นพ.สันต์ ให้สัมภาษณ์รายการทีวี.คนสู้โรค Thai PBS เรื่องสังคมผู้สูงอายุ


Thai PBS

ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น

นพ.สันต์

หนึ่ง ก็คือต้นทุนการดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ตัวเลขที่มีผู้คิดไว้เป็นตัวเลขของอเมริกา คือเมื่ออายุเกิน 65 ปีขึ้นไป ต้นทุนการดูแลสุขภาพจะเพิ่มเป็น 3 – 5 เท่าของค่าเฉลี่ยคนทุกอายุรวมกัน ต้นทุนที่ชาติหรือสังคมต้องจ่ายหรือที่เรียกว่า public financing ก็เพิ่มขึ้น ในญี่ปุ่นมีการคำนวณว่าในปี 2020 ค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องจ่ายให้ผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้นอีก 102% เมื่อเทียบกับปัจจุบัน
สอง ก็คือ ถ้าไม่มีการเตรียมการที่ดี หมายความว่าตัวผู้สูงอายุก็ไม่ได้เตรียมการ ประเทศชาติก็ไม่ได้เตรียมการ ชีวิตในวัยสูงอายุก็จะเป็นชีวิตที่ทุกข์ทรมานและไม่มีคุณภาพ

Thai PBS

ที่ว่าชีวิตมีคุณภาพนั้นต้องอย่างไรคะ

นพ.สันต์

งานวิจัยของสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย พบว่าผู้สูงอายุไทยระบุ 4 เหตุหลักที่ทำให้ชีวิตมีความสุขในวัยสูงอายุคือ
1.     สุขภาพดี ไม่เจ็บไข้
2.     มีเงินใช้
3.     มีงานทำ
4.     ลูกหลานดี
สี่อย่างนี่แหละครับ เป็นคุณภาพชีวิตในวัยสูงอายุ

Thai PBS

แล้วผู้สูงอายุต้องเตรียมตัวอย่างไรคะ

นพ.สันต์

ประการที่ 1. เพื่อจะมีสุขภาพดี ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคเรื้อรังทั้งหลาย นั่นคือ

     หนึ่ง ต้องเปลี่ยนตัวเองจากคนชอบจุมปุ๊กดูทีวี.ไปเป็นคนชอบขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

     สอง ต้องปรับโภชนาการ ลดอาหารให้แคลอรี่ลง ไขมันทรานส์ต้องหลีกเลี่ยง น้ำตาลเพิ่มในเครื่องดื่มต้องเลิก เพิ่มอาหารผักและผลไม้ให้มากขึ้น

     สาม
ต้องฝึกจัดการความเครียด ฝึกให้ร่างกายรู้จักการสนองตอบแบบผ่อนคลาย เช่นไปฝึกสมาธิ รำมวยจีน ฝึกโยคะ เป็นต้น

     สี่ ก็ต้องตรวจประเมินความเสี่ยงสุขภาพกับแพทย์สม่ำเสมอทุกปี หากพบปัจจัยเสี่ยงสุขภาพตัวใดโผล่โดดเด่นขึ้นมาก็จัดการเสียให้เรียบร้อย

ประการที่ 2. การจะมีเงินได้ ก็ต้องออมเงิน อันนี้ผมคงไม่เจาะลึกนะครับ

ประการที่ 3. เพื่อจะมีงานทำตอนแก่ ก็ต้องเตรียมทักษะให้พร้อม คิดไว้ก่อนว่าตัวเองแก่แล้วจะทำอะไร เตรียมทักษะที่จะทำไว้ ถึงเวลาก็จะได้ใช้ทำได้ เช่นคิดจะเขียนรูปก็ต้องไปเรียนไปฝึก อีกประการหนึ่งคือการเปลี่ยนโลกทัศน์เสียใหม่ว่าการทำอะไรให้มีความสุขนี้ มันไม่จำเป็นต้องได้เงินเสมอไปดอก ทำงานการกุศลหรือจิตอาสาก็มีความสุขได้ ถ้าไปติดกรอบความคิดว่าทำงานต้องคิดยี่ต๊อกว่าได้เงินคุ้มเหนื่อยไหม นั่นก็คือหลงทางแล้ว เมื่อเราสูงอายุ เราไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อเงินแล้ว แต่เรามีชีวิตอยู่เพื่อให้ชีวิตเป็นสุขในบั้นปลาย การทำงานเป็นเพียงเครื่องมือที่จะทำให้ชีวิตมีคุณภาพหรือมีความสุข ต้องตีโจทก์ตรงนี้ให้แตกก่อนคิดทำอะไรในวัยสูงอายุ

ประการที่ 4. เพื่อจะมีลูกหลานดี ก็ต้องลงแรงในการเลี้ยงดู ผมพูดถึงลงแรงนะ ไม่ใช่ลงทุน ทักษะวิชาชีพเด็กรุ่นใหม่นั้นมีกันแล้ว แต่วุฒิภาวะทางอารมณ์ไม่มี พูดง่ายๆว่าไม่มีสติ ตามความคิดตัวเองไม่ทัน ไม่รู้อารมณ์ของตัวเอง ทำให้รับมือกับความเปลี่ยนแปลงในชีวิตไม่ได้ เรื่องนี้มันลึกซึ้ง คือธรรมชาติของชีวิตต้องดำรงอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง แต่เราสอนลูกหลานว่าชีวิตดำรงอยู่ท่ามกลางความมั่งมีศรีสุขและเงื่อนไขต่างๆที่เราควบคุมได้ ทำให้เขาเป็นคนที่คอยแต่คาดหวังเอากับคนอื่นหรือสิ่งรอบตัว เชื่อว่าปัญหาของตัวเองท้ายที่สุดจะมีคนอื่นหรือสังคมมาแก้ให้ แต่ของจริงคือปัญหาชีวิตมันเกิดที่ใจตัวเอง เมื่อเขาไม่มีทักษะที่จะตามให้ทันใจของตัวเอง เขาก็เอาตัวไม่รอด พูดง่ายๆสิ่งที่ควรจะสอนเขา คือการฝึกตัวเองให้มีสติ เราไม่ได้สอน แล้วไปนั่งตั้งความหวังว่าเขาจะไปได้ดีในชีวิต เหมือนกับเรามีรถยนต์ที่ไม่ได้เติมน้ำมัน แต่ไปตั้งความหวังว่าจะให้มันวิ่งไปได้นานๆไกลๆ มันผิดความจริง

การทำทั้งสี่อย่างนี้ตั้งแต่ตอนที่ยังอายุไม่มาก เป็นการเตรียมความพร้อมที่จะเป็นผู้สูงอายุที่ชีวิตมีคุณภาพ

Thai PBS

โรคสำหรับผู้สูงอายุในอนาคตจะมีโรคอะไรบ้าง

นพ.สันต์

สถิติยังไม่มีนะ แต่ผมคาดเดาว่าในสังคมผู้สูงอายุ โรคเด่นจะมีอยู่สามกลุ่ม

(1) แช้มป์ตลอดกาลจากนี้ไปคือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่นโรคหลอดเลือด ไม่ว่าจะเป็นหัวใจ ความดัน เบาหวาน อัมพาต อัมพฤกษ์ โรคไตเรื้อรัง และมะเร็ง
(2) โรคสมองเสื่อม
(3) โรคซึมเศร้า

ThaiPBS

จะป้องกันโรคเหล่านี้ได้อย่างไร

 นพ.สันต์

การป้องกันโรคกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและโรคซึมเศร้านั้น ก็ต้องทำตามที่ผมได้พูดไปแล้วข้างต้น ซึ่งก็คือการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิงทั้งการกินการเคลื่อนไหวออกกำลังกาย การจัดการความเครียด ส่วนการป้องกันโรคสมองเสื่อมนั้นน่าเสียดายที่เรายังไม่ทราบวิธี

Thai PBS

ในวงการแพทย์จะมีวิธีเตรียมรับมืออย่างไร

นพ.สันต์

กับการเพิ่มจำนวนของคนสูงอายุหรือครับ คือในภาพใหญ่ปัจจุบัน 99% ของทรัพยากรของระบบดูแลสุขภาพ  ใช้ไปกับการต่อสู้รักษาโรคเรื้อรังที่เกิดขึ้นแล้ว แต่หนทางข้างหน้าคือต้องจัดสรรงบประมาณให้กับงานป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้น พูดง่ายๆก็คือต้องใช้เงินส่วนใหญ่ไปกับการส่งเสริมสุขภาพ ยกตัวอย่างง่ายๆถ้าเราทำอะไรสักอย่างกับร้านอาหารกลางวันในโรงเรียนของเด็กๆ แค่นี้ก็จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กไปอีกไม่รู้กี่สิบปีข้างหน้า หรืออาจตลอดชีวิต เป็นต้น พูดถึงการป้องกันโรคนี้ ผมไม่ได้หมายความแค่การป้องกันคนที่ยังไม่ป่วยไม่ให้ป่วยนะ ผมหมายความรวมถึงการป้องกันโรคในคนที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังแล้วด้วย คือมุ่งให้โรคถอยกลับหรือไม่ให้เป็นมากขึ้น เรียกคอนเซ็พท์นี้ว่า secondary prevention หรือบางทีก็เรียกว่าเป็นกระบวนการจัดการโรคเรื้อรัง (disease management)

Thai PBS

บทบาทของคนในครอบครัวควรเป็นอย่างไร

นพ.สันต์

                ธรรมเนียมไทยเชิดชูความกตัญญู ดังนั้นจิตใจที่อยากจะทำอะไรให้ผู้สูงอายุของลูกหลานไทยนั้นเต็มร้อยอยู่แล้ว แต่ประเด็นคือทำไม่เป็น คือในยุคสมัยที่โครงสร้างของครอบครัวเล็กลงอย่างทุกวันนี้ ภาระการดูแลผู้สูงอายุจะตกกับใครคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียวเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ช่วยกันดูคนละนิดคนละหน่อยอย่างสมัยก่อนแล้ว พูดง่ายๆว่ากลายเป็นงานฟุลไทม์ การเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ หรือ caregiver นี้มันก็มีศาสตร์ของมันอยู่เหมือนกัน ลูกบางคนอุตสาห์เกษียณก่อนกำหนดหรือลาออกจากงานมาดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่า แต่ก็จบลงด้วยการมีชีวิตที่เป็นทุกข์ทั้งลูกและพ่อแม่ เพราะดูแลกันไม่เป็น คือการดูแลผู้สูงอายุมันเป็นการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่วิ่งร้อยเมตร เวลาเราวิ่งมาราธอนเราต้องเตรียมน้ำดื่ม ผ้าขนหนู และการฝึกเทคนิคผ่อนเพื่อออมแรงเป็นบางช่วง แต่วิ่งร้อยเมตรไม่ต้อง กฎข้อแรกของการเป็นผู้ดูแลคือต้องดูแลตัวเองให้เป็นก่อน ไม่งั้นก็กลายเป็นเตี้ยไปอุ้มค่อม พากันล้มทั้งคู่ เมืองไทยยังไม่มีระบบฝึกสอนผู้ดูแล แต่ผมเชื่อว่าต่อไปจะต้องมี เพราะเป็นสิ่งที่สังคมเราขาดอยู่ตอนนี้

Thai PBS

จะแก้ปัญหาเตี้ยอุ้มค่อมอย่างไร
                
นพ.สันต์

ก็ด้วยการสร้างทักษะให้ผู้ดูแล และเป็นพี่เลี้ยงประคับประคองให้ผู้ดูแลทำหน้าที่ไปได้ตลอดรอดฝั่ง นั่นหมายความว่ามีการสอนคนที่จะเป็นผู้ดูแล ซึ่งเมืองไทยยังไม่มี มูลนิธิสอนช่วยชีวิตที่ผมเป็นประธานอยู่ก็มีดำริที่จะตั้งโรงเรียนสอนผู้ดูแล แต่ก็ยังเป็น แค่ดำริ แต่คุณไม่ต้องห่วงหรอก ช้าเร็วสิ่งนี้ก็ต้องเกิด เพราะมันมีความต้องการให้เกิด

Thai PBS 

การเตรียมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ

นพ.สันต์

                ในระดับบุคคลผมได้พูดไปแล้ว ว่าเมื่อปัจจัยให้มีความสุขมีสี่อย่าง ก็ต้องเตรียมตัวสี่เรื่อง

                ในระดับประเทศ การวางพื้นฐานสำหรับระบบดูแลกันและกันหรือ companionship นี้ มันต้องเริ่มต้นที่การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุจะดี ก็ต่อเมื่อได้อยู่ในชุมชนที่เข้มแข็ง พูดถึงเรื่องชุมขนเข้มแข็งนี้นับตั้งแต่มีการกระจายอำนาจการปกครองไปยังท้องถิ่น อบต. อบจ. เทศบาล ความเข้มแข็งของชุมชนก็ค่อยๆพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยมา คนไข้ของผมเองที่เป็นผู้นำชุมชนท้องถิ่นในภาคต่างๆก็มีหลายคน บางคนมีบทบาทสร้างสรรค์ในชุมชนแบบดีมากๆ แม้ว่าในภาพรวมเราจะรู้สึกว่าชุมชนท้องถิ่นไทยยังอ่อนแอและไร้พลังอยู่

หากมองลึกๆหาสาเหตุของความอ่อนแอของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ อบต. อบจ. เทศบาล สมาคม ชมรม สหกรณ์ มูลนิธิ หรือแม้กระทั้งสมาดคมวิชาชีพของคนที่มีความรู้เช่นแพทย์ ทนายความ นักบัญชี เราจะเห็นว่าอุปสรรคมันอยู่ที่การที่สมาชิกของชุมชนส่วนใหญ่มีโลกทรรศน์แคบ หรือมีวิชั่นแคบ มองไปทางไหนก็ไม่พ้นอีโก้หรือผลประโยชน์ของตัวเอง มองเห็นแค่ผลประโยชน์ตัวเองวันนี้ด้วยนะ ของวันพรุ่งนี้ยังมองไม่เห็นเลย เหมือนเด็กสลัมที่เขาให้กระดานหกบริจาคมาใหม่ พวกเด็กๆจะเฮโลเล่นมันทั้งคืน เพราะพรุ่งนี้มันอาจจะหักแล้วจะไม่ได้เล่นอีก แล้วไม่ทันถึงพรุ่งนี้มันก็หักจริงๆ  ทำไมชุมชนไทยจึงเต็มไปด้วยสมาชิกที่มีโลกทรรศน์แคบ เออ.. อันนี้ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน มันคงเป็นผลจากการที่เราหล่อหลอมบ่มเพาะกันมาตั้งแต่เกิดมัง ตั้งแต่ในครอบครัว ที่โรงเรียน และในที่ทำงาน เกือบทุกคน ในทุกระดับจึงล้วนมีวิชั่นว่าชีวิตนี้มีอยู่เพื่อหาผลประโยชน์ที่นับได้เป็นตัวเงินเข้าพกเข้าห่อของตัวเองให้ได้มากที่สุดเท่านั้น  มองเห็นแค่เนี้ยะ

ถ้าเราจะเตรียมสังคมไปสู่ระบบ companionship ที่ผู้สูงอายุอยู่ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตเพราะมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ผมว่ามีอยู่สองวิธี 

วิธีที่หนึ่งคือตั้งต้นสอนคนรุ่นใหม่ให้มีวิสัยทัศน์กว้างมองออกไปให้พ้นอีโก้และผลประโยชน์ของตัวเองให้ได้ก่อน แล้วเมื่อคนรุ่นใหม่กลายเป็นผู้ใหญ่ เขาก็จะสร้างระบบ companionship ขึ้นมาได้ ตอนนี้มีบางท่านปลีกตัวออกไปตั้งโรงเรียนเล็กๆเพื่อสอนเด็กเล็กๆในแนวนี้ ผมว่านั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีก็ได้นะ 

วิธีที่สองก็คือคนที่มีโลกทรรศน์กว้าง มองเห็นแล้วว่าชีวิตที่ดีไม่ใช่แค่จะเอาแต่ผลประโยชน์เข้าตัวเท่านั้น ก็ต้องรวบรวมเพื่อนที่มีโลกทรรศน์กว้างด้วยกันสร้างชุมชนคนโลกทรรศน์กว้างขึ้นมาเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้เกิดขึ้น ความสำเร็จของชุมชนหนึ่ง จะเป็นหัวเชื้อให้เกิดอีกชุมชนหนึ่ง ในที่สุดมันก็จะแพร่ขยายเป็นคนไทยพันธ์ใหม่ได้ นี่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง

Thai PBS

ผู้สูงอายุที่เป็นโสด จะเป็นภาระให้สังคมไหม

นพ.สันต์

                คำว่าสังคม ก็คือคนสูงอายุด้วยกันนั่นแหละ เพราะวันหนึ่งข้างหน้าเมื่อเหลียวไปทางไหนก็มีแต่คนสูงอายุ แล้วสังคมจะประกอบด้วยใครละ คนที่จะมาดูแลคนสูงอายุ ก็คือคนสูงอายุด้วยกัน นั่นเอง จะไปหวังจ้างเด็กสาวๆจากประเทศเพื่อนบ้านมาดูแลคนสูงอายุของเราเรอะ คงทำได้ประเดี๋ยวประด๋าว เพราะท้ายที่สุดประเทศเพื่อนบ้านก็ต้องสูงอายุเหมือนกัน ระบบดูแลกันและกันหรือ companionship จึงจะเป็นระบบการดูแลผู้สูงอายุที่มั่นคงถาวรในอนาคต จะทำในรูปแบบของกิจกรรมไม่แสวงกำไร หรือแสวงกำไร ก็ได้ทั้งนั้น อย่างเช่นมูลนิธิสอนช่วยชีวิตคิดจะตั้ง nursing home และตั้งโรงเรียนสอนผู้ดูแล นี่เป็นรูปแบบไม่แสวงกำไร หรืออย่างเช่นสมมุติว่ามีบริษัทหนึ่งเปิดขายทัวร์เขียนรูป พาคนสูงอายุเดินทางท่องเที่ยวและเรียนเขียนรูปไปด้วยกัน นี่เป็นการสร้าง companionship ในรูปแบบแสวงกำไร ถามว่าในระบบ companionship นี้คนโสดจะเป็นภาระมากกว่าคนแต่งงานแล้วไหม ตอบว่าไม่แตกต่างกันหรอกครับ เพราะถึงจุดหนึ่งที่ระบบ companionship สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างโดดเด่น คนสูงอายุที่แม้จะมีลูกหลานก็จะมาเข้าระบบนี้แทนการปักหลักอยู่บ้านให้ลูกหลานดูแล

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี