ปัจจัยเสี่ยงเป็นอัมพาต กลัวอัมพาตกันทั้งบ้านแล้ว

คุณหมอสันต์คะ

คุณแม่เป็นอัมพาตมาสามเดือนแล้ว เดือดร้อนกันทุกคน เดี๋ยวนี้ทุกคนในบ้านกลัวเป็นอัมพาตกันมากที่สุด อยากถามคุณหมอว่าปัจจัยเสี่ยงของการเป็นอัมพาตที่มีผลอย่างแท้จริงมีอะไรบ้าง

ภรณ์
..............................

ตอบครับ

สมาคมโรคหัวใจและสมาคมอัมพาตอเมริกัน (AHA/ASA) ได้ทบทวนหลักฐานวิทยาศาสตร์แล้วออกคำแนะนำค.ศ. 2010 แก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหลาย ถึงปัจจัยเสี่ยงของการเป็นอัมพาต ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารอัมพาต (Stroke) เมื่อเดือนธค. 53 โดยแบ่งปัจจัยเสี่ยงเป็นสามกลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1. ปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขแล้วจะลดความเสี่ยงได้มากชัดเจน ได้แก่
(1) ความดันเลือดสูง
(2) เป็นเบาหวาน
(3) สูบบุหรี่ หรือดมควันบุหรี่
(4) หัวใจห้องบนเต้นรัว (AF) หรือเป็นโรคหัวใจบางชนิด
(5) ไขมันในเลือดสูง
(6) หลอดเลือดแคโรติดที่คอ ตีบ
(7) เป็นโรคโลหิตจางชนิด sickle cell
(8) กินยาฮอร์โมนทดแทนหลังประจำเดือนหมด
(9) โภชนาการไม่ถูกต้อง
(10) ไม่ออกกำลังกาย
(11) อ้วน
(12) ลงพุง

กลุ่มที่ 2. ปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขแล้วจะลดความเสี่ยงได้บ้างแต่ไม่ชัดเจน ได้แก่
(1) เป็นเมตาโบลิกซินโดรม
(2) ดื่มแอลกอฮอล์มาก
(3) ติดยา
(4) กินยาคุมกำเนิด
(5) เป็นโรคนอนกรน
(6) เป็นไมเกรน
(7) มีโฮโมซีสเตอีนในเลือดสูง
(8) มี lipoprotein(a) ในเลือดสูง
(9) เลือดแข็งตัวง่าย
(10) มีการอักเสบในร่างกาย
(11) มีการติดเชื้อในร่างกาย

กลุ่มที่ 3. ปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขไม่ได้เลย ได้แก่
(1) อายุมาก
(2) เพศหญิง
(3) เชื้อชาติจีน
(4) มีกรรมพันธุ์เป็นอัมพาตกันมากในครอบครัว

การจัดการปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มที่ 1 มีผลลดการเป็นอัมพาตได้ถึง 80% จึงเป็นวิธีป้องกันการเป็นอัมพาตที่ดีที่สุดชนิดที่ไม่มียาชนิดใดทำได้ เรียกว่าถือเป็นกฎได้เลยว่า ถ้าไม่อยากเป็นอัมพาต ต้องป้องกันด้วยวิธีลดปัจจัยเสี่ยงเท่านั้น ยากินป้องกันที่ได้ผลดีเท่า ไม่มี

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Goldstein LB, Bushnell CD, Adams RJ, Appel LJ, Braun LT, Chaturvedi S, Creager MA, Culebras A et.al. on behalf of the American Heart Association Stroke Council, Council on Cardiovascular Nursing, Council on Epidemiology and Prevention, Council for High Blood Pressure Research, Council on Peripheral Vascular Disease, and Interdisciplinary Council on Quality of Care and Outcomes Research. Guidelines for the Primary Prevention of Stroke. A Guideline for Healthcare Professionals From the American Heart Association/American Stroke Association. Stroke. 2010 ; Published online before print December 2, 2010, doi: 10.1161/STR.0b013e3181fcb238

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี