เป็นอัมพาตมาแล้วอยากจะเลิกยาความดันและยาไขมัน
เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ
หนูและสามีได้ไปพักผ่อนที่ wellness we care 3คืน4วัน ประทับใจในบรรยากาศที่ร่มรื่น พนักงานดูแลเอาใจใส่ดีมาก และได้กินอาหารที่ปรุงจากพืชที่อร่อยที่สุดเท่าที่เคยกินมา (พูดจริงไม่ได้ยอ)(ปกติกินมังฯแนว pescatarine มา20ปีแล้ว)เป็นก้าวแรกที่ออกจากบ้านหลังจากโควิดระบาดรอบหลังนี้ (ก็เชื่อหมอสันต์แหละค่ะ ว่าให้ออกจากบ้านไปเจอโควิดบ้าง 555 ) เกือบปีที่อยู่กับบ้านทำอาหารกินเองทั้ง3มื้อ ล้างจานจนมือเปี่อย เราตัดสินใจกันเลือก Wellness We Care ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องมี plant based ให้เรากิน ที่พักสะอาดสะอ้าน โปร่งโล่ง เว้นระยะห่างได้ดีมากจัด landscape ลงตัว เดินขึ้นเนินลงเนินพอให้เมื่อย ต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น ดอกไม้สวยจุ๋มจิ๋ม มีกระรอกเผือกวิ่งเล่นไล่กันไปมา สนามหญ้าตัดเรียบ barefoot เดินย่ำรับน้ำค้างยามเช้า สวนสวยประดับงานประติมากรรมเล็กๆน่ารัก โถงทางเดินและห้องพักติดตั้งรูปวาด original paintings ที่สวยงามสบายตา บรรยากาศกึ่งๆ Art gallery อากาศบริสุทธิ์สดชื่นหายใจเต็มปอด ไปนั่งๆ นอนๆ ..โง่ๆ..(ภาษาวัยรุ่น) ถึงเวลาก็มีคนมาเสิร์ฟ กินเสร็จก็สะบัดตูด เดี๋ยวก็มีคนมาเก็บ นั่งวาดรูป อ่านหนังสือ แชทมือถือเล่น ชิลล์มาก ชีวิตมีความสุขจริงๆ เราเป็นแฟนคลับหมอสันต์แบบลับๆ แอบอ่านการแนะนำคนไข้เพื่อพลิกผันโรคด้วยตนเอง จากเพจคุณหมอมาโดยตลอด (เราก็เลยรู้สึกดีด้วย เพราะว่าเราได้ไปอุดหนุนคุณหมอบ้าง555)
เข้าเรื่องนะคะ..สามีของหนูแกเคยstroke ด้วยเส้นเลือดสมองตีบ เมื่อ 6 ปีที่แล้ว(ตอนนั้นอายุ 56) ฟื้นฟูจนเป็นปกติ (กลับมาหล่อเหมือนเดิม) หลังจากนั้น หมอก็นัดให้ฉีดสีสวนเส้นเลือดหัวใจ พบว่าทุกเส้นตัน 60-70% หมอนัดไปทำบัลลูน (หมอบอกว่าถ้าทะลวงไม่ไป may be อาจต้องผ่า) FB แอบได้ยินเราคุยเรื่องโรคหัวใจ เลยเด้ง page หมอสันต์ขึ้นมา เราก็ลองปฏิบัติตนง่ายๆตามวิธีหมอสันต์ เลิกทำงาน (เพราะรวยพอแล้ว) สามีก็เลิกดื่มเด็ดขาด (แกบอกว่าดื่มมามากพอแล้ว) เลิกจ้างแม่บ้านคนสวน (ที่2ไร่เก็บกวาดตัดแต่ต้นไม้เอง ตากแดดรับวิตามิน D) เดินวันละ 45 นาที ฝึกโยคะ พยายามทำใจร่มๆงดโกรธเกลียดคน (ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง) และ..เลิกไปพบหมอ
แต่สามียังคงทานยาลดไขมัน ยาลดความดัน และ baby aspirin อยู่ยาที่แกกิน Cardiprin100mg วันละ1เม็ด Madiplot 20mg วันละ 1/2 เม็ด Mevalotin40 mg วันละ 1 เม็ดผลตรวจเลือดค่าไต ตับ ไม่เกินน้ำตาล ไตรกีเซอไรด์ ไม่เกิน Cholesterol รวม 88 ความดันตัวล่าง 70-80 ตัวบน 120-130
คือสามีหนูแกอยากจะเลิกยาทั้งหลายที่กินอยู่ แกน่าจะเลิกได้มั้ยคะ (ปีนี้แกอายุ62ค่ะ) คือแกกลัวว่าถ้าเลิกยาแล้วจะกลับมา stroke อีกรึเปล่า มันอาจมีไขมันวิ่งอยู่ในหลอดเลือดอยู่มั้ย
สุดท้ายนี้ขอให้คุณหมอมีความสุขมากๆค่ะ
ด้วยความเคารพอย่างสูง
(ชื่อ) ……………….
ปล. ระหว่างที่ไปพักทุกเช้าออกไปเดิน หาสวนนางฟ้า อยากเห็นป้ายที่คุณหมอวาด แต่หาไม่เจอค่ะ อยากไปตรวจงาน เอ่อ..ไปดูฟาร์มฟ้าทะลายโจร ไหนๆก็มีส่วนร่วมสนับสนุนโครงการวิจัยของคุณหมอไปบ้างน่ะค่ะ
……………………………………………………………………………..
ตอบครับ
ขอบพระคุณที่มาอุดหนุน วันหลังผ่านมาทางนี้ก็แวะมาอีกนะ รวมทั้งแฟนๆบล็อกที่เป็นท่านผู้อ่านทุกท่านด้วย เวลเนสวีแคร์ยินดีต้อนรับทุกท่าน แต่มาแล้วอย่าถามหาหมอสันต์นะ เพราะส่วนใหญ่ถ้าไม่ยุ่งกับการทำแค้มป์ก็จะไปทำไร่ไถนาหาตัวยาก หิ หิ เอาละ มาตอบคำถามของคุณเลยดีกว่า
1.. ถามว่าเป็นสโตร้คมาแล้วอยากจะเลิกยากินให้หมดจะกลับไปเป็นสโตร้คอีกไหม ตอบว่าสาเหตุการเป็นสโตร้คไม่ใช่เพราะไม่ได้กินยา เพราะร่างกายนี้ไม่ได้ออกแบบมาให้กินยาจึงจะอยู่ได้แต่อย่างใด แต่เป็นเพราะมีปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดอยู่อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง อันได้แก่บุหรี่ ไขมัน ความดัน เบาหวาน การไม่ได้ออกกำลังกาย ความเครียด และมีการอักเสบในร่างกาย ถ้าจัดการสาเหตุเหล่านี้ได้หมด เท่ากับปัจจัยที่เกื้อหนุนให้เกิดสโตร้คไม่มีแล้ว ก็จะไม่เป็นสโตร้คอีก ซึ่งการจัดการปัจจัยเสี่ยงอาจจะใช้หรือไม่ใช้ยาก็ได้ เพราะปัจจัยเสี่ยงทุกตัววิธีแก้ที่ต้นเหตุคือการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต ยาเป็นเพียงการแก้ที่ปลายเหตุโดยที่เหตุนั้นยังอยู่ เช่นยาลดความดันก็แค่ลดความดันได้ชั่วคราวขณะที่มียากดอยู่ แต่เหตุที่ทำให้ให้หลอดเลือดแดงแข็งจนความดันเลือดสูงนั้นยังอยู่ โรคความดันเลือดสูงก็ยังอยู่ไม่ได้ไปไหน สโตร้คก็ยังเกิดขึ้นได้ ต้องเปลี่ยนอาหารและวิธีใช้ชีวิตจึงจะทำให้โรคหลอดเลือดแดงแข็งถอยกลับได้และความดันลดลงได้อย่างถาวร ทั้งนี้เป็นไปได้โดยอาจไม่ต้องใช้ยาเลย เป็นต้น
2.. ถามว่าถ้าจะเลิกยาลดความดันจะต้องทำอย่างไร ตอบว่าให้ตั้งเป้าหมายความดันเลือดไว้ก่อนว่าคนอายุปูนนี้ควรปรับยาเพื่อรักษาความดันตัวบน (systolic BP) ไว้ไม่ให้มากกว่า 150 มม. ไม่ให้ต่ำกว่า 110 มม. นี่เรียกว่าพิสัยปกติสำหรับคนอายุมาก ปูนนี้แล้วดูตัวบนตัวเดียวก็พอ ตัวล่างไม่ต้องดูก็ได้เพราะถ้ามันขึ้นมันจะขึ้นที่ตัวบนก่อน หลักการลดยามีอยู่ว่าเมื่อทำตัวดีแล้ว คือปรับอาหารไปกินพืชเป็นหลัก ออกกำลังกาย และจัดการความเครียดให้ดี ถ้าความดันอยู่ในพิสัยปกตินี้อยู่ก็ให้ลดยาลงทีละตัว โดยลดทีละครึ่งโด้ส กรณีของสามีคุณกินอยู่ตัวเดียวคือ manidipine (Madiplot) ก็ลดลงครึ่งหนึ่งเลยคือจากวันละ 10 mg เหลือ 5 mg หลังจากนั้นอีก 1 สัปดาห์ก็วัดความดันดู หากอยู่ในพิสัยปกติอีกก็ลดลงไปอีกครึ่งคือจากวันละ 5 มก.เหลือ 5 มก.วันเว้นวัน หลังจากนั้นอีก 1 สัปดาห์ก็วัดความดันดูอีก หากความดันยังอยู่ในพิสัยปกติอีกก็เลิกกินยาความดันได้
3.. ถามว่าถ้าจะเลิกยาลดไขมันจะต้องทำอย่างไร ตอบว่าให้ตั้งเป้าหมายไขมันเลว (LDL) ในเลือด อย่างสามีคุณนี้อยู่ในกลุ่มมีความเสี่ยงสูงสุดคือเป็นโรคแล้วเรียบร้อย ผมมีความเห็นว่าควรให้ LDL อยู่ระหว่าง 70-100 มก. ถ้าต่ำกว่า 70 ก็ไม่ดีเพราะมีหลักฐานว่าสัมพันธ์กับเลือดออกในสมองมากขึ้น ถ้าสูงเกิน 100 ก็ไม่ดีอีกเพราะตัวเองเป็นโรคแล้วจะทำให้เกิดจุดจบที่เลวร้ายของโรคได้มากขึ้น เมื่อตั้งเป้าแล้วก็เปลี่ยนอาหารมากินพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ แบบที่เขาทำให้กินที่เวลเนสวีแคร์นั่นแหละ พอเปลี่ยนอาหารได้แล้วก็ลดยาซึ่งในที่นี้คือ pravastatin (Mevalotin) ลงครึ่งหนึ่ง คือจาก 40 มก.เหลือ 20 มก. นานสักสามเดือนก็ไปเจาะเลือดดู LDL หากยังอยู่ในพิสัยปกติก็ลดยาลงอีกครึ่งหนึ่งคือเหลือ 10 มก. ทำเช่นนี้ไปทุกสามเดือนจนลดยาได้เหลือ 5 มก.วันเว้นวัน หาก LDL ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติอีกก็เลิกกินยาได้
4.. ถามว่าจะเลิกยาแอสไพรินดีไหม ตอบว่าเรื่องการเลิกกินยาแอสไพรินนี้ต้องแยกเป็นสองกรณีนะ กรณีการใช้แอสไพรินป้องกันผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเช่นมีความดันสูงแต่ยังไม่เคยมีอาการของโรค (สโตร้คหรือฮาร์ทแอทแท็ค) ซึ่งภาษาหมอเรียกว่าเป็นการใช้แบบ primary prevention การใช้อย่างนั้นไม่มีประโยชน์ จะเลิกเสียก็ได้แล้วแต่ชอบ แต่ในกรณีของสามีคุณนี้เป็นโรคระดับเกิดจุดจบที่เลวร้ายขึ้นแล้ว คือเคยเป็นอัมพาตมาแล้ว การใช้แอสไพรินป้องกันแบบนี้เรียกว่า secondary prevention ข้อมูลปัจจุบันพบว่าแอสไพรินหรือยาต้านเกล็ดเลือดอื่นใดก็ตามมีผลลดอัตราการเกิดจุดจบที่เลวร้ายซ้ำ รวมทั้งสโตร้คและฮาร์ทแอทแทคลงได้ ดังนั้นหากไม่มีปัญหาเรื่องการแพ้ยาหรือเลือดออก ผมแนะนำว่าสามีของคุณควรกินแอสไพรินไปก่อนครับ จนวันหนึ่งมีหลักฐานวิทยาศาสตร์ใหม่ๆโผล่ออกมาว่ามีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าจึงค่อยเลิก
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
- Chaoran Ma, M. Edip Gurol, Zhe Huang, Alice, H. Lichtenstein, Xiuyan Wang, Yuzhen Wang, Samantha Neumann, Shouling Wu, Xiang Gao. Low-density lipoprotein cholesterol and risk of intracerebral hemorrhage: A prospective study. Neurology Jul 2019, 93 (5) e445-e457; DOI: 10.1212/WNL.0000000000007853
- 2019 ACC/AHA Guideline on the Primary Prevention of Cardiovascular Disease: A Report of the American College of Cardiology/American Heart Association Task Force on Clinical Practice Guidelines. J Am Coll Cardiol 2019;March 17:[Epub ahead of print].