เป็นความด้นสูงตั้งแต่อายุ 29 ปี
สวัสดีครับคุณหมอสันต์
ผมชื่อ ... ปัจจุบันอายุ
43 ปี
ตรวจพบว่าเป็นโรคความดันสูงมาตั้งแต่อายุ 29 ปี
ตอนนั้นคุณหมอที่ไปพบได้ตรวจโดยให้ทานน้ำมันละหุ่ง แล้วฉีดสีเข้าเส้นเลือด
และตรวจหลายอย่างมาก ประมาณนั้นครับ แต่ไม่พบว่าเกิดจากจากโรคใด
จึงฟันธงว่าน่าจะเป็นจากพันธุกรรม (คำตอบสุดท้าย) และทานยามาตลอด
แต่ก็คุมได้ไม่ดีนัก เท่าที่ผมสังเกตความดันมักจะสูงเวลาเครียดจัดๆ ปัจจุบันผมทาน Enaril
10 mg. (เริ่มจาก 5 mg.) หลังอาหารเช้า
ความดันอยู่ที่ 140-150/85-100 โดยประมาณครับ แต่จะลงมาที่ 120-130/75-85
เวลาที่ทานบวบผัดไข่ ไม่ทราบว่าอุปาทานหรือเปล่านะครับ
ซึ่งให้ทานทุกวันก็คงไม่ไหวครับ เมื่อต้นสัปดาห์เผอิญผมได้อ่านพบจากหนังสือว่าความดันโลหิตสูงอาจเกิดจากเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต
และผมได้หาข้อมูลเพิ่มจาก google ก็มาพบ webpage ที่คุณหมอได้ให้ความรู้ไว้ ผมใคร่ขอเรียนถามดังนี้ครับ
1. เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะเป็นเพราะเกิดจากต่อมหมวกไตจริงๆ
เพราะช่วงแรกที่เป็นที่เริ่มมีอาการ ผมจะรู้สึกปวดหัวอย่างรุนแรง ความดันตอนเริ่มเป็นถ้าจำไม่ผิดอยู่ที่
170/100 และจากนั้นเป็นต้นมา ผมก็จะสังเกตรู้ได้ง่ายว่าความดันกำลังขึ้นเพราะจะปวดหัวนำมาแบบที่ไม่ปกติธรรมดาทุกครั้ง
แม้ว่าจะทานยาอยู่ก็ตาม
2. ผมควรจะตรวจ
หรือจำเป็นต้องตรวจร่างกายเพื่อดูต่อมหมวกไตของผมหรือไม่
3. ถ้าควรหรือจำเป็น
ผมควรไปตรวจที่ไหนครับ ให้ตัวเลือกบ้างก็ดีครับ บ้านผมอยู่ ถ.สุรวงศ์ กทม.
ขอขอบพระคุณล่วงหน้านะครับ
และขอแสดงความนับถือด้วยครับ
…………………………….
ตอบครับ
1, ถามว่าเป็นความดันเลือดสูงตั้งแต่อายุ
29 ปี เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเกิดจากต่อมหมวกไต
ตอบว่าเป็นไปได้ครับ
2. ถามว่าควรจะตรวจร่างกายดูต่อมหมวกไตหรือไม่
ตอบว่าควรครับ
ในประเด็นแผนการตรวจค้นหาสาเหตุของความดันเลือดสูงในคนอายุน้อย (hypertension
in the young) นี้มันมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะแยะแป๊ะตราไก่ แต่ผมสรุปให้ฟังสั้นๆว่าสิ่งที่คุณควรจะได้รับการตรวจมีดังต่อไปนี้
2.1 การตรวจร่างกาย ซึ่งแพทย์จะดูโหงวเฮ้งของคุณก่อน
ว่ามีรูปร่างแบบอ้วนกลางตัวหน้ากลมสิวขึ้นและฟังเสียงพูดว่าแหบแห้งไหม ซึ่งล้วนบ่งบอกว่าเป็นโรคคุชิ่ง
(cushing syndrome) ที่ทำให้ความดันสูงได้ แล้วก็ชั่งน้ำหนัก
วัดส่วนสูง คำนวณดัชนีมวลกายว่าคุณอ้วนเกินไปหรือเปล่าเพราะคนเราแค่อ้วนอย่างเดียวก็ความดันขึ้นได้แล้ว
จับชีพจรคุณดูว่าเร็วไปไหมซึ่งบ่งบอกว่าอาจเป็นไฮเปอร์ไทรอยด์ วัดความดันคุณสามครั้งสองแขนว่าสูงจริง
และจะวัดแขนเทียบกับขาด้วยเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เป็นโรคหลอดเลือดใหญ่คอด (coarctation
of aorta) ซึ่งทำให้ความดันเลือดสูง ตรวจดูข้อว่ามีข้อบวมข้ออักเสบซึ่งบ่งบอกถึงโรคเอสแอลอี.ที่มักจะทำให้ความดันขึ้นหรือเปล่า
ตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อว่าอ่อนแรงไปแบบคนเป็นโรคฮอร์โมนต่อมหมวกไตสูง (hyperaldosteronism) หรือเปล่า เป็นต้น
2.2 ตรวจปัสสาวะ
เพื่อดูว่ามีโรคของไตหรือเปล่า บางโรคมีเบาะแสง่ายๆออกมาทางปัสสาวะ เช่นโรคโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะ (nephritic syndrome) โรคไตอักเสบชนิดต่างซึ่งมักมีเม็ดเลือดเล็ดออกมาในปัสสาวะ เป็นต้น
2.3 ตรวจปัสสาวะหาสาร 5-HIAA ซึ่งเป็นสารที่ปล่อยออกมาจากเนื้องอกคาร์ซินอยด์ (carcinoid) ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของความดันเลือดสูง เนื้องอกชนิดนี้มีต้นกำเนิดมาจากทางเดินอาหาร
แต่มันอาจจะอยู่ในปอดหรือที่ไหนๆก็ได้
2.4 ตรวจปัสสาวะหาสาร VMA และ HVA ซึ่งเป็นผลจากเนื้องอกที่ต่อมหมวกไตชนิดpheochromocytoma
2.5 ตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไต (BUN,
Cr) เพราะถ้าไตเสียการทำงาน ก็ค่อนข้างแน่ว่าความดันสูงเพราะโรคของเนื้อไต
2.6 ตรวจเลือดดูระดับโปตัสเซียม
เพราะในคนที่ต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนบีบหลอดเลือด (aldosterone) ออกมามากเกินไป หรือคนเป็นโรคพันธุกรรมบางอย่างที่ทำให้ความดันสูง โปตัสเซียมจะต่ำมากผิดปกติ
2.7 ตรวจเลือดดูระดับแคลเซียม
เพราะคนที่เป็นโรคฮอร์โมนต่อมพาราไทรอยด์สูง (hyperparathyroidism) ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของความดันเลือดสูง จะมีระดับแคลเซียมสูงผิดปกติ
2.8 ตรวจเลือดดูระดับไขมันทั้งไขมันดี
(HDL) ไขมันเลว (LDL) ไตรกลีเซอไรด์
เพราะคนไทยเดี๋ยวนี้แม้อายุน้อยก็เลียนแบบฝรั่งเมื่อยี่สิบปี่ก่อนคือชอบทำตัวมีไขมันในเลือดสูงซึ่งเป็นเหตุของโรคหลอดเลือดแดงแข็งและความดันขึ้นได้
2.9 ตรวจเลือดดูระดับน้ำตาลหลังอดอาหาร
(FBS) หรือน้ำตาลสะสมในเม็ดเลือด (HbA1c) ว่าเป็นเบาหวานหรือเปล่า เพราะเบาหวานในคนอายุน้อยที่ลงไต (diabetic
retinopathy) ทำให้ความดันขึ้นได้
2.10 ตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์
(FT4) และฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (TSH) เพราะความผิดปกติของฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ไม่ว่าจะเป็นไฮเปอร์หรือไฮโป
ล้วนมีผลให้เกิดความดันเลือดสูงได้
2.11 ตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนสะเตียรอยด์ที่ต่อมหมวกไตผลิตออกมา
ร่วมกับฮอร์โมนกระตุ้นต่อมหมวกไต (ACTH) เพื่อประเมินว่าต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนมากผิดปกติไหม
2.12 สุดท้ายซึ่งเป็นไฮไลท์ของเรื่องคือต้องตรวจช่องท้องด้วยภาพ
ซึ่งสมัยนี้การตรวจที่ดีที่สุดคือตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กควบการฉีดสารทึบรังสี (MRA) ซึ่งนอกจากจะให้ภาพเนื้องอกที่อวัยวะในช่องท้องที่ทำให้ความดันขึ้นได้ รวมเนื้องอกทั้งที่ไตและที่ต่อมหมวกไตแล้ว
ยังให้รายละเอียดของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไตว่าตีบจนทำให้ความดันขึ้น (renovascular
disease) หรือไม่ด้วย
เมื่อได้ข้อมูลครบทั้งสิบสองอย่างนี้ก็น่าจะวินิจฉัยโรคได้
แต่ก็มีเกือบครึ่งหนึ่งของคนอายุน้อยที่เป็นความดันเลือดสูงแล้วตรวจหาสาเหตุละเอียดแล้วไม่เจอ ซึ่งก็จะได้รับการวินิจฉัยแบบเหมาเข่งว่าเป็น primary hypertension คือความดันสูงโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่นเดียวกับคนอายุมากทั้งหลาย แล้วให้การรักษาไปเลยโดยยกเลิกการค้นหาสาเหตุเสียดื้อๆ.. ทั้งหมดนี้คือมาตรฐานการตรวจวินิจฉัยความดันเลือดสูงในคนอายุน้อยครับ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์