จะเอาน้องบริบาลผู้สูงอายุเข้าบ้าน แต่เธอเพิ่งติดโควิดมา ขอทราบระยะปลอดภัย
กราบเรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ
ดิฉันมีเรื่องขอคำแนะนำเกี่ยวกับการรับพี่เลี้ยงเข้ามาดูแลคุณพ่อค่ะ คุณพ่ออายุ 86 ปี ภูมิต้านทานต่ำ เพราะช่วงหลังเข้า-ออก รพ จากปอดอักเสบจากการสำลักอาหารบ่อย ปัจจุบันช่วยเหลือตนเองได้น้อยลง แต่ไม่ติดเตียง จำเป็นต้องมีพี่เลี้ยงจากศูนย์มาช่วยดูแลในชีวิตประจำวัน .. คุณพ่อยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด เพราะป่วยเข้า-ออก รพ บ่อย ร่างกายยังอ่อนแอมากค่ะ พี่เลี้ยงคนปัจจุบันที่ดูแลคุณพ่ออยู่ชั่วคราว จำเป็นจะต้องกลับบ้านแล้ว ดิฉันจึงจำเป็นต้องหาพี่เลี้ยงคนใหม่มาเริ่มงานวันที่ 12/9/64 พี่เลี้ยงที่เหมาะสมก็หายากมากค่ะ ดิฉันได้สัมภาษณ์น้องคนหนึ่งเห็นว่าเหมาะสมที่จะให้มาดูแลคุณพ่อ แต่เกิดเหตุว่าเธอติดโควิดเมื่อเดือน สค. ที่ผ่านมา ..
Timeline การรักษาและกักตัวของเธอเป็นดังนี้ค่ะ :
– ไปตรวจ 4/8/64
– ผลออก 5/8/64 พบว่าติดโควิด
– รักษาตัวใน Hospitel 14 วัน ระหว่าง 6-19/8/64
– กักตัวต่อที่บ้าน 7 วัน ระหว่าง 20-26/8/64
รพ ออกหนังสือรับรองว่า กลับมาใช้ชีวิตปกติได้แล้ว ตามเอกสารที่แนบมา ดิฉันเป็นห่วงว่า ถ้าให้น้องคนนี้มาเริ่มงานที่บ้านวันที่ 12/9/64 จะมีความเสี่ยงในการนำเชื้อโควิดมาติดคุณพ่อหรือไม่ค่ะ (นับได้ 24 วัน จากวันที่รักษาหายออกจาก hospitel คือตั้งแต่ 20/8/64 – 12/9/64 ค่ะ)
กราบรบกวนคุณหมอให้คำแนะนำด้วยนะคะ
ด้วยความเคารพอย่างสูงค่ะ
………………………………………………………………….
ตอบครับ
ถามว่าถ้าเป็นโควิดมาได้ 38 วัน (24 วันนับจากออกจากหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (hospitel) จะปลอดภัยจากการเอาเชื้อโควิดมาปล่อยในบ้านไหม ตอบว่าปลอดภัยแล้วครับ
มาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลกตอนนี้คือคนที่ป่วยเป็นโควิด หากนับจากวันแรกที่มีอาการไปจนครบ 10 วัน โดยที่ใน 24 ชั่วโมงสุดท้ายไม่มีไข้และไม่ได้ใช้ยาลดไข้ ถือว่าปลอดเชื้อที่จะเอาไปปล่อยให้ติดคนอื่นได้แล้ว ให้เลิกกักกันตัวเองและใช้ชีวิตปกติร่วมกันคนอื่นได้ นโยบายแบบนี้เรียกว่า “นโยบายถืออาการเป็นใหญ่ (symptom based policy) ทั้งนี้ไม่ต้องมีการตรวจ PCR เพราะถึงตรวจไปได้ผลบวกก็ถือว่ามันเป็นแค่ซากศพของไวรัส ไม่ใช่ไวรัสตัวเป็นๆที่จะเอาไปติดคนอื่นได้
ไหนๆคุณก็ถามมาแล้ว ผมขอถือโอกาสนี้เล่าเผื่อให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นทราบถึงหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่วงการแพทย์ใช้เป็นตัวกำหนดระยะการกักกันโรค พอเป็นสังเขป ดังนี้
1.. งานวิจัยติดตามดูเชื้อไวรัสซาร์สโควี2 จากเสมหะที่กวาดมาจากทางเดินลมหายใจส่วนบนพบว่านับจากวันแรกที่เริ่มมี อาการ เชื้อจะลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจนไม่เหลือเลยภายใน 6 วัน
2.. งานวิจัยติดตามดูการแพร่เชื้อผู้ป่วยโควิดพบว่าผู้ป่วยไม่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นตั้งแต่วันที่ 6 นับจากมีอาการวันแรก
3.. งานวิจัยติดตามเอาเชื้อในกระแสเลือดของคนป่วยมาเพาะเชื้อดู พบว่าเชื้อจะเริ่มเพาะไม่ขึ้นหากเจาะเลือดในวันที่ 10 นับจากวันแรกที่มีอาการเป็นต้นไป มีข้อยกเว้นเฉพาะคนที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องซึ่งอาจมีเชื้อแบบเพาะขึ้นไปได้นานถึง 20 วัน โดยที่ 95% เชื้อหมดตั้งแต่ก่อนวันที่ 15
4.. งานวิจัยตรวจดูเชื้อไวรัส (PCR) หลังป่วยพบว่าคนป่วยยังตรวจพบ PCR ได้ผลบวกอยู่จนถึง 12 สปด.นับจากวันแรกที่มีอาการ โดยที่จำนวนหนึ่ง(126 จาก 285 คน)ยังมีอาการป่วยอยู่ แต่ว่าเชื้อเหล่านั้นเพาะไม่ขึ้น ยกเวนผู้ป่วยรายเดียวที่เพาะเชื้อขึ้นถึงวันที่ 18 นับจากวันแรกมีอาการ
5.. การติดเชื้อซ้ำ (re-infection) เกิดขึ้นได้น้อยมากและจะไม่วินิจฉัยว่าติดเชื้อซ้ำจนกว่าจะผ่านไป 3 เดือนแล้วยกเว้นผู้ป่วยที่สัมผัสผู้ป่วยอื่นแล้วกลับมีอาการใหม่ ดังนั้นการตรวจ RT-PCR ซ้ำในสามเดือนแรกหลังป่วยจึงไม่มีประโยชน์และไม่แนะนำให้ทำ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
- Arons MM, Hatfield KM, Reddy SC, Kimball A, James A, Jacobs JR, et al. Presymptomatic SARS-CoV-2 infections and transmission in a skilled nursing facility. N Engl J Med 2020 May 28;382(22):2081-2090. doi:10.1056/NEJMoa2008457
- Aydillo T, Gonzalez-Reiche AS, Aslam S, de Guchte AV, Khan Z, Obla A, et al. Shedding of Viable SARS-CoV-2 after Immunosuppressive Therapy for Cancer. N Engl J Med 2020. DOI: 10.1056/NEJMc2031670
- Avanzato AA, Matson MJ, Seifert SN, Pryce R, Williamson BN, Anzick SL, et al. Case Study: Prolonged Infectious SARS-CoV-2 Shedding from an Asymptomatic Immunocompromised Individual with Cancer. Cell 2020 December 23;183(1–12).external icon
- Cheng HW, Jian SW, Liu DP, Ng TC, Huang WT, Lin HH, et al. Contact Tracing Assessment of COVID-19 Transmission Dynamics in Taiwan and Risk at Different Exposure Periods Before and After Symptom Onset. JAMA Intern Med 2020 May 1; doi:10.1001/jamainternmed.2020.2020