27 เมษายน 2567

เป็นน้ำตาลในเลือดต่ำแล้ว..สยอง

(กรณีอ่านจากเฟซบุ้ค กรุณาคลิกภาพข้างล่าง)

กราบเรียนคุณหมอสันต์

ดิฉันอายุ 55 ปีเป็นเบาหวานมา 12 ปี กินยา glucophage และ dapagliflozin มีอยู่วันหนึ่งนิมนต์พระมาทำบุญที่บ้านแล้วดิฉันไม่มีอาการหิวหรือมือสั่นเลยแต่มีอาการมึนงงสับสน จนสามีบอกว่าใจเย็นและให้กินเป๊บซี่อาการจึงดีขึ้น วันต่อมาสามีเล่าว่าว่าดิฉันพูดอะไรไม่ดีและด่าพระด้วยคำที่ฟังไม่ได้ไปหลายคำซึ่งฟังแล้วสยอง จะว่าดิฉันเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำก็ไม่ใช่เพราะก่อนหน้านั้นไม่ถึงครึ่งชั่วโมงเจาะน้ำตาลในเลือดยังได้ 125 อยู่เลย ดิฉันเคยเป็นแบบนี้มาก่อนครั้งหนึ่ง อยากขอความรู้คุณหมอเรื่องน้ำตาลในเลือดต่ำว่าอย่างนี้ใช่ไหม มันมีกลไกอย่างไร ร่างกายรับมือกับมันอย่างไร และดิฉันจะดูแลตัวเองอย่างไรได้บ้าง

ขอบคุณค่ะ

…………………………………….

ตอบครับ

1.. ถามว่าอยากมีความรู้เรื่องน้ำตาลในเลือดต่ำไว้ใช้เพราะต่ำบ่อย ตอบว่าศาสตร์ของน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) นี้หลักวิชามันมีอยู่นิดเดียว คุณจดใส่กระดาษไว้ต้มกินได้เลย กล่าวคือสิทธิการิยะท่านว่าเมื่อใดที่มีเหตุการณ์สามอย่างมาบรรจบกัน คือ

(1) ผู้ป่วยมีอาการของระบบประสาทซิมพาเทติก (หิว ใจสั่น เหงื่อแตก มื่อสั่น กระวนกระวาย) และ/หรือ อาการทางสมอง (มึนงงสับสน พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง เปลี้ย ชัก โคม่า ตาย..เด๊ดสะมอเร่)

(2) เมื่อเจาะดูน้ำตาลในเลือดทันที แล้วพบว่าต่ำกว่า 70 mg/dL

(3) ครั้นรักษาโดยให้กินกลูโค้ส (หรือของหวานหรือผลไม้) หากรู้ตัวดี หรือโดยฉีดเด็กซโตรส (5-20%) ขนาด 5-20 กรัมเข้าหลอดเลือดดำทันทีกรณีไม่รู้ตัว แล้วอาการดีขึ้นทันที

ทั้งสามอย่างนี้เรียกว่า Whipple’s Triad เป็นเกณฑ์หลักและเกณฑ์เดียวในการวินิจฉัยภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ไม่มีหลักวิชาอื่นใดซับซ้อนกว่านี้ ทั้งนี้ให้สนใจตรรกะของภาษาด้วยนะเพราะพวกหมอนี้ก็เป็นพวกเดียวกับคนชนิดที่ร่ำๆจะเป็นทนายความเสียเองสักวัน คือให้สนใจคำว่า และ/หรือ กล่าวคืออาการของระบบประสาทอัตโนมัติกับอาการทางสมองอันใดอันหนึ่งหรือทั้งสองอันก็เป็นน้ำตาลในเลือดต่ำได้ทั้งนั้น

2.. ถามว่าเจาะเลือดก่อนหน้านัันไม่กี่นาทีน้ำตาลในเลือดยังปกติอยู่เลย จะเป็นน้ำตาลในเลือดต่ำได้หรือ ตอบว่าได้ เพราะสถิติบอกว่าในผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นมานานแล้ว ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกิดขึ้นได้แม้ระดับน้ำตาลในเลือดปกติ8 ซึ่งเรียกภาวะนี้ว่า pseudohypoglycemia วิธีรักษาก็ยังคงต้องรักษาเหมือนกัน

3.. ถามว่าน้ำตาลในเลือดต่ำซ้ำซากนี้เกิดจากอะไรได้บ้าง ตอบว่าในผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ยาอยู่ เกือบร้อยทั้งร้อยมันเกิดจากยา พูดง่ายๆว่าหมอพยายามจะเอาน้ำตาลในเลือดลงให้ได้ตามเกณฑ์ลูกเดียว เรื่องนี้ผมเองเจียมเนื้อเจียมตัวขอไม่พูดอะไรมาก เพราะผมเป็นหมอทั่วไป แม้จะมีหน้าที่รักษาโรคเบาหวานด้วยก็พึงโฟกัสงานแต่ของตนที่เน้นที่การเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อให้โรคหาย ไม่ใช่เอาคานเข้าไปสอดเรื่องที่คนอื่นเขาทำกันอยู่ แต่เรามีหลักฐานมากพอที่จะสรุปว่าการมุ่งเอาน้ำตาลลงด้วยยาโดยยังกินอาหารแบบเดิมมีข้อเสียมากกว่าข้อดี งานวิจัย ACCORD พบว่าย่านน้ำตาลเลือดหลังอดอาหาร (FBS) ที่คนไข้ตายน้อยที่สุดคือ 150-180 มก./ดล ซึ่งเทียบได้กับน้ำตาลสะสมในเม็ดเลือด 7.0-7.5% และงานวิจัย VADT พบว่าการมุ่งลดน้ำตาลให้ได้ตัวเลขสวยๆทำให้ผู้ป่วยเกิดจุดจบที่เลวร้ายของโรคหัวใจหลอดเลือดมากกว่ากลุ่มที่คุมน้ำตาลไม่อยู่12 เนื่องจากโบราณว่ามากหมอก็มากความ คุณในฐานะผู้ป่วยต้องใช้ดุลพินิจเอาเองว่าจะเชื่อใคร คือตัวผมแนะนำว่าคุณควรมุ่งหน้าเปลี่ยนอาหารมากินพืชเป็นหลักแล้วลดหรือเลิกการกินยาลดน้ำตาลในเลือดไปเสีย ยอมรับน้ำตาลในเลือดที่สูงไม่เกิน 180 มก./ดล ผมพูดอย่างนี้หมอเบาหวานเขาร้องจ๊าก ผมจึงต้องใส่เอกสารอ้างอิงไว้ท้ายบทความเพียบเพื่อให้แพทย์ที่ไม่เห็นด้วยกับผมได้ศึกษาก่อนว่าผมไปเอาอะไรมาพูด ซึ่งการทำอย่างนี้ท้ายที่สุดอาจทำให้หมอเรากันเองอาจพูดกันรู้เรื่องมากขึ้น

พูดถึงสาเหตุที่ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำสาเหตุอื่นก็มี เช่น หลังการดื่มแอลกอฮอล์หลายวัน การขาดฮอร์โมนคอร์ติซอล มีเนื้องอกตับอ่อน มีการป่วยวิกฤติ มีการขาดหรืออดอาหาร (fasting hypoglycemia) (ซึ่งพบได้น้อยมากในคนที่ตับยังดีอยู่)

4.. ถามว่ากลไกที่ร่างกายรับมือกับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำนี้เป็นอย่างไร ตอบว่า โห… นี่ก่อนจะไปทำฟันคุณต้องรู้เรื่องฟันให้ได้เท่าหมอฟันเลยเหรอ แต่เอาเถอะ ถามมาก็ตอบไป ร่างกายป้องกันน้ำตาลในเลือดต่ำโดยสี่กลไกตามลำดับก่อนหลัง คือ

ขั้นก่อนน้ำตาลจะต่ำ ร่างกายจะสร้างน้ำตาลใหม่ (gluconeogenesis) ขึ้นมาจากโมเลกุลอาหารไม่ว่าจะเป็นคาร์บ โปรตีน หรือไขมัน หากน้ำตาลยังไม่พอใช้ก็จะไปสสลายไกลโคเจนออกมาเป็นน้ำตาลเพื่อใช้ (glucogenolysis) เมื่อหมดอีกก็จะเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งจะเกิดเรื่องต่อไปเป็นขั้นๆดังนี้

ขั้นที่ 1. ร่างกายลดการปล่อยอินสุลินลงทันที่ที่พบว่าระดับกลูโค้สต่ำลง

ขั้นที่ 2. เซลตับอ่อนปล่อยกลูคากอน (ซึ่งเป็นฮอร์โมนคู่แฝดช่วยงานอินสุลินแต่เกี่ยวกับระดับน้ำตาล) ออกมาแทน

ขั้นที่ 3. ถ้าน้ำตาลยังต่ำอยู่ ต่อมหมวกไตจะหลั่งฮอร์โมนอีพิเนฟริน ซึ่งทำให้เกิดอาการระบบประสาทอัตโนมัติขาเร่ง เช่นใจสั่น มือสั่น กระวนกระวาย7

ขั้นที่ 4. ถ้าทั้งสามกลไกก่อนหน้านี้ล้มเหลวและน้ำตาลในเลือดต่ำอยู่นาน โกรทฮอร์โมนและะคอร์ติซอลจะถูกหลั่งออกมา

5. ข้อนี้คุณไม่ได้ถาม แต่ผมแถมให้ คือคนบางคนเพิ่งกินอาหารมื้อหนักไปแหม็บๆ แล้วไม่นานก็เกิดอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ (postpandrial hypoglycemia) ทั้งนี้เป็นเพราะอาหารที่กินเป็นน้ำตาลและแป้งขัดสีซึ่งกระตุ้นอินสุลินให้หลั่งมากทันที จนน้ำตาลถูกจับยัดเข้าไปในเซลล์หมดแล้วแต่อินสุลินยังเหลืออยู่จึงเกิดน้ำตาลต่ำเกินไป วิธีแก้ก็คืออย่าไปกินอาหารที่มีน้ำตาลหรือแป้งขัดขาวมาก ควรกินอาหารที่เรียกรวมๆว่า complex carbohydrate เช่นผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี ซึ่งมีกากมากตามธรรมชาติแทน

ยังมีอีกพวกหนึ่งไปออกกำลังกายแล้วเกิดอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ (post exercise hypoglycemia) เพราะไม่ได้กินอาหารตุนไว้ก่อนไปออกกำลังกาย เมื่อร่างกายใช้พลังงานอย่างเร็วน้ำตาลในเลือดจึงลดลงเร็ว วิธีแก้ก็คือก่อนออกกำลังกายหนักๆควรวางแผนกินอาหารล่วงหน้าให้พอดี และควรพกอะไรหวานๆกินง่ายๆไว้ในกระเป๋าด้วย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

………………………………………..

บรรณานุกรม

1..Koch CA, Petersenn S. Black swans – neuroendocrine tumors of rare locations. Rev Endocr Metab Disord. 2018 Jun;19(2):111-121.

2..Marks V, Teale JD. Drug-induced hypoglycemia. Endocrinol Metab Clin North Am. 1999 Sep;28(3):555-77. [PubMed]

3..Daughaday WH. Hypoglycemia due to paraneoplastic secretion of insulin-like growth factor-I. J Clin Endocrinol Metab. 2007 May;92(5):1616. [PubMed]

4..Dardano A, Daniele G, Lupi R, Napoli N, Campani D, Boggi U, Del Prato S, Miccoli R. Nesidioblastosis and Insulinoma: A Rare Coexistence and a Therapeutic Challenge. Front Endocrinol (Lausanne). 2020;11:10. [PMC free article] [PubMed]

5..Cryer PE. Hypoglycemia in type 1 diabetes mellitus. Endocrinol Metab Clin North Am. 2010 Sep;39(3):641-54. [PMC free article] [PubMed]

6..Donnelly LA, Morris AD, Frier BM, Ellis JD, Donnan PT, Durrant R, Band MM, Reekie G, Leese GP., DARTS/MEMO Collaboration. Frequency and predictors of hypoglycaemia in Type 1 and insulin-treated Type 2 diabetes: a population-based study. Diabet Med. 2005 Jun;22(6):749-55. [PubMed]

7..Cryer PE. Hypoglycemia in diabetes: pathophysiological mechanisms and diurnal variation. Prog Brain Res. 2006;153:361-5. [PubMed]

8..Lee KT, Abadir PM. Failure of Glucose Monitoring in an Individual with Pseudohypoglycemia. J Am Geriatr Soc. 2015 Aug;63(8):1706-8. [PMC free article] [PubMed]

9..La Sala L, Pontiroli AE. New Fast Acting Glucagon for Recovery from Hypoglycemia, a Life-Threatening Situation: Nasal Powder and Injected Stable Solutions. Int J Mol Sci. 2021 Sep 30;22(19) [PMC free article] [PubMed]

10..Isaacs D, Clements J, Turco N, Hartman R. Glucagon: Its evolving role in the management of hypoglycemia. Pharmacotherapy. 2021 Jul;41(7):623-633. [PubMed]

11..Action to Control Cardiovascular Risk in Diabetes Study Group. Gerstein HC, Miller ME, Byington RP, Goff DC, Bigger JT, Buse JB, Cushman WC, Genuth S, Ismail-Beigi F, Grimm RH, Probstfield JL, Simons-Morton DG, Friedewald WT. Effects of intensive glucose lowering in type 2 diabetes. N Engl J Med. 2008 Jun 12;358(24):2545-59. [PMC free article] [PubMed]

12..Duckworth W, Abraira C, Moritz T, Reda D, Emanuele N, Reaven PD, Zieve FJ, Marks J, Davis SN, Hayward R, Warren SR, Goldman S, McCarren M, Vitek ME, Henderson WG, Huang GD., VADT Investigators. Glucose control and vascular complications in veterans with type 2 diabetes. N Engl J Med. 2009 Jan 08;360(2):129-39. [PubMed]

13..Plečko D, Bennett N, Mårtensson J, Bellomo R. The obesity paradox and hypoglycemia in critically ill patients. Crit Care. 2021 Nov 01;25(1):378. [PMC free article] [PubMed]

14..Shukla L, Reddy S, Kulkarni G, Chand PK, Murthy P. Alcohol Dependence, Hypoglycemia, and Transient Movement Disorders. Prim Care Companion CNS Disord. 2019 Jan 03;21(1) [PubMed]

15..Yadav RS, Pokharel A, Gaire D, Shrestha S, Pokharel A, Pradhan S, Kansakar PBS. Multiple Endocrine Neoplasia Type 1 with Concomitant Existence of Malignant Insulinoma: A Rare Finding. Case Rep Endocrinol. 2021;2021:8842667. [PMC free article] [PubMed]

16..Bromiker R, Perry A, Kasirer Y, Einav S, Klinger G, Levy-Khademi F. Early neonatal hypoglycemia: incidence of and risk factors. A cohort study using universal point of care screening. J Matern Fetal Neonatal Med. 2019 Mar;32(5):786-792. [PubMed]

17.. Action to Control Cardiovascular Risk in Diabetes (ACCORD) Study Group, Gerstein HC, Miller ME, Byington RP, Goff DC, Jr., Bigger JT, et al. Effects of intensive glucose lowering in type 2 diabetes. N Engl J Med. 2008;358(24):2545-59. doi: 10.1056/NEJMoa0802743.

…………………………………………….

[อ่านต่อ...]

25 เมษายน 2567

คุณหมอรักษาความงาม อยากได้หลักฐานเรื่องอาหารคีโต

(ภาพวันนี้ / ยืนหยัดบานแม้จะสุดร้อนและสุดแล้ง)

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่าง)

กราบเรียนอาจารย์สันต์ที่เคารพ

หนูได้ฟังเล็กเชอร์ของอาจารย์ในชั้นเรียน Lifestyle Medicine ที่ … แล้วมีความประทับในผลงานทางวิชาการของอาจารย์มาก ตอนนี้หนูทำคลินิกความงาม ผู้ป่วยของหนูส่วนใหญ่มีปัญหาน้ำหนักเกิน ตัวหนูเองนอกจากอยากจะช่วยเขาให้ลดน้ำหนักได้เร็วแล้วยังอยากให้เขามีสุขภาพดีในระยะยาวด้วย คือให้เขาสวยด้วย health จากข้างใน ผู้ป่วยของหนูชอบอาหารคีโต แต่อาจารย์บอกว่าอาหารคีโตมีปัญหาต่อสุขภาพในระยะยาว หนูพยายามจะหา reference ที่เชื่อถือได้ตามวิธีกลั่นกรองหลักฐานที่อาจารย์สอนเพื่อเอาไปคุยกับคนไข้แต่หาไม่พบ หนูรบกวนอาจารย์ยืนยันให้หนูหน่อยว่าคีโคทำให้ LDL สูงจริงหรือเปล่า และทำให้สุขภาพระยะยาวเสียจริงหรือเปล่า

ขอบพระคุณค่ะ

……………………………………………….

ตอบครับ

1.. ถามว่าอาหารคีโต (กินไขมันซึ่งส่วนใหญ่เป็นไขมันจากเนื้อสัตว์มาก) ทำให้ไขมันเลว (LDL) ในเลือดเพิ่มขึ้นจริงไหม ตอบว่ามีงานวิจัยที่ดีระดับสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบที่ตอบคำถามนี้ตรงๆได้แล้ว งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients ซึ่งเอาคนมาสองกลุ่มจับฉลากกินอาหารคีโตกับอาหารปกติแล้วเจาะเลือดดู LDL เปรียบเทียบกันพบว่ากลุ่มที่กินอาหารคีโคมี LDL สูงกว่ากลุ่มควบคุมแน่นอนครับ

2.. ถามว่ามีหลักฐานดีๆไหมว่ากินอาหารแบบคีโตแล้วจะทำให้เป็นโรคหัวใจหลอดเลือดในระยะยาวมากขึ้นจริง ตอบว่าหลักฐานที่ดีเพิ่งตีพิมพ์ในวารสารวิทยาลัยโรคหัวใจอเมริกัน (JACC) เมื่อปี 2024 นี้เอง เป็นการวิจัยจากฐานข้อมูล UKBB ของอังกฤษซึ่งมีผู้ป่วย 502,546 ผู้วิจัยอ้างว่าเป็นการวิจัยแบบ prospective cohort study ที่มีระยะติดตาม 11 ปี แต่แท้จริงแล้วเป็น retrospective match case control study ที่เอาข้อมูลมาคัดแยกปัจจัยกวนย้อนหลัง โดยนิยามว่าคนกินอาหารที่ได้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรตต่ำกว่า 25% และได้พลังงานจากไขมันสูงกว่า 45% เป็นพวก LCHF หรือ Keto diet หมด ผลวิจัยพบว่ามีคนกินอาหารเข้าเกณฑ์นี้ 305 คน แล้วเอาข้อมูลไปเทียบกับคนกินอาหารปกติที่เพศและอายุใกล้เคียงกันอีก 1220 คน พบว่ากลุ่มกินอาหารคีโคมีดัชนีมวลกายสูงกว่า (26.7 vs 27.7) มีไขมันเลว (LDL และ apoB) สูงกว่า และเมื่อแยกปัจจัยกวนที่แยกได้เช่น เบาหวาน ความดัน อ้วน สูบบุหรี่ ออกไปหมดแล้ว พบว่ากลุ่มกินอาหารคีโตเกิดจุดจบที่เลวร้ายของโรคหัวใจหลอดเลือดเช่น กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อัมพาต หัวใจล้มเหลว การต้องเข้ารักษาตัวในรพ. และตาย มากกว่ากลุ่มควบคุม (9.8% vs 4.3%) คือมากกว่ากันประมาณเท่าตัว และพบว่ายิ่งไขมัน LDL สูงก็ยิ่งเกิดจุดจบที่เลวร้ายมาก

ทั้งนี้แม้ผมจะบอกว่าเป็นหลักฐานที่ดีที่เรามี แต่อย่าลืมว่ามันก็เป็นเพียง retrospective study นะ ซึ่งเป็นหลักฐานระดับต่ำ หลักฐานระดับสูงกว่านี้เรายังไม่มี คุณหมอต้องใช้ดุลพินิจให้ดีเวลาใช้หลักฐานนี้แนะนำผู้ป่วย

เนื่องจากผู้ป่วยของคุณหมอเป็นพวกคนมีเงินรักสวยรักงามขณะเดียวกันก็อยากมีชีวิตอยู่นานๆ ผมแนะนำว่าควรสนับสนุนอาหารอะไรก็ได้ (รวมทั้งคีโต) ที่ผู้ป่วยถนัดในการลดน้ำหนักในระยะหนึ่งปีแรก เมื่อลดน้ำหนักได้ผลดีมีกำลังใจแล้วค่อยๆใส่แนวคิดการกินอาหารป้องกันโรคเรื้อรังในระยะยาวและค่อยๆชวนให้เพิ่มสัดส่วนของพืชให้มากขึ้น ให้ใช้คอนเซ็พท์ spectrum ของการเปลี่ยนแปลงตนเอง อย่าไปหักด้ามพร้าด้วยเข่า เพราะคนรักสวยรักงามยังไงเขาก็จะไม่เชื่อคุณหมอหากเขาคิดว่ามันจะทำให้เขาไม่สวยไม่งามทันใจ

อีกอย่างหนึ่งในการใช้วิชาชีพแพทย์ทำคลินิกความงาม อย่าไปเฮโลสาละพาไปกับข้อมูลใหม่ๆซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะและพาคนไข้วนเวียนอยู่ในอ่างของข้อมูลสมัยนิยมและศัพท์แสงใหม่ๆต่างๆ ผมไม่ต่อต้านการที่แพทย์เราจะสาละวนอยู่กับการจะขายวิตามิน อาหารเสริม และหัตถการความงามต่างๆเพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่ายส่วนตัวบ้าง แต่ยุทธศาสตร์ระยะยาวคือควบคู่กับการทำมาหากินตามสไตล์ปกติแล้ว ผมแนะนำให้คุณหมอเกาะติดอยู่กับแก่นกลางของวิชาแพทย์แผนปัจจุบันที่เน้นว่าทุกอย่างควรสอดคล้องกับคอนเซ็พท์ทางสรีรวิทยา หลักฐานวิทยาศาสตร์ และการส่งเสริมวิถีชีวิตที่ทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด และการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว แล้วมันจะเป็น win-win คือคุณหมอก็ทำมาหากินได้ ผู้ป่วยก็ได้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Burén J, Ericsson M, Damasceno NRT, Sjödin A. A Ketogenic Low-Carbohydrate High-Fat Diet Increases LDL Cholesterol in Healthy, Young, Normal-Weight Women: A Randomized Controlled Feeding Trial. Nutrients. 2021 Mar 2;13(3):814. doi: 10.3390/nu13030814. PMID: 33801247; PMCID: PMC8001988.
  2. Iatan, I, Huang, K, Vikulova, D. et al. Association of a Low-Carbohydrate High-Fat Diet With Plasma Lipid Levels and Cardiovascular Risk. JACC Adv. null2024, 0 (0) .
[อ่านต่อ...]

22 เมษายน 2567

เปลี่ยนยาหัวใจแล้วไฉนปัสสาวะขัดเฉียบพลัน

(ภาพวันนี้ / ความพยายามจะบริการนกในหน้าร้อนล้มเหลว เพราะใส่วันเดียวน้ำแห้ง และน้ำร้อนจี๋)

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่าง)

เรียนคุณหมอสันต์

ผมมีอายุ 69 ปี ต่อมลูกหมากโต ปัสสาวะไหลช้า กินยา alpha blocker และ beta blocker หลายปี ปัสสาวะดีขึ้น ไหลช้าระดับที่ยอมรับได้ ต่อมลูกหมากลดขนาดลง ผมรักษาโรคหัวใจล้มเหลวด้วย ที่รพ. …. เมื่อสัปดาห์ก่อนหมอเปลี่ยนยาหัวใจแล้วผมมีอาการปัสสาวะไม่ออก จึงกลับไปหาหมอว่ามันเกิดจากยาใหม่ใช่ไหม หมอบอกว่าไม่เกี่ยวเพราะมันเป็นยากลุ่มเดียวกัน อยากปรึกษาคุณหมอสันต์ว่าเหตุที่ทำให้ผมปัสสาวะไม่ออกมันเกิดจากอะไรได้บ้างครับ และผมควรจะทำอย่างไรต่อไป

ขอบพระคุณครับ

……………………………………………………….

ตอบครับ

เหตุที่คนเป็นโรคต่อมลูกหมากโตจะปัสสาวะไม่ออกทันทีทันใด (acute urine retention) มีได้หลายอย่างดังนี้

สาเหตุที่ 1. ในกรณีของคุณมีโอกาสมากที่สุดที่จะเกิดจากการเปลี่ยนยา เพราะยารักษาต่อมลูกหมากโตกลุ่มที่คุณเรียกว่า blocker นั้นเป็นยาต้านระบบประสาทอัตโนมัติ (sympathetic blocker) ซึ่งระบบซิมพาเทติกนี้มีตัวรับยาอยู่สองตัว คือตัวรับอัลฟา กับตัวรับเบต้า ที่ต่อมลูกหมากถ้าเรากระตุ้นอัลฟามันจะบีบกล้ามเนื้อปิดทางเดินปัสสาวะทำให้ปัสสาวะยาก ถ้ากระตุ้นเบต้ามันจะคลายกล้ามเนื้อนั้นทำให้ปัสสาวะง่าย ดังนั้นการใช้ยารักษาต่อมลูกหมากต้องบล็อกหรือกั้นอัลฟา ไม่ใช่ไปกั้นเบต้า แต่ยากั้นเบต้าบางตัวเช่น carvadiol มีฤทธิ์กั้นอัลฟ่าเป็นฤทธิ์เด่นอยู่ด้วย หมอจึงใช้รักษาต่อมลูกหมากโตได้ หากการเปลี่ยนไปใช้ยากั้นเบต้าตัวอื่นทั่วๆไป เช่น bisoprolol จะมีแต่ฤทธิ์กั้นเบต้า ไม่มีฤทธิ์กั้นอัลฟ่า ซึ่งจะมีผลทำให้กล้ามเนื้อคุมทางเดินปัสสาวะยิ่งหดตัว ทำให้ยิ่งปัสสาวะไม่ออกมากเสียยิ่งกว่าอยู่เปล่าๆไม่กินยาอะไรเสียอีก เพราะแม้จะเป็นยากลุ่มเดียวกันแต่ฤทธิ์ในขั้นละเอียดมันไม่เหมือนกัน

สาเหตุที่ 2. เกิดการด้านยา (drug tolerance) เพราะยาที่ระบบประสาทอัตโนมัติเป็นระบบที่ชำนาญในการต่อต้านแข็งขืนหรือแข่งกับยาที่กินเข้าไปสู้กับมัน หากกินยาต้านระบบนี้นานไประบบจะปรับตัวสู้ทำให้ด้านยา ไม่ใช่ดื้อนะ ด้าน หมายความว่ากินมากๆกินนานๆแล้วไม่ออกฤทธิ์ พอเลิกกินไปสักพักแล้วกลับมากินใหม่ ก็จะกลับออกฤทธิ์ได้ใหม่อีก ซึ่งการจะแก้ปัญหานี้มักต้องจบลงด้วยการเอาที่ออกฤทธิ์ผ่านกลไกอื่นเช่นยาต้านฮอร์โมนเพศชายที่ออกฤทธิ์ลดขนาดของต่อมลูกหมากลง มากินควบกับยากั้นอัลฟ่า

สาเหตุที่ 3. ก็คือมีเหตุร่วมฉุกเฉินอื่นๆ เช่นนิ่วหลุดจากข้างบนของทางเดินปัสสาวะลงมาอุดข้างล่าง

สาเหตุที่ 4. ก็คือกลไกการทำงานของระบบประสาทที่ควบคุมกระเพาะปัสสาวะเสียไป (neurogenic bladder) เช่นเป็นผลจากเบาหวาน ติดเชื้องูสวัด เป็นต้น หรือได้ยาที่บล็อกการทำงานกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ (anticholinergic drug) เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปในกรณีของคุณให้เพ่งเล็งแก้ไขสาเหตุที่ 1 ก่อน โดยควรกลับไปคุยกับหมอใหม่ ถ้าหมอเขาไม่ยอมหยุดยาคุณก็เปลี่ยนหมอหรือหยุดยาซะเอง ในกรณีที่คิดจะเปลี่ยนหมอผมแนะนำว่าปัญหาระดับฉี่ไม่ออกนี้ควรไปหาหมอยูโร (urologist) ซึ่งเผอิญว่าจะมีอยู่แต่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่เท่านั้น แต่มันก็คุ้มค่าที่คนที่มีปัญหาเฉพาะด้านอย่างคุณจะบากบั่นไปหาหมอเฉพาะทางด้านนี้อย่างน้อยสักหนึ่งครั้ง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

19 เมษายน 2567

จดหมายจากคุณหมอใหม่ อย่าเอะอะก็..ขอลาออก

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่าง)

สวัสดีค่ะอจ.

ก่อนอื่นหนูต้องขอบคุณอาจารย์ที่ครั้งหนึ่งบทความของอาจารย์ (ตั้งแต่ปี2017) เรื่องนักศึกษาแพทย์เรียนไม่เก่งอาการร่อแร่ในอินเตอร์เนต ช่วยเป็นกำลังให้หนูอดทนเรียนแพทย์ศาสตร์จนครบ 6 ปี ด้วยอาศัยความอดทน แม้ว่าสุดท้ายเราจะรู้สึกว่ามันไม่ค่อยเหมาะกับเรา ทำให้เกิดความเครียดมากพอสมควร

      ตอนนี้หนูมาใช้ทุนรัฐบาลที่รพชแห่งหนึ่งค่ะ หนูพยายามตั้งใจดูคนไข้เท่าที่จะทำได้และไม่ harm คนไข้ หนูไม่เคยมีปัญหาทะเลาะกับเพื่อนร่วมงาน หรือพี่ๆพยาบาล คนไข้หายกลับบ้านเราก็รู้สึกดีค่ะ หากสิ่งไหนไม่แน่ใจพยายามคอนเซาท์ขอความเห็นสตาฟ ซึ่งส่วนใหญ่ปัจจุบันอาจารย์ดีๆรับปรึกษา แต่สิ่งที่ทำให้หนูรู้สึกเหนื่อยเบื่อและอยากลาออกทุกวันไม่ใช่คนไข้แต่กลับเป็นคำตำหนิต่างๆที่รุนแรงพอสมควรจากสตาฟบางท่านเวลาคอนเซาท์ ที่เราต้องเจอและรับฟังตลอดโดยเลี่ยงไม่ได้ ฟังมาตั้งแค่สมัยเอกเทิร์นจนถึงตอนนี้ ทุกครั้งเราบอกกับตัวเองว่าช่างมันปล่อยผ่านไป แต่สุดท้ายมันก็โดนว่าจากการปรึกษาเคสอื่นๆที่เข้ามาอย่างหลากหลาย อาจจะไม่ได้เจอทุกวัน ทำให้พอโดนว่าบ่อยครั้งเข้า ถึงเวลาขึ้นเวรเราก็ไม่อยากอยู่ กลัว หรือกังวล วนเป็นวัฏจักร หนูจึงคิดอยากจะลาออกหากพอมีช่องทาง แต่ ณ ขณะนี้อาจจะต้องทนอยู่ไปก่อน อยากขอคำแนะนำอจในการรับมือกับความรู้สึกหรือเหตุการณ์แบบนี้ค่ะ หรือว่าสิ่งที่หนูเจอมันอาจจะเป็นสิ่งที่ intern ทุกคนเจอมาตลอดก็ไม่แน่ใจ อยู่รพชที่หมอน้อย4-5คนก็รู้สึกขาดแคลนจริง
แต่แรกหนูตั้งใจใช้ทุนให้ครบ 3 ปี แต่โดนว่าบ่อยๆจากสตาฟและก็คิดว่าคงต้องมีโอกาสได้โดนอีกจึงคิดว่าอยากจะลาออกแล้วจริงๆในทุกๆวันเลยค่ะ ทั้งๆที่ความตั้งใจแรกของเราอยากจะทำงานในรพชให้ครบใช้ทุน เราสามารถมีวิธีคิดหรือมุมมองอื่นๆที่พอจะช่วยมากกว่าการปล่อยวางหรือช่างมันมั้ยคะ
ขอโทษด้วยหากข้อความนี้รบกวนอาจารย์นะคะขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

………………………………………………………..

ตอบครับ

1.. เรียนจบแพทย์มาเป็นหมอได้แล้ว นี่เป็นผลงานยืนยันความอึดของตัวเองอย่างดีเยี่ยม ทุกครั้งที่รู้สึกว่าจะทนอะไรไม่ได้ ให้คิดถึงว่าเรามี tract record ที่ดีเยี่ยมนะ วิชาเวชศาสตร์การเปลี่ยนวิถีชีวิตเขาเรียกว่าเทคนิค evocation คือการปลุกพลังของตัวเองด้วยการชี้ให้ตัวเองเห็น tract record ของจริงที่ตัวเองทำได้มาแล้ว ว่านี่ไง เรามีอดีตที่ทำอะไรสำเร็จมาแล้วนะ ให้คุณหมอหัดใช้เทคนิคนี้บ่อยๆ มันจะทำให้ชีวิตมีพลังที่จะเดินหน้า ไม่เอะอะก็จะต๊อแต๊หดหู่ลูกเดียว

2.. เครื่องมือปลุกพลังชีวิตในอาชีพหมออีกอย่างหนึ่งคือ “เมตตาธรรม” อย่างที่คุณหมอพูดไว้นั่นแหละว่าเมื่อรักษาคนไข้แล้วเขาหายกลับบ้านเราก็สุขใจ ความรักหรือเมตตาธรรมนี้มันเป็นแหล่งกำเนิดความเบิกบาน (joyful) เมื่อได้ให้อะไรแก่ใครโดยไม่หวังอะไรตอบแทนกลับมาสำเร็จแล้ว ให้คุณหมอเอามือขวาทาบที่หน้าอกซ้ายหายใจเข้าลึกๆ รับรู้ความปลื้มปิติที่เป็นพลังงานแผ่สร้านทั่วตัวเรา หัดทำอย่างนี้บ่อยๆความเป็นหมออาชีพมันจะค่อยๆซึมลึกจนแน่นปึ๊ก..ก หมายความว่าชีวิตเราจะมีรสชาติดีๆ จนใครเอาสะเต๊กมาแลกก็ ไม่ย้อม..ม

3.. ด้านหนึ่งของเมตตาธรรมคือความปลาบปลื้มหรือ joyful ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีปีไม่มีขลุ่ยอย่างที่ผมว่าแล้ว อีกด้านหนึ่งของมันคือมันจะทำให้เราค่อยเกิดความยินยอมพร้อมใจที่จะให้อภัยแก่ชีวิตอื่นโดยอัตโนมัติ อุปมาเวลาเรารักษาคนไข้เด็กตัวเล็กๆที่ถูกเลี้ยงมาแบบดุๆ บางครั้งเด็กกัดมือเราเข้า เราไม่โกรธเด็กเลย ถูกแมะ เพราะเรามีเมตตาและให้อภัยแก่เด็กน้อยไร้เดียงสา ดังนั้น อุปไมย เวลาถูกรุ่นพี่เขากัดเอา มันก็ไม่ต่างกันดอก ให้คุณหมอทำแบบเดียวกัน แผ่เมตตา ให้อภัย คิดเสียว่าเขาเป็นเด็กโข่งที่ไม่เดียงสาในการจะเป็นพี่ที่ดี อย่าไปบ่มความโกรธขึ้งว่าเขามาเหยียบอัตตาเรา นั่นเป็นวิธีทำร้ายตัวเอง

พูดถึงตรงนี้ขอนอกเรื่องหน่อย วันหนึ่งอยู่ๆโทรศัพท์มือถือผมก็มีหน้าตาของผู้หญิงประเภทที่สองสวยมากคนหนึ่งโผล่ขึ้นมาทำปากพูดอะไรขมุบขมิบแต่ไม่ได้ยินเสียง ผมจึงคลิกเข้าไปฟัง แล้วก็ต้องอมยิ้มเพราะเธอพูดว่า

“รู้นะ ว่าการให้อภัยเป็นทานสูงสุด แต่….ไม่ให้ “

หิ หิ คุณหมออย่าไปเอาอย่างเธอเข้านะ การบ่มความโกรธหรือหงุดหงิดไว้ คนได้รับผลเสียคือตัวเราเอง ให้อภัยเขาไปซะแบบง่ายๆเราก็ดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุขแล้ว

4.. ขึ้นชื่อว่ารุ่นพี่หรือสต๊าฟล้วนมีหลายแบบ มันเป็นธรรมชาติของชีวิตที่ต้องมีความหลากหลายทางชีวภาพ บ้างเป็นคนบูดมาแต่กำเนิด บ้างมีปัญหาชีวิตตัวเองที่แก้ไม่ตกจึงเหวี่ยงความทุกข์ของตัวเองไปทั่ว บ้างมีอัตตาแยะเสียจนเห็นคนอื่นโง่กว่าตัวเองไปหมด บ้างขี้เกียจที่จะรับรู้และแก้ปัญหาใดๆจึงใช้วิธีด่าทุกครั้งเวลารุ่นน้องเอาปัญหามาให้ช่วยแก้เพื่อให้น้องมันกลัวจะได้ไม่เอาปัญหามาคอนซัลท์อีก บ้างวางฟอร์มว่ามีความรู้แต่กลัวคนอื่นรู้ความจริงว่าไม่มีความรู้จึงสงวนคำปรึกษาราวกับว่ามันเป็นของแพงสุดๆ ที่ว่ามานี้ท่านผู้อ่านท่านอื่นอย่าได้เข้าใจผิดว่าหมอรุ่นพี่ๆมีแต่แย่ๆอย่างนี้เชียวหรือ เปล่าหรอกครับ คนในอาชีพหมอมันก็เหมือนกับคนในอาชีพอื่นๆทั้งหลายนะแหละ ส่วนใหญ่เขาเป็นคนดีอย่างที่คุณหมอใหม่ท่านนี้ก็พูดมาเองว่าส่วนใหญ่ล้วนเป็นอาจารย์ดีๆคอยให้คำปรึกษา แต่มันก็มีบ้างที่จะผ่าเหล่า คุณหมอก็แค่ยอมรับเขาตามที่เขาเป็น ขณะเดียวกันก็อยู่ห่างๆเขาไว้ ถ้าจำเป็นต้องพบต้องเจอกันก็ยิ้มให้และแผ่เมตตา พลางท่องคาถาในใจว่า

“…อามิตตาภะ พุทธะ”

(หิ..หิ)

5.. ที่เพิ่งมาทำงานได้ปีสองปีแล้วคิดจะลาออกซะแล้วนั้น ผมแนะนำว่าอย่าเพิ่งลาออกเลย การได้ไปทำงานในรพช.ถือเป็นโอกาสที่ดีในชีวิตแล้วนะ ให้มองทุกเรื่องที่เข้ามาหาตั้งแต่เช้าจรดเย็นว่าเป็นเรื่องตื่นเต้นมหัศจรรย์น่าศึกษาเรียนรู้ทั้งนั้น ทั้งนี้รวมทั้งการได้ผ่านพบคนที่สมประกอบบ้างไม่สมประกอบบ้างด้วย ถ้าเจออะไรแปลกๆแบบไม่เคยเจอหน่อยก็ลาออก เอะอะก็ลาออก อย่างนี้ต้องลาออก อย่างนั้นต้องลาออก โห แล้วชีวิตนี้จะไปอยู่ที่ไหนได้ละครับ เพราะแค่เดินออกไปนอกบ้าน มนุษย์สาระพัดแบบก็รออยู่สลอนแล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

17 เมษายน 2567

บทความพิเศษสงกรานต์ 2567 เรื่องสัมพันธภาพ-ความเหงา-การปลีกวิเวก

(ภาพวันนี้ / เตรียมการมื้อเช้า วันหนึ่งในฤดูสุดร้อน)

(กรณีอ่านจากเฟซบุ้ค กรุณาคลิกภาพข้างล่าง)

ในโอกาสที่กลับมาหลังวันหยุดยาวช่วงสงกรานต์ ของดตอบคำถามหนึ่งวัน เพราะมีเหตุให้ผมอยากเขียนถึงความสำคัญของสัมพันธภาพที่ดี

สัมพันธภาพ (Connectedness)

สัมพันธภาพที่ดีทางสังคม คือภาวะที่คนรับรู้จำนวน คุณภาพ และความหลากหลายของความสัมพันธ์ที่ตนมีกับผู้อื่น ที่ก่อให้เกิดสำนึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ตนเองได้รับการเอาใจใส่ดูแล ตนเองได้รับการยอมรับว่ามีคุณค่า และตนเองได้รับการพยุงเกื้อหนุน ทั้งหมดนี้มีอิทธิพลต่อจิตใจ ร่างกาย และพฤติกรรม ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและความยืนยาวของชีวิต งานวิจัยให้ผลบ่งชี้ว่าสัมพันธภาพทางสังคมที่ดีทำให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น มีสุขภาพดีขึ้น และมีสุขภาพดีชีวีมีสุขมากขึ้น

มนุษย์เรามีธรรมชาติเป็นสัตว์สังคม การมีสัมพันธภาพที่ดีทางสังคมเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรารอดชีวิตอยู่ได้ ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงานในที่ทำงาน สมาชิกคนอื่นๆในชุมชน มีผลต่อสุขภาพและความสุขสบายของมนุษย์ได้มาก การรู้สึกว่าตนเป็นผู้ด้อยโอกาสหรือไม่ได้รับความยุติธรรมในสังคม ทำให้คนเลือกมีนิสัยที่ไม่ดีต่อสุขภาพตนเองหรือทำร้ายตนเอง หรือทำร้ายผู้อื่น งานวิจัยแกล้งเด็กโดยตัดสินการกระทำของเด็กกลุ่มหนึ่งแบบลำเอียง กับเด็กอีกกลุ่มหนึ่งตัดสินแบบเที่ยงธรรม หลังการถูกตัดสินแล้วให้เด็กเลือกกินขนมแบบดีต่อสุขภาพกับขนมหวานที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เด็กกลุ่มที่ถูกตัดสินอย่างลำเอียงจะเลือกกินขนมหวานแบบไม่ดีต่อสุขภาพมากกว่ากลุ่มเด็กที่ถูกตัดสินแบบเที่ยงตรง อีกงานวิจัยหนึ่งบ่งชี้ว่าเมื่อคนตกอยู่ภายใต้ภาวะเครียด หรือถูกบีบรัดด้วยเวลา หรือถูกบีบทางเลือกให้เหลือน้อย เขาจะเลือกกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพมากกว่าอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

เมื่อคนคนหนึ่งมีสัมพันธภาพที่ดีและที่มั่นคงทางสังคมกับคนรอบข้าง เขาหรือเธอจะแนวโน้มที่จะเลือกมีพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพตนเอง และเมื่อตรวจดูตัวชี้วัดสุขภาพต่างๆก็มักจะได้ผลว่าปกติเป็นส่วนใหญ่ คราใดที่มีความเครียด ความกังวล ซึมเศร้า เกิดความยากลำบากในชีวิต ก็มีโอกาสจะรับมือกับได้ดีกว่าคนที่ขาดสัมพันธภาพที่ดีทางสังคม เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่มีสัมพันธภาพที่ดีทางสังคมน้อยกว่า ผู้ป่วยที่มีสัมพันธภาพที่ดีทางสังคมมากกว่ามีอัตราการรอดชีวิตสูงกว่าถึง 50% ซึ่งพบความแตกต่างนี้ได้ทั้งในผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคอัมพาตเฉียบพลัน โรคสมองเสื่อม โรคซึมเศร้าและวิตกกังวล เป็นต้น

สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้ป่วย การมีสัมพันธภาพที่ดีทางสังคมช่วยให้เป็นคนเครียดยาก หากเกิดความเครียด วิตกกังวล หรือซึมเศร้า ก็ฟื้นตัวได้รวดเร็ว มีนิสัยกินเพื่อสุขภาพ ออกกำลังกาย และรักษาร่างกายไม่ให้อ้วนได้มากขึ้น นอนหลับดีขึ้น มีสุขภาพโดยรวมดีขึ้น มีสำนึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (sense of belonging) มีความสุขกายสุขใจ (wellness) มากขึ้น มีชีวิตที่มีคุณภาพมากขึ้น ลดความเสี่ยงที่จะไปก่อเหตุรุนแรงกับคนอื่น หรือที่จะฆ่าตัวตายลง ลดความเสี่ยงตายจากโรคเรื้อรังต่างๆลง และมีอายุยืนยาวขึ้น

ความเหงา (loneliness)

ความเหงา (loneliness) และการแยกตัวออกจากสังคม (social isolation) เป็นปัญหาที่พบเห็นได้ทั่วไป การสำรวจในประเทศสหรัฐฯพบว่า 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่อายุ 45 ปีขึ้นไปรู้สึกว่าตนเองตกอยู่ในความเหงา แม้ว่าเทคโนโลยีชะช่วยเชื่อมต่อผู้คนที่อยู่ห่างไกลเข้าด้วยกันมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็เป็นตัวตัดสะบั้นสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบตัว ซึ่งนำไปสู่ความเหงา ความเหงาและการแยกตัวทางสังคมก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าที่คนทั่วไปคาดคิด ทำให้อัตราป่วยและตายจากโรคต่างๆเช่นโรคหัวใจ โรคซึมเศร้า โรคสมองเสื่อม เพิ่มขึ้น

ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำที่ผมเองได้มาจากหลักฐานวิจัยเท่าที่มี ว่าการเอาชนะความเหงา ควรให้เวลา หรือลงทุนเวลาให้กับการบ่มเพาะสัมพันธภาพกับคนอื่น สำรวจค้นหาวิธีที่จะได้พบคนใหม่ๆ เช่น ไปร่วมชมรม สโมสร ไปเข้าชั้นเรียนต่างๆ แชร์สิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่แล้วมาทำร่วมกับเพื่อน เช่น การออกกำลังกาย การกินอาหาร ทำกิจกรรมใหม่ร่วมกับเพื่อน หาโอกาสที่จะได้แสดงความช่วยเหลือเกื้อกูล ความขอบคุณ ความรับผิดชอบ ต่อคนอื่น ลดการทำอะไรที่เป็นการตัดโอกาสที่จะได้มีสัมพันธภาพที่ดีกับคนอื่นลง เช่นการเฝ้าดูหน้าจอมากเกินไป เมื่อสัมพันธภาพที่ดีที่เคยมีต้องขาดสะบั้นลงไปด้วยเหตุใดก็หาทางฟื้นฟูมันขึ้นมาใหม่ด้วยจิตใจยอมรับเขาตามที่เขาเป็น ให้อภัย และเมตตา

ดุลยภาพระหว่างความเหงา (Loneliness) กับการปลีกวิเวก (Solitude)

สัญชาติญาณที่จะต้องรักษาตัวให้รอดปลอดภัย ที่ผลักดันให้มนุษย์ใส่ใจสร้างสัมพันธภาพที่ดีทางสังคม คือความเหงา (loneliness) ขณะที่การมีสัมพันธภาพที่ดีทางสังคมมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตอย่างมากมายจนปฏิเสธไม่ได้ แต่ก็ยังไม่สามารถสนองตอบความต้องการอีกอย่างหนึ่งในใจมนุษย์ คือความอยากเรียนรู้และเติบโตต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด เมื่อคลุกคลีมีปฏิสัมพันธ์กันถึงจุดหนึ่งมนุษย์ก็จะเกิดอาการ “ตีบตัน” ในแง่ของการเรียนรู้และเติบโตของตัวเองขึ้น ซึ่งสะท้อนออกมาในคำสนทนาเช่น Been there, done that คือที่ไหนที่คนเขาอวดกันว่าได้ไป ตัวเองก็ไปมาหมดแล้ว อะไรที่คนเขาอวดกันว่าได้ทำ ตัวเองก็ทำมาหมดแล้ว แต่ชีวิตก็ยังมีความต้องการเรียนรู้เติบโตต่อไปอีก โดยที่การอ่านหนังสือ การเดินทางท่องเที่ยว หรือการคลุกคลีไม่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้นั้นได้อีกต่อไป เพราะสิ่งที่จะพบได้จากการอ่าน การเดินทาง การพูดคุย ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่มีบัญญัติไว้แล้วในภาษามนุษย์ซึ่งตนเองก็ได้เรียนรู้ในประเด็นสำคัญมาจนโชกโชนและซ้ำซากแล้ว ทางเดียวที่จะได้เรียนรู้เติบโตต่อไปก็ต้องออกไปจากสิ่งซึ่งภาษามนุษย์อธิบายไม่ถึง ออกไปสู่ unknown ที่อยู่ไกลโพ้นออกไปนอกขอบเขตของภาษา

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่คนบางคนเริ่มเสาะหา การปลีกวิเวก (solitude) เพื่อไปให้พ้นความคิด ภาษา การพูดคุย ด้วยความคาดหมายว่าเมื่อพ้นกรอบของคอนเซ็พท์และความคิดออกไป “ฉัน” ซึ่งเป็นจิตสำนึกรับรู้ (consciousness) น่าจะมองเห็นรับรู้สิ่งที่เคยถูกคอนเซ็พท์ต่างๆของความคิดปิดบังอำพรางอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นคอนเซ็พท์ที่ว่าร่างกายนี้เป็น “ฉัน” ทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่ามันไม่ใช่ คอนเซ็พท์ที่ว่าความคิดนี้เป็น “ฉัน” ทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่ามันไม่ใช่ คอนเซ็พท์ที่ว่าตัวตน (identity) อันนี้เป็น “ฉัน” ทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่ามันไม่ใช่ หากฝ่าข้ามคอนเซ็พท์และความคิดเหล่านี้ไปได้หมด ชีวิตมันก็น่าจะโปร่งโล่งไม่ตีบตันอีกต่อไปในแง่ของการเรียนรู้และเติบโต เพราะฉันที่เป็นอิสระจากร่างกาย จากความคิด และจากตัวตน มันย่อมจะเป็นฉันที่สามารถรับรู้สิ่งที่ไม่เคยรู้ (unknown) ได้อย่างโปร่งใส อย่างไม่ถูกอะไรปิดบังหรืออำพรางไว้ จึงน่าจะเป็นที่สุดของการแสวงหา

มนุษย์ทุกวันนี้จึงเผชิญปัญหาดุลยภาพระหว่างความเหงากับการปลีกวิเวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนสองกลุ่ม คือผู้สูงวัยซึ่งผ่านโลกมามากจนสรุปความจำเจซ้ำซากในชีวิตได้หมดแล้ว กับวัยรุ่นสมัยใหม่ที่วิถีชีวิตปัจจุบันทำให้ได้เรียนรู้อย่างรวดเร็วว่าชีวิตมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นการสนองความอยากทั้งเซ็กซ์และทรัพย์สมบัติแท้จริงแล้วไร้สาระและไม่คุ้มค่าที่จะดำเนินชีวิตในแนวนี้อีกต่อไป

การสูญเสียดุลยภาพระหว่างความเหงากับการปลีกวิเวก ทำให้คนจำนวนมากที่หาทางออกไม่ได้ต้องพึ่งยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทกลาง ทั้งยาที่ถูกกฎหมายเช่น ยาคลายกังวล ยาแก้ปวด ยาช่วยนอนหลับ ยาต้านซึมเศร้า และยาที่ผิดกฎหมายเช่น กัญชา โคเคน เฮโรอีน และยากระตุ้นประสาทหลอน (psychedelics) แนวโน้มการใช้ยาเหล่านี้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และจัดเป็นกลุ่มยาที่มีการเพิ่มการบริโภคมากที่สุด     

การสร้างดุลภาพระหว่างการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีทางสังคมเพื่อบำบัดความเหงา กับการปลีกวิเวกหลีกเร้นเพื่อให้ได้บรรยากาศที่เอื้อต่อการวางคอนเซ็พท์หรือความคิดทั้งหลายอันเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้เติบโตสู่โลกของ unknown ที่ภาษามนุษย์อธิบายไม่ถึง จึงเป็นทางเดินแคบๆที่มนุษย์เราต้องเดินหรือไต่ไปด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้หนักหรือเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป จึงจะได้ครบทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต คุณภาพชีวิต และการได้เติมเต็มความอยากที่จะเรียนรู้เติบโตไปอย่างไม่สิ้นสุดซึ่งเป็นธรรมชาติอันหนึ่งของเราในฐานะที่เป็นมนุษย์

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

……………………………………………………………

[อ่านต่อ...]

08 เมษายน 2567

สูงอายุ จะฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แบบไฮโด้ส (High dose) ดีไหม

(ภาพวันนี้ / สวนรกหน้าบ้านมวกเหล็ก)

(กรณีอ่านจากเฟซบุ้ค กรุณาคลิกภาพข้างล่าง)

เรียนคุณหมอ

ผมอายุ 67 ปี ปรึกษาคุณหมอว่าจะฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แบบไฮโดสดีไหมครับ

…………………………………………………….

ตอบครับ

ผมเดาเอาว่าท่านคงหมายถึง Fluzone High dose Quadrivalent vaccine ก่อนอื่นผมขออธิบายตรงนี้ให้ท่านผู้อ่านทั่วไปหน่อย วัคซีนไฮโด้สมันคือวัคซีนใหม่ที่ทำมาให้มีแอนติเจน (จำนวนเชื้อตัวอย่าง จำนวนนะ ไม่ใช่ชนิด) มากเป็นสี่เท่าของปกติ ซึ่งศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐฯ(CDC) เอาออกมาแนะนำให้ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปเป็นตัวเลือกใช้แทนวัคซีนเก่า และอย.สหรัฐฯ ( FDA) ก็อนุมัติให้ใช้เฉพาะกับผู้สูงอายุเท่านั้น เพราะงานวิจัยพบว่ากลุ่มผู้สูงอายุหากใช้วัคซีนเชื้อมากนี้จะสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า งานวิจัยเรื่องนี้ตีพิมพ์ในวารสารนิวอิงแลนด์ซึ่งผมอ่านดูแล้วเป็นหลักฐานระดับสูงที่เชื่อถือได้ ดังนั้นหากมีเงินซื้อและไม่ยั่นผลข้างเคียงที่มากกว่าเล็กน้อย ผู้สูงอายุฉีดวัคซีนไฮโดสก็ดีกว่าวัคซีนเก่าในแง่ที่ว่าทำให้ภูมิคุ้มกันสูงกว่า แต่ยังไม่เคยมีงานวิจัยเปรียบเทียบการติดโรคว่าจะแตกต่างกันหรือเปล่านะครับ และงานวิจัยแบบนี้คงจะไม่มีใครกระตือรือล้นจะทำ เพราะผู้ขายทั้งวัคซีนไฮโด้สและวัคซีนแบบเก่าก็คือเจ้าเดียวกันนั่นเอง ดังนั้นปัจจุบันนี้วัคซีนไฮโด้สจึงเป็นแค่ option คือใครจะเอาแบบเก่าหรือใครจะเอาแบบใหม่ก็เลือกได้ตามใจชอบ

ในแง่ผลข้างเคียงวัคซีนไฮโด้ส มีผลข้างเคียงมากกว่าวัคซีนสี่เชื้อแบบเก่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกันทุกอาการข้างเคียงอาการต่ออาการ คือปวดบวมแดงตรงที่ฉีดมากกว่าเล็กน้อย ปวดหัวมากกว่าเล็กน้อย ปวดกล้ามเนื้อมากกว่าเล็กน้อย ไม่สบายตัวมากกว่าเล็กน้อย แต่ทั้งหมดนี้อาการคงอยู่แค่าสองสามวัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. DiazGranados CA, Dunning AJ, Kimmel M, Kirby D, Treanor J, Collins A, Pollak R, Christoff J, Earl J, Landolfi V, Martin E, Gurunathan S, Nathan R, Greenberg DP, Tornieporth NG, Decker MD, Talbot HK. Efficacy of high-dose versus standard-dose influenza vaccine in older adults. N Engl J Med. 2014 Aug 14;371(7):635-45. doi: 10.1056/NEJMoa1315727. PMID: 25119609.
[อ่านต่อ...]

07 เมษายน 2567

ถั่วและนัทไม่ได้เพิ่มไขมันเลว (LDL) ตรงกันข้าม มันช่วยลดไขมันในเลือดได้

(ภาพวันนี้ / นนทรี ในความมืด)

(กรณีอ่านจากเฟซบุ้คกรุณาคลิกที่ภาพข้างล่าง)

เรียนคุณหมอสันต์

ชอบกินถั่วและนัท แต่ไปหาหมอแล้วหมอห้ามกินถั่วและนัทเพราะมีไขมัน LDL สูง หมอว่ากินมากไขมันในเลือดจะสูงขึ้น อยากสอบถามคุณหมอว่าเป็นโรคไขมันในเลือดสูงกินถั่วและนัทได้หรือไม่คะ

…………………………………………………………

ตอบครับ

งานวิจัยเรื่องถั่วและนัทต่อสุขภาพส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยขนาดเล็ก จำเป็นต้องอาศัยผลการวิเคราะห์แบบรวมข้อมูลจากทุกงานวิจัย (meta analysis) มาตอบคำถามของคุณ ผมแยกเป็นสองประเด็นดังนี้

  1. ประเด็นผลของการกินถั่วและนัทต่อระดับไขมันในเลือด งานวิจัยในภาพใหญ่พบว่าการกินถั่วและนัทสัมพันธ์กับการมีไขมันในเลือดดีขึ้น คือไขมันรวมลดลง ไตรกลีเซอไรด์ลดลง ส่วนไขมันเลว(LDL)บ้างว่าลดลงเล็กน้อย บ้างว่าไม่เปลี่ยนแปลง
  2. ประเด็นผลของการกินถั่วและนัทต่อการเป็นโรค งานวิจัยในภาพใหญ่พบว่าการกินถั่วและนัทสัมพันธ์กับการป่วยเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดและโรคเบาหวานน้อยลง
  3. ประเด็นความสับสนระหว่างคอนเซ็พท์ (concept) กับ ความจริง (fact) คำแนะนำของแพทย์และข้อมูลที่ร่อนอยู่ในอินเตอร์เน็ทมีจำนวนมากที่เป็นคอนเซ็พท์ แปลว่า ตรรกะ หลักคิด ทฤษฎี สมมุติฐานเรื่องกลไกการออกฤทธิ์ ซึ่งมีเนื้อหาอยู่เยอะมาก เรื่องเดียวมีได้หลายคอนเซ็พท์ซึ่งบ่อยครั้งก็ไปในทิศทางตรงกันข้าม โดยที่ทั้งหมดนั้นไม่เกี่ยวอะไรกับความจริงที่ได้จากการวิจัยในคน (fact) ซึ่งงานวิจัยในคนนี้ก็ยังต้องแบ่งระดับชั้นและตรวจคุณภาพกันอีกว่าเชื่อถือได้หรือไม่ได้ ประเด็นสำคัญคือพอได้ยินใครพูดถึงคอนเซ็พท์อะไรในทางการแพทย์ขึ้นมาก็อย่ารีบไปกระต๊าก กระต๊าก..ก แม้บางครั้งคนพูดถึงคอนเซ็พท์นั้นจะเป็นแพทย์เสียเอง ให้ตรวจสอบกับข้อมูลความจริงที่ได้จากการวิจัยในคนจริงๆก่อนเสมอ ก่อนที่จะนำไปใช้ในการดูแลสุขภาพตนเอง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Xia JY, Yu JH, Xu DF, Yang C, Xia H, Sun GJ. The Effects of Peanuts and Tree Nuts on Lipid Profile in Type 2 Diabetic Patients: A Systematic Review and Meta-Analysis of Randomized, Controlled-Feeding Clinical Studies. Front Nutr. 2021 Dec 1;8:765571. doi: 10.3389/fnut.2021.765571. PMID: 34926548; PMCID: PMC8679310.
  2. Afshin A, Micha R, Khatibzadeh S, Mozaffarian D. Consumption of nuts and legumes and risk of incident ischemic heart disease, stroke, and diabetes: a systematic review and meta-analysis. Am J Clin Nutr. 2014 Jul;100(1):278-88. doi: 10.3945/ajcn.113.076901. Epub 2014 Jun 4. PMID: 24898241; PMCID: PMC4144102.
[อ่านต่อ...]

02 เมษายน 2567

ข้าวหมักยีสต์แดง (Red yeast rice) เสี่ยงต่อเบาหวานเหมือนยาสะแตตินหรือไม่

(ภาพวันนี้ / โมกป่าส่งกลิ่นหอมฟุ้ง)

(กรณีอ่านจากเฟซบุ้ค กรุณาคลิกภาพข้่างล่าง)

เรียนคุณหมอสันต์

ผมทานอาหารเสริม “Red Yeast Rice” และทราบว่ามีผลเหมือนสแตติน การที่ทาน Red Yeast Rice จะทำให้ผมมีความเสี่ยงเบาหวานด้วยไหมครับ

……………………………………………………

ตอบครับ

1.. ก่อนตอบคำถาม ขออธิบายให้ผู้อ่านท่านอื่นทราบหน่อยว่า Red yeast rice เป็นข้าวที่เอาไปหมักหมักในยีสต์สีแดงชื่อ Monascus purpureus เป็นอาหารแต่โบราณของจีน คนจีนใช้รักษาสาระพัดโรคมาแต่โบราณแต่ไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่ารักษาสาระพัดโรคได้ดีจริงหรือไม่ รู้แต่ว่าใช้ลดไขมันในเลือดได้จริง เพราะมันมีสารชื่อ monacolin K ซึ่งมีโมเลกุลเหมือนยา lovastatin ซึ่งเป็นยาลดไขมันในกลุ่ม statin ทุกประการ

2.. ถามว่าการกินข้าวหมักยีสต์แดงซึ่งมีโมเลกุลเหมือน lovastatin ทุกประการ จะมีผลข้างเคียงของยาสแตตินได้ทุกอย่าง รวมทั้งการเพิ่มความเสี่ยงการเป็นเบาหวานได้ประมาณ 28% ด้วยหรือไม่ ตอบว่ายังไม่มีใครทราบครับ เพราะผลข้างเคียงของยาสะแตตินนั้นเป็นข้อมูลที่ได้จากการออกฤทธิ์ของสารออกฤทธิ์ตัวเดียวที่สะกัดมาโดดๆ แต่โมเลกุลเดียวกันในอาหารธรรมชาติมันมาพร้อมกับสารออกฤทธิ์ตัวอื่นเป็นพันเป็นหมื่นโมเลกุล วิทยาศาสตร์ยังไม่มีข้อมูลหรอกครับ ว่าหากมันมาในอาหารธรรมชาติ มันจะออกฤทธิ์ร่วมกันอย่างไร มีผลข้างเคียงแตกต่างกันกับสารสกัดที่มาแบบโดดๆหรือไม่ คุณต้องลองกินและประเมินเอาเอง

3.. ในอเมริกาหากติดฉลากว่ามีโมเลกุล lovastatin กฎหมายถือเป็นยาเถื่อนเพราะเป็นวัตถุออกฤทธิ์ที่ไม่ได้จดทะเบียน บริษัทที่จดทะเบียน lovastatin ไว้เขาไล่ฟ้องเอา แต่ในภาพรวมข้าวหมักยีสต์แดงที่ไม่ระบุวัตถุออกฤทธิ์ สามารถขายในตลาดอเมริกาได้ในฐานะอาหารปลอดภัย เหมือนกาแฟและน้ำอัดลมที่ไม่ระบุขนาดของคาแฟอีน ขายให้เด็กเล็กกินก็ได้ไม่มีใครว่า

4.. คุณคงเขียนจดหมายนี้ก่อนจะมีข่าวครึกโครมในญี่ปุ่นว่าบริษัทที่ญี่ปุ่นทำข้าวหมักยีสต์แดงออกขายแล้วมีคนกินตายไปหลายราย กำลังตรวจสอบกันจ้าละหวั่น ยังสรุปไม่ได้ว่ามีการปนเปื้อนโมเลกุลอะไรถึงทำให้ตายได้ ข่าวนี้อาจทำให้แฟนของข้าวหมักยีสต์แดงขวัญผวา แต่ผมยืนยันจากข้อมูลของ FDA สหรัฐฯว่าลำพังข้าวหมักยีสต์แดงที่ไม่มีสารพิศดารอะไรมาปนเปื้อน เป็นอาหารที่ปลอดภัย ใครใคร่กินก็กินได้ครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

01 เมษายน 2567

ตรวจคัดกรองก่อนแต่งงานแล้ว ไหงมาได้ลูกเป็นฮีโมโกลบินอี. (HbE) ขนานแท้ได้

(ภาพวันนี้ / เหลืองอินเดีย ออกดอกเป็นครั้งที่ 5 ในรอบปีนี้)

(กรณีอ่านจากเฟซบุ้ค กรุณาคลิกที่ภาพข้างล่าง)

เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ   

      เนื่องด้วยบุตรสาวของข้าพเจ้า ซึ่งเป็นลูกคนที่ 2 มีอายุประมาณ 3 ขวบ ตรวจพบว่ามีภาวะซีด คุณหมอจึงได้นัดตรวจ หาภาวะธาลัสซีเมียพบว่า บุตรสาวของข้าพเจ้าเป็นธาลัสซีเมีย ชนิดฮีโมโกลบิล อี  ซึ่งเมื่อตรวจคัดกรองตอนตั้งครรภ์พบว่า แม่มีภาวะเป็นพาหะธาลัสซีเมีย  ส่วนพ่อพบว่าปกติ  จึงขอเรียนสอบถามคุณหมอว่า เราจะดูแลลูกสาวอย่างไรคะ  และเพราะอะไรลูกสาวถึงเป็นโรคธาลัสซีเมีย มีผลเลือดของพ่อกับแม่และลูก ดังที่แนบมาค่ะ

ขณะนี้ลูกสาวได้รับการรักษาโดยคุณหมอที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้ให้ทานยา 

ferrous syrup (Eurofer-iron) 10 mg/ml   วันละ  1 ครั้ง ครั้งละ 1 ช้อนชา หลังอาหารเช้า   

และได้ Folic acid  วันละ 1 เม็ด ค่ะ   นัดเจาะเลือดและให้ยาทุก 2-3 เดือน ขอคุณหมอช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับสาเหตุการเกิดโรคธาลัสซีเมียและวิธีการดูแลอย่างไร  อาการของเขาอยู่ในกลุ่มรุนแรงหรือไม่คะ  อีกอย่างนะคะคุณหมอน้องจะค่อนข้างทานข้าวน้อย และที่ผิวจะมีผื่นขึ้นง่าย และนานกว่าจะหาย

สุดท้ายนี้ขอขอบพระคุณหมอที่สละเวลาในการตอบคำถาม

ขอบคุณค่ะ

………………………………………………………………..

ตอบครับ

พุทธัง ธัมมัง สังคัง อะไรมันจะคัน..เอ๊ย ไม่ใช่ อะไรมันจะเจ็บปวดหัวใจอย่างนี้ คุณอุตส่าห์ไปเจาะเลือดก่อนแต่งงานเพื่อป้องกันการมีลูกเป็นทาลาสซีเมีย แล้วหมอก็บอกว่าเลือดพ่อปกติ มีลูกได้ แต่ลูกออกมาจ๊ะเอ๋เป็นโรคทาลาสซีเมียระดับแรงเข้าจนได้ นี่มันอะไรกันพี่น้อง วิชาแพทย์มันบ้อลัดไช้การไม่ได้หรืออย่างไร หิ..หิ ขอโทษ หมอสันต์ก็พร่ำไปตามประสาคนแก่งั้นแหละ มาตอบคำถามคุณจริงจังดีกว่านะ

ประเด็นที่ 1. การตรวจคัดกรองก่อนแต่งงาน ทำไมตรวจคัดกรองทาลาสซีเมียก่อนแต่งงานแล้วยังได้ลูกเป็นทาลาสซีเมีย ตอบว่าเพราะเกิดความเข้าใจผิดขึ้น ไม่รู้ว่าคุณเข้าใจผิด หรือหมอเข้าใจผิด เพราะค่าที่หมอบอกว่าของพ่อปกติ ของแม่ผิดปกตินั้นคือค่า DCIP มันย่อมาจาก Dichlorophenolindophenol precipitation test แปลว่าเป็นการตรวจดูความเปราะบางของเม็ดฮีโมโกลบิน หากมันเปราะมันก็จะสลายตัวตกตะกอนให้ตรวจพบได้ง่าย ซึ่งการตรวจแบบนี้ทำได้ง่ายก็จริงแต่มีผลบวกเทียมและผลลบเทียบได้จำนวนหนึ่ง จึงใช้ได้แค่เป็นการตรวจคัดกรองขั้นหยาบเท่านั้น หากจะเอาผลละเอียดเป็นมั่นเหมาะสำหรับพ่อแม่ที่รู้ว่าตัวเองเป็นพาหะทาลาสซีเมียอยู่แล้วและกังวลว่าตัวเองจะมีลูกได้ปลอดภัยแน่นอนหรือไม่ต้องตรวจวิเคราะห์ฮีโมโกลบิน (Hb typing) ด้วยเทคนิค high performance liquid chromatography (HPLC) สำหรับฮีโมโกลบินสายเบต้า และตรวจวิเคราะห์ยีน (Gene analysis) สำหรับฮีโมโกลบินสายอัลฟ่า จึงจะได้ข้อมูลยีนที่ควบคุมการผลิตฮีโมโกลบินของพ่อและแม่ชัดเจนพอที่จะคาดการณ์โอกาสที่จะได้ลูกผิดปกติแบบต่างๆได้แม่นยำ เพราะอย่าลืมว่าคนเรามีฮีโมโกลบินสองสาย คือสายเบต้า และสายอัลฟ่า ซึ่งเผอิญคุณและสามีไม่ได้ตรวจขั้นละเอียดที่ว่านี้

ประเด็นที่ 2. ผลเลือดของลูกเป็นโรคอะไร ผลเลือดของลูกบ่งชี้ว่าเป็นโรค homozygous hemoglobin E disease โดยยังไม่ทราบว่ามีทาลาสซีเมียชนิดเบต้าร่วมด้วยหรือเปล่า แปลว่าโรคมีเม็ดเลือดผิดปกติชนิดมีฮีโมโกลบินอีเป็นจำนวนมากเกิดขึ้นมาแทนฮีโมโกลบินปกติในสายเบต้า เรียกว่าเป็นโรคแท้ๆ (homozygous) ซึ่งจะเกิดกรณีอย่างนี้ขึ้นได้ทั้งทางพ่อและทางแม่จะต้องมียีนของฮีโมโกลบินอี.แฝงมาทั้งสองข้างก่อนแล้ว เมื่อยีนแฝงจากทั้งสองข้างมาจ๊ะกันในลูกคนที่ 2 ก็จึงเป็นโรคขึ้นมา

ประเด็นที่ 3. ถ้าจะมีลูกคนที่สาม จะปลอดภัยไหม ตอบว่าไม่ปลอดภัยครับ ไม่ว่าจะมีลูกคนที่เท่าไหร่ ก็จะมีโอกาสได้ลูกที่เป็นโรคฮีโมโกลยินอีแบบแท้ๆ 25% เสมอ ดังนั้นผมแนะนำว่าให้คุณปิดโรงงานหยุดมีลูกเลยจะดีที่สุด หากพ่อแม่สามีโวยวายว่าอย่าเพิ่ง รอให้ได้ลูกชายอีกสักคนก่อน ให้คุณตอบว่า “หา ผ. ใหม่ให้หนูหน่อยสิ” (อุ๊บ..ขอโทษ พูดเล่น)

ประเด็นที่ 4. แล้วลูกฮีโมโกลบินอีของแท้ที่ได้มาแล้วนี้จะทำไงดี ตอบว่าอะไรที่โผล่ขึ้นมาแล้วในชีวิตของเรานี้ แม้คนอื่นเขาจะว่าไม่ดีอย่างโง้นอย่างงี้ แต่เมื่อมันโผล่ขึ้นมาในชีวิตเราแล้ว ประการแรกเราต้องยอมรับก่อนว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องไปตีอกชกหัวลำเลิกเบิกประจานหรือต่อว่าใคร แล้วรับมือกับชีวิตจากนี้ไปทีละช็อต ทีละช็อต โดยไม่ไปอาทรร้อนใจอะไรล่วงหน้าเพราะความอาทรร้อนใจเหล่านั้นมันจะก่อทุกข์ฟรี เนื่องจากเกือบทั้งหมดของความคิดลบในหัวเรามันไม่เคยเกิดขึ้นจริงหรอก และสัจจธรรมอย่างหนึ่งของชีวิตคือในสิ่งที่คนเขาว่าไม่ดี มักจะมีอะไรดีๆซุกซ่อนมาด้วยเสมอ

ในภาพใหญ่ งานวิจัยติดตามดูผู้ป่วยโรคฮีโมโกลบินอีที่ศรีลังกาอาจทำให้ดูเหมือนว่าจะมีชีวิตที่ลำบาก ยิ่งจะลำบากมากขึ้นถ้ามีทาลาสซีเมียชนิดเบต้าร่วมด้วย กล่าวคือบัดเดี๋ยวถ่ายเลือด บัดเดี๋ยวทำคีเลชั่นเอาเหล็กออก บัดเดี๋ยวตัดม้าม และโหลงโจ้งอายุคาดเฉลี่ยจะอยู่ได้ประมาณ 49 ปี แต่ผมแนะนำว่านั่นเป็นข้อมูลจากอดีต คุณอยู่ในเมืองไทยไม่ลำบากขนาดนั้นแน่นอน รอดูเชิงไปจนเด็กอายุสักสิบขวบ หากชีวิตของเธอแย่มากคุณก็เสาะหาการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกซึ่งในเมืองไทยนี้ต้นทุนประมาณเกือบล้านบาทแต่หาทางใช้บัตร 30 บาททำฟรีได้ ดังนั้นใจเย็นๆเลี้ยงดูเธอ ไปดูเชิงไปสักสิบปีก่อน ถึงตอนนั้นหากหมอสันต์ไม่ตายเสียก่อนก็เขียนมาถามอีกได้

ประเด็นที่ 5. การต้องระวังพิษของเหล็ก เรื่องที่ผมอยากจะให้คุณใส่ใจจริงจังด้วยตัวคุณเอง คือการที่หมอเขารักษาโลหิตจางด้วยธาตุเหล็กอยู่ ทั้งๆที่ขณะนี่เหล็กในร่างกายยังพอเพียงดีอยู่ ประเด็นคือโรคนี้ต่อไปจะมีเหล็กคั่งค้างในร่างกายมากจนเกิดพิษโลหะหนักขึ้นและเอาออกได้ยากเย็น วิธีที่คุณจะดูแลลูกก็คือทุกครั้งที่ไปติดตามการรักษากับหมอให้คุณดูค่า Ferritin หากมันเริ่มสูงขึ้นจากเดิม (ขณะนี้ Ferritin =62.7 ng/ml ค่าต่ำผิดปกติคือ <20 ng/m)

เรื่องอื่นๆก็เลี้ยงเธอเหมือนเด็กปกติครับ เอ็นจอยชีวิต เอ็นจอยการได้มีลูกสาว ไม่ต้องไปวอรี่อะไรล่วงหน้า มีอะไรก็แก้ไขกันไปทีละช็อต

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Premawardhena AP, Ediriweera DS, Sabouhanian A, Allen A, Rees D, de Silva S, Perera W, Katugaha N, Arambepola M, Yamashita RC, Mettananda S, Jiffry N, Mehta V, Cader R, Bandara D, St Pierre T, Muraca G, Fisher C, Kirubarajan A, Khan S, Allen S, Lamabadusuriya SP, Weatherall DJ, Olivieri NF. Survival and complications in patients with haemoglobin E thalassaemia in Sri Lanka: a prospective, longitudinal cohort study. Lancet Glob Health. 2022 Jan;10(1):e134-e141. doi: 10.1016/S2214-109X(21)00446-0. Epub 2021 Nov 26. PMID: 34843671; PMCID: PMC8672061.

 

[อ่านต่อ...]