หมอสันต์พูด (กับแพทย์ต่างชาติ) เรื่องอาหารพืชกับสุขภาพสมอง
เมื่อวันที่ 9 พย. 63 ผมได้บรรยายทางเว็บบินาร์ร่วมกับดร.สกอต สโตล แก่แพทย์และผู้สนใจทั่วไปจากหลายประเทศจำนวนประมาณ 4000 คน ส่วนที่ผมพูดคือเรื่องอาหารพืชกับสุขภาพสมอง ผมเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์จึงแปลอย่างย่อๆมาให้อ่านกัน แต่ไม่มีภาพสไลด์ให้ (เพราะเอาลงไม่เป็น)
………………………………………..
สวัสดีตอนเย็นจากประเทศไทยครับ
ผมดีใจที่ได้มาพบกับท่านอีกครั้งหนึ่งที่นี่ เพื่อไม่ให้เสียเวลาของท่าน ผมขอเปิดสไลด์ไปด้วยเลยขณะที่ผมพูด
สิ่งที่ผมจะพูดวันนี้เจาะลงไปที่คำถามว่า
“เราจะใช้อาหารพืชเป็นหลักป้องกันและพลิกผันสมองเสื่อมได้ไหม”
พื้นฐานศัพท์แสงที่ใช้
ก่อนที่ผมจะทบทวนหลักฐานวิจัยต่างๆให้ฟัง ขอผมพูดถึงสมองเสื่อมนิดหน่อยก่อนนะครับ คำว่า dementia นี้ เดี๋ยวนี้ถูกแทนที่ด้วยคำว่า neurocognitive disorder ซึ่งเขียนย่อว่า NCD ดังนั้นอย่าไปสับสนกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (non-communicable diseases) ซึ่งเขียนย่อว่า NCD เหมือนกันนะครับ ในการพูดของผมวันนี้ NCD หมายถึงสมองเสื่อมเท่านั้น
ก่อนอื่นมาดูซะหน่อยว่าที่เราเรียกว่าการทำงานของสมองนั้น จริงๆแล้วมันมีถึงหกด้านนะ คือ
1. สติ (Attention) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสามารถทำอะไรหลายๆอย่างได้พร้อมกัน
2. ความจำและการเรียนรู้ (Memory and learning)
3. การใช้ภาษา (Language)
4. การปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น (Social interaction)
5. การรับภาพและทรงตัว (Perception and motor) หมายถึงการประสานงานการเคลื่อนไหวร่างกาย
6. ดุลพินิจและการตัดสินใจ (Judgement and decision) ซึ่งบางครั้งก็เรียกว่า cognitive function
ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่เราพูดว่าสมองเสื่อม เราหมายถึงการเสื่อมของการทำงานด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้านของทั้งหกด้านนี้
คราวนี้มาเจาะลึกลงไปในคำว่าสมองเสื่อมอีกสักหน่อย คือมันสามารถจำแนกเป็นกลุ่มย่อยออกเป้นหลายโรค ดังนี้
1. โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ซึ่งประกอบเป็นราว 70% ของสมองเสื่อมทั้งหมด จัดเป็นโรคที่เกิดขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ
2. โรคสมองเสื่อมจากหลอดเลือด (Vascular dementia) ซึ่งประกอบเป็นราว 20% ของสมองเสื่อมทั้งหมด
ที่เหลือเป็นโรคที่พบน้อยที่เราคงไม่ต้องพูดถึง ได้แก่
3. สมองเสื่อมแบบมีเม็ดลิวอี้ (Lewy body dementia)
4. โรคพาร์คินสัน (Parkinson’s disease)
5. สมองเสื่อมแบบ Frontotemporal dementia
6. สมองเสื่อมจากการบาดเจ็บ (Traumatic brain injury)
7. สมองเสื่อมจากการติดเชื้อ HIV
8. สมองเสื่อมจากสารเสพย์ติดและยา (Substance and Medication)
ในแง่ระดับความรุนแรงของสมองเสื่อม วงการแพทย์แบ่งออกเป็นสองระดับคือ
ระดับเบา (Minor NCD) สมัยก่อนเรียกว่า Mild cognitive impairment หรือ MCI ซึ่งนิยามว่าคือภาวะที่สมองเริ่มเสื่อมแต่ยังทำกิจวัตรจำเป็นประจำวันได้
ระดับหนัก (Major NCD) สมัยก่อนเรียกว่า dementia ซึ่งนิยามว่าสมองเสือมมากจนไม่สามารถทำกิจจำเป็นประจำวันได้
ขอผมพูดถึงเรื่องกิจจำเป็นประจำวันหน่อยนะ เพื่อให้เข้าใจนิยามระดับของความหนักของสมองเสื่อมได้ง่ายขึ้น คอลัมน์ทางซ้ายมือนี้คือกิจจำเป็นประจำวัน (ADL – Activity Daily Living) ซึ่งหมายถึงกิจกรรมจำเป็นห้าอย่างที่ต้องทำเองให้ได้จึงจะอยู่คนเดียวได้ คือ
1. กิน
2. ขับถ่าย
3. อาบน้ำแปรงฟัน
4. แต่งตัว
5. เดิน
ปกติผู้ที่เป็นสมองเสื่อมระดับหนักจะสูญเสียความสามารถทั้งห้านี้ไปข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ
คอลัมน์ทางขวามือคือกิจวัตรสำคัญ (IADL – Instrumental activity daily living) ซึ่งหมายถึงกิจกรรม 7 อย่างที่จะทำให้ชีวิตมีคุณภาพ คือ
1. โทรศัพท์เองได้
2. ไปไหนมาไหนเองได้
3. ทำอาหารเอง
4. ไปช้อปปิ้งเอง
5. ดูแลที่อยู่ตัวเองได้
6. จัดการยากินของตัวเองได้
7. จัดการเรื่องเงินทองของตัวเองได้
โดยทั่วไปผู้ป่วยที่เป็นสมองเสื่อมระดับเบาจะเริ่มสูญเสียกิจวัตรสำคัญ 7 อย่างนี้ไปบางอย่าง แต่ยังสามารถทำกิจจำเป็น 5 อย่างข้างต้นได้อยู่
คราวนี้มาดูกันนิดหนึ่งถึงวิธีตรวจวินิจฉัยสมองเสื่อมระดับเบาที่แพทย์ใช้บ่อยสามอย่าง
การตรวจแบบที่ 1. MMSE (Mini mental status examination) เป็นการทดสอบความจำ การพูด การเขียน ใช้เวลาทดสอบราว 20 นาที
การตรวจแบบที่ 2 MiniCogTest คือให้เขียนรูปนาฬิกาบอกเวลาโดยเขียนเข็มสั้นเข็มยาวด้วย
การตรวจแบบที่ 3 NBT score (Neuropsychological test battery) เป็นการตรวจย่อยหลายอย่างปนกัน แต่ละอย่างเจาะจงตรวจแต่ละด้านของสมอง
ที่มาของข้อมูลเรื่องอาหารพืชกับสมองเสื่อม
โอเคคราวนี้เรากลับมาหาคำถามเดิมของเรา “อาหารพืชเป็นหลักจะช่วยป้องกันและพลิกผัดโรคสมองเสื่อมได้ไหม”
ผมพาท่านย้อนยุคไปตั้งหลักที่ปีค.ศ. 1970 ก่อนนะ ที่ประเทศฟินแลนด์ ที่จังหวัดหนึ่งชื่อ North Karelia ที่นั่นเขาทำโครงการลดอัตราตายโรคหัวใจขาดเลือดในรูปแบบของโครงการชุมชน โดยมีสโลแกนว่า
“จากเนยไปสู่เบอรี่ (From butter to Berry)”
มันเป็นโครงการที่ฝันไกลมาก นำโดยหมอหนุ่มชื่อ Dr. Pekka Puska ในการทำโครงการนี้เขาชักนำเอาทุกส่วนของชุมชนเข้ามาร่วมกันทำ ตั้งแต่ศูนย์สุขภาพทุกแห่ง บริษัท ที่ทำงาน โรงงาน ซูเปอร์มาร์เก็ต โรงเรียน กลุ่มแม่บ้าน โทรทัศน์ และแม้กระทั่งแก้ไขเทศบัญญัติหรือกฎหมายถ้าจำเป็น
เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จสูงมาก กล่าวคือใน 30 ปี สามารถลดอัตราตายโรคหลอดเลือดหัวใจลงได้ 75% ลดการใช้เนยทาขนมปังลงจาก 90% เหลือ 7% เพิ่มการบริโภคผลไม้จาก 44 ปอนด์เป็น 130 ปอนด์ต่อคนต่อปี
ความสำเร็จของโครงการ North Karelia Project ทำให้เกิดข้อมูลที่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์ งานวิจัยนี้ชื่อ CAIDE study ซึ่งเป็นการตามดูกลุ่มผู้ป่วยสี่กลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดต่างกัน ตามดูนาน 25 ปี ก็ได้ผลสรุปว่ามีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนระหว่างปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดกับการเป็นโรคอัลไซเมอร์ สัมพันธ์กันมากกว่าการมียีน EPOE เสียอีก ผลวิจัยนี้นำไปสู่งานวิจัยสำคัญอันต่อมาคือ
(J Alzheimers Dis. 2014;42(1):183-91. doi: 10.3233/JAD-132363)
ซึ่งเป็นงานวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ขนาดใหญ่ สุ่มเอาผู้สูงวัยที่เป็นสมองเสื่อมระดับเล็กน้อยจำนวน 1260 คน มาแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มทดลอง กับกลุ่มควบคุม กลุ่มทดลองให้ทำสี่อย่างคือ
1. เปลี่ยนอาหารจากอาหารธรรมดาไปกินอาหารแบบที่เรียกว่า Healthy Nordic Diet ซึ่งคล้ายกับอาหารเมดิเตอเรเนียน คือมีผลไม้มาก+ผักมาก+ปลา+น้ำมันเรพสีด (Rapeseed oil) สำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคยกับชื่อน้ำมันเรพสีด มันก็คือพืชชนิดเดียวกับน้ำมันแคโนล่าซึ่งให้ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวนั่นแหละ
2. ออกกำลังกาย
3. ทำกิจกรรมท้าทายสมอง มีกิจกรรมหลายอย่าง แต่ละอย่างสำหรับคนไข้แต่ละแบบ
4. ถ้ามีปัจจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดก็จัดการเสีย
ทำวิจัยแบบนี้อยู่สองปี แล้ววัดผลด้วยคะแนน NTB score ได้ผลว่ากลุ่มทดลองได้คะแนนการทำงานของสมองดีขึ้นกว่าเดิม ขณะที่กลุ่มควบคุมได้คะแนนการทำงานของสมองแย่ลงไปกว่าเดิม
นี่เป็นงานวิจัยขนาดใหญแบบ RCT งานแรกที่พิสูจน์ว่าการปรับวิธีใช้ชีวิตหลายอย่างพร้อมกันรวมทั้งเปลี่ยนอาหารด้วยสามารถป้องกันและพลิกผันสมองเสื่อมระดับเบาได้
(Lancet. 2015 Jun 6;385(9984):2255-63)
งานวิจัย FINGERS ทำให้เกิดโครงการ World-wide FINGERS ซึ่งออกแบบเพื่อย้ำผลของ FINGERS อีกครั้ง โดยการทำงานวิจัยขนาดใหญ่หลายงานเช่น
งานวิจัย The POINTER study ในสหรัฐฯ ทำกับคน 2500 คน
งานวิจัย PRODEMOS study ในจีนและอังกฤษ ทำกับคน 2400 คน
งานวิจัย HATICE ในยุโรป ทำกับคน 2720 คน
และที่ประเทศไทยนี่เอง งานวิจัย The Impact of Lifestyle Modification on Prevention of Dementia ทำกับคน 3600 subjects.
และที่ออสเตรเลีย งานวิจัย The MYB trial ทำกับคน 8500 คน
ผลวิจัยทั้งหมดคงจะทะยอยออกมาในสองสามปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ ผลวิจัยของ FINGERS ก็พอแล้วที่จะชี้ช่องว่าเราจะป้องกันและพลิกผันโรคสมองเสื่อมระดับเบาได้อย่างไร ผมย้ำอีกทีนะ ว่าต้องเปลี่ยนอาหาร ออกกำลังกาย ท้าทายสมอง และจัดการปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือด
ถ้ามองเฉพาะโรคอัลไซเมอร์
นับถึงวันนี้ หลักฐานเชิงระบาดวิทยาที่เรามีอยู่บ่งชี้ว่ามีปัจจัยที่อาจสัมพันธ์กับการเป็นโรคอัลไซเมอร์อยู่ 7 ปัจจัย คือ
1. ความดันสูง Hypertension
2. อ้วน Obesity
3. เบาหวาน Diabetes
4. ไม่ออกกำลังกาย Physical Inactivity
5. สูบบุหรี่ Smoking
6. โรคซึมเศร้า Depression
7. มีการศึกษาน้อย Low education
(Norton S,et al. Lancet Neurol 2014;13:788-94)
เราทราบจากงานวิจัยนี้ว่าการยืนหยัดกินอาหารแบบเมดิเตเรเนียนได้ต่อเนื่อง สัมพันธ์กับการลดสมองเสื่อมระดับเบาได้ และสัมพันธ์กับการลดโอกาสเปลี่ยนระดับความหนักจากสมองเสื่อมระดับเบาไปเป็นสมองเสื่อมระดับหนัก
(Singh B et al. J Alzheimers Dis 2014; 39:271-282)
งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าในผู้สุงอายุที่อายุ 65 ปีขึ้นไป หากกินอาหารที่มีปริมาณผักมาก จะลดโอกาสเป็สมองเสื่อมระดับเบาลงได้มากกว่ากลุ่มที่กินอาหารมีผักน้อยถึง 38%
(Morris MC et al. Neurology 2006 ; 67(8): 1370-6.)
งานวิจัยนี้เปรียบเทียบผลของอาหารสองแบบกับการโตขึ้นหรือหดตัวลงของเนื้อสมอง ระหว่างกลุ่มที่กินอาหารแบบที่เรียกว่า Prudent diet อันประกอบด้วยผักสด สลัด ผลไม้ ปลา กับอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งกินอาหารอีกแบบเรียกว่า Unhealthy Western Diet ซึ่งประกอบด้วยเนื้อย่าง ไส้กรอก แฮมเบอร์เกอร์ สเต้ค ชิพ คริสพ์ และเครื่องดื่มซอฟท์ดริ้งค์ใส่น้ำตาล
ทำการวิจัยติดตามอยู่ 4 ปี แล้ววัดผลโดยเอาขนาดของสมองส่วน hippocampus ซึ่งเป็นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำและการเรียนรู้ เป็นตัวชี้วัด
ผลวิจัยปรากฎว่ากลุ่มที่กินอาหาร Prudent diet มีเนื้อสมองฮิปโปแคมปัส “ใหญ่ขึ้น” 45.7 mm ส่วนกลุ่มที่กินอาหาร Unhealthy Western Diet มีเนื้อสมองฮิปโปแคมปัส “หดเล็กลง” 52.6 mm
(Jacka FN et al. BMC Medicine 2015; 13: 215)
งานวิจัยนี้เปรียบเทียบดูความสัมพันธ์ระหว่างการกินถั่วต่างๆกับการโตของสมอง พบว่ายิ่งกินถั่วต่างๆมาก ก็ยิ่งมีการเพิ่มขนาดของสมองส่วน parietal และส่วน occipitocortical มากขึ้น
(Staubo SC, et al. Alzheimer’s and Dementia 2017; 13: 168-177)
งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่ายิ่งมีการกินธัญพืชไม่ขัดสีมาก ยิ่งมีการโตของสมองในส่วน temporal และส่วน superior temporal cortex มากขึ้น
(Staubo SC et al. Alzheimers Dement 2017; 13:168-177)
ความสัมพันธ์ระหว่างชนิดของไขมันกับสมองเสื่อม
งานวิจัยแรกนี้พบว่ายิ่งกินไขมันอิ่มตัว และไขมันโอเมก้า 6 มาก ยิ่งสัมพันธ์กับการเป็นสมองเสื่อมระดับเบามากขึ้น ขณะที่ยิ่งกินไขมันโอเมก้า 3 มากสัมพันธ์กับการลดการเป็นสมองเสื่อมระดับเบาลง
(Baierle M, et al. Nutrients.2014; 6:3624-40)
(Lancet Neurol. 2017 May; 16(5):377-389.)
แต่ความสัมพันธ์ระหว่างไขมันอิ่มตัวกับการเป็นสมองเสื่อมระดับเบานั้นมีความชัดเจนแน่นอนแล้วจากหลายงานวิจัย เช่นงานวิจัยนี้พิสูจน์ว่าในผู้อายุ 65 ปีขึ้นไป การกินอาหารมีไขมันอิ่มตัวมาก เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคอัลไซเมอร์ขึ้นไปได้มากกว่าสองเท่า
(Morris MC et al. Arch Neurol. 2003;60(2):194-200)
ในแง่ของอาหารเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นแหล่งของไขมันอิ่มตัวนั้น หลักฐานเชิงระบาดวิทยาเช่นงานวิจัยนี้ซึ่งทำการติดตามดูผลการเพิ่มอาหารเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ในช่วงเวลา 5 ปี ใน 10 ประเทศตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีโรคอัลไซเมอร์มาก พบว่าการเพิ่มอาหารเนื้อสัตว์สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของโรคอัลไซเมอร์
(Grant WB et. al. J Jlaheimers Dis 2014; 38:611-620)
งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าการยืนหยัดกินอาหารเมดิเตอเรเนียนต่อเนื่องสัมพันธ์กับการลดโอกาสเป็นสมองเสื่อมระดับเบา (เมื่อวัดด้วยคะแนน MMSE) แต่เมื่อวิเคราะห์ในรายละเอียดลงไปถึงกลุ่มย่อย พบว่ากลุ่มที่กินผักมากเท่านั้นที่สัมพันธ์กับการลดโอกาสเป็นสมองเสื่อมระดับเบา ไม่ใช่กลุ่มที่กินเนื้อสัตว์มาก
(Trichopoulou A. et al. Eur J Nutr 2015; 54: 1311-1321)
งานวิจัย The MIND Study
งานวิจัยนี้ชื่อ The MIND Study เป็นงานวิจัยที่มีชื่อเสียงมาก เขาแบ่งอาหารออกเป็นสองกลุ่ม
ในคอลัมน์ซ้ายมือนี้คืออาหารในกลุ่มไม่ดีต่อสมอง (The Brain Unhealthy Food) ซึ่งมีห้าอย่างคือ
1. เนื้อของสัตว์เลี้ยงลูด้วยนม (Red meat)
2. เนยแท้ เนยเทียม (Butter & magarine)
3. ชีส (Cheese)
4. แป้งอบและขนมหวาน (Pastry and sweets)
5. ของทอดและอาหารด่วน (Fried/Fast food)
ส่วนคอลัมน์ทางขวามือนี้คืออาหารในกลุ่มดีต่อสมอง (The Brain Healthy Food) สิบอย่าง คือ
1. ผักใบเขียว Green leafy
2. ผักอื่นๆ Other vegetable
3. นัท Nuts
4. เบอรี่ Berries
5. ถั่วต่างๆ Beans
6. ธัญพืชไม่ขัดสี Whole grains
7. อาหารทะเล Seafood
8. เป็ดไก่ Poultry
9. น้ำมันมะกอก Olive oil
10. ไวน์ Wine
จากอาหารสองกลุ่มนี้เขาทำคะแนนอาหารสมองชื่อ MIND Diet Score ขึ้นมา แล้วทำวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนนี้กับผลต่อการทำงานของสมองโดยแสดงในรูปของอายุสมอง ผลวิจัยพบว่ายิ่งกินอาหารที่ได้คะแนน MIND Diet Score สูง ยิ่งสัมพันธ์กับการได้คะแนนอายุสมองที่ย้อนเป็นหนุ่มสาวยิ่งขึ้น กลุ่มที่กินอาหารได้คะแนนสูงสุดหนึ่งในสาม ได้คะแนนอายุสมองหนุ่มสาวกว่ากลุ่มที่กินอาหารได้คะแนนต่ำสุดหนึ่งในสามถึง 7 ปี
(Morris MC et al. Alzheimer’s & Dementia 2014 ; 10: P166.)
เนื่องจากการมีสารอาไมลอยด์ (amyloid) ไปแทรกในเนื้อสมองเป็นเอกลักษณ์ของโรคอัลไซเมอร์ จึงเป็นที่ฉงนว่าสารอาไมลอยด์พวกนี้มาจากไหน งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าแบคทีเรียที่อยู่อาศัยในลำไส้หรือ microbiome เป็นผู้สร้างอาไมลอยด์และสารอื่นๆที่ทำให้เกิดการอักเสบในระบบประสาทและสมองและเกิดสารอาไมลอยด์แทรกเข้าไปในเนื้อสมอง
นั่นหมายความว่าแบคทีเรียในลำไส้หรือ gut microbiome นี้สัมพันธ์กับโรคอัลไซเมอร์ และแน่นอนว่าอาหารที่เรากินเป็นตัวกำหนดชนิดของแบคทีเรียในลำไส้ งานวิจัยนี้จึงเป็นอีกด้านหนึ่งที่ช่วยชี้ให้เห็นความสำคัญของอาหารต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์
(Friedland RP et al. J Alzheimers Dis 2015; 45:349-362)
คุณจะเห็นว่าหลักฐานทั้งหมดที่ผมนำเสนอมานั้นบ่งชี้ไปทางว่าอาหารพืชเป็นหลักสามารถป้องกันและพลิกผันโรคสมองเสื่อมระดับเบาได้ แต่เราไม่ควรหวังพึ่งอาหารเพียงอย่างเดียว งานวิจัยนี้ชื่องานวิจัย The Duke Study เขาสุ่มเอาคนสูงอายุที่ป่วยเป็นสมองเสื่อมระดับเบามาแบ่งเป็นสี่กลุ่ม คือ
กลุ่ม 1 กินอาหารสุขภาพ (ใช้ DAHS diet)
กลุ่ม 2 exercise
กลุ่ม 3 ทำทั้งสองอย่าง
กลุ่ม 4. ไม่ทำสักอย่าง
แล้วทำวิจัยแบบนี้อยู่ 6 เดือน ผลวิจัยพบว่ากลุ่มที่มีการฟื้นตัวของการเสื่อมของสมองดีที่สุดคือกลุ่มที่ทำทั้งสองอย่าง คือกินอาหารสุขภาพด้วย ออกกำลังกายด้วย
(Blumenthal JA et al. Neurology 2019;92(3):e212-e223)
เราไม่ควรเพิกเฉยต่อความสำคัญของการนั่งสมาธิ (meditation) งานวิจัยนี้เป็นหนึ่งในหลายๆงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าการนั่งสมาธิมีผลดีต่อสมอง ในงานวิจัยนี้พบว่าการนั่งสมาธิทำให้อัตราการเหี่ยวหด (atrophy) ของเนื้อสมองในส่วนฮิปโปแคมปัสของผู้สูงอายุที่เป็นโรคสมองเสื่อมชลอช้าลงมากกว่ากลุ่มควบคุม
(Wells RE et al. Neurosci Lett. 2013; 556: 15-9)
ผมจะจบด้วยสไลด์นี้ ว่าหลักฐานวิจัยชี้ชัดว่าอาหารพืชเป็นหลักช่วยป้องกันและพลิกผันโรคสมองเสื่อมระดับเบาได้ระดับหนึ่ง แต่เราไม่ควรหวังพึ่งอาหารเพียงอย่างเดียว ควรใช้การเปลี่ยนอาหารควบคู่ไปกับการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตอย่างอื่นในลักษณะให้เกิดการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตอย่างสิ้นเชิง (total lifestyle modification) ซึ่งรวมถึง
1. อาหารพืชเป็นหลัก (Plant-based nutrition)
2. ออกกำลังกาย (Exercise)
3. จัดการปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือด (CV risks mngt)
4. ทำกิจกรรมท้าทายสมอง (Brain challenging)
5. นั่งสมาธิ (Meditation)
ขอบคุณครับ ผมจะส่งหน้าจอกลับไปให้คุณชาชินเพื่อเข้าสู่ช่วงถามตอบ..Please