ตั๊กม้อ เหลียงวู่ และอายตนะที่เจ็ด
คำว่า "อายตนะ" ผมเองก็ไม่รู้ว่าเป็นภาษาอะไร รู้แต่ว่าแปลว่ามันเป็นตัวรับ (sensor) ที่จะรับรู้สิ่งเร้า (stimuli) เช่นหูเป็นอายตนะรับสิ่งเร้าที่เข้ามาในรูปของเสียง คำว่าอายตนะนี้ในภาษาอังกฤษคนอื่นจะใช้คำว่าอะไรก็ช่างเขาเถอะ แต่ผมขอใช้คำแบบให้ตัวผมเองเข้าใจว่า sensor ก็แล้วกัน
วิทยาศาสตร์สอนว่าคนเรามีอายตนะ 5 อย่างคือ ตา (รับภาพ) หู (รับเสียง) จมูก (รับกลิ่น) ลิ้น (รับรส) ผิวหนัง (รับสัมผัส)
ไสยศาสตร์ หรือศาสตร์อะไรก็ไม่รู้ สอนเพิ่มเติมว่ามีอายตนะอย่างที่ 6 คือใจของเราเอง ด้านหนึ่งมันทำหน้าที่เป็นตัว sensor รับรู้สิ่งเร้าคือ "ความคิด" และ "ความรู้สึก" ในใจของเราได้ด้วย
มาถึงตอนนี้มีหกอายตนะแล้วนะ คือตา หู จมูก ลิ้น ผิวหนัง และใจ
ในแง่ของการแพทย์ เมื่อสิ่งเร้าผ่านอายตนะเข้ามามันจะถูกแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้าส่งมาตามเส้นประสาทเข้ามาสู่สมอง ตรงนี้สามารถวัดและบันทึกได้ว่าเกิดเรื่องอย่างนี้จริงๆ เรื่องราวต่อจากนั้นคือไปถึงสมองแล้ววัดต่อไม่ได้แล้ว บันทึกไม่ได้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นได้ด้วยกลไกอย่างไร เป็นเรื่องพ้นวิทยาศาสตร์ไปแล้ว รู้แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ
1. สัญญาณไฟฟ้าที่มาจากสิ่งเร้านั้นถูกแปลงเป็นภาษาในช่วงเวลาสั้นแค่สายฟ้าแลบ ว่าสิ่งเร้านั้นมันคืออะไร เรียกว่าอะไร
2. สัญญาณที่ถูกแปลงเป็นภาษาแล้วถูกเทียบเคียงกับข้อมูลความจำ (ซึ่งไม่รู้ว่าเก็บไว้ที่ไหน) เพื่อสร้างเป็นคลิปสั้นๆบอกเรื่องราวประกอบให้ชัดขึ้น ว่าสิ่งเร้านี้มันเป็นหน้าเก่าหรือหน้าใหม่ มันมาดีหรือมาร้าย
3. คลิปสั้นๆนั้นส่งผล (โดยไม่ทราบกลไก) ต่อสองทาง คือต่อร่างกาย และต่อใจ ให้เกิดเป็นความรู้สึก (feeling) ขึ้น
ความรู้สึกทางร่างกายออกมาในรูปของการเต้นของหัวใจ การหายใจ การหดตัวหรือขยายตัวของหลอดเลือด การเกร็งหรือคลายตัวของกล้ามเนื้อ การเกิดความรู้สึกต่างๆเช่นวูบวาบเย็นร้อนอ่อนแข็งบนผิวกาย รวมทั้งการเกิดอาการเจ็บปวดขึ้นตรงที่ต่างๆของร่างกาย
ความรู้สึกทางใจออกมาในรูปของความรู้สึกชอบ หรือไม่ชอบ แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่ออกมาในรูปเฉยๆ คือจะว่าชอบก็ไม่ใช่ จะว่าไม่ชอบก็ไม่ใช่ ทั้งหมดนี้ยังไม่มีความคิดอะไรต่อยอดนะ เป็นแค่ความรู้สึกชอบไม่ชอบแค่นั้น
ความรู้สึกทางกายและทางใจบอกไม่ได้ว่าอะไรเกิดก่อน เอาเป็นว่าอาจเกิดขึ้นพร้อมๆกันก็แล้วกัน
4. หลังจากนั้นจึงจะเกิดความคิดขึ้นมาต่อยอด เช่นถ้าชอบก็คิดอยากได้ (ความหวัง) ไม่ชอบก็คิดอยากหนี (ความกลัว) ความคิดนี้ล้วนถูกชงขึ้นมาจากสำนึกว่าเป็นบุคคล (identity) ซึ่งประกอบขึ้นจากกลุ่มความคิด (concept) มากมายหลายชุด ร้อยเรียงกันเป็นตุเป็นตะว่าตัวเรานี้เป็นบุคคลมีตัวตนชื่อนั้นชื่อนี้เป็นคนอย่างนั้นอย่างนี้
ความสนใจของคนเรามีธรรมชาติชอบไปขลุกอยู่กับความคิดตลอดเวลา ทำให้เรา "อิน" หรือ "จม" อยู่ในความคิดที่ว่าเรานี้เป็นบุคคลคนหนึ่งกำลังเผชิญกับสิ่งเร้าที่มาดีต่อเราบ้าง มาร้ายต่อเราบ้าง อย่างนั้นอย่างนี้
แต่ท่านสังเกตเห็นอะไรไหม ทำไมมนุษย์จึงรู้ละว่ามีกลไกการรับรู้อย่างที่เล่ามานี้เกิดขึ้นเป็นขั้นๆเป็นฉากๆจากตั้งแต่เริ่มมีสิ่งเร้าเข้ามาทางอายตนะทั้ง 6 จนกลายมาเป็นความรู้สึก แล้วกลายมาเป็นความคิดต่อยอด แสดงว่าต้องมีความสามารถรับรู้หรืออายตนะ (sensor) อีกตัวหนึ่งคอยรับรู้การดำเนินของกลไกเหล่านี้สิใช่ไหม ไม่งั้นจะรู้ได้อย่างไร จะเอาอะไรมาเป็นตัวรับรู้
แต่ว่าผมไม่เห็นมีใครเคยพูดถึงอายตนะอีกตัวนี้เลย ผมจึงขอตั้งชื่อให้ซะเองเป็นชื่อใหม่ที่ไม่เคยมีใครได้ยินว่าเป็น "อายตนะที่ 7" ก็แล้วกัน ซึ่งผมใช้หมายถึงสิ่งที่ผมเรียกบ่อยๆว่า "ความรู้ตัว" นั่นแหละ
ย้ำอีกทีนะว่าความรู้ตัวเป็นอายตนะ คือเป็น sensor ที่เป็นทั้งความตื่นและความสามารถรับรู้ในขณะเดียวกัน ถ้าเราถอยความสนใจผลุบลึกเข้ามาจากเดิมที่ขลุกอยู่กับความคิดที่ชงขึ้นมาจากสำนึกว่าเป็นบุคคล คราวนี้ถอยลึกเข้ามา เอาความสนใจมา "จ่อ" หรือ "จุ่ม" หรือ "แช่" อยู่กับความรู้ตัวอันเป็นอายตนะตัวที่ 7 นี้แทน เราจะเห็นความแตกต่างอย่างหนึ่ง คือที่ตำแหน่งของอายตนะที่ 7 นี้มันไม่มีผลประโยชน์เชื่อมโยงเกี่ยวพันหรือ "ดอง" อะไรกับสำนึกว่าเป็นบุคคลอันเป็นเรื่องราวที่ใจเรากุขึ้น มันเป็นจุดที่ใช้นั่งสังเกตให้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามที่มันเป็นได้ดีนัก เห็นร่างกายของเรา เห็นความคิดของเรา เหมือนเราไม่เคยรู้จักตัวเรามาคนนี้ก่อน
การปักหลัก "จุ่ม" อยู่ตรงอายตนะที่ 7 นี้มันเป็นความมหัศจรรย์หรือสนุกสนานยิ่งกว่าดูซีรี่เกาหลีซะอีกนะ เพราะเราได้เห็นผู้มาเล่นบทบาท "บุคคล" คนนี้ว่ามันช่างขยันผลัดหน้ากันขึ้นมาใหญ่ไม่เว้นแต่ละนาที บ้างก็ตบตีกันกว่าจะขึ้นมาได้ เปรียบเหมือนเรากำลังนั่งดูอาณาจักรเล็กๆที่ประชาชนแย่งกันขึ้นมานั่งบัลลังก์เป็นกษัตริย์ แต่ว่าอย่างเก่งก็อยู่ได้คนละไม่กี่นาทีก็จะถูกคนอื่นวางระเบิด ยิง แทง หรือลากลงจากบัลลังก์ เพื่อเขาคนถัดไปนั้นจะขึ้นมาใหญ่บ้าง เป็นอย่างนี้แทบจะทุกนาที
หรือเปรียบเหมือนคฤหาสน์เศรษฐี ที่เจ้าของบ้านเดินทางไปค้าขายหลายเดือนแล้วไม่กลับมา จะตายไปแล้วหรือเปล่าก็ไม่รู้ พวกขี้ข้าในบ้านทุกคนไม่เว้นแม้แต่คนสวน แม่ครัว คนถูพื้น ต่างก็ถือเป็นโอกาสโรมรันฟันตูแก่งแย่งกันขึ้นมาเป็นเจ้านายเพื่อจะได้จิกหัวใช้คนอื่นบ้างโดยไม่มีใครยอมใคร ดูเรื่องแบบนี้แล้วจะไม่ให้สนุกกว่าดูหนังซีรี่เกาหลีได้อย่างไร
และที่ผมว่ามันเป็นความมหัศจรรย์ก็ตรงที่เมื่อเรามองออกมาจากส่วนลึกสุดคืออายตนะที่ 7 นี้ สิ่งที่เราจะเห็นตำตาไม่ใช่ภาพเสียงสัมผัสนะ เพราะนั่นมันอยู่ไกลออกไปเกือบถึงข้างนอก เราแทบไม่เห็นมันเลยหรือถึงเห็นเราก็แทบไม่ได้สนใจ เพราะตอนนี้เราอยู่ข้างใน สิ่งที่เห็นคืออะไรที่ผลัดกันโผล่ขึ้นมาในใจ มันมากันถี่และหลากหลายมาก ถี่เสียจนเราในฐานะผู้ชมกระพริบตาไม่ได้เลย ต้องตื่นตัวไว้ตลอดเวลา เราเดาไม่ได้หรอกว่าอีกหนึ่งวินาทีข้างหน้าอะไรจะมา มันมาได้สาระพัดแบบ แม้แต่ความตายหากมาก็คงจะมาโผล่ที่ตรงนี้ เรายามนี้จึงเหมือนคนเล่นเทนนิสที่ถึงตาต้องรับลูกเสริฟ มันต้องตื่นตัวเตรียมพร้อมทำแข้งขาให้สั่นพร้อมเคลื่อนไหวไว้ตลอดเวลาไม่งั้นลูกมาแล้วจะตีไม่ทัน
ณ ที่ตรงนี้ ผมลองปักหลักให้ความสนใจกับสิ่งที่จะโผล่ขึ้นมาในใจอย่างจริงจัง แค่สนใจอย่างจริงจังนะ จริงจังสุดๆ absolute attention ไม่ไปพิพากษาหรือตัดสินหรือสรุปอะไร เพราะหากพิพากษาหรือตัดสิน ภาพของสิ่งที่สังเกตเห็นนั้นก็จะถูกตีกรอบให้แคบลงตามคอนเซ็พท์หรือคำตัดสินทันที เช่นหากผมมองดูลูกน้องคนหนึ่ง แล้วผมบอกตัวเองว่าเธอเป็นผู้หญิง อะไรที่ผมควรจะเห็นนอกเหนือจากการเป็นผู้หญิงผมจะไม่ได้เห็นเสียแล้ว เพราะบทสรุปของผมไปบังเอาไว้ ดังนั้นเมื่อสังเกตออกมาจากอายตนะที่ 7 ผมไม่ตัดสินไม่สรุปอะไร แค่สนใจแต่สนใจอย่างจริงจังชนิดที่ไม่ว่อกแว่กเลย แล้วผมก็ได้ประสบการณ์เพิ่มมาอีกอย่างหนึ่งว่าความสนใจของเรานี้ หากเราสนใจอะไรจริงจังมันจะแหลมคมยิ่งขึ้นๆๆๆๆ จนเจาะให้เราเห็นอะไรๆของสิ่งนั้นได้มากอย่างอะเมซซิ่งทิงนองนอยเลยเชียว
เขียนมาถึงตรงนี้ขออนุญาตแวะเล่าถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระภิกษุชื่อตั๊กม้อโจ้วซือกับกษัตริย์เหลียงวู่ เรื่องมีอยู่ว่าตั๊กม้อโจ้วซือซึ่งเป็นพระจากอินเดียใช้เวลาหลายปีเดินทางกว่าจะไปถึงไปจีน กษัตริย์เหลียงวู่รู้ว่ามีพระอรหันต์มาก็นิมนต์พระมาหาแล้วถามว่า
"ตัวฉันเองนี้วันๆมีแต่ทุกข์จากความคิดในหัวเรื่องราชการบ้านเมืองไม่หยุดหย่อนไม่รู้จะออกไปจากความคิดได้อย่างไร"
ตั๊กม้อบอกว่าวันพรุ่งนี้ให้ไปหาที่วัดตอนตีห้า ไปคนเดียว อย่าเอาทหารไปด้วย
เหลียงวู่ก็ไปตามสัญญา ตั๊กม้อออกมารับถึงหน้าประตูวัด หิมะตกขาวโพลนไปหมด ตั๊กม้อซึ่งเป็นคนแขกสูงใหญ่หัวล้านและตาโปนถือไม้เท้ายาวใหญ่ ได้เงื้อไม้เท้าขึ้นสูง ทำท่าจะตีหัวเหลียงวู่ และบอกว่า
"ถ้าความคิดมันมาให้มหาบพิตรรีบร้องว่าฮ้า แล้วอาตมาจะฟาดความคิดนั้นให้ตายคามือ"
เหลียงวู่ดูท่าทางพระแขกนี่คงจะเป็นบ้าไปเสียแล้ว แต่ก็ไม่กล้าเบี้ยว เพราะอยู่กันสองต่อสองและพระแขกแกตัวสูงใหญ่แถมท่าทางแกก็ดุเอาเรื่อง จึงพยักหน้าแล้วเริ่มมองหาความคิด ตั้งใจ ตื่นตัว เปิดอายตนะ ระแวดระไว รออยู่อย่างไม่ให้คลาดแม้เพียงวินาทีเดียวว่าถ้าความคิดแรกโผล่มาจะต้องร้องฮ้าให้ทันให้ได้
ตื่นตัวอย่างยิ่ง ระแวดระวังอย่างยิ่ง ตั้งตามองหาความคิดอยู่ตั้งแต่ตะวันขึ้นถึงตะวันตก ความคิดก็ยังไม่โผล่มาให้เห็น ตั๊กม้อจึงบอกว่ามันคงไม่มาแล้ว กลับกันเถอะ คืนนั้นเหลียงวู่กลับมานอนวังด้วยจิตใจที่โปร่งโล่งทั้งคืน เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ทั้งวันผ่านไปโดยไม่มีความคิดเลย
วิธีหลุดพ้นจากความคิด ทำกันง่ายๆแบบเรื่องเล่านี้เองแหละ คือถอยลึกเข้าไปเสียยิ่งกว่าความคิด แล้วสังเกตออกมาจากมุมนั้นซึ่งไม่มีผลประโยชน์ได้เสียอะไรด้วยกับความคิด สังเกตดูเหล่าความคิดที่จะโผล่ขึ้นมา ถ้าพวกมันมาก็ดูพวกมันไปในฐานะผู้ชม ถ้าพวกมันไม่มาก็อยู่อย่างตื่นตัวและพร้อมรับรู้ระแวดระวัง ขอแค่สนใจจริงจัง absolute attention ทำอย่างนี้เรื่อยไปความคิดก็จะหมด ผลพลอยได้คือขณะที่เฝ้าดูอย่างสนใจจริงจังที่เดี๋ยวนี้อยู่นั้น อายตนะก็จะยิ่งแหลมคมขึ้น เดี๋ยวนี้ก็จะกลายเป็นโมเมนต์ที่มีชีวิตชีวามีพลัง จนเห็นอะไรได้มากกว่าที่เคยเห็น รู้อะไรมากกว่าที่เคยรู้ ซึ่งจะนำไปสู่การทำอะไรเพื่อยังประโยชน์ให้โลกและผู้อื่นได้เต็มศักยภาพมากกว่าที่ตัวเองเคยทำได้
ปล. วัดนั้นก็คือวัดเสี่ยวลิ่มยี่ (ตั๊กม้อโจ้วซือเป็นเจ้าอาวาสวัดเสี่ยวลิ่มยี่)
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์