โรคพาร์คินสัน ผอมติดกระดูก ไม่มีเนื้อ

คุณหมอคะรบกวนปรึกษาค่ะ
     แม่ดิฉัน 64 ปีได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคพาร์กิสัน ตอน 62 ปีเริ่มเป็น ก่อนที่จะรู้ว่าเป็น ก็ผ่านมาหกเดือน เพราะไม่รู้จักโรคนี้มาก่อน  น้ำหนักจาก 50 ลดฮวบฮาบ จนตอนนี้ 35 โล ผอมติดกระดูก ผิวแห้งติดไม่มีเนื้อ เหมือนอายุ 80 ปี และคิดว่าเป็นกระดูกพรุน เพราะเคยหกล้ม ขาหัก และโดนตัดมดลูก อายุ 40 ปี แล้วไม่ได้เติมฮอรโมน  ทำไมถึงผอมได้ขนาดนี้ ..
เจาะเลือด เจาะนู่นี่ คิดว่าเป็นมะเร็ง กว่าจะรู้ ก็นานหกเดือน.. หน้าแสดงสีหน้าไม่ได้ หน้าเศร้าจากที่เคยยิ้มได้ เดินก้าวสั้นลงๆ เกร็งตัว ปวดตามตัว ตามข้อต่างไม่มีเนื้อเลยค่ะ เจ็บกระดูก ตลอด เหมือนร้อนรุ่มตลอด  หยิบจับทำงานไม่ได้เลยค่ะ ตอนนี้อาการเริ่มกลืนข้าวลำบาก พอกินข้าวไป พอกินข้าวเช่นโจ๊ก ข้าวต้ม บะหมี่น้ำ ข้าวหมูแดง ตามแต่พ่อจะหาได้ พอกินไป ก็ท้องผูกหลายวัน ปวดท้องถ่ายไม่ออก หาซื้อยาระบาย หลายขนาน สามสี่วันออกมานิดเดียว จนแม่เบ่งจนเลือดออก เป็นอย่างนี้ประจำ จะปวดหัวมากถ้าได้ยินเรื่องกลุ้มใจ กลางวันจะปวดหัว กลางคืน นอนไม่หลับ ฝันร้ายตื่นกลางดึกก็จะไม่นอนหลับอีกเลย ละเมอออกเสียง ยกแขนขา
ยิ่งตอนนี้ซึมเศร้าอย่างหนัก เวลาไม่มีใครอยู่ตอนกลางวัน ซึ่งอยู่แค่ พ่อ กับ แม่ เดินแต่ภายในบ้านเกือบสองปี ยังดีทานข้าวยกช้อนได้ค่ะ  ยกเว้นไปหาคุณหมอจะออกจากบ้าน แล้วก็จะได้รับยา โดปามีน 1ขวด ยานอนหลับ ยาบำรุง เดือนละ 1 ครั้ง
   1. มีทางไหนที่จะทำให้มีน้ำหนักขึ้นมาบ้างไหมคะ ปฏิบัติต่อท่านไงดีคะ ทานนมไม่ได้ ให้ทานนมเปรี้ยวได้ไหมคะ อาหารยังไงดีคะ ห้ามกินอะไร และควรกินอะไรคะ
   2. กายภาพยังไงดีคะ มีโรงพยาบาลที่เฉพาะทางนี้ไหมคะ ของรัฐ สงเคราะห์ ซึ่งเราฐานะยากจนค่ะ
   3. อาการขั้นต่อไปจะแย่กว่านี้ไหมคะ  ท่านบ่นทำไมต้องมาเป้นตอนนี้ แล้วจะเป้นอีกนานเท่าไหร่ อาการไม่ดีขึ้นเลยค่ะ หาหมอ สิบนาที แต่รอนานสาม ชม. ยังดีว่าทำบัตรผู้พิการทางด้านเคลื่อนไหว ไม่งั้น แค่ค่ายาก้หนักเอาการ
........................................................................

ตอบครับ
         
     จดหมายของคุณ ทำให้ผมรำลึกถึงเพื่อนซี้ของเจ้านายเก่าของผมคนหนึ่ง เป็นหมอผ่าตัดหัวใจชาวอเมริกัน ชื่อ ดไวท์ แมกกูน เขาเป็นหมอระดับอัจฉริยะ ทำอะไรก็ทำได้ดีไปหมด เป็นนักเปียโนเอก เป็นหมอผ่าตัดหัวใจชั้นยอด แต่ว่าพออายุมากขึ้นเขาเป็นโรคพาร์คินสัน วันหนึ่งเขาออกบรรยายในการประชุมโรคหัวใจของโลก สมัยนั้นการบรรยายต้องอาศัยสไลด์เป็นหลัก และอุปกรณ์รีโมทยังไม่มี และสมัยนั้นถ้าเครื่องมันร้อนสไลด์มักจะชอบติดอยู่ในเครื่องฉาย เรียกว่าหมอดังๆระดับโลกทุกคนต้องรู้วิธีแก้ไขปัญหาสไลด์ติดไม่งั้นการประชุมจะชงัก เพราะสไลด์ติดเป็นปัญหาเทคนิคขั้นสูงที่ไม่มีทางที่เจ้าหน้าที่โรงแรมซึ่งเป็นเลย์แมนจะช่วยอะไรได้เลย เพื่อให้ผู้อ่านที่เป็นคนรุ่นหลังเข้าใจความยิ่งใหญ่ของปัญหาสไลด์ติด ผมขอนอกเรื่องไปอีกนิดหนึ่งนะ ครั้งหนึ่งมีการประชุมนานาชาติเหมือนกัน แล้วเกิดสไลด์ติดขึ้น ไม่มีใครสามารถแก้ไขได้ มีอาจารย์หมอผ่าตัดหัวใจระดับบิ๊กของศิริราชท่านหนึ่งซึ่งพวกเราที่เป็นคนรุ่นหลังเรียกท่านว่าครูกำพล เพราะว่าท่านเป็นครูของพวกเราและท่านชื่อกำพล ท่านเดินอาด อาด จากกลางห้องประชุมขึ้นไปบนเวที แล้วล้วงเอาคีมฮีโมสะแต็ทหนีบหลอดเลือดที่หมอผ่าตัดใช้ห้ามเลือดเป็นประจำออกมาจากกระเป๋ากางเกง หนีบเอาสไลด์ที่ติดออกมา ทำให้การประชุมเดินหน้าต่อไปได้ ห้องประชุมซึ่งมีหมอจากทั่วโลกราวสองพันคนนั่งลุ้นอยู่พากันปรบมือดังกึกก้อง เนี่ย สไลด์ติดสมัยนั้นมันยิ่งใหญ่ขนานนี้เลยเชียวนะคุณ

     กลับมาพูดถึงดไวท์ แมกกูน ขณะที่เขาออกมาจะบรรยาย ไสลด์เกิดติด เขาก็ยักแย่ยักยัน เพราะคนเป็นพาร์คินสั่นมือจะสั่นจนหยิบจับอะไรไม่ค่อยจะได้ กว่าจะแก้สไลด์ติดได้ก็ลุ้นกันเหนื่อย แต่เขายิ้มด้วยตาและพูดว่า

     “..เจ้าเครื่องฉายสไลด์เนี่ยมันก็เหมือนผมนั่นแหละครับ.. คือไม่สมบูรณ์”

     คนฟังปรบมือชอบใจ เพราะคนฟังทุกคนเป็นหมอ รู้ว่าโรคพาร์คินสันเป็นอะไรที่สาหัส รักษาไม่หาย มีแต่ทรงกับทรุด ใครเป็นโรคนี้ก็มีแต่เซ็งมะก้องด้อง แต่ ดไวท์ แมกกูน มองโรคของเขาว่ามันเป็นธรรมดาของสรรพสิ่ง ที่ย่อมจะไม่สมบูรณ์ไปบ้างไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง เป็นการมองโลกในแง่บวกที่ผมเองยังนึกชื่นชมและจดจำวาทะของเขาได้จนเดี๋ยวนี้

     มาตอบคำถามของคุณดีกว่า

     1.. ถามว่ามีทางไหนที่จะทำให้มีน้ำหนักขึ้นมาบ้างไหม ห้ามกินอะไร และควรกินอะไร ตอบว่า ไม่มีวิธีกินอาหารเป็นพิเศษสำหรับผู้ป่วยเป็นโรคพาร์คินสัน คำแนะนำก็คือทานอาหารที่มีโภชนาการครบถ้วนเหมือนคนปกติ แต่คนเป็นโรคพาร์คินสันประมาณหนึ่งในสามเป็นโรคขาดอาหาร เพราะมีประเด็นพิเศษ คือ

     1.1  ฟันไม่ดี คนเป็นโรคพาร์คินสันมักจะอายุมาก ซึ่งมีปัญหาเรื่องฟันผสมโรง ทำให้อาหารที่เป็นตัวเลือกยิ่งมีน้อยลง จะต้องให้หมอฟันช่วยดูด้วย และต้องหาทางให้ได้กินอาหารง่ายขึ้นเช่นปั่นอาหารแข็งโดยเฉพาะผักผลไม้ด้วยความเร็วสูงจนเหลวเป็นน้ำแล้วให้ดื่มทั้งหมดโดยไม่ทิ้งกาก
     1.2  มีภาวะซึมเศร้า หรือภาวะสมองเสื่อม ซึ่งมักพบร่วม ทำให้ไม่อยากอาหาร ต้องชวนกิน ช่วยสร้างโอกาสให้ได้กิน ช่วยเชียร์ ช่วยลุ้น
     1.3  มีความยากลำบากในการกลืนเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของโรคนี้ ต้องให้เวลาในการกินอาหาร และปรับสภาพของอาหารให้กลืนง่าย
     1.4  ยารักษาโรคพาร์คินสัน (l-dopa) ไม่ถูกกับอาหารโปรตีน หมายความว่ายาจะแข่งกับอาหารโปรตีนในการถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ได้อย่างหนึ่ง จะไม่ได้อีกอย่างหนึ่ง ดังนั้นต้องสับหลีกกันให้ดี
     1.5  หัวใจของการเพิ่มน้ำหนักคืออาหารโปรตีน ถ้าน้ำหนักปกติ 50 กก. ก็ต้องให้ได้โปรตีนวันละอย่างน้อย 50 กรัม หมายถึง 50 กรัมของโปรตีนนะ ไม่ใช่กรัมของเนื้อนมไข่ ยกตัวอย่างคุณกินเนื้อหมู 100 กรัม (สะเต๊กหนึ่งชิ้น) คุณจะได้โปรตีน 20% คือ 20 กรัมเท่านั้นเอง หรือถ้าคุณกินไข่ใบโตหนึ่งฟอง (70 กรัม) คุณจะได้โปรตีน 10% คือ 7 กรัมเท่านั้นเอง คุณดื่มนม 1 แก้ว (250 ซีซี.) คุณจะได้โปรตีนประมาณ 3.3% คือ 8.2 กรัมเท่านั้นเอง ดังนั้นวันหนึ่งถ้าคุณอยากได้โปรตีน 50 กรัมคุณต้องกินกินสเต๊กหนึ่งชิ้น ไข่สองฟอง นม 2 แก้ว ประมาณนี้ แหล่งอาหารโปรตีนที่ดีมากคือถั่วต่างๆ ผลเปลือกแข็ง (nut) และเมล็ด (seed) ซึ่งมีโปรตีนประมาณ 20-30% แถมยังมีวิตามินและเกลือแร่มาก ถั่วต่างๆคุณคงรู้จักดีอยู่แล้ว ตัวอย่างของผลเปลือกแข็งก็เช่น มะม่วงหิมพานต์ เกาลัด แป๊ะก๊วย อัลมอนด์ มะคาเดเมียเป็นต้น ตัวอย่างของเมล็ดก็เช่น งา เมล็ดทานตะวัน เมล็ดเก๋ากี้ เป็นต้น ควรหาผลเปลือกแข็งและเมล็ดเหล่านี้มาทานเป็นของว่างแทนขนมหวานซึ่งมีแต่ให้แต่พลังงานแต่มีโปรตีนต่ำ นอกจากนั้น ยังมีประเด็นอีกว่าโปรตีนนี้หากขาดวิตามินเกลือแร่ร่างกายจะเอาโปรตีนไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ คุณก็ต้องให้กินโปรตีนบวกผักผลไม้ จะใช้วิธีปั่นเป็นน้ำให้กินก็ได้ ในกรณีที่กินอาหารได้น้อยมาก วิธีให้ได้โปรตีนง่ายๆก็คือให้กินไข่เหลว (เช่นไข่ลวก) แบบว่าใช้หลอดดูดกินเลย หรือถ้าทนความคาวของไข่ลวกไม่ได้ ก็อาจใช้เวย์โปรตีน (Whey protein) เวย์โปรตีนนี้ก็คือหางนมผง หรือนมที่เขาเอาไขมันและน้ำออกไปหมดแล้ว เหลือแต่โปรตีนเป็นผง หาซื้อได้ตามร้านขายยา หรือตามโรงยิมที่เขาเล่นกล้ามกัน

     2. ถามว่ามีโรงพยาบาลที่ทำกายภาพเฉพาะทางโรคพาร์คินสันไหม ตอบว่าไม่มีครับ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือของเอกชน ก็ล้วนไม่มีครับ ประเทศไทยยังไม่เจริญถึงขั้นจะทำศูนย์กายภาพเฉพาะโรคพาร์คินสันได้หรอกครับ ตอนนี้ลุ้นแค่การฟื้นฟูโรคอัมพาตให้เจ๋งก่อนก็หรูแล้ว รพ.ของรัฐนั้นทำไม่ได้เพราะงานสำคัญกว่าที่ต้องทำก่อนมีล้นมือ รพ.เอกชนทำไม่ได้เพราะมีลูกค้าน้อยไม่คุ้มทุน

     3. ถามว่าอาการขั้นต่อไปจะแย่กว่านี้ไหม ตอบว่าพระเจ้าเท่านั้นที่จะรู้ครับ ผมว่าคุณเอาแค่วันนี้ก่อนก็แล้วกัน วันพรุ่งนี้อย่าเพิ่งไปถวิลหามันเลย

     4. ถามว่าจะทำกายภาพยังไงดีคะ ตอบว่าการออกกำลังกายแบบไหนดีกว่าแบบไหนนั้นสำหรับโรคพาร์คินสันนั้น แม้จะมีงานวิจัยศึกษาการออกกำลังกายสารพัดแบบในคนเป็นโรคพาร์คินสัน รวมไปถึงการรำมวยจีน ไทเก๊ก เต้นชะชะช่า หรือเต้นแทงโก้ (จริงๆไม่ได้พูดเล่น) แต่ปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อมูลพอสรุปได้ว่าการออกกำลังกายแบบไหนดีที่สุดสำหรับคนไข้โรคนี้ ผมจึงแนะนำคุณให้ทำตามหลักการออกกำลังกายสำหรับโรคพาร์คินสัน ที่นิยมใช้กันตามศูนย์กายภาพบำบัดดังๆในอเมริกา ซึ่งเขามีหลักว่านอกจากการฝึกกล้ามเนื้อแบบมาตรฐานทั่วไปแล้ว ควรเน้นการฝึก 16 ประเด็นต่อไปนี้ ซึ่งผมชอบ และใช้ฝึกคนไข้ของผมเอง  คือ  

     ประเด็นที่ 1. ออกกำลังให้มากเข้าไว้ ออกกำลังกายทุกวันวันละหลายชั่วโมง โรคพาร์คินสันคือโรคแข็งทื่อ จำไว้ว่าน้ำที่ไหลไม่กลายเป็นน้ำแข็งฉันใด กล้ามเนื้อที่ได้ออกแรงก็จะไม่แข็งทื่อฉันนั้น
     ประเด็นที่ 2. ฝึกทรงตัวให้มั่น ยืนกางขาห่างกันสิบนิ้วจนเป็นนิสัย อาจดูไม่เท่ แต่ปลอดภัย
     ประเด็นที่ 3. ฝึกการออกตัว (initiation movement) เชิดหน้าขึ้น ยกหัวแม่ตีนขึ้น หัวแม่ตีนไม่ยก เท่ากับไม่ได้ก้าว เมื่อใดที่ขาแข็งติดพื้น โยกน้ำหนักไปทางส้นเท้า ยกหัวแม่ตีนขึ้น โยกน้ำหนักไปขาอีกข้าง แล้วงอเข่ายกเท้าก้าวเดิน
     ประเด็นที่ 4. ฝึกทรงตัวบนขาเดียว ยืนขาเดียวจับราว เอาเท้าอีกข้างเคลื่อนไหวไปมา เดินหน้า ถอยหลัง ไปข้าง เขียนวงกลมบนพื้น
     ประเด็นที่ 5. ฝึกเดินแบบใกล้เคียงปกติ ก้าวให้ยาว วางแมกกาซีนไว้เป็นช่วงๆ ยกเท้าลอยกลางอากาศ ก้าวข้ามแมกกาซีน เอาส้นลงพื้นก่อน แกว่งแขนให้เต็มที่เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อไหล่ ถือม้วนหนังสือพิมพ์ไว้สองมือเพื่อช่วยการแกว่งแขน มองไกล อย่ามองพื้น ให้เท้าเดาเอาเองว่าพื้นอยู่ตรงไหน
     ประเด็นที่ 6. ฝึกเลี้ยวให้ปลอดภัย ก้าวให้สั้นลงขณะเลี้ยว วางเท้าให้ห่างกัน โยกน้ำหนักไปเท้าซ้ายทีขวาทีขณะเลี้ยว และห้ามไขว้ขา
     ประเด็นที่ 7. ฝึกป้องกันการล้ม หัดฟุตเวอร์คด้วยวิธีเคลื่อนไหวเร็วๆสั้นๆไปข้างๆ ไปข้างหน้า ไปข้างหลัง อย่าหวังพึ่งกำแพง เพราะมันไม่เคยอยู่ที่นั่นเวลาคุณล้ม
     ประเด็นที่ 8. ฝึกหย่อนตัวลงนั่งเก้าอี้ โน้มตัวไปข้างหน้า กระดกก้นไปข้างหลัง ย่อตัวลงช้าๆ จนก้นถึงพื้นเก้าอี้ ถ้าขาแข็งเดินไปนั่งเก้าอี้ไม่ได้ ให้ตั้งใจเดินผ่านมันไป แล้วแวะนั่งขณะเดินผ่าน (คนเป็นโรคนี้ตั้งใจทำอะไรแล้วมักสั่นหรือเกร็งจนทำไม่ได้)
     ประเด็นที่ 9. ฝึกลุกจากเก้าอี้ โน้มตัวไปข้างหน้า แล้วนับ หนึ่ง สอง สาม ลุกพรวด ลุกแบบสายฟ้าแลบ เพราะคนเป็นโรคนี้ลุกช้าๆจะลุกไม่ขึ้น ทำเก้าอี้ประจำตัวแบบเสริมขาหลังสี่นิ้วทำให้ลุกง่าย อย่าให้คนช่วยดึงแขน แต่ให้ดันหลังแทน
     ประเด็นที่ 10.  ฝึกลุกจากเตียง หนุนขาหัวเตียงให้ยกขึ้นเพื่อให้ลุกง่าย ผูกผ้าเป็นปมไว้กับปลายเตียงไว้ดึงตัว ลุกนั่งบนเตียง แล้วหมุนตัวด้วยแรงเหวี่ยงอย่างแรงมานั่งห้องขาข้างเตียง
     ประเด็นที่ 11.  ฝึกถ่วงดุล ถ้าลำตัวเอียงไปข้างหนึ่ง ให้หิ้วของอีกข้างหนึ่งถ่วง
     ประเด็นที่ 12.  ฝึกมือ หางานให้มือทำทั้งวัน ฝึกกลัดและปลดกระดุม หั่นอาหาร เขียนหนังสือ เขียนภาพ บีบลูกบอล ฉีกกระดาษ นับแบงค์ นับเหรียญ เอาเหรียญเข้าออกกระเป๋า เล่นเครื่องดนตรี แต่งตัวให้ตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบ ทำซ้ำแยะๆ ใช้หลักซ้อม 20 ครั้ง ทำจริงครั้งที่ 21
     ประเด็นที่ 13.  ฝึกแขน โดยติดตั้งรอกไว้เหนือเก้าอี้ นั่งลงดึงเชือกผ่านรอกไปทางโน้นทีทางนี้ที กางแขนและไหล่ไปทุกทาง (working pulley when seated)
     ประเด็นที่ 14.  ฝึกการออกเสียง ในรายที่มีปัญหาการพูด มีหลักว่าให้กระตุ้นการพูด คิดดังๆ ตะโกนความคิดออกมา อ่านออกเสียง นับเลขดังๆ
     ประเด็นที่ 15.  ฝึกแสดงสีหน้า ทำหน้าใส่กระจก แยกเขี้ยว ยิงฟัน ยิ้ม หัวเราะ นวดหน้า เคี้ยวอาหารให้หนักๆ ย้ายอาหารในปากไปมา ข้างซ้ายที ข้างขวาที จนละเอียดก่อนกลืน
     ประเด็นที่ 16.  ฝึกป้องกันกล้ามเนื้อเกร็งแข็ง โดย
     16.1 ยืนหน้าชนผนัง ห่างสัก 8 นิ้ว แล้วยกแขนทาบผนังให้สูงสุดแขน โถมน้ำหนักลงบนผนังแล้วยืดแขนให้ทุกส่วนของร่างกายแนบกับผนัง
     16.2 ยืนหลังพิงชิดผนัง ยกขาซอยเท้าให้สูงที่สุดแบบทหารเดินแถว
     16.3 จับราวอะไรสักอย่าง แล้วนั่งยองให้ต่ำสุดเท่าที่ทำได้แล้วค่อยๆลุกขึ้น
     16.4 นั่งเก้าอี้พนักตรง เอามือไขว้พนัก แอ่นอก เชิดหน้ามองเพดาน
     16.5 นั่งเก้าอี้ สองมือยกกระบองขึ้นเหนือศีรษะให้สูงสุด
     16.6 นั่งเก้าอี้ ซอยเท้าบนพื้น ยกเข่าให้สูงสุดๆ
     16.7 นอนหงายกดทุกส่วนของร่างกายลงกับพื้นให้ราบ
     16.8 นอนคว่ำมือไขว้หลังตามองเพดานยกอกจากพื้น
     16.9 นอนคว่ำเตะเท้าสลับแบบว่ายน้ำ
     16.10 หันศีรษะไปซ้ายทีขวาที
     16.11 ยืนเท้าสะเอวซอยเท้า
     16.12 ยืนถ่างขาโน้มตัวไปหน้า โน้มไปด้านข้าง โน้มไปข้างหลัง โยกตัวเป็นวงกลม

     จะเห็นว่าเยอะแยะมากมายเลยใช่ไหมครับ ซึ่งไม่มีศูนย์กายภาพบำบัดที่ไหนมีเวลาทำให้ได้หรอก ดังนั้นการทำเองที่บ้านจึงจะดีที่สุด ตัวผมมีความเห็นว่าการลงทุนฟื้นฟูฝึกฝนการออกกำลังกายให้ผู้สูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรังรวมทั้งโรคพาร์คินสันนี้ ถ้าทำเป็น หมายความว่าทำด้วยความมุ่งหมายที่จะให้ผู้สูงอายุกลายเป็นคนแอคทีฟขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวทำอะไรเองได้ด้วยตัวเอง จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด เพราะทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตบั้นปลายที่ดี อันเป็นยอดปรารถนาของผู้สูงอายุทุกคน ดังนั้น ถ้าคุณจะทดแทนบุญคุณท่านละก็ ตรงนี้แหละครับ ใช่เลย

ปล.

     สำหรับท่านผู้อ่านทั่วไปที่ยังไม่รู้จักโรคพาร์คินสัน โรคนี้มีนิยามว่าคือภาวะที่มีการเสื่อมของเซลประสาทที่ทำหน้าที่ปล่อยโดปามีนในก้านสมอง (substantia nigra) สาเหตุประมาณ 10% เกิดจากพันธุกรรม ที่เหลือ 90% เกิดจากสิ่งแวดล้อม (เช่นยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง สารพิษโรงงาน ตลอดจนหาสาเหตุไม่เจอ) มีอาการสำคัญห้ากลุ่มคือ (1) มือสั่น (2) กล้ามเนื้อเกร็งแข็ง (3) การเคลื่อนไหวช้าและผิดปกติ (4) ทรงตัวลำบาก (5) อาจมีอาการที่ไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเช่น ซึมเศร้า สมองเสื่อม เห็นภาพหลอน นอนไม่หลับ กินไม่ได้ ท้องผูก ลุกแล้วหน้ามืด อั้นปัสสาวะไม่อยู่ และพฤติกรรมผิดปกติเช่น คุมกิเลสไม่อยู่ (impulse control disorder) เป็นต้น 
     โรคนี้วินิจฉัยจากอาการเท่านั้น ไม่มีวิธีตรวจยืนยันทางแล็บใดๆตราบใดที่คนไข้ยังมีชีวิตอยู่ แต่หากหลังการเสียชีวิตแล้วถ้านำเนื้อสมองมาตรวจทางพยาธิวิทยาจะพบว่ามีการเสื่อมของเซลประสาทชนิดที่มีเม็ดสี (neuromelanin) อยู่ในเซล โดยเซลที่รอดชีวิตมักมีเม็ดย้อมติดสีเหมือนอาทิตย์ทรงกลดเรียกว่า Lewy body

     โรคนี้ยังไม่มีวิธีการรักษา มีแต่วิธีบรรเทาอาการด้วยา ยามาตรฐานที่ใช้คือ Levodopa (ก็คือ Sinemet นั่นแหละ) ร่วมกับยา carbidopa ตัวออกฤทธิ์บรรเทาอาการสั่นและเกร็งตัวจริงคือ levodopaส่วน carbidopa นั้นออกฤทธิ์ยับยั้งการเปลี่ยน levodopa ไปเป็น dopamine จึงทำให้มีผลทางอ้อมให้มี levodopa มากขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อใช้ levodopa นานไปประสิทธิภาพของยาจะลดลงและการเคลื่อนไหวผิดปกติมากขึ้น การใช้ยาต่างๆจะได้ผลดีในระยะ 5-6 ปีแรก ในรายที่ยาคุมอาการไม่ได้ผล อีกทางเลือกหนึ่งคือการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึก (deep brain stimulation - DBS) โดยที่ผลที่ได้ก็เป็นเพียงการบรรเทาอาการเท่านั้น    
          การออกกำลังกายเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการบรรเทาอาการโรคนี้ เพราะช่วยให้ใช้กล้ามเนื้อทำงานได้ดีขึ้น ท่าร่างดีขึ้น ทรงตัวดีขึ้น การออกตัวเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น นอกจากนี้วงการแพทย์กำลังสนใจข้อมูลในสัตว์ทดลองที่พบว่าการออกกำลังกายอย่างแข็งขันมีผลป้องกันโรคพาร์คินสันได้ ปัจจุบันการรักษาด้วยสะเต็มเซลล์เป็นความหวังที่มาแรงมาก แต่ไม่รู้จะมาถึงเมื่อไหร่ สิบปี ยี่สิบปี หรือกว่านั้น ยังไม่มีใครทราบ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1.     National Collaborating Centre for Chronic Conditions. Parkinson's disease: National clinical guideline for diagnosis and management in primary and secondary care. London, UK: Royal College of Physicians; 2006.
2.     Morris ME, Martin CL, Schenkman ML. Striding out with Parkinson’s disease: evidence – based physical therapy for gait disorders. Physical Therapy 2010; 90 (2): 280 – 288 
3.     Smith AD, Zigmond MJ. Can the brain be protected through exercise? Lessons from an animal model of parkinsonism. Exp Neurol 2003;184:31-39.
4.     Hackney ME, Earhart GM. Tai Chi improves balance and mobility in people with Parkinson disease. Gait Posture. 2008;28:456–460.
5.     Hackney ME, Earhart G. Effects of dance movement control in Parkinson’s disease: a comparison of Argentine tango and American ballroom. J Rehabil Med.2009; 41:475–481.
6. Tomlinson CL, Patel S, Meek C, Clarke CE, Stowe R, Shah L, et al. Physiotherapy versus placebo or no intervention in Parkinson's disease. Cochrane Database of Systematic Reviews. Feb 2012.
7. Laudisio A1, Vetrano DL, Meloni E, Ricciardi D, Franceschi F, Bentivoglio AR, Bernabei R, Zuccalà G. Dopaminergic agents and nutritional status in Parkinson's disease. Mov Disord. 2014 Oct;29(12):1543-7. doi: 10.1002/mds.25991. Epub 2014 Sep 12.
8. Wirdefeldt K, Adami HO, Cole P, Trichopoulos D, Mandel J. Epidemiology and etiology of Parkinson's disease: a review of the evidence. Eur J Epidemiol. Jun 2011;26 Suppl 1:S1-58. [Medline].
9. Anderson P. More Evidence Links Pesticides, Solvents, With Parkinson's. Medscape Medical News. Available at http://www.medscape.com/viewarticle/804834. Accessed October 11, 2014.
10. Pezzoli G, Cereda E. Exposure to pesticides or solvents and risk of Parkinson disease. Neurology. May 28 2013;80(22):2035-41. [Medline].
11. Liu R, Guo X, Park Y, Huang X, Sinha R, Freedman ND, et al. Caffeine Intake, Smoking, and Risk of Parkinson Disease in Men and Women. Am J Epidemiol. Apr 13 2012;[Medline].
12. Tanna T, Sachan V. Mesenchymal Stem Cells: Potential in Treatment of Neurodegenerative Diseases. Curr Stem Cell Res Ther. 2014 Sep 22. [Epub ahead of print]
13. Kim HJ, Jeon BS, Paek SH. Effect of deep brain stimulation on pain in Parkinson disease. J Neurol Sci. Nov 15 2011;310(1-2):251-5. [Medline].

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี