28 ธันวาคม 2564

PACS โรคต้องสงสัยว่ามุมลูกตาจะปิด

ดิฉันอายุ 64 ปี มองเห็นฟ้าแลบในลูกตาทั้งสองข้างเวลาอยู่ในที่มืดมาประมาณ 1 เดือนแล้ว ไปตรวจกับหมอตาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค PACS และแนะนำให้ผ่าตัดเลเซอร์ LPI เพราะถ้าไม่ผ่าจะกลายเป็นโรคต้อหิน แต่ดิฉันปฏิเสธ อยากถามคุณหมอสันต์ว่าโรค PACS นี้คืออะไร ถ้าทิ้งไว้ไม่ผ่าตัดจะกลายเป็นโรคต้อหินจริงๆกี่เปอร์เซ็นต์ และควรจะดูแลตัวเองอย่างไร

………………………………………………………………….

ตอบครับ

ก่อนที่ผมจะตอบคำถามของคุณ ผมขออธิบายให้คุณและท่านผู้อ่านท่านอื่นที่สนใจเข้าใจเรื่องโรคต้อหินก่อน ในการอธิบายให้คุณนี้ผมจำเป็นต้องใช้ตัวย่อที่วงการจักษุแพทย์เขาใช้กันทั่วไป คุณต้องคอยจำให้ดีนะ ไม่งั้นอ่านไม่รู้เรื่องไม่รู้ด้วย

ประการที่ 1. คุณต้องรู้จักโรคต้อหิน (Glaucoma) ก่อน โรคนี้มีนิยามว่าคือภาวะที่มีสาเหตุซึ่งวงการแพทย์ยังไม่ทราบ ไปทำให้โครงสร้างหรือการทำงานของเส้นประสาทตา (optic nerve) เสียไป ทำให้เส้นประสาทเหี่ยว (atrophy) ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็น โรคนี้ส่วนใหญ่สามารถบรรเทาได้โดยการลดความดันในลูกตา (IOP) ลงให้มากเพียงพอ ดังนั้นหากตรวจพบโรคต้อหินได้ตั้งแต่ระยะแรกจึงมีทางป้องกันไม่ให้ก่อความเสียหายต่อการมองเห็นได้

ประการที่ 2. คุณต้องรู้จักกลไกการเปิดปิดมุมช่องหน้าของลูกตา (angle of anterior chamber) เรื่องมันยาว กล่าวโดยสรุปคือลูกตาของคนเรามีช่องหน้าเลนส์ (anterior chamber) กับช่องหลังเลนส์ ช่องหน้าเลนส์จะมีมุมหรือซอกซึ่งปกติจะเปิดอยู่ (ดูในซีกขวาของภาพประกอบ) ทำให้น้ำเลี้ยงสามารถไหลวนเวียนออกมาจากผนังลูกตาเลียบหน้าเลนส์แล้วอ้อมผ่านม่านตากลับเข้าไปที่เยื่อฟองน้ำ (trabecular meshwork) ที่ยัดซอกอยู่ในมุมได้ นี่เป็นภาวะมุมเปิด (open angle) ซึ่งเป็นภาวะปกติ แต่บางครั้งทั้งๆที่มุมเปิดอยู่เป็นปกติอย่างนี้ก็ยังเกิดโรคต้อหินขึ้นได้ โรคต้อหินชนิดนี้จึงเรียกว่าต้อหินแบบมุมลูกตาเปิด (primary open-angle glaucoma – POAG)

บางครั้งเกิดเหตุให้มุมนี้ตีบแคบหรือปิดลง แล้วมีพังผืดยึดติดม่านตากับแก้วตา (peripheral anterior synechiae – PAS) เป็นการปิดมุมไปเสียเลย ทำให้น้ำเลี้ยงไหลออกมาจากข้างเลนส์แล้วไหลกลับทางเยื่อฟองน้ำ (trabecular meshwork) ไม่ได้ (ดูซีกซ้ายของภาพประกอบ) ทำให้น้ำคั่งอยู่ในช่องหน้าลูกตา ความดันลูกตาสูงขึ้น จนเส้นประสาทตาเสียหาย กลายเป็นโรคต้อหินแบบมุมปิด (primary angle closure glaucoma – PACG)

บางครั้งก็อาจเกิดเหตมุมลูกตานี้ปิดแบบกะทันหัน ความดันลูกตาสูงขึ้นทันทีจนเสียการมองเห็นทันที กลายเป็นโรคต้อหินชนิดมุมลูกตาปิดเฉียบพลัน (acute angle closure glaucoma – AACG) ที่เขาใช้ขู่กันว่าต้อหินทำให้ตาบอดก็มักจะหมายถึงกรณีนี้แหละ

เอาละ คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ

1.. ถามว่าโรค PACS นี้คืออะไร ตอบว่าชื่อเต็มของมันคือ primary angle closure suspect ผมแปลเป็นไทยว่า “โรคต้องสงสัยว่ามุมลูกตาจะปิด” คือมุมลูกตายังไม่ปิด และยังไม่ได้เป็นโรคต้อหินตอนนี้ แค่แพทย์สงสัยว่ามุมลูกตาจะปิด ซึ่งถ้าปิดจริงต่อไปก็จะกลายเป็นโรคต้อหิน โดยวงการแพทย์นิยาม PACS ว่าคือภาวะที่มองไม่เห็นเยื่อฟองน้ำ (trabecular meshwork) ที่มุมลูกตา โดยที่ยังไม่มีพังผิดยึดม่านตากับแก้วตา (no PAS) และความดันลูกตายังปกติ ( normal IOP)

2.. ถามว่าโรคต้องสงสัยว่ามุมลูกตาจะปิดหรือ PACS นี้ ไปภายหน้า มีความเสี่ยงจะเป็นต้อหินแบบมุมปิด (PACG) มากแค่ไหน ตอบว่ามีงานวิจัยติดตามดูซึ่งตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Br J Ophthalmol. สรุปผลได้ว่าความเสี่ยงที่ PACS จะกลายเป็นโรคต้อหินชนิดมุมลูกตาปิด (PACG) ภายในเวลา 5 ปี มีอยู่ 22%

3.. ถามว่าโรคต้องสงสัยว่ามุมลูกตาจะปิดนี้วิธีรักษามาตรฐานเขาทำกันอย่างไร ตอบว่าหากแค่ต้องสงสัย (PACS) ยังไม่มีคำแนนำมาตรฐานว่าควรรักษาอย่างไร ขึ้นกับดุลพินิจของหมอตาแต่ละคนว่าอยากจะรักษาอย่างไร แต่หากมุมลูกตาปิด (PAC) แน่นอนแล้ว หมายถึงว่าเกิดเยื่อพังผืดยึดม่านตาติดกับแก้วตา (PAS) เรียบร้อยแล้ว หรือเป็นต้อหินชนิดมุมลูกตาปิด (PACG) แน่นอนแล้ว วิธีรักษามาตรฐานที่ดีแน่คือเอาเลเซอร์เจาะรูม่านตา (laser irridotomy – LI)

อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกมีความนิยมรักษา PACS โดยใช้เลเซอร์เจาะรูม่านตาแบบป้องกันไว้ก่อน (prophylactic laser irridotomy – PLI) ซึ่งผลที่ได้ยังเป็นข้อโต้แย้งสรุปไม่ลงว่าดีหรือไม่ดี ควรทำหรือไม่ควรทำ มีข้อมูลแย้งกันอยู่ทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งงานวิจัยติดตามดูผู้ป่วยที่เจาะรูม่านตาป้องกันไว้ก่อนพบว่า 16.4% ของผู้ป่วยที่ทำก็ยังเดินหน้าไปเกิดมุมลูกตาปิดและเป็นต้อหินอยู่ดี ในอีกด้านหนึ่งงานวิจัยใหม่ที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Lancet พบว่าการเจาะรูม่านตาช่วยลดการเกิดมุมลูกตาปิดและต้อหินลงได้ 47%เมื่อเทียบกับไม่ทำ เมื่อข้อมูลยังขัดแย้งกันอยู่อย่างนี้ ในภาพรวมปัจจุบันจึงยังไม่มีคำแนะนำมาตรฐาน (guidelines) ว่าควรรักษา PACS ด้วยการใช้เลเซอร์เจาะรูม่านตาป้องกันหรือไม่ ทิ้งไว้ให้เป็นดุลพินิจของจักษุแพทย์แต่ละท่านว่าจะเลือกแนะนำแบบไหนกับคนไข้แต่ละคนเอาเอง

4.. ถามว่าเป็นโรคต้องสงสัยว่ามุมลูกตาจะปิดหรือ PACS นี้แล้ว ควรดูแลตัวเองอย่างไร ตอบว่านอกเหนือไปจากการใช้ยาลดความดันลูกตาและการใช้เลเซอร์เจาะรูม่านตาเพื่อให้น้ำในลูกตาไหลเวียนได้ดีขึ้นแล้ว วงการแพทย์ยังไม่มีข้อมูลว่าผู้ป่วยควรจะทำอะไรด้วยตัวเองเป็นพิเศษบ้างจึงจะมีผลดีต่อโรคนี้ ดังนั้นคำตอบในข้อนี้คือ..ยังไม่ทราบจริงๆครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Thomas R, George R, Parikh R, Muliyil J, Jacob A. Five year risk of progression of primary angle closure suspects to primary angle closure: a population based study. Br J Ophthalmol. 2003;87(4):450-454. doi:10.1136/bjo.87.4.450
  2. Long-term progression after laser peripheral iridotomy in Caucasian primary angle closure suspects.Pearce FC, Thomas R, Wong NJ, Walland MJClin Exp Ophthalmol. 2018 Sep; 46(7):828-830.
  3. Laser peripheral iridotomy for the prevention of angle closure: a single-centre, randomised controlled trial.He M, Jiang Y, Huang S, Chang DS, Munoz B, Aung T, Foster PJ, Friedman DSLancet. 2019 Apr 20; 393(10181):1609-1618.
[อ่านต่อ...]

23 ธันวาคม 2564

วัคซีนเข็มสาม กับยอมติดเชื้อโอไมครอน อย่างไหนดีกว่ากัน

เรียนคุณหมอสันต์

ดิฉันฉีดไฟเซอร์ครบหกเดือนแล้ว ขอเรียนถามว่า ฉีดแอสตร้าเป็นบูสเตอร์โดสจะดีหรือไม่ คืออยากฉีดไขว้น่ะค่ะ เห็นแต่ชวนเชื่อในทางกลับกันว่าแอสตร้าให้ตามด้วยไฟเซอร์จะดีมาก  แต่ไฟเซอร์ตามด้วยแอสตร้าหาข้อมูลไม่เจอ

ขอบคุณค่ะ

………………………………………………………………………

ตอบครับ

จดหมายแบบนี้มีเข้ามาเยอะมาก บ้างถามวัคซีนโน้นตามด้วยวัคซีนนี้แล้วจะตามด้วยวัคซีนนั้นดีไหม บ้างถามว่าต้องเข็มสามเข็มสี่ไหม ผมรวบตอบครั้งนี้คราวเดียวนะ และจะรวบคำถามให้เป็นคำถามเดียวแบบคลาสสิกว่า

“จะเลือกอะไรดี ระหว่างวัคซีนเข็มสามเข็มสี่ กับการติดเชื้อโอไมครอน”

นี่เป็นคำถามคลาสสิกที่รัฐบาลไทยต้องรีบตอบ ซึ่ง ณ ขณะนี้ก็ต้องตอบด้วยวิธีเดาเพราะยังไม่มีการตีพิมพ์ผลวิจัยวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโอไมครอนออกมาแม้แต่ชิ้นเดียว มีแต่การให้ข่าว เมื่อข้อมูลยังไม่ครบก็ต้องเดา หากเดาผิดก็จะพาชาติบ้านเมืองเสียเงินฟรีๆหลายหมื่นล้านบาทเลยเชียว

พูดถึงการเดา สมัยผมหนุ่มๆ จำได้ว่าครั้งหนึ่งเคยถูกครูจับไปทำวิจัย ครูสอนซึ่งเป็นชาวอิสราเอลได้ให้นักเรียนทุกคนทำข้อสอบวงกลมเลือกข้อถูกที่สุดข้อเดียว แต่ว่าเนื้อหาของข้อสอบนั้นเป็นภาษาอะไรก็ไม่รู้ อ่านไม่ออกเลย จะว่าเป็นภาษาลาตินก็ไม่ใช่ เพราะผมเรียนแพทย์ก็พอรู้ภาษาลาตินอยู่บ้าง นักเรียนคนหนึ่งประท้วงว่าอ่านข้อสอบไม่ออกจะทำข้อสอบได้อย่างไร ครูบอกว่าทำได้สิ คนอื่นเขายังทำได้เลย เธอเห็นเพื่อนคนอื่นก้มหน้าวงเอาๆจึงเงียบและก้มหน้าลงทำบ้าง ข้อสอบมีอยู่ 15 ข้อ ผมเดาถูก 14 ข้อ แพ้นักเรียนแพทย์รุ่นน้องคนหนึ่งเขาได้เต็ม 15 ข้อ เหน็ดขนาดจริงๆ ที่เล่าให้ฟังนี้ก็เพื่อให้เห็นคุณค่าของการเดาอย่างมีชั้นเชิง ไม่ใช่รอให้ข้อมูลออกมาครบก่อนแล้วค่อยตัดสินใจ เหมือนที่หมอสาขาอื่นชอบค่อนแคะพยาธิแพทย์ (หมอผ่าศพ) ว่าคุณเก่งคุณรู้ว่าคนไข้เป็นอะไรก็จริง แต่กว่าคุณจะรู้คนไข้ก็ตายไปเรียบร้อยแล้ว หิ หิ

ก่อนจะตอบคำถามคลาสสิกนี้ มันต้องวิเคราะห์ประเด็นต่างๆต่อไปนี้ก่อน

ประเด็นที่ 1. โอไมครอนแพร่ได้เร็วมาก อันนี้แน่นอนแล้ว ไม่ต้องเถียงกัน ข้อมูลของศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐบ่งชี้ว่าโอไมครอนแพร่ได้เร็วกว่าเดลตาซึ่งเป็นแช้มป์ในการแพร่เร็วอยู่แล้ว 1.6 เท่า ข้อมูลบางสำนักให้มากกว่านี้ ดร.ทิม สเปคเตอร์ แห่งองค์กร ZOE ซึ่งทำฐานข้อมูลดีที่สุดในโลกในเรื่องโควิดให้ข้อมูลว่า 69% ของคนติดเชื้อโควิดในอังกฤษตอนนี้เป็นโอไมครอน และประมาณการณ์จากฐานข้อมูล ZOE ว่าทุก 2 คนที่เป็นหวัดในอังกฤษตอนนี้ 1 คนใน 2 คนนั้นเป็นผู้ติดเชื้อโอไมครอน คือมากเท่ากับหวัดหารสองเลยเชียว และอาการหลักของโอไมครอนคือ ปวดหัว เปลี้ย คัดจมูก เจ็บคอ จาม นั้นก็แยกไม่ออกจากอาการหวัด ในสหรัฐอเมริกาเองตอนนี้โอไมครอนก็เป็นสายพันธ์แชมป์แล้ว ประมาณว่าสิ้นเดือนมค.นี้จะแพร่ไปทั่วทุกหัวระแหงของอเมริกาเรียบร้อย

ประเด็นที่ 2. โอไมครอนเล็ดรอดภูมิคุ้มกันได้มาก หรือพูดแบบบ้านๆก็คือโอไมครอนดื้อวัคซีน ข้อมูลของ CDC พบว่าโอไมครอนไม่สนองตอบต่อวัคซีนได้สูงถึง 43% ข้อมูลจากการให้ข่าวทั้งที่อัฟริกาใต้เอง ที่อิสราเอล ที่เนเธอร์แลนด์ ล้วนบ่งชี้ว่าผู้ป่วยฉีดวัคซีนสามเข็มก็ยังติดเชื้อโอไมครอนนี้ได้ กลไกที่มันดื้อนี้ก็ทราบกันดีแล้ว ว่าวัคซีนที่นิยมกันทุกวันนี้นั้นออกแบบให้มุ่งทำลาย spike protein แต่ว่าเชื้อสายพันธ์โอไมครอนนี้เปลี่ยนส่วน spike protein ของมันไปมากที่สุดจนไม่เหมือนวัคซีนเสียแล้ว

ประเด็นที่ 3. ไม่มีวัคซีนไหนในขณะนี้จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ต่อโอไมครอนได้ เพราะวัคซีนที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต่อเชื้อแบบนี้ได้ต้องเป็นวัคซีนที่นอกจากจะถูกรับเข้าร่างกายแล้วออกฤทธิ์ (uptake) ได้เร็วมากแล้ว ยังต้องมีประสิทธิผลระดับ 100% ด้วย ซึ่ง ณ ขณะนี้ไม่มีวัคซีนแบบนั้น ดังนั้นอย่าไปฝันว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต่อโอไมครอนด้วยวัคซีน มันเป็นไปไม่ได้ อ้าว ถ้าหากมันสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต่อโอไมครอนไม่ได้แล้วเราจะฉีดวัคซีนไปทำพรื้อละครับ เพราะในแง่ที่จะให้คนติดโรคไม่ตายง่ายๆนั้นเราก็ฉีดวัคซีนปูพรมครบสองเข็มกันหมดแล้ว วัตถุประสงค์นั้นบรรลุแล้ว ไม่ใช่ประเด็นแล้ว หิ หิ อันนี้เป็นคำถามตั้งค้างไว้ก่อน

ประเด็นที่ 4. ในแง่ประโยชน์ การติดเชื้อจริงให้ภูมิคุ้มกันโควิดมากกว่าฉีดวัคซีนเข็มสาม ในแง่ข้อมูลทางคลินิก งานวิจัยขนาดเล็กที่มหาลัยโอเรกอนเฮลท์ไซน์ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA พบว่าการติดเชื้อจริงหลังได้วัคซีน (breakthrough infection) ให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงว่าการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ (เข็มสาม) ถึง 10 เท่า

ในแง่ข้อมูลทางห้องแล็บ มหาวิทยาลังฮ่องกง ซึ่งเป็นเซียนผู้ริเริ่มทางด้านการวิจัยแบบเอาชิ้นเนื้อมนุษย์มาทดลองในห้องแล็บ (ex vivo) ได้แถลงผลวิจัยใหม่ของตนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าพวกเขาได้ทำวิจัยแบบ ex vivo ตัดเอาเนื้อเยื่อปอดและหลอดลมของอาสาสมัครมาเพาะเลี้ยง แล้วใส่เชื้อโควิดสายพันธ์ต่างๆรวมทั้งโอไมครอนเข้าไปแล้วก็สรุปการวิจัยว่าโควิดสายพันธ์โอไมครอนเติบโตในเนื้อเยื่อแขนงหลอดลม (bronchus) ได้มากกว่าโควิดสายพันธ์ออริจินอลถึง 70 เท่า แต่ว่าเติบโตในเนื้อเยื่อถุงลม (alveoli) ได้น้อยกว่าสายพันธ์ออริจินอล 10 เท่า นี่เป็นเบาะแสทางวิทยาศาสตร์ชิ้นแรกที่บอกกลไกว่าโอไมครอนติดต่อได้ง่ายพรวดพราดเพราะมันอยู่ตื้น แค่หายใจแรงๆก็ออกไปหาคนอื่นได้แล้ว แต่ขณะเดียวกันติดแล้วมันก็จะไม่รุนแรง เพราะความรุนแรงของโรคโควิดนั้นเรารู้มาสองปีแล้วว่าเกิดจากปฏิกริยาตลุมบอน (cytokine storm) ระหว่างเชื้อโรคกับภุมิคุัมกันของร่างกาย สมรภูมิคือในถุงลม (alveoli) ซึ่งเป็นส่วนลึกที่สุดของปอดที่เมื่อเชื้อไปถึงนั่นแล้วยากที่จะไล่ออกมาได้

แล้วมันเกี่ยวอะไรกับวัคซีนตรงไหน ตอบว่ามันเกี่ยวตรงที่ว่าสงครามที่ทำกันในระดับหลอดลมนั้นเป็นการสู้รบกันในสมรภูมิเสมหะ ซึ่งต้องอาศัยโมเลกุลภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่งที่วงการแพทย์เรียกว่า IgA ภูมิคุ้มกันชนิดนี้จะเกิดขึ้นก็ด้วยการติดเชื้อธรรมชาติเท่านั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากวัคซีน วัคซีนจะสร้างภูมิคุ้มกันแบบ IgG และ IgM ซึ่งจะถนัดสมรภูมิในกระแสเลือดมากกว่า ไม่ได้เข้าไปตลุมบอนในเสมหะ

ประเด็นที่ 5. ในแง่ความเสี่ยง วัคซีนเข็มสามกับการติดเชื้อโอไมครอนอะไรเสี่ยงกว่ากัน นี่เป็นคำถามสำคัญสุดยอด แต่การจะตอบต้องเดาเอาจากข้อมูลที่ได้จากการแถลข่าว เพราะผลวิจัยยังไม่มี

ที่อังกฤษ รัฐบาลแถลงว่าตรวจพบโอไมครอนยืนยัน (ถึง 20 ธค. 64) ชัวร์แน่นอนแล้ว 69,147 คน เข้ารพ. 195 คน ในจำนวนนี้เกือบทั้งหมดเป็นการเข้าโรงพยาบาลด้วยโรคอื่น ทั้งหมดนี้ตายไป 18 คน อัตราตาย 0.02% ส่วนใหญ่เป็นการตายด้วยโรคอื่นที่นำไปสู่การรับไว้ในโรงพยาบาล ยังไม่สามารถแยกได้แม้แต่รายเดียวว่าตายจากโอไมครอนเพียวๆ

ที่อัฟริกาใต้ มีการตรวจคัดกรองเชิงรุกวันละ 55,877 คน พบโควิดวันละ 15,424 คน (ได้ผลบวก 27.6%) ในจำนวนนี้ประมาณอย่างน้อยครึ่งหนึ่งเป็นโอไมครอน) ตายวันละ 35 คน เช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่มีโรคนำที่เป็นสาเหตุให้เข้าโรงพยาบาล ยังไม่มีเคสยืนยันว่าตายจากโอไมครอนเพียวๆเลยสักคน แต่ในภาพใหญ่สำหรับอัฟริกาใต้คือนับตั้งแต่มีโอไมครอนมาและจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นพรวดพราด อัตราคนเข้าโรงพยาบาลและอัตราตายรวมไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอนุมานได้ว่าโอไมครอนไม่มีประเด็นในเรื่องอัตราตาย

ที่ออสเตรเลีย ประเทศนี้ได้รับเชื้อโอไมครอนเข้าประเทศมาแล้ว 4 สัปดาห์ รอยเตอร์ให้ข้อมูลว่าหากนับแคว้นวิคตอเรียและนิวเซ้าท์เวลรวมกันสองแคว้นตอนนี้มีเคสโอไมครอนยืนยันในออสเตรเลียแล้ว 5,266 เคส ซึ่งดร.พอล แคลลี่ ประธานแพทย์ของรัฐบาล (CMO) ให้ข่าวชัดเจนแน่นอนว่าไม่ว่าการติดเชื้อจริงในชุมชนในประเทศออสเตรเลียจะมากแค่ไหน แต่นับถึงวันนี้ (21ธค.64) อัตราตายและอัตราเข้าไอซียู.ยังเป็นศูนย์ คือยังไม่มีใครตายเลย

ดังนั้น ผมเดาเอาจากข้อมูลการแถลงข่าวทั้งหมดนี้ว่าอัตราตายของการติดเชื้อโอไมครอนต่ำจนใกล้ศูนย์ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ต่ำพอๆกับการฉีดวัคซีนเข็มสามเข็มสี่ แต่ประสิทธิผลในแง่การสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิดดีกว่า ผมจึงตอบคำถามคุณว่ารอติดเชืัอโอไมครอนน่าจะดีกว่าตะเกียกตะกายไปฉีดวัคซีนเข็มสามเข็มสี่กระมังครับ

คำตอบนี้ของผมกลายเป็นคำถามที่ท้าทายไปถึงรัฐบาลลุงตู่ด้วย ว่าเราจะเลือกใช้ยุทธศาสตร์ไหนในการรับมือกับโอไมครอน นั่นคือเราต้องตอบก่อนว่าจะฉีดเข็มสามเข็มสี่ดีหรือปล่อยให้ติดเชื้อโอไมครอนดี ในการรับมือกับโอไมครอนนี้ผมว่าการรอดูพี่ใหญ่ (สหรัฐอเมริกา) คือเฝ้าเว็บไซท์ของ CDC ว่าเขาทำอะไรแล้ววันรุ่งขึ้นก็เอามาทำของเราบ้าง ผมว่าวิธีนั้นมันไม่เวอร์คหรอกครับ เพราะพูดก็พูดเถอะ วิธีควบคุมโรคของพี่ใหญ่แต่ละจังหวะแต่ละก้าวนั้นหากพูดภาษาจิ๊กโก๋ก็ต้องใช้คำว่า … ตูละเบื่อ (หิ หิ ขอโทษ) ไทยเราต้องใช้ยุทธศาสตร์ของเรา เพราะผลงานในอดีตที่ผ่านมาของเราดีกว่าของพี่ใหญ่ตลอดมานะ อย่าลืม ท่านจะตัดสินใจใช้ยุทธศาสตร์ไหนมันเป็นดุลพินิจของท่าน แต่ในโอกาสนี้ผมขอเสนอยุทธศาสตร์ “ปล่อยมันไปก่อน” ภาษาแพทย์เขาเรียกว่า permissive strategy หมายความว่าในสถานะการปกติสิ่งนี้เป็นสิ่งผิดปกติต้องแก้ไข แต่ในสถานะการณ์นี้การปล่อยมันไปก่อนอาจจะกลับดีกว่า อุปมาอุปไมยประกอบการอธิบายศัพท์ให้ลุงตู่เข้าใจ สมัยผมเป็นหมอหนุ่มๆทำงานห้องฉุกเฉิน คนไข้บาดเจ็บหนักเลือดไหลโชกกว่าจะห้ามเลือดได้แทบตาย ความดันต่ำเตี้ยระดับพอไปได้เช่น 80/50 เลือดก็ยังไม่มี ห้องผ่าตัดก็ยังไม่พร้อม ในสถานะการณ์ปกติความดันขนาดนี้ ผมต้องอัดน้ำเกลือให้ความดันขึ้น แต่ในสถานะการณ์นี้หากผมทำอย่างนั้นความดันขึ้นมาอาจดันให้เลือดไหลโกรกออกมาอีกแล้วคนไข้อาจจะตายเพราะเลือดหมดตัว ผมก็จึงต้องเลือกใช้ permissive strategy คือปล่อยให้ความดันมันต่ำของมันไปก่อน จนกว่าซ้ายจะพร้อมขวาจะพร้อมจึงค่อยมาแตกหักกัน อย่างนี้เป็นต้น

Permissive strategy ในการรับมือโควิดโอไมครอนนี้คืออย่างไร ก็คือเฉยไว้ก่อนยังไม่ต้องตื่นเต้ล..ล ปล่อยให้การติดเชื้อมันกระจายออกไป แล้วตามดูอัตราการใช้เตียงไอซียู.ว่ามันยังหย่อนอยู่หรือมันเริ่มตึง ถ้ามันยังหย่อนอยู่ก็ปล่อยมันให้มากขึ้นอีก นี่เป็นยุทธศาสตร์การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต่อโรคโควิดแบบเนียนๆโดยอาศัยเชื้อที่แพร่เร็วแต่อัตราตายต่ำอย่างโอไมครอนมาทำหน้าที่แทนวัคซีน หากปล่อยไปสักพักแล้วเตียงมันตึง เราก็ค่อยมาปรับยุทธศาสตร์ใหม่ ไม่ต้องกลัวหรอกครับว่าเตียงมันจะตึงขึ้นมาพรวดพราด เพราะหากเราอาศัยชั้นเชิงการเดาข้อสอบมาเดาเอาจากข้อมูลที่แพล็มออกมาจากทั่วโลกนับถึงวันนี้ โอกาสที่มันจะตึงพรวดพราดนั้นเป็นไปได้น้อยมาก ภาษาหมอเขาเรียกว่า “very unlikely” ซึ่งข้อมูลแค่นี้ก็พอแล้ว คุณลุงเชื่อไหมครับ ที่พวกหมอเขาหากินรักษาโรคต่างๆกันอยู่ทุกวันนี้ เขาอาศัยการเดาแบบนี้ทั้งนั้นแหละ ไม่มีเสียหรอกที่ผลการตรวจวิเคราะห์จะชี้ชัดให้ตัดสินใจได้ง่ายๆว่าเป็นโรคนั้นโรคนี้ผลัวะๆๆๆ โถ ถ้าเป็นอย่างนั้นหมอถูกคอมพิวเตอร์แทนที่ไปนานแล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 1. (26 ธค. 64)

การไม่ฉีดวัคซีนเข็มสามจะไม่ทำให้ได้รับอันตรายจากการติดเชื้ออื่นๆหรือครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฉีดวัคซีนไปแล้วนานๆ

ตอบครับ

นับถึงวันนี้ยังไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าการฉีดวัคซีนโควิดเข็มสามจะลดอัตราตายจากโรคโควิดลงได้นะครับ องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงยังไม่ได้แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มสามยกเว้นในคนไข้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง (immunocompromised) ที่วัคซีนสองเข็มแรกยังกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ไม่มากพอ

ประเด็นที่ว่าเมื่อฉีดเข็มสองนานไปแล้วภูมิคุ้มกันอาจจะดร็อปลงถึงขีดอันตรายนั้น หลักฐานที่มีนับถึงวันนี้ยังบ่งชี้ว่าวัคซีนสองเข็มยังคงลดอัตราป่วยรุนแรงและอัตราตายได้ดีอยู่นะครับแม้เวลาจะผ่านไปนานหลายเดือนแล้ว ยังไม่มีข้อมูลว่าฉีดเข็มสองนานไปแล้วจะป่วยและตายมากขึ้นเลย ดังนั้นหากถือตามหลักฐานวิทยาศาสตร์นับถึงวันนี้สำหรับคนทั่วไป (ที่ไม่ได้เป็นโรคภูมิคุ้มก้นบกพร่อง) วัคซีนสองเข็มก็เพียงพอแล้วครับ เว้นเสียแต่จะมีหลักฐานอัตราตายใหม่ๆที่ผมไม่ทราบ ซึ่งถ้ามีและใครทราบก็ช่วยบอกผมเอาบุญด้วย

จดหมายจากผู้อ่าน 2.

อาจารย์ไม่ได้พูดถึงสถิติการตายของอัฟริกาใต้ให้ละเอียดเหมือนอังกฤษ อาจารย์มีตัวเลขไหมครับ เพราะที่อัฟริกาเรื่องเกิดก่อนจบก่อน อัตราตายของที่นั่นน่าจะมีความหมาย

ตอบครับ

มีครับ ข้อมูลพวกนี้ผมเอามาจาก data sheet ของจอห์นฮอพคินและของรัฐบาลอัฟริกาเอง ผมสรุปให้โดยแบ่งเป็นสองช่วง และแยกให้เห็นเดลต้ากับโอไมครอน

ในแง่ของอัตรตาย ของเดลต้า ข้อมูลช่วง1มิย-31กค.64 (ช่วงนั้นมีแต่เดลต้า) มีผู้ป่วยเดลต้าเกิดขึ้น 781,837 คน เข้ารพ. 96,623 คน (12.35%) ตาย 15,507 คน (1.98%) หากเปรียบเทียบกับช่วงเดือนธค.64 (ซึ่ง 92% เคสเป็นโอไมครอน) มีคนป่วย 406,210 คน ตาย 673 คน (0.16%) คือโอไมครอนมีอัตราตายต่ำกว่าเดลต้า 77 เท่า

ในแง่ของการต้องรับเข้ารักษาในรพ. ช่วง1ตค-30พย.64 มีผู้ป่วยเดลต้าเกิดขึ้น 948 คน เข้ารพ. 121 คน (12.8%) ในขณะเดียวกัน มีผู้ป่วยโอไมครอนเกิดขึ้น 10,547 คน เข้ารพ. 261 คน (2.5%) จะเห็นว่าอัตราต้องเข้ารพ.ของโอไมครอนต่ำกว่าของเดลต้า 6 เท่า

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

21 ธันวาคม 2564

Ex Vivo หมายความว่าอย่างไร

อาจารย์คะ

หนูเป็นพยาบาลอยู่ที่ … ที่พยายามตามอ่านงานวิจัยเพื่อฝึกประเมินหลักฐานวิทยาศาสตร์ด้วยตัวเองตามที่อาจารย์แนะนำในบล็อก ไม่ใช่เพราะหนูเชื่ออาจารย์อย่างเดียวหรอกนะคะ แต่เป็นเพราะบ่อยครั้งที่คนไข้เอาผลวิจัยในอินเตอร์เน็ทมาคุยกับหนูทำให้หนูต้องตามคนไข้ให้ทันเพราะเบื่อที่จะเห็นแววตาสงสารจากคนไข้ว่าพยาบาลช่างไร้เดียงสาทางวิชาการเสียนี่กระไร อาจารย์ช่วยอธิบายคำว่า ex vivo ให้หนูหน่อย หนูรู้จัก in vivo รู้จัก in vitro แต่หนูไม่รู้จัก ex vivo ค่ะ

…………………………………………………………………

ตอบครับ

เป็นคำถามหญ้าปากคอกสำหรับคนในวงการแพทย์ แต่ผมเห็นว่ามีประโยชน์กับท่านผู้อ่านทั่วไป จึงหยิบมาตอบ โดยจะอธิบายทุกคำในเรื่องนี้

in vitro หมายถึงวิธีวิจัยทางชีวเคมีที่ทำการวิจัยทั้งหมดในห้องทดลองหรือในจานเพาะเลี้ยงแบคทีเรีย โดยไม่ยุ่งกับร่างกายมนุษย์เลย เช่นการเอาแบคทีเรียชนิดหนึ่งมาเพาะเลี้ยงในจานเพาะเลี้ยง แล้วหยอดยาปฏิชีวนะลงไป เพื่อดูว่าแบคทีเรียชนิดนั้นจะสนองตอบ (แปลว่าตาย) หลังจากโดนยาปฏิชีวนะชนิดนั้นหรือเปล่า อย่างนี้เรียกว่าเป็นงานวิจัยแบบ in vitro

ในวงการแพทย์เป็นที่รู้กันดีว่าเรื่องราวที่ได้มาจากการทำวิจัยแบบ in vitro จะด่วนสรุปเป็นตุเป็นตุว่าผลวิจัยนั้นจะเอาไปใช้กับร่างกายคนทันทีไม่ได้ เพราะสิ่งแวดล้อมในห้องแล็บหรือในจานเพาะเลี้ยงแตกต่างจากสิ่งแวดล้อมในร่างกายคนจริงๆ หากรีบร้อนเอาไปใช้ก็จะตกม้าตายเสียเป็นส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างเช่นหากเราเอาฉี่ (ปัสสาวะ) ใส่เข้าไปในจานเพาะเลี้ยงเซลมะเร็ง จะพบว่าฉี่ทำให้เซลมะเร็งหลายชนิดตาย นี่เป็นข้อมูลความจริงจากห้องแล็บ แต่ได้ฟังแค่นี้คุณอย่าผลีผลามไปดื่มฉี่รักษามะเร็งเข้าหละ เพราะข้อมูลแค่นี้มันยังไม่พอ ต้องมีข้อมูลวิจัยการใช้ในร่างกายคนด้วยมันจึงจะหนักแน่นพอ

in vivo หมายถึงวิธีวิจัยทางชีวเคมีที่ทำในร่างกายมนุษย์ ซึ่งเป็นการวิจัยต่อยอดข้อมูลที่ได้จาก in vitro ยกตัวอย่างเช่นเมื่องานวิจัยแบบ in vitro พบว่าสารสกัดเปลือกมังคุดสามารถฆ่าเซลมะเร็งในจานเพาะเลี้ยงได้ ต่อมาก็มีการวิจัยเอาสารสกัดเปลือกมังคุดให้คนไข้กินรักษาโรคมะเร็งปอด งานวิจัยนี้ทำที่ม.เชียงใหม่หลายปีมาแล้ว พบว่าคนไข้ที่กินสารสกัดเปลือกมังคุดมีอัตรารอดชีวิตไม่แตกต่างจากคนไข้ที่กินสารสกัดหลอก แป่ว..ว แปลว่าระดับ in vitro มันโอเค. แต่ระดับ in vivo มันยังไม่โอเค. ดังนั้นการวิจัยแบบ in vivo เป็นรูปแบบการวิจัยที่ดีที่สุด แต่บ่อยครั้งมักจะทำไม่ได้เพราะติดเรื่องจริยธรรมการวิจัย

ex vivo หมายถึงการวิจัยทางชีวเคมีที่ทำโดยตัดเอาชิ้นส่วนหรือเนื้อเยื่อของร่างกายมนุษย์ออกมาเลี้ยงในจานเพาะเลี้ยง แล้วเอาอะไรก็ตามเช่นเชื้อโรคหรือยาใส่เข้าในจานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนั้น เพื่อดูว่าเชื้อโรคจะมีปฏิกริยากับเนื้อเยื่ออวัยวะนั้นของมนุษย์อย่างไร ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในห้องแล็บนะ แต่จะเรียกว่า in vitro เสียทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องราวของเชื้อโรคกับเนื้อเยื่อของคนตัวเป็นๆที่ยังมีชีวิตอยู่จริงๆ แต่จะเรียกว่า in vivo ก็ไม่ได้เพราะเรื่องราวไม่ได้เกิดขึ้นในร่างกายมนุษย์ อย่ากระนั้นเลย เรียกมันว่า ex vivo ก็แล้วกัน ซ.ต.พ.

เซียนที่คิดอ่านทำวิจัยแบบ ex vivo นี้ทำกันครั้งแรกที่ฮ่องกง ตั้งแต่สมัยที่มีโรคอุบัติใหม่ต้องฆ่าเป็ดฆ่าไก่กันเป็นเบือโน่นแหละ ดังนั้นหมอที่ฮ่องกงจึงเก่งเรื่อง ex vivo

พูดถึงหมอฮ่องกง ไม่กี่วันมานี้มหาวิทยาลัยฮ่องกงก็ได้ออกข่าวเล็กๆแต่สำคัญมากชิ้นหนึ่ง เนื้อข่าวมีว่าพวกเขาได้ทำวิจัยแบบ ex vivo ตัดเอาเนื้อเยื่อปอดและหลอดลมของอาสาสมัครมาเพาะเลี้ยง แล้วใส่เชื้อโควิดสายพันธ์ต่างๆรวมทั้งโอไมครอนเข้าไปแล้วก็สรุปการวิจัยว่าโควิดสายพันธ์โอไมครอนเติบโตในเนื้อเยื่อแขนงหลอดลม (bronchus) ได้มากกว่าโควิดสายพันธ์ออริจินอลถึง 70 เท่า แต่ว่าเติบโตในเนื้อเยื่อถุงลม (alveoli) ได้น้อยกว่าสายพันธ์ออริจินอล 10 เท่า ข้อมูลนี้มีความหมายมาก เพราะเป็นเบาะแสทางวิทยาศาสตร์ชิ้นแรกที่บอกกลไกว่าโอไมครอนติดต่อได้ง่ายพรวดพราดเพราะมันอยู่ตื้น แค่หายใจแรงๆก็ออกไปหาคนอื่นได้แล้ว แต่ขณะเดียวกันติดแล้วมันก็จะไม่รุนแรง เพราะความรุนแรงของโรคโควิดนั้นเรารู้มาสองปีแล้วว่าเกิดจากปฏิกริยาตลุมบอน (cytokine storm) ระหว่างเชื้อโรคกับภุมิคุัมกันของร่างกาย สมรภูมิคือในถุงลม (alveoli) ซึ่งเป็นส่วนลึกที่สุดของปอดที่เมื่อเชื้อไปถึงนั่นแล้วยากที่จะออกมาได้มีแต่จะต้องตีกันให้ตายไปข้างหนึ่ง แต่ว่าโอไมครอนไปถึงถุงลมในปอดน้อย โรคโอไมครอนก็จึงเบาๆชิลๆ

in silico อันนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมแถมให้ เพราะอ่านงานวิจัยใหม่ๆก็จะเจอมากขึ้นๆ คำว่า silico ในที่นี้มาจากคำว่า silicon ซึ่งเป็นวัตถุดิบใช้ทำชิพหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์ งานวิจัยแบบ in silico ก็คืองานวิจัยที่ไม่ได้ทำในคนจริงๆหรือแม้แต่ในจานเพาะเลี้ยงหรือในห้องทดลองก็ไม่ได้ทำ แต่เป็นการเอาข้อมูลของชีวมวลใดๆก็ตามไปเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อดูว่าปฏิกริยากับชีวมวลตัวอื่นจะเป็นอย่างไร เช่นเอาสารพิษชนิดหนึ่งไปทำวิจัยแบบ in silico เพื่อดูว่าหากร่างกายได้รับพร้อมกับยาหรือสารพิษตัวอื่นแล้วผลจะเป็นอย่างไร คอมพิวเตอร์บอกให้ได้เพราะมันมีความจำที่เก็บไว้เกี่ยวกับสารทุกตัวในโลกนี้ไว้เป็นจำนวนมากเกินปัญญาที่คนๆหนึ่งหรือหลายๆคนจะเก็บไว้ได้ บางครั้งมันจึงบอกอะไรล่วงหน้าได้ดีมากจนช่วยให้ออกแบบการวิจัยในคนจริงๆได้อย่างกระชับไม่เยิ่นเย้อหรือบาดเจ็บเสียหายโดยไม่จำเป็น

เอวังเรื่อง in vitro, in vivo, ex vivo และ in silico ก็มีด้วยประการฉะนี้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

20 ธันวาคม 2564

เชิญแฟนบล็อกหมอสันต์เข้าร่วม Asian Plant-Based Nutrition Health Care Conference

ในวันที่ 22 มค. 65 หมอสันต์จะร่วมบรรยายในการประชุม (virtual) Asian Plant-Based Nutrition Healthcare Conference ซึ่งเป็นการประชุมเรื่องนี้ครั้งแรกในเอเซีย เป็นความร่วมมือระหว่างเวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์กับองค์กร The Plantician Project ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา งานนี้ ถ้าไม่นับตัวหมอสันต์ซึ่งโนเนมในเวทีโลก การประชุมครั้งนี้ได้รวบรวมเอาคนที่ล้วนดังระดับโลกในเรื่องอาหารพืชเป็นหลักมาให้ความรู้แก่ผู้ฟังซึ่งเป็นทั้งแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และคนทั่วไป ทั่วทวีปเอเซียและทั่วโลก คนดังเหล่านั้นได้แก่

  1. Dr.Dean Ornish ซึ่งเป็นผู้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้อาหารพืชเป็นหลักรักษาโรคหัวใจมานาน งานวิจัยของเขาเป็นหลักฐานวิทยาศาสตรที่หนักแน่น จนรัฐบาลอเมริกันออกกฎหมายยอมรับให้การไปเข้าแค้มป์ฟื้นฟูหัวใจ (เหมือนอย่างแค้มป์ที่หมอสันต์ทำที่เวลเนสวีแคร์ทุกวันนี้) สามารถเบิกเงินจากเมดิกเอดและเมดิกแคร์ (เทียบเท่าสามสิบบาทและประกันสังคมของเรา) ได้ นอกจากนี้เขายังได้ร่วมกับแพทย์สาขามะเร็งวิทยาทำวิจัยการใช้อาหารพืชเป็นหลักรักษามะเร็งอีกมากด้วย
  2. Dr. Kim Williams ประธานวิทยาลัยแพทย์โรคหัวใจอเมริกัน (American College of Cardiology – ACC) ผู้ซึ่งหันมาใช้แนวทางอาหารพืชเป็นหลักรักษาโรคหัวใจขาดเลือดให้ผู้ป่วยเพราะตัวเองป่วยเป็นไขมันในเลือดสูงทำอย่างไรก็ไม่ลง มาลงเอาเมื่อทำตัวกินอาหารพืชเป็นหลักเลียนแบบคนไข้ของตัวเอง เขายังเป็นผู้มีบทบาทสูงในการให้คำแนะนำการรักษาโรคหัวใจของ ACC ออกมาในทิศทางพึ่งอาหารพืชเป็นหลักด้วย
  3. Cyrus Khambatta PhD. คนดังที่เปิดเว็บรักษาโรคเบาหวานทางอินเตอร์เน็ท ตัวเขาเองเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 1 ทำอย่างไรก็ไม่หายมาหายด้วยอาหารพืชเป็นหลัก เขาได้ทำวิจัยเพิ่มเติม แล้วอุทิศชีวิตให้กับการเผยแพร่วิธีรักษาเบาหวานด้วยอาหารพืชเป็นหลัก เว็บไซท์ของเขามีผู้ป่วยลงทะเบียนรักษาด้วยเป็นเรือนหมื่นเรือนแสนทั่วโลก
  4. Dr. Dean Sherzai และ Dr. Ayesha Sherzai สองสามีภรรยาแพทย์และนักวิจัยทางด้านประสาทวิทยาเพื่อรักษาโรคสมองเสื่อม หลังจากทำวิจัยยารักษาสมองเสื่อมด้วยการค้นหายาใหม่ๆมานานหลายสิบปีจนมาจบที่การรักษาสมองเสื่อมด้วยอาหารพืชเป็นหลัก ทั้งสองคนย้ายมาทำงานและทำวิจัยที่โลมาลินดา ซึ่งเป็นเมืองของคนกินพืชเนื่องจากคนที่นั่นนับถือศาสนาเซเวนเดย์แอดเวนทิส เพื่อจะได้ทำวิจัยให้ถนัด ทั้งคู่มีชื่อเสียงทางด้านสมองมากสุดๆระดับโลกในทุกวันนี้
  5. Dr.Alan Desmond แพทย์โรคทางเดินอาหารคนดังระดับโลกที่มีงานวิจัยและงานเขียนหนังสือการรักษาโรคทางเดินอาหารด้วยการใช้อาหารพืชเป็นหลัก ผู้เป็นเจ้าของสโลแกน “ถ้าลำไส้คุณแฮปปี้ คุณก็สุขภาพดี (Happier gut, healthier you”
6. Dr Reshma Shah กุมารแพทย์และคุณแม่ตัวจริงที่เลี้ยงดูทุกคนในครอบครัวและลูกๆด้วยอาหารแบบพืชเป็นหลัก เธอเขียนหนังสือขายดีชื่อ Nourish ในการประชุมครั้งนี้เธอจะไขข้อข้องใจและแสดงหลักฐานวิทยาศาสตร์ทั้งหมดเกี่ยวกับการใช้อาหารพืชเป็นหลักเลี้ยงเด็กตั้งแต่เล็กจนโต7. Dr.Scott Stoll แพทย์ผู้มากประสบการในการใช้อาหารพืชเป็นหลักรักษาโรค เขาเป็นทั้งหลวงพ่อเทศน์ในโบสถ์ ผู้ให้ความรู้คนไข้ และผู้บริหารโครงการ The Plantician Project ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงกำไรที่มุ่งให้ความรู้แก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลกให้รู้ความจริงเกี่ยวกับหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนการใช้อาหารพืชเป็นหลักในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค องค์กรนี้จัดประชุมสอนแพทย์และบุคลากรทั่วโลกปีละครั้งมาแล้ว 10 ครั้ง ครั้งสุดท้ายก่อนโควิดที่ผมไปร่วมด้วยมีคนทั่วโลกมาร่วมสองพันกว่าคน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ The Plantician Project มาร่วมกับศูนย์เวลเนสวีแคร์ (WWC) จัดประชุมเพื่อภูมิภาคเอเซียดังนั้นการประชุมในวันที่ 22 มค. 65 นี้จึงครบเครื่อง แน่นปึ๊ก ครอบคลุมทุกด้านทุกมุมของการใช้อาหารพืชเป็นหลักมาดูแลสุขภาพ ตัวหมอสันต์เองจะพูดในเรื่องอาหารพืชเป็นหลักกับภูมิคุ้มกันโรค ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถเก็บเอาบันทึกการประชุมไว้ดูในแบบ VDO On Demand ได้นานไปอีก 1 ปี ดังนั้นหมอสันต์ขอถือโอกาสนี้เชิญชวนแฟนบล็อกทุกท่านที่ถนัดการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษผ่านอินเตอร์เน็ทเข้าร่วมประชุมสัมนาครั้งนี้ ค่าลงทะเบียนเข้าร่วมฟังสัมมนา ท่านละ 95 USD โดย

**สำหรับ Followers เพจ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ รับ code คูปองส่วนลด 50% จำนวน 20 ท่าน โดยติดต่อรับที่ Line @wellnesswecare แจ้งว่า “มาจากเพจหมอสันต์ขอรับ code ส่วนลด 50% งาน Asian Plant-Based Nutrition Healthcare Conference “  ** อันนี้เป็นเส้นของเวลเนสวีแคร์ ซึ่งขอสงวนสิทธิ์เฉพาะ สำหรับ 20 คนแรกเท่านั้น

➡️ลงทะเบียนคลิก ➡️ https://asianpbnhc.com/

#APBNHC #PlantricianProject #PlantBasedDoctors #VeganDoctor #WFPB #wellnesswecare #megawecare

แอ่น แอ้น แอ๊น..น์ จบการโฆษณาเพียงเท่านี้ สวัสดี หิ หิ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

19 ธันวาคม 2564

เวลาของหนูเหลือไม่มาก คุณหมอมีอะไรจะแนะนำไหมคะ

เวลาของหนูเหลือไม่มาก คุณหมอมีอะไรจะแนะนำไหมคะ หนูเป็นมะเร็งปอดระยะที่สี่ลามไปเต้านมและกระดูก การรักษาทำมาหมดทุกอย่างแล้วจนหนูตัดสินใจหยุดการรักษาเอง ตอนนี้เกือบจะติดเตียงอยู่แล้วแต่ว่าหนูยังพยายามพยุงตัวนั่งรถเข็นออกไปนอกสนามทุกเช้า หนูเป็นนักวิชาชีพทำงานด้าน … มาตลอด ไม่เคยสนใจเรื่อง spiritual ตอนนี้หนูรู้ว่าเวลาของหนูเหลือไม่มาก คุณหมอมีอะไรจะแนะนำหนูแบบสำหรับคนที่อ่อนหัดด้าน spiritual ไหมคะ

…………………………………………………………………….

ตอบครับ

ไม่ว่าจะแก่หัดหรืออ่อนหัด ไม่ว่าจะมีเวลาเหลือมากหรือเหลือน้อย (who knows?) คำแนะนำของผมก็เหมือนกันหมดละครับ ว่า..

ขั้นที่ 1. ต้องรู้จักกับความรู้ตัวก่อน เมื่อออกไปนอกสนามหญ้าในตอนเช้า ให้นั่งลงแบบปล่อยทุกอย่างไป แบบนั่งธรรมดา หรือนั่งฝึกสมาธิ (meditation) ก็ได้ คือถอยความสนใจออกจากความคิดมาสนใจลมหายใจแทน เมื่อมีความคิดแทรกเข้ามาก็รับรู้ว่ามีความคิดแล้วรีบดึงความสนใจออกจากความคิดนั้นกลับมาสนใจลมหายใจใหม่ ไม่ว่านั่งยืนเดินนอนหรือทำกิจอะไรอยู่ก็ทำแบบเดียวกัน คือแค่ปล่อยทุกอย่างไป ไม่สนใจความคิด แต่สนใจลมหายใจแทน รู้ว่าตัวเองกำลังหายใจเข้าหรือหายใจออกจากการที่มีลมผ่านรูจมูก หรือที่หน้าอกกระเพื่อมขึ้นลง หรือที่ท้องพองออกยุบเข้า ขยันทำอย่างนี้ไปทุกวันทุกเวลา ความคิดที่โผล่ขึ้นมาถี่ๆจะค่อยๆห่างออกไป ช่องว่างระหว่างความคิดที่ผ่านไปแล้วกับที่ยังไม่โผล่มาจะกว้างขึ้นๆ ตรงช่องว่างระหว่างความคิดนี่แหละ ซึ่งผมเรียกมันว่าความรู้ตัว มันเป็นโมเมนต์ที่สบายๆ ไม่มีความคิด แต่ตื่นอยู่ รู้ตัวอยู่ คุณต้องรู้จักตรงนี้ก่อน ต้องรู้จักความรู้ตัวก่อน เพราะมันสำคัญมาก เพราะการใช้ชีวิตต่อแต่นี้ไปคุณต้องใช้ชีวิตจากตรงนี้ จากความรู้ตัว ไม่ใช่ใช้ชีวิตจากความคิด การจะเข้ามาให้ถึงความรู้ตัวเป็นเรื่องง่ายมาก เพราะความรู้ตัวเป็นธรรมชาติชั้นในของเรา เพียงแค่วางความคิดซึ่งเป็นของชั้นนอกไปและตื่นอยู่ไม่หลับ เราก็มาอยู่ในความรู้ตัวแล้วเรียบร้อย แต่จะอยู่ได้แค่แป๊บเดียวก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยเราก็ได้รู้จักแล้ว

ขั้นที่ 2. ให้เริ่มสังเกตและตีทะเบียนความคิด คราวนี้คุณปักหลักอยู่ที่ความรู้ตัวและที่ลมหายใจแบบผ่อนคลายสบายๆ ถ้ามีความคิดโผล่ขึ้นมา แทนที่จะรีบหันหลังให้มันทันทีแต่คราวนี้ให้คุณสนใจมันขึ้นอีกหน่อย อย่างน้อยก็สนใจว่ามันเป็นเรื่องอะไร คือจับหัวเรื่องของมันได้ ถึงแม้คุณจะทันเห็นความคิดแค่เห็นก้นมันไวๆเท่านั้นก็ไม่เป็นไร เป็นธรรมดาที่เมื่อเราสนใจสังเกตดูมันความคิดมันจะฝ่อหายไป เมื่อจับหัวเรื่องหรือ title ของแต่ละความคิดเป็นแล้ว คราวนี้ให้เพิ่มอีกหน่อย คือให้จัดหมวดหมู่ให้มันด้วย เช่นถ้าเป็นเรื่องเก่าๆก็จัดเข้าในหมวด “ความทรงจำ” ถ้าเป็นความกังวลถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึงก็จัดเข้าในหมวด “จินตนาการ” ถ้าเป็นเรื่องมุ่งจะปกป้องหรือเชิดชูองค์ของตัวเองจ๋ามาเลยก็ใส่เข้าหมวด “ตัวกูของกู” ถ้าเป็นความคิดเปะปะจนไล่ตามดูไม่ทันก็จัดเข้าหมวด “ฟุ้งสร้าน” ทุกวันเวลาที่ผ่านไปแต่ละนาที ให้ขยันสังเกตและจัดหมวดตีทะเบียนความคิด ความคิดไหนที่จัดเข้าหมวด ความทรงจำ หรือจินตนาการ หรือตัวกูของกู หรือความคิดฟุ้งสร้าน ให้ดีดทิ้งคือเลิกยุ่งด้วยทันที เพราะทั้งสี่หมวดนี้ล้วนเป็นความคิดไร้สาระที่เราไม่ควรไปเสียเวลาด้วย ทุกความคิดให้สังเกตตั้งชื่อจัดหมวดหมู่ตีทะเบียนเพียงความคิดละหนึ่งครั้งเท่านั้น ครั้งต่อไปถ้าความคิดเดิมนั้นกลับมาอีกเราก็รู้แล้วว่าชื่ออะไรอยู่หมวดไหน ถ้าเป็นคนหน้าเดิมในสี่หมวดนี้ก็ดีดทิ้งทันที ไม่ต้องเสียเวลาไปสอบสวนอีก ทำอย่างนี้ไปทุกวัน กับทุกความคิด ความคิดที่ถูกดีดทิ้งไปจะค่อยๆห่างออกไปไม่กลับมาเสนอหน้าถี่อย่างเคย จนในที่สุดจะมีความคิดโผล่ขึ้นมาในความรู้ตัวน้อยลงๆ ชีวิตในแต่ละวันจะอยู่กับความรู้ตัวและอยู่กับลมหายใจได้มากขึ้นๆ

ขั้นที่ 3. ให้สนใจเมื่อลมหายใจหายไป หรือเมื่อกำลังจะหลับ คนเราเมื่อสนใจติดตามดูลมหายใจต่อเนื่องไปแบบสบายๆโดยไม่ยุ่งกับความคิด แค่เกาะติดลมหายใจไม่ยอมปล่อย ลมหายใจจะแผ่วลงๆ ในที่สุดลมหายใจจะหายไป แต่ความรู้ตัวยังอยู่ บางครั้งการรับรู้ร่างกายก็ดูเหมือนจะรับรู้ไม่ได้ด้วย แต่ลมหายใจยังอยู่ ให้ปล่อยให้รู้ตัวอยู่แบบว่างๆอย่างนี้แหละไปนานเท่าที่มันจะไปของมันได้ ตรงนี้มันมีประโยชน์สองอย่าง หนึ่ง คือมันทำให้เราคุ้นเคยกับการรู้ตัวอยู่โดยไม่มีร่างกาย ทำให้เราไม่กลัวที่จะไม่มีร่างกายนี้ ไม่กลัวเมื่อร่างกายนี้ต้องตายไป สอง คือการรู้ตัวอยู่ในภาวะที่ไม่มีความคิดนานๆ ความสนใจจะได้อยู่กับความรู้ตัว (aware of awareness) ซึ่งเป็นโมเมนต์ที่ดี ควรให้ได้อยู่ในโมเมนต์อย่างนี้อย่างน้อยให้นานสักเกือบๆชั่วโมง มันจะเป็นการเปิดประตูให้พลังงานในอีกรูปแบบหนึ่งไหลเข้ามา ซึ่งนอกจากจะเป็นพลังงานที่ทำให้เราตื่นยิ่งขึ้นกระปรี้กระเปร่ายิ่งขึ้นแล้ว ยังเป็นพลังงานที่จะให้ความรู้ใหม่ๆแก่เราด้วยโดยไม่เกี่ยวกับความทรงจำหรือสิ่งที่เราเรียนรู้มาในอดีตเลย ผมเรียกพลังงานชนิดนี้ว่าปัญญาญาณ ซึ่งจะช่วยให้เราได้รู้เห็นอะไรที่มีประโยชน์อีกมาก

อีกวิธีหนึ่งคือให้สนใจโมเมนต์ที่เราหลับไป คือเมื่อเราเข้านอน ให้เอาความสนใจอยู่กับลมหายใจ ตามดูลมหายใจไปขณะที่มันแผ่วลงๆ พอลมหายใจหยุดเหลือแต่ความรู้ตัวก็สนใจแต่ความรู้ตัวนั่นต่อไปอีก สนใจว่าเมื่อไหร่ความรู้ตัวจะถูกปิดสวิสต์คือหลับไป ดำมืดหรือว่างไปแล้วไปโผล่รู้ตัวอีกทีในความฝัน ถ้าก่อนหลับยังมีความคิดมากมาย มันก็จะไปว่ากันต่อในความฝัน วิธีนี้ก็มีประโยชน์ตรงที่จะทำให้เราคุ้นเคยกับกลไกขณะเราหลับไปซึ่งมีกลไกเหมือนกับการตาย ทำให้เราพร้อมที่จะตายเมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น

เวลาที่เหลืออยู่ ทำแค่นี้แหละครับ แล้วคุณจะอยู่ได้อย่างสงบเย็น หากยังมีพลังงานเหลือเฟือก็ทำอะไรที่สร้างสรรค์ หมายความว่าทำอะไรที่ไม่ใช่เพื่อปกป้องหรือเชิดชูสำนึกว่าเป็นบุคคลของตัวเอง เช่นการทำอะไรเพื่อชีวิตอื่น หรือเพื่อโลก สโลแกนสำหรับเวลาที่เหลืออยู่คือ.. “สงบเย็น และสร้างสรรค์”

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

18 ธันวาคม 2564

รักษาเบาหวานตามแบบประเพณีนิยมแล้วหัวใจขาดเลือด..ตัวอย่างคลาสสิก

เรียนคุณหมอสันต์ครับ

ปัจจุบันผมอายุ 51 เป็นเบาหวานตั้งแต่อายุ 30 เดิมคุมแบบไม่กินน้ำตาลและผลไม้เลยและกินข้าวน้อยไม่กินยาจน 49 เริ่มหาหมอเข้าระบบเพราะ a1c 11 ความดัน150/95 คราวนี้หลงผิดเอาจริงเข้มงวดขนาดไม่กินยา เพราะคิดว่าดื้ออินซูลิน ไม่คิดว่าอินชุลินไม่พอ ไม่กินคาร์บ กินแต่ ผัก เนื้อ นม ไข่ ทำให้คุมเบาหวานอยู่ a1c 5.6 แต่ ldl 380 สุดท้ายเส้นเลื่อดหัวใจตีบเจ็บหน้าอกคอหอยนานติดต่อ 6 วัน(นึกว่ากรดใหลย้อน) และต้องทำขดลวดไปเมื่อ กุมภา 2564

พอกลับมาผมก็คุมเบาหวานด้วยการฉีดอินซูลิน เพราะเช็ค c peptide พบว่า ตับอ่อนผลิตอินซุลินได้น้อยมาก และเลิกกินเนื้อทุกชนิดนมไข่เด็ดขาด กิน อาหารคาร์บไม่ขัดสีเต็มเมล็ดทุกชนิด และผัก ผลไม้ทุกชนิด (ผมกินง่ายมากไม่เลือก)กินตามปริมาณอินซุลินที่ฉีด กินตามที่หมอสันต์แนะนำครับ คุมเข้มงวดมากไม่มีหลุดเพราะสนุกดี เดินทุกวัน 14,000ก้าว ตั้งแต่ กุมภา 2564 ชว่งแรกกิน atorvastatin หมอให้กิน 40 แต่ผมแบ่งออกเป็น 8 ส่วนเหลือวันละ 5มก.จ-ศ หยุด ส-อา ผลเลือด ldl 53 TG39 Hdl43 Tc105 hba1c4.6 พอเดือน กันยา ผมลองงด statin ทำตัวเหมือนเดิม ล่าสุด 14/12/64 ldl 108 TG61 Tc163 a1c4.8 ความดัน 117/79 หมอบอกว่าใส่ขดลวดldl ควรต่ำกว่า 70 ผมลองทบทวนความเข้มงวดในความประพฤติแล้วหมดความสามารถที่จะปรับปรุงได้มากกว่าที่ผ่านมา สิ่งที่ผมปฏิบัติคือ ตื่นตี 3.30 เดิน ตี4-6 กิน 7 12และ 17.00 อาหารคือ ข้าวกล้อง มัน ฟักทอง กล้วย ถั่วbean seed ทุกชนิด กิน nut เล็กน้อย เพราะไขมันสูง กิน ผลไม้ตามฤดู ผัก กินสลับไปทั่ว ไม่เคยผัดกับข้าว น้ำมัน น้ำตาล อะไรกินดิบได้ก็กิน ต้องทำสุกก็ใช้นึ่งเท่านั้น  ผสมให้ได้ตามปริมาณอินซูลิน เช้า 5 เที่ยง 5 เย็น 5 สรุปกินคาร์บวันละ 15 คาร์บ ไม่สูบ ไม่ดื่ม ไม่รู้สึกลำบากในการกินเพราะไม่สนใจความอร่อย ขอมีอาหารพืชไขมันต่ำให้กินก็พอ ยาที่กินแค่ aspirin81 clopidogel 75 ถ้าครบ1ปีผมก็จะเลิก ผมกิน statin ไม่มีอาการข้างเคียง แต่ผมไม่อยากกิน statin แม้แต่น้อย เคยคิดหั่นเป้น 16 ส่วนแต่ก็ยังแหยงๆ ผมจึงต้องการความคิดเห็นของคุณหมอ ผมเคารพในความเห็นของคุุณหมอทุกประการครับ ขอบคุณครับ ผมส่งมาในเมล์เพราะส่งใน facebook ไม่เป็นครับ สิ่งที่ผมถามก็ไม่มีความลับใดๆครับ

………………………………………………………….

ตอบครับ

นี่เป็นตัวอย่างคลาสสิกของการจัดการโรคเบาหวานไปตามแบบประเพณีนิยม (conventional) คือกินอาหารโลว์คาร์บซึ่งในภาพใหญ่คือการกินเนื้อสัตว์มาก และไม่กินผลไม้เพราะกลัวความหวานในผลไม้ แล้วจบลงด้วยแม้ตัวชี้วัดน้ำตาลจะดีแต่ไขมันในเลือดกลับแย่ลง หลอดเลือดก็แย่ลงจนเกิดภาวะแทรกซ้อนกับอวัยวะปลายทาง ซึ่งในที่นี้ก็คือหัวใจ ทั้งหมดนี้เกิดจากมายาคติหรือความเข้าใจผิดในประเด็นสำตัญเกี่ยวกับเบาหวานหลายประเด็น คือ

ประเด็นที่ 1 ไปเข้าใจผิดว่าเนื้อสัตว์ไม่ทำให้เป็นเบาหวาน แต่อาหารแป้งซึ่งมาจากพืชทำให้เป็นเบาหวาน ทั้งๆที่ในความเป็นจริงคือเนื้อสัตว์นั่นแหละที่ทำให้เป็นเบาหวาน งานวิจัยแบบสุ่มตัวแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ที่ทำโดยหมอเบาหวานเอง แบ่งกลุ่มให้ผู้ป่วยกินอาหารสองชนิด กลุ่มหนึ่งกินอาหารเบาหวานที่แนะนำโดยสมาคมเบาหวานอเมริกันซึ่งมีทั้งเนื้อนมไข่ปลาตามสูตร อีกกลุ่มหนึ่งกินอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ ไม่ให้กินเนื้อสัตว์เลย นม ไข่ ปลา ก็ไม่ให้กิน พบว่ากลุ่มที่กินอาหารแบบพืชเป็นหลักเลิกยาเบาหวานได้มากกว่ากลุ่มกินอาหารปกติสองเท่าตัว ลดน้ำตาลในเลือดได้มากกว่าสองเท่าตัว ลดน้ำหนักได้มากกว่าสองเท่าตัว ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยขนาดใหญ่ที่กลุ่มประเทศทางภาคพื้นยุโรปได้ร่วมกันทำงานเพื่อติดตามดูกลุ่มคน 448,568 คนแบบตามไปดูข้างหน้า แล้วดูความสัมพันธ์ของอาหารกับการเจ็บป่วย เรียกว่างานวิจัยเอพิก (EPIC study) ซึ่งตอนนี้ได้ตามดูมาแล้วสิบกว่าปี พบว่าอาหารที่สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 นั้นไม่ใช่อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล) อย่างที่คนทั่วไปเคยเข้าใจกัน แต่เป็นอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการถนอม (ไส้กรอก เบคอน แฮม)

 ประเด็นที่ 2. ไปเข้าใจผิดว่าการกินผลไม้มากทำให้เป็นเบาหวาน ทั้งๆที่ในความเป็นจริงคือการกินผลไม้สดมากๆสัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานน้อยลง  งานวิจัยติดตามกลุ่มคนประมาณสองแสนคนของฮาร์วาร์ดซึ่งได้เกิดผู้ป่วยเบาหวานขึ้นระหว่างการติดตาม 12,198 คน เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการกินผลไม้กับการเป็นเบาหวานพบว่าการกินผลไม้สดโดยเฉพาะอย่างยิ่งองุ่น แอปเปิล บลูเบอรี่ สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานน้อยลง แต่การดื่มน้ำผลไม้คั้นทิ้งกากกลับสัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานมากขึ้น เช่นเดียวกัน งานวิจัยขนาดใหญ่ทางยุโรปชื่อ EPIC study ก็ได้รายงานผลที่สอดคล้องกันว่าอาหารที่สัมพันธ์กับการลดการป่วยจากเบาหวานคือผักและผลไม้ ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ที่หวานหรือไม่หวานก็ตามก็ล้วนสัมพันธ์กับการลดโอกาสเป็นเบาหวานทั้งสิ้น

ประเด็นที่ 3. ไปเข้าใจผิดว่าอาหารไขมันไม่เกี่ยวกับโรคเบาหวาน จึงหนีหวานไปกินมัน ทั้งๆที่ในความเป็นจริงอาหารไขมันนั่นแหละที่ทำให้เป็นเบาหวานผ่านกลไกการดื้อต่ออินสุลิน งานวิจัยพิสูจน์กลไกการดื้อต่ออินสุลินพบว่าการดื้ออินสุลินเกิดจากการมีไขมันเก็บสะสมไว้ในเซลมาก งานวิจัยนี้ทำโดยทำการวัดระดับความเข้มข้นของไกลโคเจนและกลูโคสที่อยู่ในเซลกล้ามเนื้อไว้ก่อน แล้วทำให้น้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับปกติ แล้วฉีดอินสุลินเข้าสู่กระแสเลือดให้ระดับอินสุลินในเลือดสูงผิดปกติ แล้ววัดการนำกลูโคสเข้าเซลและวัดอัตราเปลี่ยนกลูโคสเป็นไกลโคเจนในเซล ซึ่งพบว่าอินสุลินทำให้มีการนำกลูโค้สเข้าเซลมากขึ้น มีการเปลี่ยนกลูโคสในเซลไปเป็นไกลโคเจนมากขึ้น อันเป็นกลไกการทำงานของร่างกายตามปกติ ต่อมาในขั้นทดลองก็ทำการฉีดไขมันจากอาหารตรงเข้าไปไว้ในเซลกล้ามเนื้อก่อน แล้วทำให้น้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับปกติ แล้วฉีดอินสุลินเข้าสู่กระแสเลือดให้ระดับอินสุลินในเลือดสูงผิดปกติ แล้ววัดการนำกลูโคสเข้าเซลและวัดอัตราเปลี่ยนกลูโคสเป็นไกลโคเจนในเซลอีกครั้ง ซึ่งครั้งหลังนี้พบว่าอินสุลินไม่สามารถนำกลูโค้สเข้าไปในเซล และไม่มีการเปลี่ยนกลูโคสในเซลไปเป็นไกลโคเจน ซึ่งเป็นสภาวะการณ์ที่เซลกล้ามเนื้อดื้อต่ออินสุลิน อันสืบเนื่องมาจากการมีไขมันไปสะสมในเซลกล้ามเนื้อมาก

      หลักฐานที่ว่าไขมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันอิ่มตัวจากสัตว์ทำให้เกิดการดื้อต่ออินสุลินอันเป็นต้นเหตุของเบาหวานชนิดที่ 2 นี้ได้มีการวิจัยกันบ่อยครั้ง  อีกงานวิจัยหนึ่งทำที่มหาวิทยาลัยลอนดอนได้เลือกผู้ไม่กินเนื้อสัตว์เลย (วีแกน) และกินคาร์โบไฮเดรตในปริมาณสูงมากอยู่แล้วมา 21 คน แล้วเลือกผู้กินเนื้อสัตว์ที่มีโครงสร้างสุขภาพคล้ายๆกันและกินคาร์โบไฮเดรตน้อยอยู่แล้วมา 21 คน ให้ทั้งสองกลุ่มออกกำลังกายเท่ากัน กินอาหารที่มีแคลอรี่เท่ากันทุกวันต่างกันเฉพาะเป็นเนื้อสัตว์หรือเป็นพืชเท่านั้น กินอยู่นาน 7 วันแล้วเจาะเลือดดูปริมาณอินสุลินที่ร่างกายผลิตขึ้นและตัดตัวอย่างชิ้นกล้ามเนื้อออกมาตรวจดูปริมาณไขมันสะสมในกล้ามเนื้อทั้งก่อนและหลังการทดลอง พบกว่ากลุ่มวีแกนที่กินแต่พืชมีระดับอินสุลินในเลือดต่ำกว่าและมีไขมันสะสมในกล้ามเนื้อน้อยกว่ากลุ่มที่กินเนื้อสัตว์มาก ซึ่งผลนี้ชี้บ่งไปทางว่าอาหารพืชหรือคาร์โบไฮเดรตไม่ได้กระตุ้นการเพิ่มอินสุลิน แต่อาหารเนื้อสัตว์หรือไขมันต่างหากที่กระตุ้นการปล่อยอินสุลินและทำให้เป็นเบาหวาน

     ดังนั้นผู้เป็นเบาหวานจึงควรจำกัดอาหารไขมันให้เหลือน้อยที่สุด ไม่กินไขมันที่ได้จากการสกัดเช่นน้ำมันที่ใช้ผัดทอดอาหารต่างๆ กินแต่ไขมันที่อยู่ในอาหารตามธรรมชาติเช่นถั่วหรือนัททั้งเมล็ด เป็นต้น

ประเด็นที่ 4. ไปเข้าใจผิดว่ากินข้าวหรือแป้งมากทำให้เป็นเบาหวานตะพึด ทั้งๆที่ความเป็นจริงคือเฉพาะข้าวขาวและแป้งแบบขัดสีเท่านั้นที่ทำให้โรคเบาหวานแย่ลง ส่วนข้าวกล้องและธัญพืชไม่ขัดสี และคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนเช่นมันเทศกลับทำให้โรคเบาหวานดีขึ้น การวิเคราะห์ผลวิจัยติดตามสุขภาพแพทย์และพยาบาลของฮาร์วาร์ด พบว่าการบริโภคข้าวขาวมาก(สัปดาห์ละ 5 เสริฟวิ่งขึ้นไป) สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานชนิดที่สองมากขึ้นกว่าคนที่ไม่ได้บริโภคข้าว ขณะที่การบริโภคข้าวกล้องมาก (สัปดาห์ละ 2 เสริฟวิ่งขึ้นไป) กลับสัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานชนิดที่สองน้อยลงกว่าคนที่ไม่ได้บริโภคข้าว

     การทบทวนงานวิจัยที่ทำในยุโรปเพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างการกินธัญพืชชนิดขัดสีและไม่ขัดสีกับการเป็นเบาหวานประเภท 2 ก็พบว่าการกินธัญพืชไม่ขัดสีมีผลลดความเสี่ยงการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ขณะที่การกินธัญพืชขัดสีกลับมีผลเพิ่มความเสี่ยงการเป็นเบาหวานชนิดที่2 มากขึ้น

     งานวิจัยรักษาผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้อินสุลินด้วยการให้อาหารคาร์โบไฮเดรตชนิดมีกากมาก (high carbohydrate high fiber – HCF) พบว่าทำให้ต้องใช้อินสุลินน้อยลงขณะที่ทำให้ระดับน้ำตาลต่ำลงและไขมันรวมในเลือดลดลง

ผมพล่ามมาตั้งนานจนลืมไปแล้วว่าคุณถามอะไรนะ อ้อ..นึกออกละ ระดับไขมันในเลือดเท่าไหร่จึงจะเลิกยาลดไขมันได้ ตอบว่าการที่คุณหมอของคุณท่านมุ่งมั่นให้ไขมันในเลือด LDL ต่ำกว่า 70 นั่นท่านก็ทำถูกของท่านแล้วเพราะท่านเป็นหมอหัวใจท่านก็มองอัตราตายจากโรคหัวใจของคนที่เป็นโรคมาระดับเต็มแม็กแล้วอย่างคุณนี้ซึ่งอัตราตายมันจะต่ำได้ที่หากกดไขมันเลวให้ต่ำกว่า 70 แต่ชีวิตร่างกายคุณไม่ได้มีแต่หัวใจอย่างเดียว คุณยังมีสมอง มีตับอ่อน อีกด้วย ซึ่งหากมองจากมุมของสมอง งานวิจัยตามดูผู้ใช้ยา statin พบว่าการกดระดับไขมัน LDL ให้ต่ำกว่า 70 จะตามมาด้วยการเกิดอุบัติการหลอดเลือดในสมอง (hemorrhagic stroke) มากขึ้น และหากมองจากมุมของตับอ่อน การใช้ยา statin จะทำให้เป็นเบาหวานมากขึ้น งาน JUPITER trial เปรียบเทียบคนกิน statin เทียบกับยาหลอก พบว่าคนกิน statin เป็นเบาหวานมากกว่าคนกินยาหลอก 27% การตีพิมพ์งานวิจัยข้อมูลจากศูนย์รักษาเบาหวาน 27 แห่งทั่วสหรัฐก็พบว่ากลุ่มที่ใช้ยาลดไขมันเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น 33-37% โดยที่แม้จะแยกเอาปัจจัยเสี่ยงโรคเบาหวานออกไปแล้วอัตราการเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้นในคนใช้ยาลดไขมันก็ยังคงอยู่ อีกงานวิจัยหนึ่งวิจัยผู้ประกันตนของโครงการประกันสุขภาพที่โอไฮโอซึ่งไม่ได้เป็นเบาหวานจำนวน 7,064  คนซึ่งล้วนไม่ได้ยาลดไขมันตอนเริ่มวิจัยและทุกคนมีน้ำตาลในเลือดปกติ ต่อบางส่วนได้เริ่มกินยาลดไขมันและบางส่วนเริ่มมีน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ พบว่ากลุ่มที่กินยาลดไขมันมีน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติมากกว่ากลุ่มไม่กินถึงเท่าตัว งานวิจัยนี้มีข้อมูลประกอบที่ช่วยแยกปัจจัยกวนได้ค่อนข้างละเอียดจนผู้วิจัยกล้าพูดว่ายาลดไขมันมีโอกาสมาก..กส์ (มีตัวเอสต่อท้ายด้วยนะ) ที่จะเป็นสาเหตุของการทำให้น้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ

สำหรับคนที่แก่แล้ว (ผมรู้ว่าคุณยังไม่แก่ แต่ผมพูดเผื่อท่านผู้อ่านท่านอื่น) มันยังมีประเด็นความแก่อีกนะ คือคนแก่หากไปใช้ยากดไขมันในเลือดให้ต่ำลงมากๆ อัตราตายรวมจะมากขึ้น แม้ว่าอัตราตายจากโรคหัวใจจะลดลง ส่วนใหญ่ไปตายด้วยมะเร็ง นี่ยังไม่นับว่ายา statin ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงและปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายไม่ถนัดลื่นตกหกล้มง่าย และยานี้ยังมีความสัมพันธ์กับความขี้หลงขี้ลืม ซึ่งหายไปเมื่อหยุดยา

ดังนั้นการใช้ยา statin กดไขมัน LDL ให้ต่ำในกรณีของคุณนี้ หากมองร่างกายในภาพรวมไม่มองแต่หัวใจอย่างเดียว ผมแนะนำว่าระดับ LDL 70-100 mg/dl นี่ก็หรูเริ่ดสะแมนแตนแล้ว บวกลบได้นิดหน่อย และในกรณีของคุณ ถ้าผมเป็นคุณ ผมจะเลิกกินยา statin ไปเลย เพราะคุณบอกว่าเลิกแล้ว LDL ขึ้นมาเป็น 108 นี่เป็นผลเลือดครั้งแรกหลังเลิกยานะ หากคุณไม่ใจร้อนรีบกลับมากินยา ค่อยๆดูมันไปสามเดือนหกเดือนแล้วเจาะเลือดดูซ้ำ ผมพนันร้อยเอาขี้หมาก้อนเดียวว่า LDL มันจะลงไปต่ำกว่านี้อีก เพราะมันเป็นกลไกปกติของร่างกายที่จะชักเย่อกับยา พอเลิกยาพลั้วะไขมันในเลือดจะเด้งขึ้น แล้วมันจะค่อยๆลงมาเอง

ปล. ขี้หมาที่ผมได้ไม่ต้องเอามาให้ผมก็ได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

จดหมายจากท่านผู้อ่าน

ตอนนี้มีหมอกลุ่มหนึ่งที่ออกมาให้ข้อมูลว่าการรักษาโรคเบาหวานที่ดีและมีประสิทธิภาพคือการกินแบบคีโต (ตัดคาร์บ กินไขมันเป็นพลังงาน)โดยบอกว่านอกจากกระตุ้นอินซูลินแล้วคาร์บยังก่อให้เกิดการอักเสบระดับเซลซึ่งเป็นสาเหตุของความเสื่อมของร่างกาย แต่ไขมันไม่ก่อให้เกิดการอักเสบและมีผลตรวจเลือดมาแสดงให้เห็นถึงการอักเสบที่ลดลง ระดับน้ำตาลที่ลดลงคุณหมอมีความเห็นประเด็นเรื่องนี้ว่าอย่างไรคะ1) การรักษาเบาหวานด้วยการกินแบบคีโต และ2) คาร์บก่อให้เกิดการอักเสบระดับเซล รวมถึงการอักเสบในหลอดเลือด ทำให้ ldl ต้องมาซ่อมแผลอักเสบหลอดเลือดเลยตีบ แต่การกินแบบคีโตไม่เกิดการอักเสบ ดังนั้นถึง ldl จะสูงก็ไม่อันตรายเพราะไม่มีการอักเสบในเส้นเลือด

ตอบครับ

  1. ถามว่ากินคีโตรักษาเบาหวานได้ผลไหม ตอบว่าได้ผลครับ ตัวชี้วัดต่างๆของโรคเบาหวานดีขึ้น แต่งานวิจัยติดตามดูนานาน 5 ปีพบว่ากลุ่มที่กินอาหารแบบโลว์คาร์บอย่างนี้อัตราตายจากโรคหัวใจหลอดเลือดสูงกว่ากลุ่มกินคาร์บตามปกติ ดังนั้นท่านที่ชอบกินคีโตรักษาเบาหวานก็ทำได้ถ้าอยากจะทำแต่ผมแนะนำว่าพอได้ผลแล้วให้ค่อยๆเปลี่ยนมาเป็นอาหารพืชเป็นหลัก(plant based)
  2. ถามว่าจริงหรือที่ว่าโคเลสเตอรอลสูง (LDL) สูงแต่ไม่อันตราย ตอบว่าไม่จริงครับ ความสัมพันธ์ระหว่างระดับ LDL ในเลือดกับการเกิดจุดจบที่เลวร้ายของโรคหัวใจหลอดเลือดเป็นของจริงแท้แน่นอนมีงานวิจัยสนับสนุนแน่นหนาครับ ตรงนี้ทำให้อาหารคีโตซึ่งทำให้ LDL สูงเสมอ เป็นอาหารที่ไม่ดีกับหัวใจครับ หากชอบคีโตจริงผมแนะนำให้กินแบบคีโตวีแกน คือไม่กินเนื้อสัตว์เลย LDL จะไม่สูง โอเคกว่าครับ

ประเด็นหมอคนโน้นว่ายังงั้น หมอคนนี้ว่าอย่างงี้ ผมแนะนำสองอย่างครับ (1) ให้ตรวจสอบหลักฐานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ที่แบ้คอัพคำพูดของหมอแต่ละคน โดยการจะทำอย่างนี้ต้องรู้จักวิธีจัดชั้นความเชื่อถือได้ของหลักฐานด้วย หรือ (2) ลองทำวิจัยกับตัวเองเลยครับ คือลองกินมันทั้งสองแบบ แบบละประมาณ 1 ปี แล้วพบว่าตัวเองชอบแบบไหนค่อยเลือกแบบนั้นก็ได้ครับ

สันต์

บรรณานุกรม

1. Barnard, N.D., et al., A low-fat vegan diet improves glycemic control and cardiovascular risk factors in a randomized clinical trial in individuals with type 2 diabetes. Diabetes Care. 2006 Aug;29(8):1777-83.
2. InterAct, C., et al., Association between dietary meat consumption and incident type 2 diabetes: the EPIC-InterAct study. Diabetologia, 2013. 56(1): p. 47-59.
3. InterAct, C., Adherence to predefined dietary patterns and incident type 2 diabetes in European populations: EPIC-InterAct Study. Diabetologia, 2014.57(2): p. 321-33.
4. Muraki, I., et al., Fruit consumption and risk of type 2 diabetes: results from three prospective longitudinal cohort studies. BMJ, 2013. 347: p. f5001.7. Christensen, A.S., et al., Effect of fruit restriction on glycemic control in patients with type 2 diabetes–a randomized trial. Nutr J, 2013. 12: p. 29.8 Rock, W., et al., Effects of date ( Phoenix dactylifera L., Medjool or Hallawi Variety) consumption by healthy subjects on serum glucose and lipid levels and on serum oxidative status: a pilot study. J Agric Food Chem, 2009.57(17): p. 8010-7.

2006. 29(8): p. 1777-83.
5. Roden, M., et al., Mechanism of free fatty acid-induced insulin resistance in humans. J Clin Invest, 1996. 97(12): p. 2859-65.
6. Goff, L.M., et al., Veganism and its relationship with insulin resistance and intramyocellular lipid. Eur J Clin Nutr, 2005. 59(2): p. 291-8.11. Sun, Q., et al., White rice, brown rice, and risk of type 2 diabetes in US men and women. Arch Intern Med, 2010. 170(11): p. 961-9.12. Aune, D., et al., Whole grain and refined grain consumption and the risk of type 2 diabetes: a systematic review and dose-response meta-analysis of cohort studies. Eur J Epidemiol, 2013. 28(11): p. 845-58.13. Anderson, J.W. and K. Ward, High-carbohydrate, high-fiber diets for insulin-treated men with diabetes mellitus. Am J Clin Nutr, 1979. 32(11): p. 2312-21.

7. Ridker P, et al “Cardiovascular benefits and diabetes risks of statin therapy in primary prevention: an analysis from the JUPITER trial” Lancet 2012; 380: 565-571.
8. Crandall JP, Mather K, et al. on behalf of the DPPRG. Statin use and risk of developing diabetes: results from the Diabetes Prevention Program. BMJ Open Diabetes Res Care. 2017; 5(1): e000438. doi: 10.1136/bmjdrc-2017-000438
9. Victoria A. Zigmont, Abigail B. Shoben, Bo Lu, Gail L. Kaye, Steven K. Clinton, Randall E. Harris, Susan E. Olivo‐Marston. Statin users have an elevated risk of dysglycemia and new‐onset‐diabetes. Diabetes/Metabolism Research and Reviews, 2019; e3189 DOI: 10.1002/dmrr.3189

10. Chaoran Ma, M. Edip Gurol, Zhe Huang, Alice, H. Lichtenstein, Xiuyan Wang, Yuzhen Wang, Samantha Neumann, Shouling Wu, Xiang Gao. Low-density lipoprotein cholesterol and risk of intracerebral hemorrhage: A prospective study. Neurology Jul 2019, 93 (5) e445-e457; DOI: 10.1212/WNL.0000000000007853
11. Richardson K, Schoen M, French B, et al. Statins and cognitive function: a systematic review. Ann Intern Med. 2013;159:688–697.[PubMed]

12. Corti MC, Guralnik JM, Salive ME, et al. Clarifying the direct relation between total cholesterol levels and death from coronary heart disease in older persons. Ann Intern Med. 1997;126:753–760.[PubMed]
13. Sever PS, Dahlöf B, Poulter NR, et al. Prevention of coronary and stroke events with atorvastatin in hypertensive patients who have average or lower-than-average cholesterol concentrations, in the Anglo-Scandinavian Cardiac Outcomes Trial-Lipid Lowering Arm (ASCOT-LLA): a multicentre randomised controlled trial. Lancet.2003;361:1149–1158. [PubMed]

13. Neil HA, DeMicco DA, Luo D, et al. Analysis of efficacy and safety in patients aged 65-75 years at randomization: Collaborative Atorvastatin Diabetes Study (CARDS) Diabetes Care. 2006;29:2378–2384. [PubMed]
14. Nakaya N, Mizuno K, Ohashi Y, et al. Low-dose pravastatin and age-related differences in risk factors for cardiovascular disease in hypercholesterolaemic Japanese: analysis of the management of elevated cholesterol in the primary prevention group of adult Japanese (MEGA study) Drugs Aging. 2011;28:681–692. [PubMed]

15. Ornish, D., Scherwitz, L.W., Billings, J.H., Brown, S.E. et al (1998), Intensive lifestyle changes for reversal of coronary heart disease. JAMA;280(23):2001-7. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/9863851
16. Kossof, E., (2014), Danger in the pipeline for the ketogenic diet? Epilepsy Curr.;14(6):343-4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4325592

[อ่านต่อ...]

17 ธันวาคม 2564

การยอมรับ (Acceptance) แปลว่าเหยียบคลัทช์ก่อนแล้วค่อยเข้าเกียร์

(หมอสันต์พูดกับสมาชิก Spiritual Retreat)

หนุ่มคนนี้ขับรถเลียบหน้าผามาดีๆ กำลังเข้าโค้งก็เผอิญมีรถสวนโผล่พรวดเข้ามาหาแบบมาผิดเลน เขาจำใจต้องหักหลบจนรถของตัวเองกลิ้งลงบ่อโคลนข้างถนน ตัวเองกระเด็นออกมาจากรถลงไปอยู่ในขี้โคลน พอลุกขึ้นยืนได้ก็ร้องด่ารถคันนั้นด้วยความโกรธ ถีบและเตะโคลนระบายอารมณ์ มือก็ดึงกระชากเถาวัลย์เหนือศีรษะขาดกระจุยเพราะอารมณ์โกรธ กว่าจะรู้ตัวว่าโคลนที่ตัวเองยืนอยู่นั้นเป็นโคลนดูด ตัวเองก็จมลงมาจนถึงระดับคอแล้ว จะคว้ากิ่งไม้เหนือศีรษะก็คว้าไม่ถึง เพราะเถาวัลย์ที่น่าจะเป็นเชือกช่วยดึงตัวเองไว้ได้ก็ถูกกระชากขาดไปเสียแล้ว

ลักษณะที่หนุ่มคนนี้สนองตอบต่อสถานะการในชีวิตครั้งนี้เรียกว่าเป็นการ “ไม่ยอมรับ” หรือ Non-Acceptance และปฏิกริยาสนองตอบนั้นเป็นไปแบบอัตโนมัติซึ่งเกือบจะร้อยทั้งร้อยจะถูกบอกบทหรือถูกกำกับด้วยความโกรธ หรือความกลัว หรือสัญชาติญาณดั้งเดิมของคนซึ่งเป็นสัตว์ธรรมดาตัวหนึ่ง

ลองมองในทางกลับกัน ถ้าหากเขาจะสนองตอบแบบยอมรับหรือ Acceptance ละ จะต้องสนองตอบอย่างไร ไม่ได้หมายความว่าเขาต้องยอมรับว่าเราติดหล่มจมโคลนดูดแล้ว อย่าดิ้นรนไปเลย อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ไม่ใช่นะครับ ไม่ใช่อย่างนั้น

ก่อนอื่นผมขอเปรียบเทียบให้ฟังก่อน สมัยก่อน หลายท่านอาจจะเกิดไม่ทัน รถยนต์สมัยโน้นยังไม่มีเกียร์อัตโนมัติ เวลาจะเปลี่ยนเกียร์เราต้องเหยียบคลัทช์ก่อน เมื่อเหยียบแป้นคลัทช์ลงไปแล้ว มันจะไปผลักให้แผ่นคลัทช์ซึ่งยึดเฟืองเกียร์กับมู่เล่ที่กำลังหมุนติ้วด้วยแรงเครื่องยนต์ให้แยกห่างออกจากกัน ผลของการเหยียบคลัทช์ก็คือตัวมู่เล่ของเครื่องยนต์ก็หมุนติ้วไปตามปกติของมัน แต่เฟืองเกียร์จะนิ่งไม่หมุนตาม เปิดโอกาสให้ผู้ขับเลือกเข้าเกียร์ที่เหมาะสมได้โดยง่าย ถ้าหากไม่เหยียบคลัชเฟืองเกียร์ก็จะหมุนตามมู่เล่ไม่หยุดก็จะสับเปลี่ยนเกียร์ไม่ได้

การสนองตอบต่อสถานะการณ์ใดๆในชีวิตแบบยอมรับหรือ Acceptance ก็คือการเปลี่ยนเกียร์แบบเหยียบคลัทช์ก่อน ปล่อยให้มู่เล่ซึ่งเป็นเหมือนสิ่งเร้าหรือเหตุการณ์ภายนอกหมุนติ้วไป แต่เฟืองเกียร์คือความคิดที่ภายในของเรานั้นนิ่งอยู่ก่อน ตั้งหลักก่อน ยอมรับก่อนว่าสิ่งนี้ที่ตรงหน้าเรานี้ได้เกิดขึ้นแล้ว ยอมรับมันก่อนว่ามันเกิดขึ้นแล้ว ตั้งหลักก่อน จะสนองตอบด้วยการคิดพูดทำอย่างไรค่อยว่ากัน ซึ่งการสนองตอบหลังจากการหยุดนิ่งตั้งหลังแล้วนี้จะไม่ใช่แบบกำกับโดยกลไกการสนองตอบแบบอัตโนมัติหรือสัญชาติญาณแล้ว แต่จะเป็นแบบกำกับโดยความคิดอ่าน (intellect) และปัญญาญาณ (intuition)

ผมจะอธิบายกลไกที่ปัญญาญาณเข้ามากำกับการสนองตอบต่อสถานะการณ์ในชีวิตเมื่อเราเหยียบคลัทช์ตั้งหลักได้เป็นอย่างไรให้ท่านฟัง โดยนิยามปัญญาญาณก็คือวิธีไขปัญหาที่ปรากฎต่อใจเราได้แบบมาตรงประเด็นพอดีและมาทันเวลาพอดีซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อใจเราว่างพร้อมรับคลื่นนี้ หมายความว่าใจเรากำลังว่างไม่มีความคิดใดๆอยู่ หากกำลังมีความคิด ความรู้ตัวจะไปคลุกอยู่ในความคิด จะไม่ว่างที่จะรับรู้ปัญญาญาณ ปัญญาญาณก็จะโผล่ออกมาไม่ได้ อุปมาอุปไมย เปรียบเหมือนบุรุษไปรษณีย์เอาพัศดุลงทะเบียนมาส่ง พอเขากดกริ่งหน้าบ้านแล้ว หากเราอยู่บ้านเราก็ออกไปเซ็นชื่อรับพัศดุได้ แต่หากเราไม่อยู่บ้าน บุรุษไปรษณีย์ก็ส่งมอบพัศดุไม่ได้เพราะไม่มีคนเซ็นรับ เขาก็ได้แต่เอาพัศดุนั้นกลับไป การเหยียบคลัทช์แล้วหยุดรอดูเชิงก่อน เป็นการเปิดใจให้ว่างก่อนเลือกการสนองตอบ จังหวะนี้แหละ ที่ปัญญาญาณจะสอดแทรกนำสิ่งดีๆมาเสนอได้

ดังนั้นการยอมรับหรือ Acceptance ไม่ใช่การเอาหัวมุดทรายต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้าโดยไม่สนองตอบใดๆทั้งสิ้น ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นการเหยียบคลัทช์ หยุดนิ่ง รอพักหนึ่งก่อน รอให้ใจสงบจนปลอดความคิดใดๆก่อน ยอมรับว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วก่อน แล้วค่อยบรรจงคิดอ่านสนองตอบออกไป ไม่ต้องรีบร้อนลนลาน ในการใช้ชีวิตหรือการสนองตอบต่อสถานะการณ์ใดๆในชีวิตนี้คุณอย่ารีบร้อน เมื่อวานนี้ผมบอกพวกเราท่านหนึ่งไปว่าในการใช้ชีวิตคุณจะรีบไปไหน ไม่ต้องรีบเอาให้ได้ที่หนึ่งหรอก เพราะเราทุกคนล้วนกำลังวิ่งไปหาเชิงตะกอน การวิ่งไปถึงก่อนมันจะมีความหมายอะไร

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

14 ธันวาคม 2564

โรคเม็ดเลือดแดงมากเกิน Polycythemia Vera

สวัสดีครับคุณหมอ
ผมอายุ 42ปี ติดตามคลิปคุณหมอประจำ ชอบที่คุณหมอแนะนำเรื่องโรคบางโรคไม่จำเป็นต้องทานยา พอดีเมื่อ 2 ปีก่อนผมมีอาการ มือแดง หน้าแดง น้ำหนักลดลง ความดันขึ้นสูงถึง 165/95 เหนื่อยง่าย มีอาการเวียนหัว บ้านหมุน ตรวจพบตอนตรวจเลือด พบว่าค่าเม็ดเลือดแดง HCT ตอนนั้นสูงถึง 72% ( ค่าปกติ 39-48% ) ค่าเกล็ดเลือด PLT ตอนนั้นสูงประมาณ 850,000 /u/L หมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคเลือดข้น Polycythemia vera ครับ ไขกระดูกผลิตเลือดมาเยอะผิดปกติ เลือดข้นหนืด เริ่มรักษาช่วง ก.พ.ปี 2562 โดย ช่วงแรกมีการเจาะถ่ายเลือดออกทิ้ง (Blood letting) ครั้งล่ะ 450ml ทุก 2 อาทิตย์ จนกว่าเลือดจะลงมาอยู่ในช่วงค่าปกติ และ ควบคู่กับการให้ทานยา HydroxyUrea500mg วันล่ะ 2 เม็ด และยา Aspirin 81mg วันละ 1 เม็ด ต่อเนื่อง ทุกวัน เพื่อควบคุม มาจนถึงปัจจุบัน เพื่อไม่ให้ค่าเลือดและเกล็ดเลือด สูงกลับขึ้นมาอีก

ผมอยากรบกวนปรึกษาคุณหมอว่า พอจะมีแนวทางรักษาโรคนี้แบบไม่ต้องทานยาไหมครับ เนื่องจากตอนนี้ผมอยากจะมีบุตรคนที่ 2 ไปตรวจสเปริ์มพบว่าสเปริ์มไม่มี อ่านพบว่าเกิดจากทานยา Hydrea ต่อเนื่องทำให้เกิดภาวะเป็นหมัน ถ้ามีแนวทางรักษาแบบไม่ต้องทานยา หรือ สถานที่รักษาโดยไม่ต้องใช้ยา อยากรบกวนขอคำแนะนำจากคุณหมอด้วยครับ

ขอขอบพระคุณล่วงหน้าเป็นอย่างสูงครับ

……………………………………………………………………………………….

ตอบครับ

โชคชะตาช่างสรรหาให้เป็นโรคที่คนอื่นเขาไม่เป็นกันเก่งจังนะ เกิดมาผมเองยังไม่เคยเห็นคนไข้โรค Polycythemia vera หรือ PV นี้แบบตัวเป็นๆเลยสักคนเดียว ความรู้ของผมก็มีอยู่แค่ที่นักเรียนแพทย์พึงท่องได้ เช่น

เกณฑ์วินิจฉัย ซึ่งของ WHO คือต้องมีสามอย่าง ได้แก่ (1) ฮีมาโตคริตสูงเกิน 49%ในชายหรือ 48% ในหญิง (2) เจาะไขกระดูกพบเซลทุกชนิดเพิ่มขึ้นหมด (panmyelosis) และ (3) มียีนกลายพันธ์ที่เรียกว่า JAK2V617F or JAK2 exon 12 mutation) กับ

เป้าหมายการรักษา ซึ่งมีสี่เรื่องคือ (1) บรรเทาอาการใดๆก็ตามที่เกิดขึ้น (2) ป้องกันเลือดจับตัวเป็นลิ่ม (3) ป้องกันเลือดออก (4) ลดโอกาสเกิดพังผืดแทรกไขกระดูกและการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว

เป็นนักเรียนแพทย์รู้สองอย่างนี้ก็เหลือเฟือที่จะหากินกับข้อสอบเรื่องโรคนี้ได้แล้ว หิ หิ จบมาก็ไม่เคยเห็นคนไข้เลย ผมจึงต้องออกตัวก่อนว่าการตอบคำถามของผม ผมไม่มีความรู้ลึกซึ้งใดๆในโรคนี้นะ แต่คุณถามมา ผมก็จะตอบไป

1.. ถามว่าอยากจะมีลูก จะเลิกยา hydroxyuria ซึ่งเป็นสาเหตุของการเป็นหมันเสียได้ไหม ตอบว่า คุณจะมีลูกไปทำไมละครับ คนที่เขาสุขภาพดีๆอยู่เขายังคิดหัวแทบแตกว่าจะมีลูกดีไม่มีลูกดี แต่นี่คุณป่วยเป็นโรคซึ่งวงการแพทย์ไม่มีวิธีรักษาให้หาย อัตรารอดชีวิตเฉลี่ยของคนเป็น PV ถ้าไม่รักษาคือ 12 ปี แต่ถ้ารักษาเต็มที่คือ 24 ปี เวลาแค่นี้คุณใช้ชีวิตของคุณเองให้สบายๆไม่ต้องไปแบกรับภาระเลี้ยงลูกไม่ดีกว่าหรือครับ อย่าไปห่วงเรื่องการเพิ่มพลเมืองให้กับโลกที่มีกันอยู่แล้วตั้งเจ็ดพันกว่าล้านคนเลย

2. ถามว่าถ้าไม่ใช้ยา จะมีวิธีกินอยู่ใช้ชีวิตอย่างไรให้โรคนี้หายได้ไหม ตอบว่า ณ วันนี้วงการแพทย์ยังไม่มีความรู้พอที่จะตอบคำถามนี้ได้ครับ ดังนั้น คุณต้องลองผิดลองถูกเอาเอง

ตัวผมเองแนะนำว่าคุณควรจะรับการรักษาไปตามแนวทางที่แพทย์ทางโลหิตวิทยาให้ไว้ รวมทั้งการกินยา hydroxyuria ด้วย ในด้านการดูแลตัวเองควบคู่กันไปนั้นผมแนะนำว่าการใช้ชีวิตของคุณควรมุ่งไปในทิศทางที่จะป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดและโรคมะเร็งเม็ดเลือดซึ่งเป็นจุดจบที่เลวร้ายสองจุดของโรคนี้ โดย

(1) ในเรื่องอาหาร แน่นอนว่าอาหารพืชเป็นหลักที่มีไขมันต่ำและมีความหลายหลายของอาหาร จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดและโรคมะเร็งได้

(2) ความเครียดก็เป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้เป็นทั้งโรคหลอดเลือดและโรคมะเร็งได้ง่ายขึ้น ดังนั้นคุณก็ต้องใช้ชีวิตไปในแนวทางวางความคิดลดความเครียด ซึ่งเป็นแนวทางที่ผมพูดและเขียนถึงอยู่เกือบทุกวัน

(3) การออกกำลังกายลดการเป็นโรคหลอดเลือดได้แน่นอน ดังนั้นผมก็แนะนำให้คุณออกกำลังกายสม่ำเสมอด้วย

(4) เพิ่มเติมเป็นพิเศษว่าคุณต้องใส่ใจไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ เพราะมันยิ่งทำให้เลือดที่ข้นอยู่แล้วจับตัวเป็นก้อนง่ายขึ้น

(5) จะให้ดีอยู่ห่างๆบุหรี่ไว้ เพราะมันเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคนี้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

12 ธันวาคม 2564

มีทางลัดไหม

คุณหมอสันต์ครับ

จริงหรือครับที่ว่าคนเรานี้จะหลุดพ้นจากความทุกข์ใจแล้วเป็นสุขตลอดกาลได้ แบบว่าเป็นอรหันต์ มีตัวอย่างให้เห็นสักคนไหม เป็นไปได้หรือ ถ้าเป็นไปได้ มันมีทางลัดไหม แบบว่าไม่ต้องทำอะไรแบบมองด้วย common sense ก็รู้แล้วว่ามันไม่ใช่

ขอบพระคุณครับ ถ้าคำถามผมกระเทือนมาก คุณหมอไม่ต้องตอบก็ได้ แต่ผมได้ถามแล้วสบายใจละ

…………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าว่าเป็นไปได้ไหมที่คนเราจะหลุดพ้นจากความทุกข์ใจได้แบบอรหันต์ ตอบว่า ก่อนอื่นขอไม่พูดถึงคำว่าอรหันต์ก่อนนะเพราะผมเองไม่เข้าใจว่าหมายความว่าอย่างไร ตัวผมรู้จักแต่อรหันต์จี้กง หิ หิ ซึ่งคงไม่เหมือนอรหันต์ที่คุณพูดถึง ผมจะขอปรับคำถามของคุณเสียใหม่ว่า “เป็นไปได้หรือที่คนเราจะมีประสบการณ์กับบางอย่างที่ไม่ใช่แค่การสรุปจากคอนเซ็พท์หรือความจำหรือจินตนาการเดิมๆ แต่เป็นอะไรที่ใหม่จ๊าบอย่างแท้จริงชนิดเราไม่เคยรู้เคยเห็นโดยสมองก้อนนี้มาก่อนเลย และประสบการณ์นั้นพาเราให้หลุดพ้นจากการเป็นทาสของความคิดของเราได้” ซึ่งผมขอตอบว่า.. เป็นไปได้ครับ

2.. ถามว่าถ้าเป็นไปได้แล้วหมอสันต์มีตัวอย่างให้เห็นตัวเป็นๆสักคนหนึ่งไหม ตอบว่าสำหรับคุณ ตัวอย่างที่คุณจะเห็นได้ก็คือตัวคุณเองนั่นไง หลังจากที่คุณได้อ่านและลงมือทำตามที่ผมตอบจดหมายคุณในวันนี้อย่างจริงจังทุกวันๆไปจนถึงวันหนึ่ง อย่าลืมว่านี่เรากำลังพูดถึงการมี “ประสบการณ์” ใหม่นะ นอกจากตัวคุณเองแล้ว ลิงที่ไหนจะมามีประสบการณ์ใหม่แทนคุณได้ละครับ

3.. ถามว่ามีทางลัดที่จะให้กระโดดจากภาวะที่อยู่ในกรงของความย้ำคิดซ้ำซากที่ปั้นแต่งขึ้นจากความจำจากอดีตและจินตนาการถึงอนาคตของตัวเราเองไหม ตอบว่ามีทางลัดนะ แต่ว่ามันต้องใช้แรงอัดระดับระเบิดปุ้งมันจึงจะลัดได้ หากแค่การประนีประนอมกับความคิดโน่นนิดนี่หน่อยมันจะไม่เวอร์ค ถ้าคุณสนใจจะเดินทางลัดนี้ ผมจะชี้โพรงให้

การจะลัดสั้นตรง คุณต้องรับรู้ (aware) ทุกวินาทีถึงสัญชาติญาณแห่งสัตว์ในตัวคุณเอง ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความทะยานอยาก และการวิ่งไล่ตามแรงปรารถนาของตัวเอง ต้องสนใจที่จะรับรู้มันทุกช็อต คอยรับรู้เพื่อจะรู้ไว้เฉยๆนะ รับรู้ตามที่มันเป็น ตรวจสอบกำพืดของมันได้ แต่ไม่ต้องไปพิพากษาตัดสิน ไม่ต้องไปปกป้องอีโก้ หรือตีโต้ แต่จดจ่อรับรู้ไปทีละความคิดๆ ทุกความคิด ไม่ว่าจะดิบๆหรือจะตกแต่งหน้าตามาอย่างดีแล้วก็รับรู้หมด นั่งมอง นั่งฟัง รับรู้แบบรู้เช่นเห็นชาติ ความคิดไหนที่มาบ่อยก็รับรู้จนจำหน้าได้ จนรู้เจตนาของแต่ละความคิดแบบอ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ ทำอย่างนี้ไป ถึงจุดหนึ่งสมองของคุณที่คอยแต่จะเรียกร้องหรือกระแนะกระแหนเอากับคุณมากเหลือเกิน ถึงจุดหนึ่งมันจะนิ่ง อึ้ง..กิมกี่ ราวกับว่าคุณรู้ไต๋มันหมดแล้ว มันไปต่อไม่ถูกแล้ว

ประเด็นของผมคือทางลัดเส้นนี้คุณต้องเล่นเอาเถิดเจ้าล่อกับความคิดจนคุณรู้กำพืดของความคิดของคุณอย่างทะลุปรุโปร่ง รู้ด้วยว่าบางครั้งมันตบตาคุณหน้าด้านๆอย่างไร รู้เช่นเห็นชาติว่าการที่คุณถูกสอนให้ตั้งชื่อให้เรียกสิ่งนั้นว่านั่นสิ่งนี้ว่านี่ก็ดี การจดจำเรื่องเก่าไว้ก็ดี การจินตนาการสิ่งที่ไม่มีจริงว่ามันจะเกิดในอนาคตก็ดี การพิพากษาหรือประเมินว่าสิ่งนั้นเป็นยังโง้น สิ่งนี้เป็นยังงี้ก็ดี ล้วนเป็นกับดัก “ขี้” ที่คุณหลงติดอยู่ตั้งนาน

คนเราเนี่ยเป็นทาสคำพูดหรือภาษานะ เราติดหนึบอยู่กับคำพูด สัญลักษณ์ แบรนด์ หรือไอเดีย อย่างเหลือเชื่อเลยทีเดียว การจะเลิกทาสนี้ได้ มันเท่ากับว่าตัวเราต้องกลายพันธ์อย่างกะทันหัน ผมหมายถึงว่าเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังตีนโดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย เหมือนอย่างที่วงการแพทย์เขาใช้คำว่า mutation กับการเปลี่ยนพฤติการณ์ของเซลหรือของเชื้อโรค คือต้องเปลี่ยนตัวตน (change identity) ไปจากการเป็นคนคนนี้ไปเป็นอะไรก็ได้ที่เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ไม่เกี่ยวอะไรกับคนคนนี้เลยนั่นเชียว

วิธีนี่แม้ผมจะเรียกว่าเป็นวิธีลัดแต่ก็ใม่ใช่ว่าจะทำสำเร็จในเวลาที่นับกันเป็นวัน มันเป็นกระบวนการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องวันแล้ววันเล่าไปพร้อมๆกับการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ทำไปจนสมองเลิกสร้างภาพหรือเลิกกุเรื่องตอแหลใดๆมาตบตาคุณได้อีก ทำไปจนเหมือนคุณได้จับสมองของคุณแก้ผ้าล่อนจ้อนไม่อาจปกปิดซ่อนเร้นอะไรคุณได้อีก ไม่อาจกอดเกี่ยวความมั่นคงหรือุซุกซ่อนอยู่ในที่ลี้ภัยหรือหลบหนีไปที่ไหนได้อีกแล้ว เมื่อนั้นแหละ คุณจะเกิดความรู้จักอัตตาของคุณ (self knowledge) อย่างจริงแท้ถึงกึ๋น ว่าที่คุณคิดยังงั้น รู้สึกยังงั้น ทำยังงั้น มันสืบเนื่องมาจากอะไร ต่อจากนั้นใจของคุณมันจึงจะหยุดนิ่งแบบอึ้ง..กิมกี่ คือมันหมดมุก หมดความคิด ว่าง ตกงาน สูญสิ้นทุกอย่าง เมื่อนั้นแหละ ปั้ง..ง ทางลัดเปิดแล้ว ความรู้แบบใหม่ราวกับหุ่นยนต์ถูกกดสวิสต์ดาวน์โหลดข้อมูลจากก้อนเมฆก็จะโผล่ขึ้นมา มาแบบไม่เกี่ยวอะไรกับสิ่งแวดล้อม สังคม สิ่งเร้า ความจำ หรือประสบการณ์ใดๆทั้งสิ้น และคุณก็ไม่ต้องหวังดีพยายามช่วยการดาวน์โหลดนะ เพราะยิ่งคุณพยายามช่วยพยายามแทรกแซงก็จะยิ่งไปบล็อคให้สิ่งที่จะเข้ามาไม่ให้เข้ามา เพราะว่าคุณจมอยู่ใน “ขี้” ของอดีตมานานเกินไป ไม่ว่าคุณจะคิดพูดทำอะไรมันก็พาลจะมีขี้ติดมาด้วยทั้งนั้น ดังนั้น คุณอยู่เฉยๆดีที่สุด ไม่ต้องช่วย แล้วการปลดแอกคุณออกจากกรงของความคิดจะเกิดขึ้นเองแบบอัตโนมัติ

ถ้าคุณไม่เชื่อผม ให้กลับไปอ่านคำตอบข้อที่ 2. ที่ว่า ลิงที่ไหนจะ.. (ฮิ ฮิ ฮิ ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

09 ธันวาคม 2564

การสร้างสรรค์(Creativity) เป็นแฝดผู้น้องของความสุขสงบเย็น (Peace and Joy)

เมื่อวันที่ 9 ธค. 64 นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ได้พูดในโอกาสรับโล่ห์ประกาศเกียรติคุณเป็นบุคคลคุณภาพแห่งปี (Quality Persons of The Year 2021) ด้านสาธารณสุข จากท่านองคมนตรี เกษม จันทร์แก้ว ซึ่งจัดพิธีประกาศเกียรติคุณโดยมูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ที่แกรนด์บอลรูม โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น (คัดย่อ)

ผู้ถาม

ช่วยเล่าชีวิตของคุณหมอ

นพ.สันต์

“..ผมเป็นคนไม่จำอดีตนะ ผมชอบให้ใจของผมกลวงๆว่างๆไว้อย่างนี้แหละ อย่าไปพูดถึงมันเลย มาพูดถึงสิ่งที่มสวท.พยายามจะทำดีกว่า คือการพยายามจะโปรโมทให้คนช่วยกันสร้างสรรค์สังคม ประเด็นที่ผมอยากจะพูดก็คือ “การสร้างสรรค์” นี่แหละ

คนเราเกิดมาก็เพื่อมาใช้ชีวิตอย่างสุขสงบเย็นและสร้างสรรค์ ทั้งสองอย่างนี้ ผมหมายถึง “ความสุขสงบเย็น” กับ “การสร้างสรรค์” มองเผินๆแล้วไปกันไม่ได้ เพราะโดยนิยามของความสุขสงบเย็นก็คือการที่เราตื่นอยู่ ดำรงอยู่ โดยปราศจากความคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดที่มุ่งปกป้องหรือค้ำจุนอัตตาของเราเอง ในขณะที่ในการสร้างสรรค์นั้นเราต้องอาศัยความคิดจินตนาการเยอะแยะมากมาย ขึ้นชื่อว่าความคิด ย่อมเป็นที่รู้กันดีว่ามันเป็นต้นเหตุของความทุกข์ ต้นเหตุของความไม่สุข ไม่สงบ ไม่เย็น แต่ที่ว่ามานี้เป็นความจริงเฉพาะเมื่อความคิดจินตนาการนั้นเป็นความคิดชนิดที่มีพื้นฐานอยู่บนความพยายามที่จะปกป้องสำนึกว่าเป็นบุคคลหรือ identity ของตัวผู้คิดเอง ซึ่งเผอิญความคิดชนิดนี้เป็นพื้นฐานของจินตนาการที่ผลิดอกออกผลมาเป็นการสร้างสรรค์ต่างๆอย่างที่เห็นกันเป็นส่วนใหญ่ทั่วโลกทุกวันนี้ จนยิ่งสร้างสรรค์กันมาก บรรดาชีวิตต่างๆในโลกและตัวโลกเองก็ยิ่งถูกทำลายไปมากขึ้น

การสร้างสรรค์ที่แท้จริงมาจากพลังปัญญาอีกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นนอกกรอบของอัตตาหรือ identity ของเรา คือเมื่อเราวางความคิดชนิดที่จะปกป้องอัตตาเราลงเสียได้สนิท เราก็จะเข้าสู่ภาวะสุขสงบเย็น คือตื่นอยู่ รู้ตัวอยู่ สบายๆ แต่ไม่มีความคิด มีแต่นิ่งๆและเงียบๆ นี่เป็นปฐมเหตุก่อน ณ ที่ตรงนี้แหละ ปัญญาอีกชนิดหนึ่งที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์อย่างยิ่งจะเกิดขึ้น ผมเรียกว่าปัญญาญาณ หรือ intuition ก็แล้วกัน การสร้างสรรค์แบบนี้จะเป็นของแท้ที่ไม่เป็นไปเพื่อตัวเอง แต่เป็นไปเพื่อชีวิตอื่นหรือเพื่อโลก คือการสร้างสรรค์ที่แท้จริง เป็นแฝดผู้น้องของความสุขสงบเย็น

ดังนั้นมันจึงจำเป็นที่มนุษย์ทุกคนจะต้องเรียนรู้ทักษะที่จะมีชีวิตอยู่อย่างสุขสงบเย็นด้วยตัวเองให้ได้เสียก่อน ซึ่งทักษะนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการฝึกวางความคิด ซึ่งวิธีฝึกที่ได้ผลแน่นอนในทางปฏิบัติก็คือการทำ meditation ซึ่งหมายถึงสิ่งที่ใกล้เคียงกับที่ชาวพุทธเราฝึกปฏิบัติสมาธิวิปัสนานั่นแหละ คือต้องวางความคิดที่จะปกป้องอัตตาตัวเองลงก่อน เพื่อให้มีชีวิตอย่างสุขสงบเย็นให้ได้ก่อน หลังจากนั้นการสร้างสรรค์ที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้นจากทุกๆคนอย่างไม่มีขีดจำกัด แล้วโลกนี้ก็จะกลายเป็นโลกที่น่าอยู่สำหรับทุกชีวิต”

ผู้ถาม

ที่เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ ที่มวกเหล็ก คุณหมอได้สร้างสรรค์อะไรไว้บ้าง และจะทำอะไรต่อไปอีกในอนาคต

นพ.สันต์

เมื่อห้าปีก่อน ผมกับเพื่อน ซึ่งบังเอิญเป็นวิศวกร ชื่อคุณวิเวก เราสองคนได้ร่วมกันตั้งศูนย์สุขภาพเวลเนสวีแคร์ขึ้นมาด้วยความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าของการดูแลสุขภาพของคนในชาติเสียใหม่ จากการที่มุ่งหน้าเข้าโรงพยาบาล รับการรักษา ผ่าตัด ทำบอลลูน กินยา ซึ่งเราก็รู้ๆอยู่จากข้อมูลวิจัยใหม่ๆว่ามันได้ผลน้อย เพราะโรคสมัยนี้มันเป็นโรคไม่ติดเรื้อรังซึ่งวงการแพทย์รักษาไม่หาย เราจะเปลี่ยนสังคมไทยมาสู่แนวทางการดูแลสุขภาพด้วยตนเองด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตเช่นอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการความเครียดเป็นต้น สโลแกนของเราคือ prevent and reverse หมายถึงว่าป้องกันและพลิกผันโรคด้วยตนเอง ซึ่งตลอดห้าปีที่ผ่านมาเราทำแต่เรื่องนี้เรื่องเดียวมาตลอด แม้ว่าจะยังมีผลอยู่ในวงแคบเฉพาะผู้ป่วยที่มาที่เรา แต่เราก็ยังมุ่งมั่นที่จะทำให้มันแผ่ขยายในวงกว้างยิ่งๆขึ้นไป

ส่วนในอนาคตเวลเนสวีแคร์จะทำอะไรต่อไปนั้น เมื่อเราตั้งชื่อเราเองว่าเวลเนสวีแคร์ เราก็ต้องมุ่งทำทางด้านเวลเนสให้ครบวงจร แล้วคำว่า Wellness นี้จริงๆแล้วมันหมายความว่าอย่างไรหรือ ตัวศัพท์จะหมายความว่าอย่างไรมันไม่สำคัญดอก สำคัญที่คนส่วนใหญ่หรือคนทั้งโลกเขาอยากจะให้มันหมายความว่าอย่างไร การวิจัยผู้บริโภคของบริษัทเมคเคนซี่เมื่อเร็วๆนี้พบว่าผู้บริโภคได้ตีความหมายของเวลเนสไว้ว่ามันหมายถึง 6 เรื่องต่อไปนี้ คือ

  1. การมีสุขภาพดี
  2. การมีโภชนาการที่ดี
  3. การมีฟิตเนส หมายถึงร่างกายแข็งแรงกระปรี้กระเปร่า
  4. การมีสติดี หมายถึง mindfulness ซึ่งหมายความต่อไปถึงความไม่เครียด
  5. การนอนหลับดี
  6. การดูดี หรือ good appearance หรือ look good

ทั้งหกอย่างนี้คือนิยามของคำว่าเวลเนสตามเจตนาของผู้บริโภคส่วนใหญ่ ในอนาคตเวลเนสวีแคร์ก็จะทำทั้งหกอย่างนี่แหละ สี่อย่างแรกคือสุขภาพดี โภชนาการดี มีฟิตเนส ฝึกสติ ที่เวลเนสวีแคร์ได้ทำมาต่อเนื่อง คือมีคอร์สสอนการป้องกันและพลิกผันโรค สอนการทำอาหารพืชเป็นหลักซึ่งเป็นอาหารป้องกันและรักษาโรค และทุกเดือนก็เปิด spiritual retreat เพื่อสอนการวางความคิดเพื่อยังผลให้คลายความเครียด เหลืออีกสองอย่างคือการช่วยให้คนที่มีปัญหาการนอนหลับให้หลับได้ดี และการทำให้ตัวเองดูดีนั้น เราจะเริ่มทำในปีใหม่นี้ ในรูปของโปรแกรมฟื้นฟูการนอนหลับหรือ sleep program และโปรแกรมที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุ “แปลงร่าง” ของตัวเองจากการเป็นคนหลังค่อมงกๆเงิ่นๆไม่มั่นใจ ให้กลายเป็นคนหลังตรงเคลื่อนไหวกระฉับกระเฉงมีความมั่นใจยิ้มง่ายใจดี นั่นคือสิ่งใหม่ที่เราจะทำ

แต่ที่สำคัญกว่าการขยายกิจกรรมไปครอบคลุมเวลเนสทั้งหกด้าน ก็คือความตั้งใจของเราที่จะให้การป้องกันและพลิกผันโรคด้วยตนเองนี้แพร่ขยายออกไปจนเป็นวิถีชีวิตของคนไทยทั่วประเทศโดยอาศัยอำนาจอิทธิพลของอินเตอร์เน็ทเป็นตัวช่วย นั่นคือสิ่งที่เราหมายมั่นปั้นมือจะทำในอนาคตอันใกล้นี้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

05 ธันวาคม 2564

นักศึกษาแพทย์เห็นภาพหลอนเป็นรูปศาลเจ้าและเจ้าที่

สวัสดีครับคุณหมอสันต์ ผมมีปัญหาเรื่องบุตรชาย จะขออนุญาตเรียนปรึกษาคุณหมอน่ะครับ
บุตรชายอายุ 20 ปี เป็นนักศึกษาแพทย์ ปีที่ 2 มหาวิทยาลัย … โครงการร่วม … (ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศ … ครับ)
แกมีปัญหาเห็นภาพหลอนเป็นรูปศาลเจ้าที่ต่างๆอยู่แทบจะตลอดเวลา และกลัวว่าจะโดนทำร้าย อาการเป็นหนักมากขึ้นเรื่อยๆ จนรบกวนการเรียน การนอนและการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป
บุตรชายแกคิดว่าแกเป็นโรคจิต OCD ครับ แต่ไม่รู้จะแก้ไขยังไง
ใน case นี้ แนวทางในการรักษาหรือแก้ไข ควรทำอย่างไรดีครับ บุตรชายจะกลับมาจังหวัด … ช่วงปิดเทอม ต้นปีหน้าก็จะกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศ … ครับ ถ้าจะขอความกรุณาคุณหมอรับบุตรชายของผมเป็นคนไข้ประจำของคุณหมอ ไม่ทราบว่าจะเป็นการรบกวนเกินไปหรือไม่ครับผม ผิดพลาดประการใด ผมขออภัยมา ณ ที่นี้ครับ

ขอแสดงความนับถือ

………………………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ขอตอบคำถามเรื่องการรับผู้ป่วยใหม่ก่อนนะครับ ว่าหมอสันต์ ณ วันนี้ปลดชราแล้ว ไม่รับดูแลผู้ป่วยแล้ว ได้แต่ให้คำปรึกษาทางบล็อกโดยมีข้อแม้ว่าต้องให้คนทั่วไปได้อ่านด้วยเพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ในการดูแลสุขภาพตนเอง การตอบคำถามแบบตัวต่อตัวก็ไม่รับตอบ ไหนๆพูดมาถึงตรงนี้แล้วขอพูดเลยไปถึงว่าท่านที่เขียนมาแล้วระบุว่าขออย่าเอาจดหมายลงบล็อกนั้น จดหมายของท่านจะไม่ได้รับการตอบเลยไม่ว่าเมื่อใด เพราะผมไม่ตอบจดหมายเป็นการส่วนตัว ให้ท่านรออ่านประเด็นที่ท่านถามเอาจากจดหมายของคนอื่นที่มีเนื้อหาคล้ายๆกันที่ลงให้อ่านในบล็อกก็แล้วกัน

2.. ถามว่าเห็นภาพหลอนเป็นรูปศาลเจ้า รูปเจ้าที่ต่างๆ และกลัวว่าจะโดนทำร้าย เป็นโรค OCD ใช่ไหม ตอบว่าอย่าไปเอาชื่อโรคทางจิตเวชโรคใดโรคหนึ่งมาสะแต๊มป์ให้เป็นตราของตัวเองเลยครับ มันไม่สร้างสรรค์อะไร เพราะเสียงก็ดี ภาพก็ดี (names and forms) จะเราเห็นหรือได้ยินคนเดียว หรือจะมีคนอิ่นร่วมเห็นร่วมได้ยินด้วยหรือไม่ ไม่สำคัญ ทั้งหมดนั้นมันคือ “ความคิด” อย่าไปเรียกว่าเป็นโรคอะไรเลย เอาเป็นว่าเราเป็นคนมีความคิดแยะและซ้ำซากมากเกินความจำเป็น แถมเรายังเผลอไป “อิน” กับความคิดเหล่านั้นเป็นตุเป็นตะจนไม่เป็นอันใช้ชีวิตแบบคนอื่นเขา ความผิดปกติของเรามีอยู่แค่นี้ก็แล้วกัน อย่าเรียกว่าเป็นโรคอะไรเลย

3.. ถามว่าควรมีแนวทางการแก้ไขอย่างใด ตอบว่าสิ่งแรกที่พึงทำคือการไปรักษากับจิตแพทย์ เพราะการมีความคิดแยะเกินไปจนไม่เป็นอันเรียนอันทำงานนั้นมันไม่ใช่โรคทางกาย แต่เป็นโรคทางใจ ซึ่งจิตแพทย์เขาฝึกฝนที่จะรับมือกับโรคแบบนี้อยู่แล้ว

คู่ขนาดไปกับการรับการรักษากับจิตแพทย์ ก็คือการฝึกวางความคิดด้วยตนเอง ในกรณีที่ความคิดมันแยะเกินขนาดอย่างนี้ขั้นตอนแรกก็คือการฝึก “เพิกเฉย” หรือ ignore ความคิดนั้นเสีย หมายความว่าความคิดไหนที่เรารู้อยู่แล้วว่ามันไม่จริงเราก็เพิกเฉยเสีย แต่ถ้าเราไม่รู้ว่ามันจริงหรือไม่จริง เราก็ถามคนข้างๆสิ เช่นถามเพื่อนว่าคุณเห็นศาลเจ้าตั้งอยู่ตรงนั้นไหม ถ้าเพื่อนบอกว่าไม่เห็นก็แสดงว่าศาลเจ้านั้นเป็นของที่เราเห็นคนเดียว เราก็เพิกเฉยต่อภาพนั้นเสีย หรือได้ยินเสียงคนพูดก็ถามเพื่อนว่าคุณได้ยินไหม ถ้าเพื่อนไม่ได้ยิน เราได้ยินชัดๆเหน่งๆอยู่คนเดียว เราก็เพิกเฉยต่อเสียงนั้นเสีย หันมาสนใจอะไรที่มันอยู่ตรงหน้าที่มันเป็นของจริงแน่ๆ อย่างเช่นลมหายใจเข้าออกของเรานี้มันเป็นของจริงๆแน่ๆ เราสนใจตรงนี้อยู่บ่อยๆดีกว่า เทคนิคในการวางความคิดผมตอบไปแล้วบ่อยมาในบล็อกนี้ ให้หาอ่านเอาเอง เช่นที่บทความนี่ วันนี้ผมขอแค่สรุปสั้นๆนะว่าให้ฝึก

(1) ดึงความสนใจ (attention) ออกมาจากความคิด

(2) เอาความสนใจมาอยู่กับลมหายใจเข้าออก (breathing)

(3) ผ่อนคลายร่างกาย (relaxation) ขณะหายใจออกแต่ละครั้ง

(4) รับรู้ความรู้สึกต่างๆบนร่างกาย (body scan)

(5) สังเกตดูความคิด (aware of a thought)

(6) จดจ่อสมาธิ (concentrate) อยู่กับอะไรสักอย่างแบบง่วนอยู่นานๆโดยผ่อนคลายไปด้วย

(7) ถ้าง่วงหรือซึมเซาให้ขยันกระตุ้นตัวเอง (alertness) ให้ตื่นมาอยู่กับเดียวนี้

ให้ฝึกใช้เทคนิคทั้งเจ็ดอย่างสลับสับหว่างกันไปในการวางความคิดด้วยตัวเอง หรือปิดเทอมจะมาเข้า Spiritual Retreat เพื่อฝึกปฏิบัติต่อหน้าผมตรงๆก็ได้

4.. ถามว่าป่วยทางใจอย่างนี้แล้วอนาคตจะเป็นแพทย์ได้หรือ ตอบว่าได้สิครับ คนเรานี้เกิดมามีใครบ้างไม่เคยป่วยทางใจ การเป็นนักศึกษาแพทย์แต่ต้องรับการรักษากับจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องแปลก มีนักศึกษาแพทย์จำนวนมากต้องรับการรักษากับจิตแพทย์ช่วงเรียน แล้วก็จบไปเป็นแพทย์ที่ดีได้ถมถืด ที่ต้องพักการเรียนไปชั่วคราวแล้วกลับมาเรียนใหม่แต่ก็จบไปเป็นแพทย์ได้ก็มี ดังนั้นอย่าไปกังวลถึงวันพรุ่งนี้ อย่าไปสนใจอะไรภายนอกมาก ให้หันเข้าข้างในตัวเอง ฝึกเพิกเฉยหรือวางความคิดซ้ำซากไร้สาระที่เกิดขึ้นในขณะนี้ลงไปเสีย ขณะอื่นไม่ว่าจะเป็นอดีตอนาคตอย่าไปสนใจเลย

ความเป็นคนหนุ่มคนสาวมีจุดเด่นอยู่ที่การมีพลัง attention แยะ แต่มักเผลอเอาพลัง attention นั้นไปขลุกอยู่ในความคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดในลักษณะจินตนาการ ซึ่งเผอิญ 80% เป็นจินตนาการในทางร้าย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมสอนให้เยาวชนฝึกจินตนาการกุเรื่องร้ายๆขึ้นมาจากความไม่มีอะไรเลย เช่นสอนให้เด็กกลัวผี เป็นต้น แนวทางหลักในการแก้ปัญหาจึงต้องโฟกัสอยู่ที่การถอยความสนใจออกมาจากความคิดมาอยู่กับของจริงที่เดี๋ยวนี้ เช่น ลมหายใจ หรือความรู้สึกบนร่างกาย หรืออะไรที่จดจ่อสมาธิได้ที่เดี๋ยวนี้เป็นสำคัญ เมื่อถอยความสนใจออกมาจากความคิดได้ ความย้ำคิดต่างๆมันจะมอดไปเอง เพราะหากปราศจากความสนใจไปให้พลังงานแก่มัน ความคิดจะกลายเป็นหมาน้อยธรรมดาเท่านั้นเอง ไม่มีอำนาจอิทธิพลอะไรที่จะทำให้ใครเป็นบ้าได้หรอก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

03 ธันวาคม 2564

เรื่องไร้สาระ (23)โปรเจ็คสวนผักกระถาง

อากาศเย็น ตะวันอ้อมข้าว สวนผักประหยัดขาที่นอกหน้าต่างห้องครัวของผมก็พลอยเดี้ยงไปด้วย เพราะพอตะวันอ้อมไปทางป่าไม้สักหลังบ้าน เงาไม้ก็บังแดดไว้หมด ผักก็ไม่โต แถมอ่อนแอจนถูกหอยรังแกเหลือแต่ตอ

จะทำอย่างไรคอนเซ็พท์ปลูกผักไว้ใกล้ๆไม่ต้องเดินไปเก็บไกลจึงจะสำเร็จ แล้วก็คิดถึงครั้งหนึ่งนานมาแล้วไปเยี่ยมเพื่อนบ้านท่านหนึ่งในกรุงเทพฯ วันที่ยืนคุยกันอยู่บนระเบียงบ้านนั้นเขากำลังสั่งการให้ยามเฝ้าบ้าน (ยามจริงๆที่แต่งเครื่องแบบคล้ายตำรวจทหาร) ยกกระถางดอกไม้ต้นนั้นมาทางนี้ ย้ายกระถางดอกนี้ไปทางโน้น ปากก็บรรยายให้ผมฟังว่าต้นนี้มันไม่ชอบแดด อยู่ตรงนี้ไม่เหมาะ ต้นนั้นนึกว่าจะทนร่มแต่เอาเข้าจริงๆก็อยู่ไม่ได้ต้องย้ายไปที่แดดมากขึ้นหน่อย อย่างนี้เป็นต้น ผมจึงคิดว่าเออ ปลูกผักในกระถางก็ไม่เลวนะ ฤดูไหนแดดไม่มีก็ย้ายกระถาง ประกอบกับที่หน้าเล้าไก่ตอนนี้ต้นคูนซึ่งปลูกจากเมล็ดอายุเกือบยี่สิบปีได้แห้งตายลงพร้อมๆกับเพื่อนร่วมรุ่นของมันซึ่งพากันแห้งตายทั่วราชอาณาจักร ทำให้มีพื้นที่ว่างเล็กๆหน้าเล้าไก่ที่แดดส่องลงมาได้บ้าง โปรเจ็คสวนผักกระถางจึงเกิดขึ้น

เริ่มต้นก็ต้องไปซื้อกระถางมาก่อน เห็นในร้าน 20 บาทในตลาดมวกเหล็กมีกระถางพลาสติกสีดำชนิดหนึ่งทำรูปทรงแบบถังไม้โอ้คผ่าซีกเข้าท่าดี ราคา 20 บาท ผมจึงซื้อมาหลายใบอยู่ วันหนึ่งเพื่อนบ้านมาเยี่ยมเห็นกระถางแบบนี้เข้าก็ชอบใจตามไปซื้อบ้าง เจ้าของร้านบอกว่า

“หมดแล้ว วันก่อนลุงคนหนึ่งแกมาเหมาไปหมด”

ฮ่า ฮ่า ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

สมัยเรียนเกษตรแม่โจ้จำได้ว่าวิชาไม้ดอกไม้ประดับบอกว่าการใช้จานรองกระถางจะช่วยทอดระยะการรดน้ำให้ห่างออกไปได้ถึงสองสัปดาห์ เพราะน้ำที่ขังอยู่ในจานรองใต้กระถางจะค่อยๆซึมขึ้นมาเลี้ยงราก ผมจึงกะจะเหมาจานรองกระถางแบบทำจากพลาสติกไปด้วย แต่พอเจอราคาก็จ๋อยไป เพราะใบละ 20 บาท เท่ากับตัวกระถางใบบะเร่อเลย โห แค่จานรองเนี่ยนะ ช่างไม่ยุติธรรม ไม่ซื้อดีกว่า

กระถางแบบนี้ลุงคนหนึ่งมาเหมาไปหมดแล้ว

นับกระถางทั้งที่เก็บเอาจากของเก่าถูกทิ้งๆขว้างๆกับของที่ซื้อมาใหม่ก็ได้ร่วมยี่สิบกระถาง จากนั้นก็เป็นการเตรียมดิน สูตรของผมก็ง่ายๆ ดินหนึ่งส่วน แกลบเก่าหนึ่งส่วน ปุ๋ยใบไม้ที่หมักไว้เองที่ตีนเขาอีกหนึ่งส่วน คลุกเคล้าเข้ากันดีแล้วก็ตักแจกลงกระถางรูปทรงต่างๆ แยกย้ายกันวางบนดินบ้าง บนโต๊ะบ้าง บนม้านั่งกลางแดดบ้าง เออ การวางกระถางนี่ก็เป็นงานศิลปะอีกแขนงหนึ่งเชียวนะ วางยังไงก็ได้ให้ดูระเกะระกะ แต่เท่

แล้วก็เริ่มงานเพาะในกระถางเล็กๆก่อน ผมมีเมล็ดผักค้างปีอยู่หลายอย่างจึงเอาออกมาเพาะ หนึ่งอย่างก็หนึ่งกระถาง ตอนไปซื้อดอกกุหลาบที่สวนกุหลาบที่เขาใหญ่ได้ป้ายชื่อพลาสติกเล็กๆมาหลายอันจึงเขียนชื่อผักที่เพาะเสียบไว้ตรงของกระถาง การมีป้ายชื่อทำให้สวนกระถางของผมดูมีระดับขึ้นมาทันที ผักที่เพาะมีหลายอย่างสุดแล้วแต่ว่าจะมีเมล็ดอะไรเหลืออยู่ในกล่องเมล็ดพันธ์ เช่นผักสลัด โหระพา แมงลัก สะระแหน่ ผักแพว ผักบุ้ง พริก มะเขือเทศ ดอกทานตะวัน ข้าวโพดข้าวเหนียว ถั่วฝักยาว ถั่วลิสง เป็นต้น มีเพื่อนคนหนึ่งให้เมล็ดหญ้านวลน้อยมานานแล้ว ผมจึงเอามาลองเพาะในกระถางดูด้วย

ถังนมเก่านี่แหละแทนโอ่ง เพราะว่าที่นี่มวกเหล็ก จะเอาโอ่งจากไหน

เพาะเมล็ดจบแล้วก็ต้องรดน้ำ จะต่อสายยางมาฉีดก็ได้นะ แหม แต่มันเป็นการทำสวนที่ไม่โรแมนติกเลย หาโอ่งมาตั้งแล้วเอาฝักบัวตักรดดีกว่า หันไปหันมาไม่มีโอ่ง มีแต่ถังนมเก่าเหลืออยู่ใบหนึ่ง เออ เอาถังนมนี่แหละ เพราะว่าที่นี่มวกเหล็ก จะหาโอ่งจากไหน

ผมตักน้ำจากถังนมไปรดน้ำด้วยบัวเล็กๆแบบปลายกุด เข้าใจว่าฝักบัวหล่นหายไปหรือว่าหมอสมวงศ์ซึ่งไม่สันทัดเรื่องเกษตรซื้อบัวปลายกุดนี้มาก็ไม่ทราบ แต่การรดน้ำด้วยบัวรดน้ำเล็กๆไปตามกระถางเล็กกระถางน้อยซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนโต๊ะเก่าและเก้าอี้เก่า เป็นความบันเทิงอย่างหนึ่งของชีวิตทีเดียว

แล้วผมต้องเข้ากรุงเทพฯสองสามวัน กลับมาถึงมวกเหล็กผมรีบไปสำรวจกระถางเพาะเมล็ดด้วยความตื่นเต้นว่าจะมีเมล็ดอะไรงอกออกมาแล้วบ้าง แล้วก็ไม่ผิดหวัง มีกระถางหนึ่งงอกออกมาแล้ว..ว…ว เขียวสลอนน่ารัก เข้าไปอ่านป้ายดูซิว่าเป็นผักอะไร ปรากฎว่าเป็น

“หญ้านวลน้อย”

โห ช่างเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ซะ หมอสันต์สามารถเพาะหญ้านวลน้อยขึ้นเป็นต้นได้ด้วย หิ หิ

หนึ่งเดือนต่อมากล้าผักหลายชนิดก็ขึ้นเบียดเสียดยัดเยียดกันสลอนรอเจ้าของมาย้ายไปปลูก แต่ผมก็ไม่มีเวลาย้ายเพราะยุ่งอยู่กับการสอนแค้มป์ต่าง วันหนึ่งหมอสมวงศ์ถามว่าที่สวนของผมมีแมงลักไหมจะทำแกงเลียง ผมกลัวเสียฟอร์มจึงตอบว่ามี มี มี ว่าแล้วก็ไปตัดยอดกล้าแมงลักกำใหญ่มาให้ด้วยคิดว่าตอที่เหลือมันจะแตกใบใหม่อีก แต่ผลปรากฎว่ามันตายเรียบ สรุปว่าเม็ดแมงลักหนึ่งซอง ปลูกรดน้ำแล้วทำแกงเลียงได้หม้อเดียว

สวนกระถางของผมประสบความสำเร็จด้วยดี แต่ว่าจำเป็นต้องมีโปรเจ็คต่อยอด เพราะกล้าพริก กล้าผักหลายชนิดไม่สามารถจบแค่ในกระถางได้ ต้องย้ายไปลงแปลงปลูก จึงต้องเดือดร้อนลงไปเตรียมแปลงปลูกผักระดับ commercial scale ที่หน้ากระต๊อบสองคนกับลุงดอนเหย็งๆ ขุดพลิกดินเตรียมแปลงอยู่หลายวันก็ยังไม่เสร็จเพราะหญ้ามันแยะ มันหิน มันโหด มันช่างน่าฆ่าจริงๆ วันหนึ่งผมเปรยกับเพื่อนที่มีพื้นเพเป็นชาวสวนด้วยกันถึงความไม่น่ารักของหญ้า เธอก็เห็นด้วยเป็นปี่เป็นขลุ่ยว่ามันต้องยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าหญ้า เท่านั้น คือพากันพูดเพื่อความสะใจแค่นั้นแหละแต่ไม่กล้าใช้หรอก

โปรเจ็คใหม่จะเป็นอย่างไร จะหาเวลาเล่าให้ฟังนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

02 ธันวาคม 2564

เป็นหมอที่ไม่ได้รักษาคนไข้ แต่อยากให้ภูมิแน่น

สวัสดีค่ะ อ.สันต์ 

หนูลาออกจากหมอเพื่อมาเลี้ยงลูกหลายปีแล้วค่ะหนูกลัวความรู้หมอจะหายหมดค่ะ หนูเห็นอาจารย์ความรู้แน่นมาก ไม่ทราบว่าอาจารย์พอจะแนะนำ วิธีทบทวนความรู้ได้ไหมคะ
ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

…………………………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่ากลัวความรู้หายจะทบทวนภูมิให้แน่นอยู่เสมอได้อย่างไร ตอบว่าความรู้ที่เรียนมายังไงมันต้องหายไปตามกาลเวลาอยู่แล้ว แม้คุณจะยังท่องจำได้ขึ้นใจแต่มันก็จะล้าสมัยใช้การไม่ได้อยู่ดี ประมาณว่าครึ่งหนึ่งล้าสมัยไปในเวลาประมาณ 5 ปี ดังนั้นคุณอัดภูมิตัวเองให้แน่นยังไง้ก็ไม่มีประโยชน์เพราะแน่นแต่ใช้การไม่ได้จะมีประโยชน์อะไร ดังนั้นการศึกษาต่อเนื่อง (CME) จึงเป็นวาระหลักของการคงความรู้วิชาแพทย์ให้ใช้การได้ ไม่ใช่การคอยทบทวนภูมิเก่าให้แน่น

2..ถามว่าการศึกษาต่อเนื่องของแพทย์ควรทำอย่างไร ตอบว่าแพทยศาสตร์ศึกษา แก่นของวิธีการคือ problems based learning หมายความว่าตื่นเช้าขึ้นมาทุกวันคุณต้องจับประเด็นปัญหาทางการแพทย์ขึ้นมาเรียงไว้สักสองสามปัญหาก่อนว่าวันนี้จะคุณจะแก้ปัญหาอะไร เอาประเด็นรอบตัวนั่นแหละ เช่นสมมุติว่าตื่นมาวันนี้คุณกำลังจะให้ลูกหย่านมวัวแล้วกังวลว่าลูกจะขาดโปรตีน แค่นี่ก็เป็นประเด็นปัญหาให้คุณศึกษาต่อเนื่องได้เป็นเดือนๆแล้ว ตัวอย่างประเด็นที่คุณจะตั้งขึ้นมาก็เช่น ประเด็นที่ 1. จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกขาดโปรตีน นี่เป็นประเด็นการวินิจฉัยโรค แล้วคุณก็ไปค้นคว้าในอินเตอร์เน็ทถึงวิธีและเกณฑ์วินิจฉัยโรคขาดโปรตีน เพราะเจอร์นาลทุกฉบับอ่านได้จากอินเตอร์เน็ท ไม่ต้องเสียเงิน ให้คุณอ่านผ่าน Sci-Hub ซึ่งผมเคยบอกวิธีไว้นานแล้ว และอย่าแปลกใจนะว่าหลังจากค้นคว้าไปจนเมื่อยลูกกะตาแล้ว คุณพบว่าตัวอย่างเคสโรคขาดโปรตีน (Kwashiorkor) อย่างเดียวเพียวๆช่างหายากเหมือนงมเข็ม หิ..หิ อย่างดีก็พบแต่ตัวอย่างผู้ป่วยขาดอาหารโดยรวมหรือขาดแคลอรี่แล้วพาลพาให้ขาดโปรตีนไปด้วย นี่ก็เป็นความรู้ใหม่จากการศึกษาต่อเนื่องแล้วเห็นแมะ ว่าโรคขาดโปรตีนเพียวๆโดยไม่ขาดอาหารอื่นนั้นแท้จริงแล้วมีน้อยมาก แต่วงการแพทย์เราไปตีปี๊บว่าระวังนะ จะขาดโปรตีน ขาดโปรตีน ขาดโปรตีน โดยที่ของจริงในหลายสิบปีที่ผ่านมาแทบไม่มีตัวอย่างคนป่วยจริงๆให้เห็นเลย

หรือยกตัวอย่างคุณตั้งประเด็นที่ 2. ว่าการไม่ได้กินนมวัวหรืออาหารเนื้อสัตว์จะทำให้เด็กไม่โตจริงหรือไม่ คุณก็ไปค้นคว้าอินเตอร์เน็ทอีกว่าบรรดางานวิจัยในโลกนี้ที่เขาวิจัยเปรียบเทียบความสูงน้ำหนักอายุว่าการกินสัตว์กับไม่กินสัตว์อัตราการเติบโตของเด็กมันจะต่างกันอย่างไร ซึ่งมันก็จะพาคุณแตกประเด็นไปอีก ว่ามีพวกที่ไม่กินสัตว์แต่เสริมวิตามินบี.12 กับพวกที่ไม่ได้เสริมวิตามินบี.12 แล้วก็อย่าแปลกใจนะว่าในทุกงานวิจัยที่เชื่อถือได้จะให้ผลสรุปตรงกันว่าอัตราการเติบโตและพัฒนาการของเด็กไม่ต่างกันเลยระหว่างพวกกินเนื้อสัตว์กับพวกไม่กินเนื้อสัตว์ที่ได้รับวิตามินบี.12 เสริมด้วย

พอคุณเจอผลที่เซอร์ไพรส์ คุณก็ตั้งประเด็นเพิ่มขึ้นได้อีก สมมุติว่าเป็นประเด็นที่ 3. ว่าเอ๊ะ ถ้ากินพืชกับกินสัตว์ก็โตเท่ากัน แล้วหลักวิชาเดิมที่ว่ากรดอามิโนจำเป็นซึ่งเป็นพื้นฐานของโปรตีนนั้นได้มาจากเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์เท่านั้นก็ไม่เป็นความจริงสิ เพื่อจะพิสูจน์คุณก็ไปค้นคว้าในอินเตอร์เน็ทอีกเพื่อตอบคำถามว่ากรดอามิโนจำเป็น (essential amino acid) มันมีโคตรเหง้าศักราชมาจากไหน ใครเป็นผู้ผลิตและจำหน่าย ค้นไปค้นมาแล้วก็อย่าแปลกใจนะว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ยอมเอาตัวเป็นอาหารให้เรากินเช่นหมูวัวแพะแกะพวกเขาก็ล้วนผลิตกรดอามิโนจำเป็นขึ้นในร่างกายไม่ได้เช่นเดียวกับเรานี่แหละ แต่เขาได้มันมาจากพืช เพราะผู้ผลิตและจำหน่ายโปรตีนหรือกรดอามิโนจำเป็นที่แท้จริงคือพืช ไม่ใช่สัตว์ นี่ก็เป็นความรู้ใหม่อีกแระ เห็นไหม

ผลการศึกษาต่อเนื่องในสามประเด็นที่ผมยกตัวอย่างข้างต้นมันเป็นคนละเรื่องกับที่คุณเรียนมาเลย ใช่ไหม เรื่องทำนองนี้ยังมีอีกมาก ผมถึงบอกว่าอย่าไปมัวทบทวนของเก่าซึ่งมันทะยอยล้าสมัยไปแล้ว แต่ให้มุ่งที่การศึกษาต่อเนื่อง

3.. ถามว่าอ้าว ถ้าอย่างนั้นหลักวิชาพื้นฐานต่างๆก็ไม่สำคัญสิ ตอบว่าไม่ใช่อย่างนั้น หลักวิชาพื้นฐานนับตั้งแต่เบสิกไซน์ตอนเรียนเตรียมแพทย์มันยังสำคัญอยู่ แต่คุณไม่ต้องไปนั่งทบทวนเหมือนตอนเรียนหนังสือ แค่เอาปัญหาทางคลินิกเป็นตัวตั้ง หากปัญหาไหนเกิดคำถามลามไปถึงหลักพื้นฐานใดคุณก็ตามไปค้นคว้าทบทวนด้วยเป้าหมายที่จะแก้ปัญหา ยกตัวอย่างเช่นคุณกำลังจะตัดสินใจว่าจะดูแลแม่สามีซึ่งเป็นโรคหัวใจว่าถ้าท่านเกิดฮาร์ดแอทแท็คขึ้นคุณจะช่วยชีวิตท่านอย่างไร คุณอ่านมาตรฐานการช่วยชีวิตขั้นสูง มีแนะนำให้ฉีดโซเดียมไบคาร์บอเนตในขนาด 1 mmol/kg แต่ของที่คุณซื้อมาเตรียมในกระเป๋าฉุกเฉินระบุว่ามีโซเดียมไบคาร์บอเนตอยู่ 84 mg/ml หากเกิดฉุกเฉินขึ้นมาคุณต้องดูดยาเท่าใด คุณก็ต้องถอยกลับไปทบทวนคอนเซ็พท์เรื่องน้ำหนักสมมูล (equivalent weight) แล้วทบทวนโครงสร้างเคมีของโมเลกุลโซเดียมไบคาร์บอเนตว่าประกอบด้วยธาตุโซเดียม คาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน เอาน้ำหนักอะตอมของธาตุแต่ละตัวมาบวกกันว่าน้ำหนักโมเลกุลมันเป็นเท่าใด เพื่อหาต่อไปว่า 1 mmol ของมันจะหนักกี่ mg นี่คุณถอยไปถึงความรู้เบสิกระดับมัธยมปลายสายวิทย์โน่นเลยใช่ไหม แต่คุณถอยไปเพื่อจะแก้ปัญหาทางคลินิกที่อยู่ตรงหน้า ไม่ใช่อยู่ดีๆคุณต้องนั่งเอาหนังสือเคมีม.ปลายมาอ่านทบทวนตั้งแต่หน้าแรกถึงหน้าสุดท้าย

ในเรื่องการทบทวนพื้นฐานของวิชาแพทย์นี้ มันมีข้อยกเว้นอยู่นิดหนึ่งที่ผมมีความเห็นว่าคุณจำเป็นต้องทบทวนท่องจำไว้เสมอคือ 5 มุมมองของการวินิจฉัยและรักษาโรค ผมหมายถึงว่า

มุมที่ 1กายวิภาคศาสตร์ หรืออวัยวะอะไรอยู่ที่ไหน ตับ ไต ไส้ พุง เอานิ้วจิ้มตรงไหนก็หลับตาบอกได้เลยว่าอวัยวะที่อยู่ลึกเข้าไปมีอะไรบ้าง ตรงนี้ต้องหมั่นทบทวน

     มุมที่ 2. คือ อาการวิทยา หรืออาการอะไร ทำให้เป็นโรคอะไรได้บ้าง ถ้าเป็นอาการที่คนไข้เป็นบ่อยการท่องจำไว้บ้างก็ช่วยให้วินิจฉัยได้เร็ว สมัยผมเป็นนักเรียนแพทย์ครูถามว่าคนไข้เจ็บแน่นหน้าอกเป็นอะไรได้บ้าง นักเรียนต้องตอบสวนทันทีว่าเป็นได้เจ็ดโรคครับ (1) กรดไหลย้อน (2) หัวใจขาดเลือด (3) เจ็บกล้ามเนื้อหน้าอก (4) เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (5) เยื่อหุ้มปอดอักเสบ (6) ลิ่มเลือดอุดปอด (7) หลอดเลือดใหญ่ปริแตก เป็นต้น

     มุมที่ 3. คือ สรีรวิทยา หรือ ระบบอวัยวะ ซึ่งมีอยู่ 12 ระบบ มันจำเป็นว่าแพทย์ต้องจำได้ขึ้นใจว่าอวัยวะร่างกายเรามี 12 ระบบ ได้แก่ ผิวหนัง, กล้ามเนื้อ, ประสาท, กระดูก, หายใจ, ไหลเวียน, ทางเดินอาหาร, ปัสสาวะ, สืบพันธ์, เลือด, น้ำเหลือง, ต่อมไร้ท่อ จึงควรทบทวนไว้บ่อยๆว่าแต่ละระบบมันทำงานอย่างไรและเชื่อมโยงกันอย่างไร

     มุมที่ 4. คือ สาเหตุวิทยา(Etiology) ซึ่งเป็นการไล่เรียงกลุ่มสาเหตุของโรค ซึ่งมีอยู่ 9 กลุ่ม ซึ่งไม่ว่าอยู่ที่ไหนเมื่อใดคุณควรไล่กลุ่มสาเหตุให้กับทุกอาการได้ว่ามันจะเป็นโรคในกลุ่มไหนได้บ้าง คือ ติดเชื้อ, อักเสบ, บาดเจ็บ, เนื้องอก, เป็นแต่กำเนิด, เกิดจากการเผาผลาญ, ภูมิต้านทาน, ฮอร์โมน, และโรคจากการรักษา

แพทย์สมัยใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์เฉพาะทางมักจะคิดว่าการมองจากมุมกลุ่มสาเหตุของโรคเป็นวิธีที่เชยและไม่ทันกิน เพราะในการวินิจฉัยแยกโรคแพทย์เฉพาะทางถนัดจะคิดชื่อโรคขึ้นมาแบบอัตโนมัติ ผมพูดอย่างนี้ด้วยความเข้าใจดีเพราะผมเองก็มีกำพืดเป็นแพทย์เฉพาะทางและตกหลุมพรางนี้บ่อยๆ กล่าวคือพอเจอโรคนอกสาขาความชำนาญของตัวเองก็วินิจฉัยผิดไปเป็นโยชน์ ดังนั้นผมแนะนำว่าคุณควรหัดมองจากมุมสาเหตุวิทยานี้กับทุกอาการให้เป็นนิสัย ผมว่ามันเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการเป็นนักวินิจฉัยโรคนะ..จนกว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะมาทำให้แพทย์หมดอาชีพไปในส่วนนี้

     มุมที่ 5. คือ พยาธิวิทยา คือโรคอะไรมีเรื่องราวหรือการดำเนินโรคอย่างไร ถ้าเป็นโรคสำคัญก็ต้องจำได้หมดว่ามันกระทบต่อระบบไหนบ้าง เช่นโรคลิ้นหัวใจตีบเรื่องราวก็เริ่มตั้งแต่การติดเชื้อสเตร็ปที่คอในวัยเด็ก แล้วภูมิคุ้มกันที่ทำลายเชื้อไปทำลายลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจอักเสบ มีพังผืดแทรกลิ้น ลิ้นตีบ รั่ว หัวใจล้มเหลว เป็นต้น อันนี้หากเป็นโรคสำคัญคุณก็ควรจะทบทวนไว้บ้าง

นอกจากพื้นฐาน 5 มุมมองนี้แล้วอย่างอื่นคุณไม่ต้องเสียเวลาไปทบทวน คอยจับประเด็นปัญหาทางคลินิกที่อยู่รอบตัวในวันนี้มาเป็นตัวตั้ง แล้วใช้รูปแบบการศึกษาค้นคว้าต่อเนื่องไปแก้ปัญหานั้นก็พอ ขยันทำอย่างนี้ไป ความเป็นหมอของคุณก็จะไม่จางหายไปไหน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

01 ธันวาคม 2564

ซื้อตั๋วเครื่องบินแล้ว แต่กลัวโควิดสายพันธ์โอไมครอน

คุณหมอสันต์ที่เคารพ

หนูซื้อตั๋วเครื่องบินไปกลับเพื่อไปเที่ยวซานฟรานซิสโกเรียบร้อยแล้ว กำหนดออกเดินทาง 22 ธค. แต่เท่าที่ติดตามข่าวโอไมครอนโควิดสายพันธ์ใหม่แล้วเริ่มเกิดความไม่แน่ใจว่าควรจะยอมเสียเงินค่าตัวหรือเปล่าเพราะเป็นตั๋วแบบคืนไม่ได้ หนูอยากถามคุณหมอว่าโอไมครอนนี้จะเข้าอเมริกาได้ไหม หนูมีโอกาสจะติดเพราะการไปเที่ยวครั้งนี้ไหม ถ้าติดแล้วหนูจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นอะไรมากไหม หนูฉีดวัคซีนสามเข็มแล้ว (เข็มแรกแอสตร้า เข็มสองเข็มสามไฟเซอร์) จะปลอดภัยจากโอไมครอนไหม หรือว่าหนูควรจะฉีดเข็มสี่ก่อนเดินทาง และสุดท้ายหนูควรงดการเดินทางไหม

………………………………………………………….

ตอบครับ

1.. ถามว่าไวรัสซาร์โควี2สายพันธ์โอไมครอน (Omicron) ระบาดเข้าไปในสหรัฐอเมริกาหรือยัง ตอบว่ายังครับ หากนับตามหลักฐานอย่างเป็นทางการที่มีอยู่ถึงวันที่ผมนั่งตอบจดหมายนี้ (1ธค.64) แต่ความเห็นของผมและนักระบาดวิทยาจำนวนมากเห็นตรงกันว่าโรคน่าจะเข้าไปในสหรัฐเรียบร้อยแล้ว เพราะการย้อนดูหลักฐานผู้ป่วยในอัฟริกาใต้พบว่าโรคนี้ซึ่งมีเอกลักษณ์ว่าแพร่ได้เร็วที่สุดเท่าที่เคยมีมา ได้เกิดขึ้นก่อนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศเตือนตั้งนานแล้ว และหลัง WHO ประกาศแล้วรัฐบาลอเมริกันก็ยังรำมวยอยู่พักใหญ่กว่าจะประกาศห้ามการเดินทางเข้าจากกลุ่ม 8 ประเทศที่มีโรค พูดแบบจิ๊กโก๋ก็คือมัน..”ช้าไปต๋อย” มิหนำซ้ำในการห้ามคนเดินทางมาจากอัฟริกาทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้ห้ามคนที่มีสัญชาติอเมริก้น โห..คิดได้ไงเนี่ย ยังกับว่าไวรัสมันถือสัญชาติด้วยงั้นแหละ

2.. ถามว่าการไปเที่ยวอเมริกา 22 ธค. มีโอกาสติดโรคโอไมครอนไหม ตอบว่ามีครับ เพราะเวลาตั้งสามสัปดาห์หลังจากวันนี้ ผมเดาเอาว่าโอไมครอนคงจะร่อนไปทั่วโลกเรียบร้อยแล้ว

3.. ถามว่าถ้าติดโรคโควิดสายพันธ์โอไมครอนแล้วจะเป็นอะไรมากไหม ตอบว่าหากรอข้อมูลอย่างเป็นทางการก็คือยังไม่ทราบครับ แต่หากใช้วิธีเดาเอาจากข่าวและคำให้สัมภาษณ์ของแพทย์ที่รักษาโรคอยู่หน้างานในอัฟริกาใต้ก็ตอบได้เลยว่าคงไม่เป็นอะไรมากหรอกครับ เพราะขณะนี้อัตราตายของการติดเชื้อสายพันธ์โอไมครอนยังเป็นศูนย์อยู่ คือทั่วโลกยังไม่ประเทศไหนรายงานว่ามีคนตายเลย ดังนั้นถึงมันจะแพร่เร็วไปกว่ายี่สิบประเทศแล้ว แต่มันมีอันตรายน้อย

แต่ขณะที่คุณไม่ลำบากจากการติดเชื้อ แต่คุณจะลำบากจากการเดินทางจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางเข้าประเทศไทย ผมว่าคุณลำบากแน่ เพราะประเทศไทยนี้เรากักกันโรคแบบเอาเป็นเอาตายกับคนที่มากับเครื่องบิน แต่เราไม่ซีเรียสอะไรเลยกับคนที่เดินหรือนั่งรถหรือลงเรือเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติ

4.. ถามว่าฉีดวัคซีนสมัยใหม่ไปสามเข็มแล้วจะรอดจากโอไมครอนไหม ตอบว่าข้อมูลอย่างเป็นทางการยังไม่ชัวร์ แต่ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการจากการให้ข่าวทั้งที่อัฟริกาใต้เอง ที่อิสราเอล ที่เนเธอร์แลนด์ ล้วนบ่งชี้ว่าผู้ป่วยฉีดวัคซีนสามเข็มก็ยังติดเชื้อโอไมครอนนี้ได้

ยิ่งเป็นวัคซีนสมัยใหม่ (หมายถึงวัคซีนที่ออกแบบให้มุ่งทำลาย spike protein เช่นวัคซีน mRNA และวัคซีน DNA) ยิ่งอาจจะสู้วัคซีนโบราณที่ทำจากเชื้อตายอย่างซิโนแวคไม่ได้ เพราะเชื้อสายพันธ์โอไมครอนนี้เปลี่ยนส่วน spike protein ของมันไปมากที่สุด มองจากมุมนี้วัคซีนที่มุ่งออกฤทธิ์ผ่าน spike protein จะสู้วัคซีนที่ออกฤทธิ์ต่อตัวไวรัสทั้งตัวไม่ได้ ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างที่หมอสันต์เดาหรือเปล่าต้องรอดูข้อมูลที่จะตามมาในหลายๆเดือนข้างหน้านี่ต่อไป

5. ถามว่าควรจะฉีดวัคซีนเข็มสี่ไหม ตอบว่า แหม คุณเนี่ยจะติดเชื้อจากพวกนักการเมืองฝรั่งแล้วเนี่ย พวกนี้ท่องกันแต่คำว่า booster booster booster แต่ผมตอบคุณว่าการฉีดวัคซีนเข็มสี่จะช่วยเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันในเลือดสำหรับเชื้อโควิดสายพันธ์เดลต้าให้คุณได้ก็จริง แต่ไม่เกี่ยวอะไรกับโอไมครอนเลย มันจะเพิ่มภูมิคุ้มกันโอไมครอนได้หรือไม่ยังไม่รู้ รู้แต่ว่าบริษัทวัคซีนเช่นโมเตอร์นา ได้เริ่มลงมือผลิตวัคซีนสำหรับสายพันธ์โอไมครอนไปเรียบร้อยแล้ว แปลไทยให้เป็นไทยก็คือผู้ผลิตวัคซีนเองซึ่งของเดิมใช้ได้ดีกับสายพันธ์เก่ารวมทั้งเดลต้าอยู่แล้ว แต่เขาก็ยังไม่เชื่อว่ามันจะป้องกันสายพันธ์โอไมครอนได้

6.. ถามว่าควรจะงดการเดินทางไหม ตอบว่านั่นคุณต้องตัดสินใจเองนะครับ ถ้าเป็นตัวผมเงื้อจะไปเที่ยวแล้วโอไมครอนมาในประเทศที่ผมจะไป ผมก็ไม่งด เพราะผมไม่กลัวโควิดอย่างสายพันธ์โอไมครอน จริงๆแล้วผมว่าไวรัสโควิดอย่างสายพันธ์โอไมครอนนี่แหละเป็นสายพันธ์ในอุดมคติที่จะมาช่วยโลกใบนี้ไว้ หมายความว่าวงการระบาดวิทยาเองได้เฝ้าหวังลึกๆว่าวันหนึ่งจะมีไวรัสสายพันธ์ใหม่ที่ระบาดเร็วแป๊บเดียวเป็นกันทั่ว สร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิดได้ทั้งโลกโดยไม่มีใครตาย เพราะโดยทฤษฎีแล้วเรารู้ว่าถ้าไวรัสรุนแรงทำให้คนตายแยะมันจะระบาดได้ไม่เร็ว ภูมิคุ้มกันฝูงก็ไม่เกิด โรคก็ไม่จบสักที แต่วันหนึ่งเราหวังว่าจะมีสายพันธ์ที่ระบาดได้เร็วซึ่งโดยธรรมชาติมันจะไม่รุนแรงไม่งั้นมันระบาดเร็วไม่ได้ ชนิดหลังนี้แหละที่จะมาแทนวัคซีนได้ แล้ววันนี้ก็มีแล้ว โอไมครอนนี่ไง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

23 พฤศจิกายน 2564

ถ้าผมพูดแล้วใจคุณมีความคิดมากขึ้น แสดงว่าผมพูดผิด

(หมอสันต์พูดกับสมาชิกใน Spiritual Retreat)

คนที่ยิ่งมา SR บ่อย คงจะสังเกตเห็นว่ายิ่งนานไป ผมยิ่งพูดน้อยลง แต่ว่าผมจะยังคงพูดอยู่นะ ไม่ได้คิดจะเลิกพูด เพียงแต่เป้าหมายแต่ละคำที่ผมพูดก็คือเพื่อสร้างความเงียบขึ้นในใจของคุณ ถ้าผมพูดแล้วใจของคุณเกิดมีความคิดมากยิ่งขึ้น..นั่นผมพูดผิดแล้ว

ก่อนเริ่มฝึก ผมขอพูดถึงบางประเด็นที่สมาชิกถามก่อนหน้านี้

คำถามที่ 1 ขอให้อธิบาย “ความรู้ตัว” ให้เข้าใจมากขึ้นสักหน่อย

คำว่าความรู้ตัวนี้เป็นคำที่ผมใช้แทนคำในภาษาอังกฤษว่า consciousness หรือ awareness ไม่ว่าจะเลือกใช้คำไหนก็มีข้อจำกัดของภาษาทั้งน้้น เพราะความรู้ตัวเป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อนภาษา มันจึงใช้ภาษาอธิบายให้เห็นชัดไม่ได้ แต่แม้จะพูดให้เห็นทุกมุมพร้อมกันไม่ได้ ภาษามันก็ยังพอสื่อให้เห็นบางมุมได้บ้าง

ในมุมหนึ่ง ผู้รับรู้ประสบการณ์ หรือ experiencer นั่นแหละคือความรู้ตัว

ในอีกมุมหนึ่ง ความรู้ตัวเป็นเสมือนอากาศธาตุที่โอบรอบและรับรู้ความคิด เหมือนท้องฟ้าโอบรอบก้อนเมฆ หรือพูดอีกอย่างถ้าเปรียบความคิดเป็นคลื่นน้ำ ความรู้ตัวก็เป็นมวลน้ำในมหาสมุทรที่ให้กำเนิดคลื่นนั้น ความคิดไม่อาจออกไปอยู่นอกความรู้ตัวได้ อุปมาเหมือนร่างกายเรานี้ไม่อาจออกไปอยู่นอกช่องว่างหรือ space รอบๆตัวเราได้

ในอีกมุมหนึ่ง ความรู้ตัวเป็นพลังงาน มันเป็นพลังงานที่สอดแทรกหล่อเลี้ยงทุกความคิด ซึ่งเราสัมผัสรับรู้พลังงานที่สอดแทรกในความคิดได้ในรูปของความรู้สึกหรือ feeling เช่นชอบไม่ชอบ ที่สอดแทรกเป็นฐานรากของทุกความคิดเสมอ

ในอีกมุมหนึ่ง ความรู้ตัวมันเป็นพลังงานที่เป็นส่วนผสมของความสามารถ “รู้” กับพลังที่เรียกว่า “เมตตาธรรม” ซึ่งทั้งสองส่วนบวกกันกลายเป็นเป็นพลังงานพื้นฐานที่เชื่อมโยงทุกชีวิตให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

พูดถึงการเข้าถึงเมตตาธรรม คุณไม่ต้องไปบังคับตัวเองให้แผ่เมตตา แค่ให้สมองของคุณว่างเปล่าจากความคิด ให้หัวใจของคุณไร้อคติแปดเปื้อนจากความพยายามที่จะปกป้องหรืออุ้มชูสำนึกว่าเป็นบุคคลของตัวเอง ทำแค่นี้ สิ่งที่ออกไปจากคุณมันก็จะเป็นความจริงใจที่ปรารถนาจะเชื่อมต่อกับทุกชีวิตโดยอัตโนมัติ นั่นแหละคือเมตตาธรรม

คำถามที่ 2. ถามว่าการนั่งสมาธิหรือ meditation จริงๆแล้วคืออะไร

ในมุมหนึ่ง meditation เป็นการเดินทางจากสภาวะที่มีการเคลื่อนไหวยุกยิกไปสู่สภาวะที่สงบนิ่ง คือ from movement to stillness และในอีกมุมหนึ่ง meditation เป็นการเคลื่อนย้ายจากสรรพเสียงไปสู่ความเงียบสงัด หรือ from sound to silence วิธีทำก็คือคุณปล่อยวางความคิดลงไป ย้ายความสนใจที่ขลุกอยู่กับความคิดมาอยู่กับลมหายใจ หายใจเข้า เอาพลังงานจากภายนอกเข้ามา หายใจออก ยิ้ม ผ่อนคลายร่างกาย เอ้า คุณลองทำตามดูเลย นั่งยืดหลังให้ตรงขึ้น หลับตา หายใจเข้าลึกๆ ยิ้ม กลั้นไว้ รับรู้พลังงานที่ถูกดึงเข้ามาสู่ร่างกาย ผ่อนคลายร่างกาย แล้วปล่อยลมหายใจออกไปตามธรรมชาติ ผ่อนคลายร่างกาย รับรู้พลังงานที่ซาบซ่านไปทั่วร่างกายในรูปของความรู้สึกซู่ซ่า ทำอย่างนี้ไปหลายๆลมหายใจ บอกตัวเองว่า ฉันไม่ต้องการอะไรจากใครทั้งสิ้น ฉันไม่ตั้งใจจะทำอะไรทั้งสิ้น ฉันไม่ตั้งใจจะเป็นอะไรทั้งสิ้น แค่ปล่อยวางความคิด ผ่อนคลาย จนทุกอย่างนิ่ง เงียบ มีแต่ความตื่น รู้ตัวอยู่ สบายๆ ตรงนั้นแหละ คือความรู้ตัวซึ่งเป็นฐานรากของชีวิตเราทุกคน ทุกคนมีรากอยู่ตรงนี้ คนที่ลืมไปก็คือคนที่ยังเข้าไม่ถึง ส่วนคนที่อยู่นิ่งๆอยู่ที่รากของตัวเองได้ คนนั้นได้เข้าถึงความรู้ตัวเรียบร้อยแล้ว

คำถามที่ 3. ขอให้หมอสันต์เล่าประสบการณ์การแสวงหาให้ฟังบ้าง

อืม..ม ผมเลิกแสวงหาอะไรไปนานแล้ว ผมไม่ได้ทำอะไรเลยในแง่ของการค้นหา ผมแค่อยู่ที่นี่ ยอมรับทุกอย่างที่โผล่ขึ้นมาที่ที่นี่เดี๋ยวนี้ สำหรับคนที่รู้อยู่แล้วว่าร่างกายนี้และความคิดนี้ไม่ใช่ตัวเอง แค่ยอมรับทุกอย่างที่โผล่เข้ามาก็พอแล้ว ไม่ต้องไปพยายามยอมแพ้อะไรก็ได้เพราะไม่มีตัวตนที่ตั้งใจจะไปเอาชนะคะคานอะไรกับใคร แค่ตื่นขึ้นมาอยู่ในความว่างเปล่า และใช้ชีวิตในวันนี้ไปอย่างสงบเย็นและสร้างสรรค์ก็พอแล้ว แต่สำหรับคนที่ยังจมอยู่ในความคิดหรืออารมณ์ที่มุ่งปกป้องอัตตาที่ตัวเองสมมุติขึ้น คนแบบนั้นอาจจะต้องเพิ่ม “การยอมแพ้” ให้เป็นวาระสำคัญในการใช้ชีวิตอีกอย่างหนึ่งด้วย การยอมแพ้ก็คือการปล่อยวางนั่นแหละ เมื่อยอมแพ้ได้คุณก็จะผ่อนคลายได้

แล้วไม่ต้องแสวงหาความสุขหรือ

ไม่ต้องเลย การแสวงหาความสุขก็คือความอยากสุข ความอยากโน่นอยากนี่นี่แหละที่ทำให้เราเพลินไปกับความคิดแล้วทิ้งรากของเราเองซึ่งเป็นความสงบเย็น แค่วางความอยากโน่นอยากนี่ไปเสีย นิ่งๆอยู่ตรงนี้ ยอมรับทุกอย่างที่โผล่ขึ้นมาที่ตรงนี้ คุณก็เป็นอิสระเสรีไม่ต้องแสวงหาอะไรอีกแล้ว

คำถามที่ 4. คนเป็นโรคจิตจะมา spiritual retreat ได้ไหม

โรคจิตทุกชนิดก็คือความบาดเจ็บทางใจที่เกิดขึ้นเพราะเราปล่อยวางความคิดไม่ได้ เหมือนเราเขียนกระดานแล้วไม่ยอมลบ เอาแต่เขียนทับๆๆ ในที่สุดกระดานนั้นก็จะมีแต่อะไรไม่รู้สับสนอลหม่านเต็มไปหมด อ่านกระดานนี้เมื่อไหร่ก็จะได้แต่ข้อความที่เพี้ยนเมื่อนั้น

โดยนิยามอย่างนี้คนเราทุกคนก็ล้วนเป็นโรคจิตคนละมากบ้างน้อยบ้าง Spiritual Retreat เป็นที่ฝึกวางความคิด ซึ่งเป็นวิธีรักษาโรคจิตที่ต้นเหตุของมันโดยตรง ดังนั้นคนเป็นโรคจิตก็ต้องมาได้สิ

คำถามที่ 5. อยากให้หมอสันต์แนะวิธีแก้ไข midlife crisis

คำว่า midlife crisis นี้หมายถึงวิกฤติการณ์ชีวิตเมื่อวัยกลางคน แต่ในความเป็นจริง หากมองชีวิตคนว่าเป็นหนังเรื่องยาวเรื่องหนึ่ง ช่วงวัยกลางคนเป็นเพียงช่วง intermission ของหนังเพื่อให้บรรดาผู้ชมลุกไปเข้าห้องน้ำห้องท่าเท่านั้นนะ ส่วนที่โหดที่สุดของหนังมักจะเก็บไว้ฉายให้ดูในครึ่งหลัง ดังนั้นอย่าเพิ่งไปตื่นเต้นอะไรกับ midlife crisis ยังมีมากกว่านี้อีกแยะโดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากท้ายๆ ประเด็นสำคัญคือชีวิตมีอยู่เฉพาะเมื่อเดี๋ยวนี้เท่านั้น การเรียกเดี๋ยวนี้ว่าเป็น crisis แสดงถึงการไม่ยอมรับสิ่งที่ผ่านเข้ามาที่เดี๋ยวนี้ ลองมองชีวิตใหม่ว่าไม่มี early หรือ mid หรือ late มีแต่เดี๋ยวนี้ แล้วให้มองชีวิตเป็นสนามเด็กเล่น มีแต่ความสนุกท้าทายหรือ wonder ถ้ามองชีวิตอย่างนี้ เวลาไหนก็โอเค.ทั้งนั้น crisis หรือไม่ crisis ก็โอเค.ทั้งนั้น เพราะยิ่งมีอะไรท้าทายก็ยิ่งสนุก

คำถามที่ 6. ปัญหาในชีวิตคู่ที่ไปกันไม่ได้

ให้คุณดูเส้นสองเส้นที่เริ่มด้วยสองจุดที่อยู่ใกล้กัน หากเส้นทั้งสองวิ่งขนานกันไป คือต่างก็มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันที่อยู่ไกลโพ้น มันก็จะวิ่งคู่กันไปได้ถึงอินฟินิตี้ แต่หากเส้นใดเส้นหนึ่งไปโฟกัสที่อีกเส้นหนึ่ง หรือคอยจะดึงอีกเส้นหนึ่งมาหาทางตัวเองอยู่เรื่อย มันก็จะวิ่งตัดกันแล้วจากนั้นก็จะวิ่งแยกห่างกันออกไป ห่างกันออกไป

คุณเคยเข้าสนามม้าแข่งหรือดูหนังเวลาเขาแข่งม้าไหม ทำไมเขาต้องปิดตาม้าแข่งด้วยละ ก็เพราะถ้าม้ามันมัวดูม้าตัวอื่น มันจะลืมโฟกัสการวิ่งของตัวเอง แล้วมันก็จะไม่ท็อปฟอร์ม และแพ้ การแก้ปัญหาในชีวิตคู่ง่ายนิดเดียว คือเลิกโฟกัสที่คู่ครองของคุณเสีย เพราะเวลาคุณมัวแต่โฟกัสอยู่ที่เขา ตัวคุณเองจะล้มเหลวในการทำหน้าที่ของคุณ ถ้าชีวิตคู่ต้องล่มเพราะการล้มเหลวในการทำหน้าที่ของคุณ คุณอาจจะต้องมาเสียใจหรือเสียดายภายหลัง แต่ถ้าชีวิตคู่ล่มทั้งๆที่คุณโฟกัสการทำหน้าที่ของคุณเป็นอย่างดีที่สุดแล้ว คุณจะไม่มีอะไรที่จะต้องมาเสียใจหรือเสียดายเลย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]