อย่าปล่อยนาทีทองที่จะได้ฆ่าเชื้อโควิดให้ผ่านไป
สวัสดีค่ะคุณหมอ
ขอแนะนำตัวก่อนนะคะ ชื่อ … ค่ะ (…) และสามี … (อายุ 55 ปี สูง 170 น้ำหนัก 50 ไม่มีโรคประจำตัว ความดันปกติ ออกกำลังกายเป็นประจำ ล่าสุดตรวจพบเป็นต่อมลูกหมากโตเพิ่งเริ่มทานยา 9 กันยา 64) เราสองคนเคยเข้าแคมป์กับคุณหมอ และเคยไปพักที่มวกเหล็กบ่อยๆ ล่าสุดปลายปีที่แล้วงานดนตรีในสวนค่ะ คุณสามีมีความศรัทธาและเชื่อถือคุณหมอมากๆ ค่ะ เลยขออนุญาตนำเรื่องมาหารือค่ะ
ดิฉันไปตรวจเชื้อโควิดวันที่ 13 กันยา ทราบผลวันรุ่งขึ้น และเนื่องจากมีอาการเพียงจมูกไม่ได้กลิ่น จึงเข้ากักตัวที่ Hospitel รร. … ค่ะ (รับวัคซีน AZ 1 เข็มวันที่ 16 สิงหา 64) สามีไปตรวจเชื้อโควิดวันที่ 15 กันยา ทราบผลวันรุ่งขึ้น สามีมีอาการไอแห้งมาก มีไข้กลางๆ ทางพยาบาลผู้แจ้งผลให้เข้ากักตัวที่ Hospitel รร. … เช่นกันค่ะ (ยังไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด)
สามีเข้ากักตัวที่ Hospitel วันพฤหัสที่ 16 กันยา ด้วยอาการไอแห้ง ไอสำลัก แค่พูดลมเข้าปากก็ไอแล้ว ทำให้ทานไม่ค่อยได้ และอ่อนเพลียค่ะ ยาหลักๆ ที่คุณหมอเจ้าของไข้ให้คือ
1. ยาฉีดสเตียรอยด์ ลดอาการอักเสบ ขยายหลอดลม ลดไข้ ลดไอ (ไม่ทราบชื่อยา)
2. ยาฟาวิพิราเวียร์ (ได้วันแรก 18 กันยา) ปัจจุบันยังได้รับอยู่
3. Dextro 15 mg ปัจจุบันยังได้รับอยู่
4. Codesia Tab (ค)(*PL) ปัจจุบันยังได้รับอยู่
5. Acetin 200mg ปัจจุบันยังได้รับอยู่
6. Para 500mg ถ้าไม่มีไข้ก็ไม่ทานค่ะ
7. Diazepam 5 mg
8. VitC Hicee ยาเม็ด
วันเสาร์ที่ 25 ก.ย. ดิฉันได้คุยกับคุณหมอเจ้าของไข้ ยืนยันว่าเป็นคนไข้สีเขียว ผล x-ray ปอด ครั้งที่ 1 (16 ก.ย.) ปอดปกติ // ผล x-ray ปอด ครั้งที่ 2 (21 ก.ย.) ปอดปกติ มีเพียงอาการไอหนักที่หมอแปลกใจว่าทำไมยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร ส่วนค่าตัวเลขต่างๆ เช่น ค่าออกซิเจน ชีพจร ความดัน ยังถือว่าเป็นเกณฑ์ปกติ หมอสังเกตจากน้ำเสียงว่าคนไข้ดูมีความกังวลกว่าคนไข้ทั่วไป ถามถึงความเครียด จึงเล่าไปว่า อาจเป็นเพราะก่อนหน้าป่วยโควิด คนไข้มีอาการไม่สบาย ปัสสาวะขัด มีไข้ ไปอัลตร้าซาวด์ทราบผลว่าเป็นต่อมลูกหมากโตเมื่อวันที่ 9 กันยา พออาการเริ่มดีขึ้น ก็มาไอแห้งต่อเลย คงเห็นว่าตนเองป่วยในขณะที่ภูมิต้านทานต่ำจึงมีความเครียด และโดยส่วนตัวเป็นคนทำอะไรเป๊ะๆ เป็นเวลา การมากักตัวเป็นเวลานานคงส่งผลถึงจิตใจด้วย วันศุกร์ที่ 24 กันยา คุณหมอเริ่มให้ใส่ Oxygen Cannula วันอาทิตย์ที่ 26 กันยา คุณหมอเปลี่ยนเป็น หน้ากากออกซิเจนแบบมีถุงลม วันอังคารที่ 28 กันยา คุณหมอเปลี่ยนกลับมาเป็น Oxygen Cannula แจ้งว่าค่าออกซิเจนเริ่มดีขึ้น และได้รับแจ้งค่าต่างๆ จากพยาบาลดังนี้ค่ะ BP 93/67, P 76 R 20 T 36.8 OnO2 make c bag 8 lpm sat 96% เหนื่อยและเพลียเล็กน้อย
วันอังคารที่ 28 กันยา ทราบ ผล x-ray ปอด ครั้งที่ 3 (27 ก.ย.) ปอดด้านล่างทั้งสองข้างเริ่มมีฝ้า
หลังจากทราบผล x-ray ครั้งที่ 3 แล้ว คุณหมอแจ้งว่าเป็นปอดอักเสบ จะเพิ่มความเข้มข้นของยาสเตียรอยด์ให้ เริ่ม 28 กันยา และตรวจค่าน้ำตาลควบคู่ด้วย จากการสังเกต วันที่ 28-29 ก.ย. คนไข้มีการแชทมาพูดคุยกับดิฉันได้มากขึ้น และบอกว่าทานได้มากขึ้น นอนดีขึ้น เริ่มมีกำลังค่ะ ดิฉันคิดว่าเป็นสัญญาณที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม พี่น้องสามีเริ่มอยากให้ย้ายไปโรงพยาบาล เพราะคิดว่าฝ้าที่พบมาจากเชื้อโควิด และอยู่ Hospitel มา 14 วันแล้ว ทำไมไม่ดีขึ้น ดิฉันได้คุยอาการต่างๆ ให้ญาติที่เป็นหมอฟัง และช่วยวิเคราะห์ ทุกคนก็จะบอกว่า หมอเจ้าของไข้จะปรับการรักษา และหากไม่ดีขึ้นจะต้องนำส่งโรงพยาบาลแน่นอน ลักษณะฝ้าที่พบ เป็น ภูมิต้านทานตัวเองเริ่มทำลายปอด การอยู่ Hospitel ทำให้ญาติขอพูดคุยกับหมอเจ้าของไข้ยาก ไม่เหมือนการเข้าโรงพยาบาลเลยค่ะ เราต้องแชทไปแจ้งทีม Admin พยาบาล ว่าเรามีคำถามอะไรยังไง ฝากเรียนคุณหมอ ขอให้คุณหมอโทรกลับ
จากเรื่องราวข้างต้น เรียนถามคุณหมอว่ามีความคิดเห็นอย่างไร และมีข้อแนะนำอย่างไรบ้างค่ะ โดยเฉพาะการย้ายไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลตามที่ญาติสามีต้องการ ขอส่งภาพยา ภาพฟิล์ม x-ray (ถ่ายจากคอมฯ) และผล lab มาตามไฟล์แนบค่ะ
Note: สามีฝึกการหายใจ ฝึกการบริหารปอดตามบทความแนะนำของคุณหมอสันต์ค่ะ
ขอบพระคุณค่ะ
……………………………………………………………………
ตอบครับ
ก่อนจะตอบคำถามของคุณ และก่อนที่ผมจะลืม เพราะผมขี้ลืม ผมขอพูดกับท่านผู้อ่านทั่วไปก่อน ว่าจดหมายนี้เตือนให้ผมย้ำกับท่านสองประเด็น คือ
1.. อาการเด่นของโรคโควิดซึ่งแต่เดิมเป็นสามอาการคลาสสิก คือ ไข้ ไอ เมื่อยตัว นั้น ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว องค์กร ZOE ได้จัดทำระบบบันทึกอาการที่ใหญ่ที่สุดและเชื่อถือได้มากที่สุดในโลก สรุปว่าห้าอาการแรกของโควิดทุกวันนี้ไม่ใช่อาการสามคลาสสิก (ไข้ ไอ เปลี้ยล้า) แต่เป็นอาการ (1) น้ำมูกไหล (2) ปวดหัว (3) จาม (4) เจ็บคอ (5) จมูกไม่ได้กลิ่น ดังนั้นมองจากมุมอาการวิทยาให้ท่านสงสัยว่าเป็นโควิดไว้ก่อนหากมีอาการหนึ่งในห้านี้ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามันไม่ใช่
2.. เนื่องจากโรคโควิดตอนนี้กำลังจะถูกทั่วโลกลดชั้นยศจากการเป็นโรคระบาดใหญ่ (pandemic) ลงมาเป็นโรคประจำถิ่น (endemic) คือนับมันเป็นแค่โรคท้องถิ่นที่คาดการณ์ได้ จัดการได้ เมื่อมันเป็นโรคประจำถิ่นอย่างหวัดและไข้หวัดใหญ่ท่านจะต้องจัดการมันได้ด้วยตัวท่านเองก่อนเพื่อไม่ให้ตัวเองไปเป็นภาระกับโรงพยาบาล วิธีจัดการมันก็มีสามขั้น คือ
2.1 ท่านฉีดวัคซีนให้ครบก่อน โดยเฉพาะหากเป็นคนอายุมากและมีโรคเรื้อรัง
2.2 ทันทีที่เป็นหรือสงสัยว่าเป็นโควิด ให้ลงมือรักษาตัวเองทันทีด้วยยาฆ่าไวรัสที่ตัวเองหาได้ เช่นฟ้าทะลายโจร ไอเวอร์เมคติน หรือฟาวิพิราเวียร์ มีอะไรกินไปก่อน อย่าไปรอให้แพทย์ตรวจยืนยันแล้วสั่งยาให้ มันไม่ทันดอก
2.3 เมื่อป่วยเป็นโควิดได้ 14 วันแล้ว แม้ยังสะง็อกสะแง็กอยู่ แต่หมอให้กลับบ้านก็ควรจะกลับมาฟื้นฟูตัวเองที่บ้าน อย่าไปกอดเตียงโรงพยาบาลไว้เพราะจะได้แบ่งให้คนอื่นเขาใช้บ้าง
ยกตัวอย่างคุณสามีของคุณนี้ รู้ว่าภรรยาเป็นโควิดตั้งแต่วันที่ 14 กย. มาได้ยาฆ่าไวรัสวันที่ 18 กย. วันเวลานาทีทองผ่านไปเหน่งๆ 4 วันโดยปล่อยให้ไวรัสส้องสุมกำลังฟรีๆ มันเป็นวิธีจัดการโรคที่เสียหายไหมละ เพราะการจัดการโรคโควิดนี้ควรถือตำหรับพิชัยสงครามของซุนวูที่ว่า
“พึงเอาชนะสงครามด้วยการไม่เข้าสัมประยุทธ์ทุกคราวไป
เพราะชัยชนะจากการสัมประยุทธ์เป็นของไม่แน่”
แต่นี่แทนที่เราจะลงมือตัดกำลังข้าศึกก่อน เรากลับปล่อยให้เวลาผ่านไปฟรีๆตั้งสี่วันเพื่อรอการสัมประยุทธ์ คราวนี้จะชนะหรือแพ้ก็เป็นเรื่องของดวงแล้วสิครับ เมื่อมีอาการผ่านไปถึงหกวันแล้วการไปให้ยาฆ่าเชื้อไวรัสไม่มีประโยชน์แล้ว เพราะงานวิจัยพบว่าหากนับจากวันเริ่มมีอาการไปได้หกวัน หลังจากนั้นไวรัสแม้ยังอยู่ก็เหลือแต่ซากศพ หมดชีวิต หมดฤทธิ์ไปติดต่อใครไม่ได้แล้ว แต่สงครามระหว่างภูมิคุ้มกันกับซากเชื้อของไวรัสยังไม่จบ ผลก็คือสนามรบ ซึ่งก็คือปอด แหลกราญไปเลย
ถ้าผมเป็นคุณสามีนะ ผมจะกินฟ้าทะลายโจรตั้งแต่วันแรกที่รู้ว่าภรรยาติดโควิด กินไปจนครบห้าวัน เป็นไม่เป็นไม่รู้ แต่ตัดกำลังไว้ก่อน เพราะมีหลักฐานที่ดียืนยันว่าฟ้าทะลายโจรทำลายไวรัสโควิดได้ โดยที่ไม่มีผลเสียต่อตับต่อไตหรือทำให้เลือดแข็งตัวหรือไม่เข็งตัวอย่างที่คนเขากุข่าวขู่กันเลยแม้แต่น้อย การกินฟ้าทะลายโจรทันทีที่สัมผัสผู้ติดเชื้อหรือทันทีที่มีอาการสงสัยห้าอย่างข้างต้น มันคุ้มมากกว่าที่จะมารอการสัมประยุทธ์กันเป็นไหนๆ
เอาละ จบข่าวทั่วไปแล้ว คราวนี้มาตอบคำถามคุณ
1.. ถามว่าควรย้ายสามีไปเข้ารพ.เอกชนตามที่ญาติสามีเรียกร้องไหม ตอบว่าจะสนองคำเรียกร้องของญาติสามีหรือไม่ นั่นขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนออกเงินค่ารักษา (หิ..หิ ขอโทษ พูดเล่น) ตอบจริงๆว่าก็ในเมื่อหลักฐานการตรวจติดตามก็ชัดแล้วว่าออกซิเจนดีขึ้น คนไข้ก็มีอาการน้อยลง แล้วจะดิ้นรนย้ายไปรักษาที่อื่นทำไมละครับ ควรจะมองไปที่การกลับมาฟื้นฟูตัวเองที่บ้านมากกว่า อย่าไปดิ้นรนจะย้ายจากฮอสพิเทลไปเข้าโรงพยาบาลเลย
ส่วนประเด็นที่ว่าเอ็กซเรย์ปอดแย่ลงนั้นมันมีสองประเด็นย่อยนะ คือ (1) ความเปลี่ยนแปลงอาการจะเกิดก่อนความเปลี่ยนแปลงภาพเอ็กซเรย์เสมอ หมายความว่าภาพเอ็กซเรย์ที่เห็นวันนี้มันบอกเล่าเรื่องราวสองสามวันก่อน วันนี้เราต้องดูอาการและตัวชี้วัดอื่นเช่นออกซิเจนในเลือดเป็นสำคัญ (2) ภาพเอ็กซเรย์ที่คุณส่งมาให้ดูมันเป็นโควิดลงปอดจริง แต่ออกแนวเรื้อรังไปแล้ว ไม่ใช่เฉียบพลัน และมันก็ไม่ได้แย่มาก เอ็กซเรย์ของคนไข้ long covid ที่มาฟื้นฟูที่เวลเนสนี่แต่ละคนงี้ “เขรอะ” มากกว่าของคุณสามีคุณมากนัก ดังนั้นภาพเอ็กซเรย์ปอดอย่างนี้ไม่ได้เป็นข้อบ่งชี้ว่าต้องหนีจากหอผู้ป่วยเฉพาะกิจไปเข้าโรงพยาบาลให้ได้ ไม่จำเป็นเลยครับ
2.. ถามว่าแล้วคุณสามีควรจะอยู่กับโควิดซึ่งทำท่าจะลากยาวนี้ต่อไปอย่างไร ตอบว่าพวกหมอทางฝั่งยุโรปได้คิดยุทธศาสตร์เก้าอย่างขึ้นมาสอนให้คนไข้ใช้รับมือกับ long covid คุณก๊อปไปให้สามีใช้ได้เลย คือ
- เรียนรู้ที่จะย่างก้าวตามมันไป เพราะโรคนี้มันไปแบบขึ้นๆลงๆ เราก็ต้องตามไปให้ได้จังหวะ มันขึ้นเราก็ขึ้น มันลงเราก็ลง
- เรียนรู้ที่จะรับมือกับความไม่แน่นอน เพราะ Long COVID เป็นตัวอย่างของโรคที่คาดเดาอะไรไม่ได้อย่างแท้จริง อาการบางอย่างนึกว่าหายแล้ว อ้าว กลับมาอีกละ เป็นต้น
- การพักผ่อนเป็นกุญแจสำคัญ อาจจะต้องนอนกลางวันวันละสองสามครั้ง คือ ต้องพักให้พอ
- นอนหลับให้ดี ให้ได้หลับสนิท
- อาหาร ต้องเปลี่ยนอาหารไปเป็นอาหารพืชที่มีความหลากหลายในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ
- ให้ร่างกายได้รับน้ำเพียงพอ
- ใช้ชีวิตกลางแจ้ง ให้ได้แสงแดด
- เล่นกล้าม ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพราะเอกลักษณ์อันหนึ่งของลองโควิดคือกล้ามเนื้อพิการ กล้ามเนื้ออ่อนแรง การฟื้นฟูกล้ามเนื้อจึงสำคัญ
- ใช้ชีวิตให้สนุก เราไม่รู้หรอกว่าลองโควิดจะอยู่กับเราไปอีกนานเท่าใดหลังจากออกจากฮอสปิเทลแล้ว อาจนานเป็นปี ดังนั้นให้อยู่กับมันแบบสนุก
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์