แพ้ยาลดไขมันทุกตัว LDL 363 ทำไงดี

ลี่ชุน (วันตรุษจีน) เป็นไมล์สโตนของการสิ้นสุดฤดูหนาวและการย่างก้าวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ แต่ว่านี่ลี่ชุนผ่านไปพักใหญ่แล้ว อากาศที่มวกเหล็กยังเย็นสบายดี ดอกฮอลลี่ฮ็อคที่สวนมั่วหน้าบ้านผมยังบานได้อยู่ ภาพนี้ภรรยาใช้ไอแพ็ดถ่ายให้ตอนผมออกมาจิบกาแฟยามเช้า อากาศดีทำให้อยากร้องเพลงในหนังเรื่องโอลิเวอร์

“..Who will buy
This wonderful morning?
Such a sky You never did see!

Who will tie
It up with a ribbon
And put it in a box for me?..”

อารมณ์ดีๆอย่างนี้ขอทำงานเสียหน่อยนะ ด้วยการตอบคำถามท่านผู้อ่านท่านนี้ ซึ่งได้ priority เพราะมีอายุ

................................................

เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ

ดิฉันอายุ 75 ย่าง 76 ปี น้ำหนัก 60 ก.ก. สูง 153 ซ.ม. 

1. ความดันโลหิต เคยสูง 160 ทานยา Millimed  AMVAS 5mg. วันละ 1 เม็ดหลังอาหารเช้า (ทานมาประมาณ 6 เดือน) ความดันเหลือ 135
2. เป็น Hypothyroid (เดิมเป็น Hyperthyroid แล้วหมอให้ทานน้ำแร่) ต้องทานยา ELTROXIN  (100Mcg.) 1 เม็ดก่อนอาหารเช้า จันทร์ - ศุกร์ ผลตรวจ TSH THYROID 1.26  FT 4 FREE THYROXINE 2.5
3. ทาน Aspirin 81 mg. วันละ 1 เม็ด หลังอาหารเช้า หมอเพิ่งให้ทานประมาณ 6 เดือน
4. Triglycerides 125, LDL 363  (สูงมาตลอดตั้งแต่ อายุ 30 กว่าปี แต่เริ่มทานยาตอนอายุ 49 ปี) เนื่องจากแพ้ยาหลายชนิด ตอนนี้ไม่ได้ทานยาลดคอเรสโตรอล เพราะแพ้ยาทุกอย่างที่หมอให้ มีอาการเจ็บปวด เป็นจุดเหมือนยุงกัด เป็นตะคริว หมอเปลี่ยนยาให้เรื่อย ๆ แต่ก็แพ้ จึงขอหมอหยุดยามาเป็นปีแล้ว ขอเรียนถามว่าต้องทานยารักษาคอเรสโตรอลหรือไม่ ถ้าต้องทานควรทานยาอะไรที่จะไม่แพ้คะ ยาที่แพ้ AMPICILIN, PENNICILIN, INDOCID, ALAXAN, LURSELLE, ZOCOR, LOPID, QUESTAN, ZIMMEX (SIMVASTAIN 40 USP) , PREDNISOLONE 5 MG., LORATADINE 10 MG., พารา, CLINDAMYCIN 300 MG. (CLINOTT)
4. นอนไม่ค่อยหลับ (นอนวันละ 1-2 ชั่วโมง แล้วก็ไม่หลับอีกเลย) มีอาการมึนศีรษะ เดินเซเหมือนจะล้ม (หมอบอกว่าเป็นเพราะคอเรสโตรอลสูง)

การใช้ชีวิตประจำวัน อาหารที่ทาน เช้า กลางวัน เย็น คล้าย ๆ กันค่ะ (เช้าทาน 6.00 น. กลางวัน 10.30 น. เย็น 15.30 น. หลังจากนั้นไม่ทานอะไรอีกค่ะ) คือทานผลไม้ก่อนอาหารอื่น ได้แก่ ส้ม / แอปเปิล  /มะละกอ (ถ้าเป็นส้มหรือแอปเปิลลูกเล็กทาน 1 ผล ลูกใหญ่ทานครึ่งผล ถ้าเป็นมะละกอทาน ครึ่งผล) ทานผักสดหรือผักนึ่งในไมโครเวฟทุกมื้อ (ไม่ใส่น้ำมันและเครื่องปรุงรสใด ๆ) ประมาณ 1 จาน
ทานข้าวกล้อง 1 ทัพพี(ไม่พูน)ทุกมื้อ เช้า  กับข้าวคือไข่เจียว (ไม่ได้ใส่น้ำมัน แต่ใส่เกลือหรือซีอิ๊วขาวเล็กน้อย เอาเข้าเตาไมโครเวฟเท่านั้น) หรือเต้าหู้ขาวแข็งใส่ในเตาไมโครเวฟ ( ไม่ได้ใส่น้ำมัน แต่ใส่ซีอิ๊วขาว) กลางวัน และเย็น อาหารเหมือนกันคือ  ยำปลา / ยำหมู / แกงส้ม/  แกงเรียง/ แกงเขียวหวาน / ผัดหมู / หมูทอด /  (ซื้อกับข้าวถุง) บางครั้งทานบะหมี่เกี๊ยวหมูแดง อาหารหวาน บางมื้อ (ไม่บ่อยนาน ๆ ครั้ง) โยเกิตใส่ลูกพรุน 1 ถ้วย / ลูกพรุน 5 เม็ด / กล้วยบวดชี / เผือกแกงบวด เสาร์อาทิตย์ ทานอาหารนอกบ้านบางครั้ง (เดือนละ 2 ครั้ง) แต่ทานเหมือนเดิมคือ  เป็ดย่าง หมูแดง ติ่มซำ / ปลาทอด ทอดมัน และต้มยำกุ้งตัวเล็ก ๆ น้ำใส / ต้มยำปลาน้ำใส กุ้งอบวุ้นเส้น เครื่องดื่ม ทานน้ำเปล่าไม่แช่เย็น ไม่ทานน้ำชา กาแฟหรือเครื่องดื่มอื่นใดทั้งสิ้น
          การออกกำลังกาย ตั้งแต่อายุ 70 ปี (ก่อนหน้านั้น เดินออกกำลังกายที่สนามกีฬา วันละประมาณ 4 กิโลเมตร) ตอนเช้าไปออกกำลังกายที่ชมรมผู้สูงอายุ โดยรำไทเก็กประมาณครึ่งชั่วโมง 2 เดือนหลัง (ชมรมปิดซ่อมแซมใหม่ จะเปิดกลางปี 2557 ค่ะ) ไปเดินที่สนามกีฬาประมาณ 3,500 ก้าว(ตามที่ระบุในเครื่องนับก้าว) ที่เดินได้น้อยเพราะมีปัญหาปวดบริเวณเหนือก้นกบ เดินได้ประมาณ 500 ก้าวแล้วขาชาทั้ง 2 ข้าง (ชาด้านข้างตั้งแต่หัวเข่าลงไป) ต้องหยุดพักเป็นระยะ (ไม่ได้ไปตรวจเพราะถ้าหมอบอกว่าต้องผ่า ก็จะไม่ผ่า และถ้าต้องทานยาก็จะแพ้อีก) บางวันก็รำไทเก็กที่บ้านประมาณ 15 นาที (วันไหนมึนศีรษะก็รำไม่ได้) นั่งนานก็ปวดหลัง ดังนั้นตอนกลางวันถ้าไม่ได้ออกกำลังกาย ทานอาหารหรือเข้าห้องน้ำ ก็นอนเอนหลัง แต่ไม่หลับ (ก็นอนสวดมนต์นิดหน่อย )
ขอเล่าประวัติเพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตอนอายุ 50 ปี เดินจงกรมและนั่งสมาธิที่บ้านทุกวันตั้งแต่ 6.00 น. - 11.00 น.เป็นเวลา 1 ปี เต็ม (อยู่บ้านคนเดียว) ไปปฏิบัติที่สำนักวิปัสสนาสอนทวี ฉะเชิงเทรา 10 เดือน ไปปฏิบัติที่วัดกำแพงแลง เพชรบุรี 3 เดือน ไปปฏิบัติที่ยุวพุทธฯ 3เดือน เคยหกล้มก้นด้านซ้ายกระแทกพื้น  ตอนอายุ 50 ปี  เคยรักษาด้วยการฝังเข็มเพื่อรักษาอาการชาขาที่โรงพยาบาลหัวเฉียวเป็นปี แต่ก็ไม่หาย
          ที่เรียนปรึกษาคุณหมอ ดิฉันไม่ได้กังวลอะไรมาก เพราะเข้าใจดีว่าเมื่อแก่ตัวลงสังขารก็ย่อมเสื่อมเป็นธรรมดา จะต้องตาย ไม่ช้าก็เร็ว ดิฉันก็เตรียมใจพร้อมแล้ว เพียงแต่ช่วงหลัง ๆ มานี้ เซมากขึ้น เพื่อนดิฉัน(รุ่นน้อง) เขาเป็นห่วง เกรงดิฉันจะหกล้ม เขาจึงเขียนมาปรึกษาคุณหมอ 

.............................................

ตอบครับ
1.. ถามว่าไขมันในเลือดสูง เป็นกรรมพันธ์และแพ้ยาลดไขมันยาทุกตัว จะต้องกินยาหรือเปล่า ตอบว่าไม่ต้องกินครับ เพราะยาลดไขมันมีสองสามตระกูลเท่านั้น ถึงจะมีนับร้อยชื่อแต่ก็ยาตัวเดียวกันนั่นแหละ ตัวที่คุณพี่บอกมาก็คือแพ้ครบทุกกลุ่มแล้ว เมื่อแพ้หมดแล้วจะไปกินยาอะไรอีกละ แต่ว่าการเป็นไขมันในเลือดสูงแล้วไม่ได้กินยาก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องตายนะครับ แม้แพทย์จะนิยมจ่ายยาลดไขมันกันมากจนแทบจะเอาใส่น้ำประปาให้ประชาชนกินก็ตาม แต่ว่าการกินยาลดไขมันปลายทางก็เพื่อลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดเท่านั้นนะครับ ไม่ใช่กินเพื่อให้บรรลุนิพพาน ฟังให้ดีนะ เพื่อลดความเสี่ยงการเป็นโรค ซึ่งโรคนั้นเรายังไม่ได้เริ่มเป็นเลยด้วยซ้ำไป ในกรณีของคุณพี่ผมฟังจากอาการ ปูนนี้แล้วยังไม่ได้เป็นโรคหลอดเลือดเลยสักกะนิดเดียว การลดอุบัติการณ์เป็นโรคจึงมีความสำคัญน้อย เพราะโรคนี้เมื่อเริ่มเป็น มันต้องใช้เวลาอีกสิบปีขึ้นไปกว่าจะไปถึงระยะออกอาการ พูดง่ายๆว่าประโยชน์ที่จะได้จากการลดอุบัติการณ์ของโรคในกรณีของคุณพี่มีน้อย แต่พิษของยามีมากกว่า ดังนั้นเมื่อแพ้ยา ก็ไม่ต้องกิน  
 อนึ่ง การลดไขมัน LDL โดยไม่ต้องใช้ยามีวิธีต่อไปนี้
1.1 การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทั้งแบบแอโรบิก แบบยืดหยุ่น และแบบเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อคละเคล้ากันไป โดยควรออกกำลังกายแบบแอโรบิกรวมให้ไดไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ 150 นาที นับเอาเฉพาะช่วงเหนื่อยจนหอบแฮ่กๆร้องเพลงไม่ได้นะ ช่วงวอร์มอัพคูลดาวน์ไม่นับ

1,2 การลดอาหารไขมันอิ่มตัว ทั้งไขมันอิ่มตัวจากสัตว์ เช่น เนื้อ หมู ไก่ และไขมันอิ่มตัวจากพืช เช่น น้ำมันปาล์ม นอกจากนี้ยังต้องระวังไขมันอิ่มตัวที่มาในรูปอื่น เช่น ไข่ นมที่มีไขมัน เนย ชีส ไอศกรีม เค้ก คุ้กกี้ น้ำสลัดสำเร็จรูป เป็นต้น ในกรณีของคุณพี่นี้ ไขมันอิ่มตัวเข้ามาทางอาหารผัดทอด

1.3 การลดอาหารไขมันทรานส์ ได้แก่เนยเทียมที่ทำจากไขมันทรานส์ ครีมเทียมใส่กาแฟ ขนมอบหรือเบเกอรีที่มีมาการีนเป็นส่วนประกอบ ครีมเทียม อาหารอบ  อาหารทอด ขนมกรุบกรอบต่างๆ  เป็นต้น ไขมันทรานส์นี้ในเมืองไทยบางครั้งจะเขียนข้างฉลากว่าเป็นไขมันไม่อิ่มตัว เพราะเมืองไทยไม่มีกฎหมายบังคับให้ติดฉลากบอกว่ามีไขมันทรานส์หรือไม่ ทำให้เข้าผิดได้ง่ายว่าเป็นไขมันไม่อิ่มตัวชนิดธรรมดา เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก ซึ่งไม่ได้มีผลเสียต่อสุขภาพในแง่การก่อโรค ดังนั้นผู้บริโภคจึงต้องรู้จักแยกแยะให้ดี

1.4 การเพิ่มอาหารเส้นใยชนิดละลายได้ อาหารกาก หรืออาหารเส้นใย (fiber) แบ่งออกเป็นสองชนิดคือชนิดไม่ละลาย (insoluble) เช่น พืชผักต่างๆ กับชนิดละลายได้ (soluble) ซึ่งได้จากธัญพืชทั้งเมล็ด หรือจากส่วนเคลือบรอบนอกเมล็ดของธัญพืชแบบไม่ขัดสี เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง โอ๊ตแบรนด์ ข้าวสาลีแบบไม่ขัดสี งานวิจัยในอาสาสมัครพบว่าเส้นใยชนิดละลายได้นี้ ช่วยลดไขมันชนิดเลว ลดไตรกลีเซอไรด์ และเพิ่มไขมันชนิดดี

1.5 การลดอาหารคาร์โบไฮเดรต ในกรณีที่น้ำหนักเหลือเฟืออย่างคุณพี่นี้ (BMI 25+) ควรจำกัดอาหารคาร์โบไฮเดรตเช่นข้าวและเส้นทุกชนิดด้วย เพราะคาร์โบไฮเดรตเหลือใช้จะเปลี่ยนเป็นไขมัน

1.6 การลด ละ เลิก แอลกอฮอล์ อันนี้สำหรับท่านผู้อ่านท่านอื่น ไม่ใช่สำหรับคุณพี่ เนื่องจากการดื่มแอลกอฮอล์มากทำให้ไขมันในเลือด รวมทั้งไขมันชนิดเลว เพิ่มขึ้น

2.. ถามว่านอนไม่หลับทำไงดี ตอบว่า ฮี่..ฮี่ คุณพี่ปฏิบัติธรรมมากเสียจนจะบรรลุอยู่แล้วผมจะไปแนะนำคุณพี่ได้ไงละครับ เพราะผมเนี่ยจะบังคับให้ตัวเองทำสมาธิตามดูลมหายใจให้ได้วันละ 15 นาทียังไม่รอดเลย 
ข้อมูลวิทยาศาสตร์ก็คือว่าการมีความรู้ตัว (self awareness หรือ mindfulness) คือเบสิกของการนอนหลับ เพราะคนนอนไม่หลับคือคนสติแตกคิดฟุ้งสร้านเบรกไม่อยู่ ถ้าคุณพี่แก่ธรรมมะจริงต้องนอนหลับสิครับ 
ลองสูตรของผมดูก็ได้ คือสูตร “ซ้อมตาย” อันที่จริงไม่ใช่สูตรของผมหรอก ผมจำขี้ปากของพระมาลองทำดู แล้วก็เวอร์คดี คือก่อนนอนก็บอกตัวเองว่าหลับคราวนี้จะตายละ ตายจริงๆไม่ตื่นอีกละ พรุ่งนี้ไม่มีอีกแล้ว เราต้องตั้งสติให้ดี เพราะพระท่านว่าถ้าตอนที่ตายดันสติไม่อยู่กับตัวละก็..โน่น ได้ไปเกิดเป็นหมูเป็นหมาแน่นอน ดังนั้นเราตั้งสติเกาะความคิดของเราให้ทันเพื่อให้ถึงนาทีที่ตาย (หลับ) จะได้ตายอย่างมีสติ ผมใช้วิธีนี้แล้วหลับได้ทุกที

 เทคนิคชั้นที่ต่ำกว่าการมีสติก็คือการมีสุขศาสตร์ของการนอนหลับ ซึ่งมีสาระง่ายดังนี้
2.1.. เข้านอนเป็นเวลา ตื่นเป็นเวลา จัดชีวิตทั้งวันให้เป็นเวลา เมื่อไรทานอาหาร เมื่อไรทานยา เมื่อไรออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายคุ้นเคย

          2.2 ไม่นอนอ้อยอิ่งอยู่บนเตียงหลังเวลาตื่นนอนแล้ว 

          2.3 ตื่นเมื่อรู้สึกว่านอนพอแล้ว อย่าพยายามนอนต่อเพื่อชดเชยให้กับการอดนอนวันก่อนๆ

          2.4 หลีกเลี่ยงการงีบตอนกลางวัน ถ้าจำเป็นให้งีบสั้นๆ อย่านอนกลางวันนานกว่า 1 ชม. และอย่านอนหลัง 15.00 น.แล้ว 

          2.5 ปรับสภาพห้องนอนให้น่านอน เอาของรกรุงรังออกไป จัดแสงให้นุ่มก่อนนอน และมดสนิทเมื่อถึงเวลานอน ไม่ให้มีเสียงดัง ระบายอากาศดี ดูแลเครื่องนอนให้แห้งสะอาดไม่อับ และรักษาอุณหภูมิให้สบาย

          2.6 ไม่ใช้ที่นอนเป็นที่ทำงาน ไม่ทำกิจกรรมเช่นดูทีวี อ่านหนังสือ กินของว่าง เล่นไพ่ คิด วางแผน บนที่นอน

          2.7 หยุดงานทั้งหมดก่อนเวลานอนสัก 30 นาที ทำอะไรให้ช้าลงแบบ slow down พักผ่อนอิริยาบถ ทั้งร่างกาย จิตใจ สวมชุดนอน ฟังเพลงเบาๆ หรืออ่านหนังสืออ่านเล่าเบาๆ อย่าดูทีวีโปรแกรมหนักๆหรือตื่นเต้นก่อนนอน

          2.8 หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่กระตุ้นจิตใจ อารมณ์ หรือร่างกายก่อนนอน ไม่คุยเรื่องเครียด ไม่ออกกำลังกายหนักๆก่อนนอน 

          2.9 ไม่ทานอาหารมื้อใหญ่ก่อนนอน แต่ก็อย่าถึงกับเข้านอนทั้งๆที่รู้สึกหิว 

          2.10 หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟหลังเที่ยงวัน หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ก่อนนอน 6 ชั่วโมง ไม่สูบบุหรี่ก่อนนอน ข้อนี้สำหรับคุณพี่ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว

          2.11 หลีกเลี่ยงยานอนหลับทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาที่ซื้อทานเองโดยไม่รู้จักชื่อ

          2.12 ออกกำลังกายทุกวัน ถ้าเลือกเวลาได้ควรออกตอนเช้าหรือกลางวัน อย่าออกกลางคืนใกล้เวลานอน ออกให้หมดแรงคอพับไปเลย คราวนี้ไม่หลับให้มันรู้ไป

          2.13 อย่าบังคับตัวเองให้หลับ ถ้าหลับไม่ได้ใน 15-30 นาทีให้ลุกขึ้นมาทำอะไรที่ผ่อนคลายเช่นอ่านหนังสือในห้องที่แสงไม่จ้ามาก หรือดูทีวีที่รายการที่ผ่อนคลาย จนกว่าจะรู้สึกง่วงใหม่ อย่าเฝ้าแต่มองนาฬิกาแล้วกังวลว่าพรุ่งนี้จะแย่ขนาดไหนถ้าคืนนี้นอนไม่หลับ 

            3. ความเสี่ยงที่จะพลัดตกหกล้ม ข้อนี้คุณพี่ไม่ได้ถาม แต่ผมตอบแถมให้ คือผมดูแล้วคุณพี่เป็นผู้มีความเสี่ยงที่จะพลัดตกหกล้ม สาเหตุที่ผมประมวลได้จากคำบอกเล่าน่าจะมีดังนี้
3.1 ยาที่กิน โดยเฉพาะยา Amlodipine (Millimed  AMVAS) เป็นยาที่ขึ้นชื่อในทางทำให้ก่งก๊ง เมาหัว เวียนหัว เดินเซ บางครั้งก็หัวทิ่มบ่อไปจริงๆ สิ่งแรกที่ผมแนะนำคือต้องเลิกยาตัวนี้ก่อน เพราะในวัยของคุณพี่นี้ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการป้องกันการพลัดตกหกล้ม อะไรที่มาเพิ่มความเสี่ยงการพลัดตกหกล้มล้วนไม่คุ้มทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นยาวิเศษตัวไหนก็ไม่คุ้ม เพราะพิมพ์นิยมของคนชราคือบั้นปลายจะตั้งต้นด้วยการพลัดตกหกล้ม แล้วก็..กระดูกตะโพกหัก แล้วก็..เข้ารพ.ผ่าตัดเปลี่ยนข้อ แล้วก็...ติดเชื้อแทรกซ้อนนอนรพ.หลายเดือน แล้วก็... ไปแล้วไปลับ สูตรนี้มีอุบัติการณ์สูงกว่าการตายจากมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งปากมดลูกที่ลูกผู้หญิงกลัวนักกลัวหนา ดังนั้น ผมแนะนำเสี่ยใหม่ว่าเป็นลูกผู้หญิงให้กลัวการหกล้มกระดูกหักเป็นอันดับที่หนึ่ง แล้วบั้นปลายจะได้ตายดี (อุ๊บ..ขอโทษ พูดไม่เพราะ ไม่เป็นไรนะ เพราะคุณพี่เป็นคนแก่ธรรมมะอยู่แล้ว คุยกันได้)
3.2 คุณพี่เป็นคนกล้ามเนื้อส่วนล่าง  (lower body muscle) ไม่แข็งแรง อาจจะไม่ค่อยได้ฝึกกล้ามเนื้อ หรือไม่ค่อยได้ออกกำลังกายชนิดเสริมการทรงตัวบ่อยนัก ในประเด็นนี้ผมแนะนำให้คุณพี่เพิ่มอาหารโปรตีน เล่นกล้ามวันเว้นวัน และไปเต้นรำบ่อยๆ ใช่ปูนนี้เนี่ยแหละ นะนี่ผมจะเล่าอะไรให้ฟัง มีอยู่วันหนึ่งผมไปเรียนวิธีเต้นรำแบบ line dance หมายถึงการเต้นแบบยืนเป็นแถวไม่ต้องเข้าคู่เหยียบหัวแม่ตีนกับใคร ไปเรียน ที่ สมก. (ม.เกษตร) คุณพี่เชื่อแมะ ในชั้นเรียนนั้นผมอายุน้อยกว่าเค้าเพื่อน เปล่า..ไม่ได้ภาคภูมิใจหรอก เพราะหกสิบสองเนี่ยถ้ายังคิดว่าตัวเองไม่แก่ก็บ้าแล้ว แต่ประเด็นคือสมัยนี้คนเฒ่าคนเถิบเขา active กันขนาดไหน ครูสอนผมเนี่ยน่าจะอายุมากกว่าคุณพี่นะ คือเจ็ดสิบปลายๆแล้วแหละ
3.3 วัยขนาดคุณพี่น่าจะตรวจดูระดับวิตามินดี.เสียหน่อยนะ ถ้ามันต่ำก็กินวิตามินดี.ทดแทน เพราะวิตามินดี (20,000 IU) เม็ดละบาทสองบาท เดือนนึงกินสองเม็ดเอง แต่มีประโยชน์ในการป้องกันกระดูกหักถ้าตัวเราขาดวิตามินดี งานวิจัยพบว่าผู้สูงอายุสมัยนี้ส่วนใหญ่ขาดวิตามินดี
เมื่อคุณพี่หยุดยา amlodipine แล้วสักสามเดือน เล่นกล้าม และไปเต้นรำครบสามเดือนแล้ว อาการเดินเซแซดๆยังไม่หาย คราวนี้ผมแนะนำให้คุณพี่ไปหาหมอประสาทวิทยา (neurologist) ขอทำ MRI สมองให้รู้แล้วรู้รอด ว่าเรานี้มันเป็นโรคเนื้องอกในสมองหรือเป็นโรค ปสด.สว. กันแน่ (แปลว่า ประสาทแด๊กซ์ในผู้สูงวัย อุ๊บ..ขอโทษ พูดเล่น)
4.  อาการของ Hypothyroid ผมแถมให้อีกข้อ แม้ว่าคุณพี่จะไม่ได้ถาม อาการปวดโน่น ปวดนี่ ชาที่นั่น เดินก็ปวดน่อง ยืนก็ปวดหลัง นั่งก็ปวดก้น เป็นอาการอย่างหนึ่งของโรคไฮโปไทรอยด์ที่คุณพี่เป็นอยู่ ผมดูผลเลือดแล้วการทดแทนฮอร์โมนไทรอยด์ก็เพียงพออยู่ แต่ถ้าอาการเหล่านี้มันมากจนสุดทน ลองขอหมอทดลองเพิ่มยาฮอร์โมนไทรอยด์ดูก็ไม่เลวนะครับ แต่ว่าตรงนี้มันได้อย่างเสียอย่างนะคุณพี่ต้องทำใจ ถ้าทดแทนฮอร์โมนมากไปอาการปวดโน่นชานี่หาย แต่อาการใจสั่นนอนไม่หลับมีมากขึ้น นี่เป็นธรรมดา
การรักษาไฮโปไทรอยด์อีกวิธีหนึ่งที่ผมแนะนำคนไข้บางท่านแล้วพบว่าได้ผลดีคือ “เวทนานุสติปัฐฐาน” แบบว่า ปวดหนอ ชาหนอ (หรือง่ายกว่านั้น ปวดก็ช่างแม่ม..ม) วิธีนี้เวอร์คสุดครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ 

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

กินคีโตไข่ต้มไก่ต้มทุกวันแล้วหลอดเลือดหัวใจตีบ

ความแก่..เหมือนหมาถูกต้อนเข้ามุมให้จนตรอก

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

เปลี่ยนอาหาร ปั่นจักรยาน น้ำตาลลด ความดันลด แต่ไขมันทำไมไม่ลด

ท่านอายุเก้าสิบแล้วยังไม่รู้ แล้วท่านจะรู้มันไปทำพรื้อละครับ

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตคนเราคือความเบิกบาน (Joy)

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

มะเร็งต่อมลูกหมากแพร่กระจายไปกระดูกขาแล้ว จะไปต่อไงดี