การไม่รู้จริง + ความไม่เป็นมืออาชีพในการทำงานวิชาชีพ = ทุกข์ฟรี

ตอบครับ

ถามว่าฉีดยาให้พ่อแล้วเข็มตำมือ พ่อเพิ่งไปถ่ายเลือดมา ตัวเองกังวลว่าต้องไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจคัดกรอง HIV ไหม ตอบว่าไม่ต้องไปหรอกครับ เรื่องของคุณนี้มันมีประเด็นที่ควรพูดถึงสองประเด็นนะ

ประเด็นที่ 1. ทุกข์จากการไม่รู้จริง

ฉีดยาให้พ่อซึ่งเพิ่งถ่ายเลือดมาแล้วเข็มตำมือจึงกลัวติดเชื้อ HIV นี่เป็นประเด็นทุกข์จากการไม่รู้จริง โอกาสที่คนไปถ่ายเลือดมาจะติดเชื้อ HIV ที่เจ้าหน้าที่ให้เซ็นใบยินยอมว่ายอมรับโอกาส 1% ที่จะติดเชื้อ HIV นั้น ถ้าเขาระบุตัวเลขเช่นนั้นจริงผมเข้าใจว่าเขาคงแค่ตั้งใจจะป้องกันปัญหาเรื่องคดีความที่อาจจะตามมาภายหลังมากกว่า ไม่ใช่ตั้งใจจะสื่อสารข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ เพราะข้อมูลจริงของการติดเชื้อ HIV จริงหลังการถ่ายเลือดในยุคปัจจุบันมันต่ำกว่านั้นชนิดคนละเรื่อง ซึ่งผมนับยุคปัจจุบันว่าเริ่มตั้งแต่มีการนำเทคนิคตรวจกรดนิวคลิก (NAT) มาใช้ในการคัดกรองเลือด ยกตัวอย่างเช่นข้อมูลของฝรั่งเศส มีโอกาสติดเชื้อ HIV จากการถ่ายเลือด 1 ใน 8,300,000 ข้อมูลของสเปญมีโอกาสติดเชื้อ HIV จากการถ่ายเลือด 1 ใน 1,000,000 เป็นต้น หากจะระบุเป็นเปอร์เซ็นต์ก็คือมีโอกาสน้อยกว่า 0.0001% คือเรียกว่าเป็นโอกาสที่ต่ำมากจนตัดทิ้งได้ ดังนั้นในการรับการถ่ายเลือดหากจำเป็นต้องรับก็ควรรับ โดยไม่ต้องคิดกังวลเรื่องโอกาสจะได้รับเชื้อ HIV เพราะมันเป็นความคิดกังวลที่เวิ่นเว้อเกินความเป็นจริง

ประเด็นที่ 2. ทำงานวิชาชีพแต่ไม่ได้เป็นมืออาชีพ

ใช้เข็มฉีดยาแล้วเข็มตำมือ นี่เป็นประเด็นการทำงานวิชาชีพโดยไม่มีความเป็นมืออาชีพ งานใช้เข็มฉีดยาเป็นงานระดับวิชาชีพ หมายความว่าต้องเรียนรู้ฝึกฝนในวิชาจึงจะทำได้ดี คนทำงานระดับนี้ต้องมีความเป็นมืออาชีพ หมายความว่าเป็นคนที่ได้เรียนรู้ฝึกฝนขั้นตอนของระเบียบปฏิบัติในเรื่องนั้นและได้ลงมือทำมาช่ำชองเป็นอย่างดีแล้ว อย่าว่าแต่คุณซึ่งเป็นคนทั่วไปไม่รู้อิโหน่อิเหน่ (lay man) เลย แม้แต่นักวิชาชีพมีปริญญาเช่นแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และนักเทคนิคการแพทย์ ก็ยังมีอยู่จำนวนหนึ่งที่ไม่วายที่จะขาดความเป็นมืออาชีพในงานของตน คือไม่วายจะโดนเข็มตำมือเหมือนอย่างชาวบ้านเขาเหมือนกัน คือมีแต่ปริญญาวิชาชีพแต่ไม่มีความเป็นมืออาชีพ สมัยที่ผมเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลอยู่ต้องปากแฉะกับเรื่องนี้มากเพราะโรงพยาบาลอยู่ในระบบการรับรองคุณภาพนานาชาติ (JCI) เกิดเรื่องขึ้นทีต้องมีรายการซ่อม (remedy action) กันเสียจนเมื่อย วันนี้ผมจึงขอถือโอกาสนี้พูดถึงระเบียบปฏิบัติ (work instruction) ในการใช้เข็มฉีดยาอย่างมืออาชีพสักหน่อย โดยจะโฟกัสที่การฉีดอินสุลินรักษาโรคเบาหวาน โดยเอาเฉพาะการฉีดจากเข็มและไซรินจ์รุ่นโบราณซึ่งคนทั่วไปตามบ้านยังนิยมใช้กันอยู่

ก่อนที่จะไปถึงระเบียบปฏิบัติ work instruction พึงเข้าใจว่าระเบียบนี้มันได้มาจากการวิเคราะห์อันตรายที่ได้เกิดขึ้นแล้ว ว่ามันเกิดขึ้นจากตรงไหนบ้าง ซึ่งผลวิเคราะห์พบว่าเข็มตำมือเกิดขึ้นมากที่สุดจากการที่

(1) ทำงานโดยขาดการจดจ่อ เพราะมัวทำงานหลายอย่างพร้อมกัน

(2) ฉีดยาเสร็จ แล้วถอนเข็มโดยมีการยั้งมือ ทำให้จังหวะที่ยั้งมือนั้นเข็มกลับลงทิ่มอีกมือหนึ่งซึ่งจับผิวหนังคนไข้อยู่

(3) พยายามจะเอาเข็มสอดกลับเข้าปลอกเข็มเลยจิ้มมืออีกข้างตัวเองที่ถือปลอกเข็มอยู่

(4) ถือไซรินจ์ติดเข็มเปลือยเดินโทงๆจะไปหาที่ทิ้งเข็ม แล้วเอาปลายเข็มไปจิ้มตัวเองหรือใครต่อใครเข้า

(5) ทิ้งเข็มเปะปะนอกที่รับขยะมีคม ทำให้ตัวเองหรือคนอื่นเช่นแม่บ้านถูกเข็มจิ้มเอาเมื่อมาเก็บขยะนั้น

ระเบียบปฏิบัติ (Work instruction) ในการใช้เข็มฉีดยามีดังนี้

  1. ก่อนฉีดยา ต้องมีทุกอย่างพร้อมอยู่ตรงหน้าหรือเอื้อมมือถึง รวมทั้ง ไซรินจ์, เข็มฉีด, ยา, สำลีแอลกอฮอล์สองก้อน, สำลีแห้งหนึ่งก้อน, ถังรับขยามีคม (sharp receptacle)
  2. ล้างมือให้สอาดด้วยสบู่ เช็ดมือให้แห้งด้วยผ้าหรือทิชชูสอาด
  3. เตรียมสำลีชุบแอลกอฮอล 2 ก้อน สำลีแห้ง 1 ก้อน วางเรียงกันไว้บนพื้นผิวทำงานที่สอาด
  4. หยิบขวดยาอินสุลินมาวางบนฝ่ามือแล้วเอาสองฝ่ามือกลิ้งยาไปมา 10 รอบเป็นการคลุกยา (ตั้งใจนับหนึ่งถืงสิบ)
  5. เอาสำลีแอลกอฮอล์ก้อนที่ 1 เช็ดจุกยางฝาขวด
  6. ฉีกซองเอาไซรินจ์ที่มีเข็มติดปลายออกมา ดึงปลอกหุ้มปลายเข็มออกแบบไม่มีการยั้งมือ (คือดึงพรวดให้พ้นเข็มโดยถือเสมือนว่าเข็มนั้นยาวเป็นคืบ)
  7. ตั้งไซรินจ์ขึ้น ดูดอากาศเข้าไปเป็นปริมาณเท่าปริมาณยาที่ตั้งใจจะดูดออกมา
  8. ตั้งขวดยาไว้บนพื้นโต๊ะ ปักเข็มทะลุจุกยางลงไปในขวดโดยไม่ต้องเอามือจับขวดยา เมื่อปักเข็มได้แล้วจึงเอาอีกมือหนึ่งจับขวดยายกขึ้นระดับสายตาแล้วคว่ำขวดลง เดินลมจากไซรินจ์เข้าไปในขวดแล้วดูดยากลับออกมาตามปริมาณที่ต้องการ ฉีดเข้าดูดออกเพื่อไล่ฟองอากาศหากจำเป็น
  9. ดึงขวดยาออกจากเข็มมาวางบนโต๊ะ แล้วเอาสำลีแอลกอฮอล์ก้อนที่ 2 เช็ดบนผิวหนังตรงจุดที่จะฉีดยา เอานิ้วโป้งและนิ้วชี้จับขยุ้มผิวหนังตรงนั้นให้นูนขึ้นมา
  10. ถือไซรินจ์ในท่าเตรียมฉีดให้ถนัด ตั้งใจปักเข็มฉีดยาลงไปตรงๆให้ตั้งฉากกับผิวหนังจนมิดเข็ม (0.6 ซม.) แล้วเดินยาจนหมด แล้วกดเข็มไว้นิ่ง นับ 1-10 ในใจก่อนถอนเข็ม
  11. ถอนเข็มออกโดยไม่ยั้งมือ
  12. อีกมือหนึ่งเอาสำลีแห้งกดตรงที่ฉีดยาไว้เบาๆ ไม่ต้องคลึง
  13. ทิ้งทั้งไซรินจ์ที่มีเข็มคาอยู่ซึ่งใช้เสร็จแล้วลงในที่รับขยะมีคมโดยไม่ต้องสวมปลอกเข็มคืน

ทั้งหมดนี้เป็นระเบียบปฏิบัติการฉีดยาที่ใช้กันอยู่ในรพ.ที่มีมาตรฐานคุณภาพระดับสากลทั่วโลก โปรดสังเกตว่าไม่มีการสอดเข็มกลับเข้าปลอก ไม่มีการถือเข็มเดินโทงๆไปหาที่ทิ้งไกลๆ ไม่มีการทิ้งเข็มในถังขยะทั่วไปเปะปะ และทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นจนจบต้องทำอย่างใส่ใจจดจ่อไม่ว่อกแว่ก อย่างนี้จึงจะเป็นการทำงานวิชาชีพ อย่างมืออาชีพ

ในกรณีที่ใช้การฉีดด้วยปากกาฉีดอินสุลิน คนไทยนิยมใช้เข็มเดิมซ้ำ (เพื่อการประหยัด?) จึงจำเป็นต้องสอดเข็มกลับเข้าไปในปลอกเข็มก่อนเก็บปากกาและเข็มนั้นไว้ใช้ครั้งต่อไป วิธีสอดเข็มกลับเข้าปลอกเข็มนี้สำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นสาเหตุของเข็มทิ่มมือบ่อยที่สุด วิธีที่ปลอดภัยคือต้องวางปลอกเข็มไว้บนพื้นผิวสอาดเช่นพื้นผิวผ้าที่คลี่ไว้บนโต๊ะ หันเอารูของปลอกเข็มมาทางตัวเอง ปล่อยปลอกเข็มนั้นไว้บนโต๊ะ ไม่ต้องเอาอีกมือไปจับปลอกเข็ม ถ้าทำไม่ได้หรือไม่ถนัดให้ใช้คืม (forceps) จับปลอกเข็มแทนมือเปล่า จากนั้นค่อยๆตั้งใจถือปากกาเอาปลายเข็มบรรจงสอดเข้าไปในรูจนเข็มเข้าไปในรูได้เกินครึ่งลำแล้วจึงเอาอีกมือหนึ่งจับปลอกเข็มเพื่อกดให้เข้าล็อค อย่าสอดเข็มคืนปลอกโดยมือหนึ่งถือปากกาที่มีเข็มติดปลาย อีกมือหนึ่งถือปลอกเข็มเป็นอันขาด เดี๋ยวจะหาว่าหล่อไม่เตือน..ฉึ๊ก..ก (หุ หุ)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. M. Vermeulen, N. Lelie, C. Coleman, et al., Assessment of HIV transfusion transmissionrisk in South Africa: a 10-year analysis following implementation of individual donationnucleic acid amplification technology testing and donor demographics eligibilitychanges, Transfusion 59 (2019) 267–276. https://doi.org/10.1111/trf.149

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี