เส้นแบ่งระหว่างการ spoil ลูก กับการเข้าใจความรู้สึก

เรียนอาจารย์สันต์ที่เคารพ

หนูเคยเข้าแค้มป์ MBT 1 วัน (อันน้อยนิด) กับอาจารย์เมื่อ ... ความเครียดของหนูก็ยังคงเป็นเรื่องเดิมๆคือเรื่องการเลี้ยงลูกค่ะ หนูพยายามฝึกตามที่อาจารย์สอนเรื่องการไม่ไปกำหนดสถานะ หรือการไม่ไป label ความเป็นตัวนั่นตัวนี่ เป็นแม่ เป็นเมีย เป็นบลาๆๆๆ ยอมสารภาพกับอาจารย์ตามตรงว่าทำได้บ้างไม่ได้บ้างค่ะ ทุกวันนี้หนูฝึกสติวันละ 10 นาที ออกกำลังกายแบบหอบแฮ่กๆ วันละ 30 นาที สลับกับสร้างกล้ามเนื้อ นอนหลับวันละ 8-9 ชม. ก็พอจะบรรเทาความไม่สบายใจไปได้บ้างค่ะ
หนูมีคำถามเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกค่ะ ลูกสาวคนโตกำลังจะเป็นวัยรุ่นตอนต้น (9 ขวบ) เริ่มมีการเรียกร้องความสนใจจากแม่ (พ่อทำงานตจว. เสาร์อาทิตย์ถึงจะกลับมาเจอลูก) ที่คิดว่าเขาเรียกร้องความสนใจคือที่ผ่านมาแม่ให้ความสนใจน้อง 8 ขวบที่เป็นสมาธิสั้นมากกว่าค่ะ พักนี้ลูกสาวมักจะขอให้แม่ไปไหนกับเขาแค่ 2 คนโดยไม่มีน้อง ถ้ากิจกรรมไหนมีน้องร่วมด้วยเขามักจะร้องไห้ ไม่ยอมไป (เมื่อวานถึงกับเปิดประตูรถ จะลงจากรถกลางสี่แยกเลยค่ะ) หนูกับสามีตกใจมากเพราะลูกไม่เคยเป็นแบบนี้ เลยต้องยอมให้น้องไปกับพ่อ ส่วนลูกสาวไป park กับแม่ เมื่อเช้านี้ก็มีเหตุอีกคือ ปกติวันจันทร์ตอนไปรร.พ่อเขาจะเดินลงจากรถไปส่งที่แถวแล้วแม่จะวนรถรอรับพ่อกลับ แต่เมื่อเช้าไปถึงรร.สายลูกสาวร้องขอให้แม่ลงไปส่งด้วย แม่ก็บอกโอเค เดี๋ยวแม่หาที่จอดรถแล้วเดี๋ยวตามไปส่ง ลูกสาวก็เดินเข้ารร.ไปกับพ่อแต่ไม่ยอมขึ้นห้องเพราะรอแม่ พ่อเค้าบอกว่าแม่ไม่มาหรอก ไม่ต้องรอ(หนูตั้งใจทำตามที่บอกลูกไว้ค่ะ แต่พ่อเขามองว่าไร้สาระ ทำไม spoil ลูก) แค่นั้นแหละ ลูกสาวน้ำตาไหลพราก ไม่ยอมเข้าห้องเรียน พ่อเขาเลยเดินออกมาดื้อๆซะงั้น ปล่อยลูกยืนคิดเองว่าเอาไงต่อดี หนูพอจอดรถได้ก็รีบเดินตามลูกไป ก็พบว่าเขาเดินขึ้นห้องไปแล้ว หน้าตาเครียดเลยทีเดียว หนูบอกลูกว่าพ่อไม่รู้ว่าแม่จะลงมาส่งหนูด้วยเลยพูดไปยังงั้นเอง พอลูกสาวเจอแม่เขาก็ดูโอเคขึ้นค่ะ
อาจารย์คะ หนูมานึกทบทวนว่าหนู spoil ลูกหรือเปล่า หนคิดเอาเองว่าหนูใช้ใจเลี้ยงลูกค่ะ ถ้าหนูเป็นเค้าหนูอยากให้พ่อแม่ปฏิบัติอย่างไรกับเค้า เช่นบางทีเค้าลืมของไว้ที่บ้านหนูก็วิ่งเอาไปให้ แต่ไม่บ่อยนะคะ (บ้านห่างจากรร.15 นาที) ถ้าหนูไม่ว่างหนูก็ไม่เอาไปให้ แต่เขาจะมีบ่นเช่นลืมเอาชุดว่ายน้ำไป ก็ต้องใช้ของ spare ที่รร.ซึ่งสภาพเน่ามาก เพราะไม่เคยซัก เขาบอกเขาไม่อยากใช้ spare ค่ะ หนูก็รีบบอกเลยว่าทีหลังก็อย่าลืมนะลูก แต่ก็ยังมีลืมซึ่งหนูก็วิ่งเอาไปให้ เฮ่อ !! (ถอนหายใจเพราะไม่รู้ว่าทำถูกไหม) สามีชอบบ่นว่าหนู spoil ลูก แล้วชอบยกตัวอย่างว่าเด็กคนอื่น ป.3 ป.4 เขาขึ้นรถเมล์ไปรร.เองแล้ว นี่อะไรลูกเราพ่อแม่ขับรถมารับส่งแถมยังส่งถึงห้องเรียนอีกด้วย และยังมีอีกหลายเรื่องทีสามีคิดว่าหนู spoil ลูก แต่หนูไม่ขอเล่าละเอียดนะคะ กลัวจะยาวเกินไป

อาจารย์คะ หนูเล่ามายาวแต่ขอถามสั้นๆว่า อะไรคือเส้นแบ่งระหว่างการ spoil ลูกกับการเลี้ยงลูกด้วยความพยายามเข้าใจความรู้สึกของเค้าคะ

ขอบพระคุณอาจารย์มากๆค่ะ

.....................................................

ตอบครับ

     1. ถามว่าอะไรคือเส้นแบ่งระหว่างการ spoil ลูกกับการเลี้ยงลูกด้วยความพยายามเข้าใจความรู้สึกของเขา ตอบว่าเส้นแบ่งนั้นไม่มี เพราะทั้งสองเรื่องคือเรื่องเดียวกัน

     วิธีเลี้ยงลูกที่ถูกต้อง ไม่ใช่พยายามเข้าใจความรู้สึกของเธอ แต่ต้องฝึกสอนทักษะในการรับมือ (coping skill) ให้เธอ คือให้เธอได้เจอสถานะการณ์ล้มลุกคลุคลาน คาดการณ์อะไรไม่ได้ แล้วให้เธอหัด cope ด้วยตัวเอง เธอต้องเรียนรู้ว่าไม่มีใครเข้าใจเธอร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก ใจใครก็ใจมัน แต่ทุกคนต้องเคารพกฎกติกามารยาทจึงจะอยู่กันได้ มาเริ่มตอนนี้เกือบจะสายแต่ยังไม่สายเกินไป เพราะถ้าเธอเข้าสู่วัยรุ่นเต็มตัวแล้วต่อให้คุณอมพระมาพูดก็กู่ไม่กลับแล้ว นู่น..น จนเธอได้ไปทำงานทะเลาะกับผู้คน ถูกคนอื่นบ้องหูหลายๆทีนู่นแหละเธอถึงจะเริ่มฝึกทักษะการรับมือด้วยตัวเขาเองได้ บางคนก็ฝึกไม่ได้เลยต้องซุ่มอยู่แต่ในบ้านออกไปเผชิญชีวิตนอกบ้านไม่ได้แม้จะเรียนหนังสือจบเข้าวัยผู้ใหญ่แล้วก็มีแยะ

     การเลี้ยงลูกแบบที่คุณกำลังทำอยู่นั้นพูดแบบบ้านๆก็คือเป็นการ spoil ลูก คุณกำลังสอนให้ลูกเข้าใจชีวิตผิดไปว่าตัวเธอเองเป็นคนที่มีอิสระเสรีมีอำนาจ (autonomy) หมายถึงการเป็นคนที่เกิดมาแล้วคิดอ่านอยากได้อะไรก็ได้อย่างใจไปเสียหมด แต่ไม่ได้เรียนรู้ที่จะรับมือกับผลของการที่จะได้อะไรมาอย่างใจด้วยตัวเอง (coping skill) เพราะผิดพลาดเละเทะอย่างไรก็ไม่ต้องรับผลเสียเนื่องจากมีแม่แบ้คอัพให้และคอย cope แทน การช่วยไม่ให้ลูกถูกทำโทษเป็นการปฏิเสธความล้มเหลวของลูกแบบเอาหัวมุดทราย ทำให้เด็กเข้าใจผิดว่าชีวิตนี้จะล้มเหลวไม่ได้ และเมื่อล้มเหลวขึ้นมาก็ไม่รู้จะรับมืออย่างไร เธอจะเติบโตไปเป็นคนที่ไม่มีฝีมือพอที่จะเชื่อถือได้ ฝรั่งเรียกว่าเป็นคนไม่มี accountability คนอย่างนี้อย่างเก่งก็จะเป็นคนชอบทำอะไรเละตุ้มเป๊ะแล้วเดินหนีไปดื้อๆทิ้งให้คนอื่นมาแก้ ส่วนพวกที่เป็นอย่างไม่เก่งก็จะเป็นคนหมกตัวอยู่แต่ในบ้านไม่กล้าออกจากบ้านไปยุ่งกับใครที่ไหน

     การสอนลูกที่ถูกต้อง คุณต้องสอนให้ลูกอยากได้อะไรให้เธอพยายามทำเอาเอง คุณอาจจะช่วยชี้แนะผลดีผลเสียล่วงหน้า ถ้าเธอทำผิดพลาดเช่นลืมเอาของไปโรงเรียน ต้องปล่อยให้เธอรับหน้ากับครูเอง ถ้าเธอถูกครูตีกลับมาร้องห่มร้องไห้คุณก็ปลอบและชี้ประเด็นให้เห็นว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้วคนฉลาดต้องยอมรับมันลูกเดียวว่ามันเกิดขึ้นแล้ว จะไปปฏิเสธมันจะมีประโยชน์อะไรเพราะมันเกิดขึ้นแล้ว แล้วยกตัวอย่างชีวิตจริงให้เห็นว่าคนเราทำผิดพลาดถูกลงโทษเป็นเรื่องธรรมดา เราต้องยอมรับการถูกลงโทษหรือการเสียหน้า เพราะมันเป็นธรรมดาของชีวิตที่อยู่กันเป็นสังคมแล้วต้องมีการทำผิดพลาด การยอมรับผิดและยอมรับการเสียหน้าเป็นบทสอนอย่างดีว่าหน้าเป็นเพียงอีโก้ เราปั้นอีโก้ขึ้นมาได้ มันก็ถูกทำลายได้ การหลงปกป้องอีโก้ที่เราปั้นขึ้นมามีแต่จะทำให้เราทุกข์ร้อนใจโดยไม่จำเป็น การลงโทษของครูมีข้อดีที่เตือนให้เราระมัดระวังรอบคอบยิ่งขึ้นในครั้งหน้า ความผิดพลาดครั้งนี้มันป้องกันได้นะ โดยวิธีทำอย่างนี้อย่างนี้ แต่ถ้าคุณไปแก้ปัญหาให้ลูกเพื่อไม่ให้ลูกถูกลงโทษ ลูกก็เสียโอกาสที่จะได้เรียนบทเรียนสำคัญอย่างนี้

    2. ปัญหาพี่อิจฉาน้อง อันที่จริงรากของปัญหาก็เป็นปัญหาเดียวกับการเลี้ยงลูกแบบตามใจจนเสียคน กลไกของม้นเป็นกลไกการบ่มเพาะตัวตนหรืออีโก้ มันเป็นเรื่องลึกซึ้งที่คุณอาจคิดว่ามันไม่เกี่ยวกัน แต่ให้คุณค่อยๆทนอ่านไปนะ มันจะมีประโยชน์ในการที่คุณจะเลี้ยงดูลูกต่อไปข้างหน้า

     กล่าวคือเมื่อแรกเกิดมา สิ่งที่เป็นต้วตั้งต้นชีวิตของคนเราคือความรู้ตัว (consciousness) ซึ่งเป็นพลังงานในความว่าง เมื่อคลอดออกมา ความรู้ตัวมีมาพร้อมกับร่างกายแล้ว อันที่จริงพูดว่ามีความรู้ตัวอยู่แล้วโดยมีร่างกายอยู่ในความรู้ตัวนั้นจะถูกกว่า จากนั้นเด็กทารกก็ค่อยๆเรียนรู้ว่าร่างกายนี้เป็นส่วนที่ตัวเองควบคุมได้ สิ่งแวดล้อมอื่นๆตัวเองควบคุมไม่ได้ คือเรียนรู้ว่านี่เป็น "ฉัน" โน่นไม่ใช่ฉัน ดังนั้น "ฉัน" เป็นความคิดแรกของมนุษย์เรา จากนั้นเด็กก็เรียนรู้คอนเซ็พท์ "ของฉัน" ของเล่นของฉัน แม่ของฉัน พ่อของฉัน นานเป็นปีเด็กก็ค่อยๆถักทอคอนเซ็พท์ "ของฉัน" ขึ้นเป็นคอนเซ็พท์ "ความเป็นบุคคลของฉัน"  เรียนรู้ชื่อของตัวเอง เรียนรู้การถักทอความคิดให้หนักแน่นจนความเป็นบุคคลของตัวเองมีความจริงจัง ในการนี้เด็กจะค่อยๆเชื่อคอนเซ็พท์เรื่องความเป็นบุคคลนี้ไปด้วยว่ามันเป็นของจริง ความเชื่อว่าความเป็นบุคคลของตัวเองเป็นของจริงนี้เป็นการเกิด identity หรืออัตตา ณ จุดนี้เด็กก็เริ่มเรียนรู้วิธีพอกพูนอัตตาตัวเองให้ใหญ่ขึ้น เรียนรู้ความพอใจที่เกิดจากการ "ได้" นอกจากนี้ยังเรียนรู้ที่จะเปรียบเทียบอัตตาของตัวเองกับของคนอื่น แล้วเริ่มบ่มเพาะความชอบใจเมื่ออัตตาตัวเองใหญ่กว่า และความไม่ชอบใจเมื่ออัตตาของตัวเองเล็กกว่า ความอิจฉาเริ่มเกิดขึ้น ณ ตรงนี้ ความอิจฉาเกิดขึ้นขณะเรียนรู้การแข่งขันกันเพื่อเอาความสุขจากการ "ได้" ซึ่งจะก่อความคิดในเชิงทำลายล้างตามมา การเลี้ยงลูกแบบพยายามเข้าใจและตามใจอย่างที่คุณทำนั้น เป็นการเร่งบ่มเพาะอัตตาของเด็กให้เติบใหญ่รวดเร็วแบบมะเร็งเลยละ ถึงจุดหนึ่งในใจของเด็กจะเชื่อว่าความสุขในชีวิตต้องมาจากการ "ได้" ให้มากขึ้น และการเอาชนะการประกวดอัตตาด้วยการ "ทำลาย" เท่านั้น

     ทั้งหมดนี้เด็กจะเรียนรู้เอาจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็คือพ่อแม่นั่นแหละ ถ้าชีวิตของพ่อแม่แสวงหาความสุขด้วยการสะสมพอกพูนอัตตา ไม่แสวงหาความสุขจากการให้หรือลดอัตตา โอกาสที่เด็กจะได้เรียนรู้เมตตาธรรมและความสุขจากการให้ก็แทบไม่มีเลย ทั้งบ้านก็จะกลายเป็นสมาคมคนเห็นแก่ได้ แล้วครอบครัวจะมีความสุขได้อย่างไร คุณจะต้องเปลี่ยนการจัดประสบการณ์เรียนรู้ของลูกเสียใหม่ ให้เธอได้เรียนรู้ที่จะมีความสุขในชีวิตด้วยการลดอัตตาบ้าง นั่นหมายความว่าคุณต้องสอนตัวเองและทำด้วยตัวเองก่อน ในการเรียนรู้จากการเปรียบเทียบ คุณอย่าให้เธอเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นที่ได้รับความรักและการเอาใจใส่มากกว่าเท่านั้น คุณต้องพาเธอให้ได้รู้ได้เห็นได้เปรียบเทียบตัวเองกับเด็กที่ด้อยโอกาสที่จะได้รับความรักและเอาใจใส่น้อยกว่าเธออย่างเทียบกันไม่ได้ซึ่งมีอยู่เยอะแยะในโลกนี้อีกด้วย คือต้องสอนให้เห็นภาพใหญ่ของโลกทั้งใบ ไม่ใช่สอนแต่โลกใบเล็กๆคือในบ้าน
  
     ในการเป็นพ่อแม่คนนี้ เรื่องจะป้อนข้าวป้อนน้ำหาเสื้อผ้าให้ใส่หาเงินให้ใช้นั้นมันเป็นเรื่องง่ายที่ไม่สำคัญ คุณจะทำบ้างไม่ทำบ้างก็ยังได้ และยิ่งสมัยนี้แล้วคุณทำให้ขาดดูจะดีกว่าทำให้เกิน แต่การขีดเส้นให้ลูกได้เรียนรู้ว่าข้อจำกัดของการเกิดมาเป็นคนว่ากฎกติกามารยาทของสังคมว่ามันอยู่ที่ตรงไหนนี่สิเป็นเรื่องยากที่สำคัญและคุณต้องทำ หากคุณไม่สามารถทำตรงนี้ได้ คุณก็ยังไม่มีคุณวุฒิที่จะเป็นพ่อแม่คน อีกอย่างหนึ่ง นอกจากการมุ่งให้ลูกอยู่ในสังคมได้แล้ว คุณยังต้องคำนึงถึงการวางพื้นฐานให้เธอมีความสุขในชีวิตด้วย ความสุขในชีวิตเป็นเรื่องของที่นี่เดี๋ยวนี้ (here and now) ดังนั้นตัวคุณเองในฐานะพ่อแม่ต้องเรียนรู้ที่จะมีความสุขกับปัจจุบันให้ได้ก่อน คุณจึงจะสอนลูกให้เป็นคนที่มีความสุขในชีวิตได้

     ลูกของคุณกำลังจะเข้าวัยรุ่นแล้ว timing มันเกือบจะสายไปเสียแล้ว แต่ก็ยังไม่สายเกินไป ทุกนาทีเป็นนาทีทอง ตรงนี้เป็นทางโค้ง ไหนๆคุณก็หลวมตัวมีลูกมีเต้ามาจนถึงป่านนี้แล้ว คุณจะต้องทุ่มเทฝ่าฟันพาลูกผ่านทางโค้งนี้ไปให้ได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

หนังสือคัมภีร์สุขภาพดี (Healthy Life Bible) จะพิมพ์ครั้งที่ 3 แน่นอนแล้ว เชิญสั่งซื้อได้

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67