โรคกรดไหลย้อน (GERD)

โรคกรดไหลย้อน (GERD)

กรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux) หรือการสำรอกเอาของในกระเพาะย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร เป็นปรากฏการณ์ปกติของร่างกายคนเรา หลายท่านคงพอนึกออกว่าบางครั้งเราที่อิ่มมากๆเราก็ขย้อนหรืออ๊อกเอาของในท้องออกมาขึ้นมาจนถึงในปากจนเปรี้ยวหรือขมซะไม่มี นั่นแหละคือเกิดกรดไหลย้อนละ ถ้าเกิดไม่บ่อย ก็โอเค. แต่ถ้ามันเกิดขึ้นมากเกินไปจนทำให้มีอาการและทำให้เยื่อบุหลอดอาหารอักเสบ มันก็กลายเป็นโรคกรดไหลย้อน หรือ GERD ซึ่งย่อมาจาก Gastroesophageal reflux disease (GERD) ซึ่งในคนที่เป็นโรคนี้ มักมีสาเหตุพิเศษเช่น

1. กล้ามเนื้อหูรูดตอนปลายล่างของกระเพาะอาหารหย่อน

2. อาหารบางชนิดเช่นกาแฟ แอลกอฮอล์ หรือยาบางชนิดเช่น ยากั้นเบต้า ยาขยายหลอดเลือดพวกไนเตรท และยาฮอร์โมนเช่นโปรเจสเตอโรนคุมกำเนิด ก็ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารนี้หย่อนได้เช่นกัน

3. ความอ้วนทำให้เป็นโรคกรดไหลย้อนได้ อาจจะโดยไปเพิ่มความดันในช่องท้อง

โรคกรดไหลย้อนแบบคลาสสิกจะทำให้มีอาการแสบหน้าอก แน่นหน้าอก แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย แต่บางทีอาการก็เป็นแบบไม่คลาสสิกเช่น ไอเรื้อรัง ปอดบวม หอบหืด ปอดเป็นพังผืด กล่องเสียงอักเสบ มะเร็งกล่องเสียง หูชั้นกลางอักเสบ ฟันผุ เป็นต้น ประมาณครึ่งหนึ่งของคนเป็นโรคกรดไหลย้อนมีหลอดอาหารอักเสบร่วมด้วย ซึ่งถ้าอักเสบมากจะกลายเป็นหลอดอาหารตีบ และมะเร็งหลอดอาหารได้ ในโรคนี้ การตรวจร่างกายจะไม่พบอะไรผิดปกติ มาตรฐานการวินิจฉัยโรคนี้ต้องทำการส่องกล้องลงไปดู ถ้าเห็นว่ามีหลอดอาหารส่วนปลายอักเสบอยู่ก็จบเลย เป็นโรคนี้แน่นอน แต่ถ้าหลอดอาหารยังดีอยู่ ยังไม่อักเสบก็ยังอาจจะเป็นโรคนี้ได้ ต้องวางตัววัดความเป็นกรดด่างไว้ที่หลอดอาหารส่วนล่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง (ambulatory pH monitoring) จึงจะวินิจฉัยโรคนี้ได้อย่างเด็ดขาด

การรักษาโรคกรดไหลย้อน ทำเป็นขั้นตอนดังนี้

ขั้นที่ 1. ปรับวิถีชีวิตก่อน โดย (1) ถ้าน้ำหนักเกิน ให้ลดน้ำหนัก (2) เลิกแอลกอฮอล์ ชอกโกแลต น้ำส้ม น้ำมะเขือเทศ กาแฟ (3) เปลี่ยนวิธีทานอาหารเป็นมื้อเล็กๆหลายๆมื้อ (4) หลังอาหารมื้อเย็น 3 ชั่วโมง ห้ามนอน (5) ยกหัวเตียงให้สูงขึ้น 8 นิ้ว ด้วยการเสริมขาเตียงด้านศีรษะทั้งสองขา

ขั้นที่ 2. ใช้ยา ได้แก่ (1) ยาลดกรด หลังอาหารและก่อนนอน (2) ยาลดการหลั่งกรดเช่น Ranitidine (Zantac) (3) ยากั้นโปรตอนปั๊ม คือยาชื่อลงท้ายด้วย azole ตัวใดก็ได้ดีเท่ากันทุกตัว เช่นยา Lansoprazole (Prevacid) และ Esomeprazole (Nexium) จัดเป็นกลุ่มที่ดีที่สุดสำหรับโรคนี้ มักได้ผลใน 8 สัปดาห์ มีข้อเสียที่ทำให้ร่างกายเสียแคลเซียมซึ่งทำให้กระดูกพรุนได้ (4) ยาเสริมการเคลื่อนไหวของกระเพาะลำไส้ เช่นยา metoclopramide (Plasil) ใช้ได้ผลบ้างในรายที่อาการไม่มาก และใช้ได้แต่ในระยะสั้นเท่านั้นเพราะยานี้หากใช้นานมีผลเสียหลายอย่าง

ขั้นที่ 3. ทำผ่าตัด ซึ่งจำเป็นต้องทำให้ประมาณ 20% ของผู้ป่วย ได้แก่คนที่ (1) อาการคุมไม่ได้ด้วยยา หรือ (2) เยื่อบุปลายล่างของหลอดอาหารอักเสบไปมากจนจำเป็นต้องป้องกันไม่ให้เกิดหลอดอาหารตีบไปเสียก่อนเพราะการอักเสบ (3) มีภาวะแทรกซ้อนของกรดไหลย้อน เช่นปอดอักเสบ ไอเรื้อรัง หูอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ ฟันผุ เป็นต้น (4) มีปัญหาอื่นที่ทำให้ใช้ยากั้นโปรตอนปั๊มไม่ได้ เช่นเป็นโรคกระดูกพรุน เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น วิธีทำผ่าตัดก็คือเอากระเพาะอาหารไปม้วนหุ้มรอบหลอดอาหารส่วนล่างเพื่อช่วยเป็นลิ้นบีบกล้ามเนื้อหูรูดปลายหลอดอาหารอีกแรงหนึ่ง สมัยนี้มักนิยมผ่าแบบผ่านกล้องซึ่งจะทำให้แผลหน้าท้องเล็กและหายเร็วกว่า การผ่าตัดมีโอกาสหายสูงกว่าการกินยามากน้อยแค่ไหน ตอบได้จากงานวิจัยร่วมของยุโรปซึ่งเป็นงานวิจัยที่ดีที่สุดในเรื่องนี้ เขาเอาผู้ป่วยที่กินยารักษาโรคนี้อยู่มา 357 คนมาจับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งไม่ผ่าตัด อีกกลุ่มหนึ่งให้ผ่าตัด แล้วตามดูเมื่อสิ้นสุด 1 ปี พบว่ากลุ่มที่ผ่าตัดหยุดยาได้ 62% ส่วนกลุ่มไม่ผ่าตัดหยุดยาได้ 10% และเมื่อเปรียบเทียบคะแนนคุณภาพชีวิตแล้วกลุ่มที่ผ่าตัดก็ดีกว่าด้วย งานวิจัยชิ้นนี้ทำให้การผ่าตัดกลายมาเป็นมาตรฐานในการรักษาโรคนี้ แต่อย่าลืมว่านี่ดูกันปีเดียว ระยะยาวเกินหนึ่งไปยังไม่รู้ เพราะยังไม่มีข้อมูลที่เชื่อถือได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Hampel H, Abraham NS, El-Serag HB. Meta-analysis: obesity and the risk for gastroesophageal reflux disease and its complications. Ann Intern Med. Aug 2 2005;143(3):199-211.

2. Yang YX, Lewis JD, Epstein S, Metz DC. Long-term proton pump inhibitor therapy and risk of hip fracture. JAMA. Dec 27 2006;296(24):2947-53. [Medline]. [Full Text].

3. Agency for Healthcare Research and Quality. Comparative Effectiveness of Management Strategies for Gastroesophageal Reflux Disease - Executive Summary. AHRQ pub. no. 06-EHC003-1. December 2005. Available at http://effectivehealthcare.ahrq.gov/healthInfo.cfm?infotype=rr&ProcessID=1&DocID=42. Accessed April 2, 2011.

4. Lundell L, Miettinen P, Myrvold HE, et al. Continued (5-year) followup of a randomized clinical study comparing antireflux surgery and omeprazole in gastroesophageal reflux disease. J Am Coll Surg. Feb 2001;192(2):172-9; discussion 179-81.

5. Grant AM, Wileman SM, Ramsay CR, et al. Minimal access surgery compared with medical management for chronic gastro-oesophageal reflux disease: UK collaborative randomised trial. BMJ. Dec 15 2008;337:a2664.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

หนังสือคัมภีร์สุขภาพดี (Healthy Life Bible) จะพิมพ์ครั้งที่ 3 แน่นอนแล้ว เชิญสั่งซื้อได้

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67