นอนไม่หลับทำให้เป็นความดันสูงได้ไหม
ถนนในหมู่บ้านดารดาษไปด้วยสีแดง |
...........................................
กราบเรียนคุณหมอสันต์
ผมชื่อ... อายุ 31 ปี มีปัญหาความดันเลือดสูง 180/100 แพทย์ตรวจทุกอย่างทั้งคอมพิวเตอร์ต่อมหมวกไตและเจาะเลือดดูฮอร์โมนต่างๆก็ไม่พบสาเหตุ ผมไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล ทำงานเป็นวิศวกร ก็มีความเครียดบ้างตามประสาแต่ก็ไม่มากอะไร แต่ผมมักมีปัญหาเข้านอนแล้วหลับยาก นานเป็นชั่วโมงกว่าจะหลับได้ ผมอยากทราบว่าการนอนไม่หลับนี้เป็นสาเหตุของความดันเลือดสูงได้ไหม ถ้าได้ผมควรจะแก้ปัญหาเรื่องนอนไม่หลับนี้อย่างไร จะหาน้ำมันกัญชามากินดีไหม
ป่าไม้น้อยๆบนสนามหญ้าของเพื่อนบ้าน |
...............................
ตอบครับ
1. ถามว่านอนไม่หลับทำให้เป็นความดันสูงได้ไหม ตอบว่าได้อย่างแน่นอนครับ มีงานวิจัยที่จะตอบคำถามนี้ได้ตรงๆซึ่งตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Psychosomatic Medicine โดยเอาคน 300 มาติดเครื่องวัดความดันแบต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืน โดยตอนกลางคืนก็ติดเครื่องวัดประสิทธิภาพการนอนหลับแบบผูกข้อมือด้วย และพบว่าคนที่นอนไม่หลับตอนกลางคืน จะมีความดันเลือดสูงในวันรุ่งขึ้น รวมทั้งคนที่ความดันสูงที่สุดของกลุ่มก็เป็นคนที่นอนไม่หลับเมื่อคืนที่ผ่านมา
ต้นเบาบับ จากเท่านิ้วก้อยโตขึ้นใหญ่กว่าคน |
ก่อนหน้านี้วงการแพทย์มีหลักฐานมานานแล้วว่าการนอนไม่หลับทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมากขึ้น ทำให้เกิดอัมพาตเฉียบพลันมากขึ้น งานวิจัยนี้ทำให้เชื่อมโยงได้ว่าสาเหตุอาจจะเป็นเพราะการนอนไม่หลับทำให้ความดันกระตุกขึ้นในวันถัดไปนี่เอง
2. ถามว่าจะแก้ปัญหานอนไม่หลับในคนอายุน้อยได้อย่างไร ตอบว่าไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ การแก้ปัญหานอนไม่หลับก็เหมือนกันหมด คือต้องปฏิบัติสุขศาสตร์ของการนอนหลับ (sleep hygiene) ซึ่งผมสรุปให้ฟังดังนี้
(1) เข้านอนเป็นเวลา
(2) การไม่นอนกลางวันยาวๆ
(3) การปรับห้องนอนให้ เรียบ เงียบ มืด เย็น
(4) การไม่ทำงานในห้องนอน ไม่กินของว่างหรือคุยในห้องนอน
(5) ไม่เอาสิ่งกระตุ้นเช่น ทีวี โทรศัพท์ ไลน์ เฟซ นาฬิกาปลุก ไว้ในห้องนอน
(6) อุ่นเครื่องก่อนนอนด้วยการหยุดกิจกรรมตื่นเต้น 30 นาทีก่อนนอน พักอริยาบท หยุดความคิดให้หมดแล้วค่อยเข้านอน
(7) ไม่ทานอาหารมื้อใหญ่ใน 3 ชม.ก่อนนอน
(8) ออกกำลังกายหนักพอควรทุกวัน
(9) ออกแดด ยิ่งแดดจัดยิ่งดี เพราะแดดช่วยจัดรอบการปล่อยฮอร์โมนช่วยการนอนหลับให้สมอง
(10) งดกาแฟและยาที่ทำให้นอนไม่หลับ
(11) ทำสมาธิวางความคิดให้หมดก่อนนอน
3. ถามว่าจะไปหากัญชามากินดีไหม ตอบว่าการกินยา ไม่ว่าจะกินยาอะไร ควรสงวนไว้เป็นมาตรการขั้นสุดท้ายเมื่อการปรับสุขศาสตร์ของการนอนหลับไม่ได้ผลแล้ว และหากจะใช้ยาก็ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 6 เดือน อย่าไปจับคำพูดของหมอที่พูดให้สบายใจว่ายานั้นยานี้กินแล้วไม่ติด ที่หมอเขาบอกไม่ติดคือไม่ติดทางกาย (physical dependent) แบบว่าไม่ได้กินแล้วจะลงแดง แบบนั้นไม่ติด แต่การติดยานอนหลับทางใจ (psychological dependent) เกิดขึ้นในทุกกรณีที่กินยาประจำ แม้กระทั่งยาแก้แพ้หรือยาแก้ปวดก็ทำให้ติดยาทางใจได้
การปฏิบัติสุขศาสตร์ของการนอนหลับรับประกันว่าได้ผลแน่นอนหากทำจริง ผมยังไม่เคยเห็นผู้ป่วยที่ปรับสุขศาสตร์ของการนอนหลับจริงจังครบทุกข้อแล้วยังไม่ได้ผล ยังไม่เคยเห็นสักราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อที่ให้ทำสมาธิวางความคิดให้ได้หมดก่อนนอนนั้นเมื่อทำจนถึงวางความคิดได้จริงแล้วก็นอนหลับได้ทุกราย
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Caroline Y. Doyle, John M. Ruiz, Daniel J. Taylor, Joshua W. Smyth, Melissa Flores, Jessica Dietch, Chul Ahn, Matthew Allison, Timothy W. Smith, Bert N. Uchino. Associations Between Objective Sleep and Ambulatory Blood Pressure in a Community Sample. Psychosomatic Medicine, 2019; 1 DOI: 10.1097/PSY.0000000000000711