ตามืดเฉียบพลันข้างเดียว (unilateral amaurosis fugax)
เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ
ผมอายุ 52 ปี แต่งงานมีลูกแล้ว เคยผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจแบบใส่ลิ้นเหล็ก (AVR) มาแล้วสี่ปี ทุกวันนี้กินยา warfarin 3 mg ต่อวัน ระดับผลเลือด INR ของผมอยู่ที่ 1.5 ไปตรวจกับหมอที่โรงพยาบาล... ทุกสองเดือน ก่อนหน้านั้นเมื่ออายุสี่สิบ ผมเป็นโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หมอทำผ่าตัดต่อไทรอยด์ แล้วกลายเป็นโรคต่อมไทรอยด์ไม่ทำงาน ต้องกินยา thyroxin วันละเม็ดทุกวันตลอดชีวิต ผมมีไขมันในเลือดสูงด้วย จึงต้องกินยา simvastatin 40 มก.ทุกวัน ตอนนี้เรื่องหัวใจสบายดีแล้ว แต่มีสองเรื่องที่กวนใจผมอยากรบกวนถามคุณหมอ คือ
1. การที่ผมเป็นต่อมไทรอยด์ไม่ทำงานแล้วต้องกินยาลดไขมันนี้ บางคนบอกว่ามันอันตรายนะ ไม่ควรกิน นั่นเรื่องหนึ่ง ความจริงเป็นอย่างไร ผมควรจะทำอย่างไร ควรจะเลิกกินยาลดไขมันไหม
2. กับอีกเรื่องคือผมมีประสบการณ์แปลกๆสี่ห้าครั้งนับตั้งแต่ผ่าตัดหัวใจมาที่อยากเล่าให้คุณหมอฟัง เคยเปรยให้หมอผ่าตัดฟังแต่ดูหมอเขาไม่สนใจ ได้แต่พยักเพยิดทำนองว่าไม่มีอะไรหรอก ภรรยาผมเธอให้เขียนมาเช่าให้คุณหมอสันต์ฟัง ครั้งแรกเกิดหลังผ่าตัดหัวใจได้สามปี ผมขี่สกู๊ตเตอร์แล้วรู้สึกเหมือนว่าตาข้างขวาของผมมองไม่เป็นไปวูบหนึ่ง นานประมาณ 30 วินาที แล้วก็กลับมาเป็นปกติ หลังจากนั้นก็เกิดเรื่องแบบนี้อีกสองสามครั้ง ทุกครั้งจะเกิดตอนที่ผมมีเรื่องเครียดๆบ่มเพาะเป็นพื้นฐานอยู่ สัปดาห์ที่แล้วก็เกิดเรื่องอีกสองครั้ง มันจะเกิดตอนที่ผมอยู่ในที่คนแน่นๆเยอะๆ แต่พอผมผ่อนคลายตัวเองลงทุกอย่างก็กลับมาเป็นปกติ ผมสงสัยว่านี่มันเป็นเพราะหลอดเลือดในสมองของผมมันหดตัวหรืออย่างไร ผมต้องระมัดระวังตัวเองอย่างไรจึงจะป้องกันมันได้
ขอบพระคุณที่อ่านเมลผมนะครับ
...........................................................
ตอบครับ
ช่วงนี้ผมกำลังสอนแค้มป์รีทรีตทางจิตวิญญาณ (Spiritual Retreat 4) ต้องทำตัวดี เข้านอนเร็ว เพื่อให้ตื่นเช้าทันพาคนออกนั่งสมาธิ ดังนั้นผมจะตอบจดหมายให้คุณอย่างสั้นๆนะ
1. คำถามเรื่องไฮโปไทรอยด์กับยาลดไขมัน ตอบว่าการเป็นโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ (hypothyroidism) ไม่ว่าโรคเกิดจากเหตุใดก็ตาม จะมีผลทำให้ความเสี่ยงของการเกิดพิษภัยจากยาลดไขมันต่อการเกิดกล้ามเนื้อเสียการทำงาน (statin-induced myopathy - SIM) มีมากขึ้นกว่าคนทั่วไป
อุบัติการณ์ของโรคกล้ามเนื้ออักเสบจากยาลดไขมัน (SIM) นี้มีประมาณ 0.1 - 2% หมายความว่าอย่างมากสุด คำว่า 2% หมายความว่าคนกินยาลดไขมัน 50 คนจะเกิดโรค SIM นี้ได้ 1 คน ส่วนอุบัติการณ์เกิดกล้ามเนื้อเสียการทำงานจากไฮโปไทรอยด์นั้นไม่มีใครทราบ ทราบแต่ว่ามันเกิดขึ้นมากกว่าคนปกติที่ไม่ได้เป็นไฮโปไทรอยด์
ต่อปัญหานี้ผมแนะนำคุณว่า
1.1 จะต้องเจาะเลือดตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ (FT4, TSH) อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าระดับฮอร์โมนไทรอยด์อยู่ในเกณฑ์ปกติ หากกินยาน้อยไป หรือปล่อยให้ระดับฮฮร์โมนไทรอยด์ต่ำหรือเป็นไฮโปไทรอยด์ จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อพิการจากยาลดไขมันมากขึ้น
1.2 จะต้องขยันสังเกตเฝ้าระวังอาการกล้ามเนื้อเสียการทำงานด้วยตัวเองทุกวัน อาการจะเป็นแบบปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเป็นตะคริว กล้ามเนื้อเปลี้ยไม่มีแรง เป็นต้น อาการมักจะชัดหลังการใช้งานกล้ามเนื้อมากผิดปกติ เช่นเพิ่งกลับจากไปเที่ยวต่างประเทศเป็นต้น
1.3 ขณะกินยาลดไขมัน ให้จัดการไขมันในเลือดสูงด้วยตนเองผ่านการปรับอาหารไปกินอาหารพืชเป้นหลักแบบไม่ใช้น้ำมันผัดทอดให้มากขึ้น และออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ ควบคู่ไปด้วย เมื่อระดับไขมันในเลือดลดต่ำลง ให้ค่อยๆลดยาลดไขมันลง ถ้าปรับอาหารและการออกกำลังกายได้สำเร็จ ระดับไขมันต่ำถึงปกติแม้จะให้ยาลดไขมันน้อยมาก ก็เลิกยาได้
2. คำถามเรื่องอาการตามืด อาการที่คุณเป็นภาษาแพทย์เรียกว่าเป็นโรค amaurosis fugax มันเกิดจากมีลิ่มเลือดเล็กๆปลิวมาจากที่ไหนสักแห่ง (ส่วนใหญ่มาจากหัวใจ ส่วนน้อยมาจากโรคหลอดเลือดตีบที่คอ (carotid atherosclersis) นี่เป็นเรื่องที่มีนัยสำคัญ มันเป็นเบาะแสว่าหากปล่อยให้จุดที่ปล่อยลิ่มเลือดยังอยู่ ลิ่มเลือดจะเพิ่มขนาดจากลิ่มเล็กๆเป็นลิิ่มใหญ่ๆ วันหนึ่งคุณก็จะตาบอดถาวรหรือเป็นอัมพาตถาวร ต่อปัญหานี้ผมแนะนำว่า
2.1 คุณจะต้องกลับไปหาหมอที่ใช้ยาวาร์ฟารินรักษาคุณอีกครั้ง หารือกับท่านจริงจังถึงความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มขนาดยาเพื่อให้ระดับการแข็งตัวของเลือด (INR) ขึ้นไปอยู่ที่ระดับสูงกว่า 2.0 ขึ้นไปตลอดเวลา ซึ่งเป็นระดับมาตรฐานที่ใช้กับผู้ป่วยที่ใส่ลิ้นหัวใจเทียมชนิดโลหะ เพราะมีโอกาสสูงมากที่ลิ่มเลือดจะปลิวออกไปจากลิ้นหัวใจเทียมนี้ หากคุณเพิกเฉยไม่ทำอะไร ลิ่มเลือดที่ก่อตัวจะใหญ่ขึ้นๆ มีหวังอุดตัวลิ้นจนต้องทำผ่าตัดใหม่ หรือไม่ก็ ป๊อก..ก...ก เป็นอัมพาตไปเลย
2.2 คุณควรจะไปตรวจดูหลอดเลือดแดงที่คอด้วยอุลตร้าซาวด์ (carotid artery duplex scan) เพื่อให้แน่ใจว่าคุณไม่ได้มีโรคหลอดเลือดตีบที่ตรงนี้ หากตรวจพบว่าคุณมีหลอดเลือดตีบที่ตรงนี้ มาตรฐานการรักษาก็คือทำการผ่าตัดชื่อ carotid endarterectomy แต่ว่าการผ่าตัดชนิดนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะคนที่เข้าผ่าตัดชนิดนี้ 2.5% จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงระดับเป้นอัมพาตถาวร ดังนั้นคุณต้องชั่งใจก่อนว่าถ้ามีโรคอยู่ คุณจะยอมผ่าตัดหรือเปล่า ถ้าหัวเด็ดตีนขาดอย่างไรก็จะไม่ผ่าตัด ก็ไม่ต้องไปตรวจหลอดเลือดที่คอ ตรวจไปก็ไม่เปลี่ยนแผนการรักษาแต่อย่างใด เสียเงินเสียเวลาเปล่า
ตอบคำถามหมดแล้วนะ..นอนดีก่า
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
2. Hamilton CI. Statin-associated myopathy. Med J Aust. 2001;175(9):486–9.
3. Duyff RF, Van den Bosch J, Laman DM, Potter van Loon BJ, Linssen WHJP. Neuromuscular findings in thyroid dysfunction: a prospective clinical and electrodiagnostic study. J Neurol Neurosurg Psychiatry. 2000;68:750–5.
4. Barahona MJ, Mauri A, Sucunza N, Paredes R, Wägner AM. Hypothyroidism as a cause of rhabdomyolysis. Endocr J. 2002;49(6):621–3.
5. Bhansali A, Chandran V, Ramesh J, Kashyap A, Dash RJ. Acute myoedema: an unusual presenting manifestation of hypothyroid myopathy. Postgrad Med J. 2000;76:99–100.
6. Kisakol G, Tunc R, Kaya A. Rhabdomyolysis in a patient with hypothyroidism. Endocr J. 2003;50(2):221–3.