จะกินอาหาร plant-based เพื่อรักษาหัวใจเต้นรัว (AF) ได้ไหม


ภาพประจำวัน: มื้อกลางวันวันนี้ สลัดหมอสันต์ ..เหมียนเดิม กินมาสิบกว่าปีไม่มีเบื่อ เพราะวัตถุดิบไม่เคยเหมือนเดิม สุดแล้วจะมีอะไรเหลืออยู่ใกล้มือ โปรดสังเกตหน้านี้มันเทศและอะโวกาโดจากตลาดมวกเหล็กมีสีสันน่ากินเชียว

.............................................


เรียนคุณหมอสันต์ที่นับถือ

อายุ 59 ปีค่ะ เป็น AF ตรวจพบในการตรวจร่างกายประจำปี ตรวจหัวใจอย่างอื่นปกติ แพทย์ให้กินยา warfarin 3 mg แล้วมีปัญหามาก เพราะแพทย์ห้ามกินผักและผลไม้เพราะจะทำให้ยาไม่ทำงาน แต่หนูอยากกินอาหารแบบ plant-based แบบที่คุณหมอแนะนำจะได้ไหม จะมีผลต่อ AF อย่างไร

ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

...................................................................................... 

ตอบครับ

     ประเด็นที่ 1. ถามว่ากินอาหารแบบ plant-based คือกินพืชผักผลไม้ถั่วนัทมากๆแบบมังหรือเจ จะรักษาหัวใจห้องบนเต้นรัว (AF) ได้ไหม ตอบว่ายังไม่ทราบครับ เพราะหลักฐานวิจัยเรื่องนี้ตรงๆที่จะตอบคำถามคุณได้แบบจะจะ..ยังไม่มี ผมเคยนั่งฟังหมอผู้หญิง(ฝรั่ง) คนหนึ่งเล่าในการประชุมวิชาการแพทย์นานาชาติว่าเธอทดลองรักษาผู้ป่วย AF ด้วยอาหารแบบกินพืชเป็นหลักแล้วได้ผลดี แต่จนแล้วจนรอดผมก็ไม่เห็นเธอตีพิมพ์งานวิจัยของเธอในวารสารการแพทย์ให้อ้างอิงได้สักที 

     แต่ผมมีข้อเสนอแนะ (ไม่ใช่หลักฐาน) ว่าการกินอาหารพืชเป็นหลักน่าจะเป็นผลดีในการป้องกันและรักษาหัวใจห้องบนเต้นรัวแบบ AF เพราะอาหารพืชเป็นหลักใช้รักษาปัจจัยเสี่ยงที่เป็นเหตุชักนำให้เกิด AF ได้เกือบทุกรายการตั้งแต่ โรคหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว อ้วน เบาหวาน ความดันเลือดสูง เป็นต้น อาหารพืชเป็นหลักใช้รักษาโรคต้นเหตุเหล่านี้ได้หมด นอกจากนั้นอาหารพืชเป็นหลักยังลดกระบวนการอักเสบในร่างกาย (วัดด้วยดัชนี CRP) ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ชอบพบร่วมกับ AF ลงได้ด้วย 

     แล้วอย่าลืมว่าหลักวิชาแพทย์ในการรักษา AF มีสี่อย่างนะ คือ (1) ควบคุมจังหวะการเต้น (rhythm) (2) ควบคุมอัตราการเต้น (rate) (3) ใช้ยากันเลือดแข็ง (4) จัดการปัจจัยเสี่ยง ซึ่งก็คือทุกโรคที่ผมจาระไนไปแล้วนั่นแหละ การที่อาหารพืชเป็นหลักรักษาโรคเหล่านั้นได้ ก็เท่ากับว่าการกินอาหารพืชเป็นหลักเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันและรักษา AF ด้วย 

     ส่วนงานวิจัยดูความสัมพันธ์ตรงๆระหว่างอาหารพืชเป็นหลักกับอุบัติการณ์ของ AF นั้นตอนนี้ยังไม่มี ต้องรอไปจนกว่าจะมีคนทำวิจัยแล้วตีพิมพ์ให้เป็นเรื่องเป็นราว ถ้ามีผมจะเอามาเล่าให้ฟัง

     ประเด็นที่ 2 กินยากันเลือดแข็ง (warfarin) แล้วห้ามกินผักผลไม้ หิ หิ นี่คุณฟังมาผิดแล้วนะ เรื่องของเรื่องคือยา warfarin ออกฤทธิ์ต้านวิตามินเค.ซึ่งเป็นปัจจัยช่วยการแข็งตัวของเลือด แล้ววิตามินเค.นี้เราได้มาจากอาหารพืชผักผลไม้ มนุษย์เราขาดวิตามินเค.ไม่ได้ เพราะขาดแล้วตายจากเลือดไหลไม่หยุด อย่างไรเสียเราก็ต้องกินพืชผักผลไม้แล้วปรับขนาดยากันเลือดแข็งตามให้พอดีกันโดยการเจาะเลือดดูบ่อยๆ การปรับยานี้จะทำใด้ง่ายหากการกินพืชผักผลไม้ของเรากินอย่างสม่ำเสมอ มากก็มากทุกวันให้สม่ำเสมอ หากบางช่วงกินมาก บางช่วงกินน้อย การปรับยาตามจะทำได้ยาก ดังนั้นกินยากันเลือดแข็งแล้วให้กินผักผลไม้มากๆได้แต่ขอให้กินสม่ำเสมอทุกวัน อย่ากินมากบ้างน้อยบ้าง

     ประเด็นที่ 3 สมัยนี้มันมียาที่ดีกว่า warfarin นะ เช่นยา dabigatran ซึ่งมีความดีกว่ายา warfarin ทุกประเด็นไม่ว่าจะเป็นความง่ายในการใช้และผลข้างเคียงที่ต่ำกว่า ยกเว้นไม่ดีอย่างเดียวคือราคาแพงกว่า ยานี้มีกลไกการออกฤทธิ์ที่ไม่เกี่ยวกับวิตามินเค. ไม่ต้องคอยเจาะเลือดดูบ่อยๆ ถ้าคุณมีเงินผมแนะนำว่าให้ขอหมอเขาเปลี่ยนยา warfarin เป็นยา dabigatran เสียดีกว่า แต่ถ้าไม่มีเงิน ก็ไม่ต้องเปลี่ยน เพราะ warfarin เบิกสามสิบบาทประกันสังคมได้ แต่ dabigatran เบิกไม่ได้ เพราะมันยังแพงอยู่มาก หากคุณอยากใช้คุณขอหมอใช้ได้ แต่ว่าคุณต้องออกเงินเองนะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี