นักออกแบบถามเรื่อง Senior complex

กราบเรียนสอบถามข้อมูลคุณหมอครับ
ขอนุญาตคุณหมอครับผม จดหมายอาจจะใช้ข้อความที่ไม่เป็นทางการครับ
ผมเป็นนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ครับ เนื่องด้วยโครงการวิทยานิพนธ์ของผมทำเกี่ยวกับเรื่องโครงการที่พักอาศัยของผู้สูงอายุแบบครบวงจรครับ แต่ผมยังขาดความเข้าใจในโครงการเรื่องระบบการจัดการต่างๆครับว่าเขาจัดการกันอย่างไร โดยโจทย์ที่ผมค้นหามา(เพื่อกำหนดเป็นโครงร่างวิทยานิพนธ์)จะเป็นโจทย์ที่กำหนดโดยกรมธนารักษ์ครับจะมีแผนจัดทำ Senior complex ซึ่งโครงการมีการรองรับรูปแบบของผู้สูงอายุตั้งแต่ติดสังคมไปจนถึงติดเตียง เลยอยากสอบถามความคิดเห็นจากคุณหมอครับ
ในความคิดเห็นของคุณหมอครับ
1.ถ้าโครงการที่พักอาศัยเป็น Senior complex โดยปรับรูปแบบเป็นการรองรับแต่ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองได้จะสามารถทำได้หรือเหมาะสมไหมครับ
2.ถ้ารูปแบบโครงการเป็นการรองรับแต่ผู้สูงอายุที่ยังช่วยเหลือตนเองได้ หากมีผู้สูงอายุที่เกิดความเจ็บป่วยหรือแก่ตัวลงจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ จะมีวิธีการจัดการอย่างไรกับผู้สูงอายุกลุ่มนี้ จำเป็นไหมที่จะต้องย้ายออกจากที่อยู่เดิม หรือหากผู้สูงอายุอาศัยในโครงการจนพบว่าตัวเองเริ่มเป็นโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ ควรจะคัดแยกผู้ป่วยประเภทนี้ไว้ในโซนที่จัดไว้ต่างหากหรือต้องย้ายออกครับ.
หรือคุณหมอพอจะทราบการจัดการของ Senior Complex หรือมีข้อมูลที่จะอธิบายเพิ่มเติมเพื่อเป็นวิทยาทานต่อผมจะขอบพระคุณยิ่งครับ

ขอขอบพระคุณคุณหมอเป็นอย่างสูงครับ

......................................................

ตอบครับ

     วันนี้เปลี่ยนบรรยากาศมาตอบจดหมายมโนสาเร่บ้างก็ดีนะครับ ในการตอบคำถามคุณนี้ผมขออนุญาตท่านผู้อ่านว่าจะใช้ศัพท์ง่ายๆคล่องๆปากหมอสันต์นะ คือจะเรียกการเสียชีวิตว่า "ตาย" จะเรียกพลเมืองอาวุโสหรือผู้สูงอายุว่า "คนแก่" ่จะได้ไม่ต้องพิมพ์ยาว พูดอย่างนี้คงได้เพราะตัวหมอสันต์เองก็เป็นคนแก่จะให้เรียกตัวเองว่าคนหนุ่มได้อย่างไร  เอาละมาตอบคำถาม

     1. ถามว่าถ้าสร้าง Senior complex ที่มุ่งรองรับแต่คนแก่ที่ช่วยเหลือตนเองได้จะสามารถทำได้หรือเหมาะสมไหม ตอบว่าทำได้ ตำรวจไม่จับหรอก แต่ว่าทำแล้วเจ๊งไม่รู้ด้วยนะ ก่อนจะพูดต่อว่าทำไมถึงเจ๊งต้องคุยกันถึงภาพใหญ่ก่อนนะ คือโครงการแบบที่คุณว่านี้เขาเรียกว่า independent living คือวงจรชีวิตของผู้สูงอายุมันเริ่มต้นด้วย

     (1) ขั้นไปไหนมาไหนได้เอง เรียกว่า independent living 

     (2) แล้วต่อมาแม้จะยังอยู่ในบ้านของตัวเองแต่ก็ต้องมีคนมาช่วยบ้างจึงจะอยู่ได้ เช่นมาพาอาบน้ำ พาเช้านอน มาพาไปชอปปิ้ง มาทำแผลเรื้อรังให้ เรียกว่า assisted living ขั้นนี้ผู้ดูแลอาจแวะมาดูแบบมาแล้วก็ไป เช่นพยายาลเยี่ยมบ้านของรพ.สต. เป็นต้น

     (3) แล้วต่อมาก็ป่วยเรื้อรังติดเตียงต้องนอนแซ่วแต่ยังอยู่ได้อีกนาน ต้องมีผู้ดูแลหยอดข้าวหยอดน้ำประจำเรียกว่า chronic care facilities ขาประจำในกลุ่มนี้ก็คือผู้ป่วยอัมพาตและผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ขั้นนี้ผู้ดูแลต้องอยู่ประจำแบบนอนเฝ้ากันเลย อาจจะเป็นผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมมาทำอาชีพนี้โดยเฉพาะ หรืออาจจะเป็นลูกหลานของผู้สูงอายุนั่นแหละ สถานที่ถ้าเป็นของฝรั่งก็มักจะออกแบบเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ถ้าเป็นของไทยก็มักอยู่ในโรงพยาบาลบ้าง เนอร์สซิ่งโฮมบ้าง ที่บ้านบ้าง

     (4) แล้วก็มาถึงระยะที่นอนติดเตียงระดับใกล้จะตายเต็มที ประมาณว่าคงอยู่ได้อีกไม่กี่สัปดาห์หรืออย่างมากสองสามเดือน เรียกว่า end of life care ระยะนี้ถ้าเป็นฝรั่งเขาจะไปอยู่ในเนอร์สซิ่งโฮมหรือฮอสพีซ คนไทยก็กระจายอยู่ทั่วไป ส่วนใหญ่อยู่ในโรงพยาบาล ถ้าเป็นคนรวยในภาคเอกชนก็นอนแช่ยาวอยู่ในไอซียู.แบบว่าเอาไว้ในไอซียู.แล้วญาติสบายใจเฉิบไปไหนต่อไหนได้เลยโดยไม่ต้องเฝ้าและไม่มีความรู้สึกผิดด้วย..ขอบคุณไอซียู. แต่ถ้าเป็นรพ.ภาครัฐคนที่จะนอนแช่ยาวอยู่ในไอซียู.ได้ต้องเป็นคนมีเส้น หมายความว่าเส้นทางหมอนะ ไม่ใช่เส้นทางนักการเมือง ถ้าเป็นคนมีฐานะพอควรไม่ถึงกับรวยก็อยู่ห้องพิเศษเดี่ยวโดยมีคนรับจ้างเฝ้าบ้างให้ญาติเฝ้าเองบ้าง ระยะสุดท้ายของชีิวิตนี้มีน้อยมากที่จะได้อยู่ที่บ้าน เพราะคนไทยสมัยนี้แทบจะถือเป็นกฎไปเสียแล้วว่าหากจะตายต้องไปตายที่โรงพยาบาล จะตายที่บ้านไม่ได้ แม้ผู้ป่วยที่ออกไปอยู่เนอร์ซิ่งโฮมแล้วพอจะเสียชีวิตจริงๆก็ยังต้องกะย่องกะแย่งเอารถแอมบูแล้นซ์เปิดหวอขนกันไปตายที่โรงพยาบาล เพราะถ้าปล่อยให้ตายที่เนอร์สซิ่งโฮมก็มีความเสี่ยงที่ญาติๆจะมาล้งเล้งว่าทำไมไม่พาไปโรงพยาบาล ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมคนไทยคิดอย่างนี้

     ที่ผมบอกว่าการสร้างที่พักที่มุ่งรองรับคนแก่ระดับ independent living มีโอกาสเจ๊งนั้นหมายความว่าอย่างไร หมายความว่าพราะคนแก่ระดับนี้ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวลูกหลานตัวเองได้อย่างลงตัวอยู่แล้ว ลูกหลานไม่รังเกียจแถมชอบเสียอีกเพราะช่วยเลี้ยงหลานให้ ที่ไม่มีลูกหลานก็อยู่ในสังคมปกติได้อย่างลงตัวอยู่แล้วเช่นกันไม่ว่าจะเป็นการอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรหรืออยู่คอนโด ผมรับประกันร้อยเอาขี้หมาก้อนเดียวว่าไม่มีใครคิดอ่านขายบ้านเพื่อย้ายไปอยู่นิคมคนแก่อย่างแน่นอนเนื่องจากการทำอย่างนั้นมีความเสี่ยงสำหรับผู้สูงอายุไทยด้วยประการทั้งพวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นความเสี่ยงที่จะสูญเสียการเชื่อมต่อหรือ connection กับญาติสนิทมิตรสหายและเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับผู้สูงอายุไทย

     2. ถามว่าถ้าทำ senior complex ที่รองรับแต่คนแก่ที่ยังช่วยเหลือตนเองได้ แล้วต่อมามีคนแก่ที่เกิดเจ็บป่วยช่วยเหลือตนเองไม่ได้ขึ้นมา จะมีวิธีการจัดการอย่างไร ตอบว่าคุณไม่ต้องห่วงหรอกครับ ปัญหานี้ไม่มี เพราะโครงการของคุณจะไม่มีใครมาซื้ออยู่อยู่แล้ว เนื่องจากเหตุผลเดียวที่ผู้สูงอายุไทยในวัย independent living จะซื้อที่อยู่อาศัยใน senior complex ก็คือซื้อทิ้งไว้เผื่อตัวเองล้มหมอนนอนเสื่อช่วยตัวเองไม่ได้แล้วเขาจะได้ย้ายเข้าไปอยู่ ถ้าไม่มีระบบดูแลผู้สูงอายุที่ล้มหมอนนอนเสื่อแล้วให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม โครงการของคุณขายไม่ออกหรอก 

     3. ถามว่าถ้าอย่างนั้นจะสร้าง senior complex อย่างไรให้รองรับผู้ที่เดิมเคยไปไหนมาไหนได้เองแต่ต่อมาผู้ป่วยช่วยนั้นตัวเองไม่ได้หรือกลายเป็นอัลไซเมอร์ไป ตอบว่าในเมืองไทยใช้วิธีให้กรรมการลงมตินิมนต์ออกไปอยู่ที่ชอบที่ชอบข้างนอกโดยรับซื้อห้องคืนในราคาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ในต่างประเทศทำกันหลายวิธี เช่น

     (1) สร้างเป็นชุมชนผู้เกษียณที่รับจ้างดูแลต่อเนื่องทุกกรณีจนเสียชีวิต (continuous care retirement community - CCRC) ซึ่งบริษัทผู้สร้างก็ต้องสร้างเนอร์สซิ่งโฮม และสร้างตึกอัลไซเมอร์สำหรับขังคนแก่ขี้หลงขี้ลืมไว้ในชุมชนนั้นด้วย ค่าซื้อเข้าอยู่ในชุมชนแบบนี้จึงแพงหูดับ และมักมีปัญหาฟ้องร้องว่าซื้อแล้วไม่ดูแลจริง จนสมัยนี้จะเข้า CCRC ต้องเซ็นสัญญาก่อนว่าจะไม่ฟ้องบริษัท ถ้าไม่เซ็นก็ไม่ขายให้

     (2) สร้างเป็นชุมชนคนแก่ (senior community) ที่มีบริการเอกชนในเรื่องการดูแลไว้ครบถ้วนภายในชุมชนนั้นโดยสมาชิกจ่ายเงินซื้อบริการเอง เช่นมีคลินิก เนอร์ซิ่งโฮม มีอัลไซเมอร์ยูนิต มีบริการรถส่งอาหารถึงบ้าน มีบริการซักรีด มีบริการส่งผู้ดูแลไปเยี่ยมตามบ้านหรือไปอยู่ประจำในบ้าน เป็นต้น  ชุมชนแบบนี้ฝรั่งทำได้เพราะฝรั่งสร้างชุมชนปุ๊บมีคนเข้าอยู่ปั๊บพรึบพรับ บริการต่างๆจึงทำมาหากินได้ลื่นไหลไม่ติดขัดเพราะมีลูกค้า แม้กระทั่งบาร์เต้นรำก็ยังมีลูกค้าวัยดึกอุดหนุนกันคับคั่ง หมู่บ้าน The Villages ที่ฟลอริด้าเป็นตัวอย่างของชุมชนแบบนี้ แต่เมืองไทยชุมชนผู้สูงอายุที่เอกชนสร้างขึ้นมาล้วนถูกทิ้งเป็นชุมชนร้าง หมายความว่าขายยูนิตได้จริง แต่คนซื้อไม่เข้ามาอยู่ เพราะซื้อทิ้งไว้กะรอจนป่วยไปไหนไม่รอดแล้วค่อยย้ายมาอยู่ ชุมชนจึงร้าง บรรดาธุรกิจบริการที่ตั้งท่าเตรียมไว้ก็เจ๊งไปหมดเพราะไม่รู้จะไปขายบริการให้ใคร เช่นที่โฆษณาว่าจะมีแปลงผักเกษตรอินทรีย์ส่งผักตรงถึงบ้านก็เหลือแต่แปลงหญ้าอินทรีย์แทน หิ หิ

     (3) ผู้สูงอายุรวมหัวกันสร้างชุมชนเพื่อนบ้านเกื้อกูลขึ้นมาเอง (senior co-housing) แล้วลงขันกันผลิตบริการต่างๆป้อนตัวเองซึ่งทำให้ประหยัดขึ้น เช่นลงขันจ้างคนสวนร่วมกัน ลงขันเงินกองกลางจ้างผู้ดูแลตระเวณเยี่ยมบ้าน ผลัดกันดูแลกันและกันยามเจ็บป่วยแล้วนับชั่วโมงดูแลเป็นเครดิตไว้เวลาต้วเองป่วยจะได้ใช้สิทธิ์จากเงินกองกลางบ้าง เป็นต้น เมืองไทยยังไม่มี หมอสันต์ลองทำอยู่ จะออกหัวหรือออกก้อยยังต้องชกกันอีกหลายยก ยังอีกนานหลายปีกว่าที่จะสรุปได้  
 
     ความรู้เรื่องชุมชนคนแก่ทั้งหมดก็มีประมาณนี้แหละ ส่วนใหญ่เป็นประสบการณ์ของฝรั่ง ของไทยยังไม่มี และจะไม่มีในยี่สิบปีข้างหน้านี้ เพราะนักลงทุนไทยนั้นส่วนใหญ่เขาเป็นคนขี้ป๊อด คือถ้าไม่ชัวร์ว่าจะได้กำไรเขาก็ไม่ลง อย่าไปถามหาเลยที่เรียกว่า social creativity นะ แม้จะมีเงินเป็นหมื่นเป็นแสน (ล้าน) เขาก็ไม่ลงเพราะเขาขี้ป๊อด ที่เงื้อง่าหรือลงไปบ้างแล้วนั้นก็ลงทุนแบบเซฟๆโฆษณาบนกระดาษขายใบจองเอาเงินลูกค้ามาสร้างแบบมุ่งขายยูนิตให้ได้ก่อนลูกเดียว ซึ่งจะจบลงด้วยขายยูนิตได้จริง แต่โครงการเป็นตึกร้าง เพราะโครงการแบบนี้จะไม่สำเร็จหากไม่ยอมลงทุนสร้างชุมชนให้เกิดขึ้นให้ได้ก่อน การลงทุนสร้างชุมชนผมหมายความว่าอาจจะต้องทำถึงจ้างคนแก่ที่พูดภาษาคนรู้เรื่องให้อพยพเข้ามาอยู่ในชุมชนอย่างถาวรเพื่อให้เกิดชุมชนจริงๆขึ้นมาก่อน ซึ่งไม่มีนักลงทุนคนไหนกล้าทำแบบนี้ ดังนั้นผมจึงว่าอีกยี่สิบปีข้างหน้าคุณก็จะยังไม่ได้เห็น senior complex ของจริงในเมืองไทย

     อย่างไรก็ตาม คุณไม่ใช่นักลงทุน คุณมีหน้าที่ฝันแล้วเขียนแบบส่งครู คุณก็ทำแค่นั้น ไหนๆจะฝันทั้งทีผมจะบอกให้คุณทราบประเด็นสำคัญเพื่อประกอบความฝันของคุณดังนี้ 

     คอนเซ็พท์สากลปัจจุบันของการเป็นคนแก่คือ "แก่อย่างแอคทีฟ (Active Aging)" หมายถึงว่าจะทำอย่างไรให้คนแก่มีชีวิตที่มีคุณภาพใน 3 ประเด็น คือ (1) มีสุขภาพดี (2) มีส่วนร่วม และ (3) มีความมั่นคงปลอดภัย ทั้งสามนี้ผมขอเจาะลึกเฉพาะเรื่องมีส่วนร่วม ผมหมายถึงร่วมในกิจกรรมด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม จิตวิญญาณ และกิจกรรมชุมชนต่างๆ แม้จะเกษียณแล้ว หรือป่วยแล้ว หรือทุพลภาพแล้ว ทุกคนก็ยังสามารถทำอะไรให้แก่ครอบครัว เพื่อน ชุมชน และประเทศของตนเองได้ ไม่ใช่ว่าพอแก่เหนียงยานหน่อยหรือป่วยนิดป่วยหน่อยก็นอนรอเป็นปุ๋ยเสียแล้ว

     นอกจากนี้ ชุมชนต้องเป็นที่สร้างดุลยภาพระหว่างสามอย่างคือ

     (1) ความสามารถที่จะดูแลตัวเอง หรือ self care
     (2) ความเป็นปึกแผ่นระหว่างคนในชุมชน (social solidarity) 
     (3) สิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรกับคนแก่ (age friendly environment)

     ผมจะขยายความในประเด็นเดียว คือการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรกับคนแก่เพราะคุณเป็นสถาปนิก  หลักการก็คือทำอย่างไรจึงจะให้ healthy choices เป็น easy choices สำหรับผู้อยู่อาศัยในชุมชนนี้  หมายความว่าอะไรที่ดีๆต่อสุขภาพสามารถหาได้ง่ายๆในชุมชนนี้ เช่น
     3.1 จะต้องมีทางให้เดินหรือให้ขี่จักรยานมากๆ 
     3.2 จะต้องมีปารค์เขียวๆที่ทุกคนมาพักผ่อนหย่อนใจได้ฟรี
     3.3 อาหารสุขภาพจะต้องหาซื้อได้ง่าย 
    3.4 บริการสุขภาพทั้งแผนปัจจุบันและทางเลือกเช่นนวดบำบัด กายภาพบำบัด ก็ควรหาใช้ได้ง่ายๆ
    3.5 กิจกรรมร่วมกลุ่มเชิงสุขภาพจะต้องมีให้ไปร่วมได้ง่ายๆและใกล้ๆ เช่นจะเต้นรำ ร้องเพลง เล่นโยคะ รำมวยจีน เรียนทำกับข้าว ระบายสีน้ำ ก็ไม่ต้องไปไกล มีที่ให้เข้าร่วมได้ใกล้ๆง่ายๆในชุมชน
     ในแง่คุณภาพชีวิตของคนแก่ คือคนแก่แต่ละคนย่อมมีอัตลักษณ์ของตัวเอง มีประวัติศาสตร์ ค่านิยม ความรู้ ประสบการณ์ เจตคติ และสายสัมพัันธ์ ของตัวเอง เขาหรือเธอจึงต้องมีอิสระ มีโอกาสเลือก มีโอกาสที่จะได้ตัดสินใจเองใช้จุดแข็งของตัวเอง ในภาพใหญ่คุณภาพชีวิตจึงขึ้นกับสองปัจจัยหลัก คืือ
     (1) การมีอิสระ (autonomy) หมายถึงการสามารถตัดสินใจเองว่าวันหนึ่งๆจะใช้ชีวิตอย่างไร จะทำอะไรก็สามารถทำได้อย่างที่ใจตัวเองปรารถนา ชุมชนที่ดีจึงต้องเอื้อให้คนแก่สามารถใช้ชีวิตอยู่กับจุดแข็งของเขาเองได้ 
     (2) การพึ่งตัวเอง (independence) หมายถึงความสามารถทำกิจกรรมจำเป็นในชีวิตประจำวันขณะอยู่ในบ้านเช่นอาบน้ำ กินข้าวหรือขณะอยู่ในชุมชนเช่นเดินตามทางเท้าหรือข้ามถนนได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาคนช่วยหรือพึ่งน้อยที่สุด

    การออกแบบต้องช่วยขจัดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่จะจำกัดอิสระภาพและการพึ่งตนเองของคนแก่ ซึ่งในทางการแพทย์เรียกรวมๆว่า กลุ่มอาการคนแก่ (geratic syndrome) ซึ่งมีอยู่เก้าอย่าง คือ

(1) ลื่นตกหกล้ม
(2) กระดูกหัก
(3) อ่อนแอสะง็อกสะแง็ก (frail)
(4) ความจำเสื่อม
(5) ซึมเศร้า
(6) ขาดอาหาร
(7) กินยาเยอะเกิน
(8) อั้นปัสสาวะไม่อยู่ และ
(9) ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
  
     ในการออกแบบชุมชนคนแก่นี้คุณอย่าไปวอรี่กับการสร้างสถานพยาบาลรักษาโรคไว้ภายในชุมชน ไม่ต้องเลย อย่างมากก็มีแค่คลินิกส่งเสริมสุขภาพ ให้คุณโฟกัสที่การมีสุขภาพดี เพราะการมีสุขภาพไม่ดีเป็นต้นทุนที่สูงมากเกินกว่าที่จะออกแบบอะไรไปรองรับได้ ถ้าเราไปโฟกัสที่การรักษาโรคเงินเท่าไหร่ก็ไม่พอและชีวิตทั้งชีวิตจะหมดไปกับการเข้าๆออกๆโรงพยาบาล ให้โฟกัสที่การส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และฟื้นฟูสมรรถนะ ซี่งไม่ต้องใช้เงินมาก ส่วนคนแก่ที่ล้มป่วยลงไปแล้วไม่ต้องไปโฟกัสมาก เพราะอย่างไรเสียก็ต้องตายอยู่ดีเนื่องจากแก่แล้ว ถ้าจำเป็นก็พึ่งบริการของระบบโรงพยาบาลภายนอก แต่คุณควรจะโฟกัสที่ home-based care ไม่ใช่ institutional care หมายความว่าให้ได้แก่ในที่ตั้ง ตายในที่ตั้ง อย่าใช้คอนเซ็พท์เอะอะก็ขนกันไปตายที่โรงพยาบาล การออกแบบชุมชนที่ดีต้องเอื้อให้คนแก่ในชุมชนทำอย่างนี้ได้ 

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ 

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี