นักศึกษาแพทย์เห็นภาพหลอนเป็นรูปศาลเจ้าและเจ้าที่
สวัสดีครับคุณหมอสันต์ ผมมีปัญหาเรื่องบุตรชาย จะขออนุญาตเรียนปรึกษาคุณหมอน่ะครับ
บุตรชายอายุ 20 ปี เป็นนักศึกษาแพทย์ ปีที่ 2 มหาวิทยาลัย … โครงการร่วม … (ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศ … ครับ)
แกมีปัญหาเห็นภาพหลอนเป็นรูปศาลเจ้าที่ต่างๆอยู่แทบจะตลอดเวลา และกลัวว่าจะโดนทำร้าย อาการเป็นหนักมากขึ้นเรื่อยๆ จนรบกวนการเรียน การนอนและการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป
บุตรชายแกคิดว่าแกเป็นโรคจิต OCD ครับ แต่ไม่รู้จะแก้ไขยังไง
ใน case นี้ แนวทางในการรักษาหรือแก้ไข ควรทำอย่างไรดีครับ บุตรชายจะกลับมาจังหวัด … ช่วงปิดเทอม ต้นปีหน้าก็จะกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศ … ครับ ถ้าจะขอความกรุณาคุณหมอรับบุตรชายของผมเป็นคนไข้ประจำของคุณหมอ ไม่ทราบว่าจะเป็นการรบกวนเกินไปหรือไม่ครับผม ผิดพลาดประการใด ผมขออภัยมา ณ ที่นี้ครับ
ขอแสดงความนับถือ
………………………………………………………………………
ตอบครับ
1.. ขอตอบคำถามเรื่องการรับผู้ป่วยใหม่ก่อนนะครับ ว่าหมอสันต์ ณ วันนี้ปลดชราแล้ว ไม่รับดูแลผู้ป่วยแล้ว ได้แต่ให้คำปรึกษาทางบล็อกโดยมีข้อแม้ว่าต้องให้คนทั่วไปได้อ่านด้วยเพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ในการดูแลสุขภาพตนเอง การตอบคำถามแบบตัวต่อตัวก็ไม่รับตอบ ไหนๆพูดมาถึงตรงนี้แล้วขอพูดเลยไปถึงว่าท่านที่เขียนมาแล้วระบุว่าขออย่าเอาจดหมายลงบล็อกนั้น จดหมายของท่านจะไม่ได้รับการตอบเลยไม่ว่าเมื่อใด เพราะผมไม่ตอบจดหมายเป็นการส่วนตัว ให้ท่านรออ่านประเด็นที่ท่านถามเอาจากจดหมายของคนอื่นที่มีเนื้อหาคล้ายๆกันที่ลงให้อ่านในบล็อกก็แล้วกัน
2.. ถามว่าเห็นภาพหลอนเป็นรูปศาลเจ้า รูปเจ้าที่ต่างๆ และกลัวว่าจะโดนทำร้าย เป็นโรค OCD ใช่ไหม ตอบว่าอย่าไปเอาชื่อโรคทางจิตเวชโรคใดโรคหนึ่งมาสะแต๊มป์ให้เป็นตราของตัวเองเลยครับ มันไม่สร้างสรรค์อะไร เพราะเสียงก็ดี ภาพก็ดี (names and forms) จะเราเห็นหรือได้ยินคนเดียว หรือจะมีคนอิ่นร่วมเห็นร่วมได้ยินด้วยหรือไม่ ไม่สำคัญ ทั้งหมดนั้นมันคือ “ความคิด” อย่าไปเรียกว่าเป็นโรคอะไรเลย เอาเป็นว่าเราเป็นคนมีความคิดแยะและซ้ำซากมากเกินความจำเป็น แถมเรายังเผลอไป “อิน” กับความคิดเหล่านั้นเป็นตุเป็นตะจนไม่เป็นอันใช้ชีวิตแบบคนอื่นเขา ความผิดปกติของเรามีอยู่แค่นี้ก็แล้วกัน อย่าเรียกว่าเป็นโรคอะไรเลย
3.. ถามว่าควรมีแนวทางการแก้ไขอย่างใด ตอบว่าสิ่งแรกที่พึงทำคือการไปรักษากับจิตแพทย์ เพราะการมีความคิดแยะเกินไปจนไม่เป็นอันเรียนอันทำงานนั้นมันไม่ใช่โรคทางกาย แต่เป็นโรคทางใจ ซึ่งจิตแพทย์เขาฝึกฝนที่จะรับมือกับโรคแบบนี้อยู่แล้ว
คู่ขนาดไปกับการรับการรักษากับจิตแพทย์ ก็คือการฝึกวางความคิดด้วยตนเอง ในกรณีที่ความคิดมันแยะเกินขนาดอย่างนี้ขั้นตอนแรกก็คือการฝึก “เพิกเฉย” หรือ ignore ความคิดนั้นเสีย หมายความว่าความคิดไหนที่เรารู้อยู่แล้วว่ามันไม่จริงเราก็เพิกเฉยเสีย แต่ถ้าเราไม่รู้ว่ามันจริงหรือไม่จริง เราก็ถามคนข้างๆสิ เช่นถามเพื่อนว่าคุณเห็นศาลเจ้าตั้งอยู่ตรงนั้นไหม ถ้าเพื่อนบอกว่าไม่เห็นก็แสดงว่าศาลเจ้านั้นเป็นของที่เราเห็นคนเดียว เราก็เพิกเฉยต่อภาพนั้นเสีย หรือได้ยินเสียงคนพูดก็ถามเพื่อนว่าคุณได้ยินไหม ถ้าเพื่อนไม่ได้ยิน เราได้ยินชัดๆเหน่งๆอยู่คนเดียว เราก็เพิกเฉยต่อเสียงนั้นเสีย หันมาสนใจอะไรที่มันอยู่ตรงหน้าที่มันเป็นของจริงแน่ๆ อย่างเช่นลมหายใจเข้าออกของเรานี้มันเป็นของจริงๆแน่ๆ เราสนใจตรงนี้อยู่บ่อยๆดีกว่า เทคนิคในการวางความคิดผมตอบไปแล้วบ่อยมาในบล็อกนี้ ให้หาอ่านเอาเอง เช่นที่บทความนี่ วันนี้ผมขอแค่สรุปสั้นๆนะว่าให้ฝึก
(1) ดึงความสนใจ (attention) ออกมาจากความคิด
(2) เอาความสนใจมาอยู่กับลมหายใจเข้าออก (breathing)
(3) ผ่อนคลายร่างกาย (relaxation) ขณะหายใจออกแต่ละครั้ง
(4) รับรู้ความรู้สึกต่างๆบนร่างกาย (body scan)
(5) สังเกตดูความคิด (aware of a thought)
(6) จดจ่อสมาธิ (concentrate) อยู่กับอะไรสักอย่างแบบง่วนอยู่นานๆโดยผ่อนคลายไปด้วย
(7) ถ้าง่วงหรือซึมเซาให้ขยันกระตุ้นตัวเอง (alertness) ให้ตื่นมาอยู่กับเดียวนี้
ให้ฝึกใช้เทคนิคทั้งเจ็ดอย่างสลับสับหว่างกันไปในการวางความคิดด้วยตัวเอง หรือปิดเทอมจะมาเข้า Spiritual Retreat เพื่อฝึกปฏิบัติต่อหน้าผมตรงๆก็ได้
4.. ถามว่าป่วยทางใจอย่างนี้แล้วอนาคตจะเป็นแพทย์ได้หรือ ตอบว่าได้สิครับ คนเรานี้เกิดมามีใครบ้างไม่เคยป่วยทางใจ การเป็นนักศึกษาแพทย์แต่ต้องรับการรักษากับจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องแปลก มีนักศึกษาแพทย์จำนวนมากต้องรับการรักษากับจิตแพทย์ช่วงเรียน แล้วก็จบไปเป็นแพทย์ที่ดีได้ถมถืด ที่ต้องพักการเรียนไปชั่วคราวแล้วกลับมาเรียนใหม่แต่ก็จบไปเป็นแพทย์ได้ก็มี ดังนั้นอย่าไปกังวลถึงวันพรุ่งนี้ อย่าไปสนใจอะไรภายนอกมาก ให้หันเข้าข้างในตัวเอง ฝึกเพิกเฉยหรือวางความคิดซ้ำซากไร้สาระที่เกิดขึ้นในขณะนี้ลงไปเสีย ขณะอื่นไม่ว่าจะเป็นอดีตอนาคตอย่าไปสนใจเลย
ความเป็นคนหนุ่มคนสาวมีจุดเด่นอยู่ที่การมีพลัง attention แยะ แต่มักเผลอเอาพลัง attention นั้นไปขลุกอยู่ในความคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดในลักษณะจินตนาการ ซึ่งเผอิญ 80% เป็นจินตนาการในทางร้าย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมสอนให้เยาวชนฝึกจินตนาการกุเรื่องร้ายๆขึ้นมาจากความไม่มีอะไรเลย เช่นสอนให้เด็กกลัวผี เป็นต้น แนวทางหลักในการแก้ปัญหาจึงต้องโฟกัสอยู่ที่การถอยความสนใจออกมาจากความคิดมาอยู่กับของจริงที่เดี๋ยวนี้ เช่น ลมหายใจ หรือความรู้สึกบนร่างกาย หรืออะไรที่จดจ่อสมาธิได้ที่เดี๋ยวนี้เป็นสำคัญ เมื่อถอยความสนใจออกมาจากความคิดได้ ความย้ำคิดต่างๆมันจะมอดไปเอง เพราะหากปราศจากความสนใจไปให้พลังงานแก่มัน ความคิดจะกลายเป็นหมาน้อยธรรมดาเท่านั้นเอง ไม่มีอำนาจอิทธิพลอะไรที่จะทำให้ใครเป็นบ้าได้หรอก
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์