เรื่องไร้สาระ (39) ต้องให้ได้บรรยากาศอ้อยสร้อย
(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่างเพื่ออ่านบทความเต็ม)
เมื่อตอนขึ้นบ้านใหม่ในกทม.เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน บ้านออกแบบให้ห้องโถงมีที่แขวนภาพใหญ่ ผมไปเที่ยวงานบ้านและสวน ซื้อภาพพิมพ์คัดลอกภาพเขียนของฝรั่ง ไม่ใช่ภาพเขียนจริง ซื้อมาภาพหนึ่ง ราคาราวห้าพันบาท เอามาแขวนไว้ ใครผ่านไปมาที่มารยาทดีหน่อยก็มองแล้วเงียบ แต่ที่กันเองก็วิจารณ์ตรงๆว่าภาพไม่สวย ผมจึงบอกหมอสมวงศ์ว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวเอาไว้ผมว่างจะเขียนภาพเองมาใส่แทน ผมอยากจะใส่ภาพที่ผมดูแล้วหายคิดถึงบ้านมวกเหล็ก ซึ่งเป็นอาการที่มักเกิดขึ้นเสมอเมื่อมาอยู่บ้านที่กทม.นานหลายวัน
“เดี๋ยว” ของผมใช้เวลายี่สิบกว่าปี เมื่อขึ้นปีใหม่ปีนี้ถึงจะยุ่งอยู่แต่ผมก็มุ่งมั่นว่าปีนี้ต้องวาดภาพไปติดบ้านให้ได้ เพื่อเป็นการประกาศเจตนารมย์ ผมตั้งขาตั้งและเฟรมผ้าใบขนาดใหญ่ไว้กลางสนาม แต่เกิดฝนตกกลางฤดูหนาวต้องเก็บขาตั้งผ้าใบเข้าแอบใต้ชายคา จิ้งจกขี้ใส่ผ้าใบเกิดเป็นรอยด่างหลายจุด ลมพายุต้นฤดูร้อนพัดผ้าใบปลิว ต้องย้ายไปไว้ในห้องกระจก วันหนึ่งหลังจากเสร็จงานสอนแค้มป์ ผมไปกินข้าวเย็นที่บ้านเพื่อน ผมเปรยกับเพื่อนที่เป็นศิลปินสมัครเล่นว่าวันพรุ่งนี้ผมจะวาดรูปสีอะคริลิกบนผ้าใบผืนใหญ่ที่ผมตั้งไว้แล้ว จะมาจอยด้วยกันไหม เธอพยักหน้า งานวาดรูปครั้งใหญ่ที่สุดในรอบยี่สิบปีจึงเกิดขึ้น
ผมเริ่มต้นด้วยเอาภาพถ่ายจริงที่ถ่ายภูเขาหน้าบ้านเก็บไว้ในไอโฟนมาเปิดไว้ดู แล้วร่างลงไปบนผ้าใบด้วยดินสอ แล้วลงสีภูเขาไปได้สองสามลูก เพื่อนก็มาถึง
เธอใช้พู่กันขนาดใหญ่ที่เธอพกมาด้วยป้าย ฟึบ ฟึบ ฟึบ ป้ายพลางร้องเพลงไปพลาง ผมจึงต้องถอยมาเป็นผู้ชมเพราะกล่าวอย่างไม่เกรงใจเธอวาดรูปสีอะคริลิกเป็นแต่ผมวาดไม่เป็น เธอเป็นศิลปินตัวจริง ผมเป็นตัวสตั๊นท์ วันนี้เรามีกันทั้งหมดสี่คน ผม และศิลปินตัวจริง และอีกสองคนเป็น art critiques คือเป็นนักวิจาร์ณงานศิลป์ ศิลปินตัวจริงว่า
“มันต้องป้ายสีลงอุดรูผ้าใบให้หมดก่อน ไม่งั้นภาพจะเห็นลายผ้าไม่สวย”
ว่าแล้วเธอก็ป้ายสีเป็นรูปต่างๆต่ออึก ฟึบฟับ ฟึบฟับ ฟึบฟับ
“ป้ายเร็วฟึบ ฟึบ ผมไม่ว่า เปลี่ยนสีเป็นต้นหน้าร้อนก็โอเค. แต่ผมต้องการภาพที่ให้บรรยากาศอ้อยสร้อยนะ”
นักวิจารณ์ศิลป์อีกท่านแนะนำว่า
“ข้างหลังภูเขาลูกหน้า มันต้องมีหมอกหรือพื้นที่ขาวกันไว้ก่อน ก่อนที่จะลงสีเนื้อภูเขาลูกหลัง ไม่งั้นมันไม่มีความลึก”
ทำให้ศิลปินชะงักนิดหนึ่ง แล้วลดความเร็วลง จนผ่านไปหนึ่งชั่วโมงเธอก็ถอยออกมาเอียงคอดู ถามว่า
“อ้อยสร้อยพอยัง” ผมบอกว่า
“ยัง เดี๋ยวผมจะทำภูเขาลูกเล็กๆไกลเพิ่มขึ้น”
ว่าแล้วผมก็ขยับหยิบพู่กันจุ่มสี นักวิจารณ์ศิลป์ท่านหนึ่งถามผมด้วยความกังวล
“คุณหมอจะวาดรูปภูเขาเพิ่มที่ข้างหลังอีกหรือครับ” ผมตอบว่า
“ไม่ต้องห่วง ผมจะใช้สีขาวใส่ลงบนพื้นที่ก้อนเมฆเพื่อตีขอบให้เห็นภูเขาลูกเล็กแต่ไกลเหมือนโผล่ขึ้นมาเหนือทะเลหมอก”
ว่าแล้วผมก็ลงมือ แล้วทุกคนก็ตกลงกันได้เป็นเอกฉันท์ในประเด็นความอ้อยสร้อย นี่ผ่านไปแล้วหนึ่งชั่วโมง ศิลปินบอกว่า
“พี่ว่าเราน่าจะจบแค่นี้นะ มันพอดีแล้ว ไม่ต้องทำสนามหญ้า” ผมตอบว่า
“ไม่ได้ เราต้องทำสนามหญ้า เพราะผมต้องการดูภาพแล้วให้หายคิดถึงที่นี่ สนามหญ้าเป็นที่ผมยืนดูภาพ” ว่าแล้วผมก็เอาดินสอร่างเป็นขอบสนามหญ้าขึ้น
แล้วเราก็ตกลงเดินหน้ากันต่อไปด้วยความไม่ยินยอมพร้อมใจกันเท่าไหร่นัก จนในที่สุดนักวิจารณ์งานศิลป์อีกท่านหนึ่งทนไม่ไหว
“สนามหญ้ารูปทรงโค้งมนอย่างนี้มันไม่เข้าท่า ขอบมันควรเป็นแนวตรงเฉียงๆดีกว่า ดูเป็นธรรมชาติกว่า” ไม่พูดเปล่า เธอเอามือชี้ไปที่ภาพต้นแบบอีกภาพหนึ่งซึ่งมองเห็นขอบสนามหญ้าเป็นแนวตรงแต่เอียงๆนิดๆ ผมแย้งว่า
“ไม่ได้ เรากำลังเอาสองภาพมาต่อกันนะ การจะมองเห็นสนามหญ้าด้วย เห็นภูเขาสลับซับซ้อนด้วย มันต้องเป็นการมองแบบเปอร์สะเป็คตีฟ เหมือนเรามองลงมาจากโดรน ซึ่งเราจะเห็นของสนามหญ้าเป็นทรงกลม เหมือนภายถ่ายจากเลนส์ตาปลา ไม่เชื่อของขึ้นไปยืนบนเก้าอี้นี้แล้วมองไปที่สนามสิ”
ตอนนี้เสียงคัดค้านซาลงแล้ว เพราะเวลาได้ผ่านไปแล้วอีกหนึ่งชั่วโมง ใกล้เวลากินข้าวเที่ยง ตกลงเราก็เดินหน้าไปกับสนามทรงกลมที่ไม่เป็นที่ชื่นชอบของนักวิจารณ์งานศิลป์นัก
แต่โดยอาชีพ นักวิจารณ์เขาอยู่นิ่งๆนานๆไม่ได้หรอก
“ขอบสนามเนี่ยมันมีสีขาวของผ้าใบค้างอยู่นะ น่าจะใส่เงาทึบแบบใต้โคนต้นไม้ลงไป” ผมแย้งว่า
“ทิ้งให้มันขาวอย่างนั้นดีแล้ว เพราะขอบสนามมันเหมือนปากเหว พวกต้นไม้อยู่ห่างออกไป ถ้าเราไปใส่เงาต้นไม้ที่ขอบสนามมันจะไม่ใช่ภาพที่มองจากมุมสูงแล้ว”
เกือบจบแล้ว ศิลปินอดไม่ได้ เสนอว่า
“พี่ว่าใส่ดอกไม้ตามขอบสนามหน่อยดีไหม่” ผมเองพอใจและมีความสุขกับภาพที่ได้แล้ว จึงว่า
“ไม่ดีหรอกครับ เราต้องการให้ความอ้อยสร้ายของภูเขาเป็นจุดเด่น ไปใส่อะไรรุงรังข้างหน้าก็จะไปเปลี่ยนอารมณฺ์อ้อยสร้างของภาพเสียฉิบ”
แต่ศิลปินยังไม่หายคันไม้คันมือ
“พี่ขอใส่ดอกเสจสีม่วงนั่นหน่อยละกัน” เธอเขี่ยสองสามทีดอกเสจสีม่วงก็ขึ้นมาที่ขอบสนามจนผมชมเปาะว่าเจ๊งจริงๆ
“โอเค.ครับพี่ จบกิจสมประสงค์แล้ว มาถึงโมเมนต์ออฟทรูทแล้ว พี่เซ็นชื่อก่อน ผมจะแอบอ้างเซ็นตามข้างหลังพี่”
แต่ศิลปินยังไม่หายคันมือ
“เดี๋ยวพี่ใส่ก้านให้ดอกเสจก่อน มันยังไงอยู่ อยู่ๆก็มีดอกไม้โผล่ขึ้นมา ไม่มีก้าน” ผมรีบท้วงว่า
“ไม่ต้อง พี่ไม่ต้อง ภาพสวยแล้วพอแล้ว เราต้องรู้ว่าเราควรจบเมื่อไหร่”
แต่ช้าไป เธอใส่ก้านดอกเสจไปแล้วเรียบร้อย ผมเผลอปากไม่ดีวิจารณ์ไปตรงๆว่า
“เห็นไหม พอพี่ใส่ก้านแล้วภาพเสียเลย” ทำเอาเธอรู้สึกผิดและว่า
“เดี๋ยวพี่เอาก้านออกหน่อย” ผมรีบห้าม
โอ๊ย..ย ไม่ต้อง ไม่ต้อง พอแล้ว ดีแล้ว แฮปปี้แล้ว เที่ยงพอดี เราใช้เวลาทำภาพนี้ไปสามชั่วโมง ไปกินข้าวกันดีกว่า” พอดีกับที่คนหนึ่งบ่นว่าหิวข้าว ทำให้วาระการประชุมเปลี่ยนไปเป็นเรื่องอาหารกลางวันแทน
“จะกินอะไรดีละ จะให้แกร๊บเอามาส่งไหม”
“ไม่ต้อง กินของที่มีอยู่นั่นแหละ”
“ไม่มีอะไรกิน มีแต่น้ำปั่นถั่วกับกุยช่าย”
“เออ นั่นแหละ”
แล้วคณะสี่สหายอันประกอบด้วยศิลปินและนักวิจารณ์งานศิลป์ก็ตั้งวงอาหารกลางวันที่ประกอบด้วยน้ำปั่นถั่วคนละแก้ว และขนมกุยช่ายคนละสองชิ้น หลังจากที่ต่างฝ่ายต่างก็ได้ทำงานหนักมาสามชั่วโมงเต็ม
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์