Ex Vivo หมายความว่าอย่างไร

อาจารย์คะ

หนูเป็นพยาบาลอยู่ที่ … ที่พยายามตามอ่านงานวิจัยเพื่อฝึกประเมินหลักฐานวิทยาศาสตร์ด้วยตัวเองตามที่อาจารย์แนะนำในบล็อก ไม่ใช่เพราะหนูเชื่ออาจารย์อย่างเดียวหรอกนะคะ แต่เป็นเพราะบ่อยครั้งที่คนไข้เอาผลวิจัยในอินเตอร์เน็ทมาคุยกับหนูทำให้หนูต้องตามคนไข้ให้ทันเพราะเบื่อที่จะเห็นแววตาสงสารจากคนไข้ว่าพยาบาลช่างไร้เดียงสาทางวิชาการเสียนี่กระไร อาจารย์ช่วยอธิบายคำว่า ex vivo ให้หนูหน่อย หนูรู้จัก in vivo รู้จัก in vitro แต่หนูไม่รู้จัก ex vivo ค่ะ

…………………………………………………………………

ตอบครับ

เป็นคำถามหญ้าปากคอกสำหรับคนในวงการแพทย์ แต่ผมเห็นว่ามีประโยชน์กับท่านผู้อ่านทั่วไป จึงหยิบมาตอบ โดยจะอธิบายทุกคำในเรื่องนี้

in vitro หมายถึงวิธีวิจัยทางชีวเคมีที่ทำการวิจัยทั้งหมดในห้องทดลองหรือในจานเพาะเลี้ยงแบคทีเรีย โดยไม่ยุ่งกับร่างกายมนุษย์เลย เช่นการเอาแบคทีเรียชนิดหนึ่งมาเพาะเลี้ยงในจานเพาะเลี้ยง แล้วหยอดยาปฏิชีวนะลงไป เพื่อดูว่าแบคทีเรียชนิดนั้นจะสนองตอบ (แปลว่าตาย) หลังจากโดนยาปฏิชีวนะชนิดนั้นหรือเปล่า อย่างนี้เรียกว่าเป็นงานวิจัยแบบ in vitro

ในวงการแพทย์เป็นที่รู้กันดีว่าเรื่องราวที่ได้มาจากการทำวิจัยแบบ in vitro จะด่วนสรุปเป็นตุเป็นตุว่าผลวิจัยนั้นจะเอาไปใช้กับร่างกายคนทันทีไม่ได้ เพราะสิ่งแวดล้อมในห้องแล็บหรือในจานเพาะเลี้ยงแตกต่างจากสิ่งแวดล้อมในร่างกายคนจริงๆ หากรีบร้อนเอาไปใช้ก็จะตกม้าตายเสียเป็นส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างเช่นหากเราเอาฉี่ (ปัสสาวะ) ใส่เข้าไปในจานเพาะเลี้ยงเซลมะเร็ง จะพบว่าฉี่ทำให้เซลมะเร็งหลายชนิดตาย นี่เป็นข้อมูลความจริงจากห้องแล็บ แต่ได้ฟังแค่นี้คุณอย่าผลีผลามไปดื่มฉี่รักษามะเร็งเข้าหละ เพราะข้อมูลแค่นี้มันยังไม่พอ ต้องมีข้อมูลวิจัยการใช้ในร่างกายคนด้วยมันจึงจะหนักแน่นพอ

in vivo หมายถึงวิธีวิจัยทางชีวเคมีที่ทำในร่างกายมนุษย์ ซึ่งเป็นการวิจัยต่อยอดข้อมูลที่ได้จาก in vitro ยกตัวอย่างเช่นเมื่องานวิจัยแบบ in vitro พบว่าสารสกัดเปลือกมังคุดสามารถฆ่าเซลมะเร็งในจานเพาะเลี้ยงได้ ต่อมาก็มีการวิจัยเอาสารสกัดเปลือกมังคุดให้คนไข้กินรักษาโรคมะเร็งปอด งานวิจัยนี้ทำที่ม.เชียงใหม่หลายปีมาแล้ว พบว่าคนไข้ที่กินสารสกัดเปลือกมังคุดมีอัตรารอดชีวิตไม่แตกต่างจากคนไข้ที่กินสารสกัดหลอก แป่ว..ว แปลว่าระดับ in vitro มันโอเค. แต่ระดับ in vivo มันยังไม่โอเค. ดังนั้นการวิจัยแบบ in vivo เป็นรูปแบบการวิจัยที่ดีที่สุด แต่บ่อยครั้งมักจะทำไม่ได้เพราะติดเรื่องจริยธรรมการวิจัย

ex vivo หมายถึงการวิจัยทางชีวเคมีที่ทำโดยตัดเอาชิ้นส่วนหรือเนื้อเยื่อของร่างกายมนุษย์ออกมาเลี้ยงในจานเพาะเลี้ยง แล้วเอาอะไรก็ตามเช่นเชื้อโรคหรือยาใส่เข้าในจานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนั้น เพื่อดูว่าเชื้อโรคจะมีปฏิกริยากับเนื้อเยื่ออวัยวะนั้นของมนุษย์อย่างไร ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในห้องแล็บนะ แต่จะเรียกว่า in vitro เสียทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องราวของเชื้อโรคกับเนื้อเยื่อของคนตัวเป็นๆที่ยังมีชีวิตอยู่จริงๆ แต่จะเรียกว่า in vivo ก็ไม่ได้เพราะเรื่องราวไม่ได้เกิดขึ้นในร่างกายมนุษย์ อย่ากระนั้นเลย เรียกมันว่า ex vivo ก็แล้วกัน ซ.ต.พ.

เซียนที่คิดอ่านทำวิจัยแบบ ex vivo นี้ทำกันครั้งแรกที่ฮ่องกง ตั้งแต่สมัยที่มีโรคอุบัติใหม่ต้องฆ่าเป็ดฆ่าไก่กันเป็นเบือโน่นแหละ ดังนั้นหมอที่ฮ่องกงจึงเก่งเรื่อง ex vivo

พูดถึงหมอฮ่องกง ไม่กี่วันมานี้มหาวิทยาลัยฮ่องกงก็ได้ออกข่าวเล็กๆแต่สำคัญมากชิ้นหนึ่ง เนื้อข่าวมีว่าพวกเขาได้ทำวิจัยแบบ ex vivo ตัดเอาเนื้อเยื่อปอดและหลอดลมของอาสาสมัครมาเพาะเลี้ยง แล้วใส่เชื้อโควิดสายพันธ์ต่างๆรวมทั้งโอไมครอนเข้าไปแล้วก็สรุปการวิจัยว่าโควิดสายพันธ์โอไมครอนเติบโตในเนื้อเยื่อแขนงหลอดลม (bronchus) ได้มากกว่าโควิดสายพันธ์ออริจินอลถึง 70 เท่า แต่ว่าเติบโตในเนื้อเยื่อถุงลม (alveoli) ได้น้อยกว่าสายพันธ์ออริจินอล 10 เท่า ข้อมูลนี้มีความหมายมาก เพราะเป็นเบาะแสทางวิทยาศาสตร์ชิ้นแรกที่บอกกลไกว่าโอไมครอนติดต่อได้ง่ายพรวดพราดเพราะมันอยู่ตื้น แค่หายใจแรงๆก็ออกไปหาคนอื่นได้แล้ว แต่ขณะเดียวกันติดแล้วมันก็จะไม่รุนแรง เพราะความรุนแรงของโรคโควิดนั้นเรารู้มาสองปีแล้วว่าเกิดจากปฏิกริยาตลุมบอน (cytokine storm) ระหว่างเชื้อโรคกับภุมิคุัมกันของร่างกาย สมรภูมิคือในถุงลม (alveoli) ซึ่งเป็นส่วนลึกที่สุดของปอดที่เมื่อเชื้อไปถึงนั่นแล้วยากที่จะออกมาได้มีแต่จะต้องตีกันให้ตายไปข้างหนึ่ง แต่ว่าโอไมครอนไปถึงถุงลมในปอดน้อย โรคโอไมครอนก็จึงเบาๆชิลๆ

in silico อันนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมแถมให้ เพราะอ่านงานวิจัยใหม่ๆก็จะเจอมากขึ้นๆ คำว่า silico ในที่นี้มาจากคำว่า silicon ซึ่งเป็นวัตถุดิบใช้ทำชิพหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์ งานวิจัยแบบ in silico ก็คืองานวิจัยที่ไม่ได้ทำในคนจริงๆหรือแม้แต่ในจานเพาะเลี้ยงหรือในห้องทดลองก็ไม่ได้ทำ แต่เป็นการเอาข้อมูลของชีวมวลใดๆก็ตามไปเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อดูว่าปฏิกริยากับชีวมวลตัวอื่นจะเป็นอย่างไร เช่นเอาสารพิษชนิดหนึ่งไปทำวิจัยแบบ in silico เพื่อดูว่าหากร่างกายได้รับพร้อมกับยาหรือสารพิษตัวอื่นแล้วผลจะเป็นอย่างไร คอมพิวเตอร์บอกให้ได้เพราะมันมีความจำที่เก็บไว้เกี่ยวกับสารทุกตัวในโลกนี้ไว้เป็นจำนวนมากเกินปัญญาที่คนๆหนึ่งหรือหลายๆคนจะเก็บไว้ได้ บางครั้งมันจึงบอกอะไรล่วงหน้าได้ดีมากจนช่วยให้ออกแบบการวิจัยในคนจริงๆได้อย่างกระชับไม่เยิ่นเย้อหรือบาดเจ็บเสียหายโดยไม่จำเป็น

เอวังเรื่อง in vitro, in vivo, ex vivo และ in silico ก็มีด้วยประการฉะนี้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี