีวิตนอกห้องเรียน เรียนรู้คุณค่าของป่าไม้ และฝึกทักษะการปลูกป่าแบบมิยาวากิด้วยการลงมือปรับปรุงดินและปลูกป่าด้วยตนเอง ผมได้กันพื้นที่ไว้เพื่อการนี้ส่วนหนึ่ง ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แค่ให้เด็กๆได้มีโอกาสมาวิ่งเล่นปั่นจักรยานเล่นในป่า มามีความสุขกับป่า มารู้จักมิยาวากิ เด็กๆก็จะเริ่มซึมซับความคิดของมิยาวากิที่ตั้งหน้าตั้งตาฟื้นฟูป่าธรรมชาติในโลกนี้ขึ้นมาอีกครั้งด้วยสองมือ ความประทับใจแค่นี้ของเด็กก็คุ้มแล้ว เพราะวันหนึ่งข้างหน้าเด็กรุ่นนี้แหละที่จะเป็นผู้ฟื้นฟูโลกนี้ให้กลับน่าอยู่ขึ้นมาใหม่
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์