ข้องใจเรื่องสุขภาพแบบองค์รวม กาย-จิต-สังคม-จิตวิญญาณ ตัวจิตวิญญาณนี้คืออะไร
(ภาพวันนี้ / ประดู่แดงบนหลังคา)
(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกที่ภาพข้างล่างเพื่ออ่านบทความเต็ม)
เรียนอาจารย์สันต์ที่เคารพ
หนูเป็นพยาบาลวิชาชีพ ทำงานที่ … มีความข้องใจทุกครั้งที่เห็นคำโฆษณารวมทั้งของหน่วยงานของหนูเองว่าจะดูแลสุขภาพผู้ป่วยแบบองค์รวมคือกาย จิต สังคม จิตวิญญาณ หนูข้องใจว่าคำว่าจิตวิญญาณในที่นี้คือดูแลอะไร อย่างไร ถามใครก็ไม่มีใครตอบหนูได้ ถามหมอหลายคนก็ตอบได้แต่ว่าคือดูแลเรื่องปัญญา รบกวนอาจารย์ช่วยแนะนำ
………………………………………………………….
ตอบครับ
ผมเข้าใจคุณครับ แพทย์ทั้งหมดทุกคนไม่มีใครได้เรียนศัพท์คำว่าจิตวิญญาณ (spirit) มาจากโรงเรียนแพทย์ ในตำราแพทย์ก็ไม่มีศัพท์คำนี้ มีแพทย์บางคนเขียนคำนี้ไว้ในตำรา (ภาษาอังกฤษ) แต่ก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่ามันคืออะไร
ก่อนอื่นมาตกลงกันก่อนว่าวันนี้เราคุยกันในบริบทของการดูแลสุขภาพนะ และจะคุยกันเชิงลึกให้คุณเข้าใจการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (holistic health care) ให้กระจ่าง
แรกเริ่มที่องค์การอนามัยโลกนิยามคำว่าสุขภาพนั้น มีแต่ว่า “สุขภาพคือสภาวะสุขสบายทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม ซึ่งไม่จำกัดอยู่แค่การไม่มีโรคไม่ทุพลภาพเท่านั้น” โปรดสังเกตว่าไม่มีคำว่าจิตวิญญาณนะ
ต่อมาในปี ค.ศ. 1961แพทย์ชาวอเมริกันคนหนึ่งชื่อ ฮาลเบิร์ต ดูนน์ (Halbert L. Dunn) เป็นคนแรกที่ชี้ประเด็นว่าการไม่ป่วยกับการมีสุขภาพดีมีความสุขเป็นคนละเรื่องกันแต่เกี่ยวเนื่องกัน เขาพูดถึงองค์ประกอบส่วนที่จะทำให้คนมีความสุขว่าเป็น high level wellness ซึ่งเขานิยามว่าคือ “การผสานทุกวิธีที่จะทำให้ศักยภาพของคนคนหนึ่งเพิ่มขึ้นไปถึงระดับสูงสุดที่เขามี”
ดูนน์มองชีวิตของคนๆหนึ่งว่าถูกขับเคลื่อนด้วยพลังงานหรือพลังชีวิต บางวันมีพลังมาก บางวันมีพลังน้อย แบบว่าขึ้นได้ลงได้ ยามใดพลังงานมากก็มีความสุข เขาเรียกพลังชีวิตนี้ว่า spirit (ซึ่งคำนี้มีคนแปลเป็นไทยว่า “จิตวิญญาณ”) นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการใช้คำนี้ในวงการแพทย์ ดูนน์ให้ความสำคัญกับพลังชีวิตมาก ถึงกับเรียกมนุษย์ว่าเป็น “เด็กจอมพลัง” เขามองว่าปัจจัยท้าทายใดๆต่อจิตใจและต่อพลังชีวิต ซึ่งรวมถึง
(1) การมีเป้าหมายว่าตัวเองมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร หรือ
(2) การเห็นคุณค่าหรือความหมายของสิ่งที่ตนเองกำลังทำ
(3) การจะได้ใช้คุณลักษณะพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน (uniqueness) อย่างเต็มที่
(4) การได้เชื่อมโยงกับสิ่งที่ตนเองเชื่อว่ายิ่งใหญ่กว่าหรือสำคัญกว่าตนเอง
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเหตุขับเคลื่อนเชิงจิตวิญญาณให้คนมีพลังพาตัวเองให้ขึ้นไปสู่ high level of wellness ซึ่งเป็นระดับที่จะมีความสุขในชีวิตของจริง
ไหนๆก็พูดถึงดูนน์แล้วขอพล่ามต่อในแง่ประวัติศาสตร์ของวิชา Health and Wellness หน่อยนะ ประสาคนแก่ชอบประวัติศาสตร์ กล่าวคือคนรุ่นหลังยกย่องดูนน์เป็นบิดาของวิชาเวลเนส แต่แนวคิดของเขาที่ให้ความสำคัญกับจิตวิญญาณไม่มีใครสนใจ แม้คำว่าจิตวิญญาณก็เป็นคำเสนียดที่วงการแพทย์สมัยโน้นไม่ยอมรับ ดูนน์เองก็ได้แต่เที่ยวเทศน์ตามโบสถ์เพราะในวงการแพทย์ไม่มีใครฟัง จนราวสิบปีต่อมามีหมอหนุ่มคนหนึ่งชื่อทราวิส (John W Travis) ได้เอาแนวคิดของดูนน์มาจัดตั้งศูนย์สร้างสุขภาวะ (Wellness Resource Center) ขึ้นที่แคลิฟอร์เนีย เปิดรับผู้ป่วยเข้ามาเรียนรู้รับผิดชอบสุขภาพและสุขภาวะของตัวเอง ผู้ป่วยต้องใช้เวลาฝึกฝนตัวเองนาน 8 เดือนโดยจ่ายเงิน 1500 เหรียญต่อคน ในศูนย์นี้ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการต้องกำหนดและควบคุมกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพและสุขภาวะของตัวเอง แตกต่างจากศูนย์สุขภาพทั่วไปที่ผู้ป่วยมีหน้าที่เพียงแค่นั่งรอรับกระบวนการแทรกแซงใดๆก็ตามที่แพทย์จะจัดให้ กิจกรรมฝึกตัวเองในศูนย์สุขภาวะของทราวิสมีตั้งแต่การฝึกผ่อนคลายร่างกาย การสำรวจตนเอง การฝึกการสื่อสารปฏิสัมพันธ์ การบ่มความคิดสร้างสรรค์ การปรับโภชนาการ การปรับความฟิตของร่างกาย การฝึกจิตด้วยวิธีสร้างจินตนภาพ เป็นต้น เป้าหมายก็คือให้ผู้ป่วยรู้จักตัวเองดีขึ้นเพื่อจะให้ดูแลตัวเองได้ดีขึ้น ทราวิสได้เขียนหนังสือขึ้นมาเป็นคู่มือผู้ป่วยในศูนย์นี้ชื่อหนังสือ Wellness Workbook ซึ่งกลายมาเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมพอสมควร แต่ศูนย์เวลเนสของเขาเปิดดำเนินการอยู่ได้ 5 ปีก็ปิดกิจการลงเพราะไม่ประสบความสำเร็จเชิงธุรกิจ หนังสือที่เขาเขียนอีกเล่มหนึ่งชื่อ Wellness Inventory ได้ให้แนวทางที่แจ่มชัดพอสมควรแก่คนรุ่นหลัง ซึ่งผมขอเขียนถึงอีกสักเล็กน้อย
กล่าวคือในปีค.ศ. 1972 ทราวิสได้เสนอทฤษฎีว่าวิถีทางการแพทย์แผนปัจจุบันที่มุ่งรักษาโรคและอาการผิดปกติให้หายแล้วจะคาดหวังให้ผู้คนมีสุขภาวะที่ดีนั้นไม่เพียงพอ เพราะแม้จะไม่ได้ป่วยเป็นโรคอะไร ไม่มีอาการทางร่างกาย แต่คนก็ยังอาจเป็นทุกข์จากความซึมเศร้า กังวล หรือภาวะทางใจอื่นๆได้อยู่ การแพทย์ทำได้อย่างดีที่สุดก็เพียงแค่ขยับเอาผู้ที่ป่วยที่เป็นโรคหรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายกลับมาอยู่ที่ภาวะตรงกลางที่ไม่ได้ป่วยแต่ก็ไม่ได้มีความสุขทางใจ เขาเสนอกรอบความคิดใหม่ว่าการจะมีสุขภาวะที่ดีนั้นจะต้องขยับต่อจากการนำผู้ป่วยพ้นจากโรคและอาการทางร่างกายมาสู่ภาวะเป็นกลางแล้ว ต้องขยับต่อไปในทิศทางนำผู้คนไปสู่การมีความสุขทางใจ มีอารมณ์ดี มีสุขภาพจิตดี โดยที่การขยับไปมานี้อาศัยกลไกการสร้างการรับรู้ การให้ข้อมูล และการเติบโตพัฒนาทางอารมณ์และทาง “จิตวิญญาณ” เป็นการขยับมีพลวัตรหรือมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เขาเรียกสุขภาวะดีเต็มที่นี้ตามดูนน์ว่า Wellness ซึ่งเป็นที่มาของการใช้ศัพท์คำว่า Wellness นี้อย่างกว้างขวางทั่วโลกในเวลาต่อมา
หนังสือของทราวิสบอกว่ามีปัจจัยทำให้คนมีความสุข 12 ปัจจัยซึ่งล้วนเกี่ยวกับพลังชีวิต คือ
(1) การหายใจ (Breathing)
(2) การรับรู้สิ่งเร้า (Sensing) รวมถึงเช่นรับรู้ความรักจากคนอื่น
(3) การกินอาหาร (Eating)
ทั้งสามประการข้างต้นเป็น “ขาเข้า” ของพลังชีวิต อีกเก้าประการต่อจากนี้เป็น “ขาออก” ของพลังชีวิต คือ
(4) ความรับผิดชอบต่อตัวเองและเมตตาธรรม (Responsibility and Love)
(5) การขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว (Moving)
(6) การมีความรู้สึก (Feeling)
(7) การคิด (Thinking) (คิดบวกมากกว่าลบ)
(8) การเล่นและทำงาน (Playing and Working)
(9) การสื่อสารปฏิสัมพันธ์ (Communicating)
(10) ความใกล้ชิดสนิทสนม (Intimacy)
(11) การค้นหาความหมาย (Finding meaning)
(12) การฝ่าข้ามมิติการรับรู้ (Transcending)
คำว่า Transcending ในข้อสุดท้ายนี้ ตัวทราวิสเองได้บอกผ่านเล็กเชอร์ของเขาในเวลาต่อมาว่าเขาหมายถึงการที่คนจะพาความสนใจของตัวเองฝ่าข้ามความคิดหรือคอนเซ็พท์ที่สร้างขึ้นมาจากตัวตนจำลอง เข้าไปสู่ภาวะความรู้ตัวที่ปลอดความคิดซึ่งเป็นที่จะพบกับความสงบเย็น เบิกบาน และปัญญาญาณสร้างสรรค์ เขาบอกว่าหากเขาใช้คำว่าจิตวิญญาณ (Spirituality) แทนมันน่าจะตรงกว่าแต่เขายังไม่กล้าใช้คำนี้ในสมัยนั้นเพราะยังไม่เป็นที่ยอมรับของวงการแพทย์กระแสหลักขณะนั้น
จะเห็นว่าปัจจุบันนี้มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ว่าปัจจัยด้านวิถีชีวิตหลายปัจจัยที่ทราวิสตั้งไว้ล้วนมีผลโดยตรงต่อการป้องกันและพลิกผันโรคเรื้อรัง ต่อการมีความสุขในชีวิต และต่อการมีอายุยืนยาว เช่น โภชนาการแบบอาหารพืชเป็นหลัก การขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวออกกำลังกาย การจัดการความเครียดด้วยวิธีต่างๆ รวมถึงการนั่งสมาธิ (meditation) การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว การนอนหลับ การหลีกเลี่ยงสารพิษต่อร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุหรี่และแอลกอฮอล์ เป็นต้น
แต่ก็ยังมีบางปัจจัยที่ไม่เกี่ยวอะไรกับวิทยาศาสตร์เลย คือการฝ่าข้ามความคิดและคอนเซ็พท์ตัวตนจำลองไปสู่ความรู้ตัวที่ปลอดความคิด (Transcending) ซึ่งก็คือปัจจัย “จิตวิญญาณ” ที่ขยายความหมายมาจากพลังชีวิตของดูนน์นั่นแหละ การที่ทราวิสเลือกใช้คำว่า Transcendental แทนนี้ผมเดาเอาว่าเขาฟังมาจากพวกปรัชญา Transcendentalism ซึ่งมีหลักคิดว่ามนุษย์ควรจะทิ้งตรรกะเปลือกนอกไปให้หมดแล้วเข้าไปหาส่วนลึกในตัวเองซึ่งนอกจากจะทำให้ชีวิตสงบเย็นแล้วยังเป็นแหล่งของศักยภาพ (insight) ที่จะทำให้คนๆหนึ่งมีชีวิตที่สร้างสรรค์ได้
ทั้งหมดที่เกี่ยวกับจิตวิญญาณนี้ยังไม่ใช่วิทยาศาสตร์นะ เป็นไสยศาสตร์ ดังนั้นหากคุณจะเอาปัจจัยจิตวิญญาณไปดูแลคนไข้ให้ครบองค์รวมของ holistic care คุณต้องนั่งเทียนคิดเอาเองทำเอาเอง อย่าไปถามหมอเขา เพราะไม่มีหมอคนไหนได้เรียนไสยศาสตร์มาหรอก
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
- Dunn, H.L. (1961). High-Level Wellness. Arlington, VA: Beatty Press.
- Travis, John (1975): Wellness Inventory. Mill Valley, CA: Wellness Publications.