ไม่เคยมีเซ็กซ์ แล้วติดเชื้อ HPV ได้อย่างไร
คุณหมอสันต์คะ
ดิฉันอายุ 32 ปี ไปตรวจร่างกายของบริษัท ซึ่งมีการตรวจภายในด้วย หลังจากนั้นก็ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลว่าให้ดิฉันไปตรวจซ้ำ เพราะผลตรวจ HPV ของดิฉันได้ผลบวกและว่าดิฉันอาจจะเป็นมะเร็งปากมดลูก ดิฉันตกใจและกลัวมาก ไม่กล้าบอกใครแม้แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่กล้าบอก ไม่เข้าใจว่าดิฉันไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ แล้วจะติดเชื้อ HPV มาได้อย่างไร รบกวนคุณหมอช่วยแนะนำด้วยค่ะ
…………………………………
ตอบครับ
1. ถามว่าไม่เคยมีเซ็กซ์ แล้วติดเชื้อ HPV มาได้อย่างไร ตอบว่ามีความเป็นไปได้สองอย่างครับ
1.1 เป็นผลบวกเทียม หมายความว่าจริงๆแล้วคุณไม่ได้ติดเชื้อ HPV ดอก แต่ผลมันหลอกเอา ทั้งนี้เป็นที่ยอมรับกันในวงการว่าความแม่นยำทางแล็บของการตรวจ HPV-DNA นี้มีประมาณ 95% อีก 5% ที่เหลือเป็นผลเก๊ ซึ่งก็ถือว่าแม่นพอควรแล้วในทางการแพทย์ คุณในฐานะผู้บริโภคต้องเรียนรู้ที่จะบริโภคข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เสียใหม่ อย่าเข้าใจว่าผลตรวจทางแล็บนั้นมีแต่ปกติกับไม่ปกติ หรือใช่ กับไม่ใช่ เพราะในความเป็นจริงนั้นวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาศาสตร์การแพทย์ซึ่งได้ข้อมูลมาจากสถิติ จะบอกทุกอย่างในเทอมของความเป็นไปได้ (probability) ดังนั้นในทางการแพทย์ไม่มีอะไร 100%
1.2 คุณติดเชื้อไวรัส HPV มาจริงๆ แต่ผ่านทางอื่นที่ไม่ใช่การมีเซ็กซ์ อย่าลืมว่าไวรัส HPV มีประมาณ 100 สายพันธ์ ส่วนใหญ่ติดต่อการทางการสัมผัสผิวหนัง เชื้อ HPV บางชนิดเช่นหูดผิวหนัง มีความหัวแข็งทนแดดทนฝน ชนิดที่คนเป็นหูดเดินเท้าเปล่าบนพื้นดินนั้นตั้งหลายวันผ่านไปแล้วคุณไปเดินเท้าเปล่าบนตินนั้นต่อ คุณก็ติดเชื้อได้แล้ว การสัมผัสกันทางผิวหนังต่อผิวหนังหรือใช้ของใช้เช่นผ้าเช็ดตัวร่วมกันก็ทำให้ติดเชื้อนี้ได้ อย่างไรก็ตามในบรรดาเป็นร้อยสายพันธ์นี้ มีเพียงไม่กี่สายพันธ์ที่เป็นต้นเหตุให้เป็นมะเร็ง เรียกว่าเป็นสายพันธ์เสี่ยงสูงหรือ high risk แต่ว่าการตรวจคัดกรอง HPV DNA ที่คุณทำไปนั้นเป็นการตรวจแบบรูดมหาราช ไม่ได้แยกว่าเป็นสายพันธ์เสี่ยงสูงหรือไม่
2. การติดเชื้อ HPV ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกประหลาดหรือต้องตีอกชกหัวแต่ประการใด ในอเมริกา ผู้หญิงในวัยเจริญพันธ์มากกว่า 70% ติดเชื้อนี้อย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วงชีวิต เมื่อติดเชื้อแล้ว 90% ของผู้ติดเชื้อร่างกายจะเคลียร์เชื้อนี้ได้หมดเกลี้ยงใน 2 ปี
3. นัยสำคัญของข้อมูล HPV อยู่ที่การป้องกันมะเร็งปากมดลูก หมายความว่าความรู้ที่ว่าคนที่ติดเชื้อ HPV ชนิดสายพันธ์เสี่ยงสูง จะมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกสูงกว่าคนที่ไม่ได้ติดเชื้อนี้ ย้ำอีกที เฉพาะสายพันธ์ที่เสี่ยงสูงนะ เมื่อมีข้อมูลเช่นนี้เราก็อาจจะขยันตรวจคัดกรองให้ถี่ขึ้นหน่อย หรือถ้าเห็นอะไรไม่ชอบมาพากลที่ปากมดลูกก็ตัดเนื้อปากมดลูกมาตรวจซะเลย จะได้พบโรคเสียตั้งแต่ระยะเริ่ม และรักษาให้หายขาดได้ อันนี้คือประโยชน์ของข้อมูล HPV คือแม้จะมีข้อมูลบวกเทียมทำให้ตกใจอยู่บ้าง แต่โหลงโจ้งแล้วมีข้อมูลก็ดีกว่าไม่มี
4. ความพยายามที่จะตรวจหา HPV ด้วยวิธีแยกแยะสายพันธ์ลงไปนั้น ปัจจุบันนี้สามารถทำได้ แต่ผมแนะนำว่าไม่จำเป็น เพราะเรื่อง HPV นี้ปลายทางมีอยู่ที่เดียวคือการป้องกันมะเร็งปากมดลูก ข้อมูลปัจจุบันนี้พบว่าความจำเพาะเจาะจง (specificity) ต่อการเป็นมะเร็ง ระหว่างผู้มีข้อมูล HPV แบบรูดมหาราชกับผู้มีข้อมูลแบบแยกสายพันธ์ มีความเจาะจงต่อการเป็นมะเร็งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คือต่างก็มีความเจาะจงค่อนข้างต่ำ คือมีspecificity 67.4% หมายความว่าตนที่ไม่เป็นโรค 100 คน จะตรวจ HPV ได้ผลลบราว 67 คน ที่เหลืออีก 33 คนตรวจได้ผลบวกทั้งๆที่ไม่มีใครมีเซลผิดปกติเลย ดังนั้นผมแนะนำว่าควรโฟกัสที่การเดินตามขั้นตอนของการป้องกันมะเร็งปากมดลูกไปเลยดีกว่า คือตรวจภายในซ้ำทุก 6 เดือน ถ้ามีเหตุให้สงสัยก็ส่องกล้องดูปากมดลูก (colposcopy) ถ้าเห็นอะไรแปลกๆก็ตัดเนื้อออกมาตรวจ (biopsy) ทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นเรื่องง่ายๆจิ๊บๆ เมื่อเทียบกับการต้องมาเป็นมะเร็งปากมดลูกโดยไม่รู้ตัวภายหลัง
5. ประเด็นการแจ้งข่าวของโรงพยาบาลทำให้ตกใจขวัญหนีดีฝ่อและเป็นทุกข์ อันนี้หลักจริยธรรมแพทย์ซึ่งเป็นหลักกฎหมายด้วยมีอยู่ข้อหนึ่งชื่อว่า “หลักต้องเปิดเผย” สมัยก่อนสมัยที่ผมเป็นหมอใหม่ๆมีข้อมูลอะไรที่จะทำให้คนไข้กังวลหมอจะเก็บไว้คนเดียว บางทีหมอเอาไปนอนไม่หลับคนเดียว เพราะไม่อยากให้คนไข้เป็นทุกข์ แต่สมัยนี้ทำอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าทำอย่างนั้นถูกฟ้องแล้วหมอแพ้คดีแหงๆ เพราะมีตัวอย่างมาแล้ว สมัยนี้หมอทุกคนถูกบังคับว่ามีอะไรให้บอกคนไข้ให้หมดเกลี้ยงก่อนตั้งแต่ยังไม่เกิดเหตุ มีโอกาสจะเป็นมะเร็งมากกว่าคนทั่วไปก็ต้องบอก แม้กระทั่งไปมีลูกแล้วลูกมีโอกาสจะเป็นอะไรก็ต้องบอก ถ้าหมอไม่บอกเกิดลูกออกมาเป็นง่าวเป็นเอ๋อก็มาเล่นงานหมออีก การทำแบบนี้ทำให้คนไข้เสียมู้ดพอสมควร เช่นมาคลอดลูกดีๆกำลังยินดีที่จะได้ลูกน่ารัก แต่หมอบอกว่าการคลอดครั้งนี้แม่มีโอกาสตายได้ถึง 4 ใน 10,000 นะ โอ้โฮ พอหมอพูดอย่างนี้เสียมู้ดกันหมด อดไม่ได้จึงต้องต่อว่าหมอไม่มีจริยธรรม แต่ถ้าไม่บอกเกิดคลอดแล้วตายขึ้นมาจริงๆหมอก็เสร็จสิครับ เพราะฉะนั้นการที่ทางโรงพยาบาลเขาบอกข่าวว่าตรวจพบอย่างนี้แล้วมีโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้น ผมว่าเขาทำถูกหลักวิชาแล้ว และทำแบบสมัยใหม่ดีซะด้วย อย่าไปว่าเขาเลย ทางด้านคนไขก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวรับทราบข้อมูลทั้งด้านบวกด้านลบ ไม่ใช่คาดหมายให้คนอื่นมากลั่นกรองข้อมูลให้เราได้ฟังแต่สิ่งดีๆจนลืมไปว่าชีวิตนี้มันไม่แน่ จะป่วยหรือจะตายเสียเมื่อไรก็ได้นะ
6. แถมท้ายให้เด็กรุ่นหลังที่อายุไม่เกิน 26 ปี ควรฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ทุกคนนะครับ การค้นพบวัคซีนนี้เป็นเรื่องยิ่งใหญ่มากและมีความหมายสำหรับลูกผู้หญิงทุกคน แต่น่าเสียดายที่ในเมืองไทยความสำคัญของวัคซีนป้องกันโรคถูกติดเบรคไว้เพราะการขาดแคลนงบประมาณทำให้อะไรที่ดีก็ยังหุบปากอ้อมๆแอ้มๆไม่กล้าพูดว่าดี เพราะกลัวรัฐบาลไม่มีเงินซื้อให้ แต่ผมเป็นคนปากโป้ง และไม่ได้อยู่ในวงการรัฐบาล ดังนั้นผมพูดได้
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Adams AL, Eltoum I, Roberson J, Chen J, Connolly K, Chhieng DC. Negative Colposcopic Biopsy After Positive Human Papilloma Virus (HPV) DNA Testing: False-Positive HPV Results or False-Negative Histologic Findings? American Journal of Clinical Pathology 2006;125(3):413-418.
ดิฉันอายุ 32 ปี ไปตรวจร่างกายของบริษัท ซึ่งมีการตรวจภายในด้วย หลังจากนั้นก็ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลว่าให้ดิฉันไปตรวจซ้ำ เพราะผลตรวจ HPV ของดิฉันได้ผลบวกและว่าดิฉันอาจจะเป็นมะเร็งปากมดลูก ดิฉันตกใจและกลัวมาก ไม่กล้าบอกใครแม้แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่กล้าบอก ไม่เข้าใจว่าดิฉันไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ แล้วจะติดเชื้อ HPV มาได้อย่างไร รบกวนคุณหมอช่วยแนะนำด้วยค่ะ
…………………………………
ตอบครับ
1. ถามว่าไม่เคยมีเซ็กซ์ แล้วติดเชื้อ HPV มาได้อย่างไร ตอบว่ามีความเป็นไปได้สองอย่างครับ
1.1 เป็นผลบวกเทียม หมายความว่าจริงๆแล้วคุณไม่ได้ติดเชื้อ HPV ดอก แต่ผลมันหลอกเอา ทั้งนี้เป็นที่ยอมรับกันในวงการว่าความแม่นยำทางแล็บของการตรวจ HPV-DNA นี้มีประมาณ 95% อีก 5% ที่เหลือเป็นผลเก๊ ซึ่งก็ถือว่าแม่นพอควรแล้วในทางการแพทย์ คุณในฐานะผู้บริโภคต้องเรียนรู้ที่จะบริโภคข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เสียใหม่ อย่าเข้าใจว่าผลตรวจทางแล็บนั้นมีแต่ปกติกับไม่ปกติ หรือใช่ กับไม่ใช่ เพราะในความเป็นจริงนั้นวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาศาสตร์การแพทย์ซึ่งได้ข้อมูลมาจากสถิติ จะบอกทุกอย่างในเทอมของความเป็นไปได้ (probability) ดังนั้นในทางการแพทย์ไม่มีอะไร 100%
1.2 คุณติดเชื้อไวรัส HPV มาจริงๆ แต่ผ่านทางอื่นที่ไม่ใช่การมีเซ็กซ์ อย่าลืมว่าไวรัส HPV มีประมาณ 100 สายพันธ์ ส่วนใหญ่ติดต่อการทางการสัมผัสผิวหนัง เชื้อ HPV บางชนิดเช่นหูดผิวหนัง มีความหัวแข็งทนแดดทนฝน ชนิดที่คนเป็นหูดเดินเท้าเปล่าบนพื้นดินนั้นตั้งหลายวันผ่านไปแล้วคุณไปเดินเท้าเปล่าบนตินนั้นต่อ คุณก็ติดเชื้อได้แล้ว การสัมผัสกันทางผิวหนังต่อผิวหนังหรือใช้ของใช้เช่นผ้าเช็ดตัวร่วมกันก็ทำให้ติดเชื้อนี้ได้ อย่างไรก็ตามในบรรดาเป็นร้อยสายพันธ์นี้ มีเพียงไม่กี่สายพันธ์ที่เป็นต้นเหตุให้เป็นมะเร็ง เรียกว่าเป็นสายพันธ์เสี่ยงสูงหรือ high risk แต่ว่าการตรวจคัดกรอง HPV DNA ที่คุณทำไปนั้นเป็นการตรวจแบบรูดมหาราช ไม่ได้แยกว่าเป็นสายพันธ์เสี่ยงสูงหรือไม่
2. การติดเชื้อ HPV ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกประหลาดหรือต้องตีอกชกหัวแต่ประการใด ในอเมริกา ผู้หญิงในวัยเจริญพันธ์มากกว่า 70% ติดเชื้อนี้อย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วงชีวิต เมื่อติดเชื้อแล้ว 90% ของผู้ติดเชื้อร่างกายจะเคลียร์เชื้อนี้ได้หมดเกลี้ยงใน 2 ปี
3. นัยสำคัญของข้อมูล HPV อยู่ที่การป้องกันมะเร็งปากมดลูก หมายความว่าความรู้ที่ว่าคนที่ติดเชื้อ HPV ชนิดสายพันธ์เสี่ยงสูง จะมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกสูงกว่าคนที่ไม่ได้ติดเชื้อนี้ ย้ำอีกที เฉพาะสายพันธ์ที่เสี่ยงสูงนะ เมื่อมีข้อมูลเช่นนี้เราก็อาจจะขยันตรวจคัดกรองให้ถี่ขึ้นหน่อย หรือถ้าเห็นอะไรไม่ชอบมาพากลที่ปากมดลูกก็ตัดเนื้อปากมดลูกมาตรวจซะเลย จะได้พบโรคเสียตั้งแต่ระยะเริ่ม และรักษาให้หายขาดได้ อันนี้คือประโยชน์ของข้อมูล HPV คือแม้จะมีข้อมูลบวกเทียมทำให้ตกใจอยู่บ้าง แต่โหลงโจ้งแล้วมีข้อมูลก็ดีกว่าไม่มี
4. ความพยายามที่จะตรวจหา HPV ด้วยวิธีแยกแยะสายพันธ์ลงไปนั้น ปัจจุบันนี้สามารถทำได้ แต่ผมแนะนำว่าไม่จำเป็น เพราะเรื่อง HPV นี้ปลายทางมีอยู่ที่เดียวคือการป้องกันมะเร็งปากมดลูก ข้อมูลปัจจุบันนี้พบว่าความจำเพาะเจาะจง (specificity) ต่อการเป็นมะเร็ง ระหว่างผู้มีข้อมูล HPV แบบรูดมหาราชกับผู้มีข้อมูลแบบแยกสายพันธ์ มีความเจาะจงต่อการเป็นมะเร็งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คือต่างก็มีความเจาะจงค่อนข้างต่ำ คือมีspecificity 67.4% หมายความว่าตนที่ไม่เป็นโรค 100 คน จะตรวจ HPV ได้ผลลบราว 67 คน ที่เหลืออีก 33 คนตรวจได้ผลบวกทั้งๆที่ไม่มีใครมีเซลผิดปกติเลย ดังนั้นผมแนะนำว่าควรโฟกัสที่การเดินตามขั้นตอนของการป้องกันมะเร็งปากมดลูกไปเลยดีกว่า คือตรวจภายในซ้ำทุก 6 เดือน ถ้ามีเหตุให้สงสัยก็ส่องกล้องดูปากมดลูก (colposcopy) ถ้าเห็นอะไรแปลกๆก็ตัดเนื้อออกมาตรวจ (biopsy) ทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นเรื่องง่ายๆจิ๊บๆ เมื่อเทียบกับการต้องมาเป็นมะเร็งปากมดลูกโดยไม่รู้ตัวภายหลัง
5. ประเด็นการแจ้งข่าวของโรงพยาบาลทำให้ตกใจขวัญหนีดีฝ่อและเป็นทุกข์ อันนี้หลักจริยธรรมแพทย์ซึ่งเป็นหลักกฎหมายด้วยมีอยู่ข้อหนึ่งชื่อว่า “หลักต้องเปิดเผย” สมัยก่อนสมัยที่ผมเป็นหมอใหม่ๆมีข้อมูลอะไรที่จะทำให้คนไข้กังวลหมอจะเก็บไว้คนเดียว บางทีหมอเอาไปนอนไม่หลับคนเดียว เพราะไม่อยากให้คนไข้เป็นทุกข์ แต่สมัยนี้ทำอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าทำอย่างนั้นถูกฟ้องแล้วหมอแพ้คดีแหงๆ เพราะมีตัวอย่างมาแล้ว สมัยนี้หมอทุกคนถูกบังคับว่ามีอะไรให้บอกคนไข้ให้หมดเกลี้ยงก่อนตั้งแต่ยังไม่เกิดเหตุ มีโอกาสจะเป็นมะเร็งมากกว่าคนทั่วไปก็ต้องบอก แม้กระทั่งไปมีลูกแล้วลูกมีโอกาสจะเป็นอะไรก็ต้องบอก ถ้าหมอไม่บอกเกิดลูกออกมาเป็นง่าวเป็นเอ๋อก็มาเล่นงานหมออีก การทำแบบนี้ทำให้คนไข้เสียมู้ดพอสมควร เช่นมาคลอดลูกดีๆกำลังยินดีที่จะได้ลูกน่ารัก แต่หมอบอกว่าการคลอดครั้งนี้แม่มีโอกาสตายได้ถึง 4 ใน 10,000 นะ โอ้โฮ พอหมอพูดอย่างนี้เสียมู้ดกันหมด อดไม่ได้จึงต้องต่อว่าหมอไม่มีจริยธรรม แต่ถ้าไม่บอกเกิดคลอดแล้วตายขึ้นมาจริงๆหมอก็เสร็จสิครับ เพราะฉะนั้นการที่ทางโรงพยาบาลเขาบอกข่าวว่าตรวจพบอย่างนี้แล้วมีโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้น ผมว่าเขาทำถูกหลักวิชาแล้ว และทำแบบสมัยใหม่ดีซะด้วย อย่าไปว่าเขาเลย ทางด้านคนไขก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวรับทราบข้อมูลทั้งด้านบวกด้านลบ ไม่ใช่คาดหมายให้คนอื่นมากลั่นกรองข้อมูลให้เราได้ฟังแต่สิ่งดีๆจนลืมไปว่าชีวิตนี้มันไม่แน่ จะป่วยหรือจะตายเสียเมื่อไรก็ได้นะ
6. แถมท้ายให้เด็กรุ่นหลังที่อายุไม่เกิน 26 ปี ควรฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ทุกคนนะครับ การค้นพบวัคซีนนี้เป็นเรื่องยิ่งใหญ่มากและมีความหมายสำหรับลูกผู้หญิงทุกคน แต่น่าเสียดายที่ในเมืองไทยความสำคัญของวัคซีนป้องกันโรคถูกติดเบรคไว้เพราะการขาดแคลนงบประมาณทำให้อะไรที่ดีก็ยังหุบปากอ้อมๆแอ้มๆไม่กล้าพูดว่าดี เพราะกลัวรัฐบาลไม่มีเงินซื้อให้ แต่ผมเป็นคนปากโป้ง และไม่ได้อยู่ในวงการรัฐบาล ดังนั้นผมพูดได้
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Adams AL, Eltoum I, Roberson J, Chen J, Connolly K, Chhieng DC. Negative Colposcopic Biopsy After Positive Human Papilloma Virus (HPV) DNA Testing: False-Positive HPV Results or False-Negative Histologic Findings? American Journal of Clinical Pathology 2006;125(3):413-418.