09 กันยายน 2567

หนังสือ “คัมภีร์สุขภาพดี” หมดเกลี้ยงแล้ว ต้องไปอ่านทาง meb e-book

 


วันนี้ของดการตอบคำถามหนึ่งวันเพื่อแจ้งข่าวว่าหนังสือคัมภีร์สุขภาพดี ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ได้ขายออกไปหมดเกลี้ยงแล้ว ไม่มีขายแล้วแม้แต่เล่มเดียว

 

สำหรับแฟนบล็อกที่อยากจะอ่านหนังสือนี้ ก็เหลืออยู่ทางเดียวคือต้องไปอ่านทางอีบุ๊ค เพราะหมอสันต์ตั้งใจมานานแล้วว่าเมื่อขายหนังสือที่เป็นกระดาษหมดก็จะย้ายวิกไปเปิดเป็นอีบุ๊คลูกเดียวเพื่อลดโลกร้อน (ทันสมัยซะด้วย หิ..หิ) โดยตอนนี้ได้วางขายที่ร้าน meb e-book ซึ่งเป็นร้านอีบุ๊คที่ดังกว่าเขาเพื่อนไปเรียบร้อยแล้ว หมอมายบอกว่าจะเปิดขายที่อีกร้านหนึ่ง คือที่ร้านศูนย์หนังสือจุฬา ยังไม่แน่ใจว่าตอนนี้เปิดได้แล้วหรือยัง ถ้าสนใจก็ลองเช็คดูนะครับ

 

สำหรับแฟนบล็อกระดับสว.ที่พากันโอดครวญมาว่าอ่านอีบุ๊คไม่ได้เพราะมันไม่มัน ขอให้หมอสันต์พิมพ์หนังสือเป็นกระดาษออกมาเป็นการพิมพ์ครั้งที่สาม ฮี่..ฮี่ อันนี้ขอให้การ “ภาคเสธ” ไว้ก่อนนะครับ คือไม่รับปาก แต่ก็ไม่ปฏิเสธ แบบว่าถนอมไมตรีท่าน เอาไว้เที่ยวกลับมาก่อนแล้วค่อยคิดอีกที

 

และถือโอกาสแจ้งข่าวซะเลยว่าหมอสันต์จะหยุดงานไปเที่ยวเดินไพรไฮกิ้ง กว่าจะกลับมาก็สิ้นเดือนกย. ในระหว่างเที่ยวจะไม่ตอบคำถามทั้งทางเฟซทางบล็อก ไม่ทำรายการคลินิกออนไลน์ทางยูทูป และไม่เขียนบทความอะไรทั้งสิ้น ถ้ามีบทความอะไรโผล่มาในช่วงนี้ให้ระวังไว้ก่อนว่าน่าจะเป็นของปลอม (หิ..หิ)

 

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

หมอสันต์รับเชิญคุณดู๋ (สัญญา คุณากร) ไปออกรายการเจาะใจอีกครั้ง 7 กย. 67

 


หมอสันต์รับเชิญคุณดู๋ (สัญญา คุณากร) ไปออกรายการเจาะใจอีกครั้ง 7 กย. 67 

[อ่านต่อ...]

05 กันยายน 2567

หลอดเลือดใหญ่ในทรวงอกโป่งพอง (Thoracic Aortic Aneurysm)


(ภาพวันนี้ / พู่จอม

พล หล่นเกลื่อนพื้น)

เรียนคุณหมอที่นับถือ


ผมอายุ 71 ปี อยู่เชียงใหม่ครับ หมอตรวจพบว่าผมเป็นเส้นเลือดโป่ง ในทรวงอก เยื้องด้านขวา ขนาด 6.2 เซ็นต์ แนะนำให้ผมผ่าตัดรักษา และให้กลับไปปรึกษาครอบครัว เมื่อครบสามเดือนแล้วให้ไปพบหมอ
ผมควรผ่าตัดหรือมีวิธีรักษาแบบอื่นไหมครับ และมีอันตรายไหมครับ ผมสูง178 น้ำหนัก78 ผมมีอาชีพเล่นเปียโนและเป่าแซก ทำงานอาทิตย์ละสองวันยังเป่าแซกได้ไหมครับ และในช่วงนี้ผมออกกำลังกายได่ไหมครับ ปกติผมจะจ๊อกกิ้งวันละครึ่งชั่วโมง สลับยกเวทน้ำหนัก 2 กิโล 30 คร้้ง ( 2 เซ็ท) ตอนนี้หยุดทำครับ
ขอความกรุณาให้คุณหมอแนะนำครับ

.....................................................................

ตอบครับ

1.. ก่อนตอบคำถาม ผมขอสรุปก่อนนะว่าโรคที่คุณเป็นนี้คือโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ในทรวงอกโป่งพอง (Thoracic aortic aneurysm) ซึ่งมีหลายชนิด หลายตำแหน่ง หลายระดับความรุนแรง ผมไม่มีข้อมูลอะไรเลย จึงขอเดาเอาว่าเป็นชนิดเกิดบนช่วงหลอดเลือดโค้งลง (descending aneurysm) และไม่มีผลต่อการทำงานของลิ้นหัวใจ ซึ่งเป็นชนิดที่มีระดับความรุนแรงต่ำที่สุดในบรรดาโรคเดียวกันนี้

2.. ถามว่าเป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ทรวงอกโป่งพอง มีอันตรายไหม ตอบว่ามีอันตรายสิครับ กล่าวคือในขนาดที่ใหญ่ 6.0 ซม.ขึ้นไปอย่างของคุณนี้ มันมีโอกาสแตก 14.2% ต่อปี

3.. ถามว่ามีวิธีรักษากี่วิธี ตอบว่ามีวิธีรักษา 3 วิธี คือ

วิธีที่ (1) ผ่าตัด (aneurysmectomy/aortoplasty หรือ open repair) เป็นการผ่าตัดใหญ่จนถึงโคตรใหญ่ มีอัตราตายสูง (ในคนอายุขนาดคุณผมให้อัตราตายสูงถึง 10%) และมีอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนสำคัญคือมีโอกาสเป็นอัมพาตท่อนล่าง 6.7% เพราะในการผ่าตัดต้องหนีบหลอดเลือดใหญ่ที่เลี้ยงแกนประสาทสันหลังไว้ช่วงเวลาหนึ่งทำให้แกนประสาทสันหลังขาดเลือด

วิธีที่ (2) เจาะรูที่ขาหนีบแล้วเอาหลอดเลือดเทียมและขดลวดถ่างเข้าไปใส่ (Thoracic endovascular aortic repair - TEVAR) เป็นการรักษาแบบหรูไฮเลิศสะแมนแตน แต่ว่ามันเบิกค่าอุปกรณ์แพงๆไม่ได้นะคุณต้องออกเงินเอง และบ่อยครั้งพอตรวจดูภาพของโรคอย่างละเอียดแล้วพบว่าทำ TEVAR ไม่ได้ด้วยเหตุผลทางเทคนิค นอกจากนั้นอัตราการเกิดอัมพาตท่อนล่างก็ยังมีอยู่ 2.3%

วิธีที่ (3) ไม่ทำอะไรทั้งสิ้น อยู่เฉยๆ ยอมรับความเสี่ยงที่จะแตกดังโพล้ะ 14.2% ต่อปี

4.. ถามว่ากรณีของคุณควรรับการรักษาแบบไหนดี ตอบว่ากรณีของคุณให้คุณจับไม้สั้นไม้ยาวเอาเองดีที่สุดครับ ผมให้ข้อมูลประกอบไปหมดแล้ว ถ้าเป็นตัวหมอสันต์เป็นผู้ป่วยซะเองหมอสันต์จะเลือกไม่ทำอะไรทั้งสิ้น เพราะหมอสันต์รับไม่ได้เลยกับการต้องมาเป็นอัมพาตท่อนล่างเอาเมื่อยามแก่ อีกอย่างหนึ่งถึงจะตายแบบแตกดังโพล้ะหมอสันต์ก็ไม่กลัว ชอบเสียอีก เพราะมันตายเร็วดี หิ..หิ นอกจากนั้นยังมีโอกาสที่แตกแล้วดวงไม่ถึงฆาตเขาหามส่งโรงพยาบาลให้หมอเขาผ่าตัดด่วนทัน ผมก็ไปลุ้นอัตราตายจากการผ่าตัดด่วนซึ่งน่าจะอยู่ที่ 20% เรียกว่าทางเลือกนี้เป็นทางเลือกที่ยังมีลุ้นได้สองรอบ

5.. ถามว่าจะเป่าแซ็กโซโฟน ยกน้ำหนัก เล่นกล้าม และวิ่งจ๊อกกิ้ง ได้ไหม ตอบว่าปูนนี้แล้วคุณอยากทำอะไรก็ทำไปเหอะ

ในแง่ของหลักฐานวิทยาศาสตร์นั้น ยังไม่มีหลักฐานแม้แต่ชิ้นเดียวที่จะบ่งชี้ว่าการเป่าแซ็กหรือยกน้ำหนักหรือจ๊อกกิ้งจะทำให้หลอดเลือดที่โป่งพองอยู่แล้วแตกเร็วขึ้น ในทางตรงกันข้าม การออกกำลังกายจะช่วยลดความดันเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้หลอดเลือดแตก

6.. ถามว่าหมอสันต์มีอะไรจะแนะนำอีกไหม ตอบว่าควรใส่ใจรักษาความดันเลือดไม่ให้สูง ด้วยการ (1) กินพืชผักผลไม้มากๆ (2) ลดเกลือในอาหารลง (3) ออกกำลังกายสม่ำเสมอ (4) ลดน้ำหนัก ในกรณีของคุณหากคุณลดน้ำหนักลงสัก 10 กก. ก็จะได้ดัชนีมวลกาย 21 ซึ่งกำลังดี แต่ความดันตัวบนคุณจะลดลงไปจากเดิมประมาณ 20 มม. ซึ่งดีต่อโรคหลอดเลือดโป่งพองมากๆ

7.. ข้อนี้คุณไม่ได้ถาม แต่เป็นคอมเม้นต์นอกประเด็นของหมอสันต์ ว่าคุณอายุ 71 ปีแล้วยังเป่าแซ็กหากินได้ ผมงืด..ด จริงๆ ผมยกย่องให้คุณไอดอลของผมเลยนะเนี่ย อ่านจดหมายของคุณแล้วทำให้ผมขยันตั้งใจซ้อมสีไวโอลินมากขึ้น เผื่อวันหน้าผมอาจจะต้องใช้มันหากินบ้าง หิ..หิ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Umegaki, Takeshi et al. Paraplegia After Open Surgical Repair Versus Thoracic Endovascular Aortic Repair for Thoracic Aortic Disease: A Retrospective Analysis of Japanese Administrative Data. Journal of Cardiothoracic and Vascular Anesthesia, Volume 36, Issue 4, 1021 - 1028
[อ่านต่อ...]

04 กันยายน 2567

วิทยาศาสตร์สำหรับผู้อยากหยุดยาต้านเกล็ดเลือด..แต่กลัว


 

(ภาพวันนี้ / ฝนตก ได้แต่มองออกนอกหน้าต่าง)

เรียน คุณหมอสันต์ที่นับถือ

ขอเรียนปรึกษา และขอความเห็นของท่านครับ ผมอายุ49ปี มีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูงทานยาประจำ และไขมันในเลือดสูงบ้าง ลดบ้างเวลาคุมอาหารไม่ได้ทานยาครับ งานที่ทำต้องขับรถเดินทางบ่อย ช่วง 3 ปีที่แล้วผมเคยมีอาการแน่นหน้าอกตอนขับรถ ก็แวะไปตรวจที่โรงพยาบาลทันทีแต่อาการแน่นหน้าอกหายไปแล้ว หมอห้องฉุกเฉินตรวจคลื่นไฟฟ้าปกติ ต่อมาตุลาคมปีที่แล้วผมมีอาการแน่นหน้าอกและจุกที่คอระหว่างขับรถเป็นอาการแน่นหน้าอกในรอบ 2-3 ปี แต่แน่นแล้วหายประมาณ 3 รอบ ผมตรวจที่โรงพยาบาลจังหวัด ... คุณหมอตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้า ดูอาการ 4 ชม.ก็ให้กลับโรงแรมบอกว่ากล้ามเนื้ออักเสบ หลังจากนั้นก็ไม่แน่นหน้าอกอีกเลยทำให้ผมก็ลืมไม่ได้ไปหาหมอเพิ่มเติม ต้นปีนี้ไปพบแพทย์ ตรวจสุขภาพประจำปีและเล่าอาการปลายปีที่แล้วให้หมอฟัง หมอส่งตรวจ CTA พบเส้นเลือดตีบสองเส้น หมอให้ฉีดสีและสวนหัวใจใส่ลวด 1 เส้น อีกเส้นตีบประมาณ40% ยังไม่ทำอะไร

ผมทำบอลลูนขยายหลอดเลือดครบ 5 เดือนแล้ว หมอให้ทานยาแอสไพริน 81 มก. สองเม็ด และ clopidogrel 75 มก. แต่พอเริ่มทานยาผมมีปัญหาเรื่องปวดท้องกระเพาะ หมอก็ให้ยารักษาแผลกระเพาะมาเพิ่ม หมอที่รักษาบอกต้องใช้ยาสองตัวนี้อย่างน้อย1ปี หลังจากนั้นทานแอสไพรินตลอดชีวิต จึงขอสอบถามความเห็นคุณหมอเพื่อเป็นข้อมูล

1.ผมสามารถลดหรือหยุดยาได้ก่อนครบ 1 ปี หรือไม่ความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนครับ เดินสายพานเดือนนี้ผลปกติครับ (ก่อนทำบอลลูนเดินสายพานก็ปกติครับ)

2. หากหยุดไม่ได้ผมสามารถงดยาได้สูงสุดกี่วัน กรณีต้องผ่าตัด

3. แอสไพรินที่คุณหมอตอบคำถาม ครั้งที่แล้วว่าต้องวางแผนหรือทยอยหยุด ไม่ควรหยุดทันที มีรายละเอียดอย่างไรครับ

ผมเสียดายที่พบเพจและรู้จักคุณหมอช้าเกินไป หากรู้ก่อนทำบอลลูนน่าจะดีไม่น้อย แต่ รู้ช้าก็ยังดีกว่าไม่รู้เลย

ขอบพระคุณมากครับ

ส่งจาก iPhone ของฉัน

...................................................

 

ตอบครับ

1.. ถามว่าสวนหัวใจทำบอลลูนใส่ขดลวดแล้ว แต่ทนผลข้างเคียงยาต้านเกล็ดเลือดไม่ไหว หากลดหรือหยุดยาได้ก่อนครบ 1 ปี จะมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ตอบจากงานวิจัย j-Cypher Registry ว่า

กรณีที่ 1 การลดยาต้านเกล็ดเลือดที่กินควบลงจากสองตัวเหลือตัวเดียวโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดในขดลวดจะเพิ่มขึ้นจาก 0.55% ในหนึ่งปี เป็น 1.26%  

กรณีที่ 2 หากหยุดกินทั้งสองตัวโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันในขดลวดจะเพิ่มจาก 0.55% เป็น 2% ในหนึ่งปี

จะเห็นว่าในภาพรวมมันก็ไม่ได้เสี่ยงตายระดับระเบิดระเบ้อแต่อย่างใดแต่มันก็มีความเสี่ยงอยู่ หากทนยาได้ก็ควรจะทนกินยาไปก่อน น่าจะดีกว่าอยู่เปล่าๆ

2.. ถามว่าหากไม่หยุดยาแต่แค่จะงดกรณีต้องผ่าตัด สามารถงดยาได้นานสูงสุดกี่วัน ตอบว่าไม่มีข้อมูลยืนยันในประเด็นนี้เลย ปัจจุบันนี้วงการแพทย์ใช้หลักชั่งน้ำหนักประโยชน์ของยาต้านเกล็ดเลือดและความเสี่ยงที่เลือดจะออกขณะผ่าตัด คนที่จะชั่งตรงนี้คือตัวหมอผ่าตัด ซึ่งเขาไม่ได้ชั่งด้วยข้อมูลแต่เขาชั่งด้วย ”ใจ” ของเขาเอง แล้วแต่ว่าใครขี้ป๊อดแค่ไหน สมัยหมอสันต์ยังทำผ่าตัดอยู่ไม่เคยงดยาต้านเกล็ดเลือดของคนไข้ก่อนการผ่าตัดไม่ว่าจะผ่าอะไร เพราะหมอสันต์เป็นหมอพันธ์ผิดปกติ

ข้อมูลวิจัยฤทธิ์ต่อต้านเกล็ดเลือดหลังหยุดยาทันทีพบว่าฤทธิ์จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญใน 7 วัน แต่หากจะให้หมดฤทธิ์จริงๆเกลี้ยงๆข้อมูลบ่งชี้ว่าต้อง 14 – 28 วันครับ

3.. ถามว่าที่หมอสันต์เคยบอกว่าการหยุดยาต้านเกล็ดเลือดต้องค่อยๆหยุดนั้นหมายความว่าอย่างไร ตอบว่าข้อมูลมีอยู่ว่าการหยุดยาทันทีจะทำให้เลือดจับตัวมากขึ้นแบบเด้งดึ๋ง มากกว่าสมัยไม่เคยได้ยาเลยเสียอีก ภาษาหมอเรียกว่ามันมี rebound จึงทำให้อุบัติการณ์หลอดเลือดอุดตัน(โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมองสูง)พุ่งขึ้นช่วง 8-25 วันนับจากวันที่หยุดยาแบบทันที คือเริ่มเกิดเรื่องเมื่อเกล็ดเลือดใหม่ได้เข้ามาแทนที่เกล็ดเลือดเก่าแล้ว แต่มีประเด็นสำคัญคือ rebound นี้เกิดเฉพาะหยุดยาต้านเกล็ดเลือดทุกตัวเกลี้ยงเท่านั้น จะไม่เกิดกรณีกินยาอยู่สองตัวแล้วหยุดกะทันหันตัวเดียว [2]  ความเสี่ยงนี้ยังไม่มีงานวิจัยชั่งตวงวัดออกมาเป็น % รู้แต่ว่ามีความเสี่ยงอยู่

วิธีปฏิบัติที่จะหยุดยาโดยลดความเสี่ยงนี้ด้วยคือค่อยๆหยุดยา (taper off) ลงทุกสัปดาห์โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เช่นกรณีกินอยู่สองตัว สัปดาห์แรกลดเหลือตัวเดียวเช่นเหลือแอสไพริน สัปดาห์ที่สองลดขนาดแอสไพรินเหลือครึ่งเม็ด (40 มก.) สัปดาห์ท่าสามลดเหลือครึ่งเม็ดวันเว้นวัน สัปดาห์ที่สี่จึงหยุดหมด เป็นต้น

4.. ข้อนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมแถมให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นที่ไม่ต้องการมาพิลาปรำพันภายหลังว่าน่าจะเจอหมอสันต์ก่อนที่จะไปสวนหัวใจใส่ขดลวด คือผมจะบอกว่าในกรณีที่ท่านไม่ได้เป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute MI ซึ่งหมายถึงมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกต่อเนื่องนานเกิน 20 นาทีแม้พักแล้วก็ยังไม่หายจนต้องถูกหามเข้าโรงพยาบาล) เพียงแค่ไปตรวจสุขภาพประจำปี ถ้าหมอจะอ้างอะไรก็ตามแล้วเสนอให้รับการตรวจสวนหัวใจ (CAG) ให้ท่านมองข้ามช็อตไปก่อนว่าอาการป่วยที่ท่านกำลังเป็นอยู่นี้มันรบกวนคุณภาพชีวิตท่านมากจนท่านจะต้องตัดสินใจทำบอลลูนหรือผ่าตัดบายพาสหรือไม่ หากอาการมันมากจนท่านตัดสินใจได้ล่วงหน้าเลยว่าหากหมอชวนให้ทำบอลลูนหรือบายพาสท่านก็จะยอมทำ ให้ท่านเข้ารับการตรวจสวนหัวใจได้ แต่หากท่านมองข้ามช็อตไปแล้วว่าอาการที่ท่านเป็นนี้มันไม่ได้รบกวนอะไรท่านมากเลยและยังไงท่านก็จะไม่ทำบอลลูนหรือบายพาสเพราะอาการแค่นี้ ก็อย่ายอมเข้ารับการตรวจสวนหัวใจ เพราะ..(ขอโทษ) จะเป็นการแกว่งตีนหาเสี้ยนเปล่าๆ


อนึ่ง ให้ใส่ใจพิจารณาจากข้อมูลความจริงจากผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ อย่าไปวอกแวกกับคำขู่ที่ว่าถ้าไม่ทำแล้วจะมีอันเป็นไป เช่น วูบหมดสติ หรือตายกะทันหัน เป็นต้น เพราะข้อมูลความจริงที่เป็นสถิติจากการวิจัยคือคนที่ไม่ได้เป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน แค่มีอาการเจ็บหน้าอกแบบไม่ด่วน การรักษาแบบรุกล้ำ (บอลลูน) กับการรักษาแบบไม่รุกล้ำ ทั้งสองแบบมีความยืนยาวของชีวิตไม่ต่างกัน หมายความว่าประโยชน์ของบอลลูนมีแค่การบรรเทาอาการ แต่ไม่ได้เพิ่มความยืนยาวของชีวิต หรือในบางกรณีทำบอลลูนกลับทำให้แย่ลง กล่าวคือ

   – งานวิจัย RITA-II trial เอาคนไข้แบบนี้ 1,018 คน สุ่มแบ่งครึ่งหนึ่งไปทำบอลลูนใส่สะเต้นท์อีกครึ่งหนึ่งไม่ทำ พบว่ากลุ่มทำบอลลูนมีอาการทุเลาลงมากกว่าแต่ขณะเดียวกันก็มีจุดจบที่เลวร้าย(ตัวตาย หรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย) มากกว่า (6.3%) เมื่อเทียบกับกลุ่มไม่ทำ (3.3%)

     – งานวิจัย AVERT ซึ่งเปรียบเทียบคนไข้แบบนี้ 341 คน พบว่ากลุ่มกินยาลดไขมันอย่างเดียวโดยไม่ทำบอลลูนกลับมาเจ็บหน้าอกใน 18 เดือน เป็นจำนวน13% ขณะที่กลุ่มทำบอลลูนกลับมาเจ็บหน้าอก 21% คือพวกทำบอลลูนกลับเจ็บหน้าอกมากกว่า

     – งานวิจัย COURAGE trial ซึ่งเลือกเอาเฉพาะคนที่มีรอยตีบที่โคนหลอดเลือด (ยกเว้นโคนใหญ่ซ้าย LM) อย่างน้อย 70% ขึ้นไป ตีบหนึ่งเส้นบ้าง สองเส้นบ้าง สามเส้นบ้าง ที่มีอาการเจ็บหน้าอก class I-II และที่วิ่งสายพาน (EST) ได้ผลบวกด้วย แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งทำบอลลูน อีกกลุ่มหนึ่งไม่ทำ แล้วติดตามดูไปนานเฉลี่ย 4.6 ปี พบว่าทำบอลลูนกับไม่ทำมีอัตราการตายกับการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันในห้าปีไม่ต่างกันเลย

     – งานวิจัย MASS ซึ่งนับเอาจุดจบเลวร้ายหลายอย่างเป็นตัวชี้วัดรวม (คือนับทั้งตัว (1) การที่ตัวคนไข้ตาย (2) การที่กล้ามเนื้อหัวใจตาย (3) การเจ็บหน้าอกแบบดื้อด้านหลังทำ) หลังจากการเปรียบเทียบกันไปสามปีพบว่ากลุ่มที่ทำบอลลูนมีจุดจบเลวร้ายมากกว่า (24%) เมื่อเทียบกับกลุ่มไม่ทำ (17%)

อนึ่ง ก่อนตัดสินใจตรวจสวนหัวใจหรือทำบอลลูน ควรแม่นยำเรื่องข้อมูลความเสี่ยงของการทำหัตถการทั้งสองนี้ ซึ่งผมขอเอามาทบทวนให้ฟัง ดังนี้

ความเสี่ยงของการตรวจสวนหัวใจ (CAG)

     - โอกาสตายเพราะสวนหัวใจ 0.1% คือประมาณว่าทุก 1000 คนจะตาย 1 คน (ตัวเลขจากผู้ป่วย 2 แสนคน)
     - โอกาสเกิดไตวายเฉียบพลัน (Cr เพิ่มเกิน 1.0 mg/dl) มี 5% ของผู้ป่วย แต่การทำงานของไตจะค่อยๆกลับเป็นปกติในไม่กี่วัน ที่จะกลายเป็นไตวายเรื้อรังจนต้องล้างไตมีน้อยกว่า 1 % 
     - โอกาสเป็นอัมพาตเฉียบพลันภายใน 36 ชม.หลังทำ 0.1 – 0.6%
     - โอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการฉีดสี มีต่ำกว่า 0.1%

-          โอกาสติดเชื้อรวมทั้งติดเชื้อในกระแสเลือด มี 0.06% หากทำที่ขา และสูงถึง 0.6% หากทำที่แขน

     นอกจากนี้เป็นภาวะแทรกซ้อนจิ๊บๆเช่นเลือดออกตรงที่แทงเข็ม เป็นต้น

ความเสี่ยงจากการทำบอลลูนใส่สะเต้นท์

     - โอกาสตายในรพ. 1.4 – 2.6% ยิ่งรพ.เล็กทำบอลลูนนานๆทียิ่งตายมาก
     - โอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันแบบมีคลื่น STEMI 0.4%
     - โอกาสตายในหนึ่งปีหลังจำหน่ายออกจากรพ. 0.4 – 2.4%
     - โอกาสเกิดการถูกทิ่มทะลุหลอดเลือด 0.2-0.6%
     - โอกาสเกิดสะเต้นท์อุดตันในหนึ่งปีแรก 10-20%
     - โอกาสเกิดเลือดออกในทางเดินอาหารขนาดหนักจากการกินยาต้านเกล็ดเลือดสองตัว 2.9% ถ้าไม่ใช้ยา PPI ซึ่งลดเหลือ 1.1% ถ้าใช้ยา PPI

     นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงอื่นๆที่วงการแพทย์รู้ว่ามีอยู่จริง แต่ยังนิยามอุบัติการณ์ออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้ เช่น ความเสี่ยงที่เลือดจะออกในสมองจากการควบยาต้านเกล็ดเลือดสองตัว ความเสี่ยงที่จะเกิดไตวายเรื้อรังจากการใช้ยาลดการหลั่งกรด (PPI) นานๆ เป็นต้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1.      Yano M, Natsuaki M, Morimoto T, Nakagawa Y, Kawai K, Miyazaki S, Muramatsu T, Shiode N, Namura M, Sone T, Oshima S, Nishikawa H, Hiasa Y, Hayashi Y, Nobuyoshi M, Mitsudo K, Kimura T; j-Cypher Registry Investigators. Antiplatelet therapy discontinuation and stent thrombosis after sirolimus-eluting stent implantation: five-year outcome of the j-Cypher Registry. Int J Cardiol. 2015 Nov 15;199:296-301. doi: 10.1016/j.ijcard.2015.06.023. Epub 2015 Jun 18. PMID: 26226333.

2.      Ford I. Coming safely to a stop: a review of platelet activity after cessation of antiplatelet drugs. Ther Adv Drug Saf. 2015 Aug;6(4):141-50. doi: 10.1177/2042098615588085. PMID: 26301068; PMCID: PMC4530348.Bottom of Form

 

3.      Levine GN, Bates ER, Blankenship JC, Bailey SR, Bittl JA, Cercek B, et al. 2011 ACCF/AHA/SCAI Guideline for Percutaneous Coronary Intervention: a report of the American College of Cardiology Foundation/American Heart Association Task Force on Practice Guidelines and the Society for Cardiovascular Angiography and Interventions. Circulation. 2011 Dec 6. 124 (23):e574-651. [Medline].

4.      Fox KA, Poole-Wilson PA, Henderson RA, Clayton TC, Chamberlain DA, Shaw TR, et al. Interventional versus conservative treatment for patients with unstable angina or non-ST-elevation myocardial infarction: the British Heart Foundation RITA 3 randomised trial. Randomized Intervention Trial of unstable Angina. Lancet. 2002. 360(9335):743-51.

5.      Coronary angioplasty versus medical therapy for angina: the second Randomised Intervention Treatment of Angina (RITA-2) trial. RITA-2 trial participants. Lancet. 1997 Aug 16. 350 (9076):461-8.

6.      Pitt B, Waters D, Brown WV, van Boven AJ, Schwartz L, Title LM, et al. Aggressive lipid-lowering therapy compared with angioplasty in stable coronary artery disease. Atorvastatin versus Revascularization Treatment Investigators. N Engl J Med. 1999. 341(2):70-6. 

7.      Teo KK, Sedlis SP, Boden WE, O’Rourke RA, Maron DJ, Hartigan PM, et al. Optimal medical therapy with or without percutaneous coronary intervention in older patients with stable coronary disease: a pre-specified subset analysis of the COURAGE (Clinical Outcomes Utilizing Revascularization and Aggressive druG Evaluation) trial. J Am Coll Cardiol. 2009 Sep 29. 54 (14):1303-8.

8.      Hueb W, Soares PR, Gersh BJ, Cesar LA, Luz PL, Puig LB, et al. The medicine, angioplasty, or surgery study (MASS-II): a randomized, controlled clinical trial of three therapeutic strategies for multivessel coronary artery disease: one-year results. J Am Coll Cardiol. 2004. 43(10):1743-51.

9.      Hueb WA, Soares PR, Almeida De Oliveira S, Ariê S, Cardoso RH, Wajsbrot DB, et al. Five-year follow-op of the medicine, angioplasty, or surgery study (MASS): A prospective, randomized trial of medical therapy, balloon angioplasty, or bypass surgery for single proximal left anterior descending coronary artery stenosis. Circulation. 1999 Nov 9. 100 (19 Suppl):II107-13.

10. Henderson RA, Pocock SJ, Sharp SJ, Nanchahal K, Sculpher MJ, Buxton MJ, et al. Long-term results of RITA-1 trial: clinical and cost comparisons of coronary angioplasty and coronary-artery bypass grafting. Randomised Intervention Treatment of Angina. Lancet. 1998. 352(9138):1419-25. [Medline].

11. Henderson RA, Pocock SJ, Clayton TC, Knight R, Fox KA, Julian DG, et al. Seven-year outcome in the RITA-2 trial: coronary angioplasty versus medical therapy. J Am Coll Cardiol. 2003. 42(7):1161-70. [Medline].

 

[อ่านต่อ...]

02 กันยายน 2567

มันไม่ต่างกันดอก ไม่ว่าจะเป็นการแสวงหาเงิน อำนาจ หรือความหลุดพ้น


 ชีวิตใน “นิคม”


เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ

ผมทำงาน ... ตอนนี้อายุ 60 แล้วใจไม่สงบ ทนพฤติกรรมแสวงเงินและอำนาจของคนรอบตัวไม่ไหว อยากไปบวช อยากฟังความเห็นคุณหมอในเรื่องนี้

อีกอย่างหนึ่งคืออยากฟังความเห็นประเด็นว่าหากเราเผยแผ่เมตตาธรรมออกไป มันจะช่วยให้โลกพ้นจากการเข่นฆ่ากัน โดยเฉพาะสงครามนิวเคลียร์ได้ไหม

.............................................................................

 

ตอบครับ

 

1.. ถามว่าจะไปบวชดีไหม ถ้าถามมาก่อนหน้านี้สองสามปีคำตอบคงจะเป็นว่าหากตรงนี้มันไม่สงบก็ลองผละไปแสวงหาความสงบที่ตรงอื่นเถอะแล้วอาจจะพบก็ได้ แต่มาถามผมวันนี้คำตอบของผมคือมันไม่ต่างกันดอก การพยายามหาเงินเพื่อให้รวยหรือแสวงหาทางการเมืองเพื่ออำนาจ กับการพยายามแสวงหาความหลุดพ้นทางจิตวิญญาณ มันไม่ต่างกันที่ตรงไหนเลย

เพราะมันล้วนเป็นการ “แกว่ง” ออกไปจากการอยู่นิ่งๆตรงกลางอันเป็นที่ที่คุณจะสงบเย็นและเบิกบานได้ไปเสียแล้ว ดังนั้นทั้งสองทางล้วนพาคุณไปหาความล้มเหลวหรือพาคุณออกห่างจากความสงบเย็นทั้งคู่

มันต่างกันแค่ว่าการแสวงเงินหรืออำนาจเป็นวิถีที่สังคมให้คะแนนนิยมน้อย ขณะที่การไปเป็นนักบวชนักบุญหรือไปแสวงหาความหลุดพ้นทางจิตวิญญาณเป็นวิถีที่สังคมให้คะแนนนิยมมาก แต่ไม่ว่าเขาจะนิยมหรือไม่นิยมคุณ ก็ไม่เกี่ยวอะไรกับที่คุณจะสงบเย็นได้หรือไม่

ปัญหาความไม่สงบเย็นมันเริ่มหลังจากที่มนุษย์ได้รับ basic need เช่นอาหารและที่ซุกหัวนอน ครบแล้ว แต่ไม่เข้าใจว่าความสงบเย็นเบิกบานนั้นมันจะเข้าถึงได้ก็ด้วยการรู้จักยอมรับทุกอย่างให้ผ่านเข้ามาหรือผ่านออกไปโดยไม่แกว่งไปจากที่คุณเป็นอยู่ ณ ที่นี่เดี๋ยวนี้เท่านั้น เพราะการแกว่งก็คือความอยาก ไม่ว่าจะเป็น “อยากได้” หรือ “อยากหนี” คุณก็ได้กลับหลังหันจากโอกาสที่จะสงบเย็นไปเสียแล้ว

ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าผมต่อต้านการออกบวชตามแบบศาสนานะ จริงอยู่ผมเป็นคนไม่ได้นับถือศาสนาใดเป็นพิเศษแต่ผมก็แอบหยิบคำสอนจากทุกศาสนาเฉพาะส่วนที่ผมถนัดมาใช้เป็นประจำ ส่วนที่ผมไม่ถนัดผมไม่เคยต่อต้านเลย เพราะคนไม่ยุ่งกับศาสนาก็ไม่มีเหตุอะไรที่จะต้องไปต่อต้านหรือสนับสนุนอะไร  เนื่องจากไม่ได้สนใจ ไม่มีเอี่ยว ไม่เกี่ยวข้องอะไรด้วยมาตั้งแต่แรกแล้ว

ประเด็นตอกย้ำคือความสงบเย็นเบิกบานเป็นธรรมชาติข้างในของใจเราทุกคน ที่ไม่อาจถึงได้ด้วยการไปแสวงหา แต่ถึงได้ด้วยการเปลี่ยนทิศทางจากมุ่งไปข้างนอกเป็นหันกลับเข้าข้างใน ปักหลักอยู่นิ่งๆตรงกลาง ไม่แกว่งไปกอดรัดสิ่งที่ชอบ ไม่แกว่งหนีสิ่งที่ไม่ชอบ โดยที่ในทางปฏิบัติก็คือการขยันแอบดูและยั้งการ “แกว่ง” ในแต่ละครั้ง

2.. ถามว่าการตั้งใจเผยแพร่หลักคิดเมตตาธรรมให้ขยายกว้างจะลดโอกาสเกิดสงครามนิวเคลียร์ได้ไหม ตอบว่าเรื่องสงครามนิวเคลียร์คุณต้องไปถามหมอหยองหรือหมอดูแม่นๆคนอื่นละมัง หมอสันต์จะไปมีปัญญาตอบคำถามแบบนี้ได้อย่างไร ได้แต่ตั้งข้อสังเกตจากหลักฐานเชิงประจักษ์ให้คุณคิดประกอบ ว่าเมื่อประมาณยี่สิบปีมาแล้วหนังสือไทม์แมกกาซีนลงข่าวเด็กนักศึกษาปีสองที่สะแตนฟอร์ดคนหนึ่งทำระเบิดนิวเคลียร์ขนาดเท่ากระป๋องนมขึ้นในโรงรถบ้านตัวเองได้สำเร็จ เขาถูกรัฐบาลสหรัฐฯจับตัวไปตั้งแต่วันนั้นเลย ประเด็นคือเมื่อยี่สิบปีก่อนมันย่นขนาดเหลือเท่ากระป๋องนมได้ ป่านฉะนี้มันไม่เหลือเท่าไฟแช้คแล้วเรอะ เมื่อขนาดมัน handy ขนาดนั้นและใครๆก็มีกัน (องค์กร ACA รายงานว่าตอนนี้มีมากกว่า 12,100 ลูก) คราวนี้โอกาสที่เขาจะใช้กันมันจะมากหรือน้อยละครับ ที่ยังขึงพืดสงบๆกันได้ขณะนี้เป็นเพราะต่างฝ่ายต่างกลัวว่าเขวี้ยงไปแล้วตัวเองจะหลบระเบิดไม่พ้น เรียกว่าอยู่กันได้เพราะดุลยภาพแห่งความกลัว (balance of terror) นี่เป็นปัจจัยแท้จริงชัวร์ๆ ที่ทำให้โลกสงบ ส่วนสูตรเมตตาธรรมที่คุณอยากโปรโมทนั้น ผมไม่รู้หรอกว่ามันจะเวอร์คหรือเปล่า รู้แต่ว่าในประวัติศาสตร์สูตรนี้ก็ถูกใช้เป็นอาวุธทำสงครามฆ่ากันมาทุกยุค ภายใต้ตราของศาสนา

ผมไม่ได้ต่อต้านเมตตาธรรมนะ อย่าเข้าใจผิด ในทางตรงกันข้าม ผมโปรโมทเมตตาธรรมในระดับบุคคลด้วยซ้ำไป วิธีของผมคือผมโปรโมทให้ทุกคนยิ้ม พอเรายิ้ม คนรอบข้างก็จะสงบเย็นลงได้เอง เอาแค่นี้กันก่อนดีไหม คุณยิ้มให้ได้ทุกวันก่อน ส่วนโลกทั้งโลกมันจะสงบได้หรือไม่ได้นั้น ช่างมันก่อนเถอะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

30 สิงหาคม 2567

เจ็ดใครหนอ

มะกอกน้ำ ลูกแค่นี้ก็อร่อยแล้ว

ทุกวันนี้มีคนเสนอขายสินค้าที่จะทำให้อายุยืนแยะมาก ทั้งวิตามิน อาหารเสริม สะเต็มเซลล์ โดยอ้างงานวิจัยสารพัด แต่ความเป็นจริงคืองานวิจัยที่จะพิสูจน์ว่าอะไรทำให้คนอายุยืนนั้นต้องมีระยะเวลาวิจัยนานระดับหลายสิบปีขึ้นไป ซึ่งตอนนี้ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวครบถ้วนมีอยู่แค่ 1 งานวิจัยเท่านั้น ชื่อ
Adult Development Study ของฮาร์วาร์ด ใช้เวลาทำวิจัยนาน 83 ปี ใช้นักวิจัยถึงสามชั่วอายุคน เริ่มต้นติดตามคนอยู่ 724 คน จนถึงปัจจุบันติดตามอยู่ราว 2000 คน วันนี้เรามาพูดถึงงานวิจัยหนึ่งเดียวนี้ ว่าอะไรเป็นปัจจัยทำให้คนอายุยืน สุขภาพดี มีความสุขในชีวิต

เหตุหนึ่งเดียวที่ทำให้คนอายุยืนในงานวิจัยนี้ไม่ใช่อาหาร ไม่ใช่การมีหรือไม่มีเงิน ไม่ใช่การมีนิสัยออกกำลังกายหรือไม่ออก ไม่ใช่การมีการศึกษาสูงหรือต่ำ ไม่ใช่การได้ทำงานดีๆเท่ๆ (รวมทั้งเป็นประธานาธิบดี) หรือไม่ได้ทำ แต่ ปัจจัยเดียวที่สัมพันธ์ภาพการมีอายุยืนในงานวิจัยนี้คือการมีสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบตัว (social connectedness) ซึ่งงานวิจัยนี้ได้บัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้นมาคำหนึ่งว่า “ความฟิตทางสังคม (social fitness)” โดยที่งานวิจัยนี้ได้วิเคราะห์ปัจจัยความสัมพันธ์ย่อยที่จะทำให้เกิดความฟิตทางสังคมไว้ 7 ด้าน หรือ 7 ปัจจัย ซึ่งผมเรียกว่าเจ็ดใครหนอ..คือ

1.. Safety ใครหนอที่เมื่อเรารู้สึกอยู่ในภาวะวิกฤติหรือไม่ปลอดภัย เราจะวิ่งไปหาเขา

2.. Leaning & growth ใครหนอที่กระตุ้นให้เรากล้าทดลองเรียนรู้ กล้าเสี่ยง กล้าทำสิ่งใหม่ๆ กล้าล่าความฝัน ทำให้เราได้เรียนรู้และเติบโต

3.. Closeness ใครหนอที่ใกล้ชิดกับเราจนรู้จักเราดีไปเสียหมดทุกด้าน เมื่อรู้สึกท้อแท้หดหู่เมื่อไรเราก็จะไปหาเขา

4.. Identity affirmation ใครหนอที่เป็นคนคอยเตือนสติเรา ไม่ให้เราลืมตัวว่าเราเป็นใคร มาจากไหน และจะไปไหนต่อ

5.. Intimacy ใครหนอ ที่เราโรแมนติดหวานแหววด้วยอย่างลึกซึ้งเป็นประจำ (นับรวมกิ๊กด้วยไหมเนี่ย..หิ หิ)

6.. Help ใครหนอที่ช่วยเราได้ทุกเรื่อง ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ เรื่องเล็กเรื่องน้อยเช่นจะปลูกผักอย่างไร จะซ่อมก๊อกน้ำอย่างไร เราวิ่งหาเขาได้หมด

7.. Fun  ใครหนอที่ทำให้เรายิ้มและหัวเราะได้ และเราสบายใจที่ได้อยู่ใกล้

ลองไล่เรียงดูขาประจำในชีวิตของท่านดูนะครับ ว่าเรามีครบทั้งเจ็ดใครหนอหรือยัง ถ้ายังก็คงต้องขยันหามาเพิ่ม ถ้ามีแล้วแต่ห่างเหินไปก็จะได้โทรหา เพื่อจะได้มี social fitness ให้เราอายุยืนไง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

27 สิงหาคม 2567

สามสิบบาทรักษาทุกที่.. ประเด็น ตุ๊กๆ โตโยต้า เบ้นซ์


(ภาพวันนี้ / ดอกตะล่อม)

คุณหมอสันต์ครับ

เรื่องสามสิบบาทรักษาทุกที่ ผมขอเรียนถามคุณหมอว่าที่รพ.ใหญ่แห่งหนึ่งร้องเรียนว่าสปสช.ลดการจ่ายเงินต่อหน่วยจากแปดพันเหลือห้าพันนั้นมันหน่วยอะไร ทำไมสปสช.ไปลดเงินเขาอย่างนั้น แล้วการลดเงินตรงนี้มันเกี่ยวอะไรกับนโยบายสามสิบบาทรักษาทุกที่ไหม แล้วที่หมอท่านหนึ่งบอกว่าใช้สามสิบบาทคือนั่งรถตุ๊ก ถ้าอยากนั่งโตโยต้าหรือเบ้นซ์ต้องจ่ายเพิ่ม มันจริงไหม แล้วมันจริงไหมที่หมอท่านหนึ่งบอกว่ายาบัญชียาหลักมันเป็นยาที่ประสิทธิภาพไม่ดีเท่ายานอกบัญชียาหลัก

..............................................................

 

ตอบครับ

 

1. ถามว่าเงินที่โรงพยาบาลร้องเรียนว่าสปสช.ลดการจ่ายเงินต่อหน่วยจากแปดพันกว่าเหลือห้าพันนั้น มันหน่วยอะไร ตอบว่ามันเป็นหน่วยนับความแรงของกลุ่มโรคที่รักษาหรือดีอาร์จี. (DRG – Diagnosis Related Group) รากเหง้าของหน่วยนี้ก็คือชื่อโรคที่รักษานั่นเอง โดยหมอทั่วโลกตกลงเรียกชื่อโรคให้เหมือนกันตามทะเบียนโรค (ICD International Classification of Diseases) ซึ่งก็มีโรคหนักโรคเบา ครั้นจะจ่ายเงินค่ารักษาตามชื่อโรคตรงๆในการนอนรพ.แต่ละครั้งโรคมันแยะเกิน จึงรวบจ่ายเป็นกลุ่มโรคที่สัมพันธ์กัน ก็คือ DRG นั่นเอง แล้วเอาค่านี้มาใส่น้ำหนักต้นทุนการรักษาให้แต่ละโรค มีวิธีคิดซับซ้อน บวกลบคูณหารออกมาเป็นเงินที่รพ.จะได้ต่อหนึ่งหน่วยน้ำหนัก ประเด็นสำคัญก็คือสมัยก่อนสปสช.จ่ายตามที่คำนวณได้โดยตั้งต้นที่หน่วยละ 10000 บาท แต่ต่อมาแม้จะเพิ่มเงินงบประมาณทุกปีแต่ก็ยังไม่พอจ่ายเพราะค่ารักษาที่โรงพยาบาลเรียกเก็บนั้นมันมากขึ้นๆจนงบไล่ไม่ทัน สปสช.จึงเปลี่ยนวิธีจ่ายใหม่เป็นได้งบมาเท่าไหร่จ่ายให้เท่านั้น คือเอางบที่ได้มาทั้งหมดตั้ง เอาหน่วยนับที่รพ.เรียกเก็บมาทั้งหมดหาร ตกหน่วยละเท่าไหร่ก็จ่ายให้เท่านั้น ซึ่งสำหรับโรงพยาบาล ค่าที่ได้ต่อหน่วยมันสาละวันเตี้ยลงจนเงินไม่พอใช้ เขาจึงออกมาโวย

2.. ถามหมอสันต์ว่าแล้วทำไมสปสช.ไปลดเงินค่ารักษาของรพ.ลงอย่างนั้นละ ตอบว่าก็เขาบ่อจี๊แล้วอะสิครับ หากไม่ลดเงินที่จะต้องจ่ายให้รพ.แล้วจะให้ทำอย่างไรละครับ ถ้าหมอสันต์เป็นสปสช. หมอสันต์ตอนนี้ก็ต้องทำแบบเดียวกัน หิ..หิ

ลึกลงไปกว่านั้นคือสปสช.ได้ทำผิดตลอดมาในแง่ที่ไปโปรโมทค่าใช้จ่ายในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง ใช้เงินจำนวนมากไปในเรื่องที่ไม่มีผลต่ออัตราตายของประชาชนเลย เช่นการลงทุนสร้างศูนย์หัวใจเพิ่มขึ้นมาเป็นสิบๆแห่งเพื่อทำบอลลูนและผ่าตัดหัวใจขณะที่หลักฐานวิทยาศาสตร์บ่งชี้ไปในทางว่า 80% ของการรักษารุกล้ำเหล่านั้นไม่ได้เปลี่ยนการดำเนินของโรคและไม่ได้ลดอัตราตายเลย ส่วนที่เปลี่ยนการดำเนินของโรคได้เช่นการเปลี่ยนวิถีชีวิต สปสช.ลงทุนน้อยมาก ตอนนี้สปสช.ต้องชดใช้กรรมจากนโยบายเก่าที่ตัวองทำไว้ กล่าวคือสปสช.ไปเชื่อความศักดิ์นสิทธิ์ของ evidence-based medicine หรือการแพทย์แบบอิงหลักฐานที่อาจารย์จากโรงเรียนแพทย์พร่ำถึง โดยไม่เข้าใจว่ากลไกอุตสาหกรรมการแพทย์ที่แท้จริงนั้นมันเป็น reimbursement based medicine คือการแพทย์แบบอิงการเบิกจ่าย อะไรที่ให้เบิกได้ ก็จะเบ่งบานระเบิดระเบ้อ ส่วนหลักฐานนั้นช่วยกันสร้างขึ้นมาได้ถ้าต่างฝ่ายต่างอยากได้เงิน  

พอหมดปัญญารับมือค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเฮโลไปผิดทาง สปสช.ก็โยนทั้งหมดให้รพ.ไปแก้เอาเอง คือมีเงินให้แค่เนี้ยะ คุณไปลดการรักษาแพงๆเอาเอง ผมไม่เกี่ยว เท่ากับว่าการกำหนดทิศทางการแพทย์ของชาติตกอยู่ในมือของรพ.ซึ่งมีศักยภาพที่จะแก้ปัญหาเชิงนโยบายได้น้อยมาก แทนที่จะอยู่ที่สปสช.ซึ่งมีทั้งกฎหมายและเงินที่เอื้อให้ทำอะไรได้

2. ถามว่าเงินที่รพ.ได้ต่อหน่วยที่ลดลงไปเรื่อยๆนี้ เกี่ยวอะไรกับนโยบายสามสิบบาทรักษาทุกที่ไหม ตอบว่าไม่เกี่ยวหรอกครับ เพราะนโยบายรักษาทุกที่เป็นการแก้ปัญหาให้ประชาชนย้ายถิ่นที่ต้องเดือดร้อนย้อนไปใช้สิทธิ์หน่วยบริการปฐมภูมิที่บ้านเกิดจึงจะได้สิทธิ์ และค่าจ้างทำปฐมภูมิก็คนละส่วนกับค่าจ้างรักษาทุติยภูมิหรือตติยภูมิ นโยบายใหม่นี้ให้ใช้บัตรประชาชนไปใช้บริการหน่วยปฐมภูมิใกล้ที่อยู่ณ ขณะนั้นได้ทุกแห่ง และยังได้ขยายหน่วยบริการปฐมภูมิไปครอบคลุม ร้านยาคุณภาพ คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น คลินิกเทคนิกการแพทย์ชุมชนอบอุ่น และคลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น คือทุกแห่งที่มีตราประมาณว่าอะไรอบอุ่นก็เข้าใช้บริการได้หมด ทำให้ลูกค้าเข้าถึงบริการปฐมภูมิได้ง่ายขึ้น

จะเกี่ยวอยู่บ้างแบบอ้อมๆก็ตรงที่ไม่ได้อธิบายให้ชัดว่า “นี่คือการใช้บริการปฐมภูมินะจ๊ะ” ต่อเมื่อเขาเห็นควรส่งต่อเข้ารพ.ทุติยภูมิเขาจึงจะส่งต่อให้ การไม่อธิบายอย่างนี้ทำให้คนเป็นโรคยากๆที่อยากได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดยากๆเร็วๆก็เฮโลไปใช้บริการโรงพยาบาลดังๆ ซึ่งตามธรรมชาติก็มักจะถูกยันไว้ที่หน่วยบริการปฐมภูมิของรพ.แห่งนั้น แต่ก็ยังมีช่องให้เกิดปัญหาได้สองอย่าง คือ (1) เมื่อมากันแยะก็อาจเกิดหน่วยบริการปฐมภูมแตกได้ (2) เนื่องจากความอยู่ใกล้ ทำให้แพทย์ที่หน่วยปฐมภูมิของรพ.ใหญ่ส่งต่อเข้ารับการรักษาแบบซับซ้อนได้เร็วทันใจ จึงต้องรับรักษาโรคซับซ้อนเป็นปริมาณมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าก็ยิ่งทำให้รพ.ขาดทุนมากขึ้น เพราะการจ่ายเงินค่ารักษาโรคซับซ้อนตอนนี้จ่ายกันแบบยิ่งขยันทำ ยิ่งขาดทุน

3. ถามว่าที่คุณหมอบางท่านแนะนำว่าการใช้บัตรสามสิบบาทคือรถตุ๊กๆ ถ้าจะนั่งโตโยต้าหรือเบ้นซ์ก็ความจะจ่ายเงินเพิ่ม หรือ co-pay มันคืออะไร ตอบว่าการร่วมจ่ายหรือ co-pay มันมีสองแบบ

แบบที่1. คือร่วมจ่ายแบบต่อหัวต่อปี คือเมื่อตอนเราจะเริ่มระบบสามสิบบาทรักษาทุกโรคคณะหมอที่ทำงานตั้งใจจะให้ผู้ถือบัตรร่วมจ่ายเป็นรายปีเช่นปีละ 1000 บาท (ตอนนั้น) ซึ่งมันสืบเนื่องมาจากโครงการบัตรประกันสุขภาพที่ออกมาทดลองใช้ก่อนหน้านั้นโดยเก็บค่าร่วมจ่ายปีละ 500 บาทหรือไงเนี่ย แต่นักการเมืองปากไวออกข่าวไปก่อนวันเลือกตั้งแล้วโดยไม่ได้พูดถึงส่วนร่วมจ่าย ก็เลยต้องตกกระไดพลอยโจนเลยตามเลย ผมเองเคยกระทุ้งรัฐบาลทุกยุคให้เก็บ co-pay ต่อหัวต่อปีนี้ แต่ไม่มีรัฐบายไหนกล้าทำ

แบบที่ 2. คือการให้ผู้เข้ารับบริการร่วมจ่ายส่วนที่ไม่ใช่สาระหลักของการรักษา เช่นซื้อยานอกบัญชียาหลักเอง จ่ายค่าห้องพิเศษเอง เป็นต้น ทุกวันนี้ผู้ใช้บัตรต้องร่วมจ่ายในส่วนนี้อยู่แล้ว

ดังนั้นคอนเซ็พท์ ตุ๊กๆ เบ้นซ์ โตโยต้า หมอสันต์เห็นว่าไม่ใช่ประเด็น (not relevant) ในเรื่องสามสิบบาทรักษาทุกโรค

  4.. ถามว่าบัญชียาหลักแห่งชาติมันเป็นของถูก ของไม่ดี ต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อเอาของดี จริงไหม ก่อนตอบผมขอแยกเรื่องยาปลอม ยาเถื่อน ออกไปก่อนนะเพราะคนชอบเอาสองอย่างนี้มาปนให้เข้าใจเขวว่ายาในบัญชียาหลักเป็นยาปลอมเป็นยาเถื่อน

วิทยาศาสตร์มีอยู่ว่าสารเคมีที่มีโครงสร้างเคมีเหมือนกันจะออกฤทธิในร่างกายเหมือนกันไม่ว่าจะผลิตโดยใคร ยาที่การใช้งานจริงมีหลักฐานว่าเปลี่ยนแปลงตัวชี้วัด (เช่นอัตราตาย) ไปทางบวกได้จะได้รับคัดเลือกเข้าไว้ในบัญชียาหลัก แม้ว่าบัญชียาหลักของไทยนี้...ขอโทษ มันบวม มันหยวน และมันหลวม หมายความว่ามียาไร้สาระอยู่ในนั้นแยะมาก เทียบกับบัญชียาหลักของ WHO ของเราบวมกว่าแยะ แต่ทั้งๆที่หลวมขนาดนี้ บริษัทยาก็พยายามทุกทางที่จะให้มันบวมให้มันหลวมยิ่งกว่านี้อีก

ผมตอบคุณจากหลักฐานวิจัยที่เชื่อถือได้ว่า ยาที่มีอยู่ในบัญชียาหลัก ณ วันนี้ เพียงพอแล้วต่อการรักษาโรคเพื่อให้ได้ผลในสาระสำคัญของโรคนั้นๆ (เช่นโรคมะเร็งก็ได้อัตรารอดชีวิตที่ยาวขึ้น เป็นต้น) ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเสาะหาการรักษายานอกบัญชีมาใช้ นอกจากจะใช้เพื่อคลายความกังวลของตัวเอง เช่นอยากมีอัตรารอดชีวิตที่ยาวกว่ายาเก่า ก็อยากไปลองใช้ยาใหม่ที่ข้อสรุปของอัตรารอดชีวิตในระยะยาวยังไม่ชัดเจน เป็นต้น ซึ่งการไปใช้ยาในลักษณะนี้ ผู้ใช้ก็ควรเป็นผู้จ่ายเงินเอง

ข้อพิจารณาที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ โรคเรื้อรังซึ่งเป็นโรคที่เป็นสาเหตุการตาย 70-80% ของผู้คนตอนนี้ ยาช่วยลดอัตราตายได้น้อยมาก จนถึงไม่ได้เลย ดังนั้นการร่ำร้องหายาดียาแพงสำหรับโรคเรื้อรังเป็นการใช้พลังงานอันมีอยู่จำกัดไปผิดที่ การแก้ปัญหาโรคเรื้อรังต้องไปเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต อันได้แก่การกินการเคลื่อนไหว การจัดการความเครียด เป็นต้น จึงจะเป็นการเกาถูกที่คัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]