การใช้ไฮโดรเจน (Hydrogen Therapy) รักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการทางปอด

(ภาพวันนี้ / สวนรกหน้าบ้านรอวันเจ้าของว่างดายหญ้า)

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่างเพื่ออ่านบทความเต็ม)

คุณหมอสันต์ครับ

ผมมีผู้ป่วยในความดูแลอายุ 90 ปีเป็นโควิดและมีอาการทางปอด อยากขอความเห็นเรื่องการใช้ Hydrogen Therapy ผมส่งลิ้งค์งานวิจัยมาให้คุณหมอแปลความให้ฟังด้วย

………………………………………………….

ตอบครับ

งานวิจัยที่คุณส่งมาให้สี่ห้าเปเปอร์นั้นส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยแบบเมตาอานาไลซีสที่ยำรวมงานวิจัยในคนในสัตว์เข้าด้วยกันทำให้แปลความหมายอะไรไม่ได้ ในเรื่องการใช้ Hydrogen therapy รักษาปอดอักเสบในโควิดนี้ ผมแนะนำให้คุณใช้สองงานวิจัยข้างล่างต่อไปนี้ก็พอ

งานวิจัยหนึ่งใช้ผู้ป่วยโควิดที่มีปัญหาปอด 64 คนสุ่มแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้สูดไฮโดรเจนผสมออกซิเจน อีกกลุ่มหนึ่งสูดออกซิเจนอย่างเดียว เมื่อรักษาครบสามวันแล้วพบว่ากลุ่มสูดไฮโดรเจนไอน้อยกว่า หอบน้อยกว่า มีภาพการตรวจปอดดีขึ้นมากกว่า ขจัดไวรัสจากร่างกายได้เร็วกว่า (3.3 vs 4.1 วัน) อย่างมีนัยสำคัญ มี IL-6 (ตัวเพิ่มการอักเสบในภาวะมีเม็ดเลือดขาว) ลดลงจากเดิมมากกว่า (20.1% vs 13.1%) เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซท์ (เซลล์ฆ่าเชื้อโรคและเพิ่มภูมิคุ้มกัน) เพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า (67.4% vs 42.4%) แต่สองตัวชี้วัดหลังนี้เป็นความแตกต่างที่ไม่มีนัยสำคัญ

งานวิจัยนี้เป็นหลักฐานที่ดีมากที่สรุปได้ชัดเจนว่าการรักษาผู้ป่วยโควิดลงปอดด้วยการสูดไฮโดรเจนผสมออกซิเจนดีกว่าการให้สูดออกซิเจนอย่างเดียว ผมต้องขอบคุณทีมแพทย์จีนที่ช่วยสร้างองค์ความรู้นี้ไว้ให้แก่วงการแพทย์ของโลก เพราะงานวิจัยแบบนี้ในยามที่โรคโควิดกำลังมาแรงแบบมะรุมมะตุ้มไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ

อีกงานวิจัยหนึ่งใช้ผู้ป่วยปอดอักเสบชนิดมีพังผืดในปอด (IDL) จากทุกโรคระดับไม่รุนแรงจำนวน 87 คน สุ่มแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้สูดดมไฮโดรเจน อีกกลุ่มให้รับการรักษาด้วย NAC (n-acetylcysteine) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐาน แล้ววัดการหาย (resolution) ของโรคด้วยภาพซีที.พบว่ากลุ่มสูดดมไฮโดรเจนหายดีกว่า (63.6% vs 39.5%) แต่ผลวัดการทำงานของปอด (FVC, FEV1, TLC) และผลข้างเคียง ไม่ต่างกัน

ทั้งสองงานวิจัยรายงานผลข้างเคียงว่าต่ำในทั้งสองกลุ่มและไม่แตกต่างกัน ข้อมูลจากสองงานวิจัยนี้ก็มากเกินพอแล้วที่จะตัดสินใจให้การรักษาด้วยการสูดไฮโดรเจนผสมออกซิเจนแก่ผู้ป่วยในความดูแลของคุณว่าได้ประโยชน์คุ้มกับความเสี่ยงแน่นอน

ถามว่าหมอสันต์มีความเห็นเพิ่มเติมอะไรบ้าง ตอบว่าคนปูนนี้ (90 up) สิ่งที่จำเป็นคือพลังชีวิต (life energy) เพราะสูตรมันมีง่ายๆถ้าชีวิตมีพลังก็หายป่วย ถ้าชีวิตไม่มีพลังก็ตาย ดังนั้นคุณต้องดูแลผู้ป่วยด้วยมุมมององค์รวม (holistic approach) คือ กาย จิต สังคม จิตวิญญาณ เน้นที่จิตวิญญาณซึ่งเป็นการเพิ่มพลังชีวิตโดยตรง ผมหมายถึง (1) การมีเป้าหมายว่าจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร (2) การเห็นคุณค่าและความหมายของสิ่งที่ทำอยู่ (3) การได้เชื่อมต่อกับสิ่งที่ตนเองเชื่อว่าใหญ่กว่าและสำคัญกว่าตนเอง

นอกจากนี้ ตัวช่วยเพิ่มพลังชีวิตที่สำคัญ คือธรรมชาติ เช่น

  1. เอาผู้ป่วยออกตากแดดบ้าง เพราะแดดนอกจากจะให้วิตามินดี.ซึ่งสัมพันธ์กับการตายน้อยลงในผู้ป่วยโควิดแล้ว ยังทำให้เซลล์สร้างสารต้านอนุมูลอิสระชื่อเมลาโทนินขึ้นใช้ในเซลล์ (subcellular melatonin) โดยเฉพาะแดดที่สะท้อนจากสีเขียวของใบไม้ ซึ่งมีย่านรังสีใกล้ใต้แดง (NIR) อันเป็นตัวกระตุ้นการสร้างเมลาโทนินมากเป็นพิเศษ
  2. เอาผู้ป่วยลงแช่น้ำ โดยเฉพาะน้ำอุ่น หรือน้ำในแหล่งธรรมชาติ หรืออย่างน้อยก็ shower น้ำอุ่นๆทุกวัน เพราะร่างกายนี้ประกอบด้วยน้ำเสียสองในสาม น้ำจึงเป็นพันธมิตรที่ขาดไม่ได้ในการฟื้นฟูร่างกายมนุษย์
  3. เอาผู้ป่วยลงสัมผัสดิน เหยียบดินด้วยตีนเปล่าถ้ายังทำได้ ให้ร่างกายได้อยู่ใกล้หรือสัมผัสต้นไม้ใบหญ้าบ้าง เพราะพลังชีวิตมาจากลมหายใจ ซึ่งมาจากต้นไม้แบบแลกเปลี่ยนกันและกัน เมื่อใดที่การแลกเปลี่ยนนี้ขาดไป พลังชีวิตก็หดหาย
  4. ให้กินอาหารที่เพิ่มพลังชีวิต อันได้แก่อาหารสดในสภาพใกล้เคียงธรรมชาติ เคี้ยวไม่ได้ก็ปั่นให้กินสดๆได้
  5. อันนี้อาจจะไสยศาสตร์มากไปหน่อยนะ สมัยที่ตัวผมเองป่วยหนักสองสามปีก่อน ผมจุดเทียนไว้กลางห้อง ให้แสงและไออุ่นจากเปลวไฟของเทียนลูบไล้ไปบนร่างกายผม มันช่วยทำให้ผมหายจากตัวเย็นเฉียบแบบไร้ชีวิตชีวาได้ อย่างน้อยก็ช่วยผมทางใจ
  6. บรรยากาศก็เพิ่มพลังชีวิตได้นะ ผู้ป่วยของผมคนหนึ่งตอนป่วยเขาขอให้ลูกเมียพาเขาไปนั่งในดิสโก้เทค ถูกเมียดุว่า..จะบ้าเรอะ ผมไม่ได้หมายความว่าคุณต้องพาคนอายุ 90 เข้าดิสโก้เทค แต่อย่างน้อยการอยู่ในบรรยากาศที่มีญาติสนิทมิตรสหายมาร่วมกันแชร์เรื่องตลกหรือร้องเพลงให้ฟัง พากันมานั่งสมาธิอยู่ใกล้ๆ หรือถ้าไม่รังเกียจการสวดก็มาสวดมนต์ให้ฟังบ่อยๆ ก็ช่วยเพิ่มพลังชีวิตได้นะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Shi MM, Chen YT, Wang XD, Zhang YF, Cheng T, Chen H, Sun F, Bao H, Chen R, Xiong WN, Song YL, Li QY, Qu JM. The efficacy of hydrogen/oxygen therapy favored the recovery of omicron SARS-CoV-2 variant infection: results of a multicenter, randomized, controlled trial. J Clin Biochem Nutr. 2023 Nov;73(3):228-233. doi: 10.3164/jcbn.23-32. Epub 2023 Aug 18. PMID: 37970554; PMCID: PMC10636573.CopyDownload .nbib
  2. Tang C, Wang L, Chen Z, Yang J, Gao H, Guan C, Gu Q, He S, Yang F, Chen S, Ma L, Zhang Z, Zhao Y, Tang L, Xu Y, Hu Y, Luo X. Efficacy and Safety of Hydrogen Therapy in Patients with Early-Stage Interstitial Lung Disease: A Single-Center, Randomized, Parallel-Group Controlled Trial. Ther Clin Risk Manag. 2023 Dec 11;19:1051-1061. doi: 10.2147/TCRM.S438044. PMID: 38107500; PMCID: PMC10723077.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี