ที่หมอโยะว่าอดให้หิวจนท้องร้องจ๊อกๆแล้วจะอายุยืน..จริงหรือไม่
คุณหมอสันต์ที่เคารพครับ
พอดีไปอ่านเจอบทความสรุป-โฆษณาหนังสือเล่มนึง อ่านแล้วทะแม่งๆ เลยอยากทราบความเห็นคุณหมอ หนังสือชื่อ “ยิ่งหิวยิ่งสุขภาพดี” เขียนโดย นพ.โยะชิโนะริ นะงุโม (Yoshinori Nagumo) แปลโดยพิมพ์รัก สุขสวัสดิ์ จัดพิมพ์โดยสนพ. วีเลิร์น สรุปโดย …. ผู้เขียนค้นพบวิธีการลดน้ำหนักด้วยการทานเหลือวันละมื้อ และพบว่าความหิวเป็นกระบวนการที่ทำให้ร่างกายซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอด้วยยีนที่ชื่อ เซอร์ทูอิน (Sirtuin) ในขณะเดียวกันร่างกายก็จะผลิต Growth Hormone ออกมา
บทที่ 1:
เขาเล่าว่ามนุษย์ในอดีตไม่ได้มีกินอุดมสมบูรณ์โดยกินสามมื้อเหมือนปัจจุบันนี้ ในอดีตเรากินวันละมื้อก็บุญแล้ว เมื่อเราหิวไม่มีกินเราจะมียีนที่ชื่อ เซอร์ทูอิน (Sirtuin) ออกมาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอต่างๆภายในร่างกาย ในขณะเดียวกันร่างกายก็จะผลิต Growth Hormone ออกมา ซึ่งเจ้า Growth Hormone นี้ทำให้เรากลับเป็นหนุ่มสาวมากขึ้น ซึ่งเป็นกระบวนการเพื่อการอยู่รอด ปัญหาก็คือเมื่อร่างกายอิ่ม กลไกนี้ไม่เกิด เราจึงแก่ไปเรื่อยๆ
บทที่ 2:
พูดถึงการกินวันละมื้อ โดยแนะนำรายละเอียดจากการที่เขาทำมาแล้วได้ผล (สำหรับผมแล้วคิดว่าคงทำตามยาก) แต่หัวใจคือ ในบทนี้เขาบอกว่าเขาเพลิดเพลินกับการที่ได้ยินเสียงท้องร้องจ๊อกๆ เพราะว่าเขากำลังรู้ว่าร่างกายเรากำลังซ่อมแซมและปรับตัวให้เยาว์วัยจากกระบวนการที่เล่ามา
บทที่ 3:
ในหน้า 125-129 คือหัวใจสำคัญของหนังสือเล่มนี้ เพราะผู้เขียนอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ เช่น (1) ปากทางเข้าลำไส้เล็กจะมีเซนเซอร์เตรียมรอรับของกินอยู่ ถ้าไม่มีอาหารไหลลงมาเสียที ลำไส้เล็กจะรีบหลั่งฮอร์โมนสำหรับย่อยอาหารโมลิติน (Molitin) ออกมา ทำให้กระเพาะอาหารบีบตัว เพื่อส่งของกินที่อาจจะตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหารเข้าไปในลำไส้เล็ก เรียกว่า “การบีบตัวเมื่อหิว” และเป็นตัวการที่แท้จริงของอาการท้องร้องจ๊อกๆ (2) เมื่อกระเพาะรู้ตัวว่าหิวจะหลั่งฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) ออกมา เกรลินจะถูกหลั่งออกมาจากเยื่อบุกระเพาะอาหารซึ่งถูกกระตุ้นเพราะความหิว โดยจะออกฤทธิ์ที่สมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ทำให้เกิดความอยากอาหาร ขณะเดียวกันก็จะออกฤทธิ์ที่ต่อมใต้สมอง ทำให้หลั่ง Growth Hormone ออกมา เจ้า Growth Hormone นี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ฮอร์โมนที่ทำให้กลับไปเป็นหนุ่มสาว” นั่นหมายความว่าตอนที่ท้องกำลังร้องจ๊อกๆเพราะหิว คุณจะค่อยๆมีเสน่ห์ขึ้นจากฮอร์โมนที่ทำให้กลับเป็นหนุ่มสาว ถึงท้องจะร้องก็อย่าเพิ่งรีบกินอาหาร ให้มาลองเพลิดเพลินกับประสิทธิภาพของการกลับเป็นหนุ่มสาวที่ได้จาก Growth Hormone กันสักครู่หนึ่งก่อน (3) ตอนที่ท้องกำลังร้องจ๊อกๆนั้น ความสามารถในการอยู่รอดอันยอดเยี่ยมกำลังพลุ่งพล่านขึ้นมา นั่นก็คือ “ยีนเซอร์ทูอิน” ที่มีสมญาว่า “ยีนต่ออายุขัย” หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ยีนที่ทำให้อายุยืน” จากการทดลองกับสัตว์ทุกชนิดพบว่า เมื่อลดปริมาณอาหารลง 40% จะทำให้อายุยืนขึ้น 1.5 เท่า ทว่ายีนนี้จะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขบางประการ นั่นคือ “ความหิว” ตราบใดที่ท้องไม่ร้องจ๊อกเพราะหิว ยีนนี้ก็จะไม่ทำงาน ดังนั้น การกินอาหารทั้งที่ยังไม่หิวจึงหมายถึงการมีของดีอยู่กับตัวแต่ไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ มาทำให้ท้องร้องจ๊อกด้วยการกินอาหารวันละมื้อดีกว่า แล้วยีนเซอร์ทูอินนี้จะช่วยสแกนยีนในร่างกายอย่างรวดเร็วพร้อมทั้งค่อยๆฟื้นฟูส่วนที่เสียหาย กล่าวกันว่าความแก่ชราและโรคมะเร็งก็มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของยีน ดังนั้นเราสามารถทำให้กลับเป็นหนุ่มสาวและป้องกันโรคมะเร็งด้วยการกินอาหารวันละมื้อ (4) เมื่อหิวแล้วอาหารยังตกไม่ถึงท้อง ร่างกายจะนำไขมันที่สะสมไว้ในช่องท้องมาเปลี่ยนเป็นสารอาหาร ทำให้หน้าท้องแบนราบ
บทที่ 4:
พูดถึงรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องการกินวันละมื้อ แต่มีข้อมูลใหม่ว่าการนอนที่ดีคือนอนในช่วงร่างกายผลิต Growth Hormone ได้ดีที่สุดคือระหว่าง สี่ทุ่มถึงตีสอง
ผมมีคำถามรบกวนคุณหมอดังนี้ครับ
1. Gene Sirtuin มันวิเศษขนาดนั้นเชียวหรอครับ (ไอ้ gene นี่มันมีอยู่จริงใช่ไหมครับ)
2. Growth hormone มันเป็นฮอร์โมนแห่งความหนุ่มสาวยังไงอะครับ ไม่ใช่ยิ่งโตก็ยิ่งแก่หรอครับ
3. โดยรวมแล้วคุณหมอเห็นด้วยไหมครับ
ปล.1 แทรกไฟล์รูปหน้าปกหนังสือมาด้วย
ปล.2 ส่วนลายเซ็นด้านล่างที่มีรหัส นศ. คุณหมออย่าสนใจเลยนะครับ พอดี อ. สั่งให้ทำตอนใช้ส่งงาน ขี้เกียจแก้กลับคืนครับ
………………………………………………………………………
ตอบครับ
ก่อนหน้าที่คุณจะเขียนจดหมายมา เคยมีคนเอาหนังสือเล่มนี้มาทิ้งไว้ให้ผมแล้วบอกว่าให้ผมแนะนำด้วยว่าจะทำตามดีไหม พอเห็นจดหมายของคุณ ผมจึงไปหยิบหนังสือนั้นมาอ่าน ผมเรียกชื่อคุณหมอญี่ปุ่นที่เขียนว่าหมอโยะก็แล้วกันนะ เพื่อความง่าย ท่านเล่าที่มาว่าตอนเป็นหมอผ่าตัดเสริมสวยเต้านมชีวิตก็สบายๆ ทำงานทุกอย่างได้อย่างใจ อยากได้อะไรก็สั่งเอา แต่พอมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลด้านหนึ่งก็ต้องมาอ้อนวอนไหว้วานคนอื่นให้ดูแลคนไข้ดีๆ อีกด้านหนึ่งก็ต้องคอยรับหน้ารับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ของคนไข้ ซึ่งเครียดกว่ากันแยะมาก จนพี่แกน้ำหนักเพิ่มขึ้นไป 15 กก.แถมมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบเต้นบ้างหยุดบ้างอีกด้วย เนื่องจากพี่แกเป็นคนท้องผูก จึงมองเห็นอนาคตตัวเองว่าสักวันหนึ่งคงจะเบ่งอึได้ที่แล้วหัวใจหยุดเต้นม่องเท่งไปเลย เพราะก่อนหน้านั้นบางครั้งแกก็เคยเบ่งแล้วแน่นหน้าอกจนเกือบจะเป็นลมหัวทิ่มก็มี ด้วยความรักตัวกลัวตายหมอโยะแกก็เลยหันมาดูแลสุขภาพ พยายามลดความอ้วน ไปออกกำลังกายว่ายน้ำแล้วก็ยังไม่ผอม เพราะยิ่งว่ายยิ่งกิน ลองวิธีนับแคลอรี่เพื่อจำกัดอาหารนับไปนับมาก็เบื่อนับไม่ไหวก็เลยเลิก แล้วแกก็มาโป๊ะเชะลดน้ำหนักได้ดีเป็นวรรคเป็นเวรกับวิธีกินอาหารมังสะวิรัติบวกวิธีจำกัดอาหารให้น้อยลงจนเหลือมื้อหลักวันละมื้อเดียว ทำให้ลดน้ำหนักไปได้ 15 กก. และชีวิตดีขึ้น แกจึงเขียนหนังสือเล่มนี้เผยแพร่
คนทำตัวแบบหมอโยะนี่มีแยะนะครับ คือกินมังสะวิรัติด้วย กินมื้อเดียวด้วย ที่แน่ๆคนหนึ่งก็คือท่านมหาจำลอง (พลตรีจำลอง ศรีเมือง) ไง พูดถึงท่านมหาจำลอง เมื่อประมาณปีพ.ศ. 2547 สมัยที่คลื่นซูนามิซัดภูเก็ต ผมไปทำงานช่วยคนที่บาดเจ็บที่นั่น ไปตัวคนเดียว ตกกลางคืนจะหาที่กินข้าวเย็นแต่ก็ไม่รู้จะไปกินที่ไหน บังเอิญได้พบกับมหาจำลองท่านพาคณะหมอจากญี่ปุ่นลงไปช่วยซูนามิเหมือนกัน ความที่รู้จักกันอยู่ก่อน พบกันกลางถนนท่านก็ชวนผมไปกินข้าวเย็นด้วย ผมไปร่วมโต๊ะกับก๊วนของท่าน ซึ่งแต่ละคนเป็นมังสะวิรัติที่มีกฎเหล็กทางอาหารเฉพาะตัวของใครของมัน ตัวท่านมหาไม่กินมื้อเย็น มานั่งเชียร์เฉยๆ ส่วนพลพรรคคนอื่นนั้นบางคนเป็นมังสะวิรัติร้อยเปอร์เซ็นต์ คือไม่แตะอะไรที่มาจากสัตว์เลย บางคนมังแบบกินนมไม่กินไข่ บางคนมังกินมันทั้งไข่ทั้งนม บางคนมังกินปลา บางคนมังกินหอย พวกมังกินหอยนี้ผมสอบถามแล้วได้ความพอจำได้เลาๆว่าเป็นสายเจ้าแม่กวนอิม อันนี่จำไม่ได้ชัดนัก ผิดถูกก็โปรดอภัย แล้วอาหารมังสะวิรัติเนี่ยเวลาวางอยู่บนโต๊ะมันดูไม่ออกหรอกครับว่ามังหรือไม่มัง เพราะหน้าตาเขาทำมาเหมือนกันหมด เวลาจะกินแต่ละคนต้องถามกันระเบ็งเซ็งแซ่ว่าอันนี้มังไหม อันนี้มังหรือไม่มัง อันนี้ไม่มังมั้ง โอ้ย.. ยุ่งชมัด ผมจึงแอบคิดแบบค่อนขอดในใจว่าคนกินมังสะวิรัตินี่เลี้ยงยากแฮะ และตั้งแต่นั้นมาผมก็เลยตั้งกฎการกินประจำตัวเองบ้าง ว่าผมเป็นพวก “ไม่มังแต่ชอบกินผัก” เอางี้แหละ เลี้ยงง่ายดี วันหน้ากลับไปเข้าก๊วนมหาจำลองอีกผมจะได้กินได้ทุกจานโดยไม่ต้องถาม
กลับมาเข้าเรื่องของหมอโยะ ผมจะตอบคุณเป็นประเด็นไปนะ
ประเด็นที่ 1. ผลของการกินมากเกิน (overnutrition) ข้อมูลทางการแพทย์ปัจจุบันนี้แน่ชัดแล้วว่าการกินมากเกินหรือ overnutrition เป็นผลร้ายต่อสุขภาพและทำให้อายุสั้นชัวร์ป๊าด ตัวชี้วัดว่าท่านกินมากเกินก็ใช้ตัววัดง่ายๆสามตัวเลยครับ คือ (1) ลงพุง (2) อ้วน (3) ไขมันในเลือดสูง ถ้าท่านมีอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างนี้แปลว่าท่านกินมากเกิน การอดอาหารย่อมดีต่อท่านแน่นอน อย่าว่าแต่กินวันละมื้อแบบหมอโยะเลย หากมีคอร์สของโยคีในอินเดียชักชวนว่าไปเข้าคอร์สอดอาหารหนึ่งเดือนไม่ให้กินอะไรเลยนอกจากน้ำเปล่า ผมแนะนำให้ท่านรีบไปเข้าคอร์สเลยครับ รับรองว่าสุขภาพของท่านจะดีขึ้นและอายุยืนขึ้นแน่นอน
ประเด็นที่ 2. จริงหรือไม่ถ้าให้สัตว์อดอาหารแล้วสัตว์จะอายุยืนขึ้น ตอบว่าเป็นความจริงในหนูโดยมีข้อแม้ว่ามีประเด็นพันธุกรรมของหนูเกี่ยวข้องด้วย แต่อาจไม่เป็นความจริงในลิง
เรื่องนี้มันมีรายละเอียดปลีกย่อยในเชิงวิทยาศาสตร์และการวิจัยแยะ ถ้าคุณอยากรู้จริงคุณต้องตั้งใจอ่าน คืองานวิจัยยุคก่อนปี ค.ศ. 1990 ซึ่งแบ่งหนูเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินปกติ อีกกลุ่มหนึ่งให้กินอดอยากเล็กน้อย (น้อยกว่าปกติ 40%) แล้วพบว่าหนูกลุ่มที่อดอยากมีอายุยืนกว่า อันนี้แน่ชัด ทำกันหลายครั้ง ได้ผลแบบเดิมทุกครั้ง ผลวิจัยในหนูในห้องทดลองทำให้คนเรากระดี๊กระด๊าว่ามาตรการอดอาหารน่าจะเป็นทางไปสำหรับการมีอายุยืน และวงการโภชนาการทั่วโลกต่างก็เฝ้าติดตามเรื่องนี้
ต่อมาได้มีการเอาหนูป่าที่ไม่ได้เลี้ยงมาในห้องทดลองมาตั้งแต่เกิดมาทำการวิจัยอดอาหารดูบ้าง คือแข่งกันระหว่างหนูป่ากับหนูป่าด้วยกัน พบว่าการอดอาหารทำให้หนูป่าจำนวน 1 ใน 3 อายุสั้นลง แป่ว…ว
แล้วก็มีงานวิจัยเจาะลึกลงไปถึงพันธุกรรมของหนู จึงได้ถึงบางอ้อว่าหนูที่มีพันธุกรรมแบบที่จะอายุยืนถ้าอดอาหารก็มี (ก็พวกหนูที่พ่อแม่รวยได้อยู่ดีกินดีในห้องแล็บนั่นแหละ) และหนูที่มีพันธุกรรมแบบที่จะอายุสั้นเพราะอดอาหารก็มี
งานวิจัยในลิงเป็นอะไรที่ผู้คนในแวดวงโภชนาการสนใจติดตามกันมาก เพราะลิงก็คือคน เอ๊ย ไม่ใช่ ลิงมันคล้ายๆกับคน ในปีค.ศ. 2009 มหาลัยวิสคอนซินก็ได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบผลของการอดอาหารในลิงที่ได้ติดตามดูนาน 20 ปี ซึ่งสรุปว่าลิงที่อดอาหาร (30%จากปกติ) มีอายุยืนกว่า เป็นเบาหวานน้อยกว่า เป็นหัวใจขาดเลือดน้อยกว่า เป็นมะเร็งน้อยกว่า ลิงที่อยากกินอะไรก็ได้กิน แต่นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งรวมทั้งตัวผมเองด้วยในตอนนั้น ยังมีความรู้สึกไม่ชัวร์กับงานวิจัยนี้เท่าไหร่ เพราะในรายงานวิจัยนี้ไม่ได้สนใจจำนวนลิงที่ตายทั้งหมดโดยให้เหตุผลว่าเป็นการตายที่ไม่ได้เกี่ยวกับการขาดอาหาร แต่ประเด็นของผมก็คือเมื่อเปรียบเทียบจำนวนลิงที่ตายด้วยเหตุอื่นๆนั้น กลุ่มที่อดอาหารตายมากกว่ากลุ่มที่ไมได้อดอาหาร ความข้อนี้ยังคาใจผมเรื่อยมา
จนในปีค.ศ. 2012 สถาบันความชราแห่งชาติอเมริกัน (National Institute of Aging) ที่แมรี่แลนด์ ได้ตีพิมพ์งานวิจัยเปรียบเทียบผลของการอดอาหารต่อการมีอายุยืนของลิง 121 ตัว ที่ใช้เวลาทำมานานยี่สิบปีเช่นกัน โดยสรุปผลได้ว่าลิงกลุ่มที่อดอาหารไม่ได้มีอายุยืนกว่าลิงที่ไม่อดอาหาร พูดง่ายๆว่าการอดอาหารไม่ได้ทำให้อายุยืน (แป่ว..ว ครั้งที่สอง) ซึ่งงานวิจัยนี้เป็นการอกหักครั้งใหญ่ของพวกนิยมการอดอาหารเพื่อต่ออายุตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ผมขอตั้งข้อสังเกตให้ท่านผู้อ่านที่คิดจะเอาข้อมูลไปใช้นะครับ ว่างานวิจัยของมหาลัยวิสคอนซินซึ่งสรุปว่าลิงอดอาหารอายุยืนกว่าลิงกลุ่มควบคุมนั้น ลิงกลุ่มควบคุมของเขามีอิสระเสรีที่อยากจะกินอะไรก็ได้กินตามกิเลสของตัวเอง คือท่านลิงอยากกินอะไรหยิบกินได้ทุกเมื่อ แต่งานวิจัยสถาบันความชราแห่งชาติ (NIA) ซึ่งสรุปผลได้ว่ากลุ่มอดอาหารมีอายุยืนไม่ต่างจากกลุ่มควบคุมนั้น ลิงในกลุ่มควบคุมของเขาจะได้กินอาหารในปริมาณที่คำนวณให้แล้วว่า “พอดี” เท่านั้น ไม่ได้ให้กินตามใจปากเหมือนลิงวิสคอนซินนะครับ ตรงนี้สำคัญ ถ้าท่านจะอ้างงานวิจัยของ NIA ว่าอดอาหารกับไม่อดก็อายุยืนเท่ากันและท่านเลือกที่จะไม่อด แต่ท่านต้องกินแค่ “พอดี” นะครับ ไม่ใช่กินตามใจปากจนมากเกินไป จึงจะได้ชื่อว่ารู้จักเอาข้อมูลวิจัยไปใช้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่ทำตัวตามใจปากแบบลิงวิสคอนซิน แล้วจะหวังให้อายุยืนเท่าลิงอดอาหารของ NIA อย่างนั้นเรียกว่าใช้ผลวิจัยแบบโกงนะครับ
ประเด็นที่ 3. ยีนเซอร์ทูอีน (Sirtuin) คืออะไร ตอบว่ามันเป็นยีนควบคุมเอ็นไซม์ในเซล มีแยกเป็นชนิดย่อยหลายตัว ทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น ช่วยเซลเผาผลาญ ซ่อมแซมการอักเสบ ซ่อมแซมดีเอ็นเอ. คุมการหลั่งอินสุลิน ยีนเซอร์ทูอีนมีอยู่จริง มีคุณสมบัติอย่างที่ว่าจริง เรียกว่าเป็นความจริงในห้องทดลอง (laboratory evidence) ซึ่งรู้กันทั่วไป แต่ที่คุณหมอโยะบอกว่าถ้ามนุษย์หิวจนได้ยินเสียงท้องร้องจ๊อกๆแล้วยีนเซอร์ทูอีนในเซลของมนุษย์จะขยันเฮโลออกมาทำงานนั้นยังไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์อะไรยืนยันว่าจริงครับ หมอโยะคงเดาเอาจากงานวิจัยในยีสต์ซึ่งทำในห้องทดลอง และพบว่าเมื่อให้เซลยีสต์อดอาหาร ยีนเซอร์ทูอีนจะผลิตเอ็นไซม์ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น และทำให้เซลยีสต์มีอายุยาวขึ้น หมอโยะคงเดาเอาว่าในคนคงจะเป็นแบบเดียวกัน แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์ หลักฐานในห้องทดลองเป็นหลักฐานระดับต่ำ จะเอามาใช้ในคนทันทีลุ่นๆเลยไม่ได้ งานวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างการอดอาหารและพฤติกรรมของยีนเซอร์ทูอีนในคนโดยตรงยังไม่มี
อันที่จริงงานวิจัยการอดอาหารในคนก็พอมีนะแต่มันไม่ได้วัดเซอร์ทูอีนโดยตรง คือเมื่อปี 2006 วารสาร JAMA ได้ตีพิมพ์งานวิจัยในคนซึ่งกินอาหารแคลอรี่ต่ำเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมซึ่งสรุปได้ว่าคนที่ลดอาหารจะมีสิ่งต่อไปนี้ดีกว่าคนไม่ลด คือ (1) การซ่อมดีเอ็นเอ. (2) การหลั่งอินสุลิน (3) การลดอุณหภูมิของร่างกาย ซึ่งในส่วนของการซ่อมดีเอ็นเอ.และการหลังอินสุลินนั้นอาจจะเกี่ยวกับเซอร์ทูอีนโดยอ้อม
ประเด็นที่ 4. โกรทฮอร์โมน (growth hormone) มาเกี่ยวอะไรกับการมีอายุยืน มันเป็นฮอร์โมนช่วยเด็กให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ไม่ใช่หรือ ตอบว่าคุณเข้าใจถูกต้องแล้วครับ โกรทฮอร์โมนมีหน้าที่ในการเติบโต แต่ความบ้าว่าโกรทฮอร์โมนทำให้อายุยืนนี้มันเป็นกลไก “จับไปกระเดียด” ซึ่งเป็นนิสัยแก้ไม่หายของวงการแพทย์ มันเริ่มในปีค.ศ. 1990 เมื่อหมอชื่อรัดแมนได้ตีพิมพ์งานวิจัยของเขาในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ว่าเขาเอาคนแก่อายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 12 คนมาฉีดโกรทฮอร์โมน (โดยไม่มีกลุ่มควบคุมนะ) แล้วรายงานว่าคนแก่เหล่านั้น เมื่อเทียบกับตัวเองก่อนฉีดแล้วจะมีมวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น มีมวลกระดูกแน่นขึ้น เพียงแค่นี้ก็ทำให้เกิดความบ้าได้แล้ว คือคนก็เอาไปกระเดียดต่อยอดว่าเฮ้ย ปกติคนแก่มวลกล้ามเนื้อจะลดลงทุกวัน กระดูกจะบางลงทุกวัน การที่โกรทฮอร์โมนทำให้มวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นและกระดูกแน่นขึ้น ก็แสดงว่าโกรทฮอร์โมนต่อต้านความแก่ได้สิ แสดงว่ามันทำให้อายุยืนได้สิ ความบ้านี้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วมีการรวมหัวกันตั้งวิทยาลัยเวชศาสตร์ชะลอวัย (American Academy of Antiaging Medicine – AAAM)ขึ้นมาสอนการฉีดโกรทฮอร์โมนในคนแก่กันอย่างออกหน้าออกตา ซึ่งก็ทำกันอยู่จนทุกวันนี้ ในเมืองไทยก็มีหมอรับจ้างฉีดกัน ส่วนหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่ว่าโกรทฮอร์โมนทำให้อายุยืนนั้นไม่มีหรอกครับ คุณไม่ต้องไปหาหรอก ณ วันนี้ยังไม่มีแน่นอน
ประเด็นที่ 5. ฮอร์โมนเกรลิน (ghrelin) คืออะไร ที่หมอโยะเล่าว่าเมื่อไม่มีอาหารตกถึงลำไส้เล็ก ไส้เล็กจะหลั่งฮอร์โมนโมลิติน (Molitin) ออกมาทำให้กระเพาะอาหารบีบตัว และเมื่อไม่มีอาหารค้างอยู่ กระเพาะจะหลั่งฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) ออกมาซึ่งเรียกว่าฮอร์โมนหิว เกรลินนี้ตัวรับ (receptor) ของมันในสมองหากถูกกระตุ้นแล้วจะทำให้มีการะปล่อยโกรทฮอร์โมนออกมา ทั้งหมดนี้เป็นความจริงทางสรีรวิทยาที่วงการแพทย์ทราบมานานแล้ว แต่ว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการมีอายุยืนนะครับ
ประเด็นที่ 6. ถ้าหิวแล้วไม่ได้กิน พุงจะแห้งจริงหรือ ตอบว่าจริง โดยมีข้อแม้ว่าถ้าไม่มีการกินแบบล้างแค้นหรือล้างผลาญหลังจากนั้น ที่หมอโยะว่าเมื่อหิว แล้วไม่มีอาหาร ร่างกายจะไปเอาไขมันสะสมมาใช้ อันนี้ก็เป็นความจริงทางสรีรวิทยาแน่นอน สูตรลดความอ้วนแบบจำกัดแคลอรี่จึงทำให้ผอมได้ไงครับ
ประเด็นที่ 7. ถามว่าโดยรวมหมอสันต์เห็นด้วยกับหมอโยะไหม ผมขอแยกตอบเป็นสองกรณีนะ
กรณีที่ 1. ถ้าคุณน้ำหนักเกิน (ดัชนีมวลกายเกิน 25) หรือมีพุง หรือไขมันในเลือดสูง อย่างใดอย่างหนึ่ง (ซึ่ง 80% ของคนอ่านบล็อกหมอสันต์น่าจะเป็นกรณีนี้) ผมแนะนำว่าเชื่อหมอโยะเขาเถอะครับ ทำตามเขาว่าเถอะ กินน้อยๆ กินมื้อเดียวได้ยิ่งดี กินผักแยะๆ ไม่กินเนื้อเลยได้ยิ่งดี กั๊กอาหารเข้าไว้ ปล่อยให้ตัวเองหิวบ่อยๆ ฟังเสียงท้องร้องจ๊อกๆแทนเสียงดนตรี แล้วคุณจะป่วยน้อยลง และอายุยืนขึ้นแน่นอน
กรณีที่ 2. ถ้าคุณเป็นคนผอมแห้งแรงน้อย หุ่นปลาเค็ม ดัชนีมวลกายต่ำกว่ามาตรฐาน (ต่ำกว่า 18.5) ผมว่าคุณอยู่ห่างๆหมอโยะไว้ดีกว่าครับ เพราะคุณอาจจะกำลังเป็นโรคขาดอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจขาดอาหารโปรตีนอยู่ หากไปอดอาหารตามหมอโยะเข้า คุณอาจจะกระดูกหักก่อนแก่ หรือได้ไปสวรรค์ก่อนเวลาอันควรก็ได้นะครับ (หิ หิ พูดเล่น)
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Weindruch R, Walford RL, Fligiel S, Guthrie D. The retardation of aging in mice by dietary restriction: longevity, cancer, immunity and lifetime energy intake. J Nutr. 1986;116:641-654
PubMed
2. Chen-Yu Liao, Brad A. Rikke, Thomas E. Johnson, Vivian Diaz and James F. Nelson. Genetic variation in the murine lifespan response to dietary restriction: from life extension to life shortening. Aging Cell. 2010 ; 9 (1) : 92-95. DOI: 10.1111/j.1474-9726.2009.00533.x
3. Ricki J. Colman, Rozalyn M. Anderson, Sterling C. Johnson, Erik K. Kastman , Kristopher J. Kosmatka, T. Mark Beasley, David B. Allison et al. Caloric Restriction Delays Disease Onset and Mortality in Rhesus Monkeys. Science 2009 : 325 (5937); 201-204. DOI: 10.1126/science.1173635
4. Valter D. Longo. Linking sirtuins, IGF-I signaling, and starvation. Experimental Gerontology. 2009 :44(2); 70–74
5. Julie A. Mattison, George S. Roth, T. Mark Beasley, Edward M. Tilmont, April M. Handy,Richard L. Herbert, Dan L. Longo, David B. Allison, Jennifer E. Young, Mark Bryant, Dennis Barnard, Walter F. Ward, Wenbo Qi, Donald K. Ingram & Rafael de Cabo. Impact of caloric restriction on health and survival in rhesus monkeys from the NIA study. Nature 2012 : 489 ; 318–32. doi:10.1038/nature11432
6. Leonie K. Heilbronn, PhD; Lilian de Jonge, PhD; Madlyn I. Frisard, PhD; James P. DeLany, PhD; et al. Effect of 6-Month Calorie Restriction on Biomarkers of Longevity, Metabolic Adaptation, and Oxidative Stress in Overweight IndividualsA Randomized Controlled Trial. JAMA. 2006;295(13):1539-1548. doi:10.1001/jama.295.13.1539.
7. Rudman D. Effects of growth hormone in men over 60 years old. New England Journal of Medicine 1990;323(1):1-6.
8. Pradhan G1, Samson SL, Sun Y. Ghrelin: much more than a hunger hormone. Curr Opin Clin Nutr Metab Care. 2013;16(6):619-24. doi: 10.1097/MCO.0b013e328365b9be.