22 มกราคม 2565

คนบ้าโปรตีน

เรียนคุณหมอสันต์
ดิฉันหวังว่าอาการต่างๆจากอุบัติเหตุของคุณหมอคงจะฟื้นฟูกลับมาเหมือนเดิมแล้วนะคะ วันนี้ดิฉันมีเรื่องรบกวนให้คุณหมอช่วยแนะนำผลการตรวจแลป 2 ตัวนี้หน่อยค่ะ (c reactive protein 0.4 mg/L, homocysteine 11.2 micromol/L ) แปลว่าดิฉันทานโปรตีนเยอะเกินไปและมีค่าการอักเสบในเส้นเลือดสูงใช่ไหมคะ ดิฉันควรลดการทานโปรตีนให้น้อยลงหรือเปล่า ทานโปรตีนเยอะเพราะกล้ามเนื้อเริ่มลดจากอายุที่เพิ่มขึ้นค่ะ ตอนนี้พยายามทานให้ได้โปรตีนวันละ 60 กรัม หรืออกไก่ 7-11 ประมาณ 3 ชิ้น
ขอคำแนะนำด้วยค่ะ
ขอบพระคุณมากค่ะ
………………………………………………………………………

ตอบครับ

มาอีกละ คนบ้าโปรตีน แต่คุณถามมาผมก็จะตอบไป ผมตอบให้ทีละประเด็นนะ

1.. ถามว่า c – reactive protein สูงแสดงว่าการอักเสบในร่างกายมากขึ้นใช่ไหม ตอบว่าถ้ามันสูงก็ใช่ครับ แต่กรณีของคุณมันไม่ได้สูง เพราะค่าปกติถือกันที่ไม่เกิน 5 mg/L ของคุณไม่ได้เกิน

2.. ถามว่า homocysteine สูงแสดงว่าการอักเสบในร่างกายเกิดมากขึ้นใช่ไหม ตอบว่าผลเลือดของคุณไม่ได้สูงนะครับ ค่าปกติในคนไทยนับกันว่าถ้าไม่เกิน 15 micromole/L ถือว่าปกติ ของคุณก็คือปกติ แต่ผมพูดเผื่อท่านผู้อ่านท่านอื่น ติ๊งต่างว่าระดับ homocysteine สูง มันหมายความว่าอาจมีการขาดวิตามินที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้ในการเปลี่ยนตัว homocysteine ซึ่งเป็นของไม่ดีไปเป็น methionine ซึ่งเป็นของดี วิตามินที่มีหน้าที่ช่วยการเปลียนตรงนี้ก็คือวิตามินบี.6 โฟเลท (วิตามินบี.9) และวิตามินบี.12 วิตามิน

วิตามินบี.6 คนที่กินอาหารพืชหลากหลายอยู่แล้วจะไม่ขาดวิตามินบี.6 เพราะมีอยู่ในพืชทั่วไปเช่น แครอท ป้วยเล้ง มันเทศ ถั่วต่างๆ กล้วย อะโวกาโด้เป็นต้น

โฟเลท คนทั่วไปก็ไม่ขาดเพราะมีในผักใบเขียวที่ยังไม่โดนความร้อน (แต่ถ้าต้มแล้วจะเสียโฟเลทไปค่อนข้างมาก)

วิตามินบี.12 ที่มีความเสี่ยงขาดจริงจังก็คือวิตามินบี.12 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่อายุมากซึ่งการดูดซึมที่กระเพาะเสียไป และในคนที่กินแต่พืชไม่กินเนื้อสัตว์เลย (วีแกน) เพราะในพืชมีวิตามินบี.12 น้อย ดังนั้นคนที่กินอาหารแบบวีแกนหากตรวจเลือดพบว่าโฮโมซีสเตอีนสูงต้องวินิจฉัยว่าขาดวิตามินบี.12 ไว้ก่อน และควรลงมือกินวิตามินบี.12 เสริมเลย ด้วยการกินวันละหนึ่งเม็ดเล็ก (50 ไมโครกรัม) หรือสัปดาห์ละหนึ่งเม็ดใหญ่ (500-1000 ไมโครกรัม) หรือเสริมวิตามินรวมที่มีวิตามินบี.12 อยู่ด้วย มีกี่ไมโครกรัมก็ได้ไม่ต้องเกี่ยง เพราะร่างกายต้องการวิตามินบี.12 วันละแค่ 1 ไมโครกรัมเท่านั้นเอง

3.. ถามว่ากินอกไก่วันละ 3 ชิ้นเพื่อให้ได้โปรตีนวันละ 60 กรัม ดีไหม ตอบว่าคุณอย่าเป็นคนบ้าโปรตีนนักเลย มันจะทำให้คุณดูแลสุขภาพของคุณไปผิดทาง เรื่องนี้ผมขอแยกเป็นสี่ประเด็นย่อยนะ

ประเด็นที่ 1. โปรตีนไม่ได้หมายถึงเนื้อนมไข่เท่านั้น แต่โปรตีนมีอยู่ในอาหารเกือบทุกชนิดมากน้อยต่างกันไปเช่น เนื้อสัตว์มีโปรตีนประมาณ 20% ถั่วต่างๆ งา นัท มีโปรตีนประมาณ 20-26% ไข่มี 7.5% นมวัวมี 3.5% ข้าวกล้องมี 2.6% น้ำนมคนมี 1% ดังนั้นคุณกินอาหารให้หลากหลายและกินให้อิ่มคุณได้โปรตีนครบถ้วนอยู่แล้วไม่มีขาดโปรตีนแน่นอน ไม่เชื่อคุณลองถามหมอที่คุณรู้จักคนไหนก็ได้ดูหน่อยสิ ว่าตั้งแต่เกิดมาเขาเคยเห็นคนไข้โรคขาดโปรตีน (Kwashiorkor) แบบตัวเป็นๆสักคนหนึ่งไหม ถ้าหมอท่านไหนเคยเห็นคุณช่วยบอกผมเอาบุญหน่อย ผมจะไปสัมภาษณ์คุณหมอท่านนั้นเพื่อสืบสาวไปทำวิจัยผู้ป่วยที่ว่าเป็นโรคขาดโปรตีน เพราะคนไข้โรคขาดโปรตีนจริงๆทั้งที่กินแคลอรี่ครบถ้วนสมัยนี้มันไม่มี ผมถามหมอทุกคนที่รู้จักก็ไม่มีหมอคนไหนเคยเห็น

ประเด็นที่ 2. ความเชื่อที่ว่าโปรตีนจากสัตว์คุณภาพสูงโปรตีนจากพืชคุณภาพต่ำเป็นคอนเซ็พท์ที่ไร้สาระและชักนำให้ผู้คนป่วยมากขึ้นเพราะความกลัวขาดโปรตีนทำให้ไปตะบันกินเนื้อสัตว์ทำให้เป็นโรคเรื้อรังกันมากขึ้น ความเชื่อเหลวไหลนี้มาจากการนับกรดอามิโนจำเป็น (essential amino acid) (ซึ่งร่างกายมนุษย์สร้างขึ้นไม่ได้) 9 ตัวในอาหาร อาหารใหนกรดอามิโนจำเป็นครบเก้าตัวก็นับว่าเป็นโปรตีนคุณภาพสูง อาหารไหนมีไม่ครบก็นับว่าเป็นโปรตีนคุณภาพต่ำ แต่ในชีวิตจริงมนุษย์กินอาหารหลากหลาย อาหารทุกชนิดเมื่อกินเข้าไปแล้วจะถูกย่อยเป็นโมเลกุลพื้นฐาน (basic building block) เหมือนกันหมด เช่นอาหารโปรตีนก็จะถูกย่อยเป็นกรดอามิโนเหมือนกันหมด แล้วร่างกายก็เลือดดูดซึมสิ่งที่ต้องการเข้าไปใช้ ในกรณีการดูดซึมโปรตีน ร่างกายก็จะเลือกดูดซึมกรดอามิโนที่ขาดเข้าไปใช้ อาหารนี้ไม่มีกรดอามิโนตัวนั้นก็ไปเอาจากอาหารโน้น ทำให้ภาพรวมเมื่อกินอาหารที่หลากหลายไม่มีทางขาดโปรตีน

ประเด็นที่ 3. ผู้ผลิตกรดอามิโนจำเป็นคือพืช ไม่ใช่สัตว์ คนทั่วไปเข้าใจว่าสัตว์เป็นผู้สร้างโปรตีนหรือกรดอามิโนจำเป็นขึ้นจึงศรัทธาเนื้อสัตว์ว่าเป็นแหล่งโปรตีนซึ่งพืชไม่มี นี่เป็นความเข้าใจผิด สัตว์เช่นวัวหรือหมูที่เรากินเนื้อเขา เขาก็เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหมือนกับเรา ร่างกายเขาก็ผลิตกรดอามิโนจำเป็นเองไม่ได้ เขาต้องไปเอามาจากพืช ดังนั้น ผู้ผลิตและจำหน่ายกรดอามิโนจำเป็นที่แท้จริงคือพืช เช่นหญ้าที่วัวกินเป็นต้น ดังนั้นหากคุณจะเคารพบูชาอาหารว่าเป็นแหล่งให้กรดอามิโนจำเป็นแก่คุณคุณต้องบูชาพืชผักผลไม้ถั่วงานัทและธัญพืชไม่ขัดสี ไม่ใช่ไปบูชาเนื้อสัตว์

ประเด็นที่ 4. ร่างกายมนุษย์ไม่ได้ต้องการโปรตีนมาก เมื่อตะกี้ผมจะระไนให้คุณฟังว่า เนื้อสัตว์มีโปรตีนประมาณ 20% ถั่วต่างๆ งา นัท มีโปรตีนประมาณ 20-26% ไข่มี 7.5% นมวัวมี 3.5% น้ำนมคนมี 1%ฟังให้ดีนะ น้ำนมแม่ซึ่งเป็นอาหารโปรตีนอย่างเดียวที่ธรรมชาติให้มาในยามที่ร่างกายมนุษย์ต้องการโปรตีนสูงสุดคือกำลังเติบโตในช่วง 0-6 เดือนแรกของชีวิต มีโปรตีนเพียง 1% เพราะธรรมชาติร่างกายมนุษย์แท้จริงแล้วไม่ได้ต้องการโปรตีนมากมายอย่างที่คนทั่วไปคาดคิดกัน คนทั่วโลกทุกวันนี้กินอาหารโปรตีนเกินความต้องการ แต่กินอาหารกากหรือเส้นใยพืชต่ำกว่าความต้องการของร่างกายไปมาก

5.. ถามว่าอายุมากแล้ว กล้ามเนื้อลีบลง ถ้าตั้งอกตั้งใจกินอกไก่วันละ 3 ชิ้นจะทำให้กล้ามเนื้อใหญ่ขึ้นไหม ตอบว่ากล้ามเนื้อไม่ขึ้นหรอกครับ อย่างเก่งก็ทำให้พุงของคุณใหญ่ขึ้น เพราะกลไกการเกิดกล้ามเนื้อลีบในผู้สูงอายุไม่ได้เกิดจากการขาดอกไก่ แต่มันลีบเพราะการลดการใช้งานประกอบกับการลดลงของฮอร์โมนสร้างกล้ามเนื้อ (แอนโดรสเตอโรน) ซึ่งค่อยๆลดลงตามวัย ปัญหานี้ไม่ใช่จะมาแก้ได้ด้วยการกินอกไก่ แต่ต้องแก้ด้วยการขยันออกกำลังกายฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขยันขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวทั้งวันเพื่อเพิ่มการใช้งานกล้ามเนื้อมากขึ้น ร่วมกับกินอาหารให้ร่างกายได้รับแคลอรีมากพอเพียง เพราะถ้าแคลอรีจากอาหารไม่พอ ร่างกายจะสลายเอากล้ามเนื้อที่ลีบอยู่แล้วมาเผาผลาญเป็นพลังงาน ดังนั้นหากอยากแก้ปัญหานี้ให้คุณกินอาหารที่มีพืชเป็นหลักให้หลากหลายและกินให้อิ่ม แล้วออกกำลังกายเล่นกล้ามทุกวัน กล้ามเนื้อคุณจึงจะไม่ลีบ โดยที่ขณะเดียวกันก็จะไม่มีไขมันอิ่มตัวจากอกไก่ไปก่อโรคเรื้อรังสาระพัดให้คุณในภายหลัง คุณอย่าคิดว่าในอกไก่จะไม่มีไขมันนะ งานวิจัยที่อังกฤษพบว่าเมื่อเอาเนื้อไก่ที่เลาะเอาหนังและมันออกแล้วไปวิเคราะห์ดูว่าแคลอรี่ที่ได้จากอกไก่มาจากสารอาหารประเภทไหนบ้าง พบว่า 50% มาจากไขมันที่แทรกอยู่ในเซลกล้ามเนื้อ 50% นะ 50%ของเนื้อที่คุณภูมิใจว่ามันลีน (lean) เนี่ย 50% เป็นไขมัน เพราะว่าไก่ที่เขาเลี้ยงมาให้คุณกินทุกวันนี้มันเป็นโรคอ้วน หิ..หิ ถ้าคุณไม่เชื่องานวิจัยที่อังกฤษ คุณจะทดลองดูกับตัวเองก็ได้ กินอกไก่วันละสามชิ้นทุกวัน สักสามเดือนแล้วไปเจาะเลือดดูไขมัน LDL ว่ามันสูงหรือต่ำ นั่นแหละอนาคตของคุณ เพราะไขมัน LDL คือปัจจัยกำหนดโรคเรื้อรังหลายโรคล่วงหน้าสำหรับคุณ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

20 มกราคม 2565

นพ.สันต์ให้สัมภาษณ์แมกกาซีน Elite

(บทแปล คำสัมภาษณ์นพ.สันต์ ซึ่งให้สัมภาษณ์แมกกาซีนภาษาอังกฤษ Elite โดย Mr.Jame R. Haft บก.เป็นผู้สัมภาษณ์)

อาหารพืชเป็นหลักและการปรับวิธีใช้ชีวิตจะนำพาไปสู่การมีอายุยืน

คุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์ เป็นแพทย์ผู้มีความรู้ความชำนาญในเรื่องการป้องกันและพลิกผันโรคเรื้อรังด้วยการใช้อาหารพืชเป็นหลักและการปรับเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต เมื่อไม่นานมานี้อิลลีทได้มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับคุณหมอสันต์ เพื่อถกปรัชญา “สุขภาพดีด้วยตนเอง” ของคุณหมอ และคุยถึงการประชุมออนไลน์ “ Asian Plant-based Nutrition Health Care Conference” ซึ่งคุณหมอจะคนหนึ่งในจำนวนผู้บรรยายที่มีชื่อเสียงระดับโลกอีกหลายคน

หลังจากได้นั่งใต้ต้นจามจุรีขนาดใหญ่ ละเลียดกับขนมจีนน้ำยามังสวิรัติคลุกถั่วงอกและสารพัดผักจนอิ่มกันแล้ว เราก็เริ่มคุยกันถึงว่าไปยังไงมายังไงคุณหมอจึงมาลงเอยที่ตรงนี้ได้

“ผมเกิดในครอบครัวชาวนาทางภาคเหนือและก็ตั้งใจจะสืบทอดอาชีพของบรรพบุรุษด้วยการไปเข้าเรียนวิทยาลัยเกษตรแม่โจ้ ที่เชียงใหม่ แต่ว่าเมื่อน้องสาวป่วยก็เกิดความรู้สึกอยากจะเป็นแพทย์ขึ้นมา จึงเข้าเรียนจนจบแพทย์ที่ ม. สงขลานครินทร์ หาดใหญ่ พร้อมกับความใฝ่ฝันที่จะไปเป็นหมอทั่วไปฝังตัวอยู่ในชนบทที่ห่างไกลโดยหมายตาไว้ที่อำเภอสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี แต่เผอิญวันหนึ่งขณะที่มาฝึกอบรมอยู่ในกรุงเทพ ผมได้รับมอบหมายให้ดูแลศัลยแพทย์หัวใจที่มีชื่อเสียงระดับโลกจากประเทศนิวซีแลนด์ท่านหนึ่งซึ่งมาเล็คเชอร์ให้การประชุมแพทย์ระดับนานาชาติที่กรุงเทพ ด้วยความประทับใจในตัวศัลยแพทย์ท่านนั้น ผมจึงตามท่านไปฝึกอบรมเพื่อเป็นศัลยแพทย์หัวใจที่นิวซีแลนด์ กลับมาเมืองไทยก็ทำงานอยู่สระบุรีได้พักหนึ่งแล้วเข้าทำงานเป็นหมอผ่าตัดหัวใจอยู่ที่โรงพยาบาลราชวิถีตั้งแต่ปีค.ศ. 1993 จากนั้นก็ออกมารับงานเป็นผู้อำนวยการศูนย์หัวใจพญาไท-ฮาร์วาร์ด แล้วก็เป็นผู้อำนวยการใหญ่ของรพ.พญาไทในอีกไม่กี่ปีต่อมา”

ผมเข้าใจว่าช่วงนี้แหละที่คุณหมอป่วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือดแล้วตัดสินใจเลิกงานอาชีพเดิมและเปลี่ยนชีวิตเสียใหม่ คุณหมอช่วยอธิบายตรงนี้หน่อยครับ

 “ผมมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเวลาออกแรงหรือเวลาเคร่งเครียดในงาน ซึ่งเป็นอาการคลาสสิกของโรคหัวใจขาดเลือด ความที่เป็นหมอหัวใจเสียเองผมก็ใจเสีย ผมเพิ่งอายุ 55 ปีเองในตอนนั้น ยังไม่พร้อมที่จะตาย ขณะเดียวกันก็ไม่อยากเข้ารับการรักษาแบบรุกล้ำไม่ว่าจะเป็นผ่าตัดบายพาสหรือทำบอลลูนก็ตาม จึงแอบหาทางออกเองด้วยการใช้เวลากลางคืนทบทวนวรรณกรรมทางด้านการแพทย์อย่างขนาดใหญ่ ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องการจัดการโรคนี้ในแบบที่ผมแม้จะเป็นหมอหัวใจเองก็ไม่เคยรู้มาก่อน คือจัดการโรคด้วย “การปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตอย่างสิ้นเชิง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยของดีน ออร์นิช ซึ่งได้ทำวิจัยแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบแล้วใช้การตรวจสวนหัวใจซ้ำหลายๆครั้งเป็นตัวชี้วัด คือหลักฐานวิทยาศาสตร์นั้นชัดเจนแน่นอน ผมก็เลยตัดสินใจเลิกอาชีพบริหาร เปลี่ยนอาหารการกิน เริ่มการออกกำลังกายจริงจังทุกวัน ถึงมีวันนี้ได้ไง 15 ปีผ่านไป ผมยังมีชีวิตอยู่ ไม่ต้องกินยาลดไขมันลดความดันซึ่งสมัยโน้นผมต้องกินทุกวัน

คุณหมอเล่าหน่อยสิว่า 15 ปีมานี้ปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง

พอเลิกทำงานบริหาร เลิกเป็นหมอผ่าตัดหัวใจ ก็เปลี่ยนมาทำงานเป็นหมอตรวจสุขภาพที่เน้นการแนะนำให้ผู้ป่วยเอาชนะโรคเรื้อรังของเขาด้วยการเปลี่ยนอาหารและการใช้ชีวิตด้วยตัวเขาเอง แล้วห้าปีให้หลังมานี้ ตั้งแต่ได้พบกับคุณวิเวก ดาวัน ผมก็มาเปิดแค้มป์สอนผู้ป่วยอยู่ที่นี่ แต่ละกลุ่มมาพักกันคนละสองวันสามวันเจ็ดวันสุดแล้วแต่ เพื่อเรียนรู้การมีสุขภาพดีด้วยตนเองและเรียนรู้การพลิกผันโรคเรื้อรังเช่นโรคหัวใจ ความดัน เบาหวาน โรคอ้วน ด้วยตนเอง

คุณวิเวกเขาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทเมก้าไลฟ์ไซแอนซ์ ซึ่งมีบริษัทลูกอีกหลายบริษัทเช่นบริษัทเมก้าวีแคร์เป็นต้น ธุรกิจของเขาคือทำวิตามินขาย และทำผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแนวพืชเป็นหลักเช่น Dr.Drink และ Natural We Care Baby Food ด้วย

ทั้งผมกับคุณวิเวกมีความเชื่อเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง ว่าระบบดูแลสุขภาพของชาติไทยเรากำลังมุ่งหน้าไปผิดทาง เราจำเป็นต้องเปลี่ยนทิศทางไปจากเดิมที่มุ่งไปหาการรักษาโรคและผ่าตัดในโรงพยาบาล หลักฐานวิทยาศาสตร์นั้นชัดเจนแน่นอนแล้วว่าทิศทางนั้นมันไม่เวอร์คสำหรับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มันจะต้องหันมาสู่ทิศทางให้ผู้คนดูแลตัวเองด้วยการเปลี่ยนอาหารและวิธีใช้ชีวิตด้วยตัวเขาเอง

วิธีการมันง่ายมากนะ โฟกัสที่สามอย่างเท่านั้น คือกินอาหารพืชเป็นหลัก ออกกำลังกาย และจัดการความเครียดให้ดี ที่นี่ผมใช้ดัชนีเจ็ดตัวเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของแต่ละคน เรียกว่า “ง่ายๆเจ็ดอย่าง” ได้แก่ (1) น้ำหนัก (2) ความดัน (3) ไขมันในเลือด (4) น้ำตาลในเลือด (5) จำนวนผักผลไม้ที่กินต่อวัน (6) เวลาที่ใช้ออกกำลังกายต่อสัปดาห์ (7) การไม่สูบบุหรี่

แค่ทำให้ดัชนีทั้งเจ็ดตัวของตัวเองอยู่ในเกณฑ์ปกติ แค่นั้นแหละ โอกาสตายก่อนเวลาอันควรก็จะลดได้จากเดิมหากขยันไปโรงพยาบาลลดได้แค่ 30% แต่หากดูแลให้ดัชนีทั้งเจ็ดตัวนี้ปกติจะลดได้ถึง 91%

ประเทศชาติของเราจะต้องเปลี่ยนวิธีรับมือกับปัญหาสุขภาพเสียใหม่ จากการมุ่งสู่การรักษาในโรงพยาบาลมามุ่งป้องกันและพลิกผันโรคด้วยตัวเอง

และนั่นจึงเป็นเหตุให้คุณหมอมาทำที่นี่ ที่เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์

ถูกต้องแล้วครับ เมื่อห้าปีก่อนคุณวิเวกเขามาหาผมที่คลินิกในกรุงเทพ เขามุ่งมั่นจะเปลี่ยนทิศทางของการดูแลสุขภาพนี้ให้ได้เพราะเขาบอกว่ามันจำเป็น เรานั่งคุยกันจริงจังอยู่สองสามชั่วโมง แล้วก็ตกลงกันตั้งเวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์นี้ขึ้นมาในลักษณะของกิจการที่ไม่แสวงกำไรที่เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทเมก้าวีแคร์ โดยใช้สโลแกนว่า “ป้องกันและพลิกผันโรคด้วยตัวเอง” แล้วก็ลงมือโปรโมทโภชนาการในทิศทางกินพืชเป็นหลักอย่างจริงจังแต่นั้นมา

โปรแกรมที่คุณหมอทำให้ลูกค้าที่นี่มีอะไรบ้าง

ก็มีอย่างเช่น (1) โปรแกมพลิกผันโรคด้วยตัวเอง ซึ่งตามดูกันเป็นปี เริ่มด้วยการมาอยู่ที่นี่หลายวัน ให้พบกับแพทย์ก่อนเพื่อ ประเมินสุขภาพโดยรวม แล้วเรียนรู้ความรู้และทักษะที่จำเป็นด้วยกันเป็นกลุ่ม ทั้งการฝึกทำอาหาร ฝึกออกกำลังกาย ฝึกจัดการความเครียดด้วยสมาธิ โยคะ ไทชิ เป็นต้น และเรียนรู้ที่จะใช้ดัชนีง่ายๆเจ็ดอย่างในการติดตามดูสุขภาพของตัวเอง (2) โปรแกรมสุขภาพดีด้วยตัวเองสำหรับคนที่ยังไม่ป่วย (3) โปรแกรมฟื้นฟูร่างกายสำหรับคนที่เพิ่งเกิดสโตรค หรือฮาร์ทแอทแทค หรือเพิ่งผ่าตัดใหญ่มา (4) โปรแกรมเฉพาะโรคเช่น แค้มป์มะเร็ง แค้มป์ลดน้ำหนัก (5) รีทรีตทางจิตวิญญาณ ซึ่งสอนการจัดการความเครียดแบบเจาะลึกลงไปถึงการวางความคิด (6) หลังปีใหม่นี้เราจะเปิดคลินิกออนไลน์ให้แพทย์ได้ให้คำปรึกษากับผู้ป่วยแบบตัวต่อตัวออนไลน์ เพื่อให้ผู้ป่วยป้องกันและพลิกผันโรคของตัวเองได้ที่บ้านโดยไม่ต้องเดินทางมาที่เวลเนสวีแคร์

ในภาพรวม ทุกโปรแกรมของเรามีหลักว่าต้องนำทางโดยการแพทย์แผนปัจจุบัน และต้องอิงหลักฐานวิทยาศาสตร์

เท่าที่ผมทราบ คุณหมอได้รับเกียรติให้เป็นบุคคลคุณภาพแห่งปี 2021 โดยมูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย งานส่วนไหนของคุณหมอบ้างหรือครับที่นำไปสู่รางวัลนี้

ผมเข้าใจว่าเป็นกิจกรรมให้ความรู้สาธารณชนในเรื่องการปรับเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตและสนับสนุนอาหารพืชเป็นหลักเป็นสำคัญ ผมเขียนบล็อกด้วยซึ่งมีคนอ่านไปแล้วเกิน 10 ล้านครั้งขึ้นไป ที่เหลือก็คงเป็นงานที่ผมเคยเป็นประธานมูลนิธิสอนช่วยชีวิตเป็นกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต และเป็นกรรมการมูลนิธิช่วยผ่าตัดหัวใจเด็กซึ่งทำผ่าตัดหัวใจให้เด็กด้อยโอกาสฟรี

ผมทราบมาด้วยว่าคุณหมอจะเป็นผู้บรรยายหลักคนหนึ่งของการประชุม Asian Plant-based Nutrition Healthcare Conference ที่กำลังจะมีขึ้นด้วย

ครับ คือเวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ในฐานะที่เป็นความริเริ่มเพื่อสังคมอันหนึ่งของบริษัทเมก้าวีแคร์ จะเป็นเจ้าภาพร่วมกับ The Plantician Project ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดการประชุมนานาชาติครั้งนี้ขึ้นแบบออนไลน์ในวันเสาร์ที่ 22 มค. 2022 เดิมทีเราวางแผนจะประชุมกันในโรงแรมสักแห่งหนึ่งที่กรุงเทพ แต่พอเจอโควิดก็ต้องหลบมาเป็นออนไลน์ ซึ่งก็ดีเหมือนกันเพราะผู้เข้าร่วมประชุมสามารถเก็บไว้ดูต่อเนื่องไปได้อีกหนึ่งปี คือดูเมื่อใดก็ได้ที่ตนเองมีเวลา

The Plantician Project เป็นองค์กรที่จัดประชุม Plant-based Nutrition Healthcare Conference ในอเมริกามาทุกปีนาน 9 ปีแล้วซึ่งมีผลให้ทั้งยุโรปและอเมริกาเกิดการเคลื่อนไหวไปสู่โภชนาการแบบพืชเป็นหลักได้อย่างเป็นรูปธรรม ผมกับคุณวิเวกคิดว่าตอนนี้น่าจะเป็นเวลาที่เราควรจะให้ข้อมูลแก่แพทย์และนักวิชาชีพด้านสุขภาพในเอเชียในเรื่องนี้อย่างเป็นจริงเป็นจังเสียที จึงได้ประสานงานกับ Dr.Scot Stoll ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง The Plantician Project จัดให้มีการประชุมครั้งนี้ขึ้น ในการประชุมนี้จะมีผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในเรื่องการใช้โภชนาการแบบอาหารพืชเป็นหลักในการดูแลสุขภาพมาพูดกันอย่างคับคั่ง รวมทั้งนพ.ดีน ออร์นิช แพทย์และนักวิจัยอาหารรักษาโรคหัวใจและโรคมะเร็ง นพ.ดีนและพญ.อาเยสชา เชอร์ไซ สองสามีภรรยาอายุรแพทย์ประสาทและสมองผู้มีชื่อเสียงระดับโลกในการทำวิจัยใช้อาหารรักษาโรคอัลไซเมอร์ ดร.ไซรัส แคมแบตตา ซึ่งเป็นทั้งผู้ป่วยเองและผู้หันมาเผยแพร่การใช้อาหารพืชรักษาเบาหวานอย่างจริงจังและได้ผล นพ.คิม วิลเลียม ประธานวิทยาลัยแพทย์โรคหัวใจอเมริกัน นพ.อาลัน เดสมอนด์ แพทย์ผู้มีชื่อเสียงเรื่องอาหารพืชกับสุขภาพทางเดินอาหาร พญ.เรชามา ชาห์ กุมารแพทย์ผู้ชำนาญเรื่องอาหารพืชเป็นหลักสำหรับเด็ก เป็นต้น

ทราบว่าตัวคุณหมอเองก็จะร่วมเป็นวิทยากรผู้บรรยายในการประชุมนี้ด้วย

ครับ ผมเองรู้สึกว่าเป็นเกียรติที่ได้ร่วมบรรยายครั้งนี้ด้วย ผมจะพูดถึงเรื่องอาหารพืชเป็นหลักกับภูมิคุ้มกันของร่างกาย

นอกจากงานเขียนบทความ งานวิจัย แล้วคุณหมอยังเขียนหนังสือไว้หลายเล่มด้วย ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย

ครับ หนังสือเล่มสุดท้ายที่เขียนก็หลายปีมาแล้วนะ ชื่อ “สุขภาพดีด้วยตนเอง” ซึ่งเขียนเพื่อมุ่งโปรโมทสิ่งที่ผมสอนอยู่ที่เวลเนสวีแคร์ เนื้อหามันค่อนข้างละเอียด แต่เชื่อว่าท่านผู้อ่านจะเข้าใจและสามารถเอาสาระไปปรับอาหารและวิธีใช้ชีวิตของตนเองได้

ก่อนจบ คุณหมอมีคำแนะนำอะไรจะฝากให้ผู้อ่านของเราบ้างไหมครับ

ผมก็แค่ขอย้ำอีกครั้งว่าเราจำเป็นต้องเปลี่ยนแนวคิดของเรา ผมหมายถึงทั้งแพทย์และนักวิชาชีพด้านการแพทย์และคนธรรมดาทั่วๆไป ว่าวิธีมุ่งไปสู่การรักษาในโรงพยาบาลแบบเดิมๆนั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามันไม่เวอร์ค เราต้องหันมาหาทิศทางใหม่ที่โฟกัสที่การปรับเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตด้วยตนเอง ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนอาหารมาสู่แนวทางกินพืชเป็นหลัก เมืองไทยเรากำลังจะเริ่มขยับ ตัวเราเองต้องเปลี่ยนตัวเราก่อน คนอื่นเห็นดีเขาก็จะเปลี่ยนตาม ทั้งชุมชนก็จะค่อยๆเปลี่ยน แล้วมันก็จะขยายออกไปในระดับจังหวัดและระดับประเทศ ถ้าไปถึงจุดนั้นประชากรไทยก็จะมีสุขภาพดีขึ้น แข็งแรงขึ้น อายุยืนขึ้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

19 มกราคม 2565

หนูอ่านเมนูจบแล้ว ไม่ต้องทานก็ได้ ใช่ไหมค่ะ?

หนูศึกษาปฏิบัติธรรมมาพักหนึ่งแล้ว ก็หลายปีอยู่ ต่อมาได้ติดตามบล็อกของคุณหมอหนูมีความรู้สึกว่าลัดสั้นตรงดี จนหนูมีความเห็นว่าหยุดแค่ตรงนี้น่าจะพอแล้ว ไม่ต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไปอีกหรอก ไม่ทราบหนูคิดถูกหรือเปล่า ว่าแค่อ่านบล็อกของคุณหมอก็น่าจะได้ความรู้ธรรมมากและพอเพียงแล้ว เป็นความคิดที่คับแคบแบบกบในกะลาหรือเปล่าคะ

………………………………………………………………..

ตอบครับ

1.. ถามว่าศึกษาธรรมะมากแล้ว หยุดแค่หมอสันต์นี้ได้ไหม ก่อนจะตอบคำถามนี้ ผมอุปมาอุปไมยหน่อยนะ ปีใหม่นี้ผมเปิดร้านขายอาหารสามมื้อทุกวันในเวลเนสวีแคร์ที่มวกเหล็กเพื่อให้คนได้มาหัดรับประทานอาหารที่มีแต่พืชไม่มีเนื้อสัตว์ และเพื่อให้คนที่มาทานอาหารได้ความรู้เกี่ยวกับอาหารพืชอย่างลึกซึ้ง ผมจึงให้นักโภชนาการวางแผนจัดทำเมนูที่ให้รายละเอียดของพืชที่นำมาประกอบอาหารแต่ละเมนู คราวนี้สมมุติติ๊งต่างว่ามีลูกค้าคนหนึ่งเดินเข้ามาในร้าน นั่งศึกษาเมนูอาหารทุกเมนูอย่างละเอียดอยู่ครึ่งค่อนวัน แล้วเงยหน้าถามว่า

“หนูอ่านเมนูจบหมดแล้ว หนูไม่ต้องทานก็ได้ใช่ไหมคะ?”

คุณจะให้ผมตอบว่าไงละครับ หิ..หิ

ฉันใดก็ฉันเพล การวางความคิดเพื่อให้หลุดพ้นจากสำนึกว่าเป็นบุคคลอันเป็นเหตุของความเครียดทั้งหลายนั้น เป็นประเด็นการลงมือทำ ไม่ใช่ประเด็นความรู้ความเข้าใจ เพราะการเข้าให้ถึง “ใจ” ที่ว่างจากความคิดต้องเข้าได้ด้วยการฝึกใช้ทักษะที่จะช่วยให้วางความคิดให้สำเร็จก่อนเท่านั้น บล็อกของหมอสันต์แค่แชร์ประสบการณ์ว่าเครื่องมือไหนใช้วางความคิดได้อย่างไรเท่านั้น คือเหมือนเป็นแค่เมนูให้อ่าน ส่วนการเข้าถึงภาวะว่างจากความคิดจริงๆนั้นเป็นประสบการณ์ซึ่งจะต้องลงมือทำเองเหมือนการลงมือทานอาหารพืชเพื่อให้มีสุขภาพดี มันคนละเรื่องเดียวกันกับการอ่านเมนูนะคะคุณน้องขา

2.. ถามว่าการหยุดศึกษาเรียนรู้คำแนะนำเส้นทางสู่ความหลุดพ้นไว้แค่นี้ จะกลายเป็นกบในกะลาที่จะล้าหลังชาวบ้านเขาหรือเปล่า ตอบว่าคำแนะนำทั้งหลายในโลกนี้ไม่ว่าจะมาในรูปของ ขี้ปาก, บทความ, หนังสือ, วิดิโอคลิป ไม่ว่าจะมาจากคนธรรมดา นักบวช ทั้งนักบวชในศาสนาและนอกศาสนา หรือสารพัดบริษัทที่หากินด้วยการทำกำไรก็ตาม มันล้วนมีแก่นหรือสาระเหมือนกันหมด..ว่า

“ที่คนเป็นทุกข์อยู่ทุกวันนี้ก็เพราะความคิด หากวางความคิดลงเสียได้ ก็พ้นทุกข์”

ซึ่งความข้อนี้อย่าว่าแต่คุณซึ่งศึกษาปฏิบัติธรรมมาแล้วเป็นสิบๆปีเลย แม้แต่เด็กที่เรียนวิชาศาสนาเบื้องต้นระดับมัธยมก็รู้ หรือเด็กที่ได้อ่านบทความทางอินเตอร์เน็ทไม่กี่หน้าก็รู้แล้ว เมื่อใจความมันมีแค่นี้ และคุณก็รู้หลักใหญ่ใจความนั้นเรียบร้อยแล้ว คุณจะทู่ซี้ค้นหา ศึกษา ตะบันอ่าน ตะบันดู มันต่อไปอีกทำพรื้อละครับ ดังนั้นผมตอบว่าแค่นี้หยุดได้แล้ว หยุดอ่านหนังสือ หยุดดูวิดิโอคลิป แต่ลงมือฝึกใช้เครื่องมือต่างๆวางความคิดให้สำเร็จซะที ไม่ต้องไปสนใจว่าคนอื่นเขาจะว่าคุณเป็นกบมืดบอดอยู่ในกะลาขณะที่พวกเขาเป็นกบนอกกะลาที่เปิดลูกกะตามีวิสัยทัศน์เห็นกว้างไกลไร้ขอบเขต หรือคนอื่นเขาจบป.ตรี โท เอก ทางศาสนาปรัชญาขณะที่คุณไม่ได้ซักปริญญาเดียว ทั้งหมดเหล่านั้น (ที่คุณคิดว่าคนอื่นเขาจะว่า) มันเป็นเพียงความคิด สิ่งที่คุณพึงทำคือวางมันลงซะ ไม่ใช่พยายามขลุกอยู่ในนั้นหรือพยายามคิดต่อยอดตามมันไปอีกทั้งๆที่รู้ว่ามันนั่นแหละคืออุปสรรคของความหลุดพ้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

18 มกราคม 2565

โอไมครอนเมืองไทย รวดเร็วแต่นุ่มนวล และอาจจบเร็วเกินความคาดหมาย

โอไมครอนขึ้นหัวหาดเมืองไทยตั้งแต่ 26 พย. 64 ค่อยสะสมกำลังจนเพิ่มจำนวนได้เท่าตัว (doubling time) ใน 4 วันตั้งแต่ 7 มค. 65 ซึ่งผมคาดหมายตามอัตราการเพิ่มในอังกฤษและอัฟริกาใต้ว่าเมื่อถึงวันนี้ (18 มค. 65) โอไมครอนจะเพิ่มได้วันละหนึ่งเท่าตัวจนเข้าแทนที่เดลต้าและระบาดไปทั่วประเทศได้ในเวลาไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น นั่นคือข้อสันนิษฐานหรือการเดา

ส่วนข้อเท็จจริงละเป็นอย่างไร ณ วันนี้ในด้านอัตราการเข้าแทนที่เดลต้ารวดนั้นเร็วสมคาดจริง คือหลายวันก่อนหน้านี้ศูนย์แล็บที่จุฬาเปิดเผยว่าผลตรวจเชื้อเป็นโอไมครอนมากกว่า 90% แล้ว และเมื่อวานนี้ศูนย์จีโนมทางการแพทย์รามาธิบดีก็เปิดเผยว่าที่ตรวจได้ตอนนี้เป็น โอมิครอน 97.1% (69/71) เดลต้า 2.8% (2/71) ดังนั้นค่อนข้างแน่ว่าในกทม.โอไมครอนได้เข้าแทนที่เดลต้าเกือบหมดแล้ว ในต่างจังหวัดนั้นสถานะการณ์แตกต่างกันไปตามพื้นที่ เมื่อสองวันก่อนผมเจอหน้าผอ.ศูนย์แล็บที่มวกเหล็กท่านบอกว่าตอนนี้โอไมครอนเข้าแทนที่เดลต้าได้มากกว่า 50% แล้ว ทั้งๆที่โอไมครอนเพิ่งมาที่นี่ได้ประมาณ 2 สัปดาห์เท่านั้นเอง ดังนั้นภาพใหญ่คือโอไมครอนเข้าแทนที่เดลต้าได้เกือบหมดแล้วในกทม. ส่วนทั่วประเทศนั้นคงจะแทนที่ได้หมดตามมาในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ทั้งหมดนี้เป็นไปตามความคาดหมาย ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาฯ (นพ.ยง) ได้แสดงความเร็วของการที่โอไมครอนเข้าแทนที่เดลต้าไว้เป็นกราฟที่เข้าใจง่าย ซึ่งผมขออนุญาตคัดลอกมาให้ชมตรงนี้

แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคืออัตราการป่วย การเข้าโรงพยาบาล และอัตราตายต่อวันที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นจนถึงต้องตระเตรียมรับมือกันขึงขังนั้น เอาเข้าจริงๆอัตราป่วย เข้ารพ. และตาย กลับมีอัตราคงที่ (plateau) มาหลายวันและเริ่มลดจำนวนลงในวันนี้ ซึ่งเป็นวันที่โอไมครอนได้เข้าแทนที่เดลต้าได้เกือบหมดแล้ว โดยผมแสดงข้อมูลของสธ.เป็นกราฟให้ดูข้างล่างนี้

แปลไทยให้เป็นไทยจากสองกราฟนี้ก็คือว่าเรื่องโควิดโอไมครอนได้มาถึง peak และเข้าสู่ขาลงแล้วแบบไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัวเลย เป็นอะไรที่พลิกความคาดหมาย แต่ก็พลิกไปในทางที่ดี ทำไมโอไมครอนไทยแลนด์ถึงได้น่ารักกว่าที่ยุโรป อเมริกา และเซ้าท์อัฟริกา ตอบว่าไม่มีใครรู้ ได้แต่เดาเอาแบบมั้งศาสตร์ เช่น เป็นเพราะคนไทยได้วัคซีนซิโนแวคมาก่อน..มั้ง เป็นเพราะอากาศเมืองไทยมันร้อน..มั้ง เป็นเพราะระบบควบคุมโรคของไทยเจ๋งกว่าฝรัง..มั้ง เป็นเพราะคนไทยมีนิสัยว่าง่ายใส่มาสก์กันหมด..มั้ง ฯลฯ เหตุผลแท้จริงเป็นอย่างไรไปภายหน้าคงจะมีหลักฐานวิทยาศาสตร์โผล่มาให้เห็นเอง ตอนนี้เอาเป็นว่าโอไมครอนไทยแลนด์กำลังจะจบแล้ว การเดินทางท่องเที่ยวทำมาค้าขายในประเทศนั้นเดิมก็ทำกันได้อยู่แล้วและสามารถทำต่อไปได้แบบฉลุยแต่ว่าอย่าเพิ่งใจร้อนรีบเอาการ์ดลง หมายความว่าอยู่ห่าง ใส่หน้ากาก ล้างมือไว้ก่อนไม่เสียหลาย ส่วนการเดินทางและค้าขายระดับนานาชาตินั้นเราต้องรอดูเชิงของโลกทั้งใบเขาไปก่อนว่าเขาจะเอาอย่างไรกันแน่ ประเทศอย่างอังกฤษอเมริกานั้นไม่มีปัญหาคือเขาผ่านพีคการติดเชื้อแบบเขย่าประเทศไปแล้ว จบแล้วเขาต้องรีบเปิดอ้าซ่าแน่นอน แต่ประเทศอย่างจีนผมเองก็ไม่เข้าใจเขาเหมือนกันว่าเขาจะเอาอย่างไรกับอนาคตเพราะถึงวันนี้เขายังใช้นโยบายโควิด 0% อย่างเข้มงวดอยู่เลย ดังนั้นใครจะเดินทางท่องเที่ยวหรือค้าขายกับกับประเทศไหนก็ต้องดูเชิงประเทศนั้นไปแบบเดือนต่อเดือน

กู๊ดบาย..โอไมครอน กู๊ดบาย..โควิด (หวังว่า)ไม่ต้องพบกันอีกนะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

17 มกราคม 2565

สิทธิพิเศษสำหรับแพทย์ นักวิชาชีพ และนักศึกษาด้านสุขภาพ

วันนี้งดตอบคำถามหนึ่งวันเพื่อแจ้งข่าวเรื่องการประชุม Asian Plant Based Nutrition Conference ซึ่งจะมีในวันที่ 22 มค. 65 (เก็บไว้ชมภายหลังแบบ on demand ได้หนึ่งปี) ว่าทาง Plantician Project USA ได้ตกลงตามคำขอของเวลเนสวีแคร์ที่จะให้สิทธิพิเศษแก่แพทย์ พยาบาล นักวิชาชีพด้านสุขภาพ และนักศึกษาทางด้านนี้ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมได้ฟรี โดยลงทะเบียนที่ www.asianpbnhc.com โดยแจ้งสาขาวิชาชีพของท่านและใช้โค้ด MEGAWECAREWWC100 (ระวัง! ต้องใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด) เมื่อใส่โค้ดแล้วให้ท่านกด apply แล้วระบบจะตอบรับท่านโดยยกเว้นค่าลงทะเบียนปกติ 95 USD ให้ทันที ในกรณีที่ท่านมีปัญหาลงทะเบียนไม่ได้ กรุณาติดต่อกับทีมงานของเวลเนสวีแคร์ให้ช่วยท่านลงทะเบียน โดยติดต่อทางไลน์ไอดี. @wellnesswecare ได้เลยครับ

การประชุมนี้เป็นการรวมรวมผู้รู้ทางด้านอาหารพืชเพื่อป้องกันและรักษาโรคที่มีชื่อเสียงในระดับโลกมาร่วมบรรยายแบบครบครัน เช่นดีน ออร์นิช (ผู้วิจัยการใช้อาหารพืชรักษาหัวใจขาดเลือดและมะเร็งหลายชนิด) ดีนและอาเยชชา เซอร์ไซ สองสามีภรรยาผู้วิจัยการใช้อาหารพืชป้องกันและรักษาสมองเสื่อมที่มีชื่อเสียงระดับโลก คิม วิลเลียม ประธานวิทยาลัยแพทย์โรคหัวใจอเมริกัน (ACC) ไซรัส แคมแบตต้า ผู้ใช้อาหารรักษาพืชเบาหวานที่มีผู้ป่วยติดตามเป็นเรือนแสนคน เป็นต้น การยอมเปิดโอกาสให้แพทย์และนักวิชาชีพในสายสุขภาพได้เข้าร่วมประชุมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายจึงเป็นโอกาสดีที่ผมอยากจะเชิญชวนเพื่อนร่วมวิชาชีพได้ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุม ไม่มีเวลาฟังวันเขาพูดกันสดๆก็ไม่เป็นไร เก็บไว้เปิดดูเปิดฟังตอนสะดวกได้อีกเป็นปี

ปอปแป

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

14 มกราคม 2565

คำถามเรื่อง Antibody Dependent Enhancement กรณีงานวิจัยโควิดสหรัฐฯ

เรียนคุณหมอครับ
อ่านบทความ “หลักฐานวิทยาศาสตร์ชิ้นแรกเรื่องความรุนแรงของโอไมครอนในสหรัฐอเมริกา” ของคุณหมอแล้วก็ตามไปอ่านต้นฉบับจริงของงานวิจัย ผมมีข้อสงสัยอยู่เรื่องหนึ่งครับ คือในตาราง S8 ในช่วงท้ายตารางจะแสดงค่า Odds Ratio ของสถานะวัคซีนของคนไข้

ตามตารางจะเห็นว่าการรับวัคซีนที่มากขึ้น (จำนวนโดสสูง) กลับทำให้ป่วยเข้าโรงพยาบาลมากขึ้น ข้อมูลไปในทางเดียวกันไม่ว่าจะเป็น J&J หรือ mRNA

นอกจากนั้น ผมยังลองรวมตัวเลขของคนไข้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มหรือมากกว่า ได้ตัวเลข 67.27% ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขของการรับวัคซีนของรัฐแคลิฟอร์เนียที่ 67.1%

ก็เลยเกิดข้อสงสัยครับว่ากรณี Omicron การกลายพันธุ์ของ S Protein จะทำให้วัคซีนไม่ได้ผลอีกต่อไป ทั้งอาจจะทำให้เกิด Antibody Dependent Enhancement เกิดขึ้นหรือเปล่า (จาก Odds Ratio จำนวนโดสมากขึ้น ติดมากขึ้น) จากการที่มี Non-neutralizing antibody เพิ่มมากขึ้นจากการหนีภูมิของ Omicron

ผมไม่ใช่ Anti-vaxer และไม่ได้อยู่ในวงการแพทย์ครับ จึงอยากทราบความเห็นของคุณหมอในกรณีนี้ครับ

ด้วยความนับถือ

…………………………………………………………

ตอบครับ

แม่เฮย.. เห็นแมะ โปรไฟล์ท่านผู้อ่านบล็อกหมอสันต์ ผมพูดอะไรซี้ซั้วได้ที่ไหนละครับ ท่านตามไปอ่านถึงวารสารที่ตีพิมพ์งานวิจัยต้นฉบับ แถมจับประเด็นที่หมอสันต์ไม่พูดถึงกลับมาย้อนถามหมอสันต์ซะอีกด้วย เน็ดขนาดไหมละ

ผมขอออกตัวก่อนนะว่าผมจงใจไม่พูดถึงประเด็นวัคซีนในงานวิจัยนี้เลย เพราะนโยบายเร่งฉีดวัคซีนเป็นนโยบายของชาติ ผมซึ่งเป็นแพทย์ไม่สมควรพูดอะไรที่ไปในทิศทางที่จะทำให้นโยบายด้านสาธารณสุขของชาติสะดุด เพราะอย่างไรเสีย ณ ขณะนี้หลักฐานที่มีในภาพใหญ่ของเรื่องวัคซีนก็ยังไม่มากพอที่จะสรุปอะไรให้ได้เป็นตุเป็นตะอยู่ดี แต่เมื่อคุณถามมาผมก็จะตอบให้ ตอบด้วยเจตนาที่จะให้ความรู้การแปลผลหลักฐานวิทยาศาสตร์ ไม่ได้มีเจตนาจะบอกว่าวัคซีนดีหรือไม่ดี เพราะเรื่องวัคซีนดีหรือไม่ดีนั้นจะสรุปเอาจากหลักฐานชิ้นนี้ชิ้นเดียวยังไม่ได้

และก่อนอื่น ผมขอนิยามศัพท์ในจดหมายของคุณเพื่อให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นตามเรื่องได้ทันก่อน

ตาราง S8 หมายถึง ตารางข้อมูลดิบซึ่งผู้วิจัยชิ้นนี้แนบท้ายงานวิจัยมาให้ผู้วารสารที่สนใจข้อมูลดิบได้ตามไปอ่านด้วย ในกรณีของตาราง S8 นี้เป็นตารางที่มีส่วนเล่าถึงข้อมูลของอาสาสมัครในส่วนที่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนต่างๆมาก่อน

Odds Ratio หมายถึง แต้มต่อที่จะเกิดเรื่อง หรือแต้มต่อที่จะเป็นโรค ซึ่งอาจแสดงเป็นเลขเศษส่วน หรือเป็นเลขทศนิยมที่มีส่วนเป็นหนึ่งก็ได้ ฟังดูก็เหมือนกับความเป็นไปได้ (probability) ที่จะเกิดเรื่อง แต่ไม่เหมือน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อผมโยนเหรียญขึ้นไป โอกาส (probability) ที่จะตกลงมาแล้วออกก้อยมี 50% หรือบางทีก็แสดงเป็นทศนิยมว่า 0.5 ถูกแมะ แต่แต้มต่อ (odd ratio) ของการจะออกก้อยหรือไม่ออกต่อการโยนเหรียญหนึ่งครั้งคือ 1.0 นะ ไม่ใช่ 0.5 แหะๆ งงแมะ อย่างงสิคุณพี่ขา เพราะนิยามของแต้มต่อนี้มันกำหนดโดยเจ้ามือบ่อนการพนัน ซึ่งเขานิยามว่าแต้มต่อคือโอกาสที่จะชนะหารด้วยโอกาสที่จะแพ้

ผมยกตัวอย่างที่สองนะ ไพ่หนึ่งสำรับมี 52 ใบ มีไพ่ที่เป็นสะเปด (โพธิ์ดำ) อยู่ 13 ใบ ดังนั้นถ้าผมพนันกับเจ้ามือว่าผมจะจั่วไพ่ทีเดียวพลั้วะให้ได้สะเปดเลยทันที โอกาส (probability) ที่ผมจะชนะมี = 13/52 = 0.25 หรือ 25% ถูกแมะ พวกลูกไล่ที่มุงอยู่ก็เฮโลแทงกับเจ้ามือว่าผมจะแพ้ เพราะคนเล่นพนันไม่เป็นก็รู้ว่าโอกาสที่ผมจะจั่วได้โพธ์ดำมันมีแค่ 25% เจ้ามือก็จะมีโอกาสเสียเงินเพราะคนเฮโลแทงข้างเดียว เจ้ามือจึงหาวิธีดึงคนมาแทงข้างหมอสันต์จะชนะบ้าง โดยคิดสร้างแต้มต่อขึ้นมา แล้วประกาศว่าใครแทงข้างหมอสันต์จะชนะเจ้ามือให้แต้มต่อ 3 แปลว่าจะเพิ่มรางวัลให้ 3 เท่า ตัวเลขแต้มต่อนี้เจ้ามือนิยามขึ้นมาเองว่าแต้มต่อคือตัวเลขที่ได้จากโอกาสชนะหารด้วยโอกาสแพ้ จึงคำนวณจากสูตรว่าเอาเอาโอกาสที่หมอสันต์จะชนะ (25%) ตั้ง หารด้วยโอกาสที่หมอสันต์จะแพ้ (75%) ตัวเลขออกมาเป็น 1/3 นี่แหละคือวิธีบอกโอกาสแพ้ชนะเป็น odd ratio

ในงานวิจัยที่เราจะพูดถึงนี้แต้มต่อ (odd ratio) หมายถึงโอกาสป่วยเป็นโรคโควิดโอไมครอนเทียบกับโอกาสไม่เป็นโอไมครอน ถ้าแต้มต่อเท่ากับ 1 หมายความว่าโอกาสเป็นโรคมากพอๆกับโอกาสไม่เป็นโรค แต่ถ้าแต้มต่อมากกว่า 1 ก็หมายความว่ามีโอกาสจะเป็นโรคมากกว่าโอกาสไม่เป็นโรค

 J&J หมายถึงวัคซีนจอห์นสัน ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด DNA เช่นเดียวกับวัคซีนแอสตร้า

 mRNA หมายถึงวัคซีนไฟเซอร์

neutralizing antibody หมายถึงภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นมาจาก B lymphocytes หลังจากที่ระบบถูกกระตุ้นโดยเชื้อโรคหรือวัคซีน มันทำงานโดยไปจับกับเป้าบนผิวเซลร่างกายซึ่งไวรัสใช้เป็นที่เจาะไชเข้าเซล มันไปอุดเป้านี้ไว้เพื่อ “กันท่า” หรือ neutralize ทำให้ไวรัสหมดฤทธิ์เดชไม่สามารถเจาะผ่านเป้านั้นเข้าไปในเซลได้

non-neutralizing antibody หมายถึงภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นมาแล้วตั้งใจจะใช้อุดเป้าบนผิวเซลร่างกายเพื่อกันท่าไม่ให้ไวรัสเจาะเข้าเซล แต่กันไม่สำเร็จ คือทั้งๆที่กันแต่ไวรัสก็ยังเจาะเข้าไปในเซลได้

Antibody Dependent Enhancement (ADE) หมายถึง ปรากฎการณ์ที่เมื่อ B lymphocytes ได้รับการกระตุ้นโดยเชื้อโรคหรือวัคซีนแล้วมันสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา แต่พอส่งภูมิคุ้มกันนั้นออกไปทำงานเพื่อกีดกันหรือ neutralize ไวรัสมันกลับทำงานไม่สำเร็จ มิหนำซ้ำ มันยังทำตัวเป็นสพานทอดให้ไวรัสเจาะเข้าไปในเซลง่ายขึ้นเสียอีก วงการแพทย์เรียนรู้เรื่องพวกนี้มาจากไข้เลือดออก ว่าทำไมไข้เลือดออกยิ่งป่วยหลายครั้งอาการยิ่งรุนแรงขึ้น และช่วงทดลองวัคซีนบางรุ่น ยิ่งให้วัคซีนยิ่งตายมาก

เอาละ เมื่อได้นิยามศัพท์ให้เป็นที่เข้าใจกันดีแล้ว คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ

ผมขอคัดลอกตาราง S8 ของงานวิจัยนี้ ซึ่งทำโดยยูซี.เบอร์คเลย์ และสปอนเซอร์โดย CDC โดยเอามาเฉพาะท่อนที่คุณถามถึงมาให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นดูด้วย จะได้ตามเรื่องทัน

Vaccination typeNo. DeltaNo. Omicronunadjusted ORadjusted ORRM
Unvaccinated8,449 (49.8%) 13,874 (26.5%)ใช้เป็น referenceใช้เป็น reference
J&J 1 dose582 (3.4%) 1,786 (3.4%)1.87 (1.70, 2.06)1.94 (1.75, 2.14)
J&J + any 1 booster86 (0.5%) 501 (1.0%)3.55 (2.82, 4.47) 3.74 (2.95, 4.72)
Pfizer 1 dose487 (2.9%) 1,459 (2.8%)1.82 (1.64, 2.03) 1.74 (1.56, 1.94)
Pfizer 2 dose6,592 (38.8%)27,659 (52.9%) 2.56 (2.46, 2.65) 2.44 (2.34, 2.54)
Pfizer 3 dose787 (4.6%) 7,018 (13.4%)5.43 (5.02, 5.87) 6.33 (5.80, 6.90)

1.. ถามว่าการรับวัคซีนที่มากขึ้น (จำนวนโดสสูง) กลับทำให้ป่วยเข้าโรงพยาบาลมากขึ้น ข้อมูลไปในทางเดียวกันไม่ว่าจะเป็น J&J หรือ mRNA จริงหรือไม่ ตอบว่า จริงระดับหนึ่งในขอบเขตข้อจำกัดของค่าแต้มต่อ (odd ratio) ของงานวิจัยนี้ การจะเข้าใจข้อจำกัดนี้ต้องเข้าใจสองประเด็นก่อน

ประเด็นที่ 1. ประชากรในงานวิจัยนี้ทั้งหมด 69,279 คนไม่ใช่ประชากรในชุมชนจริงๆ แต่ทั้งหมดล้วนเป็นคนป่วยโควิดทั้งสิ้นคือไม่เป็นเดลต้าก็เป็นโอไมครอนไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง เมื่อจะคำนวณแต้มต่อของการเป็นโอไมครอนซึ่งต้องใช้ข้อมูลโอกาสป่วยเป็นโอไมครอนหารด้วยโอกาสไม่ป่วย ในเข่งประชากรนี้ทั้งหมดคนไม่ป่วยเป็นโอไมครอนก็มีแต่คนเป็นเดลต้าเท่านั้น จึงใช้วิธีเหมาเอาคนเป็นเดลต้าแทนคนไม่เป็นโอไมครอน เพราะฉะนั้นแต้มต่อของการเป็นโอไมครอนในงานวิจัยนี้เป็นแต้มต่อที่ไม่ใช่เทียบกับโอกาสไม่ป่วยของคนทั่วไปในชุมชน แต่เทียบกับคนที่ป่วยเป็นเดลต้าที่อยู่ในเข่ง 69,279 คนนี้แทน ค่าแต้มต่อที่ได้จึงไม่มีประโยชน์ในการมองโอกาสป่วยเป็นโอไมครอนเทียบกับโอกาสไม่ป่วยเลย นั่นเป็นเหตุผลว่าในตารางของงานวิจัยนี้ไม่ได้แสดงแต้มต่อดังกล่าวของแต่ละกลุ่มวัคซีน แต่แสดงเป็นผลหารของแต้มต่อการเป็นโอไมครอนของแต่ละกลุ่มวัคซีนหารด้วยแต้มต่อของกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนแทน เพื่อให้ข้อมูลที่มียังพอมีประโยชน์ในแง่ที่จะใช้เปรียบเทียบโอกาสป่วยเป็นโอไมครอนของแต่ละกลุ่มย่อยที่ฉีดวัคซีนแบบต่างๆได้ระดับหนึ่ง นี่เป็นวิธีอุ๊บอิ๊บอั๊บหรือกล้อมแกล้มใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มี ซึ่งงานวิจัยจำนวนมากที่มีข้อจำกัดไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มประชากรจริงในชุมชนก็ล้วนอาศัยลูกเล่นในการใช้พี่อ๊อด (odd ratio) ในการสรุปผลวิจัยคล้ายๆแบบนี้ทั้งนั้นแหละ

ประเด็นที่ 2. การแสดงแต้มต่อ (odd) ของแต่ละกลุ่มย่อยที่ฉีดวัคซีนแบบต่างๆ ผมย้ำอีกทีกว่าเขาใช้วิธีแสดงเป็นแต้มต่อของกลุ่มย่อยที่ฉีดวัคซีนแบบต่างๆที่เทียบกับแต้มต่อของกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมาเลย พูดง่ายๆว่าเอาแต้มต่อ (odd) ของแต่ละกลุ่มหารด้วยแต้มต่อของกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนอีกรอบหนึ่งก่อนนำมานำเสนอไว้ในตาราง คือมันเป็นการคิดแต้มต่อสองชั้น ทั้งนี้เพื่อให้แต้มต่อของแต่ละกลุ่มย่อยได้มีตัวเปรียบเทียบเดียวกันคือเปรียบเทียบกับแต้มต่อของกลุ่มไม่ได้ฉีดวัคซีน ผมบอกย้ำตรงนี้ไว้เผื่อท่านที่จะทดลองคำนวณตามดูหากคิดชั้นเดียวแล้วได้ตัวเลขไม่ตรงกับในงานวิจัยจะได้ไม่งง

2.. ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่ากรณี Omicron การกลายพันธุ์ของ S Protein จะทำให้วัคซีนไม่ได้ผลอีกต่อไป ตอบว่าเรื่องอะไรจะเป็นไปได้หรือไม่ได้นั้นมันล้วนเป็นจินตนาการยังไม่มีข้อมูลจริง ซึ่งในวิชาแพทย์อะไรมันก็เป็นไปได้ทั้งนั้น แต่ว่าของจริงจะเป็นอย่างไรต้องตามดูกันต่อไปครับ ข้อมูลแค่นี้ยังไม่พอสรุป

3. ถามว่าการฉีดวัคซีนซ้ำๆอาจจะทำให้เกิด Antibody Dependent Enhancement (ADE) ขึ้นหรือเปล่า เพราะ Odds Ratio บ่งชี้ว่ายิ่งจำนวนโดสมากขึ้น ยิ่งติดโรคมากขึ้น ตอบว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้ติดโอไมครอนสูงในผู้ฉีดวัคซีนมากสูงกว่าในผู้ฉีดวัคซีนน้อยที่แสดงโดย odd ratio ในงานวิจัยนี้เป็นความจริงภายใต้ข้อจำกัดของการได้มาซึ่งค่า odd ratio ดังที่ผมได้อธิบายแล้วในข้อ 1. ส่วนหากมันเป็นอย่างนั้นจริง กลไกการเกิดมันจะเกี่ยวกับ ADE หรือไม่นั้น โห อันนี้ยังอีกไกล อันนี้ยังไม่มีใครทราบหรอกครับ ต้องรอผลวิจัยที่จะตามมาข้างหน้าอีกหลายปี

4. ถามว่าเป็นเพราะเกิด Non-neutralizing antibody เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการติดโรคจากการฉีดวัคซีนมากหรือไม่ ตอบว่าอันนี้เป็นคำถามเดียวกับข้อ 3 นะครับ ผมตอบไปแล้วว่ากลไกแท้จริงเป็นอย่างไรยังไม่มีใครทราบครับ

กล่าวโดยสรุป ผมตอบคำถามเพื่ออธิบายการแปลผลงานวิจัยนี้ แต่ไม่ได้ให้ความเห็นอะไรเกี่ยวกับว่าวัคซีนดีหรือไม่ดี ควรฉีดหรือไม่ควรฉีดนะครับ ตรงนั้นผมทิ้งไว้ให้เป็นดุลพินิจของท่านตัดสินใจเอาเอง เอาแบบที่ท่านชอบ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

จดหมายจากท่านผู้อ่าน (17 มค. 65)

ขอบคุณคุณหมอสำหรับคำตอบข้อสงสัยครั้งที่แล้วครับ อ่านคำตอบคุณหมอแล้วก็เลยลองหาข้อมูลของที่อื่นดูว่าจะเป็นแบบเดียวกันไหม ก็เผอิญไปพบข้อมูลของประเทศเดนมาร์กเรื่องประสิทธิผลของวัคซีนต่อ Omicron และ Delta ของกลุ่มตัวอย่างกว่า 47,000 คน ข้อมูลนี้เผยแพร่ไว้เมื่อปลายเดือนธันวาคมครับ

ผมก็เลยลองเอาข้อมูลมาเทียบ Odds Ratio ในแบบเดียวกับงานของยูซี.เบอร์คเลย์ ปรากฎว่าผลที่ออกมาไม่ได้เป็นในทางเดียวกัน การฉีดบูสเตอร์โดสทำให้ Odds Ratio ลดลง ก็เลยเข้าใจที่คุณหมอบอกไว้ว่าข้อมูลมันจริงเฉพาะงานนั้นๆ จะจินตนาการเกินจากข้อมูลก็คงไม่ได้ ก็ขอแชร์ข้อมูลเพิ่มเติมที่พบมาให้กับคุณหมอครับ

บรรณานุกรม

  1. Clinical outcomes among patients infected with Omicron (B.1.1.529) SARS-CoV-2 variant in southern CaliforniaJoseph A Lewnard, Vennis X Hong, Manish M Patel, Rebecca Kahn, Marc Lipsitch, Sara Y TartofmedRxiv 2022.01.11.22269045; doi: https://doi.org/10.1101/2022.01.11.22269045
[อ่านต่อ...]

13 มกราคม 2565

หลักฐานวิทยาศาสตร์ชิ้นแรกเรื่องความรุนแรงของโอไมครอนในสหรัฐอเมริกา

ความกลัวโอไมครอนทั่วโลกส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีการแพร่ข่าวเรื่องความรุนแรงของโรคนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกาในประเด็นต่างๆเช่น การที่ยอดผู้ป่วยถูกแอดมิทไว้รักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น การตายเพิ่มขึ้น เด็กป่วยมากกว่าผู้ใหญ่และตายมากกว่าผู้ใหญ่ เป็นต้น ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงแค่ข่าว ไม่ใช่หลักฐานวิทยาศาสตร์ แต่ตอนนี้หลักฐานวิทยาศาสตร์ของจริงออกมาแล้ว เป็นงานวิจัยที่แคลิฟอร์เนียซึ่งสปอนเซอร์โดยศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐฯ (CDC) มีศูนย์ประสานงานการวิจัยอยู่ที่ยูซี.เบอร์คเลย์ ซึ่งผมขอสรุปผลให้ฟังดังนี้

งานวิจัยนี้ทำกับผู้ป่วยติดเชื้อโอไมครอนที่ยืนยืนการตรวจด้วยเทคนิค SGTF (S gene target failure) ทำเฉพาะกับผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลจำนวนรวม 52,297 คน พบผลดังนี้

ผู้ป่วยทั้งหมด รวม 52,297 คน หากนับเฉพาะคนที่ติดตามได้อย่างน้อย 5.5 วัน รวมทั้งหมด 288,534 คนวัน พบว่า

ผู้ป่วยถูกรับไว้ในโรงพยาบาล 88 คน (0.48%)

ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 0 คน (0%)

ท้ายที่สุดแล้วมีตาย 1 คน (0.09%)

โดยที่การติดเชื้อและระดับความรุนแรงมีการกระจายตัวเท่าๆกันทุกกลุ่มอายุ ไม่เป็นความจริงที่ว่าเด็กป่วยมากกว่าและจะตายมากกว่า

ขณะเดียวกันงานวิจัยนี้ยังได้เปรียบเทียบกับการติดเชื้อเดลต้าซึ่งมาที่กลุ่มโรงพยาบาลเดียวกันในช่วงเวลาเดียวกันจำนวน 16,982 คน พบว่า

ผู้ป่วยทั้งหมด รวม 16,982 คน

ถูกแอดมิทเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 222 คน (1.3%)

ใส่เครื่องช่วยหายใจ 11 คน (0.06%)

ท้ายที่สุดแล้วตาย 14 คน (0.8%)

โปรดสังเกตว่าอัตราตายของโอไมครอนคือ 0.09% นั้นต่ำกว่าอัตราตายของเดลต้าซึ่งตาย 0.8% ต่างกันถึง 9 เท่า

ผมเล่าเรื่องงานวิจัยนี้เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนจัดการโรคของทุกท่านที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแฟนบล็อกทุกคนที่มีหน้าที่ต้องจัดการสุขภาพของตนเองด้วย เพื่อที่เราจะได้ไม่ทำอะไรที่มากเกินไป หรือที่เสี่ยงเกินไป หรือที่แพงเกินไป เพื่อปกป้องตัวเราให้จากพ้นโรคที่มีอัตราตายต่ำกว่า 0.1% หรือพูดง่ายๆว่าใกล้ศูนย์ โดยยอมทิ้งความใส่ใจในโรคเจ้าประจำอื่นๆที่มีอัตราตายสูงกว่า เช่นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมีอัตราตาย 30% โรคไข้หวัดใหญ่มีอัตราตาย 0.13-0.17% เป็นต้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Clinical outcomes among patients infected with Omicron (B.1.1.529) SARS-CoV-2 variant in southern CaliforniaJoseph A Lewnard, Vennis X Hong, Manish M Patel, Rebecca Kahn, Marc Lipsitch, Sara Y TartofmedRxiv 2022.01.11.22269045; doi: https://doi.org/10.1101/2022.01.11.22269045
[อ่านต่อ...]

09 มกราคม 2565

จะพูดอะไรกันก็พูดเสียตอนนี้ ก่อนที่โอไมครอนเขาจะมา

ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ มนุษย์ก็อดไม่ได้ที่จะสร้างกฎสูตรทางคณิตศาสตร์ขึ้นมาอธิบายและคาดการณ์ ในเรื่องการระบาดของโรคก็เช่นกัน มีสูตรทางคณิตศาสตร์แยะมากที่พยายามจะคาดการณ์พฤติการณ์ของโรค ซึ่งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของวิชาระบาดวิทยาก็ว่าได้ สูตรยอดนิยมสูตรหนึ่งก็คือการคำนวณระยะเพิ่มจำนวนแบบทบเลข (doubling time) ว่านานเท่าใดโรคจึงจะระบาดไปถึงระยะเพิ่มจำนวนแบบคูณเลข (exponential increasing) ซึ่งเป็นจุดปะทุที่โรคจะเพิ่มอย่างรวดเร็วไปสู่จุดสูงสุด (peak) ของโรค แล้วก็จะเริ่มถดถอยลงไปสู่ความสงบ ทั้งหมดนี้จะช่วยเดาภาพรวมของโรคได้

ยกตัวอย่างเช่นการระบาดของเชื้อโอไมครอนในอังกฤษในภาพข้างบน (ทุกสีรวมกัน) เมื่อเชื้อเริ่มก่อตัวเป็นเนื้อเป็นหนังในวันที่ 3 ธค. มันใช้เวลา 4 วันในการสะสมจำนวนเพิ่มได้เท่าตัว (doubling time = 4 วัน) หลังจากนั้น doubling time ก็ลดเหลือ 3 วัน (ช่วง 7-10 ธค.) แล้วก็ลดเหลือวันครึ่ง แล้วก็ลดเหลือวันเดียวในวันที่ 15 ธค. ซึ่งจากจุดที่ doubling time สั้นกว่าหนึ่งวันนี้จะเป็นการเพิ่มแบบทวีคูณ (exponential) เพิ่มอีกวันละกี่เท่าหรือจะต้องคูณด้วยตัวเลขวันละเท่าใดก็ยังไม่รู้แต่จะเป็นการเพิ่มชนิดพรวดพราด จุดที่โรคมาถึงจุดที่ double time สั้นกว่าหนึ่งวันนี้แหละที่จะเป็นจุดระเบิดปุ้ง..ง คือโรคจะเพิ่มเร็วจากจากหมื่นเป็นแสนจากแสนเป็นล้านในเวลาไม่กี่วันจนคนครึ่งประเทศติดเชื้อแล้วนั่นก็คือ peak ที่โรคจะเริ่มถดถอย ประเด็นที่ผมอยากให้โฟกัสคือเชื้อโอไมครอนในอังกฤษใช้เวลาเปลี่ยนจากจุดที่ doubling time ยาวสี่วันมาเหลือสั้นกว่าหนึ่งวันทั้งหมดใช้เวลาเพียง 14 วันหรือสองสัปดาห์ ทั้งหมดนี้คล้ายๆกับพฤติการณ์ของโรคโอไมครอนในอัฟริกาใต้และออสเตรเลีย

มาตูตัวเลขของบ้านเรา ผมสร้างกร๊าฟนี้ขึ้นมาจากสถิติของกระทรวง สธ. โดยเหมาเอาว่าโรคที่เพิ่มเอาๆในระยะสิบวันที่ผ่านมานี้เป็นการเพิ่มของโอไมครอนเสียเป็นส่วนใหญ่

จะเห็นว่าของไทยเมื่อเชื้อเริ่มมีจำนวนเป็นเนื้อเป็นหนังโดยนับตั้งแต่วันปีใหม่ เชื้อใช้เวลาเพิ่มจำนวนต่อวันได้มากกว่าเท่าตัว (doubling time) ในเวลา 4 วัน (จากวันที่ 4-7 มค.) หากคาดว่าพฤติการณ์โรคใกล้เคียงกับที่อังกฤษ อัฟริกาใต้ และออสเตรเลีย doubling time จะลดลงจากสี่วันเหลือสั้นกว่าหนึ่งวันในวันที่ 18 มค. 64 ซึ่งตรงนั้นเป็นจุดระเบิดที่โรคจะเพิ่มแบบทวีคูณอย่างรวดเร็ว

วันที่ผมคาดหมายไว้นี้ไม่ซีเรียส มีบวกมีลบ เพราะมันเป็นแค่การเดา แต่เหตุที่ผมพูดถึง “วันเดา” นี้ขึ้นมาก็เพราะจะชี้ว่าเรายังพอมีเวลาอีกหลายวันก่อนที่จะถึงวันปะทุ ผมอยากจะให้มีการ “สื่อสาร” การใดๆหากผู้มีหน้าที่พึงจะทำเพื่อตระเตรียมก็ควรจะทำเสียในตอนนี้ พูดกันเสียให้เข้าใจแต่ตอนนี้ หากไปพูดกันเอาตอนที่โรคปะทุแล้วเกรงว่าถึงตอนนั้นจะไม่มีใครฟังใครแล้วเพราะทุกคนก็จะเอาแต่กระต๊าก กระต๊าก ตื่นตูมกันไปหมด แล้วเรื่องเล็กที่ควรจะดำเนินการไปได้อย่างฉลุยก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้เสียเงินเสียทอง ทะเลาะเบาะแว้ง หรือเสียสุขภาพโดยไม่จำเป็น

ประเด็นที่ผมอยากให้ “สื่อสาร” กันเสียก่อนคือ

1.. อย่าหวังพึ่งรูปแบบโรงพยาบาลสนามหรือฮอสพิเทล เพราะ (1) วิธีระดมแพทย์พยาบาลจากตจว.มาผลัดเปลี่ยนเวรกันดูแลรพ.สนามจะไม่เวอร์คแล้วในคราวนี้ เพราะแพทย์และพยาบาลทุกคนมีต้นสังกัด และเมื่อโอไมครอนระบาดถึงระดับปะทุ ทุกต้นสังกัดจะยุ่งหมด ไม่มีคนเหลือให้ระดมไปช่วยที่อื่นได้ (2) รูปแบบของฮอสพิเทลมีต้นทุนสูงเกินไปในการดูแลผู้ป่วยสีเขียว และโรงพยาบาลสนามก็มีต้นทุนสูงไม่เบาสำหรับการดูแลผู้ป่วยสีเหลือง ผมไม่คิดว่ารัฐบาลจะ “ตั๋ง” พอที่จะหาเงินมาจ่ายได้ ไม่ว่าจะจ่ายผ่านสามสิบบาทหรือประกันสังคมก็ตาม แค่ตามใช้หนี้เก่าที่ติดค้างค่าเช่ารพ.สนามหรือฮอสพิเทลตอนยุคเดลต้าผมเดาเอาว่ารัฐบาลก็คงจะหืดขึ้นแล้ว

2.. การดูแลตัวเองที่บ้าน หรือ home isolation เป็นรูปแบบที่ดีที่สุด กับโอไมครอน ดังนั้นจำเป็นต้องสื่อสารให้เข้าใจว่า home isolation ทำอย่างไร ดีอย่างไร เพื่อให้เกิดการยอมรับเสียก่อนที่จะเกิดการปะทุของโรคโอไมครอน ทางด้านหลังบ้านก็จำเป็นต้องออกแบบ home isolation เสียใหม่ให้มันทำได้ในทางปฏิบัติ เพราะอย่าลืมว่าผู้ป่วยที่ต้องใช้รูปแบบดูแลตัวเองที่บ้านนี้มีจำนวนมากเป็นเรือนล้าน จึงควรให้แต่สิ่งที่จำเป็น อะไรที่หลักฐานวิทยาศาสตร์สรุปได้แล้วว่าไม่มีประโยชน์สำหรับโอไมครอนเช่นยาต่างๆก็ไม่จำเป็นต้องให้

3.. อย่าลืม รพ.สต. แน่นอนว่าผู้ติดเชื้อที่ดูแลตัวเองอยู่ที่บ้าน จะมีจำนวนหนึ่งที่อยากจะดิ้นรนเสาะหาการรักษาในรูปแบบของโรงพยาบาล จะเป็นเพราะความตื่นตูม เพราะความไม่พร้อมที่จะดูแลกันเองที่บ้าน เพราะความไม่เชื่อว่าตัวเองจะดูแลตัวเองได้ หรือเพราะความกลัวจากการเป็นผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังอยู่แล้วก็ตาม ดังนั้นต้องมีที่รองรับผู้ป่วยส่วนนี้ ยามนั้นโรงพยาบาลทุกแห่งอาจจะเต็ม ศูนย์กักกันโรคในชุมชนหรือ community isolation (CI) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รพ.สต.หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในกรณีต่างจังหวัด จริงอยู่รัฐบาลหรือกระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถ upgrade รพ.สต.ให้รับมือกับโอไมครอนในฐานะ CI ที่แข็งแกร่งได้ในช่วงเวลาที่จำกัดนี้ดอก แต่รัฐบาลท้องถิ่นเช่นเทศบาลหรืออบต. เขาสามารถนะ ถ้าจะมอบหมายให้เขาทำเสียตั้งแต่ตอนนี้

4.. อย่าแหย่สาธารณชนให้กระต๊าก เราคนไทยชอบดราม่าเพราะมันสนุกดี สื่อมวลชนและสื่อโชเชียลก็ชอบเพราะมันทำให้มีข่าวมาขาย การให้ข้อมูลความจริงด้านที่จะทำให้คนสงบนิ่งไม่แตกตื่นมีน้อยเนื่องจากเจ้าใหญ่คือสื่อสารมวลชนและสื่อโชเชียลไม่เล่น ยกตัวอย่างเช่นเมื่อไม่นานมานี้มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสธ.ท่านหนึ่งให้ข่าวข้อมูลผู้ติดเชื้อโอไมครอนในเมืองไทยเฉพาะที่แล็บยืนยันแล้ว ซึ่งมีข้อมูลอาการเด่น อัตราการเข้าโรงพยาบาล และอัตราตายด้วย โดยที่อัตราตาย = 0% นี่เป็นตัวอย่างของข่าวที่จะทำให้คนสงบเย็น แต่ไม่มีใครเล่น ดังนั้นในช่วงโควิดปะทุนี้ รัฐบาลต้องทำหน้าที่หนักในการเป็นผู้ให้ข่าวด้านที่จะทำให้ผู้คนสงบเย็นมีสติเสียเองเพื่อชดเชยให้กับความชอบดราม่าของสื่อสารมวลชนและสื่อโชเชียล แต่ถ้ากลไกของรัฐบาลไปเล่นข่าวขายความกลัวกับเขาด้วยอีกคน ความโกลาหลอลหม่านก็จะเกิดขึ้นอย่างช่วยไม่ได้

5.. อย่าทิ้งโอกาสที่จะทำให้ผู้คนดูแลตัวเองได้ด้วยตัวเอง ในด้านสุขภาพ การป้องกันดีกว่าการรักษา การป้องกันโรคติดต่อที่ดีที่สุดนอกจากการจัดการเชิงระบาดวิทยาแล้วก็คือการที่ประชาชนแต่ละคนจะดูแลระบบภูมิคุ้มกันโรค (immunity system) ของตัวเองให้แข็งแกร่ง ซึ่งวิทยาศาสตร์ก็สรุปได้ชัดแล้วว่ามันทำได้ง่ายๆด้วยการ

5.1 กินอาหารพืชเป็นหลัก แบบกินให้หลากหลาย ทั้งผัก ผลไม้ ถั่ว นัท สมุนไพร เครื่องเทศ และธัญพืชไม่ขัดสี

5.2 ออกกำลังกายทุกวัน

5.3 ดูแลการนอนหลับให้ดี

5.4 ดูแลน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ปล่อยตัวให้อ้วน

5.5 จัดการความเครียด ไม่เครียด

5.6 ออกแดดทุกวัน

5.7 ถ้ามีเหตุให้กินอาหารพืชที่หลากหลายไม่ได้ ก็ควรกินวิตามินและอาหารเสริม ช่วย

ในโอกาสที่โอไมครอนจะมาถึงทุกคนนี้ นี่เป็นโอกาสดีที่จะดึงผู้คนให้หันมาดูแลตัวเองแทนที่จะหวังพึ่งแต่ระบบโรงพยาบาลหรือรัฐบาล

ปล. ผมต้องหายหน้าไปทำกิจส่วนตัวหลายวัน พบกันอีกครั้งหลัง 18 มค. ครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

03 มกราคม 2565

"โอไมครอน" จะไล่ "เดลต้า" เอง โดยเราไม่ต้องเต้นแร้งเต้นกาอะไรมาก

สวัสดีปีใหม่ค่ะคุณหมอ???? 

ขอบพระคุณข้อมูลของคุณหมอค่ะ แถวบ้านหนูน้อง Omicron มา พี่ Delta ก็ยังอยู่ ไม่เครียดๆ เชื่อคุณหมอค่ะ กินพืช ออกกำลังกาย ตากแดด ค่ะ

……………………………………………………………………..

ตอบครับ

จดหมายแบบของคุณนี้มีเข้ามาแยะมาก บ้างก็เป็นของแพทย์ที่กังวลว่าบทความของผมคนอ่านแยะๆแล้วจะ “การ์ดตก” แล้วทำให้เดลต้ากระฉูดขึ้นมาอีก บ้างก็กังวลว่าในท้องที่ของเธอ (แพทย์) ซึ่งมีเดลต้าเด่นเป็นสง่าเป็นเจ้าประจำอยู่ถ้าโอไมครอนมาอีกแล้วเธอจะทำอย่างไร ไม่ต้องอื่นไกล ดูที่มวกเหล็กนี่ก็ได้ เดิมเคสโควิด-19ค่อยๆแห้งไปจนงานวิจัยฟ้าทะลายโจรที่ผมช่วยทีมงานทำอยู่ถึงขั้นเกิดอาการขาดคนไข้มาทำวิจัยเลยทีเดียว แต่อยู่ๆเจ้าเดลต้าก็กลับโผล่พรวดขึ้นมาอีกทำให้งานวิจัยเดินหน้าไปได้อีก ในบางชุมชนเช่นอย่างเช่นที่คุณเล่าถึงบ้านของคุณเองซึ่งผมไม่รู้ว่าอยู่จังหวัดไหน มันมาคู่กันเลย แล้วจะไม่แย่หรือเพราะโอไมครอนเบาก็จริง แต่เดลต้านั้นชัดเจนอยู่แล้วว่ารุนแรงและมีอัตราตายสูง ตอบว่าไม่แย่หรอกครับ เพราะหลักฐานที่มีบ่งชี้ว่าโอไมครอนจะไล่ที่เดลต้าจนเข้าแทนที่เดลต้าได้เกือบทั้งหมดในเวลาไม่กี่สัปดาห์

คำตอบของผมมีพื้นฐานอยู่บนหลักฐานสองชิ้น

หลักฐานชิ้นแรก คืองานวิจัยที่ทำเสร็จแล้วรอตีพิมพ์ซึ่งเปิดเผยโดยสถาบันวัจัยสุขภาพอัฟริกา ที่ประเทศอัฟริกาใต้ ซึ่งได้ทำวิจัยในผู้ป่วยที่ติดเชื้อโอไมครอนจนถึงระดับมีอาการ โดยมุ่งตรวจดูความสามารถในการสร้างแอนตี้บอดี้ (neutralizing antibody) ต่อเชื้อโอไมครอนและต่อเชื้อเดลต้า โดยทำการเจาะเลือดตรวจดูสองครั้ง คือ

ครั้งที่ 1. ตรวจในวันแรกที่เข้ามาเป็นอาสาสมัครทำวิจัยเลย (ซึ่งเฉลี่ยแล้วมีอาการมาได้ 4 วัน) เจตนาก็เพื่อดูว่าก่อนที่ร่างกายจะสร้างแอนตี้บอดี้ใหม่ มีแอนตี้บอดี้เก่า (จากวัคซีนหรือการติดเชื้อมาก่อน) อยู่มากเท่าใด

ครั้งที่ 2. ตรวจหลังจากครั้งแรก 14 วัน เจตนาเพื่อดูว่าตัวเชื้อโอไมครอนที่ติดมาทำให้ร่างกายสร้างแอนตี้บอดี้เพิ่มขึ้นได้มากเท่าใด

ผลการวิจัยพบว่าร่างกายผู้ป่วยที่ติดเชื้อโอไมครอน สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโอไมครอนเพิ่มขึ้นในสองสัปดาห์ได้ 14 เท่า และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเดลต้าเพิ่มขึ้นในสองสัปดาห์ได้ 4 เท่า

แปลไทยให้เป็นไทยได้ว่าเมื่อคนติดเชื้อโอไมครอนแล้ว ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ซึ่งภูมิคุ้มกันนั้นนอกจากจะใช้ทำลายเชื้อโอไมครอนได้ดีแล้ว ยังใช้ทำลายเชื้อเดลต้าได้ดีอีกด้วย ดังนั้นเมื่อมีเชื้อสองสายพันธ์ระบาดอยู่ในชุมชน เชื้อโอไมครอนจะแพร่เร็วกว่าแบบพรวดพราด แล้วคนที่ป่วยเป็นโอไมครอนแล้วจะมีภูมิต่อเชื้อเดลตาด้วย ทำให้ไม่ป่วยเป็นเดลตา ประมาณนั้น

หลักฐานชิ้นที่สอง คือรายงานสถิติการป่วยด้วยเชื้อสองแบบในชุมชน เนื่องจากตั้งแต่โรคโควิด-19ระบาดมาสามปีนี้ อังกฤษเป็นประเทศที่ได้พิสูจน์ตัวเองว่ามีระบบข้อมูลสถิติดีที่สุด ผมจึงจะใช้สถิติของอังกฤษมาอธิบายให้ท่านฟัง ความจริงอัฟริกาใต้ก็มีสถิติที่คล้ายกัน แต่ฝีมือในการเก็บสถิติยังสู้ของอังกฤษไม่ได้

การระบาดคู่กันของสองเชื้อที่อังกฤษ สีเขียวคือเดลต้า สีม่วงคือโอไมครอน

ท่านดูกร๊าฟข้างบนนี้ประกอบนะครับ กร๊าฟนี้เป็นของสำนักงานสถิติสุขภาพแห่งชาติอังกฤษ ข้อมูลนี้นับถึงวันที่ 31 ธค. 64 คือวันส่งท้ายปีเก่า แต่ละแท่งคือการติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด ในแต่ละแท่งมีสองสี สีเขียวคือส่วนที่ติดเชื้อเดลต้า ส่วนสีม่วงคือการติดเชื้อโอไมครอน ส่วนกร๊าฟเส้นสีม่วงคือจำนวนคนไข้โอไมครอนสะสม จะเห็นว่าภายในหนึ่งเดือนโอไมครอนได้ไล่ที่เดลต้าจากเดิมที่เป็นเจ้ายุทธจักรอยู่จนหายไปมาก ถ้าดูกร๊าฟของเฉพาะบางชุมชนเช่นของเมืองลอนดอน การไล่ที่จะเกิดขึ้นจนเดลต้าแทบไม่เหลือเลย นี่เป็นหลักฐานเชิงสถิติที่สอดคล้องตัองกันเป็นอันดีกับงานวิจัยข้างต้น ว่าโอไมครอนติดง่ายกว่าติดเร็วกว่าเดลต้า ติดแล้วสร้างภูมิคุ้มกันต่อเดลต้าได้ด้วย ทำให้โอไมครอนไล่ที่เดลต้าได้ คนที่ป่วยเป็นโอไมครอนแล้วมีโอกาสน้อยมากที่จะป่วยเป็นเดลต้าอีก

กล่าวโดยสรุป ถ้าชุมชนของท่านมีสองเชื้อ และตัวท่านเองฉีดวัคซีนครบสองโด้สแล้ว ท่านไม่ต้องวอรี่หรือเต้นแร้งเต้นกาอะไรเลยครับ แค่ทำตัวเป็นพลเมืองดี ใส่หน้ากาก อยู่ห่าง ล้างมือ ดูแลระบบภูมิคุ้มกันของตัวเองให้ท็อปฟอร์ม แล้ววันหนึ่งโอไมครอนจะมาหาท่านเองถึงบ้านโดยท่านไม่ต้องออกไปหามัน แต่ท่านจะป่วยไม่รุนแรงเพราะท่านดูแลระบบภูมิคุ้มกันของท่านมาอย่างดีแล้ว หลังจากนั้นท่านจะมีภูมิคุ้มกันต่อทั้งโอไมครอนและเดลต้า แล้วชีวิตปกติของท่านก็จะเดินหน้าต่อไปได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Omicron infection enhances neutralizing immunity against the Delta variant. Khadija Khan, Farina Karim, Sandile Cele, James Emmanuel San, Gila Lustig, Houriiyah Tegally, Mallory Bernstein, Yashica Ganga, Zesuliwe Jule, Kajal Reedoy, Nokuthula Ngcobo, Matilda Mazibuko, Ntombifuthi Mthabela, Zoey Mhlane, Nikiwe Mbatha, Jennifer Giandhari, Yajna Ramphal, Taryn Naidoo, Nithendra Manickchund, Nombulelo Magula, Salim S. Abdool Karim, Glenda Gray, Willem Hanekom, Anne von Gottberg, COMMIT-KZN Team, Bernadett I. Gosnell, Richard J. Lessells, Penny L. Moore, Tulio de Oliveira, Mahomed-Yunus S. Moosa, Alex Sigalmed. medRxiv 2021.12.27.21268439; doi: https://doi.org/10.1101/2021.12.27.21268439
[อ่านต่อ...]

02 มกราคม 2565

ข่าวดีปีใหม่ 2022 ทางด้านวิทยาศาสตร์

วันนี้วันขึ้นปีใหม่ 2022 ผมถือโอกาสนี้สวัสดีปีใหม่กับแฟนบล็อกหมอสันต์ทุกท่าน และขออโหสิ โดยเฉพาะสำหรับจดหมายที่ค้างในเก๊ะอยู่เกือบสองร้อยฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำถามที่ผมเคยตอบแล้ว แต่ก็มีบ้างที่เป็นคำถามใหม่ที่ผมตั้งใจจะตอบ แต่..เป็นลืม หรือทำหายไปคลิกไปคลิกมาแล้วหาไม่เจอ ทั้งหมดนี้ไหนๆก็ปีใหม่แล้ว ขอถือโอกาสโละไปพร้อมกับปีเก่าเสียเลย ง่ายดี หิ หิ ถือโอกาสตอนปีใหม่ที่คนใจบุญเขาไม่เอาเรื่องเอาราวกัน

มาพูดถึงอนาคตในปีใหม่กันดีกว่า เรื่องเศรษฐกิจนั้นผมไม่เกี่ยว ถือว่าตัวใครตัวมัน ผมจะขอพูดถึงแต่เรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องโควิด-19 ซึ่งได้ลากยาวเข้าสู่ปีที่ 4 ในปีนี้ แต่ว่าเป็นปีที่เริ่มต้นด้วยข่าวดี

ข่าวดีที่ 1. ก็คือมหาวิทยาล้ยเคปทาวน์ที่อัฟริกาใต้ ได้เปิดเผยงานวิจัยรอตีพิมพ์ใหม่ที่สำคัญมากฉบับหนึ่งออกมา ว่าได้ทำวิจัยในคนอัฟริกาใต้ที่ป่วยเป็นโรคโควิดโอไมครอนสามกลุ่ม คือ (1) กลุ่มที่ได้วัคซีนจอห์นสัน (2) กลุ่มที่ได้วัคซีนไฟเซอร์ (3) กลุ่มที่ไม่ได้วัคซีนมาก่อน พบว่าแม้ว่าทุกกลุ่มจะสร้างภูมิคุ้มกันชนิดจับทำลายตัวเชื้อโรคโดยตรง (neutralizing antibody) ได้น้อยกว่าที่ควร (ซึ่งเรารู้จากงานวิจัยอื่นมาพักหนึ่งแล้ว) ก็จริง แต่งานวิจัยนี้ยืนยันว่า 80% ของผู้ป่วยทุกกลุ่ม สามารถสร้างเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 และ CD8 ที่เจาะจงทำลายเชื้อโอไมครอนได้ดีทุกกลุ่ม

เพื่อจะให้ท่านเข้าใจประโยชน์ของผลวิจัยนี้อย่างถ่องแท้ ขอผมอธิบายระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์อย่างย่อๆสักเล็กน้อย ว่าระบบภูมิคุ้มกันของเรานี้แบ่งออกเป็นสองระบบใหญ่คือ

  1. ระบบป้องกันแบบปูพรม (innate immunity) กับ
  2. ระบบป้องกันแบบเจาะจง (adaptive immunity)

โดยที่ระบบป้องกันแบบเจาะจงนี้ยังแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ

(1) ระบบสร้างภูมิคุ้มกัน (แอนตี้บอดี้) ไปจับทำลายตัวเชื้อโรคโดยตรง (HIR)

(2) ระบบทำงานโดยเซล (CMIR)

ซึ่งระบบทำงานโดยเซล (CMIR) นี้มีเซลเม็ดเลือดขาวเป็นกำลังหลักอยู่สองชนิดคือ

(1) เซลช่วยประสานงาน (Helper T Cell หรือ CD4) ซึ่งผลิตสารไปกระตุ้นให้ทุกส่วนของระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานสอดประสานกัน

(2) Cytotoxic T Cell หรือ CD8 ซึ่งเป็นเซลที่ทำหน้าที่ฆ่าทำลายทั้งตัวไวรัสและตัวเซลที่ถูกไวรัสเจาะกินไปเรียบร้อยแล้ว

โดยที่ยิ่งนานไปทั้ง CD4 และ CD8 ก็ยิ่งทำงานของตัวเองได้ดีขึ้นๆเพราะมีระบบจดจำข้อมูลที่ดี

ที่ผมบอกว่าผลวิจัยของมหาวิทยาลัยเคปทาวน์นี้เป็นข่าวดีก็เพราะแต่เดิมเมื่อเห็นโอไมครอนหลบรอดวัคซีนได้เราก็ใจเสียว่าวัคซีนที่ฉีดไปบ้อลัดเสียแล้ว ต้องรอวัคซีนใหม่ แต่งานวิจัยนี้บอกเราว่าวัคซีนที่ฉีดไปแม้จะสร้างภูมิคุ้มกันแบบจับทำลายตัวเชื้อตรงๆ (HIR) ได้น้อยจนหลบการติดเชื้อไม่พ้น แต่มันก็ช่วยสร้างเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 และ CD8 ที่เจาะจงทำลายโอไมครอนในระยะยาวได้ดีมาก ดังนั้นวัคซีนที่ฉีดไปก็ดี หรือภูมิคุ้มกันเก่าที่มีมาจากเชื้อรุ่นก่อนก็ดี ไม่ได้เสียเปล่า มันได้ช่วยสร้างพื้นฐานภูมิคุ้มกันชนิดผ่านเซล (CMIR)ไว้ให้เราปราบเชื้อโอไมครอนในระยะยาวได้ และนี่เป็นคำอธิบายได้อย่างดีว่าทำไมเมื่อติดเชื้อโอไมครอนแล้วมันไม่รุนแรงแถมยังหายเร็วอีกต่างหาก นอกจากนี้ยังทำให้เราใจชื้นขึ้นอีกประเด็นหนึ่งว่าแม้ไปภายหน้ามีสายพันธุ์ใหม่ๆเกิดขึ้น มันมีแนวโน้มว่าแม้แอนตี้บอดี้โดยตรงอาจจะเวอร์คไม่ดี แต่ CD4 และ CD8 จะเวอร์คดีเสมอ ภาษาหมอเรียกว่ามันมี cross response ข้ามสายพันธ์ได้ในส่วนของระบบภูมิคุ้มกันผ่านเซล ซึ่งเผอิญเป็นด่านที่สำคัญที่สุดของระบบภูมิคุ้มกันในระยะก็ว่าได้

ข่าวดีที่ 2. ก็คือก่อนหน้านี้ราวสองสัปดาห์ มหาวิทยาลังฮ่องกงได้แถลงผลวิจัยของตนว่าพวกเขาได้ทำวิจัยแบบ ex vivo ตัดเอาเนื้อเยื่อปอดและหลอดลมของอาสาสมัครมาเพาะเลี้ยง แล้วใส่เชื้อโควิดสายพันธ์ต่างๆรวมทั้งโอไมครอนเข้าไปแล้วก็สรุปการวิจัยว่าโควิดสายพันธ์โอไมครอนเติบโตในเนื้อเยื่อแขนงหลอดลม (bronchus) ได้มากกว่าโควิดสายพันธ์ออริจินอลถึง 70 เท่า แต่ว่าเติบโตในเนื้อเยื่อถุงลม (alveoli) ได้น้อยกว่าสายพันธ์ออริจินอล 10 เท่า ทำให้เรารู้ว่าที่โอไมครอนติดต่อได้ง่ายพรวดพราดนี้ไม่ใช่เพราะมันแรง แต่เพราะมันอยู่ตื้น แต่ขณะเดียวกันติดแล้วมันก็จะไม่รุนแรง เพราะความรุนแรงของโรคโควิดนั้นเรารู้มาสองปีแล้วว่าเกิดจากปฏิกริยาตลุมบอน (cytokine storm) ระหว่างเชื้อโรคกับภุมิคุัมกันของร่างกาย สมรภูมิคือในถุงลม (alveoli) ซึ่งเป็นส่วนลึกที่สุดของปอดที่เมื่อเชื้อไปถึงนั่นแล้วยากที่จะไล่ออกมาได้ งานวิจัยของมหาวิ่ทยาลัยฮ่องกงทำให้เรายอมรับการติดโอไมครอนว่ามันติดง่ายจนแม้จะพยายามป้องกันแล้ว แต่ก็ไม่กลัวเมื่อติดเพราะกลไกการดำเนินของโรคมันไม่รุนแรง เพราะมันไม่ลงปอด

ข่าวดีที่ 3. เช้าวันนี้เอง รัฐบาลอัฟริกาใต้ได้ประกาศยกเลิกมาตรการล็อคดาวน์ซึ่งใช้มาอย่างเข้มงวดตั้งแต่เดือนมค.ปี 2020 เพราะได้ประเมินสรุปว่าโรคได้ผ่านจุดสูงสุดทั่วประเทศและมุ่งสู่ขาลงอย่างรวดเร็วแล้ว คือประมาณ 93% ของประชากรมีภูมิคุ้มกันเรียบร้อยแล้ว อัตราป่วยลดลงจากช่วงพีคของโอไมครอนเมื่อกลางเดือนธค. 37,875 รายต่อวัน เหลือ 11754 รายต่อวันในวันนี้ ขณะที่อัตราตายลดจากช่วงพีคของเดลต้าเมื่อเดือนมค.2021 ซึ่งตายมากถึง 844 รายต่อวันเหลือเพียง 84 รายต่อวันในวันนี้ ความสำเร็จของการควบคุมโรคทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากวัคซีน เพราะเพิ่งฉีดวัคซีนครบสองเข็มไปได้ 27% เท่านั้นเอง แต่ความสำเร็จนี้เกิดจากการอาศัยใบบุญของเชื้อโอไมครอนซึ่งแพร่เร็วและมัอัตราตายต่ำมาทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) แทนวัคซีน

ผมคาดหมายว่าอังกฤษก็จะประกาศยกเลิกมาตรการควบคุมทั้งหลายลงภายในเวลาไม่เกิน 2-3 เดือนข้างหน้านี้ เพราะการดำเนินโรคในอังกฤษก็ไม่แตกต่างจากในอัฟริกาใต้ ผมเดาต่อไปว่าในปีหน้านี้คนทั้งโลกจะติดเชื้อโอไมครอนกันหมด และทั้งโลกจะยกเลิกมาตรการล็อคดาวน์โควิดอย่างสิ้นเชิงปล่อยให้เป็นโรคประจำถิ่น และปล่อยให้มีการเดินทางท่องเที่ยวทำมาค้าขายกันตามปกฺติอีกครั้ง

โปรดสังเกตว่าคำคาดเดาของผมไม่เหมือนที่นักการเมืองและสื่อสารมวลชนทั่วโลกกำลังประโคมข่าวให้กลัวโควิดกันไม่เลิก ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการรับชมเอาเองนะครับ ผมคาดเดาไปตามผลวิจัยวิทยาศาสตร์และข้อมูลที่เปิดเผยโดยตัวแพทย์หรือสถาบันทางการแพทย์ล้วนๆ ไม่ได้อาศัยข้อมูลที่ผ่านมาทางนักการเมืองหรือสื่อสารมวลชนเลย ท่านจะเลือกเชื่อใคร ก็เลือกเอาแบบที่ชอบที่ชอบเถิด

ถ้าเชื่อหมอสันต์ ขอให้ท่านมาเริ่มต้นเตรียมตัวติดเชื้อโอไมครอนซึ่งเป็นของที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้กันดีกว่า ปราการที่คุ้มกันเราจากการตายจากการติดเชื้อได้ดีที่สุดนอกจากฉีดวัคซีนให้ครบสองเข็มแล้ว ก็คือระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (immunity system) ของเราเอง ดังนั้นท่านที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบสองเข็มก็ควรเร่งฉีดให้ครบเสียก่อน ส่วนท่านที่ฉีดครบแล้วไม่ว่าท่านจะเลือกฉีดเข็มสามเข็มสี่หรือไม่นั่นสุดแล้วแต่ท่าน แต่ไม่ว่าจะฉีดเข็มสามเข็มสี่หรือไม่อย่างไรก็ตามขอให้ท่านขยันดูแลระบบภูมิคุ้มกันของท่านเองให้ท็อปฟอร์มไว้ตลอดปีใหม่ ระบบภูมิคุ้มกันนี้มันจะเวอร์คดีที่สุดถ้าท่านทำเจ็ดอย่างต่อไปนี้ คือ

  1. กินอาหารพืชเป็นหลัก แบบกินให้หลากหลาย ทั้งผัก ผลไม้ ถั่ว นัท สมุนไพร เครื่องเทศ และธัญพืชไม่ขัดสี
  2. ออกกำลังกายทุกวัน
  3. ดูแลการนอนหลับของท่านให้ดี
  4. ดูแลน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ อย่าอ้วน
  5. จัดการความเครียด อย่าเครียด
  6. ออกแดดทุกวัน
  7. ถ้าบังคับใจตัวเองให้กินอาหารพืชที่หลากหลายไม่ได้ ก็ควรกินวิตามินและอาหารเสริมช่วย ถ้าท่านจะซื้อวิตามินและอาหารเสริมกิน ผมแนะนำให้ท่านเลือกซื้อกินสารในสามกลุ่มต่อไปนี้ซึ่งมีหลักฐานวิทยาศาสตร์ว่าช่วยระบบภูมิคุ้มกันได้ คือ (1) วิตามินที่ช่วยระบบภูมิคุ้มก้นได้แก่ วิตามิน A, B6, B12, C, D, E, และโฟเลท (2) แร่ธาตุที่ช่วยระบบภุมิคุ้มกันคือสังกะสี เหล็ก เซเลเนียม ทองแดง แมกนีเซียม (3) อาหารเสริมที่ช่วยระบบภูมิคุ้มกันคือ (3.1) ไขมันโอเมก้าสาม (3.2) สารออกฤทธิ์พิเศษจากพืชที่เรียกว่า Phytochemicals เช่น carotinoids, polyphenols (3.3) สารแอนติ้ออกซิแด้นท์ เช่น lycopene, lutein (3.4) สารในกลุ่ม Prebiotic เช่น กากใย และ probiotics เช่น คีเฟอร์ โยเกิร์ต เซาร์ครูท คอมบูชา โฮลวีท ขนมปังซาวโด ถั่วเน่า เทมเป้ มิโสะ กิมจิ เป็นต้น  

ขอให้แฟนๆบล็อกทุกท่านมีความสุขสวัสดีตลอดปีใหม่ 2022 ครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Keeton R, Tincho MB et al. SARS-CoV-2 spike T cell responses induced upon vaccination or infection remain robust against Omicron. MedRxiv 2021. doi: https://doi.org/10.1101/2021.12.26.21268380

[อ่านต่อ...]