จะพูดอะไรกันก็พูดเสียตอนนี้ ก่อนที่โอไมครอนเขาจะมา
ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ มนุษย์ก็อดไม่ได้ที่จะสร้างกฎสูตรทางคณิตศาสตร์ขึ้นมาอธิบายและคาดการณ์ ในเรื่องการระบาดของโรคก็เช่นกัน มีสูตรทางคณิตศาสตร์แยะมากที่พยายามจะคาดการณ์พฤติการณ์ของโรค ซึ่งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของวิชาระบาดวิทยาก็ว่าได้ สูตรยอดนิยมสูตรหนึ่งก็คือการคำนวณระยะเพิ่มจำนวนแบบทบเลข (doubling time) ว่านานเท่าใดโรคจึงจะระบาดไปถึงระยะเพิ่มจำนวนแบบคูณเลข (exponential increasing) ซึ่งเป็นจุดปะทุที่โรคจะเพิ่มอย่างรวดเร็วไปสู่จุดสูงสุด (peak) ของโรค แล้วก็จะเริ่มถดถอยลงไปสู่ความสงบ ทั้งหมดนี้จะช่วยเดาภาพรวมของโรคได้
ยกตัวอย่างเช่นการระบาดของเชื้อโอไมครอนในอังกฤษในภาพข้างบน (ทุกสีรวมกัน) เมื่อเชื้อเริ่มก่อตัวเป็นเนื้อเป็นหนังในวันที่ 3 ธค. มันใช้เวลา 4 วันในการสะสมจำนวนเพิ่มได้เท่าตัว (doubling time = 4 วัน) หลังจากนั้น doubling time ก็ลดเหลือ 3 วัน (ช่วง 7-10 ธค.) แล้วก็ลดเหลือวันครึ่ง แล้วก็ลดเหลือวันเดียวในวันที่ 15 ธค. ซึ่งจากจุดที่ doubling time สั้นกว่าหนึ่งวันนี้จะเป็นการเพิ่มแบบทวีคูณ (exponential) เพิ่มอีกวันละกี่เท่าหรือจะต้องคูณด้วยตัวเลขวันละเท่าใดก็ยังไม่รู้แต่จะเป็นการเพิ่มชนิดพรวดพราด จุดที่โรคมาถึงจุดที่ double time สั้นกว่าหนึ่งวันนี้แหละที่จะเป็นจุดระเบิดปุ้ง..ง คือโรคจะเพิ่มเร็วจากจากหมื่นเป็นแสนจากแสนเป็นล้านในเวลาไม่กี่วันจนคนครึ่งประเทศติดเชื้อแล้วนั่นก็คือ peak ที่โรคจะเริ่มถดถอย ประเด็นที่ผมอยากให้โฟกัสคือเชื้อโอไมครอนในอังกฤษใช้เวลาเปลี่ยนจากจุดที่ doubling time ยาวสี่วันมาเหลือสั้นกว่าหนึ่งวันทั้งหมดใช้เวลาเพียง 14 วันหรือสองสัปดาห์ ทั้งหมดนี้คล้ายๆกับพฤติการณ์ของโรคโอไมครอนในอัฟริกาใต้และออสเตรเลีย
มาตูตัวเลขของบ้านเรา ผมสร้างกร๊าฟนี้ขึ้นมาจากสถิติของกระทรวง สธ. โดยเหมาเอาว่าโรคที่เพิ่มเอาๆในระยะสิบวันที่ผ่านมานี้เป็นการเพิ่มของโอไมครอนเสียเป็นส่วนใหญ่
จะเห็นว่าของไทยเมื่อเชื้อเริ่มมีจำนวนเป็นเนื้อเป็นหนังโดยนับตั้งแต่วันปีใหม่ เชื้อใช้เวลาเพิ่มจำนวนต่อวันได้มากกว่าเท่าตัว (doubling time) ในเวลา 4 วัน (จากวันที่ 4-7 มค.) หากคาดว่าพฤติการณ์โรคใกล้เคียงกับที่อังกฤษ อัฟริกาใต้ และออสเตรเลีย doubling time จะลดลงจากสี่วันเหลือสั้นกว่าหนึ่งวันในวันที่ 18 มค. 64 ซึ่งตรงนั้นเป็นจุดระเบิดที่โรคจะเพิ่มแบบทวีคูณอย่างรวดเร็ว
วันที่ผมคาดหมายไว้นี้ไม่ซีเรียส มีบวกมีลบ เพราะมันเป็นแค่การเดา แต่เหตุที่ผมพูดถึง “วันเดา” นี้ขึ้นมาก็เพราะจะชี้ว่าเรายังพอมีเวลาอีกหลายวันก่อนที่จะถึงวันปะทุ ผมอยากจะให้มีการ “สื่อสาร” การใดๆหากผู้มีหน้าที่พึงจะทำเพื่อตระเตรียมก็ควรจะทำเสียในตอนนี้ พูดกันเสียให้เข้าใจแต่ตอนนี้ หากไปพูดกันเอาตอนที่โรคปะทุแล้วเกรงว่าถึงตอนนั้นจะไม่มีใครฟังใครแล้วเพราะทุกคนก็จะเอาแต่กระต๊าก กระต๊าก ตื่นตูมกันไปหมด แล้วเรื่องเล็กที่ควรจะดำเนินการไปได้อย่างฉลุยก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้เสียเงินเสียทอง ทะเลาะเบาะแว้ง หรือเสียสุขภาพโดยไม่จำเป็น
ประเด็นที่ผมอยากให้ “สื่อสาร” กันเสียก่อนคือ
1.. อย่าหวังพึ่งรูปแบบโรงพยาบาลสนามหรือฮอสพิเทล เพราะ (1) วิธีระดมแพทย์พยาบาลจากตจว.มาผลัดเปลี่ยนเวรกันดูแลรพ.สนามจะไม่เวอร์คแล้วในคราวนี้ เพราะแพทย์และพยาบาลทุกคนมีต้นสังกัด และเมื่อโอไมครอนระบาดถึงระดับปะทุ ทุกต้นสังกัดจะยุ่งหมด ไม่มีคนเหลือให้ระดมไปช่วยที่อื่นได้ (2) รูปแบบของฮอสพิเทลมีต้นทุนสูงเกินไปในการดูแลผู้ป่วยสีเขียว และโรงพยาบาลสนามก็มีต้นทุนสูงไม่เบาสำหรับการดูแลผู้ป่วยสีเหลือง ผมไม่คิดว่ารัฐบาลจะ “ตั๋ง” พอที่จะหาเงินมาจ่ายได้ ไม่ว่าจะจ่ายผ่านสามสิบบาทหรือประกันสังคมก็ตาม แค่ตามใช้หนี้เก่าที่ติดค้างค่าเช่ารพ.สนามหรือฮอสพิเทลตอนยุคเดลต้าผมเดาเอาว่ารัฐบาลก็คงจะหืดขึ้นแล้ว
2.. การดูแลตัวเองที่บ้าน หรือ home isolation เป็นรูปแบบที่ดีที่สุด กับโอไมครอน ดังนั้นจำเป็นต้องสื่อสารให้เข้าใจว่า home isolation ทำอย่างไร ดีอย่างไร เพื่อให้เกิดการยอมรับเสียก่อนที่จะเกิดการปะทุของโรคโอไมครอน ทางด้านหลังบ้านก็จำเป็นต้องออกแบบ home isolation เสียใหม่ให้มันทำได้ในทางปฏิบัติ เพราะอย่าลืมว่าผู้ป่วยที่ต้องใช้รูปแบบดูแลตัวเองที่บ้านนี้มีจำนวนมากเป็นเรือนล้าน จึงควรให้แต่สิ่งที่จำเป็น อะไรที่หลักฐานวิทยาศาสตร์สรุปได้แล้วว่าไม่มีประโยชน์สำหรับโอไมครอนเช่นยาต่างๆก็ไม่จำเป็นต้องให้
3.. อย่าลืม รพ.สต. แน่นอนว่าผู้ติดเชื้อที่ดูแลตัวเองอยู่ที่บ้าน จะมีจำนวนหนึ่งที่อยากจะดิ้นรนเสาะหาการรักษาในรูปแบบของโรงพยาบาล จะเป็นเพราะความตื่นตูม เพราะความไม่พร้อมที่จะดูแลกันเองที่บ้าน เพราะความไม่เชื่อว่าตัวเองจะดูแลตัวเองได้ หรือเพราะความกลัวจากการเป็นผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังอยู่แล้วก็ตาม ดังนั้นต้องมีที่รองรับผู้ป่วยส่วนนี้ ยามนั้นโรงพยาบาลทุกแห่งอาจจะเต็ม ศูนย์กักกันโรคในชุมชนหรือ community isolation (CI) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รพ.สต.หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในกรณีต่างจังหวัด จริงอยู่รัฐบาลหรือกระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถ upgrade รพ.สต.ให้รับมือกับโอไมครอนในฐานะ CI ที่แข็งแกร่งได้ในช่วงเวลาที่จำกัดนี้ดอก แต่รัฐบาลท้องถิ่นเช่นเทศบาลหรืออบต. เขาสามารถนะ ถ้าจะมอบหมายให้เขาทำเสียตั้งแต่ตอนนี้
4.. อย่าแหย่สาธารณชนให้กระต๊าก เราคนไทยชอบดราม่าเพราะมันสนุกดี สื่อมวลชนและสื่อโชเชียลก็ชอบเพราะมันทำให้มีข่าวมาขาย การให้ข้อมูลความจริงด้านที่จะทำให้คนสงบนิ่งไม่แตกตื่นมีน้อยเนื่องจากเจ้าใหญ่คือสื่อสารมวลชนและสื่อโชเชียลไม่เล่น ยกตัวอย่างเช่นเมื่อไม่นานมานี้มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสธ.ท่านหนึ่งให้ข่าวข้อมูลผู้ติดเชื้อโอไมครอนในเมืองไทยเฉพาะที่แล็บยืนยันแล้ว ซึ่งมีข้อมูลอาการเด่น อัตราการเข้าโรงพยาบาล และอัตราตายด้วย โดยที่อัตราตาย = 0% นี่เป็นตัวอย่างของข่าวที่จะทำให้คนสงบเย็น แต่ไม่มีใครเล่น ดังนั้นในช่วงโควิดปะทุนี้ รัฐบาลต้องทำหน้าที่หนักในการเป็นผู้ให้ข่าวด้านที่จะทำให้ผู้คนสงบเย็นมีสติเสียเองเพื่อชดเชยให้กับความชอบดราม่าของสื่อสารมวลชนและสื่อโชเชียล แต่ถ้ากลไกของรัฐบาลไปเล่นข่าวขายความกลัวกับเขาด้วยอีกคน ความโกลาหลอลหม่านก็จะเกิดขึ้นอย่างช่วยไม่ได้
5.. อย่าทิ้งโอกาสที่จะทำให้ผู้คนดูแลตัวเองได้ด้วยตัวเอง ในด้านสุขภาพ การป้องกันดีกว่าการรักษา การป้องกันโรคติดต่อที่ดีที่สุดนอกจากการจัดการเชิงระบาดวิทยาแล้วก็คือการที่ประชาชนแต่ละคนจะดูแลระบบภูมิคุ้มกันโรค (immunity system) ของตัวเองให้แข็งแกร่ง ซึ่งวิทยาศาสตร์ก็สรุปได้ชัดแล้วว่ามันทำได้ง่ายๆด้วยการ
5.1 กินอาหารพืชเป็นหลัก แบบกินให้หลากหลาย ทั้งผัก ผลไม้ ถั่ว นัท สมุนไพร เครื่องเทศ และธัญพืชไม่ขัดสี
5.2 ออกกำลังกายทุกวัน
5.3 ดูแลการนอนหลับให้ดี
5.4 ดูแลน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ปล่อยตัวให้อ้วน
5.5 จัดการความเครียด ไม่เครียด
5.6 ออกแดดทุกวัน
5.7 ถ้ามีเหตุให้กินอาหารพืชที่หลากหลายไม่ได้ ก็ควรกินวิตามินและอาหารเสริม ช่วย
ในโอกาสที่โอไมครอนจะมาถึงทุกคนนี้ นี่เป็นโอกาสดีที่จะดึงผู้คนให้หันมาดูแลตัวเองแทนที่จะหวังพึ่งแต่ระบบโรงพยาบาลหรือรัฐบาล
ปล. ผมต้องหายหน้าไปทำกิจส่วนตัวหลายวัน พบกันอีกครั้งหลัง 18 มค. ครับ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์