กรุงเทพธุรกิจ..นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ "ผ่านพ้น จึงค้นพบ"

กรุงเทพธุรกิจ 27 ธค. 54
โดย : ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง



ตัวตนที่น่าสนใจมากไปกว่าบทบาทในจอทีวีในฐานะคุณหมอพิธีกรเกมหมอยอดนักสืบ คือ แรงบันดาลใจจากความป่วยไข้ที่คุณหมอผ่าตัดหัวใจเจอเข้ากับตัวเอง

จนนำสู่มาเป็นจุดเปลี่ยนหันหลังให้กับอาชีพที่เคยทำมากว่า 20 ปี ค้นพบคำตอบบนทางเดินสายใหม่ในวัย 56 กับการหันกลับมาศึกษาด้านเวชศาสตร์ครอบครัว

“ ส่วนตัวสนใจเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพมานานแล้ว จริงๆสมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ก็อยากจะทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพ แต่ชีวิตก็ถูกผลักดันให้ไปเป็นหมอผ่าตัดหัวใจอยู่ 20 กว่าปี ณ จุดหนึ่งสุขภาพตัวเองเริ่มแย่ มีอาการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ที่สุดเลยตัดสินใจก้าวลงจากการเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลมาทำเรื่องสร้างเสริมสุขภาพเรื่องเดียว “ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2 เล่าถึงแรงบันดาลใจ

ไม่ใช่แค่สุขภาพกายที่ย่ำแย่ น้ำหนักตัวขึ้น พุงโร ไขมันในเลือดสูง เข้าข่ายโรคหัวใจขาดเลือด แต่สุขภาพใจก็ทรุดไม่น้อยไปกว่ากันด้วยอาการของ “โรคซึมเศร้า”ที่เข้ามาคุกคาม

“ มันเป็นอาการ 2-3 อย่างที่มาพร้อมกัน หนึ่ง..เมื่อร่างกายไม่ค่อยได้ดุล จิตเราก็เป๋ไปด้วย สอง..คือ เรื่องวัย เมื่อทำงานมากถึงวัยหนึ่ง อารมณ์ก็ชักจะแปรปรวนเหมือนผู้หญิงหมดประจำเดือน สาม..คือความเครียดจากหน้าที่การงาน บางทีเราควบคุมปัจจัยต่างๆไม่ได้ ก็เครียดมาก โดยเฉพาะการทำงานด้านบริหาร ต้องดูแลธุรกิจ ดูยอดตัวเลข อาการช่วงนั้น จิตใจจะเหมือนมีหมอกควันครอบงำอยู่ตลอดเวลา มันไม่สดใส เวลาเราไปปราศัยไปพูดกับผู้คน เราจะรู้สึกเลยว่านี่ไม่ใช่เรา สมัยก่อนเราพูดกับคนเยอะๆ พูดกับลูกน้อง ทั้งพูดเจรจาธุรกิจบนโต๊ะ เรารู้ว่านี่เป็นเรา แต่เวลาที่โดนหมอกครอบไม่ใช่เรา เหมือนกับเรามานั่งมองตัวเอง กำลังแสดงอะไรอย่างฝืนๆ แกนๆ นี่คืออาการของโรคซึมเศร้า ถ้าเราไม่เอ็นจอยไลฟ์ หงุดหงิด ไม่แฮปปี้กับชีวิต จุดนั้นแสดงว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว สเต็ปที่หนึ่งคือการรักษาตัวเองก่อน”

แต่หลังจากลองปรึกษาแพทย์รุ่นน้องที่เชี่ยวชาญด้านจิตเวช ลองรักษาโดยกินยาอยู่ 2 เดือนกว่า ก็ตัดสินใจโยนยาทิ้ง เพราะภรรยาบอกว่ายิ่งกินยานาน อาการยิ่งแย่ ความที่ไม่อยากรักษาอาการเจ็บป่วยทั้งกายและใจโดยใช้ยา ทำให้คุณหมอเลือกใช้วิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ

“ ถามว่าผมปรับยังไงบ้าง การปรับที่มีผลชะงัดมากที่สุดกับการรักษาโรคทางใจ คือการออกกำลังกาย โดยทฤษฎีมันทำให้มีสารเอ็นโดรฟิน ในทางปฎิบัติมันเห็นผล การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอได้ ใจมันดีขึ้นเอง”

นอกจากนี้ ยังใช้การบริหารจัดการความเครียดโดยการหัดหยุดคิด เพราะความเครียดมักเกิดจากความคิด วิธีการคือพยายามตามดูว่าตัวเองกำลังคิดอะไร เช่น กำลังหงุดหงิด ก็จะถอยมานั่งดูตัวเองซิว่าหงุดหงิดเรื่องอะไร ใช้วิธีนี้ความคิดก็ไม่วุ่นวาย ประกอบกับเมื่อเลิกเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลแล้ว เรื่องที่เราไม่ค่อยชอบและไม่ถนัดแต่ต้องทำด้วยความรับผิดชอบก็ไม่มีแล้ว ทุกวันนี้มีแต่เรื่องที่อยากจะทำ

ในวัย 56 คุณหมอตัดสินใจหันหลังให้งานผ่าตัดหัวใจที่ทำมากกว่า 20 ปี ผ่าตัดคนไข้ไปแล้วกว่า 2,000 ราย

“จุดหนึ่งที่ทำให้ผมปลงอนิจจังกับงานผ่าตัดหัวใจ คือ ตอนไปดูงานผ่าตัดหัวใจที่โรงพยาบาลหัวใจในปากีสถาน ที่นั่นมีคนหัวใจวายเข้ามาวันละ 500 กว่าคน ห้องฉุกเฉินแน่นอย่างกับสวนจตุจักร มีเตียงเป็นร้อยสำหรับคอยหยอดยาละลายลิ่มเลือด เพราะหมอรับรักษาไว้ในโรงพยาบาลได้แค่วันละ 100 คน ที่ประตูห้องซีซียูจึงต้องมีทหารคอยถือปืนกลคุมไว้ ไม่อย่างนั้นคนจะแย่งกันเข้าไปในห้อง เห็นแล้วทำให้คิดว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุคงไม่ใช่วิธีที่เวิร์ค

สมัยเป็นหนุ่มๆตอนเป็นหมอผ่าตัดหัวใจ เราก็ชอบเล่นบทของพระเจ้า คนจะตายเราไปลากกลับมาได้ เราก็ภูมิใจว่าเราแน่ (หัวเราะ) แต่พอมาเห็นอย่างนี้แล้วเรารู้ว่าต่อให้ผ่าให้ยังไง ก็คงไม่ได้แก้ปัญหาเท่าไหร่....


เหลืออีกไม่กี่ปีจะเกษียณ ผมถามกับตัวเองว่าจะใช้ชีวิตที่เหลืออย่างไรให้มีค่ามีประโยชน์กับคนอื่น ถ้าเรายังเดินเส้นทางเดิมก็ต้องผ่าตัดหัวใจคนไข้ทุกวัน เหมือนทำงานกลิ้งหินขึ้นภูเขา กลิ้งขึ้นไปเดี๋ยวหินก็หล่นลงมาต้องกลิ้งขึ้นไปใหม่ เป็นงานที่เหนื่อยและแก้ที่ปลายเหตุ ผ่าไปได้ไม่กี่ปีเดี๋ยวคนไข้คนเดิมก็กับมาผ่าตัดใหม่ การมาเสาะหาเครื่องมือที่จะทำให้คนมาดูแลสุขภาพจึงน่าจะดีกว่า....

แต่ถึงจะวางมือ กลางคืนทุกคืนก็ยังฝันถึงห้องผ่าตัด ในฝันจะมีแต่เลือด เห็นการผ่าตัดที่ยากๆ การผ่าตัดที่ซับซ้อนตามมาหลอกหลอน จนสะดุ้งตื่นขึ้นมา แล้วก็ต้องปลอบใจตัวเองว่าเป็นแค่ความฝันไม่ใช่ความจริง


3 ปีมาแล้วที่คุณหมอหันมาสโลว์ดาวน์ชีวิต ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ พร้อมกับหันมาทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ครอบครัวอย่างเต็มตัว ในบทบาทหัวหน้าศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลพญาไท 2 เพื่อหวังสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ต้นทางของปัญหาสุขภาพ

การถอยกลับมาดูแลตัวเอง ทำให้พบว่ามีหลักฐานงานวิจัยมากเกินพอที่จะสรุปได้ว่า ยาไม่ใช่คำตอบเดียวของการรักษา แต่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างการออกกำลังกาย การกินอาหารที่ถูกต้อง การจัดการความเครียดที่เหมาะสม สามารถลดอัตราการตายจากโรคหัวใจได้ แถมยังใช้รักษาโรคเบาหวาน โรคความดัน โรคไขมันในเลือดสูงได้ดีกว่ายาเสียอีก

“ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากที่สุด คือ การหันมาออกกำลังกายอย่างจริงจังทุกวัน คือ ต้องอยู่ในระดับที่ “หนักพอควร” ซึ่งเขานิยามว่าจะต้องเหนื่อยหอบจนร้องเพลงไม่ได้ สอง..ต้องทำต่อเนื่องอย่างน้อย 30 นาที และสาม..ต้องทำอย่างสม่ำเสมอทุกวัน
ผมพยายามปลุกปล้ำกับตัวเองอยู่นานเกินปี กว่าที่จะบังคับตัวเองให้ปรับการใช้ชีวิตใหม่ได้ ออกกำลังกายทุกวันตอนนี้ทำอยู่ 3 อย่าง ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน และเดินเร็วๆบ้าง เวลาไปทำงานจอดรถชั้น 4 ก็ใช้เดินขึ้นบันไดไปถึงที่ทำงานชั้น 19 ทุกวัน
นอกจากนี้ยังดูแลเรื่องอาหารการกิน จากเดิมที่จะกินอาหารจากตู้เย็น อาหารไมโครเวฟ โดยเฉพาะเค้ก ก็เลิกกินอาหารที่เป็นไขมันอิ่มตัวทั้งหมด หันมาเพิ่มทานผักผลไม้ให้มาก วิธีของผมคือเอาผลไม้ใส่ในเครื่องปั่นความเร็วสูงแล้วปั่นผลไม้ดื่มทั้งน้ำและเนื้อไม่เอาอะไรทิ้ง เริ่มจากมื้อเช้าก็ติดใจหิ้วมากินมื้อเที่ยงที่ทำงานด้วย นอกจากนี้ คือจัดการเรื่องความเครียดควบคู่กันไป ทำแล้วก็รู้สึกว่าสุขภาพมันก็ดีขึ้น ดัชนีสุขภาพต่างๆมันก็ดีขึ้น จากเดิมที่จะต้องใช้ยาก็ไม่ต้องใช้แล้ว เราก็เลยมาคิดว่าถ้าเอาจริงจังมันได้ผล...เท่าที่ทำมากับตัวเอง 3 ปีก็ดี กับคนไข้ก็ดี เหลือแต่ว่าเราจะทำอย่างไรที่จะรณรงค์ให้เป็นวิถีชีวิตของคนโดยมาก”


บทบาทงานส่งเสริมสุขภาพมาพร้อมกับการสอน ถ่ายทอดให้ความรู้ และบรรยายให้กับหน่วยงานต่างๆ และล่าสุดกับการทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการเกมโชว์ให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชนทางทีวี ที่ทำให้เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่คุณหมอย้ำว่าภารกิจสร้างเสริมสุขภาพยังต้องทำควบคู่กับวิธีอื่นๆจึงจะเห็นผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงที่ดี

“ วิธีที่ดีที่สุด คือ การปรับที่หมอกับคนไข้รักษาโรคกันอยู่ แต่ทำได้ยาก เพราะโครงสร้างระบบไม่เอื้อ ในแง่ที่เวลาคุยกันมันน้อยเกินไป การช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพบางอย่าง อย่างเช่น เราอยากจะให้เขาเลิกบุหรี่ มันต้องเกาะติดเป็นสเต็ป เช่น คุณเชื่อไหมว่าสูบบุหรี่ไม่ดี ถ้าคุณไม่เชื่อก็จะต้องให้เขาดูหลักฐาน ให้เขาเชื่อ เชื่อ ต้องไปไล่ไปทีละสเต็ป ต้องตามช่วย ตามพยุง หาทางเลือกที่เหมาะเจาะไปทีละคน

นอกจากปัจจัยเวลาแล้ว คือ ปัจจัยที่ตัวหมอเอง คือตัวหมอก็ไม่ได้เคยถูกสอนมาให้ดูแลสุขภาพตัวเองเป็นนิสัย แต่หลักสูตรทำตรงกันข้ามในเวลา 6 ปีคุณต้องอ่านหนังสือ เรียนหนัก พอจบมาแล้ว ไลฟ์สไตล์ของหมอก็ไม่เอื้อให้ออกกำลังกาย ถ้าหมอยังดูแลสุขภาพตัวเองไม่เป็น ก็คงไม่มีศักยภาพที่จะเป็นไปเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไข้

รูปแบบที่สองที่ผมกำลังทดลองอยู่ คือ รูปแบบที่เรียกว่า Health Camp คือเอาคนกลุ่มหนึ่ง เช่น เจาะเฉพาะคนที่อ้วนอย่างเดียว หรือคนเกษียณ ไปเข้าคอร์สปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในสถานที่และเวลา 5-7 วัน ทดลองทำว่าจะต้องทำอย่างไรแล้วก็แยกย้ายกันกลับบ้าน

ส่วนรูปแบบที่สามที่อยากจะเริ่มทำคือการใช้องค์กรท้องถิ่น เช่น อบต. สมาคมแม่บ้านตามชุมชนต่างๆ ซึ่งเขาพยายามส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีอยู่แล้ว เช่น มีชมรมร้องเพลงเก่า ชมรมออกกำลังกายตอนเช้า มีรำวงย้อนยุค ถ้าเราเข้าไปเสริมตรงนี้ แล้วก็มีวิธีที่จะให้เขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จัดการปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างเป็นระบบ ก็น่าจะเกิดผลลัพธ์ที่ดีและขยายผลได้”


ปัจจุบันในวัย 59 เหลือเวลาอีกไม่ถึงปีจะเกษียณ คุณหมอวางแผนชีวิตหลังเกษียณไว้ว่าจะขอทำงานสัปดาห์ละ 2-3 วันดูแลคนไข้ที่ยังต้องดูแลต่อ และหาคนมาสานต่อโครงการสร้างเสริมสุขภาพ โดยวางเป้าหมายจะใช้ชีวิตสโลว์ดาวน์สัก 2 ปีกับการวิจัยเรื่องปลูกผักอย่างจริงจัง ซึ่งคุณหมอมีบ้านอีกหลังอยู่ที่อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ควบคู่กับการทำงานสังคมซึ่งมีบทบาทอีกด้านทั้งเป็นประธานมูลนิธิสอนคนช่วยชีวิต กรรมการมูลนิธิช่วยผ่าตัดหัวใจเด็ก นอกจากนี้ ยังมีความตั้งใจอยากหันมาส่งเสริมระบบดูแลสุขภาพผู้สูงอายุอย่างจริงจัง และการปรับปรุงระบบการดูแลจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งยังเป็นช่องว่างของระบบการดูแลสุขภาพในเมืองไทย

“ การทำเกษตรเป็นสิ่งที่ผมชอบ จริงๆอาชีพที่ผมเลือกตอนแรกที่อยากจะทำมีอยู่ 3 อย่าง คือ เกษตร วาดรูป และทหาร หนึ่งในสามอาชีพนี้ถ้าเป็นรุ่งแน่ เพราะว่ามันเป็นอะไรที่ใช่ตัวเรา เป็นหมออาจไม่ใช่ตัวเราสักเท่าไหร่ เคยคิดว่าจะเลิกอาชีพนี้หลายทีเพื่อย้อนกลับมาทำงานที่ชอบ คือทำไร่ ทำฟาร์ม เขียนรูป อย่างจริงจังเสียที แต่ไม่ได้จังหวะสักที ยังมีคนไข้ที่โดยความรับผิดชอบเราทิ้งเขาไม่ได้ ก็ต้องทำต่อ คิดจะหยุดก็หยุดไม่ได้อีก หวังว่าก่อนจะตายจะได้กลับไปทำงานที่ชอบ หวังไว้อย่างนั้นถ้าโลกไม่แตกเสียก่อนนะ” คุณหมอเล่าพร้อมรอยยิ้ม


........................

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี