ช่องว่างระหว่างหมอกับคนไข้

อาจารย์สันต์ครับ

อาจารย์ช่วยลงโพสต์นี้ได้ไหมครับ ถ้าจะไม่เป็นการทำให้บล็อกของอาจารย์เสียหาย เพราะผมเองก็อึดอัดใจเต็มทีแล้วเหมือนกัน
“...........................”

.....................................................

ตอบครับ

ลงให้ได้ครับ แต่ผมขอเปลี่ยนสรรพนามเสียหน่อยนะ เพราะบล็อกนี้ลูกเล็กเด็กแดงก็อ่านกัน ส่วนเนื้อหาสาระนั้นผมคงไว้ทั้งดุ้น

สันต์

..............................................................

“..การเพิ่มเงินอัดฉีดเข้าระบบสาธารณสุขเพื่อดึงตัวแพทย์ใช้ทุนไว้ ใช่การแก้ปัญหาหรือไม่
... สาเหตุที่เขาลาออกกันเพราะอะไร เคยดูกันบ้างมั้ย

บอกเลย สาเหตุที่คนออกกันเพราะภาระหน้าที่มันหนัก ทำดีเสมอตัว ผิดพลาดก็โดนเหยียบ

ถ้าคุณเพิ่มเงิน คุณก็จะได้คนที่อยากได้เงินมาอยู่ ... การเป็นแพทย์ที่ดีมันใช่อย่างนั้นหรือไม่
จริงอยู่เงินอาจจะทำให้แพทย์ไม่ได้ออกไปหางานอื่นทำ แต่มันตรงประเด็นหรือเปล่า

ลองอ่านนี่ดู

1 คุณเข้าใจอารมณ์คนทำงานมั้ย เวลาทำงานเขามีช่วงพัก พวกผมมีหรือเปล่า เวรยาวทียี่สิบสี่ สี่สิบแปดชั่วโมง แล้วเป็นงานที่ไม่สามารถสร้างความผิดพลาดได้แต่ทำให้พวกผมล้าขนาดนี้ เหมือนได้ไม้งามมาหนึ่งต้น ปลูกบนแกลบล้วน ต่อให้ต้นไม้งามขนาดไหน มันก็ตาย ไม่โดนยำตายก็ทนไม่ไหวลาออกมา

2 โรคที่ไม่ต้องมาโรงพยาบาล เดี๋ยวนี้รู้จักกันมั้ย ไข้หวัด ไอ น้ำมูก ปวดกล้ามเนื้อ ผมท้าให้ไปดูสถิติการมาโรงพยาบาลเลย เกินครึ่งมีแต่โรคพวกนี้ แทนที่แพทย์จะมีเวลาคุยตรวจโรคที่สมควรได้รับการรักษาต่อเนื่องจริง ต้องรีบตรวจเพราะคิวคนไข้ด้านนอกยาวสี่สิบห้าสิบคิว แล้วปัญหามาจากไหน ก็ไอ้สิทธิบัตรไม่ต้องจ่ายไง พอไม่ต้องจ่ายก็แห่กันมาเอายา หมอขอยาแก้ปวดหน่อย หมอเป็นไข้หวัดไม่ได้รักษา หมอท้องเสียยังไม่ได้กินอะไรมาเลย หนักกว่านั้น หมอ จะเอายาฆ่าเชื้อเอาตัวนี้ตัวนั้นนะ จริงอยู่เขาบอกว่าผมเป็นอาชีพบริการ แต่ผมไม่ใช่บริกร จะมาชี้นิ้วสั่งเอาโน่นเอานี่เอานั่น มันไม่ใช่ ... เรื่องการดูแลสุขภาพพื้นฐานทุกคนควรรู้ เพราะมันคือสุขภาพคุณเอง ไม่ใช่สุขภาพผม ถ้ากระทรวงไม่สามารถแก้ปัญหาโดยการให้ความรู้ได้ ก็ยกเลิกระบบนี้ไปเลย เขาเรียกว่าเรียนรู้ทั้งน้ำตา เรียนรู้ด้วยการจ่ายเงิน

3 ปัญหาเกิดขึ้นได้ การแพทย์ไม่มีสูตรคำนวนตายตัว เหตุการแปรเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ ถ้าผู้มารับบริการรับไม่ได้กับสิ่งเหล่านี้ ไม่ต้องมารักษากับ GP เข้าเมืองไปเลย เข้าไปรักษากับ Specialist เลย แล้วผมจะคอยดูว่าเรื่องไม่คาดคิดมันจะยังเกิดมั้ย เหมือนปัญหาเด็กคลอด ผมแหล่ะคนนึงที่สนับสนุนให้รพช.ปิดห้องคลอดทุกที่ อย่าหาว่าใจร้ายเลยนะ แต่คนซวยทั้งลงทั้งร่อง ก็คือพวกผมนี่แหล่ะ General เบ้ ที่ต้องมารองรับอารมณ์ รองรับความอวดฉลาดของหลายคน

4 กฎหมายไทยคิดได้ยังไง เมื่อรักษาตาย ญาติคนไข้ฟ้องคดีอาญา คือพวกท่านสายนิติทั้งหลายท่านคิดกันหน่อย การสั่งการรักษาโดยคิดว่าผลการรักษาจะดีแต่กลับแย่ลง มันควรฟ้องฐานฆ่าคนตายมั้ย ในเมื่อการรักษาได้เกิดขึ้น แต่ไม่ได้เกิดผล ... ถ้าผมรักษาทุกคนแล้วรอด ไม่มีใครตายซักคน ผมนี่คงจะเป็นหมอเทวดา รักษาคนไข้ให้อยู่ค้ำฟ้าตลอดกาล ... นี่พอเข้าใจกันมั้ย

หมอก็คน หรือพวกท่านเห็นผมเป็นอะไร
พวกผมก็ป่วยเป็น พวกผมก็ล้าเป็น พวกผมมีความเครียดสูง ถึงผมจะไม่ได้ไปเล่นหุ้นเสี่ยงเจ๊ง แต่ผมเสี่ยงทำคนตาย ผมเสี่ยงกับการติดเชื้อ ผมเป็นหน้าด่านคว้ามือพวกคุณจากมัจจุราช

สิ่งที่อยากให้พวกคุณเข้าใจ คือ ภาระหน้าที่ที่พวกคุณท่านทั้งหลายมีต่อสุขภาพตัวเอง
สิ่งที่อยากให้พวกคุณเข้าใจ คือ สามสิบบาทรักษาทุกโรคกำลังจะทำให้ประเทศล้มละลาย
สิ่งที่อยากให้พวกคุณเข้าใจ คือ สิทธิการรักษาฟรี มันสร้างควาย ไม่ใช่คน สร้างบริกรไม่ใช่หมอ สร้างการดื้อยา ไม่ใช่การรักษาโรค สร้างการติดวิตามิน การติดยานอนหลับ เพียงเพราะ เขาไม่ต้องเสียเงิน
สิ่งที่อยากให้พวกคุณเข้าใจ คือ ผมไม่เคยอยากให้ใครตาย และเมื่อมันมีการเกิด มันมีการตาย แล้วจะให้ผมทำยังไง
สิ่งที่อยากให้พวกคุณเข้าใจ คือ พวกผมนี่ก็คนเหมือนพวกคุณ

จบนะ ไม่ดราม่า
นี่เป็นแค่เศษเสี้ยวหนึ่งที่อยากมาแชร์ อยากให้รู้อยากให้เข้าใจกันบ้าง ก็เท่านั้น
ถ้าเป็นได้ ก็แชร์เถอะครับ ส่งออกไปให้คนอื่นได้อ่าน
มี ...บ้าง ไม่ได้หยาบ แต่เป็นกันเอง

Sent from my iPhone

........................................................

ตอบครับ (2)

     ซีเรียสเลยนะครับ..ซีเรียสมากเลย

     หมอหนุ่มๆสาวๆเรียนหนังสือมาแทบตาย จบมาด้วยความเร่าร้อนว่าจะได้ใช้วิชาที่เรียนมาช่วยเหลือคนเจ็บไข้ แต่กลับมาพบว่าทุกอย่างไม่ได้เป็นอย่างที่คิด แทนที่จะได้ทำงานในบรรยากาศที่มีความร่วมมือกันฉันท์มิตรระหว่างหมอกับคนไข้ แต่กลับมาถูกใช้งานในระบบที่ถูกตราสังข์ไว้จนสร้างสรรค์อะไรแทบไม่ได้เลย ลักษณะการจ้างงานที่เรียกว่า "อยู่เวร" ดูเผินๆเหมือนไม่ต้องทำอะไรมากก็ได้เงิน แต่ในความเป็นจริงเป็นการมัดมือชกให้รับผิดชอบล้นฟ้าโดยไม่เลือกว่าเป็นเวลาหลับเวลานอน ที่แย่กว่านั้นก็คือถูกบีบให้รับผิดชอบในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นั่นคือให้รับผิดชอบการตายของคนไข้จากการเจ็บป่วยของเขาเอง และที่ดับเบิ้ลแย่ยิ่งไปกว่านั้นคือพอเกิดเรื่องขึ้น คนที่มีปัญญาระดับเดียวกันอย่างเช่นตุลาการแทนที่จะทำความเข้าใจและช่วยแก้ปัญหา กลับพิพากษาให้หมอที่ผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบติดเชื้อแล้วคนไข้ตายให้มีความผิดอาญา และพิพากษาจำคุกหมอ โดยที่ระบบตุลาการทั้งระบบก็ดูจะรับรู้แบบสมยอมว่าเออ นี่เป็นสิ่งที่ชอบแล้ว ผมจึงไม่แปลกใจที่นานๆสิ่งที่อัดอั้นในใจของพวกหมอหนุ่มสาวๆจะหลุดพลั้วะออกมาเสียทีหนึ่ง

     ผมจะขอไม่พูดถึงเรื่องระบบการจ้างงานแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขที่ทำให้หมอต้องทำงานมากเกินไป จะไม่พูดถึงระบบตุลาการที่คาดหมายว่าหมอจะต้องรับผิดชอบต่อการตายของคนไข้ไว้ก่อนไม่ว่าสภาพแวดล้อมของการรักษานั้นจะเป็นแบบใด และจะไม่พูดถึงผลกระทบด้านลบของระบบสามสิบบาทที่ทำให้ผู้คนระดับรากหญ้าเพิกเฉยละเลยต่อการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพนะครับ เพราะมันเป็นเรื่องใหญ่เกินไป พูดไปก็ไลฟ์บอย แต่วันนี้ผมขอพูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหมอกับคนไข้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมมองเห็นว่ายังอยู่ในวิสัยที่กู้กลับได้

     เผอิญเมื่อสองสามวันมานี้ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจได้มาขอสัมภาษณ์ผมในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ ส่วนที่ผู้สื่อข่าวเอาไปลงหนังสือพิมพ์นั้นถูกตัดไปมากเพื่อให้เหมาะกับพื้นที่นสพ. ผมจึงขอเอาเทปที่อัดไว้ตอนสัมภาษณ์จริงมาถอดให้ท่านผู้อ่านได้อ่านกันตรงนี้แบบเต็มๆเลย


ผู้สื่อข่าว:
คุณหมอมองปัญหาช่องว่างระหว่างหมอกับคนไข้อย่างไร ทำอย่างไรความสัมพันธ์ระหว่างกันจึงจะดีขึ้น

นพ.สันต์:

องค์ประกอบของความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ จริงๆแล้วมันมีห้าประเด็นนะ คือ
1. การเคารพศักดิ์ศรีกันและกัน (respect)
2. การเข้าใจมุมมองต่อชีวิตและการเจ็บป่วยของกันและกัน (shared value)
3. การถ่ายทอดความรู้สู่กันและกัน (knowledge transfer)
4. การมีความเชื่อมั่นในตัวกันและกัน (trust)
5. การมีเวลาให้กัน (time)

ทั้งห้าอย่างนี้ คือ Respect, Value, Knowledge, Trust, Time เป็นส่วนสำคัญในวินิจฉัยและการรักษาโรคทีเดียว ถ้าองค์ประกอบทั้งห้าประการนี้บกพร่อง โอกาสที่แพทย์จะวินิจฉัยโรคผิดก็มีมาก เพราะ

(1) เมื่อไม่เคารพศักดิ์ศรีกันและกัน แทนที่จะได้ข้อมูลที่จริงแท้เกี่ยวกับโรคก็กลับจะได้ข้อมูลปลอมที่ผู้ป่วยให้มาเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของตัวเองแทน หรืออาจจะได้การทะเลาะโต้เถียงเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีแทนที่จะได้ข้อมูล
(2) เมื่อไม่เข้าใจมุมมองต่อชีวิตของกันและกันจะทำให้ข้อมูลในส่วนขององค์ประกอบแวดล้อมของการเกิดโรค หรือที่เรียกว่า context of care หายไป
(3) เมื่อไม่มีการถ่ายทอดความรู้หากัน โอกาสที่ผู้ป่วยจะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยก็น้อยลง
(4) เมื่อไม่เชื่อถือกัน ก็จะเกิดการปิดกั้นข้อมูลส่วนตัวบางอย่างโดยอัตโนมัติ
(5) เมื่อไม่มีเวลาพอ ก็เข้าใจได้ไม่ยาก เวลาไม่พอ ข้อมูลก็ได้น้อย จะไปวินิจฉัยโรคได้ถูกได้อย่างไร

      และถึงแม้ว่าจะวินิจฉัยโรคได้ถูก ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีระหว่างหมอกับคนไข้ก็ยังจะไปทำให้การรักษาล้มเหลวได้อีก เพราะ

(1) เมื่อไม่เคารพศักดิ์ศรีกันและกัน คนไข้ก็ไม่ร่วมมือกับแผนการรักษา ถือว่าหมอมีหน้าที่รักษาฉันก็รักษาไป ฉันจะรอรับบริการ
(2) เมื่อขาดความเข้าใจมุมมองต่อชีวิตของกันและกัน โอกาสที่จะใช้ความเชื่อหรือปรัชญาส่วนตัวของคนไข้มาเป็นเครื่องมือช่วยรักษาโรคก็หดหายไปอย่างน่าเสียดาย เพราะบ่อยครั้งที่ความเชื่อของคนไข้นั่นแหละ เป็นเครื่องมือที่ดีในการรักษาโรคของคนไข้เอง
(3) เมื่อไม่มีการถ่ายทอดความรู้หากัน คนไข้ก็ไม่รู้วิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ตรงนี้มีงานวิจัยแยะมาก ว่าคนไข้ที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้ยิ่งมาก ยิ่งทำให้การรักษาโรคได้ผล
(4) เมื่อไม่เชื่อถือกัน คนไข้ก็ไม่เชื่อแผนการรักษาของหมอ แทนที่จะได้ลงมือดูแลตัวเองตามหมอแนะนำ กลับต้องตระเวนไปหาความเห็นของหมอคนที่สองที่สามที่สี่ไม่รู้จบ บางทีหมอว่าอย่างคนไข้จงใจทำอีกอย่างด้วยความเชื่อว่าหมอจะต้องว่าผิด
(5) เมื่อไม่มีเวลาพอ การรักษาโรคบางอย่างก็ไม่ได้ผล เพราะโรคบางอย่างการรักษาต้องอาศัยเวลาที่ได้อยู่ด้วยกัน อย่างเช่น การจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนไข้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อผลร้ายต่อสุขภาพ เช่นกินมาก มันต้องอาศัยเวลา พูดง่ายๆว่ามันต้องปลุกมู้ด หรือปลุกระดม ถ้าไม่มีเวลามันทำไม่ได้
   
ผู้สื่อข่าว:
ที่คุณหมอว่าเวลาไม่พอ ปัจจุบันนี้หมอมีเวลาพบคนไข้มากแค่ไหนหรือคะ

นพ.สันต์:

ในงานวิจัยเก่าที่ทำไว้หลายปีแล้ว เวลาพบกันที่โอพีดี. ถ้าในรพ.ของรัฐมีประมาณ 5 นาที ถ้าในรพ.เอกชนมีประมาณ 15 นาที นี่นับรวมเวลาที่แพทย์จะต้องซักประวัติการเจ็บป่วยด้วยนะ

ผู้สื่อข่าว:
ที่คุณหมอว่าเวลาไม่พอ ต้องมีเวลาเท่่าไหร่ละคะ ถึงจะพอ 

นพ.สันต์:

ในงานของผมซึ่งเป็นหมอด่านหน้า หรือหมอปฐมภูมิ ผมต้องมีเวลา 30 นาที ถึงหนึ่งชั่วโมงต่อคน จึงจะพอที่ผมจะเข้าใจปัญหาของคนไข้ และสร้างความสัมพันธ์เชิงร่วมมือให้เกิดขึ้นได้

ผู้สื่อข่าว:
นอกจากเวลาที่ไม่พอแล้ว อะไรเป็น "ช่องว่าง" สำคัญที่ทำให้ความเข้าใจกันเกิดขึ้นได้ยากคะ

นพ.สันต์:
มันมีอยู่สองอย่างเท่านั้นแหละ

อย่างแรก คือช่องว่างระหว่างความรู้ คือหมอเป็นคนที่รู้มาก คนไข้เป็นคนที่รู้น้อย คนที่รู้กับคนที่ไม่รู้พูดกัน มันก็มักจะไม่ค่อยรู้เรื่องกัน ทักษะในการถ่ายทอดความรู้ไปสู่กันโดยสามารถธำรงรักษาศักดิ์ศรีของกันและกันและให้สอดคล้องกับความเชื่อและภูมิหลังทางสังคมของอีกฝ่ายหนึ่งจึงสำคัญ

อย่างที่สอง คือช่องว่างเชิงจิตวิทยา คือคนไข้เป็นผู้กำลังป่วย กำลังเดือดร้อน กำลังเสาะหาการพึ่งพา ส่วนหมอเป็นผู้มีสุขภาพดี และมีศักยภาพที่จะให้ความช่วยเหลือพึ่งพาได้ มองเผินๆมันคล้ายๆจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนมีอำนาจ กับคนที่จำยอมต้องมาสยบต่ออำนาจ อาจไม่ใช่อย่างนั้นเสียทีเดียวนะ แต่คล้ายๆอย่างนั้น มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องเข้าหากันอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน จะต้องระวังอย่างยิ่งไม่ให้เกิดความรู้สึกสูญเสียศักดิ์ศรีของความเป็นคน มิฉะนั้นก็จะเกิดพฤติกรรมปกป้องศักดิ์ศรีอย่างไร้สาระของทั้งสองฝ่าย ซึ่งเผลอๆอาจนำไปสู่ความล้มเหลวของการรักษา

ผู้สื่อข่าว:
แล้วการจะถมช่องว่างนี้ละคะ

นพ.สันต์:
แน่นอน มันก็ต้องทั้งสองฝ่าย แต่มันต้องเริ่มที่แพทย์ก่อน อย่างเช่นประเด็นศักดิ์ศรีของความเป็นคน การที่แพทย์ซึ่งมีความรู้สูงกว่า อยู่ในฐานะผู้มีศักยภาพจะให้การพึ่งพิงได้ หากแพทย์ถ่อมตัวลงมา มันก็ง่าย ขณะที่คนไข้เขาเป็นฝ่ายต้องมาเสาะหาที่พึ่ง โดยธรรมชาติเขาก็ต้องตั้งการ์ดอยู่แล้วว่างานนี้เขาอาจจะถูกเหยียบย่ำศักดิ์ศรี การจะให้เขาถ่อมตัวลงไปก่อนอาจจะเป็นเรื่องยาก แต่ทั้งหมดนี้มันจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีเวลาให้กันนะ เวลาจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

ผู้สื่อข่าว:
ปกติแพทย์จะถูกสอนให้มีทักษะเหล่านี้มาแล้วหรือไม่

นพ.สันต์:
มันก็เป็นวิชาเล็กๆวิชาหนึ่ง ในจำนวนเนื้อหาวิชาทั้งหมดซึ่งมีมาก จบมาแล้วก็มีแต่คอนเซ็พท์เบื้องต้น แล้วก็มาหัดทักษะเอาในชีวิตจริง ตอนที่เพิ่งเริ่มเป็นหมอหนุ่มๆสาวๆก็อาจปรี๊ดแตกบ้าง มันก็เป็นธรรมดา ผมยอมรับว่าบางครั้งปัญหาก็เกิดจากหมอมีอัตตา และมีโลกทัศน์ที่คับแคบ แต่ก็นั่นแหละ หมอก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งนะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

...................................................

จดหมายจากผู้ป่วย (12 กพ. 58)

รู้สึกเห็นใจคุณหมอท่านนี้ แต่คุณหมอจะทุกข์น้อยลงนะ ถ้าหมอจินตนาการตัวเองเป็นคนไข้บ้าง เราไม่รู้หรอกว่าต้องดูแลตัวเองยังไงเมื่อป่วย ถ้าคุณภาพชีวิตที่ดี คุณหมอก็คงอยากจะไปหาหมอดีกว่ารักษาตัวเอง ถึงแม้เสีย 30 บาท แต่ถ้าไม่จำเป็นคงไม่มีใครอยากไป รพ. รอการรักษาทีนึงครึ่งวันโดยได้คุยกับแพทย์แค่ 5 นาที เรารู้ว่าคุณหมอเหนื่อย แต่เราก็เข้าใจมาตลอดว่า อาชีพนี้ต้องเสียสละ แต่ก็ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าในระยะยาวด้วย เพราะถ้าคุณหมอหมดไฟเมื่อไหร่ก็ไปทำเอกชนกัน ก็จะไม่เหนื่อยแล้ว รอให้รุ่นน้องต่อมารับภาระตรงนี้ไป ส่วนเรื่องการฟ้องร้องก็คงเป็นเรื่องปกติของคนสมัยนี้ ไม่ว่าอาชีพอะไรก็โดนฟ้องได้ทั้งนั้น แต่เราก็เข้าใจว่า ถ้าหมอไม่เลินเล่อจริงๆ ก็ไม่มีทางที่จะแพ้คดีได้ ซึ่งก็ยุติธรรมดีแล้ว. คุณหมอคะ แทนที่จะมองแต่สิ่งแย่ๆ ในชีวิต คุณหมอลองมองทุกสิ่งว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง ได้มั้ย อะไรแก้ได้ ก็แก้กันไป อะไรที่มันแก้ไม่ได้ ก็อยู่กับมันไปอย่างเข้าใจและยอมรับ เสียเวลาเปล่าที่จะไปจมอยู่กับทุกข์ และ recycle ความทุกข์อยู่ทุกวัน คุณหมอเคยถ่ายภาพใช่มั้ย ลองเอามาใช้กับชีวิตดูสิคะ ขอให้เลือกแต่แง่มุมสวยๆ เก็บเอาไว้ดีกว่า ส่วนประกอบที่แย่ๆ ก็อย่าเก็บเอามาเลย

ทั้งหมดเป็นความเห็นใจที่อยากให้กับคนที่เสียสละเพื่อส่วนรวม คุณหมออาจจะลืมไปว่า อาชีพนี้ ยังมีอีกหลายคนมากที่ศรัทธาและให้เกียรติมากกว่าอาชีพอื่นนะคะ ถึงแม้จะเจอหมอแย่ๆ บ้าง (เหมือนคุณหมอเจอคนไข้แย่ๆ น่ะแหล่ะ)

..........................................

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

หนังสือคัมภีร์สุขภาพดี (Healthy Life Bible) จะพิมพ์ครั้งที่ 3 แน่นอนแล้ว เชิญสั่งซื้อได้

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

วิตามินดีเกิน 150 หมอบอกมากเกินไป ท้ังๆที่ไม่ได้ทานวิตามินดี

Life Skill Camp for Kids แค้มป์ทักษะชีวิตเยาวชนที่มิวเซียมสยาม 16 พย. 67