วิธีกลั่นกาแฟดำกับการเพิ่มระดับโคเลสเตอรอลในเลือด
ภาพวันนี้: ฟักมากก็ไม่ดี ผมปลูกฟักไว้แค่ต้นเดียว แต่มันออกลูกมากเกินไปจนเก็บแจกไม่ทัน มันปีนขึ้นไปบนต้นมะกอกอัฟริกันซึ่งเป็นไม้สูงใหญ่แล้วน้ำหนักของพวกมันก็ดึงจนต้นมะกอกหักลง
...........................................
สวัสดี คะ คุณหมอ
สอบถามคะ ว่ากาแฟสด (กาแฟดำ) ที่กลั่นออกมา จากเครื่อง ไม่ใส่ ครีม,นม และน้ำตาล จะทำไขมันในเลือดสูงไหมคะ
ขอบคุณ มากคะ
....................................................
ตอบครับ
1. ถามว่าในภาพรวมกาแฟ (ดำ) มีความสัมพันธ์กับโคเลสเตอรอลในเลือดไหม ตอบว่ามีครับ ผ่านสารที่เป็นน้ำมันในกาแฟเรียกว่า diterpenes เช่น cafestol น้ำมันในกาแฟนี้มีทั้งในกาแฟแบบธรรมดาและกาแฟแบบปลอดกาแฟอีน (decaffeinated) ด้วย
งานวิจัยกลไกของความสัมพันธ์นี้พบว่าน้ำมันในกาแฟอาจจะไปลดกรดน้ำดีและไปจับกับสเตอรอลซึ่ง ยังผลให้มีโคเลสเตอรอลเหลือถูกดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือดได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเพิ่มโคเลสเตอรอลจากกาแฟนี้เป็นการเพิ่มในระดับเล็กน้อยและขึ้นอยู่กับ (1) วิธีชงกาแฟ (2) ปริมาณที่ดื่มแต่ละวัน และ (3) พันธุกรรมในการเผาผลาญสารในกาแฟของแต่ละคนด้วย
2. ถามว่ากาแฟที่ชงแบบกลั่นออกมาจากเครื่องหยดแหมะๆหรือชงผ่านเครื่องกรองจะเพิ่มโคเลสเตอรอลในเลือดไหม ตอบว่าไม่เพิ่มครับ เพราะงานวิจัยปริมาณ cafestol ในกาแฟที่กลั่นแบบต่างๆพบว่ากาแฟผงสำเร็จ (Instant coffee) และกาแฟกลั่นแบบหยด (drip-brewed) และกาแฟที่กลั่นแบบผ่านแผ่นกรอง มีปริมาณ cafestol น้อยมากจนตัดทิ้งได้ ไม่ต้องไปห่วงว่ากาแฟจะมีผลอะไรกับโคเลสเตอรอลในเลือด
แต่หากกลั่นแบบเอสเพรสโซ่ก็จะมีปริมาณ cafestol ปานกลาง น้ำมันในกาแฟจะออกมามากเป็นพิเศษในกรณีทำกาแฟด้วยวิธีให้ผงกาแฟสัมผัสกับน้ำขณะกลั่นนานๆ เช่นเครื่องกลั่นแบบ French press จะให้ cafestol มากที่สุด หรือถ้าต้มกาแฟตรงๆเลยแบบตุรกีหรือแบบสแกนดิเนเวียก็จะมี cafestol สูงเช่นกัน
งานวิจัยพบว่าหากดื่มกาแฟที่กลั่นแบบ French press (ซึ่งให้ปริมาณ cafestol สูง) วันละ 5 แก้ว จะทำให้ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น 6-8% ซึ่งอาจมีความหมายสำหรับคนที่เป็นโรคไขมันในเลือดสูงอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมสำหรับคนทั่วไป กาแฟไม่มีความสัมพันธ์ใดๆกับการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
ในอีกด้านหนึ่งกาแฟมีความสัมพันธ์ในทางดีกับโรคบางโรคเช่นเบาหวานประเภทที่ 2 โรคตับ โรคพาร์คินสัน โรคซึมเศร้า หมายความว่าการดื่มกาแฟสัมพันธ์กับการเป็นโรคเหล่านี้น้อยลง
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Sun Ha Jee, Jiang He, Lawrence J. Appel, Paul K. Whelton, II Suh, Michael J. Klag. Coffee Consumption and Serum Lipids: A Meta-Analysis of Randomized Controlled Clinical Trials. American Journal of Epidemiology2001;153 (4):353–362, https://doi.org/10.1093/aje/153.4.353
2. Gross G, Jaccaud E, Huggett AC. Analysis of the content of the diterpenes cafestol and kahweol in coffee brews. Food and Chemical Toxicology 1997;35(6):547-554
3. Baylor College of Medicine. "How Coffee Raises Cholesterol." ScienceDaily. ScienceDaily, 15 June 2007. <www.sciencedaily.com/releases/2007/06/070614162223.htm>.